วิชาชีวิตที่...ทอสี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย paang, 16 เมษายน 2009.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,329
    [​IMG]
    ครูอ้อน-บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์​



    คนเริ่มรู้จัก ครูอ้อน-บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ครูใหญ่หรือเจ้าของ

    โรงเรียนทอสีมากขึ้นเรื่อยๆ กับแนวทางวิถีพุทธนำชีวิต

    ใช่เลย...ครูอ้อน เป็นคนหนึ่งที่ศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางพุทธเพื่อนำมาใช้กับชีวิต และการบริหารโรงเรียนทอสี เธอมั่นใจว่า มาถูกทางแล้วในการพัฒนามนุษย์
    จากครอบ
    ครัวใหญ่ที่พ่อแม่สอนให้ลูกๆ พึ่งพาตัวเอง เกือบ 20 ปีที่เธอปลุกปั้นโรงเรียนทอสี

    แรกเริ่มเธอวางเป้าหมายไว้ว่า เด็กต้องเรียนอย่างมีความสุขในโรงเรียนแห่งนี้ แต่ที่สุดแล้วเธอค้นพบว่า "แค่นั้นยังไม่พอ" ต้องใช้แนวทางวิถีพุทธขัดเกลาจิตใจเด็ก เพื่อให้พวกเขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เก่ง ดีและมีความสุข
    เก่ง ดีและมีความสุข ต้องพัฒนาอย่างไร เรื่องนี้ต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
    สิ่งที่ครูอ้อนย้ำอีกอย่างก็คือ รากฐานของครอบครัวสำคัญมาก

    อยากให้มองย้อนถึงครอบครัวตัวเอง ก่อนที่จะเล่าถึงเด็กๆ โรงเรียนทอสี ?

    เราเติบโตมาจากโรงเรียนคริสต์ รู้เรื่องพุทธศาสนาน้อยมาก ไม่สามารถตอบคำถามได้ ตอนนั้นเราปฎิบัติตามพิธีกรรมศาสนา แต่ไม่มีความเข้าใจ ชีวิตที่ผ่านมาค่อนข้างสบาย ไม่ค่อยทุกข์ เรามาจากครอบครัวใหญ่ คุณตามีลูก 6 คน มีบ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน ญาติพี่น้องจะมีกิจกรรมร่วมกัน บางครั้งขี่จักรยานเป็นกองคาราวาน ทุกๆ เย็นครอบครัวของเราต้องทานข้าวด้วยกัน พ่อแม่มีเวลาให้เรา

    พ่อแม่เป็นแบบอย่างให้กับครูอ้อนอย่างไร

    เรื่องของการให้ พ่อแม่เป็นคนใจบุญ บางครั้งอาจไม่ได้ช่วยเรื่องเงิน แต่ช่วยด้วยน้ำใจ ใครเดือดร้อนก็ช่วยคิดหาวิธีการ เราเรียนรู้การให้ตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่เราจะแคร์ความรู้สึกคนอื่น เพราะเรามีฐานครอบครัวที่ดี ก็เลยมีใจที่มั่นคง และเราอยากบอกว่า ความรักความอบอุ่นในครอบครัวสำคัญมาก

    รู้สึกรักอาชีพครูตั้งแต่เมื่อไหร่

    ตอนเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ และเคยสอนพิเศษภาษาอังกฤษที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ยังเก็บแผนการสอนไว้จนถึงทุกวันนี้ ครูคนหนึ่งเคยเขียนไว้ในแผนการสอนของเราว่า ถ้าคุณครูเป็นนักเรียน คงสนุกมากที่ได้เรียนกับเรา เราไม่ใช่คนหัวดี ก็เลยเข้าใจคนเรียนไม่เก่ง เราคิดกิจกรรมสนุกๆ ทำเป็นเกมสอนเด็กๆ

    ตอนที่คิดจะทำโรงเรียน ครูอ้อนตั้งโจทย์อย่างไร

    ตั้งโจทย์ว่า อยากให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบด้านการศึกษา แต่เรารู้ว่า ธรรมชาติของเด็กอนุบาลต้องได้เล่นในธรรมชาติเรียนรู้ผ่านกระบวนการลงมือทำ ไม่ใช่แค่การฟังอย่างเดียว ถ้าเด็กได้เคลื่อนไหวเรียนรู้หลายแนวทางจะมีกระบวนการคิดมากขึ้น

    ครูอ้อนรู้ได้อย่างไรว่ามาถูกทางแล้ว

    เราไม่รู้เรื่องทฤษฎีการศึกษาเลย แต่วางแนวทางจากกระบวนการคิดของเราทั้งหมด เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้เรามีความสุข ตอนเรียนเมืองนอก ช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องความแตกต่างของเด็กไทยและเด็กตะวันตก ได้เห็นว่าเด็กไทยเวลาวาดภาพจะมีประตูหน้าต่างในบ้านไม่กี่บาน มีรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่เด็กตะวันตกจะมีบ้านที่หลากหลาย

    คนไทยถูกเลี้ยงดูแบบตีกรอบ ทำให้ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ บางคนบอกว่า ต้องเลี้ยงลูกแบบเพื่อน ไม่มีกรอบ แต่ยังมีทางสายกลางตามหลักพุทธศาสนา แต่ก็มีคนโจมตีว่า หลักพุทธทำให้มีกรอบมากเกินไป ครูอ้อนคิดว่า คนที่พูดยังไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาจริงจัง หลักพุทธบอกว่า ต้องมีทั้งกรอบและอิสระ นี่คือทางสายกลาง

    ทุกวันนี้เด็กสุดขั้ว อยากแต่งตัวอย่างไรก็แต่ง กลัวว่าจะไม่มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่เราค้นพบเมื่อทำการศึกษาวิถีพุทธ ก็คือ พุทธมีความเป็นสากล ไม่ล้าสมัย มีกรอบของความถูกต้องดีงาม และคงไว้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ความถูกต้องดีงามไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร ถ้าไม่เบียดเบือนตัวเองและผู้อื่นก็ทำไป

    จำเป็นด้วยหรือที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับพุทธศาสนา

    ถ้าพ่อแม่จะบอกลูกว่า อย่าดื่มเหล้าเพราะผิดศีล 5 ก็ต้องพาลูกวิเคราะห์ว่า การดื่มเหล้าจะเบียดเบียนตัวเองอย่างไร ไม่ใช่ห้ามลูกดื่มเหล้าแล้วจบ ต้องมีคำอธิบาย พุทธศาสนาบอกว่า อย่าเชื่อ...ต้องพิสูจน์ ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ได้
    พฤติกรรมที่บอกว่า เด็กเหวี่ยงกระเป๋าใส่คนขับรถ ครูอ้อนทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร

    ขอเล่าย้อนสักนิด ครูอ้อนทำเรื่องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปี 2534 พอทำไปเรื่อยๆ เรามีความทุกข์ เพราะเราคาดหวังกับครู อยากได้ครูที่ทุ่มเทและเห็นคุณค่าของการเป็นครู แต่ปรากฎว่า ครูคิดว่านี่คืออาชีพหนึ่งที่หาเลี้ยงชีวิต

    เด็กๆ เวลาอยู่ในโรงเรียนจะมีกิริยามารยาทดี แต่พอก้าวพ้นโรงเรียน เด็กเหวี่ยงกระเป๋าใส่คนขับรถ ไม่งามเลย หรืออยู่โรงเรียนกินข้าวเอง อยู่บ้านต้องมีเด็กรับใช้ป้อน อยู่โรงเรียนยกมือไหว้ครูทำตัวเหมือนนางฟ้า อยู่บ้านไม่ยกมือไหว้ปู่ย่าตายาย เพราะเด็กรู้ว่าครูเอาจริง แต่เวลาอยู่บ้าน เด็กรู้ว่า ปู่ย่าตายายไม่กล้าดุ กลัวหลานไม่รัก

    เรื่องที่เด็กเหวี่ยงกระเป๋าใส่คนขับรถ เพราะเด็กมองว่า คนขับรถเป็นคนอีกระดับ เขาเลียนแบบพ่อแม่ที่ปฎิบัติต่อคนขับรถ เราจะไปโทษเด็กได้อย่างไร ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องไม่มองว่าคนขับรถเป็นคนอีกระดับ พวกเขาเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย พ่อแม่ต้องร่วมมือกับครูที่โรงเรียน เมื่อทำแล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลง ผู้ปกครองมีความสุขในการเลี้ยงลูกมากขึ้น มีการรับฟังและอ่อนน้อมถ่อมตัว

    ทำไมเชื่อว่า แนวทางวิถีพุทธพัฒนามนุษย์ได้

    ครูอ้อนปฎิบัติธรรมในช่วงปี 2534 ตอนนั้นพี่สาวพาลูกเข้าวัด และชวนลูกเราไปด้วย ท่านอาจารย์ชยสาโร วัดป่านานาชาติ ท่านมีวิธีการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง ตอนนั้นเราไม่คิดว่า การปฎิบัติธรรมเป็นเรื่องของเรา จนท่านถามว่า เมื่อไหร่พ่อแม่จะมาฟังธรรมบ้าง หลังจากนั้นนิมนต์ท่านมาเทศน์เป็นครั้งคราว ตอนนั้นคิดว่า การศึกษาและพุทธศาสนาไม่เกี่ยวกัน

    ตอนหลังมีผู้ปกครองบอกว่า ทำไมไม่ทำการศึกษาระดับประถม ท่านชยสาโรสนใจการศึกษาจึงมาร่วมประชุมด้วย ท่านเล่าว่า การพัฒนามนุษย์ต้องใช้หลักไตรสิกขา พัฒนาพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ท่านทำให้เห็นว่า หลักพุทธพัฒนาคนได้สมบูรณ์ที่สุด เราก็เลยรู้ว่า ที่ทำการศึกษามายังพร่อง และที่บอกว่า ต้องทำให้เด็กมีความสุข นั่นยังไม่ใช่

    ตอนแรกตั้งโจทย์ว่า เด็กต้องมีความสุข แต่ที่สุดแล้วไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ?

    เพราะเรายังไม่มีความสุข จนนำหลักพุทธมาใช้ ท่านอาจารย์ชยสาโรบอกว่า สิกขาคือฝึกและฝืน ถ้าเราทำตามสัญชาติญาณเราก็ไม่ต่างจากสัตว์ คนที่มีจิตใจสูงต้องฝึกและฝืนตัวเอง เพื่อขัดเกลาตัวเอง เพราะตอนนั้นเราไม่เข้าใจคำว่า พุทธะ

    เมื่อครูอ้อนรู้สึกว่าไม่มีความสุข แล้วกลับมาวิเคราะห์ตัวเองอย่างไร

    ตอนนั้นไม่ศึกษาเรื่องการศึกษาเลย หันมาศึกษาพุทธศาสนาตั้งแต่ปี 2542 ท่านอาจารย์ชยสาโรมาประชุมกับเรา เพราะที่ผ่านมาไม่ได้จับหลักเรื่องการพัฒนาด้วยหลักไตรสิกขา แต่ใช้หลักพัฒนามนุษย์ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา ตอนนั้นคิดว่าเพียงพอแล้ว แต่หลักพุทธบอกว่า ถ้าจะพัฒนามนุษย์ต้องทุกด้านทั้งพฤติกรรม จิตใจและปัญญา

    เราก็กลับมาดูว่า พฤติกรรมคุ้นเคยแบบไหนไม่ดี เด็กๆ ควรมีพฤติกรรมที่ดีงามอย่างไร ตามหลักพุทธต้องทำ 3 เรื่องคือ สมรรถภาพจิต คุณภาพจิต และสุขภาพจิต และสิ่งที่เราไม่เคยเน้นคือ สมรรถภาพจิต นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย ใครพูดอะไรหรือนินทานิดหน่อย ก็หวั่นไหว เศร้า

    หมายถึงที่ผ่านมา ยังขาดมิติการพัฒนาสมรรถภาพจิต ?

    ต้องพัฒนาตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่อโตแล้วจะทำตามพฤติกรรมที่เคยชินแก้ไขยาก จึงต้องเอาวิถีพุทธเข้ามาตั้งแต่อนุบาล ถ้าเรามีความคิดไม่ถูกต้อง ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง เด็กต้องมีความมั่นคงในจิตใจ และตัวตนไม่สูงเกินไป
    ทำไมคิดว่า แนวทางวิถีพุทธพัฒนามนุษย์แบบองค์รวมได้

    พระพุทธเจ้าจะพูดสองเรื่องคือ ปัจจัยภายนอก คือ การจัดสรรวิถีชีวิตที่เอื้อกับการพัฒนา นี่คือหลักการ แต่การออกแบบเป็นเรื่องของเรา เด็กต้องได้เรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต ต้องมีความสมดุลทั้งการพักผ่อนและสนุกสนานรื่นเริง ทำประโยชน์ให้ตัวเองและผู้อื่น อาทิ ช่วยครูยกของ จัดโต๊ะอาหาร

    ส่วนปัจจัยภายในคือ ต้องฝึกให้เขาคิดไตร่ตรองหาเหตุผลด้วยตัวเอง เวลาอ่านนิทานให้ด็กฟัง เราก็ต้องให้เขาคิดเรียนรู้ทั้งสิ่งงดงามและไม่งดงาม

    แม้ปัจจุบันจะมีโรงเรียนแนววิถีพุทธกว่าสองหมื่นแห่ง แต่ต้องดูว่าเป็นวิถีพุทธแต่เปลือกหรือเข้าถึงแก่น อยู่ที่ผู้บริหาร พุทธศาสนาเป็นหลักการที่ต้องปฎิบัติ และการปฎิบัติต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาชีวิต

    สมัยนี้พ่อแม่คิดว่า เด็กมีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว ครูอ้อนมีความเห็นอย่างไร

    พ่อแม่ให้สิทธิกับลูกมากเกินไป ให้มีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว ทั้งๆ ที่เด็กยังมีหน้าที่ต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และสังคม ต้องทำให้เขาเห็นว่า ที่เขามีวันนี้เพราะมีคนช่วยสนับสนุน บางคนมีพระคุณต่อเขา เมื่อเขาเห็นตรงนี้ เขาจะอ่อนน้อมถ่อมตัว เราต้องสอนให้เขามองคนอื่นว่า เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายมาด้วยกัน

    เกือบ 20 ปีกับการบริหารโรงเรียนทอสี ครูอ้อนเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

    เราปล่อยวางมากขึ้น ถ้าไม่ปล่อยเราจะนอนไม่หลับ จากเดิมทำแค่โรงเรียนอนุบาลและประถม กำลังจะทำระดับมัธยมคุณแม่บริจาคที่ดินในโคราชให้ เพื่อทำโรงเรียนปัญญาประทีปตามแนววิถีพุทธ เราทำเป็นโรงเรียนประจำ เราจัดสรรวิถีชีวิตดีงามให้ จะเปิดมัธยมปีที่หนึ่งพฤษภาคมนี้ เป็นโครงงานที่ลงทุนเยอะ เราต้องการกำลังของสังคม ถ้าคุณต้องการโรงเรียนดีมีคุณภาพต้องช่วยกัน
    ถามว่าปริมาณงานเยอะขึ้นไหม เยอะมาก เพราะไม่ได้สอนแค่เด็ก ต้องสอนทั้งครูและผู้ปกครอง ทำไมคนถึงไม่ค่อยทำเรื่องการศึกษา ทั้งๆ ที่วิถีพุทธน่าจะเกิดมาตั้งนานแล้ว การศึกษาเป็นงานที่หนักมาก

    ครูอ้อนทำงานสัปดาห์ละ 7 วันแต่ไม่เครียด เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า เรามาถูกทางแล้ว เพราะเป็นการสร้างชีวิต ขณะที่ฝรั่งสอนเรื่องการคิด จนหยุดคิดไม่ได้ต้องกินยานอนหลับ แต่พุทธสอนว่า ต้องคิดเป็นและหยุดคิดเป็น เราต้องเป็นนายเหนือความคิด

    ค่าเล่าเรียนโรงเรียนทอสีค่อนข้างแพง เรื่องนี้จะอธิบายอย่างไร

    การทำการศึกษาที่ดีไม่ใช่ถูก เราไม่ต้องการให้ครูกัดก้อนเกลือกิน เราต้องการให้ครูไม่เหนือยเกินไป มีเวลาให้ครอบครัว เขาต้องมีเงินเดือนพอควร แต่ต้องใช้ชีวิตแบบพอเพียง

    ถ้าใครอยากได้แนวทางหลักสูตรเราเต็มใจให้ เพราะหลักสูตรพระพุทธเจ้าไม่สงวนลิขสิทธิ์ หลายคนบอกว่า ค่าเล่าเรียนแพง เพราะที่อื่นสอนห้องละ 40 คน แต่ห้องเรียนที่ทอสีไม่เกิน 25 คน พ่อแม่บางคนยอมเสียเงินเป็นแสนๆ ส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ แต่ทำไมโรงเรียนไทยๆ กลับบอกว่า ค่าเรียนแพง

    แนวทางที่วางไว้ว่า เด็กต้องเก่ง ดี มีความสุข เป็นความจริงหรือความฝัน?

    เมืองไทยน่าจะเป็นผู้นำทางการศึกษา แต่เราไปตามก้นฝรั่ง เราไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม เราไม่รู้จักตัวเอง เพราะคนไทยอยากรวย และที่ผ่านมาเราเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตที่ดีงามเป็นตัวตั้ง เรานึกว่าฝรั่งเจริญก้าวหน้ากว่าเรา ท่านชยสาโรบอกว่า เราควรเป็นผู้นำการศึกษา เราเชื่อว่าในอนาคตฝรั่งต้องมาดูการศึกษาในเมืองไทย และตอนนี้มีคนจากต่างประเทศมาดูระบบการศึกษาของโรงเรียนทอสี

    สาเหตุที่เด็กมีปัญหามากมายในสังคม เพราะไม่มีหลักในชีวิต โรงเรียนสอนแต่วิชาอาชีพ ระบบการศึกษาทำให้เราหมดความมั่นใจในตัวเอง เพราะคุณวัดด้วยคะแนน แล้วทำไมคนไทยไม่มีศรัทธาในตัวเอง เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เพราะเราไม่มีศรัทธาว่าเราทำได้ เราจึงมีหลักสูตรภาษาชีวิต ชีวิตต้องมีความสมดุลทั้งวิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเด็กเข้าครัวช่วยแม่ทำอาหาร แม่มักจะบอกว่า อยู่ในครัวจะเลอะเทอะ พ่อแม่ชอบตัดโอกาสในการเรียนรู้ชีวิต แต่เด็กฝรั่งต้องทำงานบ้านเอง เพราะไม่มีคนรับใช้

    มีข้อแนะนำอย่างไร

    เราช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมของสังคม การเรียนวิชาการอย่างเดียว ทำให้เราไปไม่ถึงดวงดาว มีความคิดแคบๆ แม้จะทำงานได้เงินเดือนสูงๆ แล้วนั่นคือ เป้าหมายของชีวิตหรือ ลูกคุณมีความสุขมีเวลาให้กับพ่อแม่ไหม นั่นคุณกำลังสอนความอกตัญญู แล้วคนรุ่นต่อๆ ไปจะยิ่งอกตัญญมากขึ้น ไม่เห็นพ่อแม่ในสายตา เราต้องกลับมาสู่แนวทางวิถีพุทธ ซึ่งสามารถตอบคำถามให้เราได้

    มีคนบอกว่า วิธีคิดและสอนแบบโรงเรียนทางเลือก ทำให้คนแปลกแยกในสังคม ครูอ้อนคิดอย่างไร

    คนส่วนใหญ่ไม่สามารถหลุดออกจากกรอบ แล้วเชื่อว่า ตัวเองคิดนอกกรอบ เหมือนอย่างที่คนกอบโกยผลประโยชน์ของแผ่นดิน แล้วบอกว่าช่วยชาติ เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เพราะเขาไม่มีหลักในชีวิต และคิดว่าตัวเองช่วยชาติ แต่สอนให้คนไม่พึ่งตัวเอง การจ่ายใต้โต๊ะหรือการคอรัปชั่นเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างจากพระบางรูปเทศน์ได้น่าฟังมาก แต่การปฎิบัติเป็นอีกแบบ หรือครูพูดได้น่าฟังแต่ปฎิบัติคนละเรื่อง ถ้าเด็กเห็นจะมีศรัทธาไหม

    ในวันครอบครัว ครูอ้อนคิดว่า เราควรหันมาทบทวนเรื่องใด

    กลับมาเห็นคุณค่าของครอบครัว เราได้ปลูกฝังสิ่งดีงามอะไรให้ลูกบ้าง วัฒนธรรมมีทั้งดีงามและไม่ดี เราไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างเดียว เราต้องศึกษาทำความเข้าใจ พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราเชื่ออะไรง่ายๆ เราต้องเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต

    love_

    ที่มา
    http://www.bangkokbiznews.com
    <!-- Tags Keyword -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...