สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พฺรหฺมรํส

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 3 มีนาคม 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    [FONT=medium Tahoma, AngsanaUPC, BrowalliaUPC, CordiaUPC, DilleniaUPC, EucrosiaUPC, FreesiaUPC, JasmineUPC, KodchiangUPC, LilyUPC] ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ต้นทุนบุญกุศล
    ทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้ปวงชน แม้ร่างตนเขาก็เอาไปเผาไฟ
    เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
    เจ้ามามือเปล่าเจ้าจะเอาอะไร เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา

    คำนำ เมื่อประมาณ ๑๕ ปีมาแล้ว เพื่อนสนิทได้ให้หนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อ สมุดสมเด็จ เป็นประวัติของหลวงพ่อโต พฺรหฺมรํสี ตอนนั้นฉันยังไม่รู้จักท่านเท่าใดนัก รู้แต่ท่านมีคาถาชินบัญชร เพื่อนได้แนะนำตอนให้หนังสือมาว่า ท่านเป็น พระใจดี มีเมตตามาก ขนาดขโมยมาล้วงกุฏิท่าน จะขโมยตะเกียง แต่หยิบไม่ถึง ท่านก็เอาเท้าเขี่ยๆ ไปให้ ท่านบอกว่า “มันอยากได้” สมัยนั้น ฟังแล้วก็เห็นเป็นเพียงเรื่องขำ อ่านหนังสือแล้วก็เก็บไว้ในตู้
    วันเวลาผ่านไปกับชีวิตการทำงานแบบปุถุชน สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ได้เรียนธรรมะบ้าง ได้เรียนรู้ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และเรียนรู้การวางอุเบกขา เพื่อจะได้ไม่เดือดร้อนจนเกินไป
    ครูบาอาจารย์สอนว่า แม้จะเห็นอุเบกขาแล้ว แต่เราก็ต้องฝึกเมตตาให้เพิ่มขึ้นในใจของเราด้วย เรื่องราวของหลวงพ่อโตเขี่ยตะเกียงให้ขโมย จึงกลับมาสู่ใจของฉันอีกครั้ง แม้ว่าคนที่ทำให้ท้อใจละเหี่ยใจ จะไม่ได้มาขโมยตะเกียงก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความเป็นไปของ ‘ปุถุชน’ แล้ว ก็คลายใจ ลงได้ เมื่อพูดตามหลวงพ่อว่า “มันอยากได้”
    บ่อยครั้งที่เรารับรู้เรื่องราวของหลวงพ่อโตแล้ว มองไปที่ความขำ นั่นเพราะท่านทำสิ่งที่ไม่เหมือนใคร แต่เรามัวขำเลยไม่ได้มอง ‘ความจริง’ ที่หลวงพ่อ ‘ทำให้ดู เป็นอยู่ให้เห็น’ แล้วเอามาสอนตัวเองมาฝึกฝนตัวเอง เพื่อไปสู่ชีวิตสุขสงบตามรอยหลวงพ่อ
    ดังนั้น จึงอยากทบทวนประวัติของหลวงพ่ออีกครั้ง เพื่อจะเห็น ‘ความจริง’ ที่ท่านสอนโดยการ ‘ทำให้ดู เป็นอยู่ให้เห็น’ เช่น เห็นเรื่องเมตตาอันมากมายจากเรื่องที่ท่านเขี่ยตะเกียงให้ขโมย เป็นต้น ไม่เช่นนั้นแล้ว การที่เราได้มีโอกาสมีหลวงพ่อโตอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากท่านเลย ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่ไม่ใช่น้อย
    ฉันหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นเจตนาของหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับศึกษาประวัติของท่านด้วยมุมมองใหม่ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความสุขของชีวิตต่อไป
    ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆัง มีนามเดิมว่า โต นามฉายาว่า พฺรหฺมรํสี ชาตะในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๓๑ ที่หมู่บ้านตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    สมเด็จพระพุฒาจารย์บวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๑ เจ้าคุณพระบวรวิริยเถร วัดสังเวชวิศยารามเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วท่านได้เล่าเรียนปริยัติธรรมอยู่ที่วัดระฆังจนมีความรู้แตกฉาน ครั้นอายุครบอุปสมบทเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บวชเป็นนาคหลวงที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเรียกกันว่าพระมหาโตตั้งแต่แรกบวชมา กล่าวกันว่าสมเด็จฯ ท่านเทศน์ไพเราะนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระเมตตาท่านมาก แต่ท่าน ไม่ปรารถนายศศักดิ์ เมื่อเรียนรู้พระปริยัติธรรมแล้วก็เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ และไม่รับเป็นถานานุกรม แต่เป็นนักเทศน์ ที่มีชื่อเสียงมาก ได้ทรงคุ้นเคยมาทั้งรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ ท่านได้ทูลขอตัวเสีย คงเป็นแต่พระมหาโตตลอดมา บางคนก็เรียกว่าขรัวโต เพราะท่านจะทำอะไรก็ทำตามความพอใจของท่าน ไม่ถือความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่ อัธยาศัยของท่านมีความมักน้อยเป็นปกติ ถึงได้ลาภสักการะมาในทางเทศน์ก็เอาไปใช้ในการสร้างวัดเสียเป็นนิจ จึงมีผู้นับถือท่านมาก
    ถึงรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะท่านไม่ขัด กล่าวว่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทราบคุณธรรมของท่านยิ่งใหญ่เพียงไร จึงทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ เวลานั้นท่านมีอายุได้ ๖๕ ปี แล้ว ต่อมาอีก ๒ ปี ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ ก็ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) มรณภาพ จึงทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านถึงมรณภาพ เมื่อวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ อายุได้ ๘๕ ปี ครองได้ ๖๕ พรรษา
    (ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นี้ คัดจากหนังสือทำเนียบพระราชาคณะกรุงรัตนโกสินทร์ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) การศึกษา
    มีเรื่องเล่าว่า ในตอนที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)จะไปอยู่วัดระฆังฯ นั้น คืนวันหนึ่งพระอาจารย์ (ว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นาค เปรียญเอก วัดระฆัง) ฝันว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด แล้วตกใจตื่น (ดูเหมือนพระอาจารย์จะเชื่อมั่นว่า ฝันอย่างนั้นท่านจะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง) วันรุ่งขึ้นเผอิญเจ้าคุณอรัญญิกได้พาสามเณรโตไปฝากเป็นศิษย์ศึกษาพระปริยัติธรรม พระอาจารย์ก็รับไว้ด้วยความยินดี
    ในสมัยที่สมเด็จฯ เป็นสามเณร ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรโปรดปรานมาก ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ได้พระราชทานเรือกราบกัญญาหลังคากระแชงให้ท่านใช้สอยตามอัธยาศัย แม้พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงพระเมตตา ครั้นอายุครบอุปสมบทในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดให้บวชเป็นนาคหลวงที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

    เรื่องประวัติสมเด็จฯ อันเนื่องด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น หนังสือประวัติขรัวโต (พระยาทิพโกษา เรียบเรียง) กล่าวว่า ท่านได้ศึกษาในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆังฯ เป็นพื้น และไปศึกษาในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ บ้าง และว่าเมื่อท่านเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก่อนจะเรียนท่านทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า วันนี้ท่านจะเรียนตั้งแต่นี่ถึงนั่น ครั้นถึงเวลาเรียนท่านก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ ท่านทำดังนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชรับสั่งว่า “ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”

    สมเด็จฯ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ช้านานอย่างไรไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าท่านรอบรู้ชำนาญพระไตรปิฎก เรื่องนี้มีหลักฐานประกอบในหนังสือเรื่อง ตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทรว่า “หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพนฯ เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ท่านยังเป็น พระมหาโต เป็นลำดับมา จนสอบได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค” และในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ (เริ่มสอบวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙) โปรดให้พระเทพกระวี (โต) วัดระฆังฯ เป็น กรรมการองค์หนึ่ง เพราะชำนาญพระไตรปิฎก ต่อมาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์” ดังนี้

    สมเด็จฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญพระไตรปิฎกมาก ถึงได้รับยกย่องว่า “หนังสือดี” องค์หนึ่งในสงฆมณฑล เกียรตินิยมว่า “หนังสือดี” นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในเรื่องประวัติวัดเบญจมบพิตรดังนี้

    “ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าหนังสือดีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องได้เป็นเปรียญประโยคสูง หรือเปรียญประโยคสูงจะได้รับยกย่องว่าหนังสือดีไปทุกองค์ เพราะแปลหนังสือได้เป็นเปรียญประโยคสูงเป็นสำคัญเพียงว่ารู้ภาษาบาลีดี ความรู้หลักพระศาสนาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จะรู้ได้แต่ด้วยอ่านพระไตรปิฎก

    คุณธรรมที่ยกย่องว่ารู้หนังสือดีนั้น ท่านกำหนดว่าต้องบริบูรณ์ด้วยองค์ ๒ คือรู้ภาษาบาลีดีจนสามารถอ่านพระไตรปิฎกได้ถ่องแท้เป็นองค์อัน ๑ กับต้องได้อ่านพระไตรปิฎกหมดทุกคัมภีร์ หรือโดยมากเป็นองค์อีกอย่าง ๑ จึงนับว่า “หนังสือดี”

    สมเด็จฯ ท่านศึกษารอบรู้ชำนาญทั้งในทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ (ข้อนี้เป็นจุดเด่น ของท่านอันหนึ่ง ด้วยปรากฏว่าผู้มีชำนาญ เฉพาะแต่คันถธุระหรือวิปัสสนาธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ที่เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ธุระนั้น หาได้ยากยิ่ง) และท่านเป็นนักเสียสละ เมื่อได้ลาภสักการะมาในทางใดๆ ท่านก็ใช้จ่ายไปในการสร้างสิ่งสาธารณกุศลต่างๆ ดังมีปูชนียวัตถุสถานปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ นอกจากนี้ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันดีงาม ควรแก่การเคารพบูชาของสาธุชนทั่วไป ดังนี้ นับว่าท่านได้บำเพ็ญบารมีธรรมเต็มเปี่ยม ดังบทบาลีว่า กตํ กรณียํ (บำเพ็ญบารมีสมบูรณ์แล้ว) และเพราะเหตุนี้ท่านจึงทรงอภินิหารเป็นวิสามัญบุคคลหาผู้เสมอเหมือนได้โดยยาก

    คุณธรรม
    คุณธรรมของสมเด็จฯ ที่นับว่ายอดเยี่ยมอย่างหนึ่งคือ มักน้อยสันโดษ ปรากฏว่าท่านมีอัธยาศัยยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ได้ลาภสักการะมาในทางใดๆ ก็เอาไปใช้จ่ายในการกุศลต่างๆ มีสร้างวัดเป็นต้น

    คุณธรรมของท่านคือ เมตตา เกื้อกูลอนุเคราะห์ สงเคราะห์แก่คนทุกชั้นไม่เลือกหน้า แม้ที่สุดโจรมาลักของ ท่านก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่โจร ดังมีเรื่องเล่ากันอยู่ข้างจะขบขันว่า ครั้งหนึ่งท่านนอนอยู่ มีโจรขึ้นล้วงกุฏิ โจรล้วงหยิบตะเกียงลานไม่ถึง ท่านช่วยเอาเท้าเขี่ยส่งให้โจร ท่านว่ามันอยากได้

    เรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งท่านไปเทศน์ในต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์หลายอย่างมีเสื่อหมอนเป็นต้น ขากลับมาพักแรมคืนกลางทาง ตกเวลาดึกมีโจรพายเรือเข้าเทียบเรือของท่าน พอโจรล้วงหยิบเสื่อได้แล้ว เผอิญท่านตื่นจึงร้องบอกว่า “เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ” โจรได้ยินตกใจกลัวรีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนไปทางโจรนั้น โจรเห็นว่าท่านยินดีให้ จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนนั้นไป

    อีกเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งท่านไปเทศน์ที่บ้านทางฝั่งพระนคร (ว่าแถววัดสามปลื้ม) โดยเรือพาย ท่านนั่งกลาง ศิษย์ ๒ คนพายหัวท้าย ขากลับมาตามทาง ศิษย์ ๒ คนคิดจัดแบ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์กัน คนหนึ่งว่า “กองนี้ของเอ็ง กองโน้นของข้า” อีกคนหนึ่งว่า “กองนี้ข้าเอา เอ็งเอากองโน้น” ท่านเอ่ยถามขึ้นว่า “ของฉันกองไหนล่ะจ๊ะ” เมื่อถึงวัดศิษย์ ๒ คนได้ขนเอาเครื่องกัณฑ์เทศน์กันไปหมด ท่านก็มิได้บ่นว่ากระไร
    คุณธรรมของสมเด็จฯ อย่างหนึ่งคือ ขันติ ท่านเป็น ผู้หนักแน่นมั่นคง สงบจิตระงับใจไม่ยินร้าย เมื่อประสบ อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ดังจะนำเรื่องมาเป็นอุทาหรณ์ เรื่องหนึ่งว
    ครั้งหนึ่งมีบ่าวของท่านพระยาคนหนึ่ง บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น จังหวัดธนบุรี เสพสุรามึนเมาเข้าไปหาสมเด็จฯ ถามว่า “นี่หรือคือสมเด็จที่เขาเลื่องลือกันว่ามีวิชาอาคมขลัง อยากจะลองดีนัก” พอพูดขาดคำก็ตรงเข้าชก แต่ท่านหลบทันเสียก่อน แล้วท่านบอกให้บ่าวคนนั้นรีบหนีไปเสีย ด้วยเกรงว่ามีผู้พบเห็นจะถูกจับกุมมีโทษ ความนั้นได้ทราบถึงท่าน พระยาผู้เป็นนาย จึงจัดการลงโทษบ่าวคนนั้น โดยเอาโซ่ล่ามไว้กับขอนไม้ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ท่านทราบเรื่องได้ไปเยี่ยม เอาเงิน ๑ สลึงกับอาหารคาวหวานไปให้บ่าวคนนั้น ทุกวัน ฝ่ายท่านพระยาคิดเห็นว่า การที่สมเด็จฯ ทำดังนั้น ชะรอยท่านจะมาขอให้ยกโทษโดยทางอ้อม จึงให้แก้บ่าว นั้นปล่อยให้เป็นอิสระ

    สมเด็จฯ ทรงคุณธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ ท่านมี คารวะอ่อนน้อม กล่าวกันว่าท่านไปพบพระพุทธรูป ท่านจะหลีกห่างราว ๔ ศอก แล้วนั่งลงกราบ ที่สุดไปพบหุ่นพระพุทธรูปท่านก็ทำดังนั้น เคยมีผู้ถาม ท่านตอบว่าดินก้อนแรกที่หยิบขึ้นมาปั้นหุ่น ก็นับเป็นองค์พระแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจมาแต่เดิมที่จะทำพระพุทธรูป ในหนังสือ “บุญญวัตร” นายชุ่ม จันทนบุบผา เปรียญ เรียบเรียง (พิมพ์ชำร่วยเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพอุบาสิกาเผื่อน จันทนบุบผา ณ เมรุวัดระฆังฯ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๙๕) ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องสมเด็จฯ เคารพหุ่นพระพุทธรูป ดังคัดมาลงไว้ต่อไปนี้

    “ข้าพเจ้าได้รับบอกกล่าวจากท่านพระครูปลัดสัมพิพัฒนสีลาจารย์ (ชม จันทนบุบผา) ถานานุกรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) วัดระฆังฯ ผู้เป็นลุงมาอีกต่อหนึ่ง ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งท่านเป็นเด็กอายุราว ๑๕ ปี ได้เป็นศิษย์ของท่านปลัดฤกษ์ คราวหนึ่งไปสวดมนต์ที่บ้านชาวเหนือ (คือบ้านช่างหล่อปัจจุบันนี้) ไปพร้อมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่บ้านนั้นเขาเอาหุ่น พระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ห่างทางเดินราว ๒ ศอก เมื่อสมเด็จฯ เดินผ่านมาในระยะนี้ท่านก้มกายยกมือขึ้นประนมเหนือศีรษะกระทำคารวะ พระและศิษย์ที่ไปด้วยก็กระทำตาม เมื่อขึ้นบ้านงานและนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว นายเทศผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งคุ้นเคยกับสมเด็จฯ ได้เรียนถามว่า “กระผมสงสัยเพราะไม่เคยเห็นเจ้าคุณสมเด็จฯ กระทำดังนี้” ท่านจึงตอบว่า “แต่ก่อนไม่เคยเห็นจริงจ้ะ แต่วันนี้เป็นเหตุบังเอิญจ้ะ เพราะฉันเดินผ่านมาในเขตอุปจารของท่านไม่เกิน ๔ ศอก จึงต้องทำดังนี้” นายเทศจึงเรียนว่า “ยังไม่ยกขึ้นตั้งและยังไม่เบิกพระเนตร จะเป็นพระหรือขอรับ” ท่านตอบว่า “เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นยกดินก้อนแรกวางลงบนกระดานแล้วจ้ะ เพราะผู้ทำตั้งใจให้เป็นองค์พระอยู่แล้ว เรียกอุทเทสิกเจดีย์ยังไงล่ะจ๊ะ” เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ขากลับผ่านมาท่านก็กระทำอย่างนั้นอีก

    รุ่งขึ้นท่านไปฉัน ตอนนี้ท่านเห็นพระตั้งอยู่ไกลออกไปราว ๖ ศอก ต่อจากทางที่ท่านไปเมื่อวาน ท่านไปหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระ และประนมมือพร้อมกับพระที่ไปด้วย ประมาณสัก ๑ นาทีแล้วจึงขึ้นไปบนเรือน เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จ เจ้าภาพถวายเครื่องสักการะและท่านยถาสัพพีเสร็จแล้ว ท่านก็นำธูปเทียนดอกไม้ที่เจ้าภาพถวายไปสักการบูชาพระที่ขึ้นหุ่นไว้นั้น พร้อมกับพระสงฆ์ที่ตามมาด้วยกันแล้วจึงกลับวัด”

    เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จฯ ไปพบพระเณรแบกหนังสือคัมภีร์ไปเรียน ท่านจะต้องนั่งประนมมือหรือก้มกายแสดงคารวะพระธรรม แม้ใครจะฉายรูปฉายาลักษณ์ของท่านในอิริยาบถใดก็ตาม ถ้าในที่นั้นมีหนังสือเทศน์ ท่านจะต้องหยิบขึ้นมาถือประหนึ่งเทศน์เสมอ อีกอย่างหนึ่งถ้าท่านไปพบพระเณรกำลังแสดงธรรม (เทศน์) อยู่ ท่านจะต้องหยุดฟังจนจบแล้วจึงไปในที่อื่น
    ว่าที่ท่านทำดังนี้ ด้วยท่านประสงค์จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้าทรงสดับธรรมที่พระอนุรุทธ์แสดง ความว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพระอนุรุทธ์กำลังแสดงธรรมอยู่ พระองค์ได้ประทับยืนฟังจนจบ เมื่อพระอนุรุทธ์ ทราบ จึงทูลขออภัยที่ทำให้ประทับยืนนาน พระองค์ทรงตรัสว่า แม้จะนานกว่านั้นสักเท่าไรก็จะประทับยืน เพราะพระองค์ทรงเคารพในธรรม ดังนี้
    อนึ่งว่ากันว่า พระภิกษุจะมีพรรษาอายุมากหรือน้อย ก็ตาม เมื่อไปกราบท่านๆ ก็กราบบ้าง (ว่าจะกราบท่านกี่ครั้ง ท่านก็กราบตอบเท่านั้นครั้ง) พระอุปัชฌาย์เดช วัดกลางธนรินทร์ จังหวัดสิงห์บุรีว่า ครั้งหนึ่งไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดระฆังฯ เมื่อกราบท่าน ท่านก็กราบตอบ พระอุปัชฌาย์เดชนึกประหลาดใจ จึงกราบเรียนถามว่าทำไมท่านจึงต้องทำดังนั้น ท่านตอบว่า ท่านทำตามบาลีพุทธฎีกาที่ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ (กราบ) ย่อมได้รับไหว้ (กราบ) ตอบ ดังนี้

    ไม่ถือยศศักดิ์
    สมเด็จฯ เป็นพระเถระที่ไม่ถือยศถือศักดิ์ ชอบประพฤติ อย่างพระธรรมดาสามัญ (พระลูกวัด) ท่านเคยพูดกับคนอื่นว่า ยศช้างขุนนางพระจะดีอย่างไร ท่านจะทำอะไร ท่านก็ทำตามอัธยาศัยของท่าน ไม่ถือความนิยมของผู้อื่นเป็นสำคัญ เป็นต้น ว่าท่านเห็นศิษย์แจวเรือเหนื่อย ท่านก็แจวแทนเสียเอง มีเรื่อง เล่ากันว่า คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานที่บ้านแขวงจังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว ๒ คนผัวเมียแจวเรือมาส่ง ขณะที่มาตามทางจะเนื่องด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ บ่าว ๒ คนนั้นเกิดเป็นปากเสียงเถียงกัน ถึงกล่าวถ้อยคำหยาบคายต่างๆ ท่านได้ขอร้องหญิงชาย ๒ คนนั้นให้เลิกทะเลาะวิวาทกันและให้เขามานั่งในประทุน แล้วท่านได้แจวเรือ มาเองจนถึงวัดระฆังฯ

    คราวหนึ่งมีผู้อาราธนาท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ ที่บ้านในสวนตำบลราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี บ้านของเขาอยู่ในคลองเล็กเข้าไป ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ เวลานั้นน้ำแห้งเข้าคลองไม่ได้ ท่านก็ลงเข็นเรือกับศิษย์ของท่าน ชาวบ้านเห็นก็ร้องบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือๆ” ท่านบอกว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อขรัวโต สมเด็จท่านอยู่ที่วัด ระฆังฯ จ้ะ (หมายถึงว่า พัดยศสมเด็จอยู่ที่วัดระฆังฯ)” แล้วชาวบ้านก็ช่วยท่านเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน
    ตามปรกติสมเด็จฯ ท่านพูดจ๊ะจ๋ากับคนทุกคน แม้สัตว์ดิรัจฉานท่านก็พูดอย่างนั้น เช่นคราวหนึ่งท่านเดินไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ ท่านพูดกับสุนัขนั้นว่า “โยมจ๋า ขอฉันไปทีจ้ะ” แล้วท่านก็ก้มกายเดินหลีกทางไป มีผู้ถามว่าทำไมท่านจึงทำดังนั้น ท่านว่า “ฉันรู้ไม่ได้ว่าสุนัขนี้เคยเป็น พระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดกกล่าวว่า ในกาลครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข”
    ท่านยังแผ่เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ เมื่อพบสัตว์ประสบทุกข์ต้องภัยท่านก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการุณยจิต ดังเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปต่างจังหวัดระหว่างทางได้พบนกติดแร้วอยู่ ท่านจึงแก้บ่วงปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านเอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงนั่นทำเป็นทีติดแร้ว มีคนมาพบจะช่วยแก้บ่วง ท่านไม่ยอมให้แก้ บอกให้ไปตามเจ้าของแร้วมาก่อน เมื่อเจ้าของแร้วมาบอกอนุญาตให้ท่านปล่อยนกนั้นได้ ท่านจึงแก้บ่วงออกจากเท้า แล้วบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ ท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไป ดังนี้

    เรื่องเทศน์
    เทศน์ ๑๒ นักษัตร

    ท่านพระยาผู้หนึ่งเคยนิมนต์พระมาแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังอยู่เนืองๆ ที่บ้านของท่าน วันหนึ่งท่านคิดอยากจะฟังเทศน์จตุราริยสัจ จึงใช้บ่าวคนหนึ่งว่าเจ้าจงไปนิมนต์สมเด็จฯ ที่วัดมาเทศน์จตุราริยสัจสักกัณฑ์หนึ่งในค่ำวันนี้ แต่ท่านไม่ได้เขียนฎีกาบอกชื่ออริยสัจให้บ่าวไป บ่าวก็รับ คำสั่งไปนิมนต์สมเด็จฯ ที่วัดว่าเจ้าคุณที่บ้านให้อาราธนาไปแสดงธรรมที่บ้านค่ำวันนี้ สมเด็จฯจึงถามว่า ท่านจะให้เทศน์ เรื่องอะไร บ่าวลืมชื่ออริยสัจเสีย จำไม่ได้นึกคะเนได้แต่ว่า ๑๒ นักษัตร จึงกราบเรียนว่า ๑๒ นักษัตรขอรับผม แล้วก็กราบลามา
    ฝ่ายสมเด็จฯ ก็คิดว่า เห็นท่านพระยาจะให้เทศน์อริยสัจ แต่บ่าวลืมชื่อไป จึงมาบอกว่า ๑๒ นักษัตร พอถึงเวลาค่ำท่านก็มีลูกศิษย์ตามไป เข้าไปแสดงธรรมเทศนาที่บ้านท่าน พระยาผู้นั้น มีพวกอุบาสก อุบาสิกามาคอยฟังอยู่ด้วยกันมาก

    สมเด็จฯ จึงขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกพุทธศักราช แลตั้งนโม ๓ หนจบแล้ว จึงว่าจุณณียบทสิบสองนักษัตรว่า มุสิโก อุสโภ พยคฺโฆ สโส นาโค สปฺโป อสฺโส เอฬโก มกฺกโฏ กุกฺกุโฏ สุนโข สุกโร แล้วแปลเป็นภาษาไทยว่า มุสิโก หนู อุสโภ วัวผู้ พยคฺโฆ เสือ สโส กระต่าย นาโค งูใหญ่ สปฺโป งูเล็ก อสฺโส ม้า เอฬโก แพะ มกฺกโฏ ลิง กุกฺกุโฏ ไก่ สุนโข สุนัข สุกโร สุกร

    ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับพวกทายกทายิกาก็มีความสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงมาเทศน์ ๑๒ นักษัตร ดังนี้เล่า สงสัยว่าบ่าวจะไปนิมนต์ท่านเรียกชื่ออริย-สัจผิดไปกระมัง ท่านพระยาจึงเรียกบ่าวคนนั้นเข้ามาถามว่า เจ้าไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเทศน์เรื่องอะไร บ่าวก็กราบเรียนว่านิมนต์เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตร ขอรับผม ท่านพระยาจึงว่านั่นประไรเล่า เจ้าลืมชื่ออริยสัจไปเสียแล้ว ไปคว้าเอา ๑๒ นักษัตรเข้า ท่านจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์นั่นซี

    ฝ่ายสมเด็จฯ เป็นผู้ฉลาดเทศน์ ท่านจึงอธิบายบรรยายหน้าธรรมาสน์ว่า อาตมภาพก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไป นิมนต์จะลืมชื่ออริยสัจเสีย ไปบอกว่าท่านให้นิมนต์เทศน์ ๑๒ นักษัตร อาตมภาพก็เห็นว่า ๑๒ นักษัตรนี้ คือเป็นต้นทางของอริยสัจแท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหนๆ ก็มีแต่เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใครจะเทศน์ ๑๒ นักษัตรสู่กันฟังเลย ครั้งนี้เป็นบุญลาภของมหาบพิตรเป็นมหัศจรรย์ เทพยเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนาจึงได้ดลบันดาลให้ผู้รับใช้เคลิบเคลิ้มไป ให้บอกว่าเทศน์ ๑๒ นักษัตรดังนี้ อาตมภาพก็มาเทศน์ตามผู้นิมนต์ เพื่อจะให้สาธุชนแลมหาบพิตรเจ้าของกัณฑ์ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร อันเป็นต้นทางของอริยสัจทั้ง ๔ จะได้ธรรมสวนา นิสงส์อันล้ำเลิศซึ่งจะได้ให้ก่อเกิดปัจจเวกขณญาณในอริยสัจ ทั้ง
    แท้ที่จริงธรรมเนียมนับปี เดือน วัน คืนนี้ นักปราชญ์ ผู้รู้โหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณต้นปฐมกาลในชมภูทวีปบัญญัติตั้งแต่งขึ้นไว้ คือกำหนดหมายเอาชื่อดวงดาราในอากาศเวหามาตั้งเป็นชื่อปี เดือน วัน ดังนี้คือ
    (๑) หมายเอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังอาคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม ๗ ดาว มาตั้งเป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน แลให้นับเวียนไปเวียนมาทุกเดือนทุกปี
    (๒) หมายเอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์ แลดาวรูปสิ่งอื่นๆ มาตั้งเป็นชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือน มีดังนี้ คือ
    เดือนเมษายน ดาวรูปเนื้อ
    เดือนพฤษภาคม ดาวรูปวัวผู้
    เดือนมิถุนายน ดาวรูปคนคู่หนึ่ง
    เดือนกรกฎาคม ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล
    เดือนสิงหาคม ดาวรูปราชสีห์
    เดือนกันยายน ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่
    เดือนตุลาคม ดาวรูปคันชั่ง
    เดือนพฤศจิกายน ดาวรูปแมงป่อง
    เดือนธันวาคม ดาวรูปธนู
    เดือนมกราคม ดาวรูปมังกร
    เดือนกุมภาพันธ์ ดาวรูปหม้อ
    เดือนมีนาคม ดาวรูปปลา (ตะเพียน)
    รวมเป็น ๑๒ ดาว หมายเป็นชื่อ ๑๒ เดือน
    (๓) หมายเอาดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดาว ที่ประจำอยู่ในท้องฟ้าอากาศ เป็นชื่อปีทั้ง ๑๒ ปีดังนี้ คือ
    ปีชวด ดาวรูปหนู
    ปีฉลู ดาวรูปวัวตัวผู้
    ปีขาล ดาวรูปเสือ
    ปีเถาะ ดาวรูปกระต่าย
    ปีมะโรง ดาวรูปงูใหญ่ คือ นาค
    ปีมะเส็ง ดาวรูปงูเล็ก คืองูธรรมดา
    ปีมะเมีย ดาวรูปม้า
    ปีมะแม ดาวรูปแพะ
    ปีวอก ดาวรูปลิง
    ปีระกา ดาวรูปไก่
    ปีจอ ดาวรูปสุนัข
    ปีกุน ดาวรูปสุกร
    รวมเป็นชื่อดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดวง ตั้งเป็นชื่อปี ๑๒ ปี ใช้เป็นธรรมเนียมเยี่ยงอย่างนับปีเดือนวันคืนนี้ เป็นวิธีกำหนดนับอายุกาลแห่งสรรพสิ่งสรรพสัตว์ในโลกทั่วไป ที่นับของใหญ่ๆ ก็คือนับอายุโลกธาตุ นับเป็นอันตรกัลป มหากัลป ภัทรกัลปเป็นต้น แลนับอายุชนเป็นรอบๆ คือ ๑๒ ปี เรียกว่ารอบหนึ่ง แล ๑๒ รอบเป็น ๑๔๔ ปี แต่มนุษย์เราเกิดมาในกลียุคครั้งนี้ กำหนดอายุเป็นขัยเพียง ๑๐๐ ปี แลในทุกวันนี้อายุมนุษย์ก็ลดถอยลงน้อยกว่า ๑๐๐ ปีก็มีมาก ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปถึง ๑๕๐ หรือ ๒๐๐ ปีก็มีบ้างในบางประเทศ ตามจดหมายเหตุของประเทศต่างๆ ได้กล่าวมา แต่มีเป็น พิเศษแห่งละ ๑ คน ๒ คนหรือ ๓ คน ๔ คนเท่านั้น หาเสมอทั่วกันไปไม่ แต่ที่อายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปีลงมานั้น มีทั่วกันไปทุกประเทศ จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า คำเรียกว่ากลียุคนี้เป็นภาษาพราหมณ์ ชาวชมภูทวีปแปลว่าคราวชั่วร้าย คือว่าสัตว์เกิดมาในภายหลัง อันเป็นครั้งคราวชั่วร้ายนี้ย่อมทำบาปอกุศลมาก จนถึงอายุสัตว์ลดน้อยถอยลงมาก ด้วย สัตว์ที่เกิดในต้นโลกต้นกัลปนั้น เห็นจะมากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กันและกัน ชักชวนกันทำบุญกุศลมาก อายุจึงยืนหลายหมื่นหลายพันปี แลยังจะต่อลงไปข้างปลายโลก บางทีสัตว์จะทำบาปอกุศลยิ่งกว่านี้ อายุสัตว์บางทีก็จะเรียวน้อยถอยลงไปจนถึง ๑๐ ปีเป็นขัย แลสัตว์มีอายุเพียง ๕ ปี จะแต่งงาน เป็นสามีภรรยาต่อกันก็อาจจะเป็นไปได้ แลในสมัยเช่นนี้อาจจะเกิดมิคสัญญี ขาดเมตตาต่อกันแลกัน อย่างประหนึ่งว่านายพรานสำคัญในเนื้อจะฆ่าฟันกันตายลงเกลื่อนกลาด ดังมัจฉาชาติต้องยาพิษทั่วไปในโลก แต่สัตว์ที่เหลือตายนั้นจะกลับบ่ายหน้าเข้าหาบุญก่อสร้างการกุศล ฝูงคนในครั้งนั้นจะกลับมีอายุยืนยิ่งๆ ขึ้นไป จนอายุตลอดอสงขัย ซึ่งแปลว่านับไม่ได้นับไม่ถ้วน ภายหลังสัตว์ทั้งปวงก็กลับตั้งอยู่ในความประมาทก่อสร้างบาปอกุศลรุ่นๆ ไปอีกเล่า อายุสัตว์ก็กลับลดน้อยถอยลงมาอีก ตามธรรมดาของโลกเป็นไปดังนี้

    สมเด็จพระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นพระสัพพัญ ู ตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้ง คือ
    (๑) ความทุกข์มีจริง
    (๒) สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง
    (๓) ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง
    (๔) ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง

    นี่แลเรียกว่าอริยสัจ ๔ คือเป็นความจริง ๔ ประการ ซึ่งเพิ่มอริยเจ้าอีกคำหนึ่งนั้น คืออริยแปลว่าพระผู้รู้ประเสริฐ อย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริย สัจจะ สองคำเป็นนามเดียวกัน เรียกว่าอริยสัจ แลเติมจตุรสังขยานามเข้าอีกคำหนึ่ง แลแปลงตัว ะ เป็นตัว า เพื่อจะให้เรียกเพราะสละสลวยแก่ลิ้นว่า จตุราริยสัจ แปลว่าความจริงของพระอริยเจ้า ๔ อย่าง
    ซึ่งท่านอ้างว่าความจริง ๔ อย่างนี้เป็นของพระอริยะนั้น อธิบายว่าต่อเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็นจริง คือพระอริยเจ้าเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งสัตว์เวียนว่ายทนรับความลำบากอยู่ในวัฏสงสารนั้น ให้เกิดความทุกข์จริง
    ตัณหาคือความอยากความดิ้นรนของสัตว์นั้น ให้เกิดความทุกข์จริง
    พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นที่ดับทุกข์จริงแลสุขจริง
    ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มีจริง
    พระอริยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประ-จักษ์ในธรรม ๔ อย่างดังนี้ แลสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริง เพื่อจะให้ละทุกข์ เข้าหาความสุขที่จริง
    แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อย ไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเคยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดีไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข จะกลัวทุกข์ทำไม
    บ้างว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ได้เกิดที่ดีๆ เป็นท้าวพระยามหาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมากมายแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น
    บ้างว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวาร เป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร
    บ้างก็ว่าถ้าไปอมตมหานิพพานไปนอนเป็นสุขอยู่ นมนานแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกียชนย่อมเห็นไปดังนี้

    นี่แลการฟังเทศน์อริยสัจ จะให้รู้ความจริง แลเห็นธรรมที่ดับทุกข์เป็นสุขจริงของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ อย่างนั้น ก็ควรฟังเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรเสียก่อน จะได้เห็นว่าวัน คือ เดือน ปี ซึ่งเป็นอายุของเราย่อมล่วงไปทุกวัน ทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิดประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราเวียนวนทนทุกข์อยู่ด้วยความลำบาก ๔ อย่างนี้แลไม่รู้สิ้นรู้สุด เมื่อเราสลดใจเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกแล้ว เราก็ควรรีบเร่งก่อสร้างบุญกุศลจนกว่าจะได้มีบารมีแก่กล้า จะได้ความสุขในสรวงสวรรค์แลความสุขในอมตมหานิพพานในภายหน้า ซึ่งไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุขเที่ยงแท้ถาวรอย่างเดียว ไม่มีทุกข์มาเจือปนเลย
    แลเรื่อง ๑๒ นักษัตร คือดาวชื่อเดือน ๑๒ ดาว และดาวชื่อปี ๑๒ ปี แลดาวชื่อวันทั้ง ๗ วันนี้ เป็นที่นับอายุของเราไม่ให้เราประมาท แลให้คิดพิจารณาเห็นความจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเราไว้ ให้รู้ตามนั้น ทีเดียว
    สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจ ๔ ด้วยในเวลานี้ ไม่ควรจะโทมนัสเสียใจต่อผู้ไปนิมนต์ ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์ อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเป็นเหตุดังนี้แล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรเล่า ควรจะโมทนาสาธุการอวยพรแก่ผู้ไปนิมนต์จงมาก เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

    ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับสัปบุรุษทายกทั้งปวง ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร กับอริยสัจทั้ง ๔ ของ สมเด็จฯ แล้ว ต่างก็ชื่นชมยินดีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บ้างก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์จึงว่าข้าขอบใจเจ้าคนไปนิมนต์ ขอให้เจ้าได้บุญมากๆ ด้วยกันเถิด

    เผชิญหน้านักปราชญ์
    ที่บ้านสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) มีการประชุมนักปราชญ์ทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนเป็นตัวสำคัญๆ รอบรู้การศาสนาของชาตินั้น
    สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ทนายอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงเผยแผ่ความรู้ในสิ่งที่ถูกที่ชอบด้วยการโลกการธรรม ในพุทธศาสนาอีกภาษาหนึ่งในชาติของสยามไทย
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ยินคำอาราธนา จึงรับสั่งว่า
    “ฉันยินดีแสดงนักในข้อเข้าใจ”
    ทนายกลับไปกราบเรียนสมเด็จพระประสาทว่า
    “สมเด็จฯ ที่วัดรับแสดงแล้ว ในเรื่องแสดงให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้”
    ถึงวันกำหนด สมเด็จฯ ก็ไปถึง
    นักปราชญ์ทั้งหลายยอมให้นักปราชญ์ของไทย ออกความก่อนในที่ประชุมปราชญ์ และขุนนางทั้งปวงก็มาประชุมฟังด้วย
    สมเด็จพระประสาทจึงอาราธนาสมเด็จฯ ขึ้นบัลลังก์ แล้วนิมนต์ให้สำแดงทีเดียว
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ออกวาจาสำแดงขึ้นว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พึมพำทุ้มๆ ครางๆ ไปเท่านี้นาน กล่าวพึมพำสองคำเท่านี้สักชั่วโมงหนึ่ง
    สมเด็จพระประสาทลุกขึ้นจี้ตะโพกสมเด็จฯ ที่วัดแล้ว กระซิบเตือนว่า ขยายคำอื่นให้ฟังบ้าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็เปล่งเสียงดังขึ้นกว่าเดิมอีกชั้นหนึ่งขึ้นเสียงว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ฯลฯ ว่า อยู่นานสักหนึ่งชั่วโมงอีก
    สมเด็จประสาทลุกขึ้นมาจี้ตะโพกสมเด็จฯ ที่วัดอีก ว่าขยายคำอื่นให้เขาฟังรู้บ้างซิ สมเด็จฯ ที่วัดเลยตะโกนดังกว่าครั้งที่สองขึ้นอีกชั้นหนึ่งว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา
    อธิบายว่า การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่างๆ ในโลกก็ดี กิจควรทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจควรทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้ ด้วยกิจพิจารณาเป็นชั้นๆ พิจารณาเป็นเปราะๆ เข้าไป ตั้งแต่หยาบๆ และปูนกลางๆ และชั้นสูงชั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเมียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณี ให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาว พิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว
    ทุกๆ คนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน ตลอดทั้งเมื่อนี้เมื่อหน้าจะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณาเลือกเฟ้นค้นหาของดีของจริง เด่นเห็นชัดปรากฏแก่คน ก็ด้วยการพิจารณาของคนนั่นเอง ถ้าคนใดสติน้อย ถ่อยปัญญา พิจารณา เหตุผล เรื่องราว กิจการงาน ของโลก ของธรรม แต่พื้นๆ ก็รู้ได้พื้นๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลางก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ในข้อนั้นๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตนประจักษ์แท้แก่ตนเอง ดังปริยายมา ทุกประการ จบที
    จบแล้ว ท่านลงจากบัลลังก์ นักปราชญ์ชาติอื่นๆ ภาษาอื่นๆ มีแขกแลฝรั่งเป็นต้น ก็ไม่อาจออกปากขัดคอคัดค้าน ถ้อยคำของท่านสักคน
    สมเด็จเจ้าพระยาพยักหน้าให้หมู่นักปราชญ์ในชาติทั้งหลายที่มาประชุมคราวนั้นให้ขึ้นบัลลังก์ ต่างคนต่างแหยงไม่อาจนำออกแสดงแถลงในที่ประชุมได้ ถึงต่างคนต่างเตรียม เขียนมาก็จริง
    แต่คำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครอบไปหมด จะยักย้ายโวหารหรือจะอ้างเอาศาสดาของตนๆ มาแสดงในที่ประชุมเล่า เรื่องของตัวก็ชักจะเก้อ จะต่ำจะขึ้นเหนือความพิจารณาที่สมเด็จฯ ที่วัดระฆังกล่าวนั้นไม่ได้เลย ลงนั่งพยักหน้าเกี่ยงให้กันขึ้นบัลลังก์ใครก็ไม่อาจขึ้น สมเด็จพระประสาทเองก็ซึมทราบได้ดี เห็นจริงตามปริยายของทางพิจารณารู้ได้ตามนั้น ตามภูมิ ตามกาล ตามบุคคล ที่ยิ่งและหย่อน อ่อนและกล้า จะรู้ได้ก็ด้วยการพิจารณา ถ้าไม่พิจารณา ก็หาความรู้ไม่ได้เลย ถ้าพิจารณาต่ำ หรือน้อยวันพิจารณา หรือน้อยพิจารณาก็มีความรู้น้อย ห่างความรู้จริงของสมเด็จฯ ที่วัดทุกประการ
    วันนั้นก็เป็นอันเลิกประชุมปราชญ์ ต่างคนต่างลากลับ

    ถวายอดิเรก
    ครั้นสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ถึงมรณภาพแล้ว พระเทพกวีต้องเป็นผู้ใหญ่นั่งหน้า ครั้งหนึ่งเมื่อมีกิจการฉลองสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง พระเทพกวีเป็นผู้ชักนำพระราชาคณะอ่อนๆ ลงมา สวดเสร็จแล้วยถาพระรับสัพพีแล้วสวดคาถาโมทนาจบแล้ว พระเทพกวี (โต) จึงถวายอดิเรกขึ้นองค์เดียวว่า
    “อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสติ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ ฑีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ สุขิโต โหตุ มหาราชา สิทฺธิ กิจฺจํ สิทฺธิกัมมํ สิทฺธิลาโภ ชโยนิจจํ มหาราชสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร”
    สมเด็จพระจอมเกล้าทรงโปรดมาก รับสั่งถามว่า
    “แก้ลัดตัดเติมจะได้บ้างไหม”
    พระเทพกวี (โต)ถวายพระพรว่าอาตมาภาพได้ เปยยาล ไว้ในตัวบท คาถาสำหรับสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ทรงตรอกลง ตามพระบรมราชอัธยาศัยแล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าทรงตรอกซ้ำลงตรงฑีฆายุอีกบันทัดหนึ่ง ทรงตรอกลงที่หน้าศัพท์มหาราชสฺส เป็นปรเมนฺทรมหาราชวรสฺส นอกนั้นคงไว้ตามคำพระเทพกวี (โต) ทุกคำ แล้วตราพระราชบัญญัติประกาศไปทุกๆ พระอาราม ให้เป็นขนบธรรมเนียมต้องให้พระราชาคณะ ผู้นั่งหน้าถวายคาถาอดิเรกนี้ก่อน จึงรับภวตุสัพฯ จึงถวายพรลาออกจากพระที่นั่งได้ ตลอดจนการพระเมรุ การถวายพระกฐินทานตามพระอารามหลวง ต้องมีพระราชาคณะถวายอดิเรกนี้ ทุกคราวพระราชดำเนิน จึงเป็นราชประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้แล วิธีสอนคน

    วันหนึ่งสมเด็จฯ เดินผ่านไปยังวัดชนะสงคราม ท่านได้ยินพระสวดตลกคะนองกันอื้ออึงอยู่ในวัด ฟังแล้วรู้สึกสลดใจ “ทำไมพระจึงทำอย่างนี้ได้หนอ ?”
    จะเดินเข้าไปว่าทันทีทันใดเลยก็ไม่ได้ จึงค่อยๆ เดินเข้าไป พอไปถึงก็ทรุดตัวลงนั่งยอง แล้วประนมมือขึ้นว
    “สาธุ สาธุ สาธุ”
    โดยไม่ต้องพูดอะไรออกมาเลย แล้วท่านก็ลุกขึ้นเดินจากไป ปล่อยให้พระเหล่านั้น และญาติโยมที่นั่งฟัง ตะลึงงงงันกันไปหมด
    ความสังเวชใจเกิดขึ้นในท่ามกลางประชุมชน โดยเฉพาะพระเหล่านั้นเกิดความละอายเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจ อยู่มองหน้าผู้คน บ้างก็สึกไป ที่ไม่สึกก็เลิกสวดตลกคะนองอีกโดยเด็ดขาด กลับตัวประพฤติปฏิบัติกันเสียใหม่

    ขอฝากตัวด้วย

    ครั้งหนึ่งพระวัดระฆังเต้นด่าท้าทายกันขึ้นอีกคู่พระเทพกวี (โต) ท่านเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน ท่านแลเห็นเข้า ทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย จึงลุกเข้าไปในกุฏิจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พานรีบเดินเข้าไปในระหว่างวิวาท ทรุดองค์ลงนั่งคุกเข่าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้นแล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า

    “พ่อเจ้าประคุณ ! พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้แท้ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย”
    พระคู่นั้นเลยเลิกทะเลาะกัน มาคุกเข่ากราบพระเทพกวี (โต) พระเทพกวี (โต) ก็คุกเข่ากราบตอบพระ กราบกันอยู่นั่น หมอบกันอยู่นั่นนาน

    พระเตะตะกร้อ

    วันหนึ่งสมเด็จฯ เดินผ่านหลังโบสถ์ เห็นพระกำลังเตะตะกร้อกันอย่างสนุกสนาน
    นายทศซึ่งเดินไปกับท่านด้วย รู้สึกแปลกใจที่ท่านไม่ว่าอะไร ทั้งๆ ที่การเตะตะกร้อมันผิดพระวินัย จึงถามท่านไปว่า “ทำไมไม่ห้ามพระเตะตะกร้อ?”
    “ถึงเวลาเขาก็เลิกเอง ถ้าไม่ถึงเวลาเขาเลิก เราไปห้ามเขา เขาก็ไม่เลิก” ท่านตอบนายทศอย่างนั้น จะเลิกไม่เลิกมันอยู่ที่ใจของเขา
    ต่อมาพระกลุ่มนั้นได้ใจ คิดว่าสมเด็จฯ ไม่ว่าอะไร จึงเล่นเตะตะกร้อกันอีก แต่คราวนี้ สมเด็จฯ ท่านไม่ปล่อย เหมือนคราวก่อน ท่านให้เด็กไปเรียกพระเหล่านั้นมา แล้วให้เด็กยกน้ำร้อนน้ำชาและน้ำตาลทรายมาถวาย
    สักครู่สมเด็จฯ ได้ถามขึ้นว่า
    “นี่คุณ! ตะกร้อนี่หัดกันนานไหม?”
    พวกพระต่างมองตากัน รู้สึกอาการชักจะไม่ค่อยดี ไม่รู้ว่าสมเด็จฯ จะเล่นไม้ไหน ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ
    “ลูกไหนเตะยากกว่ากัน ลูกข้างลูกหลังน่ะ?” สมเด็จฯหยอดเข้าไปอีก พระเหล่านั้นไม่พูดอะไร หน้าถอดสี รู้สึกละอายจนอยากจะแทรกแผ่นดินหนีเสียให้ได้
    โดยปกติ สมเด็จฯ ท่านไม่ค่อยได้ว่ากล่าวอยู่แล้ว ท่านไม่เคยปากเปียกปากแฉะอย่างพระเจ้าอาวาสทั่วๆไป นานๆ ครั้งจะว่ากล่าวกันที ยิ่งท่านไม่ค่อยได้ว่ากล่าวตักเตือน ยิ่งทำให้ละอายอย่างมาก
    ปรากฏว่า ต่อมาพระวัดระฆังเลิกเตะตะกร้อกันอย่าง เด็ดขาด

    รู้จักยอม

    พระสองรูปทะเลาะกันขั้นรุนแรง จนถึงเลือดตกยางออก เพราะมีการใช้กำลังตีศีรษะกันจนหัวแตก พระที่ถูกตีนั้นไปฟ้องสมเด็จฯ ว่าพระรูปหนึ่งตีท่านจนศีรษะแตก อยากให้สมเด็จฯ ซึ่งเป็นผู้ปกครองลงโทษ แต่สมเด็จฯ ท่านกลับ พูดว่า “ก็คุณตีเขาก่อนนี่”
    พระรูปนั้นงง ได้เรียนว่า ผมไม่ได้ตีเขาก่อน เขาตีผมก่อนต่างหาก แต่สมเด็จฯ ก็ยังยืนกรานอยู่เช่นเดิม ทำให้พระลูกวัดรูปนั้นไม่พอใจมาก คิดว่าสมเด็จฯ ไม่ยุติธรรม ตัดสินผิดไปจากหลักความเที่ยงธรรม จึงไปฟ้องท่านสมเด็จพระวันรัต(เซ่ง) แห่งวัดอรุณฯ สมเด็จฯเซ่ง ท่านได้ถามสมเด็จฯ ว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระรูปนี้ตีพระรูปนั้นก่อน
    สมเด็จฯ ท่านตอบว่า “รู้ได้ตามพุทธฎีกาที่ว่า เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร เวรต่อเวรมันตอบแทนกัน”

    สมเด็จฯเซ่ง ได้ยินดังนั้น ก็จนด้วยเกล้า และเห็นด้วยกับสมเด็จฯ จึงให้จัดการระงับเหตุอธิกรณ์ไปให้เสร็จสิ้น
    สมเด็จฯ ท่านสั่งสอนพระทั้งสองรูปนั้นมิให้จองเวรกัน แล้วให้เงินทำขวัญแก่พระที่ถูกตี แล้วท่านกล่าวว่า
    “ท่านทั้งสองไม่ผิด ฉันเป็นผู้ผิดเอง เพราะฉันปกครองไม่ดี”
    แสดงถึงน้ำใจของท่านที่มีต่อพระลูกวัดนั้นมากด้วยเมตตา แทนที่ท่านจะโทษพระที่ตีเขา ท่านกลับมาโทษตัวเอง น้ำใจเมตตาปรานีนั้นมีมากเหลือประมาณ

    ธรรมะจากหมา

    อันที่จริง ธรรมะนั้นมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ทุกสิ่งทุกอย่างเราสามารถหยิบมาเป็นข้อธรรมให้ขบคิดได้เสมอ ถ้าเรารู้จักฉุกคิด รู้จักสะกิดใจตัวเองให้ตื่นตัวอยู่เสมอ ดูอย่างกิริยาอาการของหมา สมเด็จฯ ท่านยังเอามาเป็นคำสอนได้ มีเรื่องเล่าว่า
    มีพระสองรูปทะเลาะกัน แล้วเกิดความไม่สบายใจมาก พระรูปหนึ่งได้ไปหาสมเด็จฯ ด้วยหวังจะได้รับคำสอนที่นำความสบายอกสบายใจมาให้
    พระรูปนั้นได้กราบเรียนต่อสมเด็จฯ
    “หมู่นี้เกล้ากระผมไม่ใคร่จะสบายใจเลย ทำอย่างไรจึงจะได้สบายใจบ้าง?”
    สมเด็จฯ ท่านบอกว่า “อยากจะสบายก็ให้ทำอย่างหมาซิ ธรรมดาหมาเมื่อกัดกันขึ้นแล้ว ถ้าหมาตัวหนึ่งทำแพ้แล้วนอนหงายเสีย เจ้าตัวชนะก็ขึ้นคร่อมอยู่ข้างบนแล้วคำรามทำอำนาจ เจ้าตัวข้างล่างนั้น บางทีมันก็แหนบกัดเอาได้บ้างเสียอีก ไปทำอย่างนั้นซิจ้ะ”
    นี่เป็นธรรมะง่ายๆ ที่เราน่าจะนำมาปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน คือ รู้จักแพ้เสียบ้าง

    ธูป ๓ ดอกเจาะกระดาษ ๓ รู

    ครั้งหนึ่ง ในงานสวดพระอภิธรรม พระที่นั่งสวดเห็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จมา ก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ จึงหนีเข้าไปแอบเสีย พระองค์ทรงกริ้ว รับสั่งให้จับสึก โดยได้มีลายพระหัตถ์ (จดหมาย) ไปให้สมเด็จฯ ก่อน
    สมเด็จฯ อ่านแล้ว เห็นว่าพระองค์จะเอาแต่กริ้ว จะทำไม่ถูกเพราะลุแก่โทสะ
    ท่านจึงจุดธูปขึ้น ๓ ดอก แล้วจี้กระดาษเป็น ๓ รู ส่งกลับไปถวาย
    พระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้ว รับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า “อ้อ! ท่านให้เราดับราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดที งดที เอาเถอะ ถวายท่าน”
    อายพระพุทธรูป

    พระนั้นจะต้องแสดงอาบัติทุกวัน หลังจากฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วไปทำวัตรเช้ากันในโบสถ์ แต่ก่อนที่จะทำวัตรกันนั้น จะมีการแสดงอาบัติ เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นก่อนที่จะสวดมนต์ต่อไป
    ในพระอุโบสถหรือในโบสถ์นั้น จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่สำหรับเป็นที่เคารพสักการะ บางแห่งจะมีม่านบังพระพักตร์พระประธาน
    เคยมีผู้ถามสมเด็จฯ ถึงม่านนี้ว่ามีไว้ทำไม
    สมเด็จฯ ตอบว่า มีไว้สำหรับพระสงฆ์จะลงพระอุโบสถจะได้แสดงอาบัติกัน นัยว่าจะได้ไม่อายพระประธาน เวลาจะแสดงอาบัติสารภาพความผิด ก็ปิดม่านเสีย พระพุทธรูปก็ได้ไม่เห็น

    ขายผ้าเอาหน้ารอด

    ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงมีพระราชดำริให้วัดต่างๆ แถบริมน้ำเจ้าพระยาและแถวปากคลองต่างๆ ให้มีการจัดตกแต่งเรือเข้าประกวดทุกวัด และแต่ละวัดนั้น ก็ต้องนำเรือที่ตกแต่งไว้สวยงามแล้ว จอดไว้ที่ท่าน้ำ เพื่อที่พระองค์จะได้เสด็จทอดพระเนตรและทรงตัดสินรางวัลให้
    เมื่อมีพระราชดำริมาเช่นนี้ ทุกวัดก็ต่างกุลีกุจอตกแต่งประดับประดาเรือเสียวิจิตรตระการตา สวยงาม ต่างฝ่ายก็ต่างหวังที่จะชนะการประกวด
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จทอดพระเนตรเรือต่างๆ โดยเริ่มต้นจากท่าราชวรดิษฎ์ ล่องไปเรื่อยๆ ทรงทอดพระเนตรอย่างสำราญราชหฤทัย แต่ครั้นพอผ่านมาทางหน้าวัดของสมเด็จฯ ก็ตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรือที่จอดอยู่หน้าวัดของสมเด็จฯ ไม่ใช่เรือที่ประดับประดาสิ่งสวยอะไร เป็นเรือสำปั้นเล็กๆ เก่ามาก ไม้ผุจนเกือบพัง หาสภาพดีไม่ได้ มีสามเณรพายอยู่ตรงหัวเรือและท้ายเรือ กลางลำเรือมีลิงผูกไว้กับหลักตัวหนึ่ง และมีกระดาษแข็งเขียนผูกไว้กับคอลิง ข้อความบนกระดาษนั้น ตัวใหญ่ชัดเจน มีใจความว่า “ขายผ้าเอาหน้ารอด”
    การทำเช่นนี้ของสมเด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบความหมาย ในวันรุ่งขึ้นจึงให้ มหาดเล็กไปสอบถาม
    สมเด็จฯ ได้อธิบายให้มหาดเล็กผู้นั้นทราบว่า พระสมณะย่อมหาสมบัติได้ยาก นอกจากจะมีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายเท่านั้น ซึ่งของที่ได้รับก็มีแต่เครื่องบริโภคอุปโภค ย่อมไม่มีทุนทรัพย์หรือสิ่งใดที่จะนำมาแลกเปลี่ยนหาซื้อสิ่งต่างๆ นำมาประดับประดาเรือให้สวยงามได้ ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ ก็มีแต่จะต้องเอาผ้าจีวรไปขาย ถึงจะมีเงินมาเป็นทุน ซื้อสิ่งของมาประดับเรือได้ จำยอมขายผ้าเอาหน้ารอดไว้ก่อน เพราะยังทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเอาไว้ใช้ห่มสังขารกันร้อนหนาวก่อน
    การสอนเป็นปริศนาเช่นนี้ของสมเด็จฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์แจ้งแล้ว ก็ไม่ทรงทำเช่นนั้นอีกเลย

    วัดใหม่ยายแฟง

    มีหญิงคนหนึ่งชื่อแฟง (แต่มักเรียกกันว่า ยายแฟง) มีอาชีพเป็นหัวหน้าคุมซ่องหญิงโสเภณีร่ำรวยเงินทองมาก ได้สร้างวัดขึ้นไว้ที่ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร เรียกกันว่า “วัดใหม่ยายแฟง” (ภายหลังเปลี่ยนนามว่า วัดคณิกาผล) เมื่อสร้างวัดเสร็จยายแฟงได้จัดให้มีการฉลอง นิมนต์สมเด็จฯ ไปเทศน์บอกอานิสงส์ ตอนหนึ่งท่านว่า ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ได้ผลานิสงส์บกพร่องไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่น ที่ไม่ชอบด้วยธรรมนิยม ถ้าเปรียบอานิสงส์ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาท จะได้สักสลึงเฟื้อง (ราว ๓๗ สตางค์) เท่านั้น ท่านว่า “นี่ว่าอย่างเกรงใจกันนะ” ตรงนี้คนฟังเห็นขบขันต่างหัวเราะกันใหญ่ ยายแฟงเคืองมาก แต่ภายหลังเมื่อตรองเห็นจริงตามที่สมเด็จฯ เทศน์ ยายแฟงก็หายเคือง

    รับจ้างเทศน์

    มีหญิงหม้ายคนหนึ่ง อยู่ตำบลบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ได้นิมนต์สมเด็จฯ ไปเทศน์ที่บ้าน ก่อนแต่จะเทศน์ หญิงนั้นได้เอาเงินมาติดกัณฑ์เทศน์ ๑๐๐ บาท พร้อมกับกราบเรียนว่า “ขอให้พระเดชพระคุณเทศน์ให้เพราะๆ สักหน่อยนะเจ้าคะ วันนี้ดิฉันมีศรัทธาติดกัณฑ์เทศน์ ๑๐๐ บาท” พอได้เวลาสมเด็จฯ ก็ขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกศักราช ตั้งนโมแล้วว่า “พุทธํ ธมฺมํ สงฺฆํ” ลงเอวังก็มี ว่า ยถาสัพพี แล้วลงจากธรรมาสน์ หญิงคนนั้นขัดเคืองมาก แต่ไม่รู้จะว่าอย่างไร ได้แต่นึกอยู่ในใจว่า “เทศน์อะไรฟังไม่รู้เรื่องรู้ราว เสียแรงติดกัณฑ์เทศน์ตั้ง ๑๐๐ บาท”
    ครั้นวันรุ่งขึ้นสมเด็จฯ ได้ไปเทศน์ที่บ้านนั้นอีก โดยมิได้ถูกนิมนต์ ก่อนเทศน์ท่านได้บอกหญิงนั้นว่า “เมื่อวานนี้ฉันรับจ้างเทศน์จ้ะ วันนี้ฉันจะมาให้ธรรมเป็นทานนะจ๊ะ” แล้วท่านก็เทศน์ต่อไปจนจบกัณฑ์วันนั้นท่านเทศน์แจ่มแจ้งไพเราะจับใจคนฟังมาก

    ศรัทธาหัวเต่า

    มีคหบดีคนหนึ่งบ้านอยู่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ประสงค์จะมีเทศน์มัทรีที่บ้าน จึงเข้าไปหา สมเด็จฯ ขอให้ท่านนิมนต์พระเทศน์ให้องค์หนึ่ง (คหบดีคนนั้นไม่ทราบว่าสมเด็จฯ เทศน์มัทรีได้) ครั้นถึงวันกำหนดท่านไปเสียเอง ไม่ได้นิมนต์พระองค์หนึ่งองค์ใดไป
    ฝ่ายคหบดีคิดเห็นว่า ท่านเป็นพระผู้ใหญ่คงจะเทศน์เป็นธรรมวัตร จึงให้แบ่งเครื่องกัณฑ์ที่เตรียมไว้ออกเสียครึ่งหนึ่ง ด้วยหมายว่าจะนิมนต์พระองค์อื่นมาเทศน์ในวันต่อไป ครั้นได้ฟังสมเด็จฯ เทศน์ทำนองไพเราะจับใจ เกิดเลื่อมใสศรัทธามาก จึงให้เอาสิ่งของที่แบ่งไว้นั้นมาติดกัณฑ์เทศน์อีก เมื่อเทศน์จบแล้ว ท่านสอนคหบดีผู้นั้นว่า

    “เมื่อจะทำบุญทำกุศลอันใด ต้องมีศรัทธามั่นคงเป็น อจลสัทธา อย่าให้เป็นศรัทธาหัวเต่า” แล้วบอกให้เอาเครื่องกัณฑ์ทั้งหมดไปถวายพระองค์อื่นต่อไป เบ็ดเตล็ด

    มีชายผู้หนึ่งนิมนต์สมเด็จฯ ไปเทศน์ ท่านถามว่าบ้านอยู่ที่ไหน ชายผู้นั้นกราบเรียนว่า บ้านอยู่ริมคลองมีกองมะพร้าวอยู่หน้าบ้าน ถึงวันนั้นท่านก็ไปพบมะพร้าวกองอยู่ริมน้ำตรงไหน ท่านก็ขึ้นไปนั่งเทศน์แล้วก็กลับ
    บางคราวสมเด็จฯ รับนิมนต์เทศน์ในวันหนึ่งหลายกัณฑ์ ถึงวันกำหนดท่านก็ไปเทศน์ตามลำดับบ้านที่นิมนต์ก่อนและหลัง ถึงบ้านสุดท้ายเป็นเวลาดึกมาก ต้องปลุกกันให้ลุกขึ้นฟังเทศน์ก็มี บางครั้ง มีเทศน์มหาชาติที่วัดระฆังฯ ถ้าพระองค์ไหนเทศน์ไม่ดี ท่านบอกให้ลงจากธรรมาสน์ แล้วท่านขึ้นเทศน์แทนก็มี

    นิพพานนั้นอย่างไร

    มีผู้สงสัยในเรื่องของนิพพาน อยากรู้ว่านิพพานนั้นเป็นอย่างไร จึงพากันไปเรียนถามสมเด็จฯให้หายสงสัย
    สมเด็จฯท่านก็บอกว่า ท่านไม่รู้แห่ง แต่จะชี้แจงอุปมาเปรียบเทียบให้รู้และเข้าใจเอาเองตามเหตุผลเทียบเคียงได้ว่านิพพานจะรู้ได้อย่างไร
    ท่านเปรียบเหมือนหญิงสองคนพี่น้อง จ้องคิดปรารภปรารมภ์อยู่แต่การมีผัว อุตส่าห์อาบน้ำ ทาขมิ้น นุ่งผ้าใหม่ ผัดผ้า หวีผมเรียบแปร้ ก็เพราะประสงค์ความรักให้เกิดกับชาย ผู้จะได้มาสู่ขอเป็นสามีเท่านั้น
    ครั้นล่วงมาก็สบโชคสบช่อง คนพี่สาว มีผู้มีชื่อมีหน้ามาขอ ได้ตกลงร่วมห้องร่วมหอกันแล้ว หญิงผู้ที่เป็นนางน้องสาวก็มาเยี่ยม แล้วตั้งวิงวอนเซ้าซี้ซักถาม
    “พี่จ๋า! การที่พี่หลับนอนกับผัวนั้น มีรสชาติครึกครื้นสนุกสนานชื่นบานเป็นประการใด จงบอกให้ฉันรู้บ้าง”
    นางพี่สาวก็ไม่รู้จะนำความรื่นรมย์สมสนิทด้วยสามีนั้นออกมาตีแผ่เปิดเผยให้น้องสาวรู้ตามเห็นตามในความรื่นรมย์แห่งโลกสันนิวาสได้ นางพี่สาวก็ได้แต่บอกว่า น้องมีผัวบ้างน้องก็จะรู้เอง ไม่ต้องถามเอาเรื่องกับพี่หรอก
    ครั้นอยู่มาไม่ช้านาน นางผู้น้องได้สามีแล้วไปหาพี่สาว พี่สาวถามว่า การหลับนอนรมย์รื่นชื่นใจกับผัว น้องมีความรู้สึกเป็นเช่นไร ลองเล่าบอกความให้พี่เข้าใจบ้างซี่แม่น้อง นางน้องสาวฉอเลาะตอบพี่สาวทันทีว่า
    “ไม่ต้องเยาะ”
    แล้วพี่น้องคู่นั้น ก็นั่งสำรวลกันหัวเราะกันตามฐานที่รู้รสสังวาสเสมอกัน อุปมาของท่านยาวเหยียดมาก ท่านบอกว่าพระโยคาวจรกุลบุตรมีความมุ่งหมายจะออกจากชาติ จากภพ เบื่อหน่ายโลกสันนิวาส เห็นว่าเป็นหม้อต้มหรือเรือนอันไฟไหม้ ก็ต้องเร่งทำศีล ทำสมาธิ ทำปัญญา จนสามารถตัดสังโยชน์ได้เด็ดขาด จนกระทั่งจิตใจมีความเป็นกลาง ไม่รู้สึกบวกหรือลบ ไม่ติดบุญ ไม่ติดบาป อย่างนี้แหละเรียกว่า นิพพาน ที่ไม่มีทุกข์มาเจือปน ท่านไม่ต้องซักถามเซ้าซี้เช่นหญิงทั้งสอง

    เรื่องของใครของมัน

    เป็นที่ทราบกันว่าสมเด็จฯนั้น ท่านเป็นพระที่มีคารวะธรรม มีความเคารพในสิทธิผู้อื่นเป็นที่ตั้ง แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่บังอาจไปล่วงละเมิด
    ในการทำบุญที่วัดครั้งหนึ่ง ได้มีหมาคู่หนึ่งสมสู่กันอยู่บนศาลา ทายกทายิกาเห็นแล้วไม่พอใจ จึงพากันขับไล่ให้ออกไปจากศาลา
    แต่สมเด็จฯ ท่านได้ห้ามไว้ อย่าไปไล่ ท่านบอกว่า “เรื่องของสัตว์ก็เป็นเรื่องของสัตว์ เรื่องของคนก็เป็นเรื่องของ คน ไม่เกี่ยวข้องกัน”
    ท่านหมายความว่า ให้รู้จักเคารพผู้อื่น สัตว์อื่น สิ่งที่คนอื่นทำ โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์ด้วยแล้ว เขาจะทำอย่างนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของเขา เราเป็นมนุษย์อย่าไปวุ่นวาย

    เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์

    ปีฉลู สัปตศก พ.ศ. ๒๔๐๘ (จ.ศ. ๑๒๒๗) สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาพระเทพกวี (โต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์รับหิรัญบัตร มีฐานา ๑๐ องค์ มีนิตยภัตร ๓๒ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาท ต่อเดือน สมเด็จฯ มีพระชนมายุ ๗๘ พรรษา ๕๖ ได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ในปีโสกันต์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโสกันต์
    คราวนี้มีเขาไกรลาศ รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๑๕ ปี จึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีฉลู สัปตศก พ.ศ. ๒๔๐๘ (จ.ศ. ๑๒๒๗) เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพมหานคร
    ครั้งหนึ่งมีราชการโสกันต์ สังฆาการีวางฎีกาย่ำรุ่ง แล้วถวายพระพรถวายชัยมงคลคาถา พระฤกษ์โสกันต์วางฎีกาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งตรงท่านก็มาถึงพระมหาปราสาทยังไม่เปิดพระทวาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็มานั่งอยู่บนบันไดพระมหาปราสาทชั้นบน แล้วท่านก็สวดชัยมงคลคาถาชยันโตโพธิยาลั่นอยู่องค์เดียว สามจบแล้ว ท่านก็ไปฉันข้าวต้มที่ทิมสงฆ์ แล้วท่านก็ไปพักจำวัดในโรงม้าต้น ในพระบรมมหาราชวัง
    เวลาสามโมงเช้าเสด็จออกจวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุพระราชาคณะประจำที่หมด ยังขาดแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์เดียว เที่ยวตามหากันลั่นไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าทรงกริ้วใหญ่ พวกทนายเลือกสนมใน บอกต่อๆ กันเข้าไปว่าได้เห็นสมเด็จฯหายเข้าไปในโรงม้าต้น พวกสังฆการีเข้าไปค้นคว้าเอาองค์ท่านมาได้ ช่วยกันรุมกันดันส่งเข้าไปในพระทวาร ครั้นทอดพระเนตรเห็นก็กริ้วแหวรับสั่งว่า ถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการ เป็นขุนนางไม่ได้ แฉกคืนๆ เร็วๆ เอา ชยันโตทีเดียว ขรัวโตก็เดินชยันโตจนถึงอาสน์สงฆ์ แล้วนั่งลงเข้าแถวสวด พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีบพระเมาลี พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ก็คีบแลโกนเป็นลำดับไป ครั้นเสร็จแล้วทรงประเคนถวายพระสงฆ์ แล้วเสด็จเข้าในพระฉาก
    สมเด็จฯ ฉันแล้วก็นั่งนิ่ง เสด็จออกเร่งให้ยถา สมเด็จฯก็ยถาแต่ไม่ตั้งตาลปัตร เวลานั้นพระธุระมาก มัวหันพระพักตร์ไปรับสั่งราชกิจอื่นๆ พระพุฒาจารย์โต ก็เดินดุ่มๆ รีบออกไปลงเรือข้ามฟาก พอแปรพักตร์มารับสั่งว่าถวายอดิเรก จะรีบๆ พระราชาคณะรองๆ ลงมา ก็ไม่มีใครกล้านั่งงันกันไปหมด
    รับสั่งถามว่า “อ้าว สมเด็จฯ หายไปไหน”
    มีผู้กราบทูลว่า “ท่านกลับไปแล้ว”
    “อ้าว พัดยังอยู่ ชรอยจะทำใจน้อยไม่เอาพัดไป เร็วเอาพัดไปส่ง ให้ตัวมาถวายอดิเรกก่อน”
    สังฆการีรีบออกเรือตามร้องเรียกว่า เจ้าคุณขอรับ นิมนต์กลับมาก่อน มาเอาพัดแฉก
    ท่านร้องตอบมาว่า “พ่อจะมาตั้งสมเด็จฯกลางแม่น้ำได้หรือ”
    สังฆการีว่า “รับสั่งให้หา”
    ท่านก็ข้ามกลับมาเข้าทางประตูต้นสนดุ่มๆ ขึ้นมาบนพระปราสาท แล้วรับสั่ง ให้ถวายอดิเรกเร็วๆ
    ทูลว่า “ขอถวายพระพร ! ถวายไม่ได้”
    รับสั่งถามว่า “ทำไมถวายไม่ได้”
    ทูลว่า “ขอถวายพระพร ! เหตุพระราชบัญญัติตราไว้ว่า ให้พระราชาคณะถวายอดิเรก บัดนี้อาตมาภาพกลายเป็น พระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอดิเรก ขอถวายพระพร”
    รับสั่งว่า “อ้อจริงๆ เอาสิตั้งกันใหม่ กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จฯ บอกวิเสศเลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกาเอาพระชุดนี้ก็ได้ วิเสศทำไม่ทันก็ทำแต่น้อยก็ได้เพียง ๕ องค์ ศุภรัตน์เตรียมผ้าไตรตั้งและไตรพระชยันโต รับสั่งแล้วเสด็จ
    พวกสังฆการี วางฎีกาพระชุดโสกันต์ กำหนดเวลาเลยกลับไม่ได้
    เวลา ๕ โมง เสด็จออกทรงประเคน พระฉันแล้ว (ประกาศตั้งสมเด็จ) ทรงพระประเคนหิรัญบัตร ประเคนไตร บาตร ตาลปัตร ย่าม พระชยันโต คราวนี้สมเด็จฯ ยกไตรแพรครองกลับเข้ามาอนุโมทนาแล้วถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เป็นอันเสร็จการไปคราวหนึ่ง

    มืดจริงหนอ !
    สมเด็จฯ ท่านมักจะสอนเป็นปริศนาธรรมเสมอ ครั้งหนึ่งท่านต้องการจะสอนพระจอมเกล้าฯ ด้วยเห็นพระองค์ชักจะลุ่มหลงการชมละครมากเกินไป จะทำให้เสียพระราชกรณียกิจได้
    ท่านจึงจุดไต้ในเวลากลางวัน เดินถือเข้าไปในพระราชวัง แสดงว่าบ้านเมืองมันมืดจริงหนอ! มืดเพราะความงมงายความลุ่มหลง
    เมื่อพระจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงทราบความหมายว่า สมเด็จฯ ไม่ให้ลุ่มหลงในการละคร เดี๋ยวจะเสียหายแก่บ้านเมืองได้ พระองค์ได้ตรัสกะเสนาบดีผู้ใหญ่ว่า
    “ขรัวเขารู้แล้ว เขารู้แล้วละ”

    มืดจริงหนอ !

    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ คือสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงราไชยสุริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์ ครอบครองสยามรัฐ อาณาจักรในเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ วันพุธ ปีมะโรง ศกนั้น เพิ่งเจริญพระชนมายุได้ ๑๕ ปี ๗ เดือน ๙ วัน
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปในบ้านสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) คือสมเด็จพระประสาท ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เอาคัมภีร์หนีบรักแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปที่บ้านสมเด็จพระประสาทในเวลากลางวันแสกๆ เดินรอบบ้านสมเด็จพระประสาท (คลองสาน)
    สมเด็จพระประสาทอาราธนาขึ้นบนหอนั่งแล้ว
    “โยมไม่สู้มืดนักดอกเจ้าคุณ อนึ่งโยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา แน่นอนมั่นคงเสมอ อนึ่ง โยมทะนุบำรุงแผ่นดินโดยเที่ยงและตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรงโดยสุจริต คิดถึงชาติและศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิตย์ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุ นิมนต์กลับได้” เลิกเทศน์เลิกสวด

    ในปลายปีมะเมีย โทศก นี้มา พ.ศ. ๒๔๑๓ (จ.ศ. ๑๒๓๒) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า
    “จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกเป็น กิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราทุพพลภาพไม่สามารถรับราชการเทศน์แลสวดฉัน ในพระบรมมหาราชวังได้”
    ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตตกเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์ และได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าพระ (ทัส) ในกรมสมเด็จพระราชวังหลัง ขึ้นเป็น พระราชาคณะรองเจ้าอาวาส พระราชทานพระสุพรรณบัฏ มีราชทินนามว่า หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์มีฐานา ๓ รูป มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๖ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาท เป็นผู้ช่วยบัญชากิจการวัดระฆังต่อไป

    เที่ยวไปตามสบาย

    สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ปลดภาระการวัดการสอนให้หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์แล้ว ตัวท่านก็ไปตามสบาย กับรีบทำพระพิมพ์ ดูให้คนโขลกปูนเพชรและนั่งพิมพ์ไป
    บางทีไปเยี่ยมป่าช้าวัดสระเกศ เช้าก็บิณฑบาตได้อะไรก็ฉันไปพลาง บางทีเที่ยวสะพายบาตรไป ใครใส่เวลาไหน ท่านก็ฉันฉลองศรัทธาเวลานั้น
    ไปนั่งในโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม ไปคุยกับหลวงพ่อรัตวัดเทพธิดารามบ้างแล้วถูกคอ
    ไปดูช่างเขียนประวัติของท่านที่ผนังโบสถ์วัดบางขุนพรหมใน ดูให้ช่างก่อๆ พระโต ก่อขึ้นไปจนถึงพระโสณี (ตะโพก)
    ถึงหน้าขึ้นพระบาท ก็ขึ้นนมัสการพระพุทธบาทเสมอทุกปี จนพวกลพบุรี สระบุรี นับถือเอาน้ำล้างเท้าท่านไปเก็บไว้รักษาฝีดาษดีนัก ถึงฝีจะร้ายแรงดาษตะกั่วก็หาย เด็กๆ ที่ออกฝีไม่มีใครเป็นอันตรายเลย เรื่องฝีดาษเป็นดีมาก จนตลอดมาถึงพระโตวัดเกตุไชโยก็ศักดิ์สิทธิ์ในการรดน้ำมนต์รักษาฝีดาษดี ชาวเมืองอ่างทองนับถือมากจนตราบเท่าทุกวันนี้
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขึ้นนมัสการพระพุทธบาทคราวใดเป็นต้องมีไตรไปพาดที่หัวนาคตีนกระได แล้ว นิมนต์พระชักบังสุกุลโยมผู้หญิงของท่านที่เมืองพิจิตรทุกคราวว่า
    “นิมนต์บังสุกุลโยมฉันด้วยจ้ะ พระจ๋า”
    แล้วเลยไปนมัสการพระฉายเขามันฑกบรรพตด้วย จนกะเหรี่ยงดงนับถือมาก เข้ามาปฏิบัติ ท่านไปกับอาจารย์วัดครุฑ อาจารย์อื่นๆ บ้าง กลับมาแล้วก็มาจำวัดสบายอยู่ ณ วัดบางขุนพรหมใน พระคาถาชินบัญชร

    ในงานพระราชพิธีหนึ่ง ท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้เจริญพรคาถาชินบัญชรถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสดับแล้ว ชอบพระทัย รับสั่งว่า พระคาถานี้ดี ขรัวโตเอามาจากไหน? สมเด็จฯ ทูลตอบว่า
    “ถวายพระพรมหาบพิตร พระคาถาบทนี้อาตมภาพเก็บความจากคัมภีร์โบราณผูกหนึ่ง ซึ่งได้จากลังกาประเทศ”
    พระคาถาบทนี้มีคุณานุภาพมากมาย ผู้ใดได้จำเริญภาวนาไว้เสมอจะเจริญด้วยลาภยศ เจริญชนมายุยืนยาว ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง
    ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมี พระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าจอมหม่อมห้าม และเหล่าข้าราชการ ใกล้ชิดพระยุคลบาทเจริญภาวนาพระคาถาบทนี้

    พระคาถาชินบัญชร

    ๑. ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา
    ๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา
    ๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร
    ๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก
    ๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุลา กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก
    ๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะ ปะภังกะโร นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว
    ๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
    ๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลีนันทะสีวะลี เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ
    ๙. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา เอตาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
    ๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
    ๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา
    ๑๒. ชินาณาวะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
    ๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
    ๑๔. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา
    ๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุ ปัททะโว ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโค สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติฯ

    พระคาถาชินบัญชร (แปล)

    ๑. พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ไม่ต้องกระทำสายธนูและลูกศร (คือไม่ต้องใช้ศัตราวุธ) ทรงชนะมารพร้อมด้วยเสนามาร ทรงเป็นผู้องอาจ แกล้วกล้าในนรชน ทรงดื่มแล้วซึ่งอมตรส (คือความอาจหาญ ความแกล้วกล้า) อันเกิดจากอริยสัจ ๔ ประการ ๒. พระพุทธเจ้า มีพระตัณหังกะระพุทธะ เป็นต้น รวม ๒๘ พระองค์ ผู้เป็นผู้นำของโลก ผู้เป็นใหญ่ในกลุ่มมุนี (ผู้รู้) พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เหล่านั้น โปรดมาสถิตเหนือกระหม่อมของข้าพเจ้า
    ๓. พระพุทธเจ้าสถิตเหนือศีรษะของข้าพเจ้า
    พระธรรม สถิตอยู่ที่ดวงตาทั้งสองของข้าพเจ้า
    พระสงฆ์ ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งปวงประดิษฐานที่อกของข้าพเจ้า
    ๔. พระอนุรุท ประดิษฐานที่ดวงหทัยของข้าพเจ้า
    พระสารีบุตร ประดิษฐาน ณ เบื้องขวา
    พระโกณฑัญญะ ประดิษฐาน ณ เบื้องหลัง
    พระโมคคัลลานะ ประดิษฐาน ณ เบื้องซ้าย
    ๕. พระอานนท์ และ พระราหุล ประดิษฐานอยู่ที่หู เบื้องขวา
    พระกัสสป และ พระมหานามะ ประดิษฐานอยู่ที่หู เบื้องซ้าย
    ๖. พระโสภิตะเถระเป็นจอมแห่งมุนี (ผู้รู้)
    ผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ ทรงรัศมีแจ่มจ้าดุจดวงพาะอาทิตย์ ประทับอยู่ ณ ที่สุด (ชาย) ผมส่วนเบื้องหลัง (ท้ายทอย)
    ๗. พระกุมารกัสสปเถระ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีวาจาอันไพเราะ เป็นบ่อเกิดแห่งคุณงามความดี ประดิษฐานอยู่ที่ริมฝีปากของข้าพเจ้าเป็นนิจ
    ๘. พระปุณณะเถระ พระองคุลิมาลเถระ พระอุบาลีเถระ พระนันทเถระ พระสีวลีเถระ ๕ องค์เหล่านี้ เป็นเจิม (จุดแต้มที่หน้าผากอย่างคนอินเดีย) ที่หน้าผากของข้าพเจ้า
    ๙. พระเถระ ๘๐ องค์ ผู้มีชัยชนะต่อข้าศึกคือกิเลส (ชนะใจตนเอง)
    ผู้เป็นโอรสของพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐาน ณ อวัยวะใหญ่น้อยของข้าพเจ้า
    ๑๐. พระรัตนตรัย อยู่เบื้องหน้าของข้าพเจ้า
    พระเมตตสูตร อยู่เบื้องขวาของข้าพเจ้า
    พระธชัคสูตร อยู่เบื้องหลังของข้าพเจ้า
    พระอังคุลิมาลสูตร อยู่เบื้องซ้ายของข้าพเจ้า
    ๑๑. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นหลังคาเครื่องปิดกั้นในอากาศของข้าพเจ้า
    พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ที่เหลือ ตั้งมั่นเป็นกำแพงล้อมรอบข้าพเจ้า
    ๑๒. พระธรรมขันธ์ทั้งหลาย ประกอบด้วย ศีลาทิคุณอันประเสริฐ ซึ่งเป็นอำนาจของพระชินเจ้าจงมาประดับเป็น อลังการเหมือนกำแพง ๗ ชั้น ป้องกันจากอุปัทวันตรายทั้งภายนอกและภายในอันเกิดจากสมุฏฐานคือลม และสมุฏฐาน คือดี เป็นต้น (สมุฏฐานเกิดโรคมี ๓ อย่าง คือ ดี, เสมหะ และลม เป็นเหตุทำให้ตายได้)
    ๑๓. โรคที่เหลือทั้งหลาย จงถึงซึ่งการกำจัดไปด้วยเดชแห่งพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระคุณหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้ายังมีกิจภายในกรงเล็บแห่งคุณ มีศีลเป็นต้น แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
    ๑๔. ขอพระมหาบุรุษผู้องอาจแกล้วกล้าเหล่านั้น จงเลี้ยงรักษาซึ่งข้าพเจ้า ผู้อยู่บนผืนแผ่นดินในท่ามกลางแห่งกรงเล็บแห่งคุณ มีศีล เป็นต้น แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
    ๑๕. เป็นอันว่าข้าพเจ้ามีการคุ้มครองดีแล้ว มีการรักษาดีแล้ว
    เป็นผู้มีอุบัติเหตุเภทภัย อันพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้ากำจัดแล้ว
    ข้าพเจ้าเป็นผู้มีกิเลสเครื่องข้อง (กิเลสเครื่องเกาะเกี่ยว, กิเลสเครื่องผูกพัน, กิเลสเครื่องผูกโยง) อันเป็นเหมือนข้าศึก ถูกอานุภาพพระธรรมกำจัดแล้ว
    ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอันตราย ถูกอานุภาพพระสงฆ์กำจัดแล้ว
    เป็นผู้อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาลรักษาแล้วในกรงเล็บแห่งศีลาทิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยประการฉะนี้แล
    หมายเหตุ คาถาชินบัญชร

    คาถาชินบัญชรนี้นับว่าสวดแพร่หลายมาก ท่านอาจารย์ วศิน อินทสระ ผู้สอนวิชาพุทธศาสนา ได้แนะนำมุมมองที่จะได้ประโยชน์จากคาถานี้ไว้ในหนังสือชื่อ “สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่เพื่อความถูกต้อง” ผู้จัดทำจึงขอนำมาเผยแพร่ไว้ในโอกาสนี้ เพื่อประโยชน์อันยิ่งขึ้นแก่ชาวพุทธทั้งหลาย
    คาถาชินบัญชรเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะมีพุทธบริษัทเป็นจำนวนมากสนใจในเรื่องนี้อยู่ เราควรจะทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับคาถาชินบัญชร เราควรจะทำความเข้าใจกันอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่สนใจกันมาก สวดกันมาก ในประเทศไทยเรามีคนศรัทธาเลื่อมใสกันเยอะแยะเหลือเกิน ขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของคาถาชินบัญชรก่อนนะครับ
    คาถาชินบัญชรนี้เป็นพุทธมนต์ที่ใช้สวดอธิษฐาน ขอให้คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์อรหันต์ผู้ปรากฏเกียรติคุณทั้งหลายมาเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน มาประดับในสรีระร่างกายของตนเพื่อความเป็นสิริมงคลปลอดภัยในที่ทั้งปวง เป็นคาถาที่ท่องง่าย สวดง่าย คนก็นิยมสวดกัน
    ชินบัญชร แปลตามตัวว่า กรงของพระพุทธเจ้า เครื่องป้องกันของพระพุทธเจ้า มีความเป็นมาว่าได้เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ พระที่เชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้น เพราะเวลานั้นมีคนทางเชียงใหม่นิยมสวดนพเคราะห์ สวดสะเดาะเคราะห์ พระที่เชียงใหม่ เห็นว่าคนนิยมสวดสะเดาะเคราะห์ก็เป็นไปในเชิงไสยศาสตร์ เลยแต่งให้สวดเอาพระพุทธเจ้า พระอรหันต์มาเป็นที่พึ่งเป็น ทำนองนั้น ก็แต่งดีครับ
    จากเชียงใหม่ก็ไปพม่า จากพม่าก็ไปลังกา จากลังกาก็มาประเทศไทย ที่ว่าเป็นสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ก็คือท่านได้มาเผยแพร่ ได้มาดัดแปลงแก้ไข เคยทราบว่าได้ไปสวดคาถานี้หน้าพระที่นั่งของรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๔ รับสั่งว่าเพราะดี ซักถามว่า ขรัวโตได้มาจากไหน แต่งเองหรือเปล่า ท่านถวายพระพรว่าเป็นสำนวนเก่า นำมาตัดตอนแก้ไขดัดแปลงใหม่ ตัดตอนให้สั้นเข้า ของลังกายาวกว่านี้ ฉบับของลังกามีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ
    ทีนี้ผมได้เรียนไว้แล้วว่า คาถาชินบัญชรนี่แต่งดี พระที่เชียงใหม่ในสมัยนั้น คือสมัยพระสิริมังคลาจารย์ ผู้แต่ง มังคลัตถทีปนี แต่งดีมาก ไพเราะด้วย มีความรู้ทางภาษาบาลีดีมาก ทีนี้ท่านที่ท่องก็ท่องด้วยความศรัทธา เลื่อมใส ก็ไม่ว่ากัน และแปลได้ด้วย ที่จะวินิจฉัยในที่นี้คือ ความเป็นไปได้มีได้แค่ไหน เป็นไปได้ไหมที่เราได้ขอให้ท่านเหล่านั้นมาอยู่ตรงนั้นตรงนี้ของเรา
    ยกตัวอย่างเช่นในคาถาที่ ๔ ที่ว่า ขอให้พระอนุรุทธมาอยู่ที่หทัยของเรา พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา ให้พระโกณฑัญญะอยู่เบื้องหลัง พระโมคคัลลานะอยู่เบื้องซ้าย นอกจาก นั้นก็มีพระอื่นอยู่ที่นั่นที่นี่ทั่วตัวของเรา อันนี้ผมตั้งปัญหา ขึ้นมาว่า ที่ขอให้ท่านเหล่านั้นมาอยู่ที่ตัวเรา ถ้าจะตอบกันตรงๆ ก็คือเป็นไปไม่ได้ ทางเดียวที่จะให้ท่านอยู่ในตัวเราได้ก็คือเราศึกษาคุณธรรมคุณสมบัติของพระอนุรุทธว่าท่านมีอะไร พระอนุรุทธเลิศทางทิพจักษุ ถ้าต้องการให้พระอนุรุทธอยู่ใน ตัวเรา เราต้องขยันอบรมสิ่งที่เรียกว่าทิพจักษุให้เกิดขึ้น ในตัวเรา นั่นแหละจึงจะเรียกว่ามีพระอนุรุทธอยู่ในตัว หรือได้พระอนุรุทธมาอยู่ในตัว มีทิพจักษุเกิดขึ้นในตัวเรา ถ้าสวดในความหมายนี้ผมว่าดี
    หรือพระสารีบุตรอยู่ทางเบื้องขวาของเรา อย่างนี้ถ้าเอาตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้ พระสารีบุตรท่านนิพพานไปนานแล้ว ท่านจะมาเป็นบริวารอยู่ทางเบื้องขวาของเราย่อมจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเบื้องขวาของท่านเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของเรา ทีนี้ถ้าต้องการอย่างนั้น ก็ต้องศึกษาคุณธรรมคุณสมบัติของพระสารีบุตร ว่าพระสารีบุตรมีคุณสมบัติอะไร คือท่านเลิศด้วยปัญญา เราก็ทำปัญญาให้เกิดขึ้น พยายามอบรมปัญญา พยายามฝึกฝนปัญญาให้เป็นดังเช่น พระสารีบุตรหรือใกล้เคียงพระสารีบุตร เดินตามทางพระสารีบุตร เจริญปัญญา อบรมปัญญา นึกถึงพระสารีบุตรในฐานะเป็นผู้มีปัญญา ทำไฉนเราจะเป็นเช่นท่านได้ และพยายาม ปฏิบัติในการอบรมปัญญา ท่านอื่นๆ ก็เหมือนกัน
    ท่านที่มีคุณสมบัติเฉพาะของท่านจนถึงพระโมค- คัลลานะซึ่งเป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ ก็ต้องฝึกเรื่องฤทธิ์เหมือนกันถึงจะได้ฤทธิ์ ต้องไปเจริญฌาน ทำอภิญญา อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ก็จะได้เป็นเช่นเดียวกับพระมหาโมคคัลลานะ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ไม่มีการผูกขาด ใครปฏิบัติก็จะได้ตามที่ปฏิบัตินั้น ถ้าจะสวดก็ต้องสวดไปในทำนองนี้ ไปในความหมายนี้ ไปในความรู้สึกอย่างนี้ เราระลึกถึงท่านเพื่อจะมีคุณสมบัติอย่างท่าน ไม่ใช่ให้ท่านมาเป็นบริวารของเรา มาอยู่ที่นั่นที่นี่ของเรา ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้
    มาถึงข้อ ๑๐ พูดถึงพระสูตรต่างๆ ขอให้รัตนสูตรมาอยู่ข้างหน้า เมตตาสูตรอยู่ข้างขวา ธชัคคสูตรอยู่ข้างหลัง อังคุลิมาลสูตรอยู่ข้างซ้าย ก็ทำนองเดียวกัน เราก็ต้องศึกษาพระสูตรนั้นว่า รัตนสูตรแปลว่า สูตรที่เป็นรัตนะ รัตนะแปลว่าแก้ว คือให้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ ให้สำเร็จความประสงค์ที่ต้องการ รัตนสูตรมีธรรมะดีๆ เยอะครับ ลองศึกษาดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติของพระโสดาบัน คุณสมบัติของพระพุทธเจ้าไปจนถึงอนันตริยกสมาธิ อย่างนี้เป็นต้น มีของดีๆ อยู่ในนั้น ลองศึกษาดูและทำความเข้าใจ และปฏิบัติดำเนินตามข้อความในรัตนสูตร แล้วรัตนสูตรก็จะมาอยู่ข้างหน้าของเราได้ เพราะเรามีสิ่งนั้นอยู่ แต่ถ้าเราสวดเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้ มาอยู่ไม่ได้ นี่เราพูดกันในลักษณะของการศึกษาพุทธศาสนาด้วยปัญญา
    หรือเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา เมตตาสูตรก็ดี มีคุณสมบัติของผู้ที่ถึงสันตบท พระอริยะท่านได้ดำเนินชีวิตถึงสันตบท ถึงนิพพานด้วย บทที่สงบระงับด้วยวิธีใด ผู้ฉลาดก็ควรดำเนินตาม ดำเนินตามรอยของท่านผู้ฉลาดที่ได้เดินมาแล้วจนถึงทางแห่งความสงบได้ และมีคุณสมบัติของผู้ที่จะดำเนินตามทางนั้น เช่นว่า สักโก...เป็นผู้กล้าหาญ อุชุ...เป็นผู้ซื่อตรงอัปปคัพโภ... เป็นผู้ไม่คะนองกายวาจาเรื่อยๆ ไป มีคุณสมบัติที่ดีเยอะแยะในเมตตาสูตร จนถึงสอนให้เป็นคนมีเมตตา แผ่เมตตาจิตไป ไม่มีประมาณในสัตว์โลกทั้งปวง...อันนี้เป็นข้อปฏิบัติทั้งนั้น
    ธชัคคสูตรอยู่เบื้องหลัง ธชคฺคํ ปชฺชโต อาส ธชัคคะ (ธชะ+อัคคะ) แปลว่ายอดธง ธชัคคสูตร...เป็นสูตรที่พระพุทธเจ้า ทรงเล่าว่าเวลาเกิดเทวาสุรสงครามขึ้น ท้าวสักกะบอกให้ดูยอดธงของท่าน พวกเทวดาก็มีกำลังใจเมื่อเห็นยอดธงของท้าวสักกะอยู่ หัวหน้าแม่ทัพยังมีธงสะบัดอยู่ก็มีกำลังใจ พระสงฆ์ที่อยู่ป่าหรือชาวพุทธที่อยู่ป่าให้ถือเอาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นยอดธง ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเวลาเกิดความกลัว ความตกใจ ความหวั่น ขนพองสยองเกล้า ก็ให้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ถ้ายังสะดุ้งอยู่ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระธรรม ถ้ายังกลัวอยู่ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ทำนองนี้ นี่เป็นธชัคคสูตรให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย
    อังคุลิมาลสูตร เป็นคำอธิษฐานของพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลมีประวัติที่โหดร้ายมาก่อน เป็นโจรใจเหี้ยม ฆ่าคนมามากมายถึง ๙๙๙ คน เกือบจะถึง ๑,๐๐๐ คนอยู่แล้ว ก็มาบวช ขณะที่เห็นหญิงมีครรภ์เดินลำบากก็เกิดความเมตตา เมื่อบวชแล้วจิตเปลี่ยนไป เกิดความเมตตา มาทูลพระพุทธเจ้า ว่าทำอย่างไรอยากช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความลำบาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า งั้นเอาอย่างนี้องคุลิมาล ไปบอกว่า ...ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์เลย ด้วยสัจจะวาจาอันนี้ ขอให้เธอคลอดโดยปลอดภัย ขอให้ครรภ์ของเธอปลอดภัย พระองคุลิมาลก็กล่าวว่า จะไม่เป็นการกล่าวเท็จหรือพระเจ้าข้า เพราะว่าข้าพระองค์ฆ่าคนมาตั้งเยอะแยะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่างนั้นเพิ่มเข้าไปว่า ...ตั้งแต่เกิดโดยอริยชาติ ได้บวชแล้ว ไม่เคยมีความจงใจที่จะฆ่าสัตว์เลย ด้วยสัจจะวาจาอันนี้ขอให้ครรภ์ของนางปลอดภัย ท่านองคุลิมาลก็ไปว่าตามนั้น นางก็คลอดปลอดภัย อันนี้พระก็เอามาสวดในงานแต่งงาน และงานอะไรต่ออะไร ผู้หญิงมีครรภ์มาขอพระก็ทำน้ำมนต์ด้วยสวดคาถาอังคุลิมาลปริตรนี้ อังคุลิมาลสูตรทำนองนี้
    การขอให้พระสูตรต่างๆ มาอยู่ทางซ้าย ทางขวาของเรา ถ้าเล็งในการปฏิบัติก็ต้องศึกษาให้เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ แล้วนำมาปฏิบัติจะได้ผล ถ้าท่องเฉยๆ สวดเฉยๆ อย่างนี้ก็เป็นแต่เพียงกำลังใจ แต่ประโยชน์ไม่เท่ากับที่เราศึกษาให้เข้าใจ แล้วนำมาใช้ประโยชน์เลย คือปฏิบัติเลย ไม่ได้สวดอย่างเดียว คุณสมบัติของผู้สวด ต้องรู้เรื่อง ต้องเข้าใจ

    บุญเราไม่เคยสร้างใครที่ไหนจะมาช่วยเรา
    ลูกเอ๋ย...ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด
    เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน
    เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอ จึงค่อยยืมบารมีคนอื่นมาช่วย
    มิฉะนั้น เจ้าจะเอาตัวไม่รอด
    เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว
    เมื่อทำบุญกุศลได้บารมีมา
    ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว
    แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า
    หมั่นสร้างบารมีไว้ (สร้างความดี) แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง
    จงจำไว้นะ
    เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดคิดช่วยก็ไม่ได้
    แต่ครั้นถึงเวลา ทั่วฟ้าจรดดินอะไรก็ต้านเจ้าไม่อยู่
    จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน
    เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย
    จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”


    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
    [/FONT]
     
  2. สิงห์แดง

    สิงห์แดง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    25
    ค่าพลัง:
    +153
    ได้มีโอกาสสื่อถึงท่านเมื่อ 26/2 น้ำเสียงเมตตามาก เจ้าประคุณสอนให้อย่าให้มีความสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตั้งใจทำน้ำมนต์โดยผ่านฌาณลาภีสงฆ์ท่านนึง ไม่ได้ใช้พระคาถาชิณปัญชระเสก พยายามเทียบเคียงอยู่ว่าใช้บทใด ในขณะเดียวกันเพิ่งทราบอุบายถึงการนำสันมือมาซ้อนกันของเจ้าประคุณฯ จริง แล้วไม่ใช่ซะทีเดียว ท่านใช้สันมือซ้ายอยู่ด้านล่าง สีนิ้วงอเข้าหากัน นิ้วหัวแม่มือตั้งตรง กำปั้นขวาหุ้มรอบนิ้วโป้งอยู่ด้านบน กำหนดวางตรงลิ้นปี่ (ฐานที่ 5) กลางลำตัว เมื่อจิตดิ่ง จะเกิดพลังงานขึ้นมาที่นิ้วโป้ง จากนิ้วโป้งจะแผ่ไปยังมือขวา และทั่วร่างกาย ตรงกับหลัก E=MC ของไอน์สไตน์ ที่ตัว E คือนิ้วโป้งตั้งขึ้น นั่นเอง เป็นปริศนาธรรมที่ใช้พลังงานแม่เหล็กจากการฝึกจิตไหลเวียนไปทั่วร่างกายนั่นเอง สาธุการแด่ท่านเจ้าประคุณฯ ท่านค้นพบวิธีนี้ก่อนไอน์สไตน์เสียอีก ใช้เวลาการขอบารมีอธิษฐานทั้งสิ้น 3 นาที ลองทำกันดูจิตจะนิ่งและดิ่งเร็ว ช่วงฝึกแรกๆ จะเมื่อยแขน แต่นานเข้าจะชินไปเอง.....ท่านั่งท่านี้ นับเป็นหนึ่งเดียวในปฐพี แต่ไม่มีใครรู้เคล็ดลับ ถ้าท่านได้อ่านบทความของข้าพเจ้าจงทำความเข้าใจ ตั้งใจรักษาศีลและภาวนา ญาณรู้ของเจ้าประคุณฯ ท่านยังอยู่ (วันนั้นนอกจากท่านเจ้าประคุณฯ มาแล้ว ยังพบท่านฤาษีวิศวามิตร มาด้วย จึงทำให้แปลกใจ ว่าน่าจะอยุ่ในสุทธาวาสด้วยกันทั้ง 2 พระองค์) กระทู้ที่ตอบนี้ มีความเกียวพันกันกับพระสมเด็จโลกอุดรเสกในหัวข้อประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการเสกพระชุดที่ 3 และเป็นเรื่องอจินไตยสำหรับผู้ที่มิเคยฝึกจิต แต่สำหรับผู้ที่แสวงหาการคุ้มครองจากเจ้าประคุณฯ ควรมีไว้ เมื่อเจอะเจอพระกรรมฐานที่เชี่ยวชาญทางจิต ค่อยยื่นถามท่านว่า พระพิมพ์นี้สำเร็จได้ด้วยจิตของท่านใด จะรู้คำตอบเอง
     

แชร์หน้านี้

Loading...