พลับพลาแรกนาขวัญ พลับพลาสุดท้ายจากแผ่นดินของพระมหาธีรราชเจ้า

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย sithiphong, 5 พฤษภาคม 2006.

  1. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,446
    ค่าพลัง:
    +141,949
    ที่มา ศิลปวัฒนธรรม

    <TABLE><TBODY><TR><TD>[FONT=Tahoma,]วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 [/FONT][FONT=Tahoma,]ปีที่ 27 [/FONT][FONT=Tahoma,]ฉบับที่ 07[/FONT]</TD></TR></TBODY></TABLE>
    [FONT=Tahoma,]สโมสร

    ราชาวดี สิริโยธิน

    พลับพลาแรกนาขวัญ พลับพลาสุดท้ายจากแผ่นดินของพระมหาธีรราชเจ้า

    หากจะกล่าวถึงคำว่า "พลับพลา" แล้ว เราคงจะไม่ได้หมายความถึงอาคารหรือเรือนที่สร้างในลักษณะคงอยู่ถาวร ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมขั้นสูงและมีลวดลายวิจิตรบรรจง งดงาม อย่างเช่นที่ปรากฏในองค์พระที่นั่ง เช่น พระที่นั่งสันติชัยปราการ พระที่นั่งวิมานเมฆ หรือพระตำหนักโดยทั่วไป

    แต่หากพิจารณาจากความหมายของคำว่าพลับพลา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว จะพบว่า หมายถึงโรงประทับหรือที่ประทับชั่วคราวสำหรับใช้รับรองพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ในประวัติศาสตร์สยามประเทศนั้น พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดิน จะเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมเยียนราษฎรหรือเสด็จประพาสตรวจราชการแผ่นดินตามหลักการปกครองแบบทศพิธราชธรรมอยู่เนืองๆ การปลูกสร้างพลับพลาโดยกรมการฝ่ายบ้านเมืองจึงมีอยู่บ่อยครั้งเพื่อรับเสด็จ เป็นต้นว่า พลับพลาประทับร้อน จังหวัดนครปฐม พลับพลาคราวเสด็จประพาสไทรโยค พลับพลาที่ประทับในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีคล้องช้างที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลับพลาโรงโขนที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน และพลับพลาที่ประทับตรงกลางโรงละครของพระตำหนักวังพญาไท เป็นต้น การสร้างพลับพลานั้นส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นและรื้อถอนไปเมื่อพระราชกิจเสร็จสิ้นลง

    อย่างไรก็ตามมีหลักฐานที่เชื่อถือได้จากคำบอกเล่าของอาจารย์ทองคำ พันนัทธี ปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดปทุมธานี ว่า ยังคงมีพลับพลาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลงเหลืออยู่อีกหลัง โดยซุกซ่อนอยู่ด้านหลังวัดบัวขวัญซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่ที่ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

    อาจารย์ทองคำเล่าว่า "พระจิตตวังโสภิกขุ วัดสะพานพระโขนง ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านเจ้าคุณเทพมุนี เจ้าคณะภาค ๑๖ วัดอรุณราชวราราม ได้ขอให้ท่านช่วยทำนุบำรุงวัดบัวขวัญ เพราะท่านเจ้าคุณเป็นห่วงวัดและพลับพลาแรกนาของรัชกาลที่ ๖ จะถูกทำลายไป ด้วยเป็นสมบัติของชาติที่จะหาดูที่ไหนอีกไม่ได้

    อันพลับพลาแรกนาหลังนี้ ท่านเล่าว่า รัชกาลที่ ๖ โปรดให้สร้างศาลาทรงเรือนไทย ทำด้วยไม้สัก สำหรับทอดพระเนตรการแรกนาไว้ที่ทุ่งพญาไท โดยพระองค์ได้เสด็จประทับทอดพระเนตรพระราชพิธีด้วยพระองค์เอง"

    ทั้งนี้ เป็นเพราะรัชกาลที่ ๖ ทรงห่วงใยพสกนิกรส่วนใหญ่ของประเทศที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พระองค์ท่านจึงทรงมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรในทุกๆ ด้าน นอกจากเพื่อบำรุงขวัญเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาภาวะข้าวยากหมากแพง ผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องมาจากสมัยต้นรัชกาลได้เกิดธรรมชาติแปรปรวน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล อีกทั้งยังรับผลพวงของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบเปิด จากผลของสนธิสัญญาเบาริ่ง ซึ่งทำให้ข้าวกลายเป็นทั้งยุทธปัจจัยและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ จากเดิมที่เกษตรกรเคยปลูกข้าวเพียงเพื่อใช้เป็นผลิตผลภายในประเทศ ก็ต้องปลูกเพื่อการส่งออกด้วย ประจวบกับงบประมาณแผ่นดินที่เคยมุ่งตรงไปด้านเกษตรกรรมก็ต้องแบ่งปันไปใช้ในการเสริมสร้างกำลังทหารจากการประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยวิทยานิพนธ์ของร้อยโทพิชัย สิงห์ทอง ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ระบุว่า พระองค์ท่านต้องทรงแบ่งงบประมาณไปใช้ในการสร้างเสริมกำลังทหาร จากช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๓-๖๘ เป็นงบฯ ป้องกันประเทศสูงถึง ๒๔.๓% ขณะที่งบฯ ด้านการเกษตรกรรมเหลือเพียง ๓.๒% เท่านั้น

    รัชกาลที่ ๖ จึงทรงให้ฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นเพื่อบำรุงขวัญไพร่ฟ้าพสกนิกร โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ระบุว่ามีการจัดพระราชพิธี ณ ทุ่งพญาไทและทุ่งศาลาแดง สลับกันไปมา ดังนี้

    จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๖๒ ระบุว่า วันอังคารที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ "เวลา ๙.๐๐ ก.ท. เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปประทับพลับพลาทุ่งพญาไท ครั้นถึงเวลา ๙ นาฬิกา ๖ นาทีกับ ๔๔ วินาที ก่อนเที่ยงเปนประถมฤกษ์ ได้แห่เจ้าพระยายมราชและนางเทพีจากพระราชวังดุสิตสู่โรงพิธีทุ่งพญาไท..."

    สำหรับทุ่งพญาไทนั้น ใช้ประกอบพระราชพิธีแรกนามาแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย เพราะเป็นทุ่งที่รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ซื้อที่ดินประมาณ ๑๐๐ ไร่ บริเวณสองฝั่งของถนนซังฮี้ (ถนนราชวิถี) เพื่อจะทรงทดลองปลูกผัก เลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศ และทำนาทดลอง อย่างที่เคยทอดพระเนตรในต่างประเทศเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง (พ.ศ. ๒๔๕๐) และได้โปรดสร้างโรงพระราชพิธีไว้ปลายทุ่ง เรียกว่า "โรงนาพญาไท" ซึ่งต่อมาในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้โปรดให้มีพระราชพิธีแรกนาขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรกและปฏิบัติต่อมาจนสมัยรัชกาลที่ ๖

    ต่อมา ปรากฏว่ามีการย้ายสถานที่จัดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญไปที่ทุ่งศาลาแดง ดังในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๖๔ วันจันทร์ที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ "เวลาเช้าใกล้พระฤกษ์ ๙ นาฬิกา ๕๑ นาทีกับ ๕๒ วินาทีก่อนเที่ยง เจ้าพระยาพลเทพแต่งตัวอย่างแรกนาสรวมครุยลอมพอกโหมดขึ้นรถยนต์หลวงแก่กระทรวงเกษตรมาหยุดอยู่ถนนคอยเสด็จอยู่ใกล้โรงพระราชพิธีทุ่งศาลาแดง"

    ทุ่งศาลาแดง ถือเป็นทุ่งนาส่วนพระองค์ อยู่ในท้องที่ตำบลศาลาแดง ต่อมาได้เตรียมใช้เป็นสถานที่จัดพิธีฉลองมงคลวารดิถีในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นงานยิ่งใหญ่มโหฬารชื่อว่า "สยามรัฐพิพิธภัณฑ์" เป็นงานแสดงเผยแพร่ผลงานการบริหารบ้านเมือง การแสดงสินค้า และเป็นมหกรรมรื่นเริงแก่ประชาชน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสวนลุมพินีในปัจจุบัน

    จะเห็นได้ว่า สถานที่ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเสมอ หากศึกษาย้อนหลังไปแต่ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบว่าประกอบพระราชพิธีที่ปรกหลังวัดอรุณ แต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกอบพระราชพิธีที่ทุ่งสนามหลวง เป็นต้น

    ยังมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้อีกข้อหนึ่งคือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เพิ่งมีการประกอบพิธีทางสงฆ์เพิ่มขึ้นในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้โปรดให้ประกอบพิธีสงฆ์เพิ่มเติมร่วมกับพิธีพราหมณ์ และมีชื่อรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยจะประกอบพิธีสงฆ์ในวันแรก และประกอบพิธีพราหมณ์ในวันรุ่งขึ้น

    จากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๕๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ "วันนี้โปรดให้ตั้งการพิธีราชพิธีแรกนา...เวลาบ่ายเจ้าพนักงานเชิญพระคันธารราษฎร์และพระอื่นๆ ที่เนื่องในพิธีนี้จากในวังมารับเทวรูปเจ้ากระบวนเชิญพระขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมนฑล เชิญพระพิรุณรูปพระโคประดิษฐานบนโต๊ะน่าพระที่นั่งอภิเษก แลเชิญเทวรูปไปตั้งที่โรงพิธีทุ่งพญาไท เวลาจวนค่ำ เสด็จออกพระที่นั่งอภิเษกทรงประเคนผ้าสำรับแก่พระสิบเอ็ดรูปแล้วทรงสุหร่าย ทรงเจิมเทวรูปและพระโค พระครองผ้านั่งที่แล้วทรงจุดเทียนอธิษฐานพระพิมลธรรมถวายศีล อาลักษณ์อ่านประกาศ พระสงฆ์สวดสิบสองตำนาน..."

    ครั้นวันรุ่งขึ้น เป็นวันศุกร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ "เวลาเช้าจวนพระฤกษ์ ทรงรถยนต์พระที่นั่งจากสวนดุสิต ประทับรถพระที่นั่งที่ถนนน่าพระลานทอดพระเนตร์กระบวนแห่แล้วเสด็จไปประทับพลับพลาทุ่งพญาไท โปรดให้เดินกระบวนแห่เปนกระบวนรถม้า เจ้าพระยายมราชแต่งตัวอย่างแรกนาสรวมครุยลอมพอกโหมดขึ้นรถเทียมม้า ๔ แลรถนางเทพีหาบมีทหารม้ากองร้อย ๑ เดินจากสวนดุสิตไปทุ่งพญาไท หยุดรถที่หัวถนน เจ้าพระยายมราชลงจากรถ...เดินเข้าไปโรงพิธี จุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานหยิบได้ผ้าหกคืบ พระยาเดินมายังลานที่แรกนาราชบัณฑิต...พราหม์เชิญ...แลพานพระโคนำถวายบังคมเฉพาะน่าพระที่นั่ง...เจ้าพนักงานประโคมกลองชะนะพระยาหว่านธัญพืชน์พร้อมด้วยนางเทพีแล้วไถกลบอีกสามรอบ พราหม์นำโคมาเลี้ยง เสี่ยงทายที่น่าพลับพลา..."

    พระราชพิธีทางสงฆ์นั้น เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์ มีผลงอกงาม

    ส่วนพระราชพิธีทางพราหมณ์นั้น เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลทำนาเพาะปลูกได้เริ่มขึ้น คำว่า จรดพระนังคัล เป็นภาษาเขมร (นังคัล คือผาลไถนา) แปลว่า ไถนาครั้งแรก พิธีนี้มีขึ้นเพื่อความมั่งคั่งในพืชพันธุ์ธัญญาหารของแผ่นดิน

    สำหรับพลับพลาแรกนาขวัญที่วัดบัวขวัญนั้น สันนิษฐานว่าเป็นพลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ ๖ ในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทุ่งพญาไท แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานวันเดือนปีที่แน่ชัดในการก่อสร้าง แต่จากภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าพลับพลาที่วัดบัวขวัญนี้ มีสถาปัตยกรรมนิยมแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมช่วงสมัยดังกล่าว คือ เป็นพลับพลาที่มีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เพื่อประทับทอดพระเนตรพระราชพิธีแรกนาหรือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลเท่านั้น จึงเป็นอาคารชั้นเดียว ทำด้วยไม้ทั้งหลัง ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง หลังคาจั่วซ้อนกัน ๒ ชั้น

    พันเอกศักดา ประจุศิลป ที่ปรึกษาชมรมคนรักวัง วังพญาไท เขียนไว้ในหนังสือสืบสานงานศิลป์ ฉบับวันที่ ๒๕-๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่า "พลับพลาแรกนาขวัญที่วัดบัวขวัญนี้ เป็นเรือนไทยโบราณ มีหอนั่งกลาง มีเฉลียง รอบหอกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๕ เมตรเศษ ยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นด้านหน้า ทั้งเสา ฝา หลังคามุงกระเบื้องไม้สัก เช่นเดียวกับพระที่นั่งพิมานจักรีในวังพญาไท มีลูกกรงไม้สักรอบพลับพลา ทาสีแดงทั้งหลัง"

    อาจารย์ทองคำ พันนัทธี ผู้สืบค้นประวัติพลับพลาหลังนี้ พบว่าภายหลังจากรัชกาลที่ ๖ ได้มีการเปลี่ยนสถานที่จัดพระราชพิธีฯ ทำให้พลับพลาที่เคยใช้เป็นที่ประทับ ณ ทุ่งพญาไท ถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการดูแลรักษา พลตรี พระอุดมโยธาธิยุทธ์ (สด รัตนาวะดี) ได้ขอพระราชทานหรือประมูลจากกรมพระราชพิธี นำพลับพลาแรกนาที่ประทับ ณ ทุ่งพญาไท มาถวายเป็นสมบัติที่วัดบัวขวัญ จังหวัดปทุมธานี เพื่อใช้เป็นอาคารโรงเรียนสอนปริยัติธรรม เพื่อเพิ่มพูนปัญญาและธรรมะให้กับภิกษุสงฆ์ โดยมีการเฉลิมฉลองเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และจากนั้นเรื่องราวของพลับพลาหลังนี้ก็ค่อยๆ เงียบหายไปพร้อมกับการเสื่อมโทรมตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งเป็นที่ลุ่ม อยู่ใกล้กับคลองบางสะแก ในฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังบริเวณใต้ถุนพลับพลาเป็นประจำ ทำให้ฐานพลับพลาทรุดลงเรื่อยๆ ทางวัดบัวขวัญก็ขาดปัจจัยที่จะบูรณะซ่อมแซมให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น

    ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กระทรวงกลาโหม ได้เคยจัดงานทอดกฐินเพื่อหารายได้บูรณะซ่อมแซมพลับพลา แต่ก็ทำให้พลับพลาได้รับการฟื้นฟูเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากขาดการดูแลอย่างถูกต้องเป็นระยะเวลานาน และมีอายุเกินกว่า ๗๐ ปีแล้ว สภาพของพลับพลาจึงปรากฏความทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่ากรมศิลปากรจะได้ขึ้นทะเบียนพลับพลาหลังนี้ให้เป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังขาดแคลนงบประมาณเงินทุนที่จะนำมาบูรณะซ่อมแซมพลับพลาได้ เนื่องจากยังมีโบราณสถาน โบราณวัตถุอีกมากมายทั่วประเทศ รอรับการดูแลอยู่เช่นกัน

    เมื่อหวนรำลึกถึงกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในเอกสารของศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดปทุมธานี จะเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่พวกเราจำเป็นต้องช่วยกันดูแล รักษา ปกป้องมรดกของชาติ เพราะพระองค์ท่านพระราชทานหลักคิดให้ปวงชนชาวไทยไว้ว่า

    "การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียวแต่โบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยาและกรุงเทพฯ แล้วประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"

    ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเราคนไทยทุกคนควรจะร่วมใจกันอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของชาติ เพราะการดูแลรักษามรดกของชาติเท่ากับการดูแลรักษาชาติเช่นกัน และเป็นที่น่ายินดีที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญข้อนี้ จึงได้ให้ความร่วมมือกับกรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะพลับพลาแรกนาขวัญ ณ วัดบัวขวัญ อย่างจริงจังและถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นครั้งแรก ด้วยวิธีการอนุรักษ์เชิงปฏิสังขรณ์ โดยรักษารูปแบบและชนิดของวัสดุดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ และเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว พลับพลาแรกนาขวัญจะได้กลับมาเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศชาติสืบต่อไปอีกครั้งหนึ่ง



    หากสนใจบริจาคเพื่อร่วมตั้งกองทุนดูแลพลับพลาแรกนาขวัญที่ประทับของรัชกาลที่ ๖ กรุณาติดต่อที่วัดบัวขวัญ อำเภอลาดหลุมแก้ว โทร. ๐ ๙๙๖๔ ๘๓๙๕ หรือสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โทร. ๐ ๒๕๙๙ ๒๐๗๔



    เอกสารอ้างอิง

    คณิตา เลขะกุล. วังพญาไท.

    ทองคำ พันนัทธี. "พลับพลาแรกนาขวัญ ร.๖," ใน วัฒนธรรมไทย ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๒ (พฤศจิกายน ๒๕๓๘).

    ______. "พลับพลาสีแดง แห่งพิธีแรกนาสมัย ร.๖ ของดีที่ไม่ควรลืม," ใน หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๗.

    ______. สารคดีศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒. รวมเรื่องที่ตีพิมพ์ในวารสารวัฒนธรรมไทยของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและวารสารก้าวไกลของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

    บันทึกเกี่ยวกับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน หอวชิราวุธานุสรณ์

    จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ค.ศ. ๑๙๑๓ (พ.ศ. ๒๔๕๖)

    จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ค.ศ. ๑๙๑๔ (พ.ศ. ๒๔๕๗)

    จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ค.ศ. ๑๙๑๙ (พ.ศ. ๒๔๖๒)

    จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ค.ศ. ๑๙๒๑ (พ.ศ. ๒๔๖๔)

    จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ค.ศ. ๑๙๒๒ (พ.ศ. ๒๔๖๕)

    พิชัย สิงห์ทอง, ร้อยโท. นโยบายส่งเสริมการเกษตรกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๔.

    วสันต์ เทพสุริยานนท์. พลับพลาแรกนาขวัญ วัดบัวขวัญ.

    วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ๒๕๔๑.

    ศักดา ประจุศิลป, พันเอก. "โรงนา พญาไท," ใน สืบสานงานศิลป์ นิทรรศการภาพเขียนทิวทัศน์ สีน้ำ. พระราชวังพญาไท ฉบับวันที่ ๒๕-๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕.

    สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง. คณะกรรมการโครงการบูรณะพระราชวังพญาไทและชมรมคนรักวัง จัดพิมพ์เผยแพร่ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ ๖ รอบ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐.

    สมัย สุทธิธรรม. "วัดบัวขวัญ," ใน ถิ่นทองของไทย ปทุมธานี.

    "สวนลุมพินี," ใน สยามรัฐ ปีที่ ๔๔ ฉบับ ๑๔๗๐๗ (วันที่ ๒๒ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖), น. ๑ และ ๒.

    สำนักงานศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี. โครงการอนุรักษ์ และพัฒนาพลับพลาแรกนาขวัญ จังหวัดปทุมธานี.

    หนังสือที่ระลึกในงานทอดกฐินสามัคคีของศูนย์รักษาความปลอดภัย ณ วัดบัวขวัญ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔.

    เอกสารประวัติวัดบัวขวัญ (สะแกหลักเมตร) อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี.

    [/FONT]
     

แชร์หน้านี้

Loading...