พระอริยเจ้าคือคนธรรมดา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ISOENNOY, 10 พฤษภาคม 2012.

  1. ISOENNOY

    ISOENNOY เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    30
    ค่าพลัง:
    +235
    คำว่า “พระอริยเจ้า” เป็นอีกคำหนึ่งที่ชาวพุทธไทยเข้าใจผิดกันมาก ทุกครั้งที่ได้ยินว่าใครเป็นพระอริยเจ้า ก็มักจะมองเป็นเรื่องหวือหวา น่าตื่นเต้นมาก มักจะเอามาพ่วงกับคุณสมบัติที่เหนือมนุษย์ เช่น ต้องมีอภิญญา อ่านใจคนได้ ทำนายอนาคตได้ ระลึกชาติได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ ดำดินได้ เป็นต้น จินตนาการของพระอริยเจ้าเช่นนี้ มักถูกมองในแง่ที่ “ไม่ธรรมดา” เป็นเรื่องหนึ่งที่มักจุดประกายความขัดแย้งในวงการพุทธศาสนาเสมอ มักมีการตำหนิบุคคลที่ทำตัวเหมือนเป็น “พระอริยเจ้า” และหนีไม่พ้นต่อการโยนข้อกล่าวหาเรื่อง “อวดอุตริ” ให้บุคคลนั้นๆ หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นพระ เรื่องราวก็มักบานปลายไปสู่เรื่องการต้องลาสิกขาจากเพศบรรพชิตบ้าง หากเป็นฆราวาส ถูกจับสึกไม่ได้ ก็ถูกทำให้เสียความน่าเชื่อถือ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องนำขึ้นมาพูดให้กระจ่างแจ้งกันก่อน และแน่นอน ต้องวิเคราะห์ตามครรลองของเหตุผลเท่านั้น

    โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
    พระ บรมศาสดาตรัสว่า “ตราบใดที่มีสาวกปฏิบัติตามหนทางแห่งอริยมรรคมีองค์แปดแล้วไซร้ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” ตราบใดที่พุทธสาวกมีการปฏิบัติตามแนวทางแห่งสติปัฏฐานสี่อันเป็นทางลัดไป นิพพานแล้วละก็ ย่อมมีสาวกของพระบรมศาสดาที่สามารถเห็นธาตุกลางๆในธรรมชาติที่ไม่เหมือนชาว บ้านนี้ได้ จึงเห็นตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าอธิบายได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงพระนิพพาน ขอให้มี “ผู้รู้จริง” ชี้ทางให้เท่านั้น ต้องมีคนที่สามารถเห็นสัจธรรมตามพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน


    พระอริยเจ้ามีคุณสมบัติอย่างไร
    พระ นิพพานนั้นเป็นสภาวะธรรมดา เมื่อพระนิพพานเป็นสภาวะธรรมดาแล้วไซร้ พระอริยเจ้าก็คือกลุ่มบุคคลที่เข้าสู่สภาวะธรรมดานั่นเอง ยิ่งมีภูมิธรรมสูงมากเพียงใด ก็ย่อมหมายถึงมีความเป็นธรรมดาในตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น โดยเหตุผลแล้ว คนที่มีความเป็นธรรมดาอยู่ในตัว ก็คือ คนที่กำลังใช้ชีวิตอย่างเป็น “อริยะ” ซึ่งมีคำศัพท์เรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “พระอริยเจ้า” หรือพูดใหม่ว่า พระอริยเจ้า ก็คือ กลุ่มบุคคลที่เข้าสู่ความเป็นธรรมดา หรือต้องมีคุณสมบัติที่เป็นธรรมดาอยู่ในตัวในระดับมากน้อยต่างกัน ซึ่งกลับกลายเป็นเรื่องตรงข้ามกับความเข้าใจของคนที่ชอบคิดว่า ใครที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ต้อง “ไม่ธรรมดา” เพราะไปถูกคำว่า “พระ” กับ “เจ้า” หลอกเอา สองคำนี้ โดยสภาวะภายในใจของพระอริยเจ้านั้น คือ บุคคลที่อยู่กับความรู้สึกธรรมดามากกว่าคนเดินถนนทั่วไปเท่านั้นเอง


    พระอริยเจ้า ๔ ระดับ
    ถ้า เราเข้าใจความหมายของพระอริยเจ้าในฐานะที่เป็นคนธรรมดาแล้ว พระอริยเจ้าสี่ระดับ ก็คือ กลุ่มบุคคลที่มีระดับความเป็นธรรมดาที่แตกต่างกันนั่นเอง จากมีความเป็นธรรมดาน้อย ( โสดาบัน) ไปสู่ธรรมดามาก (สกิทาคามี) มากขึ้น (อนาคามี) จนถึงธรรมดามากที่สุด (อรหันต์) หรือ จะใช้คำว่า “ปกติ” พระอริยเจ้า ๔ ระดับก็คือ กลุ่มบุคคลที่มีความปกติของจิตใจไล่จากน้อยไปหามากนั่นเอง โดยที่พระอรหันต์ก็คือกลุ่มบุคคลที่รู้ว่า ไม้บรรทัดที่ตรงจริงๆ มีหน้าตาอะไร อย่างไร เพราะได้เห็นสภาวะนิพพานอันเป็นสัจธรรมสูงสุดแล้ว


    ถ้า เข้าใจความหมายของพระอริยเจ้าได้เช่นนี้แล้ว จะไม่มองภาพพจน์ของพระอริยเจ้าอย่างหวือหวา ตื่นเต้น จะช่วยให้มองคนรอบข้างอย่างเข้าใจในแง่ที่ใครมีบารมีมากน้อยต่างกัน นั่นคือ ปุถุชนคนไหนที่แม้ยังไม่ได้ข้ามมาสู่อริยโคตรก็ตาม แต่หากเขาสามารถทำตัวเรียบง่ายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืน ใช้ชีวิตที่ติดดินมาก ไม่จู้จี้จุกจิก ไม่โวยวายต่อเรื่องเล็กๆน้อยๆแล้วละก็ คนเหล่านี้ต้องเรียกว่า มีบารมีพอสมควร


    คนบ้าระดับสามัญ
    คน ที่จะทำตัวธรรมดาหรือไม่ธรรมดานั้น ในความหมายของดิฉัน ไม่ใช่การเอามาตรฐานของคนบ้าระดับสามัญ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของโลกมาเป็นไม้บรรทัดวัด เพราะนั่นเป็นไม้บรรทัดบูดเบี้ยวที่ถูกสมมุติให้ตรง วิถีชีวิตของคนบ้าระดับสามัญจึงเป็นวิถีชีวิตของคนบ้าที่ไม่ธรรมดา ไม่ปกติ แต่ถูกสมมุติให้เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องปกติ ซึ่งที่จริงไม่ปกติและเพี้ยนอย่างยิ่ง ดิฉันเรียกคนกลุ่มใหญ่ของโลกที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้ข้ามมาสู่อริยโคตรว่า คนบ้าระดับสามัญ


    พลังสนามแม่เหล็ก
    ปัจจัย สำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวะ “ธรรมดา” ของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ดิฉันกำลังจะพูดนี้ อยู่ที่พลังการดึงดูดของสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจ ภาษาสภาวะสำคัญคำหนึ่งที่ชาวพุทธได้ยินอย่างชินหูมากคือคำว่า “หลุดพ้น” ความหมายของคำนี้เชื่อมโยงกับพลังสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจโดยตรง การหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิงของพระพุทธเจ้าก็คือ การที่จิตกับใจของท่านเกิดอาการ “หลุด” และ “พ้น” เป็นอิสระออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนผลไม้ที่หลุดจากต้นและไม่สามารถ กระโดดขึ้นไปเกาะกับต้นได้อีก เพื่อให้เห็นภาพที่ตรงกันข้ามกับสภาวะ “หลุดพ้น” ดิฉันจึงเลือกใช้คำว่า “พลังสนามแม่เหล็ก” เพื่อให้คนจินตนาการได้ชัดเจนมากขึ้นว่า ระหว่างจิตกับใจมีพลังสนามแม่เหล็กที่แรงมาก พลังนี้ดูดให้จิตกับใจมาติดกัน จนเกิดสภาวะ จิตใจ เป็นคำควบที่มีอีกความหมายหนึ่ง ที่ฝรั่งใช้คำเดียวว่า mind แต่ที่จริงแล้ว จิต กับ ใจ เป็นหน่วยงานอิสระที่สามารถแยกออกจากกันได้ ดิฉันจึงช่วยแยกคำว่า mind ให้ฝรั่งโดยใช้คำว่า ทอม (ใจ) กับ เจอรี่ (จิต) ซึ่ง “ผู้รู้จริง” ทุกท่านจะต้องเห็นสภาวะของจิตกับใจหลุดและพ้นออกจากกัน ต้องเห็นเช่นนี้เหมือนกันหมด ถึงจะเป็น “ผู้รู้จริง” ได้ เห็นน้อยกว่านี้ ก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ดิฉันพูดแล้ว


    ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาวะ “ธรรมดา”
    พลัง สนามแม่เหล็กนี้เป็นผลของความคิด (เจอรี่) ที่มีคุณสมบัติเป็นมายา(หลง) เปรียบเหมือนนักแสดงละครที่แสดงได้สมบทบาทมาก จนคนดูละครคิดว่าเป็นเรื่องจริงหมด ถึงขนาดไปด่าใส่หน้าตัวละครอิจฉา เพราะเข้าใจผิดว่าตัวละครอิจฉาเป็นคนไม่ดีจริงๆ นี่คือความร้ายกาจของเจอรี่ที่มีคุณสมบัติเป็นมายา ทำให้คนหลง เข้าใจผิดหมด ความเป็นมายา (หลง) ที่สามารถหลอกลวงได้เก่งกาจนี้ ดิฉันจึงเอามาเปรียบเทียบกับสนามแม่เหล็กที่มีพลังแรงสูงมาก ที่สามารถหลอกให้ตัวใจ (วิญญาณขันธ์ ตัวจริง) ของเราเข้าใจสิ่งที่เห็นเบื้องหน้าผิดหมด ภาษาพระเรียกว่า อุปาทาน การเข้าใจผิดตรงนี้แหละ ก็คือ เจอรี่อันมีพลังสนามแม่เหล็กแรงสูงดูดเอาตัวใจของเราเข้ามาประกบ เกิดสภาวะ จิตใจ ที่ติดกัน ก็เท่ากับ(ตัว)ใจของเราถูกความหลงครอบงำแล้ว ดิฉันเปรียบเหมือนการเข้าไปอยู่ในโลกเมทริกซ์ที่เป็นมายาแล้ว ทำให้มองทุกอย่างที่เกิดในชีวิตเป็นเรื่องจริงไปหมด การติดในโลกมายานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และไม่ใช่จะออกมาได้ง่ายๆ แม้คนดูละครยังเข้าใจผิด ไปด่าตัวละครที่เล่นบทอิจฉา เรื่องมายา ความหลง หรืออวิชชาเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมากกว่าการดูละครโทรทัศน์มากอย่างเทียบกัน ไม่ได้


    ดิฉัน ได้แปลงปรากฏการณ์นามธรรมที่เกิดในใจของมนุษย์ออกมาเป็นรูปธรรมดังภาพเหล่า นี้ โดยใช้ทอมกับเจอรี่ คำอธิบาย ตัวกาย (รูปขันธ์) กับภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส พระพุทธเจ้ารวบลงเหลือเพียงคำเดียวคือ รูป ที่มีความหมายตรงข้ามกับนามซึ่งครอบคลุม ๔ ขันธ์ คือ เวทนา(เจอรี่ความรู้สึก) สัญญา(เจอรี่ความจำ) สังขาร(เจอรี่ความคิด) วิญญาณ(ตัวใจซึ่งเป็นตัวจริง) พระพุทธเจ้าได้รวบเหตุการณ์ทุกอย่างของชีวิตที่หลากหลายมากให้เหลือเพียง ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งดิฉันรวบอีกทีเป็น เจอรี่ และแล้ว เจอรี่จากโลกภายนอกก็จะนำข้อมูลดิบจากโลกภายนอกเดินทางผ่านสะพาน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เข้ามาในโลกของใจกลายมาเป็น ความคิด ความจำ ความรู้สึก (เจอรี่) เจอรี่จึงเปลี่ยนจากรูปเป็นนาม แต่ก็ยังเป็นข้อมูลดิบที่เหมือนกัน ข้อมูลดิบนี้ก็จะรายงานให้ตัวใจซึ่งเป็นตัวจริงของเรา ตรงนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “เข้าใจ” ถ้าทำเป็นสมการ ก็จะได้


    ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส = ความจำ ความคิด ความรู้สึก
    เจอรี่ภายนอก = เจอรี่ภายใน


    ไม่ ว่าเจอรี่ (จิต) จะเป็นข้อมูลบวกหรือลบ (เจอรี่ขาวกับดำ) สำหรับปุถุชนที่ไม่เคยฝึกสติปัฏฐานแล้ว เจอรี่นามซึ่งเป็นพลังงานสามารถเพิ่มพูนปริมาณเหมือนการขยายตัวของเชื้อ ไวรัส จึงเปรียบเหมือนเจอรี่ไปเอาลูกหนูมาทั้งกองทัพ มารุมถล่มตัวใจของเรา ทำให้เกิดกามสุขหรือทุกข์ นี่คือสภาวะที่ตัวใจถูกครอบด้วยมายา ด้วยความหลง ถูกอวิชชาครอบงำแล้ว หรือ ตัวใจกำลังหลงทางในป่าดงดิบของเจอรี่ (ความคิด ความจำ ความรู้สึก) คำอธิบายใต้ภาพ การกอบกู้อิสรภาพของตัวใจ ก็คือการสลัดเจอรี่ออกไปให้หมดโดยการฝึกสติปัฏฐาน (พาตัวใจกลับบ้าน) ทำให้เจอรี่ (จิต) ทั้งหลุดและพ้นออกจากตัวใจ จะเห็นได้ว่าปัญหาในโลกของรูป (โลกภายนอก) ยังมีอยู่เท่าเดิม แต่ตัวใจเป็นอิสระ ไม่เกาะเกี่ยวกับปัญหา (เจอรี่)


    สภาวะ ของพระอริยเจ้า ตัวกายและตัวใจกำลังหลอมรวมกับธรรมชาติทั้งหมด หรือ กำลังรับผัสสะบริสุทธิ์ เพราะตาใจของตัวใจสามารถมอง ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส โดยไม่ต้องมองผ่านแว่นมายาของเจอรี่ จึงเป็นการรับรู้โลกภายนอกอย่างบริสุทธิ์ หรือ ผัสสะบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน “ธรรม” อันเป็นตัวเพ่งของฐานที่สี่ในความหมายนี้จึงครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง (สัพเพ ธัมมา) ในโลกของรูป คือ ตั้งแต่ตัวเราจนสุดขอบจักรวาล


    หลุดพ้นคือหลุดจากความบ้า
    การ ที่จิต (เจอรี่) กับใจหลุดออกจากกัน จึงหมายถึงการหลุดพ้นจากความหลงอย่างสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน ดังนั้น คนที่หลุดพ้นได้อย่างสิ้นเชิง ก็คือ คนที่หายหลง หายบ้า ซึ่งในขณะนั้น ร่างกาย (รูปขันธ์) และ ตัวใจ (วิญญาณขันธ์) จะหลอมรวมกับธรรมชาติทั้งหมด (ผัสสะบริสุทธิ์) เข้าสู่สภาวะที่เป็นธรรมดา (ปกติ) อย่างสุดๆ ตัวตนหายไปหมด ฉะนั้น ใครที่สามารถคงความเป็นธรรมดาได้มากน้อยแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับพลังสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจว่าได้ถูกทำลายลงไปมากน้อย เท่าไร


    สติปัฏฐานกับการทำลายพลังสนามแม่เหล็ก
    การ ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ วิปัสสนา หรือพาตัวใจกลับบ้าน ก็คือ วิธีการที่จะทำลายพลังสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจให้อ่อนตัวลงเรื่อยๆเพื่อ นำไปสู่สภาวะหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องเดียวกับการทำลายความหลงให้น้อยลงจนหายหลง การ แบ่งพระอริยเจ้าออกเป็นสี่ระดับจึงตัดสินจากระดับของพลังสนามแม่เหล็ก ระหว่างจิตกับใจว่าถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน คนที่สามารถเอาสติมาตรึงที่ฐานได้ พลังสนามแม่เหล็ก (ความหลง) ก็จะถูกทำลายไปจำนวนหนึ่งทุกครั้งเสมอไป เป็นขั้นตอนที่เกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนพลังสนามแม่เหล็กถูกทำลายหมด ก่อให้เกิดการหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง เป็นประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมมาก


    อย่าง ไรก็ตาม ทุกครั้งที่สามารถเอาสติมาตรึงไว้ที่ฐานได้ละก็ จิตกับใจ ก็จะเป็นอิสระออกจากกัน ผู้ปฏิบัติก็จะเข้าสู่ความเป็นธรรมดา (ปกติ หรือหายบ้า) ในช่วงขณะนั้นๆ เป็นผลให้ผู้ปฏิบัติสามารถปล่อยวางได้ง่าย เห็นโลกธรรม แปดเป็นเรื่องที่ไม่ควรยึดถือ มองทะลุโลกสมมุติได้ ทำให้มีความอดทนสูง ไม่เรียกร้องมาก ไม่จู้จี้จุกจิก ไม่โวยวาย ตัวตนเล็กลง และคงความเป็นธรรมดาได้โดยไม่ต้องฝืน ซึ่งล้วนเป็นผลจากการที่จิตกับใจหลุดร่อนออกจากกัน ในขณะที่สามารถเอาสติมาตรึงไว้ที่ฐานนั่นเอง


    ฉะนั้น ใครที่ปฏิบัติได้ดี สามารถเอาสติมาตรึงที่ฐานได้บ่อยๆ ทำจนเป็นนิสัย ไม่ต้องฝืนมาก คนนั้นก็สามารถทำตัวเรียบง่าย ธรรมดา ปกติได้ดีกว่าคนที่ปฏิบัติสติปัฏฐานน้อย คนกลุ่มใหญ่ของโลกมนุษย์ที่ไม่ได้ฝึกสติปัฏฐานนั้น พวกเขาก็ต้องอยู่ในโลกของความคิด เมื่อติดความคิด ก็ต้องติดมายา ติดความหลง ติดความบ้า ติดสมมุติ ติดความไม่ปกติ ติดความไม่ธรรมดา หรือติดอยู่ในกองทุกข์นั่นเอง


    พระ อริยเจ้าสี่ระดับจึงเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถหลุดจากความคิดที่เป็นมายาได้ มากน้อยต่างกัน พระอรหันต์ก็คือคนที่เข้าสู่ความเป็นธรรมดาอย่างสุดๆ เพราะพลังสนามแม่เหล็กหายไปหมดแล้ว เมื่อไม่มีพลังติดยึดในความคิด ความหลงจึงหายไปหมด โดยตรรกะแล้ว ความรู้สึกเป็นพระอรหันต์ย่อมไม่เกิดกับคนที่เป็นพระอรหันต์จริง ไม่ได้มองตัวเองอย่างหวือหวา กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจว่า “ฉันบรรลุแล้ว” เพราะความคิดและความรู้สึกเหล่านี้มากับเจอรี่(จิต) เมื่อเจอรี่หลุดออกจากใจ การกอดรัดกับความเป็นพระอรหันต์จึงไม่เกิด ไม่สามารถเลียความคิดที่บอกตนเองว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว นี่เป็นเรื่องอฐานะ คือเป็นไปไม่ได้ ไม่เหมือนปุถุชนที่มักเลียความคิดเหล่านี้เหมือนเลียไอติม เช่น ฉันรวยที่สุด ฉันจบด๊อกเตอร์ ฉันเก่งที่สุด ฉันสวยที่สุด เธอไม่รู้จักฉันได้ยังไง เป็นต้น ความคิดพวกนี้เปรียบเหมือนไอติมที่ตัวใจชอบเลีย ซึ่งไม่เกิดกับพระอรหันต์แน่นอน เมื่อตัวกาย ตัวใจหลอมรวมกับธรรมชาติที่ธรรมดาแล้ว ก็เหลือแต่ความธรรมดา ไม่ตื่นเต้นกับอะไรอีกแล้วแม้กระทั่งกับสภาวะหลุดพ้นของตนเอง


    เงื่อนไขง่ายๆ หลักการตัดสินความเป็นพระอริยเจ้าอย่างง่ายๆ คือ
    1. คนนั้นต้องรู้ว่าพระนิพพานคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต และต้องการเดินทางออกจากคุกชีวิตเพื่อถึงนิพพาน ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน หรือโลเลในเป้าหมายเรื่องนิพพานแล้ว ปักหลัก เชื่อแน่นอนว่านิพพานมีจริง การดับทุกข์มีจริง พระอรหันต์มีจริง และอยากไปให้ถึงสภาวะนั้น
    2. คนนั้นกำลังทำสิ่งที่ดิฉันแนะนำในคู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและกฎแห่งกรรม คือ

    • รักษาศีล ๕
    • ฝึกหัดการให้
    • ทำตัวเรียบง่าย
    • ไม่กลัวตาย
    • เชื่อกฎแห่งกรรม
    ใคร ทำตามเงื่อนไขห้าข้อนี้ได้ ก็เท่ากับได้ออกเดินทางเพื่อไปนิพพานแล้ว เป็นการเดินทางในช่วงต้นๆของทางสายเปลี่ยวเพื่อออกจากคุกชีวิต
    3. คนนั้นกำลังฝึกทักษะเรื่องพาตัวใจกลับบ้านหรือสติปัฏฐานสี่ ซึ่งเป็นการเดินทางลัดเพื่อไปนิพพาน


    ใคร ที่มีคุณสมบัติทั้ง ๓ ข้อนี้ ต้องเรียกว่าได้ข้ามพรมแดนมนุษย์จากโคตรปุถุชนมาสู่อริยโคตรแล้ว ละจากความเป็นคนบ้าระดับสามัญแล้ว เป็นพระอริยเจ้าระดับหนึ่งแล้วแน่นอน ซึ่งในเมืองพุทธทั้งหลาย จะต้องมีคนประเภทนี้มากทีเดียวดังเหตุผลที่ดิฉันได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ เรื่องพรมแดนข้ามโคตร ซึ่งหนึ่งในคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นคุณผู้กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ก็ได้ นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่ต้องตื่นเต้น หวือหวา รีบจัดงานเลี้ยงฉลองความเป็นพระอริยเจ้าของตนเองแต่อย่างใด


    กลไกธรรมชาติคุมอยู่
    สิ่ง ที่น่าสังเกตคือ แม้สังคมชาวพุทธมีพระอริยเจ้าระดับต่างๆกันมากมายก็ตาม แต่กลับไม่มีวัฒนธรรมแห่งการอวดอ้างว่า “ฉันเป็นพระอริยเจ้า” เหมือนการอวดอ้างความรวย ความเก่งในกลุ่มคนบ้าระดับสามัญ คนที่ถูกตำหนิ ปรามาส ว่าอวดอ้างเป็นพระอริยเจ้านั้นต้องนับว่ามีจำนวนน้อยมากแบบนับนิ้วมือข้าง เดียวยังไม่หมดเลย จึงไม่นับว่าเป็นวัฒนธรรมของการอวดอ้าง การไม่มีวัฒนธรรมอวดอ้างความเป็นพระอริยะของตัวเองนั้น เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เพราะมีกลไกธรรมชาติที่กำลังคุมเกมเรื่องนี้อยู่ ธรรมะจัดสรรให้หมดแล้ว ธรรมชาติฝ่ายนามเป็นเรื่องรอบคอบมาก ยิ่งเจาะลึก ก็ยิ่งเห็นความลงตัวของทุกอย่าง รวมทั้งยุทธศาสตร์ที่ป้องกันไม่ให้เกิดวัฒนธรรมการอวดอ้างขึ้นด้วย มีพระอรหันต์เท่านั้นที่จิตกับใจหลุดร่อนออกจากกัน จึงไม่เป็นทุกข์ แต่พระอริยเจ้าระดับรองลงมานั้นล้วนยังมีความทุกข์ในระดับที่มากน้อยต่างกัน ทั้งสิ้น เพราะพลังสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจยังถูกทำลายไม่หมด จึงมีขั้นตอนที่ตัวใจถูกข่วน ถูกความหลงครอบอยู่ จึงต้องเป็นทุกข์ทั้งนั้น เมื่อเป็นทุกข์ จึงไม่กล้าแม้แต่จะคิดว่าตัวเองเป็นพระอริยเจ้า


    คุณสมบัติ หนึ่งของคนที่ข้ามมาสู่อริยโคตรแล้ว คือ ถ่อมเนื้อถ่อมตัวเสมอ นี่ก็นับเป็นกลไกธรรมชาติฝ่ายนามอันหนึ่งที่คุมพระอริยเจ้าให้อยู่ในร่อง แห่งธรรมได้เสมอ ช่วงไหนที่ไม่ทุกข์ ก็คือช่วงขณะที่จิตกับใจหลุดร่อนออกจากกัน เกิดสภาวะหลอมรวมอยู่กับความเป็นธรรมชาติธรรมดาของสรรพสิ่ง ช่วงที่หลุดจากความคิดและหลอมรวมนั้น ย่อมไม่มีการนั่งเลียความคิดว่าตัวเองเป็นพระอริยเจ้าแล้ว เป็นเรื่องอฐานะ เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นกลไกอีกอันหนึ่งที่คุมพระอริยเจ้าที่แท้จริงอยู่ เมื่อสติตรึงกับฐาน ความคิดว่าฉันเป็นโน่นเป็นนี่จะหลุดร่อนหมด เกาะไม่ติดตัวใจ จึงไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไรที่วิเศษวิโสกว่าคนอื่น ยิ่งเป็นพระอรหันต์ด้วยแล้ว ความคิดไม่ติดตัวใจเลย ฉะนั้น จะไปเอา “ความเป็นพระอรหันต์” มาเลีย มาลูบไล้ได้อย่างไรเล่า ยุทธศาสตร์ฝ่ายนามที่แสนฉลาดลึกล้ำนี้ยังเป็นเกราะที่ช่วยป้องกันให้ “มนุษย์ในอุดมคติ” ไม่ทำอันตรายตัวเองในแง่อวดอ้าง ใครที่ไม่มีสภาวธรรมดา (มนุสธรรม) รองรับอยู่จริง แต่ “อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน” แล้วละก็ สามารถวิปลาส เป็นบ้าได้ง่ายๆ ซึ่งเรื่องเช่นนี้ ดูประวัติพุทธศาสนาแล้ว ไม่ค่อยมีคนทำ เท่าที่รู้ก็มีพาหิยะ มานพหนุ่มในสมัยพุทธกาลที่ไปหลอกชาวบ้านว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์เพื่อเอาลาภ สักการะ ในที่สุด สำนึกผิด ก็ตามหาพระพุทธเจ้าจนพบ ได้เรียนรู้ธรรมจากท่านและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันที


    ความคิดสุดท้าย
    ใคร ที่ยังอวดอ้างสรรพคุณของตนเองว่าเก่งในทางธรรม แสดงว่ายังจับความคิด (เจอรี่) ตัวอวดอ้างนั้นไม่ทัน ยังจับ “ความคิดสุดท้าย” ไม่ทัน จึงยังถูกเจอรี่ตัวสุดท้ายครอบและหลอกอยู่ ใครที่จับเจอรี่ตัวสุดท้ายได้ทันละก็ ตัวตนจะเล็กลงไปเรื่อยๆ จนหายไปในที่สุด เพราะเมื่อจับเจอรี่ตัวสุดท้ายได้ทัน ตะปบมันทิ้งไปได้ อัตตาตัวตนก็หายไปกับเจอรี่ทันที เกิดสภาวะหลอมรวมกับทุกสิ่งในธรรมชาติ อันคือสภาวะนิพพาน คนที่เข้าถึงสภาวะนี้จะพูดน้อยลงไปมาก คำพูดก็คือรูปธรรมของเจอรี่ในหัวนั่นเอง เมื่อมีเจอรี่ ก็จะอ้าปากพูด แต่เมื่อทักษะการปฏิบัติดีขึ้น คำพูดยังไม่ทันออกมา เจอรี่ก็หายไปเสียก่อน (เพราะพลังสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจน้อยลง) ก็เลยต้องอ้าปากค้าง ไม่มีคำพูด


    ข้อสอบที่ยากที่สุดในจักรวาล
    ตรง นี้แหละ จะเห็นได้ชัดว่า หากใครปฏิบัติถูกต้องแล้ว (คือเอาสติมาตรึงที่ฐาน) และเจาะเข้าถึงตัวสัจธรรมแล้วละก็ สัจธรรมตัวนั้นจะเป็นผู้กำกับความถูกต้องเอง เป็นกลไกธรรมชาติฝ่ายนามที่ตีกรอบอย่างรัดกุมถูกต้องไว้ให้ผู้ปฏิบัติแล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลอีกต่อไป เพราะถ้ายังต้องวิ่งหาคนมาส่องกล้องเข้าไปดูจิตใจของตนเอง และเพื่อ “รับรอง” สภาวะทางธรรมของตนเองแล้ว แสดงว่ายังจับหลักการปฏิบัติไม่ชัดเจน ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ ยังไม่ได้พบสัจธรรมที่ “หมดเรื่อง” ในตัวมันเอง ครูบาอาจารย์ที่รอบคอบจะต้องสอนหลักการให้ลูกศิษย์พึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง พึ่งตนเองคือ การพึ่งสัจธรรม กลไกธรรมชาตินี้จึงเป็นข้อสอบที่ยากที่สุดในโลก เป็นการกลั่นกรองมนุษย์ที่ละเอียดที่สุด ใครที่จะผ่านเข้ามาถึงขั้นตอนสุดท้ายเพื่อครองแชมป์ของ “มนุษย์ในอุดมคติ” หรือเป็น “ผู้รู้จริง” แล้วละก็ ต้องมีความสามารถ “รับประกัน” ตัวเองได้โดยพึ่งสัจธรรมอันสูงสุดที่ได้เข้าถึงแล้วเท่านั้น เป็นข้อสอบที่ “ผู้รู้จริง” เท่านั้นจึงจะสอบผ่าน “มนุษย์ในอุดมคติ” จึงย่อมมีจำนวนน้อยกว่าพระอริยเจ้าในระดับรองลงมา


    ทุกข์มืด ทุกข์สว่าง
    คน ส่วนมากเข้าใจผิดว่า ถ้าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว จะต้องไม่ทุกข์ ซึ่งยังเข้าใจผิดมากอยู่ เว้นเสียแต่ระดับพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่ทุกข์ แต่หากเป็นพระอริยเจ้าสามระดับแรก ท่านก็ยังเป็นทุกข์อยู่ ความแตกต่างของความทุกข์ระหว่างปุถุชนกับพระอริยเจ้าคือ เป็นทุกข์มืดกับทุกข์สว่าง ความทุกข์ของปุถุชนเป็นความทุกข์ที่มืดมน เพราะยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดในเรื่องการออกจากคุกชีวิต จึงมืดมน เมื่อทุกข์ขึ้นมา ก็ต้องกลบเกลื่อนความทุกข์ด้วยการเที่ยว กิน เสพกามสุข ถ้าทุกข์มากจนทนไม่ได้ ก็มักกินยากล่อมประสาทหรือไม่เช่นนั้นก็ไปฆ่าตัวตายเพื่อหนีทุกข์ เหมือนการอยู่ในถ้ำมืดที่ยังไม่เห็นทางออก ไม่เห็นแสงสว่างที่อยู่ปลายถ้ำ แต่หากใครข้ามมาสู่อริยโคตรแล้ว กำลังทำสิ่งที่ดิฉันพูดไว้ในคู่มือชีวิต (แผนที่เดินทางไปนิพพานขั้นต้น) แล้ว เขาก็ยังทุกข์อยู่ แต่เป็นความทุกข์ที่สว่างขึ้น เพราะรู้ว่าความทุกข์ใจนั้นเป็นอาการของคนที่กำลังติดคุกชีวิตอยู่ คือ รู้สาเหตุ (สมุทัย) ของอาการทุกข์ การรู้เป้าหมายเรื่องชีวิตนอกคุกหรือพระนิพพานก็เท่ากับการรู้นิโรธแล้ว และเมื่อรู้จักวิธีการฝึกสติปัฏฐานเพื่อแหกคุกชีวิต ก็เท่ากับรู้มรรคแล้ว จึงเท่ากับรู้อริยสัจสี่แล้ว แม้มีทุกข์ ก็เป็นความทุกข์อย่างสว่าง เหมือนยังอยู่ในถ้ำมืด แต่สามารถเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำแล้ว จึงเดินตามทางที่นำไปสู่ความสว่างได้ ฉะนั้น พระอริยเจ้าเหล่านี้เมื่อเจอความทุกข์ จะไม่กลบเกลื่อนด้วยการเสพกามสุขอีกต่อไป แต่จะใช้หลักการเอาสติมาตรึงที่ฐานหรือพาตัวใจกลับบ้าน และต่อสู้กับเจอรี่แบบหมัดต่อหมัด ตรงนี้แหละที่ทำให้ตัวใจของพระอริยเจ้าทั้งหลายต้องบอบช้ำไปด้วยรอยแผลที่ เหวอะหวะ เจ็บปวดสุดแสนจะทน ยิ่งกว่าเอาทิงเจอร์ราดแผลสดเสียอีก เหมือนบีบเอาหนองที่กำลังปะทุออกมา หรือ หมอผ่าเอาไส้ติ่งที่กำลังจะระเบิดออกมาโดยไม่วางยานอนหลับ เจ็บจนสุดแสนจะทนในบางครั้ง แต่นี่เป็นขั้นตอนที่พระอริยเจ้าระดับต้นๆทั้งหลายต้องผ่านทั้งนั้น นี่แหละคือข้อสอบยากๆที่ต้องทำ ถ้าต้องการออกจากคุกชีวิตถึงนิพพานอย่างถาวร ความเจ็บปวดจึงจะเริ่มเบาบางลง เพราะเอาชนะความโลภได้แล้ว เห็นเงินทองเป็นเศษกระดาษได้ เอาชนะความโกรธฉุนเฉียวตึงตังได้ แต่ความขุ่นใจ (ปฏิฆะ) ยังมีอยู่ จึงทำให้ทุกข์น้อยลงไปมาก เพราะพลังสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจมีน้อยลง เจอรี่ไม่สามารถข่วนตัวใจได้นาน สติ (แมวทอม) จะไวมากขึ้น ตะปบเจอรี่ทันและไล่มันออกจากบ้านได้ทุกครั้งไป


    คน ที่กำลังฝึกฝนสติปัฏฐานสี่ทั่วโลกนับจำนวนหลายๆล้านนั้น คนที่ทำได้เช่นนี้ต้องมีไม่น้อยเลย และถ้าเขาทำได้แล้ว เขาจะไม่เป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร แต่เพราะทำถูก จึงไม่มีการอวดอ้างความเป็นพระอริยเจ้ากันจนก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา


    อารยธรรม คำว่า “อารยธรรม” ที่หมายถึงวิถีชีวิตของมนุษย์นั้นน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับคำว่า อริยะ และ พระอริยเจ้า ดิฉันอยากเดาว่าอาจจะสืบสาวขึ้นไปถึงยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช ราวสองร้อยกว่าปีหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้บำรุงพระพุทธศาสนาจนทำให้การปฏิบัติสติปัฏฐานอยู่ในชีวิตประจำวันของ ชาวอินเดียในยุคนั้น มีบันทึกในพระไตรปิฎกว่า เมื่อชาวเมืองปาฏลีบุตรเดินสวนกัน จะทักกันด้วยคำถามว่า “ในขณะนี้ เธอกำลังปฏิบัติอยู่ฐานไหน” คนตอบก็คงต้องตอบว่า “ขณะนี้ฉันกำลังอยู่กับฐาน กาย เวทนา จิต หรือ ธรรม” ก็ว่าไป หากถามใครแล้ว คนนั้นตอบว่า “ฉันไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ฐานไหนทั้งสิ้น” คนก็จะมองคนนั้นๆเหมือน “ตัวซวย” จะไม่คบหา เดินหนีออกไปทันที บันทึกเช่นนี้น่าจะบอกใบ้ได้ว่า สังคมของชาวปาฏลีบุตรต้องเป็นสังคมที่มี พระอริยเจ้าเดินกันขวักไขว่แน่นอน คนไม่ปฏิบัติอาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่คนไม่คบหา เมื่อคนกลุ่มใหญ่เป็นพระอริยเจ้า จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งสติปัฏฐาน ก่อให้เกิด “วิถีชีวิตของพระอริยเจ้า ” ซึ่งได้กลายมาเป็น “อารยธรรม” คือ กลุ่มคนที่มีธรรมอันนำไปสู่ความเป็น “อริยชน” หรือ “พระอริยเจ้า” นั่นเอง


    คำๆ นี้จึงถูกส่งทอดลงมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งวิถีชีวิตได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว แต่เราก็ยังใช้อยู่ ซึ่งไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว เพราะยุคนี้มนุษย์ไม่ได้ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่อย่างกว้างขวาง ทำแต่สิ่งที่เป็นบาป เป็นอกุศล จึงควรเรียกวิถีชีวิตเช่นนี้ว่า “หายนะธรรม” มากกว่า คือ วิถีชีวิตที่นำไปสู่ความหายนะ ซึ่งตรงกับคำว่า มิคสัญญียุค คือ คนฆ่ากันง่ายๆด้วยความเข้าใจผิดว่ามนุษย์เป็นสัตว์


    เบื่อหน่ายเหมือนกันหมด
    นอก จากไม่มีการอวดอ้างความเป็นพระอริยเจ้าของตัวเองแล้ว ลักษณะเด่นของพระอริยเจ้าทั้งหลายคือ ล้วนเบื่อหน่ายต่อการเป็นนักโทษของคุกชีวิตทั้งสิ้น พระนิพพานไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเอื้อมไม่ถึง ทำให้มีความหวังมากขึ้นว่าแม้คนธรรมดาอย่างตัวเองก็ยังไปนิพพานได้ สิ่งหนึ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการเหมือนกันหมดคือ ล้วนต้องการออกจากคุกชีวิตอย่างถาวร ล้วนรอวันที่จะหมดปัญหาอย่างสิ้นเชิงหรือเข้าถึงพระนิพพานอย่างถาวร เพราะเบื่อปัญหาชีวิตที่นำความทุกข์มาให้ไม่เว้นแต่ละวัน พูดง่ายๆว่ารอวันที่จะเป็น “มนุษย์ในอุดมคติ” ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าคนที่มีความปรารถนาอยากเป็นพระอรหันต์แล้วไซร้ และกำลังทำกิจที่จะให้ตัวเองหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงตามแนวทางแห่งสติปัฏฐานสี่ แล้วละก็ โดยหลักตรรกะและเหตุผลแล้ว คนเหล่านี้ต้องข้ามโคตรมาแล้ว ย่อมต้องเป็นพระอริยเจ้าระดับใดระดับหนึ่งทั้งนั้น ไม่ใช่จู่ๆจากปุถุชนที่ยังใช้ชีวิตอย่างบ้าๆ เพี้ยนๆ คุณเห็นความไร้เหตุผลของความเชื่อตามประเพณี หรือที่พูดตามๆกันมาแล้วหรือยัง เป็นการพูดตามๆกันที่เพิ่มความสับสนให้แก่ชาวพุทธที่ต้องการพ้นทุกข์ โดยเหตุผลคือ คนที่ยังไม่ได้ข้ามมาสู่อริยโคตรหรือคนที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ย่อมไม่มีความพากเพียรปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงแน่นอนเป็น เหตุผลที่ชัดเจนในตัวแล้ว


    หลวงปู่ดุลย์
    ดิฉัน ได้อ่านการตอบคำถามของหลวงปู่ดุลย์เมื่อลูกศิษย์ถามท่านว่า หลวงปู่ยังมีความทุกข์อยู่หรือไม่ ท่านตอบว่า “มี แต่ไม่เอามัน” ซึ่งเป็นคำตอบที่ดิฉันเข้าใจถึงแก่นว่าหลวงปู่หมายถึงอะไร อธิบายหมดไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่พออธิบายได้คือ แม้พระอรหันต์ก็ยังมีขันธมาร และยังอยู่กับโลกที่เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงยังมีทุกข์อย่างพระอรหันต์ ต่างจากคนอื่นๆตรงที่ “ไม่เอามัน” เท่านั้นเอง ฉะนั้น ถ้าพระอรหันต์ยังมีทุกข์อย่างพระอรหันต์แล้วละก็ จะไปเอาอะไรกับพระอริยเจ้าระดับรองลงมาเล่า ดิฉัน ยังต้องพูดเหมือนที่เคยพูดว่า ต้องมีชาวพุทธในเมืองพุทธที่ตายไปโดยที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ แล้ว แต่ได้ใช้ชีวิตที่กลมกลืนกับความเป็นธรรมดาโดยที่ความทุกข์ไม่สามารถข่วนตัว ใจได้ คนเช่นนี้ต้องมีแน่นอน ถ้าเขาไม่เปิดปากพูดอะไรออกมา ย่อมไม่มีใครรู้


    สิ่งที่พระอรหันต์ต้องมี
    พระ อรหันต์ไม่จำเป็นต้องมีอภิญญาเสมอไป ไม่จำเป็นต้องอ่านใจคนได้ ทำนายอนาคตได้ ระลึกชาติได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะเหิรเดินอากาศหรือดำดินได้ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดกับพระอรหันต์เสมอไป เพราะมันเป็นเพียงสิ่งประดับเท่านั้น ใครที่สร้างบารมีเรื่องนี้มา ก็มีได้ เป็นเครื่องประดับที่เอาติดตัวมาด้วย เป็นส่วนของรายละเอียดเท่านั้น ยังไม่ใช่โครงสร้างใหญ่ สิ่งสำคัญที่สุดที่พระอรหันต์ต้องมีเหมือนกันหมด คือ ปัญญาที่รู้ว่าสภาวะที่ตนเองเข้าถึงแล้วนั้นเป็นที่สุดของทุกอย่าง ไม่ มีอะไรอยู่เหนือกว่าสภาวะนี้อีกแล้ว สภาวะนั้นเป็นพรมแดนสุดท้ายของทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว นั่นคือ สภาวะนิพพาน ตรงนี้ต่างหากเป็นสิ่งสำคัญสิ่งเดียวที่พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายต้องรู้เอง เห็นเอง และสามารถรับประกันได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องวิ่งหาใคร พระอรหันต์ไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกอย่าง การใช้ความคิดของพระอรหันต์ยังผิดได้อยู่ เพราะตัวความคิดมีคุณสมบัติที่คดอยู่ในตัว คือ เป็นอนิจจัง พระอรหันต์จึงยังคงพูดผิดได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการพูดที่ยังต้องอ้างอิงข้อมูลที่ถูกส่งทอดกันมา หากเป็นข้อมูลที่ถูกบิดมาแล้ว แม้จะพูดถูกอย่างไร ก็ผิดวันยังค่ำ คุณวุฒิของผู้เข้าถึงความเป็นธรรมดาหรือปกติอย่างสุดๆถ้ามีการสอน จะแสดงออกในลักษณะของความห้าวหาญทางธรรมมากกว่า คือ กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเป็นอิสระจากความคิดได้ ก็สามารถอยู่เหนือความกลัวได้ด้วย แม้คนหมู่มากจะไม่เข้าใจและอาจจะถูกตำหนิ ปรามาส แต่ก็ไม่ถอย ยังมีความกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา สร้างประโยชน์ให้คนหมู่มาก


    รู้จักรสชาติของทุเรียนแล้วหรือ
    ส่วน ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่าตนเองเป็น “ผู้รู้จริง” นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่สำคัญเท่ากับตนเองรู้จักตนเอง “มนุษย์ในอุดมคติ” ไม่คาดหวังอะไรอยู่แล้ว เพราะรู้ท่วมอกว่าในโลกนี้คนฉลาดมีจำนวนมากเท่าเขาโค จะให้ปัญญากะจิดริดของกลุ่มขนโคมารู้จัก “มนุษย์ในอุดมคติ” ย่อมเป็นเรื่องอฐานะอีกเช่นกัน พระบรมศาสดาตรัสว่า “ผู้ที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนัก ที่เหลือนั้นย่อมวิ่งเลาะอยู่รอบฝั่งตรงนี้เอง”


    โดย เหตุผลแล้ว การวิจารณ์สภาวะของ “มนุษย์ในอุดมคติ” ย่อมเป็นเรื่องอฐานะสำหรับคนที่ยังไม่ได้ผ่านข้อสอบที่ยากที่สุดในจักรวาล คนบ้าระดับสามัญจะยุ่งกับการทำมาหากิน จะไม่เอาเวลาหาเงินทองมาวิจารณ์คนในวงการธรรมะ จึงเหลือแต่การวิจารณ์ของคนที่อยู่ในโคตรอริยะที่ยังมีระดับความหลงแตกต่าง กัน ซึ่งบางคนก็ยังเกาะติดพระคัมภีร์แน่นอยู่ จะวิจารณ์ใครก็มักต้องเอาพระคัมภีร์มาอ้างอย่างเอาเป็นเอาตายว่า พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ แล้วไหนเธอมาสอนอย่างนี้ หรือไม่ก็เอาครูบาอาจารย์ที่มานั่งพูดเองไม่ได้แล้วมาอ้างอิง ตำหนิคนอื่นว่าสอนผิด เรื่องเช่นนี้ อธิบายเป็นข้อเปรียบเทียบจะเห็นได้ชัดเจนกว่า หากเปรียบพระนิพพานเป็นลูกทุเรียน คนวิจารณ์ซึ่งก็เป็นพระอริยเจ้าระดับใดระดับหนึ่งก็กำลังเห็นลูกทุเรียนที่ อยู่เบื้องหน้า (โสดา) ได้จับเปลือก (สกิทาคา) ได้แงะเปลือกออกและดมกลิ่นทุเรียนแล้ว (อนาคา) แต่คนเหล่านี้ยังไม่ได้หยิบเนื้อเหลืองๆของทุเรียนขึ้นมากินด้วยตนเอง ฉะนั้น ถึงแม้ได้เห็น ได้จับ ได้ดมกลิ่นทุเรียนแล้วก็ตาม มันเหมือนใกล้ต่อการรู้จักทุเรียนอย่างดีแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้เอาเนื้อทุเรียนขึ้นมากิน ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่ารู้จักทุเรียน (นิพพาน) แล้ว ส่วนที่ขาดไปนี่เอง


    จึง เป็นส่วนที่คนชอบวิจารณ์ต้องไปล้วงออกมาจากพระคัมภีร์บ้างหรือครูบาอาจารย์ ที่ล่วงลับไปแล้วบ้าง ซึ่งก็ไม่มีวันหนักแน่นได้เท่ากับการล้วงจากภูมิปัญญาที่รู้จักรสทุเรียนของ ตนเอง ฉะนั้น ใครที่คิดจะวิจารณ์ใครโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับพระนิพพาน กับ “ผู้รู้จริง” แล้วละก็ ผู้วิจารณ์ควรต้องสำรวจตนเองในเรื่องนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน คนเหนือพูดว่า “บ่ฮู้ บ่จี๊” คือ ถ้าไม่รู้ทาง ก็อย่าไปชี้ เก็บนิ้วไว้ก่อน ยิ่งชี้ก็ยิ่งยุ่ง วุ่นวายกันไปหมด


    สรุป
    ดิฉัน เห็นว่าการวิเคราะห์ “พระอริยเจ้า” เช่นนี้ย่อมเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก นอกจากทำให้ชาวพุทธเข้าใจภาพพจน์ของพระอริยเจ้าอย่างถูกต้องแล้ว ยังทำให้คนมีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์มากขึ้น จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้


    ขอขอบพระคุณที่มาโดย อ.ศุภวรรณ
     
  2. ปุณบพิธ

    ปุณบพิธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 มกราคม 2012
    โพสต์:
    1,102
    ค่าพลัง:
    +2,136
    เมื่อเราเข้าถึงความจริงของโลก เห็นถึงสิ่งที่ธรรมดาที่สุด จะรู้ว่า ที่สุดแล้ว ทุกอย่างนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา พระอรหันต์นั้น แท้จริงแล้วก็คือ คนที่ธรรมดาที่สุด เพราะเห็นถึงความจริง รู้ถึงความจริง ไม่บ้าหลงมัวเมาไปกับอุปทาน ยึดสิ่งที่ไม่จริงให้จริง เราๆ ท่านๆ ปุถุชนต่างหาก ที่เป็นคนไม่ธรรมดา เป็นคนบ้า ยึดถือสิ่งที่ไม่เที่ยง ให้เที่ยง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง ให้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ให้เป็นตัวตน
    และในการเป็นคนธรรมดาที่สุดของพระอรหันต์นี้เอง สิ่งต่างๆ ที่คนบ้าหลงมัวเมา มองว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา อย่างอภิญญา จึงจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสามัญ กับผู้ที่เป็นคนธรรมดาที่สุด
     

แชร์หน้านี้

Loading...