เกร็ดบู๊ลิ้ม อู่ซู (ตอนที่ 1)

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย satan, 5 พฤศจิกายน 2006.

  1. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    เกร็ดบู๊ลิ้ม อู่ซู (ตอนที่ 1)
    โดย อ.เซียวหลิบงั้ง (webmaster http://www.thaitaiji.com/)
    ตีพิมพ์ในวารสารฮวงจุ้ยกับชีวิตปีที่ 2 ฉบับที่ 16-23
    อู่ซู่ (บู๊ซุก) สากลและไทย นิยมออกเสียงว่า วูซู อู่ซู่ เป็นการออกกำลังกาย และเป็นวิชาต่อสู้ป้องกัน
    ตัวรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นวิชาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลของจีน

    คำว่าอู่ซู่ รวมหมายถึงการใช้มือเปล่า เช่น ตี ชก เตะ ถีบการทุ่ม การคว้าจับ ฯลฯ รวมกับการใช้อาวุธ
    ชนิดต่างๆ ซึ่งมีทั้งการรับและตีโต้กลับ ทั้งมือเปล่าและอาวุธ มีทั้งการร่ายรำเป็นชุด และเป็นท่าเดี่ยวๆ
    สามารถฝึกฝนด้วยตัวคนเดียว และฝึกเข้าคู่กันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

    อู่ซู่เป็นคำรวมที่หมายถึงวิทยายุทธ์จีนทุกแขนงวิชา เช่นมวยเส้าหลินทุกประเภทวิชา มวยไท่เก๊ก มวย
    ปากั้ว เป็นต้นต่างก็เป็นอู่ซู่ทั้งสิ้น ในปัจจุบันอู่ซู่ หรือวูซู ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในการแข่งขันระดับเอเชี่ยน
    เกมส์

    การเรียกวิชาอู่ซู่ มีการเปลี่ยนแปลงการเรียกขานตามยุคสมัย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการเรียกมาแทบ
    ทุกสมัย อู่ซู่ เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า กั๊วะซู่ (ก๊กซุก) คือหมายถึงวิทยายุทธ์ของประเทศจีน ในสมัยยุค
    ชุนชิว เรียกอู่ซู่ ว่า อู่อี้ สมัยจ้านกั๋ว เรียกว่า จี้จี สมัยฮั่นเรียกว่า จี้เฉี่ยว สมัยหมิงและชิงเรียกว่า จี้อี้
    หรือเรียกว่า จี้หย่ง สมัยหมิงกั้วะ แรกๆ เรียกว่า อู่ซู่ ต่อมาในช่วงหลังของหมิงกั้วะ เปลี่ยนมาเรียกว่า
    กั้วะซู่ แต่มาในยุคปัจจุบันกลับมาเรียกว่า อู่ซู่ อีกครั้ง

    การเปลี่ยนแปลงของอู่ซู่ มาจากวิชาโบราณของจีนเช่น โส่วปั๋ว เจี๋ยวตี่ เต้าอิ่น เจี้ยนซู่ เป็นต้น
    ผ่านกาลเวลามายาวนานค่อยๆ หลอมรวมเอาวิชาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ค่อยๆ กลายมาเป็น อู่ซู่
    ในปัจจุบัน

    โส่วปั๋ว (ชิวผัก) แปลตรงตัวก็คือ การต่อสู้ด้วยมือ เป็นวิชาการต่อสู้โบราณของจีนในยุคแรกๆ ใน
    หนังสือฮั่นซู หมวดอี้เหวินจื้อ บันทึกไว้ว่า ในวิชาการทหาร 13 อย่าง มีวิชาโส่วปั๋ว 6 บทรวมอยู่
    ด้วย เป็นวิชาที่ทหารในสมัยโบราณนำมาใช้ในเวลาที่เกิดการตะลุมบอนกันขึ้น ซึ่งใช้กันในสนามรบ
    จริงๆ

    เจี๋ยวตี่ (กั้กตี้) เป็นวิชาการต่อสู้โบราณอีกแขนงหนึ่ง มักใช้เป็นการละเล่นเพื่อการประลองกำลังกัน
    มีลักษณะคล้ายๆ กับมวยปล้ำในปัจจุบัน เน้นความคล่องแคล่ว การใช้กำลัง และมุ่งทำให้คู่ต่อสู้ล้ม
    ลงกับพื้น

    เจี้ยนซู่ (เกี้ยมซุก) คือวิชากระบี่ เป็นหนึ่งในวิชาการต่อสู้โบราณของจีน วิชากระบี่นี้เป็นที่นิยมอย่าง
    มากในยุคชุนชิว และยุคจ้านกว๋อ กระบี่เป็นอาวุธที่คนสมัยโบราณมักพกพาติดตัว เนื่องจากมีความ
    คล่องตัวสูงในการใช้เพื่อป้องกันตัว

    ในสมัยนั้น พวกข้าราชการชั้นสูงหรือพวกขุนนาง ก็นิยมฝึกฝนวิชากระบี่กันเป็นส่วนมาก ในหนังสือฮั่นซู
    หมวดอี้เหวินจื้อ บันทึกไว้ว่า ในวิชาการทหารมีวิชากระบี่อยู่36 บท แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าขาดการ
    สืบทอดไป

    อย่างเซิงซู่ (เอียงแซซุก) เป็นวิชาเกี่ยวกับการบำรุงสุขภาพ และอายุวัฒนะของจีน เริ่มมีขึ้นสมัยของ
    กษัตริย์หวงตี้ ในบทไจ้โหย่วของจวงจื่อกล่าวว่า "หวงตี้ถามถึงแนวทางการบำรุงร่างกายให้มีอายุยืน
    ยาว กว้างเฉิงจื่อตอบไปว่า การไม่มอง ไม่ฟัง รักษาจิตใจให้สงบ ร่างกายตั้งตรง ต้องสงบและสะอาด"
    คนฝึกอู่ซู่เรียกอย่างเซิงซู่ว่า วิชาเน่ยกง ซึ่งคือวิชากำลังภายในนั่นเอง เป็นการใช้ความสงบสยบการ
    เคลื่อนไหว ซึ่งไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายดั้งเดิมของเหล่าผู้ฝึกวิชาอายุวัฒนะ

    เต้าอิ่นถู่น่า (เต่าอิ้งโถวนับ) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการฝึกลมหายใจ หลักการคือ การรับเอาพลังบริสุทธิ์
    เข้าร่างกาย และคายเอาของเสียในร่างกายออกไป โดยใช้การหายใจที่ลึก ยาว ละเอียด เล็ก และ
    ต่อเนื่อง ถ้าพูดโดยหลักวิทยาศาสตร์แล้ว การหายใจแบบนี้ย่อมสามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้า
    ร่างกาย และหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าที่ร่างกายจะทำได้
    ซึ่งโดยปกติ คนเรามักหายใจเข้าออกอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพที่ตนมีอยู่ พูดง่ายๆ คือ ปกติพวกเรา
    มักหายใจไม่เต็มปอดจริงๆ ในสมัยฮั่นมีวิชาอู่ฉินซี่ (โงวคิ่มหี่) ในยุคหลังมีวิชาอี้จินจิง (เอ๊กกึงเก็ง)
    ปาต่วนจิน (โป้ยตึ่งกิ้ม) สือเอ้อต่วนจิน (จับหยี่ตึ่งกิ้ม) เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิชาเต้าอิ่นถู่น่า

    อู่ฉินซี่ (โงวคิ่มหี่) เป็นวิชาเต้าอิ่นวิชาหนึ่ง ซึ่งหมอหัวถวอ (หั่วท้อ) หรือที่พวกเรารู้จักกันคือหมอ
    ฮูโต๋ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยสามก๊ก มีวิชาการแพทย์อันล้ำเลิศ สามารถทำการผ่าตัดได้แม้แต่การผ่าตัด
    สมอง (ด้วยเหตุนี้จึงถูกโจโฉประหารชีวิต เนื่องจากโจโฉมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังและหมอฮูโต๋เสนอ
    ให้ทำการผ่าตัดสมอง โจโฉคิดว่าฮูโต๋คิดฆ่า เนื่องจากสมัยก่อน ถ้าทำการเปิดสมอง ต้องตายแน่นอน
    จึงนำตัวไปฆ่าเสียเลย) หมอหัวถวอได้คิดค้นวิชาอู่ฉินซี่ขึ้นมา ท่าทางเลียนแบบการเคลื่อนไหวของ
    สัตว์ห้าชนิดด้วยกัน อันได้แก่เสือ กวาง หมี วานร และนก มีสรรพคุณสามารถบำรุงสุขภาพและรักษา
    โรคได้ ปัจจุบันยังมีการฝึกกันอยู่

    ปาต่วนจิน (โป้ยตึ่งกิ้ม) เชื่อกันว่าปาต่วนจินถ่ายทอดมาจากเย่วเฟย (หงักฮุย) เราเรียกกันว่างักฮุย
    แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด เป็นวิชาถู่น่าหายใจเอาพลังบริสุทธิ์เข้า หายใจออกคายเอาของเสีย
    ออก ปาต่วนจินแยกออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกมีอยู่ด้วยกัน 8 ท่า ท่าส่วนใหญ่จะใช้ฉีหม่าซื่อ
    (ท่าขี่ม้า) เป็นหลัก (เน้นการฝึกเส้นเอ็น อีกประเภทหนึ่งเรียกว่าสือเอ้อต่วนจิน (จับหยี่ตึ่งกิ้ม) มี่ท่าฝึก
    ทั้งหมด 3 ชุด 24 ท่า ท่าส่วนใหญ่ใช้ท่ายืนตรงธรรมดา มีอีกชื่อว่า เหวินปาต่วน (บุ่งโป้ยตึ่ง)

    สำนักฝ่ายเหนือกับสำนักฝ่ายใต้

    ทางบู๊ลิ้มมีการแบ่งสำนักเหนือใต้ออกเป็นสองแบบด้วยกัน
    แบบแรก แบ่งโดยลักษณะของมวยภายในกับมวยภายนอก หากเป็นมวยไท่จี๋ สิงอี้ ปากั้ว เป็นต้น
    ซึ่งเน้นความอ่อนหยุ่น พลังภายใน เต้าอิ่นเป็นหลัก เรียกเป็นสำนักฝ่ายใต้ หรือเรียกว่าหนานจง
    (หน่ำจง) หากเป็นประเภทฉางเฉวียน หรือมวยที่มีลักษณะเน้นความรุนแรงรวดเร็วเป็นหลัก เรียก
    ว่าสำนักฝ่ายเหนือ หรอเป่ยจง (ปั้กจง)

    แบบที่สอง ถ้าเป็นมวยที่เน้นการใช้หมัด ใช้ช่วงสั้น ท่วงท่าเล็ก สั้นรัดกุมคือฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นที่นิยม
    กันแถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง (แม่น้ำแยงซีเกียง) ลุ่มแม่น้ำจูเจียง ส่วนฝ่ายเหนือนิยมการออกอาวุธ
    ด้วยเท้าเป็นหลัก ใช้ช่วงยาวท่วงท่าเหยียดกว้าง นิยมกันในแถบลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง
    หรือฮวงโห) ดังนั้นจึงมักมีคำที่ใช้กันในบู๊ลิ้มว่า "หมัดใต้เตะเหนือ" เพราะเหตุนี้

    เน่ยเจียเฉวียน (ไหล่แกคุ้ง) คือมวยภายใน ในปลายราชวงศ์หมิง หวางหลีโจว ได้บันทึกไว้ในหนาน
    เหลยเหวินจี๋กล่าวไว้ว่า "มีวิชาที่เป็นฝ่ายภายใน ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว คู่ต่อสู้ที่ใช้
    กำลังจะถูกทำให้ล้มลง ส่วนเส้าหลินนั้นเป็นฝ่ายภายนอก" มวยภายในเน้นความสงบนิ่ง ส่วนมวย
    ภายนอกเน้นการเคลื่อนไหว มวยภายในที่เห็นได้ในปัจจุบันนี่ก็มีมวยไท่จี๋ (มวยไท่เก๊ก) มวยสิงอี้
    ฝ่ามือปากั้ว (ฝ่ามือแปดทิศ)

    ว่ายเจียเฉวียน (หงั่วแกคุ้ง) คือมวยภายนอกอันมีวัดเส้าหลินเป็นต้นตำรับ มวยเส้าหลินเริ่มต้นขึ้น
    ที่วัดเส้าหลินในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) โดยมีต้นกำเนิดวิชาจากวัดเส้าหลินที่ภูเขาซงซานใน
    มณฑลเหอหนาน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากมหาสมณะต๋าหมัว (ตั๊กม้อ) ท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ
    ได้คิดวิชาขึ้นสองวิชา คือ คัมภีร์ล้างไขกระดูก และคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น โดยเขียนเป็นคัมภีร์ขึ้น
    สองม้วน (หนังสือในสมัยโบราณบันทึกลงบนผ้าแล้วม้วนเอาไว้เป็นม้วนๆ) คัมภีร์ล้างไขกระดูกได้
    มอบไว้ให้แก่มหาสมณะฮุ่ยเข่อ ซี่งวิชานี้ได้ขาดตอนไปไม่ได้ถ่ายทอดมาถึงยุคปัจจุบ้น ส่วนวิชา
    เปลี่ยนเส้นเอ็นยังอยู่ที่วัดเส้าหลินและได้ถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน
    --------------------------------------------
    เกร็ดบู๊ลิ้ม สำนักอู่ตัง (ตอนที่ 2)

    อู่ตังพ่าย (บูตึงผ่าย) หมายถึงสำนักบูตึงหรือบู๊ตึ๊ง สำนักอู่ตังเป็นอารามทางลัทธิเต๋า เป็นสำนัก
    ฝ่ายพรต สำนักอู่ตังเริ่มต้นจากปรมาจารย์จางซันเฟิง (เตียซำฮง) ได้บำเพ็ญพรตอยู่บนเขาอู่ตัง
    และต่อมาได้รับศิษย์เอาไว้ได้ถ่ายทอดวิชามวยไท่เก๊กและวิชาอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายมวยภายใน โดย
    สำนักอู่ตังเป็นตัวแทนฝ่ายมวยภายใน ส่วนวัดเส้าหลินเป็นตัวแทนฝ่ายมวยภายนอก ซึ่งทั้งสอง
    สำนักนี้เป็นสำนักศิลปะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

    อู่ตังซาน (บูตึงซัว) คือภูเขาบูตึงตั้งอยู่ในมณฑลหูเป่ยทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
    มีอีกชื่อว่าไท่เหอซาน (ไท่หั่วซัว) ข้างบนมีอารามของลัทธิเต๋าและมีผู้บวชเป็นนักพรตบำเพ็ญอยู่
    ที่นี่ เขาอู่ตังมี 72 ยอดเขา36 หน้าผา 24 ถ้ำ ที่มีชื่อเสียง เล่ากันว่าที่เขาอู่ตังมีนักพรตเจินอู่
    (จิงบู้) มาบำเพ็ญพรตจนสำเร็จเป็นเซียนเง็กเซียนฮ่องเต้มีบัญชาให้เฝ้าพิทักษ์ทางด้านทิศเหนือ
    เจินอู่มีชื่อเดิมว่าเสวียนอู่ (เหี่ยงบู้) ฮ่องเต้เจินจงของราชวงศ์ซ่งได้เปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ว่าเจินอู่

    อู่ตังเฉวียน (บูตึงคุ้ง) คือวิชามวยของอู่ตังหรือบูตึง อันเป็นวิทยายุทธ์ของสำนักใหญ่สำนักหนึ่ง
    ของจีน วิชามวยของสำนักนี้เน้นความสงบมาสยบความเคลื่อนไหว ใช้ความอ่อนหยุ่น พิชิตความ
    แข็งแกร่ง ใช้ความช้าเข้าต่อกรกับความเร็ว ใช้ช่วงสั้นเอาชนะช่วงยาว ฝึกฝนทั้งภายในและภาย
    นอก ให้ความสำคัญทั้งทางด้านรูปลักษณ์และจิต

    วิชามวยอู่ตังที่สำคัญก็มี มวยไท่จี๋ (ไท่เก๊ก) มวยอู๋จี๋ (มวยบ่อเก๊ก) มมวยอู่ตังไท่อี้อู่สิง (มวยบูตึง
    ไท่อิกโหงวเฮ้ง) มวยอู่ตังอวี๋เหมิน (มวยบูตึงหื่อมึ้ง) อู่ตังปาเสอ (บูตึงโป้ยจี้) อู่ตังจิ่วกงสือปาถุย
    (บูตึงเกาเก็งจับโป้ยทุ่ย) มวยภายในอู่ตังจางสงซี (มวยภายในบูตึงเตียส่งโคย) เป็นต้น

    อู่ตังไท่อี้อู่สิงเฉวียน (บูตึงไท่อิกโหงวเห่งคุ้ง) มวยนี้มีชื่อดั้งเดิมว่า อู่ตังไท่อี้อู่สิงฉินพูเอ้อสือ
    ซานซื่อ (บูตึงไท่อิกโหงวเฮ้งคิ่มผกหยี่จับซาเส็ก) ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงในปี
    รัชกาลหงจื้อ โดยจางโซ่วชิ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นที่ 8 แห่งสำนักมังกร ในปี 1929

    จินจื่อเทา (เป็นเชื้อพระวงศ์แมนจูที่มีชื่อเป็นแมนจูว่าอ้ายซินเจี๋ยหลอผู่ซวน) ได้ไปยังเขาอู่ตัง
    เรียนวิชามวยนี้จากนักพรตหลี่เหอหลิน

    มวยไท่อี้อู่สิงใช้ฝึกเพื่อบำรุงลมปราณ เสริมสร้างสุขภาพและยังใช้ในการป้องกันตัวได้ การเคลื่อน
    ไหวอ่อนหยุ่นคล่องแคล่วและเป็นวงกลม ใช้จิตไม่ใช้กำลัง เคลื่อนไหวช้าๆ การเคลื่อนไหวดุจดั่ง
    งู มวยนี้ยังมีการฝึกพื้นฐานมีชื่อเรียกว่า อู่ตังจิ่วกงสือเอ้อฝ่า (บูตึงเกาเก็งจับหยี่หวบ)

    อู่ตัวอวี๋เหมินเฉวียน (บูตึงหื่อหมึ่งคุ้ง) เป็นหนึ่งในสี่วิชามวยของอู่ตังที่มีชื่อเสียง (มวยสี่ชนิดคือ
    มวยอวี๋เหมิน, ปาเสอ, ไท่อี้อู่สิง, และจิ่วกงสือปาถุ่ย ตามบันทึกของอู๋จื้อชิง ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ
    ไท่จี๋เจิ้งจง กล่าวไว้ว่า

    มวยอวี๋เหมิน มีเพลงมวยทั้งหมด 13 ชุด การใช้มีส่วนคล้ายคลึงกับมวยไท่เก๊ก และมีการผลักมือ
    (ทุยโส่ว) มวยอวี๋เหมินใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับมวยสายอู่ตังอื่นๆ ใช้ความ
    อ่อนพิชิตความแข็งกร้าว อาศัยการคล้อยตามท่าทางของคู่ต่อสู้ การปล่อยพลัง เลียนแบบการ
    สะบัดตัวของปลา มีการใช้ร่างกาย 5 ส่วน เป็นอาวุธ ที่เรียกว่า อู่เฟิง (โงวฮง) ซึ่งหมายถึงส่วน
    ศีรษะ หัวไหล่ ศอก ก้น และหัวเข่า ทั้ง 5 ส่วนนี้สามารถออกพลังทำร้ายคู่ต่อสู้ได้

    วิชานี้ถ่ายทอดมาจากเมืองเสียนหนิง มณฑลหูเป่ย ในสมัยปลายราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิง
    ที่เขาหลงถันเมืองเสียนหนิง มีคนอยู่ 6 คนเป็นเพื่อนสนิทกัน เชี่ยวชาญทั้งบุ๋นและบู๊ หกคนนี้มี
    แซ่เกอ เหอ จง ต่ง หัน จั๋ว ครั้งได้ไปเที่ยวที่เขาเฉวียนในช่องเขาจินเฟิ่ง ได้พบเห็นปลาในบึง
    ว่ายน้ำไล่กันอย่างคล่องแคล่วว่องไวเป็นอัศจรรย์ พร้อมกับได้เห็นชาวประมงทำการเหวี่ยงแห
    จับปลาอย่างคล่องแคล่วชำนาญ จึงได้คิดค้นมวยนี้ขึ้นมาจากแรงบันดาลใจของปลา

    มวยภายในอู่ตังจางสงซี (มวยภายในอู่ตังเตียส่งโคย) วิชามวยนี้เกิดในสมัยราชวงศ์หมิงในรัช
    สมัยเจียจิ้ง จางสงซีได้พัฒนามวยนี้จากพื้นฐานมวยอู่ตังรวมกับมวยของอีก 8 ตระกูลคือ เจิง
    เยี่ย ตู้ จ้าว หง จื้อ และ หัว หลอมรวมเป็นวิชามวยนี้ขึ้นมา จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ปาเหมินฮุ่ยจง
    (โป้ยมึ้งห่วยจง) วิชามวยนี้ได้รวมเอาวิชาทางการใช้ยา และวิชาชี่กงรวมอยู่ด้วย

    อาวุธของสำนักอู่ตัง อาวุธที่พบเห็นกันบ่อยของสำนัก

    อู่ตังมีกระบี่ไท่จี๋ (กระบี่ไท่เก๊ก) กระบี่อู่ตัง (กระบี่บูตึง) กระบี่ไป๋หง (กระบี่แป๊ะฮ้ง -กระบี่รุ้งขาว)
    ดาบไท่จี๋ ดาบไท่จี๋เสวียนเสวียน (ดาบไท่เก๊กเหี่ยงเฮี้ยง) ดาบลิ่วเหอ (ดาบหลักฮะ -ดาบหก
    สัมพันธ์) ทวนไท่จี๋, ทวนอินฝู (ทวนอิมฮู้) พลองไท่จี๋ พลองอินฝู (พลองอิมฮู้) พลองสงซี
    (พลองซ่งโคย) เป็นต้น
    ------------------------------------------------
    เกร็ดบู๊ลิ้ม สำนักเส้าหลิน (ตอนที่ 3)
    สำนักเส้าหลิน (สำนักเสี้ยวลิ้ม)

    ท่านผู้อ่านต้องร้อง อ๋อ.. สำนักนี้รู้จักดีจากนิยายกำลังภายใน และภาพยนต์ที่สร้างเกี่ยวกับสำนัก
    นี้กันนับไม่ถ้วน

    สำนักเส้าหลินเป็นหนึ่งในสำนักใหญ่ของวิทยายุทธ์จีน มีการบันทึกว่าหลวงจีนแห่งวัดเส้าหลิน
    ภูเขาซงซานในสมัยราชวงศ์ถัง จำนวน 13 รูป ได้ช่วยถังไท่จงฮ่องเต้ปราบกบฏได้สำเร็จ มี
    คุณูปการต่อราชวงศ์ถัง สำนักนี้มีการถ่ายทอดวิทยายุทธ์ออกไปอย่างกว้างขวาง

    วิชามวยของสำนักเส้าหลินมีท่วงท่าที่เหยียดกว้าง แกร่งกร้าว มีพลัง มีการเคลื่อนไหวท่วงท่า
    ที่เรียบง่าย สามารถใช้ในการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี

    สำนักเส้าหลินมีวิชามวยและวิชาอาวุธมากมายหลากหลายชนิด ที่มีชื่อเสียง เช่น หลอฮั่นเฉวียน
    (หล่อฮั่งคุ้ง มวยอรหันต์) เผ้าเฉวียน (เพ่าคุ้ง), เหมยฮวาเฉวียน (บ่วยฮวยคุ้ง มวยดอกเหมย)
    เส้าหลินกุ้น (เสี้ยมหลิ่มกุ่ง พลองเส้าหลิน) ต๋าหมัวเจี้ยน (ตักหม่อเกี่ยม กระบี่ตั๊กม้อ) เหมยฮวา
    เตา (บ่วยฮวยตอ ดาบดอกเหมย) และชุนชิวต้าเตา (ซุงชิวตั่วตอ ง้าวชุนชิว) เป็นต้น

    ห้าสำนักใหญ่เส้าหลิน สำนักเส้าหลิน แบ่งออกเป็นห้าสำนักใหญ่ อันมี เอ๋อเหมยเส้าหลิน
    (หง่อไบ๊เสี้ยวลิ้ม), อู่ตังเส้าหลิน (บูตึงเสี้ยวลิ้ม), ฝูเจี้ยนเส้าหลิน (ฮกเกี่ยงเสี้ยวลิ้ม), กว่างตง
    เส้าหลิน (กึงตังเสี้ยวลิ้ม) และเหอหนานเส้าหลิน (ห่อน้ำเสี้ยวลิ้ม วัดเส้าหลินที่เขาซงซาน)

    เหอหนานเส้าหลิน ยังแบ่งออกเป็น 3 ตระกูล คือ เส้าหลินตระกูลหง (อั๊ง) วิชามวยเน้นความแข็ง
    แกร่ง, เส้าหลินตระกูลข่ง (ข้ง) วิชามวยเน้นด้านอ่อนหยุ่น และเส้าหลินตระกูลหยู (ยู้) วิชามวย
    เป็นแนวทางที่ผสมกัน ทั้งด้านแกร่งและอ่อนหยุ่น

    เส้าหลินเหนือ และเส้าหลินใต้

    การแบ่งเส้าหลินเหนือ - ใต้ อาศัยแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเส้นแบ่งเหนือ - ใต้ ฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซี
    เกียงคือ เส้าหลินใต้ เรียกวิชามวยในแถบนี้ว่า หนานเฉวียน (หน่ำคุ้ง มวยใต้) ส่วนฝั่งเหนือของ
    แม่น้ำคือ เส้าหลินเหนือ มีฉางเฉวียนเป็นตัวแทนของวิชามวยเหนือ

    ปรมาจารย์ต๋าหมัว (ตักม้อ) พวกเรารู้จักและเรียกกันว่า ตั๊กม้อ ท่านเป็นพระในพุทธศาสนาชาวอินเดีย
    ได้เดินทางไปยังเมืองจินหลิงในสมัยของกษัตริย์เหลียงอู่ตี้ เพื่อเผยแพร่พระธรรม แต่ไม่ได้ผลดี จึง
    เดินทางไปยังทิศตะวันออกไปถึงแคว้นเว่ย และได้ไปถึงวัดเส้าหลินที่เขาซงซาน เห็นว่าเป็นที่สงบ
    และเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร จึงได้พำนักอยู่ที่วัดนี้ ท่านปรมาจารย์ต๋ำหมัวได้นั่งหันหน้าเข้าผนังถ้ำ
    บนเขา เข้าฌาณเป็นเวลา 9 ปี ภายหลังได้ถ่ายทอดธรรมะให้แก่มหาสมณะฮุ่ยเข่อ (หุ่ยข้อ) ซึ่งเป็น
    ศิษย์ เป็นอาจารย์องค์ที่ 1 แห่งพุทธศาสนานิกายเซน

    วัดเส้าหลิน เป็นชื่อวัดทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในประเทศจีน วัดเส้าหลินในจีนมีอยู่ 3 แห่ง
    ด้วยกัน แห่งแรกอยู่ที่เมืองเฉวียนโจว (จั่วจิว) ในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) แห่งที่สองอยู่ที่ตำบลจี้
    (กี๋) ในมณฑลเหอเป่ย และแห่งที่สามอันมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ วัดเส้าหลิน ที่ตำบล
    เติงเฟิง (เต็งฮง) ในมณฑลเหอหนาน

    ซงซาน (ซงซัว) คือชื่อภูเขาที่เป็นที่ตั้งของวัดเส้าหลิน มีอีกชื่อว่าซงเกา ซงซานเป็นหนึ่งในห้า
    ขุนเขา ที่เขานี้มียอดเขาสามยอด ยอดกลางมีชื่อว่าจวิ้นจี๋ (จุ้งเก๊ก) ยอดทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า
    ไท่สื้อ (ไท่สิก) ส่วนยอดทาง ทิศตะวันตกมีชื่อว่าเส้าสื้อ (เซียวสิก)

    วัดเส้าหลินซงซาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาซงซานที่ชื่อว่า เส้าสื้ออยู่ในตำบลเติงเฟิง (เต็งฮง)
    มณฑลเหอหนาน วัดนี้สร้างขึ้นในปีรัชกาลไท่เหอ ในราชวงศ์เว่ย (งุ้ย) ต่อมาสุยเหวินตี้ฮ่องเต้
    (สุ่ยบุ่งตี่) ในราชวงศ์สุยได้เปลี่ยนชื่อเป็นจื้อฮู่ (เท็กหู) สืบต่อมาในราชวงศ์ถัง ได้เปลี่ยนชื่อกลับมา
    เป็นเส้าหลินตามเดิม

    ในวัดมีป้ายหินซึ่งเจ้าฉินอ๋อง (คือหลี่ซื่อหมิน ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นถังไท่จง ฮ่องเต้แห่งราช
    วงศ์ถัง) ในสมัยของถังอู่เต๋อ (ถั่งบูเต็ก) หลี่เอียนซึ่งเป็นพระบิดาของเจ้าฉินอ๋อง ได้พระราชทาน
    ให้แก่วัดเส้าหลิน มีคำจารึกคำสรรเสริญคุณูปการของพระวัดเส้าหลินที่ช่วยปราบกบฏจนสำเร็จ

    เส้าหลินอู่เฉวียน (เสี้ยวลิ้มโหงวคุ๊ง) เป็นวิชามวยของวัดเส้าหลิน มีห้าวิชาที่ถือว่าเป็นยอดวิชา
    หมัดมวย ห้าวิชานี้มี หลงเฉวียน (เหล่งคุ้ง มวยมังกร) ใช้ฝึกจิตฝึกสติ หู่เฉวียน (โหวคุ้ง มวย
    พยัคฆ์) ใช้ในการฝึกกระดูก ป้าเฉวียน (ป้าคุ้ง มวยเสือดาว) ใช้ฝึกพลัง เสอเฉวียน (จั่วคุ้ง มวยงู)
    ใช้ฝึกพลังปราณ (ชี่) เฮ่อเฉวียน (เหาะคุ้ง มวยกระเรียน) ใช้ฝึกจิง (เจ็ง ในทางการแพทย์จีน
    ในร่างกายคนเรามีสารสำคัญอยู่ในร่างกายที่เรียกว่าสารจำเป็น) วิชามวยทั้งห้าชนิดนี้ ท่าน
    ปรมาจารย์ต๋าหมัวเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาถ่ายทอดให้กับพระในวัด

    เส้าหลินสือปาหลอฮั่นโส่ว (เสี้ยวลิ้มจับโป้ยหล่อฮั่งชิ่ว) วิชานี้ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์
    เหลียง โดยท่านปรมาจารย์ต๋าหมัวเป็นผู้คิดค้นขึ้น ท่านต๋าหมัว เมื่อมาอยู่ที่วัดเส้าหลินได้เห็นเหล่า
    พระเณรขาดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีอาการง่วงเหงาหาวนอน เวลาฟังท่านบรรยายธรรมก็ไม่มี
    สมาธิ ท่านจึงได้คิดค้นวิธีการบริหารแก่เหล่าพระเณรในวัด ซึ่งมีทั้งหมด 18 ท่า มีชื่อเรียกคือ

    เฉาเทียนจื๋อจวี่ (เฉี่ยวเทียงติกกื้อ) 2 ท่า
    ไผซานอวิ้นจ่าง (ไป่ซัวอุ่งเจี้ย) 4 ท่า
    เฮยหู่เซินเอียว (เฮ็กโฮ่วซุงเอีย) 4 ท่า
    อิงอี้ซูจั่น (เอ็งเอ๊กซูเตี้ยง) 1 ท่า
    อีโจ่วโกวเซียง (อิ๊บอิ้วเกาเฮง) 1 ท่า
    หวั่นกงไคเก๋อ (มังเก็งไคแกะ) 1 ท่า
    จินป้าลู่เจ่า (กิมป่าโล้วเยี่ยว 1 ท่า
    ถุ่ยลี่เตียต้าง (ถุยลักเตียกตั๋ง) 4 ท่า

    (4 ท่านี้เป็นท่าเท้า นอกนั้นเป็นท่ามือ)

    อี้จินจิง (เอ็กกึงเก็ง) คือคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น ท่านปรมาจารย์ต๋าหมัวเป็นผู้คิดค้นขึ้น และได้ถ่าย
    ทอดให้กับเหล่าศิษย์ ท่านต๋าหมัวได้รจนาคัมภีร์ขึ้นสองฉบับ หนึ่งคือ สีสุ่ยจิง (เซยชวยเก็ง) คือ
    คัมภีร์ล้างไขกระดูก ได้ถ่ายทอดคัมภีร์นี้ให้แก่ท่านฮุ่ยเข่อ (หุ่ยข้อ) ไม่ได้ถ่ายทอดแก่คนทั่วไป
    คัมภีร์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกตามวิถีทางก่อนกำเนิด (เซียนเทียน) ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ อี้จินจิง
    (เอ็กกึงเก็ง) ได้ถ่ายทอดให้แก่เหล่าศิษย์ในวัดเส้าหลิน และได้มีการถ่ายทอดเรื่อยมาจนถึงยุค
    ปัจจุบัน อี้จินจิงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกฝนกระดูกและเส้นเอ็นให้แข็งแรงเป็นการฝึกตามวิถี
    ทางหลังกำเนิด (โฮ่วเทียน)
    ------------------------------------------------------
    เกร็ดบู๊ลิ้ม สำนักเอ๋อเหมย (ตอนที่ 4)

    เอ๋อเหมยพ่าย (หง่อไบ่ไผ่) คือสำนักง้อไบ๊ที่พวกเราคุ้นเคยกันจากนิยายกำลังภายใน สำนักเอ๋อเหมย
    เป็นสำนักวิทยายุทธ์สำนักหนึ่งของจีน วิชามวยของสำนักนี้มีอยู่หลายตระกูลด้วยกัน ซึ่งแพร่หลายกัน
    อยู่ทั่วไปในแถบมณฑลเสฉวน ตั้งแต่โบราณกาลมา เอ๋อเหมย ชิงเฉิง (แชเซี้ย) หัวเอี่ยน (หั่วง้ำ)
    เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงของมณฑลเสฉวน ซึ่งสำนักเอ๋อเหมยมีความ
    ศรัทธาในวิชาบู๊ พวกพระและนักบวชจะฝึกฝนวิชาหมัดมวย ทวน ไม้พลอง ในยามที่ว่างจากการนั่ง
    สมาธิ และการสวดมนต์ทำวัตร ค่อยๆ มีชื่อเสียงขึ้นมาจนกลายเป็นสำนักใหญ่แห่งหนึ่งในยุทธจักร
    สำนักเอ๋อเหมยเป็นการผสมกันระหว่างพุทธและเต๋า สำนักนี้ได้คิดค้นวิธีการฝึกฝนพลังภายใน ทั้งใน
    แบบเคลื่อนไหวและแบบสงบนิ่ง วิธีการฝึกนี้ต่อมาได้หลอมรวมเอาวิชาหมัดมวยและวิชาอาวุธเข้าไว้
    ด้วยกัน กลายเป็นวิทยายุทธ์ของสำนักเอ๋อเหมย

    เอ๋อเหมยซาน (หง่อไบ่ซัว) คือภูเขาง้อไบ๊ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลเอ๋อเหมยใน
    มณฑลเสฉวน ภูเขานี้มี 2 ลูก และมีลักษณะโค้งอย่างกับคิ้วของหญิงสาวที่ในวิชาโหงวเฮ้งเรียก
    คิ้วแบบนี้ว่า คิ้วเอ่อเหมย (หง่อไบ๊) เขานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งพุทธศาสนา และของทาง
    ศาสนาเต๋าในประเทศจีน ปัจจุบันนี้เขาเอ๋อเหมยจะถูกบรรจุเข้าไว้ในรายการทัวร์ไปมณฑลเสฉวน
    ซึ่งเป็นรายการทัวร์ยอดนิยมในขณะนี้

    วิทยายุทธ์ 5 สำนักใหญ่ของเอ๋อเหมย มีชื่อเรียกการแบ่งแบบนี้ว่า อู่ฮวา (โหงวฮวย) แปลเป็นไทย
    ว่า ห้าบุปผา ห้าสำนักนี้กระจายออกไปตามสถานที่ต่างๆ ในมณฑลเสฉวน โดยแบ่งออกได้ดังนี้

    1 หวงหลิงพ่าย (อึ่งเหล่งไผ่) เป็นที่นิยมกันในแถบเฉิงตู
    2 เตี่ยนอี้พ่าย (เตียมเอ็กไผ่) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนตง
    3 ชิงเฉิงพ่าย (แชเสี่ยไผ่ สำนักแชเซี้ย) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนซี
    4 เถี่ยฝวอพ่าย (ทิหุกไผ่) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนเป่ย
    5 ชิงหนิวพ่าย (แชหงู่ไผ่) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนตง

    วิทยายุทธ์ 8 สำนักใหญ่ของเอ๋อเหมย มีชื่อเรียกการแบ่งแบบนี้ว่า ปาเยี่ย (โป๊ยเฮียะ)
    แปลเป็นไทยว่าแปดใบไม้ ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้

    1 เจิงเหมิน (เจ็งมึ้ง) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนซี, ชวนหนาน
    2 เย่วเหมิน (หงักมึ้ง) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนตง, ชวนหนาน
    3 จ้าวเหมิน (เตี่ยมึ้ง) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนหนาน
    4 ตู้เหมิน (โต่วมึ้ง) เป็นที่นิยมกันในแถบชวนเป่ย, หนานชง
    5 หงเหมิน (อั่งมึ้ง) เป็นที่นิยมกันทั่วไปทั้งมณฑลเสฉวน
    6 ฮว่าเหมิน (ฮ่วยมึ้ง) เป็นที่นิยมกันทั่วไปทั้งมณฑลเสฉวน
    7 จื้อเหมิน (หยี่มึ้ง) เป็นที่นิยมกันในแถบกว่างอัน, เยี่ยฉือ
    8 ฮุ่ยเหมิน (หุ่ยมึ้ง) เป็นที่นิยมกันในมณฑลเสฉวน แถบอูซานและริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง
    รวมทั้งได้เผยแพร่ไปถึงหูเป่ย กุ้ยโจวด้วย

    สำหรับทั้ง 8 สำนักใหญ่นี้จะเขียนถึงรายละเอียดอีกครั้ง หากมีโอกาสได้เขียนถึงมวยในหมวดหนาน
    เฉวียน (มวยใต้)

    การฝึกพลังแบบสงบนิ่งและแบบเคลื่อนไหวของนสำนักเอ๋อเหมย สำนักเอ๋อเหมยให้ความสำคัญกับ
    การฝึกพลัง ทั้งแบบสงบนิ่งและแบบเคลื่อนไหว มีการฝึก 12 แบบที่เรียกว่า สือเอ้อจวง (จับหยี่จวง)
    อันมี เทียน (เทียง ฟ้า) ตี้ (ตี่ ดิน) จือ ซิน (ซิม ใจ) หลุง (เล้ง มังกร) เฮ่อ (เฮาะ กระเรียน) เฟิง
    (ฮวง ลม) หวิน (ฮุ้ง เมฆ) ต้า (ไต๋ ใหญ่) เสี่ยว (เซี่ยว เล็ก) โยว (ฮิว สงัด) หมิง (เม้ง มัว) ส่วนการ
    ฝึกพลังแบบสงบนิ่งมี 6 หมวดใหญ่คือ

    1 หู่ปู้กง (โฮวโป่วกง) พลังพยัคฆ์ก้าว
    2 จ้งฉุยกง (ตั่งตุ่ยกง) พลังหมัดหนัก
    3 ซวอตี้กง (ซกตี่กง) พลังย่อพสุธา
    4 เสวียนหน่างกง (หุ่ยลังกง) พลังหิ้วถุง (น่าจะหมายถึงการฝึกพลังเพื่อเก็บอัณฑะหรือการหดอัณฑะ
    -เซียวหลิบงั้ง)
    5 จื่อเสวียกง (จีหวกกง) พลังดรรชนี
    6 เนี่ยผานกง (เนียบพ่วงกง) พลังนิพพาน (คำว่าเนี่ยผานหมายถึงนิพพาน เป็นการเรียกทับศัพท์)

    ในพลังทั้ง 6 หมวดนี้ มีซานสือลิ่วเทียนกัง (ซาจับหลักเทียนกัง) ในหมวดของจื่อเสวียนกง มีพลังมาก
    ที่สุด ซึ่งพลังนี้สามารถนำไปใช้พิชิตคู่ต่อสู้ และยังสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคโดยการนวดและกด
    จุดได้ด้วย
    -----------------------------------------------------
    เกร็ดบู๊ลิ้ม สำนักคุนหลุน (ตอนที่ 5)

    คุนหลุนพ่าย (คุงหลุ่งไผ่) คือสำนักคุนลุ้นที่เรารู้จักกันในนิยายกำลังภายใน วิทยายุทธ์ของสำนักนี้มีต้น
    กำเนิดมาจากดินแดนแถบภูเขาคุนหลุน ภายหลังมีพวกที่อพยพถิ่นฐานจากแถบเขาคุนหลุนที่อยู่นอก
    ด่านเข้าไปในเขตจงหยวน และได้ตั้งรกรากอยู่ในแถบเหอหนาน ได้นำเอาวิชานี้มาเผยแพร่ในดินแดน
    ภาคกลางของจีน หลักวิชามวยของคุนหลุนเน้นความแข็งแกร่ง ว่องไว รวบรัด และมีพลัง มีเคล็ดอยู่ 8
    ตัวอักษร คือ เตียวหวา เซียงเหมิ่ง ทุนกู่ ฝูเฉิน

    เตียวหวา (เตียวกุ๊ก เล่ห์เหลี่ยม)
    เซวียงเหมิ่ง (เฮวียงแม่ ดุดัน)
    ทุนกู่ (ทุงโถ่ว เก็บเข้าและปล่อยออก)
    ฝูเฉิน (ผู่ติ๊ม ลอยและจม)

    รูปแบบมือของมวยคุนหลุนมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย วิชามวยของคุนหลุนมี

    เชียงหยาเฉวียน (เกียงแหง่คุ้ง)
    ชาเฉวียน (ชะคุ้ง)
    หลุงหู่เฉวียน (เหล่งโหวคุ้ง)

    วิชามวยของคุนหลุนมีทั้งรุก และรับในตัว ใช้ทั้งมือและเท้า เล่ากันว่าจอมยุทธ์ดาบใหญ่หวังอู่ (เห่งโหงว)
    ซึ่งเป็นเปาเปียวดับวานรแขนยาวหูชี (โอ่วฉิก) ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ทางภาคเหนือ ล้วนเป็นอาจารย์ใหญ่ของสำนัก
    คุนหลุน

    คุนหลุนซาน (คุงหลุ่งซัว) คือภูเขาคุนหลุน ซึ่งถูกจัดเป็นภูเขาที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีคำกล่าวแต่โบราณว่า
    "แม่น้ำกำเนิดจากคุนหลุน" แม่น้ำที่กล่าวถึงนี้คือ แม่น้ำฮวงเหอซึ่งมีต้นกำเนิดจากลำธารเล็กๆ บนภูเขา
    คุนหลุนรวมกันจนกลายเป็นแม่น้ำขนาดมหึมา ภูเขาคุนหลุนนี้ตั้งอยู่ในเขตซินเกียงทางทิศตะวันตกของจีน

    ต้าเตาหวังอู่ (ตั่วตอเห่งโหงว) คือจอมยุทธ์ผู้หนึ่งซึ่งมีชื่อว่าหวังอู่ ใช้ดาบใหญ่เป็นอาวุธประจำตัวจึงได้ฉายา
    ว่าต้าเตา ซึ่งหมายถึงดาบใหญ่ ภาพยนต์กำลังภายในที่ฉายในบ้านเราก็เคยเอาเรื่องของจอมยุทธ์ผู้นี้มา
    เสนอ แต่อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยกัน

    เล่ากันว่าหวังอู่เป็นอาจารย์ใหญ่ของสำนักคุนหลุน มีชีวิตอยู่ในปลายสมัยราชวงศ์ชิง ท่องเที่ยวอยู่ในเขต
    ปักกิ่งและเทียนสิน ภายหลังเสียชีวิตในเหตุการณ์วุ่นวายของบ้านเมือง
    -----------------------------------------------------
    เกร็ดบู๊ลิ้ม มวยในกลุ่มฉางเฉวียน (ตอนที่ 6)
    มวยในกลุ่มฉางเฉวียน (เฉี่ยงคุ้ง) มีอยู่มากมาย เช่น

    ทงปี้เฉวียน (ทงปี้คุ้ง) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทงเป้ยเฉวียน (ทงป้วยคุ้ง) เล่ากันว่ามวยชนิดนี้ ไป๋เหวียนเต้าหยิน
    (แปะอ๊วงเต่ายิ้ง นักพรตวานรขาว) เป็นผู้ถ่ายทอดเอาไว้ตั้งแต่โบราณ แต่ก็ยังมีความเชื่ออีกทางหนึ่งว่า วิชานี้
    ไป๋เหวียนกง (แปะอ่วงกง ผู้เฒ่าวานรขาว) ซึ่งอยู่ในสมัยจ้านกว๋อเป็นผู้คิดค้นขึ้น วิชาทงปี้เฉวียนแบ่งออกเป็นสาย
    (หรือสำนัก) เช่น ไป๋เหวียนทงปี้ (แปะอ๊วงทงปี่ ทงปี่วานรขาว) ทงเป้ยเหวียนโหว (ทงปี่อ่วงเก๊า ทงปี่วานรใหญ่)
    อู่สิงทงปี้ (โหงวเฮ้งทงปี่ ทงปี่เบญจธาตุ) ลิ่วเหอทงปี้ (หลักฮะทงปี่ ทงปี่หกสัมพันธ์) พีกว้าทงปี้ (เพ้กขั่วทงปี่ ทงปี่ผ่า)
    เป็นต้น
    เหตุที่มวยนี้ได้ชื่อว่าทงปี้นั้น ด้วยหมายถึงเส้นเอ็นของทั้งสองแขน และมีความหมายถึงเส้นเอ็นของหลัง มีการเชื่อม
    สัมพันธ์กันหรือมีความโปร่งโล่งถึงข้อศอก (คำว่าทง แปลว่า โปร่ง, โล่ง, เชื่อมถึงกัน ส่วนปี้ แปลว่าแขน) เส้นเอ็น
    ศอกเชื่อมสัมพันธ์ถึงข้อมือ และเส้นเอ็นข้อมือเชื่อมสัมพันธ์ถึงฝ่ามือและนิ้วมือ

    ในยุคหลังนี้ มวยนี้นิยมกันทางแถบภาคเหนือ โดยมีการถ่ายทอดมาจากทางด้านเจ๋อเจียง (จิกัง) ในตอนปลายของ
    ราชวงศ์ชิง หลักของมือในวิชาทงปี้เฉวียนมี ไซว (จุก เหวี่ยง, สลัด) ไพ (ผะ ตี) ชวน (ชวง ทะลวง) พี (เผ็ก ผ่า)
    จ้วน (จึ่ง เจาะ) เป็นต้น

    หลักของการก้าวเท้า แบ่งเป็นการก้าวย่าง ก้าวแบบกระจาย ก้าวแบบห่วงโซ่ เป็นต้น มวยนี้มีความคล่องแคล่วว่องไว
    และรวบรัด การออกอาวุธมักมีลักษณะของการยืดแขนขาให้ยาวออกไป

    ไป๋เหวียนทงปี้เฉวียน (แปะอ๊วงทงปี้คุ้ง) มวยนี้มีชื่อเต็มว่า ไป๋เหวียนทงเป้ยเอ้อสือซื่อชื่อ (แปะอ๊วงทงป่วยหยี่จับซี่เส็ก)
    มีชื่อเรียกอีกว่า สิงเฉวียน (เกี่ยคุ้ง) หรือสิงเจ่อเฉวียน (เกี๊ยเจี่ยคุ้ง) เป็นที่นิยมกันในปักกิ่ง มวยนี้มีชุดมวยอยู่ด้วยกัน
    สี่ชุด ท่าแต่ละท่าในชุดมวยสามารถนำเอามาฝึกเป็นท่าเดี่ยวๆ ได้ พลังพื้นฐานมีการฝึกพลังเอว ขา และแขน

    อู่สิงทงปี้เฉวียน (โหงวเฮ้งทงปี๊คุ้ง) มวยทงปี้เบญจธาตุ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ซินจีพ่าย (ซิมเจียะไผ่) การฝึกเริ่มต้นจาก
    การฝึกจั้นจวง (จั่มจวง การยืนเพื่อฝึกพลังขาและเอวให้แข็งแรงและมั่นคง) ภายหลังจึงไปฝึกท่าเดี่ยวแบบมีการก้าว
    ย่าง มีการแบ่งเป็นขั้นเป็นตอนในการฝึก มีการฝึกท่าเดี่ยวในแบบเข้าคู่ (แก้ไขท่าบุกและเข้ากระทำโต้ตอบ) โดยมีท่า
    มากกว่า 200 ท่าส่วนท่าเข้าคู่ที่เป็นชุดนั้นมีอยู่ด้วยกัน 36 ท่า หลักเกณฑ์ของมวยที่สำคัญอันจะต้องแบ่งแยกให้ชัด
    เจนคือ ความนิ่งและความเคลื่อนไหว ความว่างและความเต็ม ความแกร่งและความหยุ่น ความช้าและความเร็ว การฝึก
    ฝนให้ฝึกจากความหยุ่นไปสู่ความแกร่ง ภายหลังเมื่อฝึกได้แกร่งแล้วจึงเปลี่ยนเป็นการฝึกจากความแกร่งไปสู่ความหยุ่น
    ภายนอกเป็นการฝึกฝนสภาพร่างกาย ส่วนภายในเป็นการฝึกลมปราณ

    ทงปี้ปาโหว (ทงปี่โป๊ยเก๊า) มวยทงปี้แปดวานร เป็นมวยทงปี้ที่ยามใช้ออกมีท่าทางดุจวานร เป็นการลอกเลียนแบบท่า
    ทางของวานรแปดอย่าง แบ่งออกเป็น ชื่อเป้ยหม่าโหว (เชียะป่วยแบ๋เก๊า วานรอาชาหลังแดง) ทงเป้ยเหวียนโหว (ทงป่วย
    อ่วงเก๊า วานรทงเป้ย) เทียนเจี้ยงสือโหว (เทียงหั่งเจียะเก๊า ฟ้าพิชิตวานรหิน) จงหวินมี่โหว (ตงฮุ้งหมิกเก๊า ซ่อนวานรใน
    เมฆา) ลู่เอ่อหมีโหว (เหล็กยือหมี่เก๊า วานรลู่เอ่อหมี) จินไคอี้โหว (กิมไคอี้เก๊า วานรจินไคอี้) เทียนซ๋างเฮ่อโหว (เทียง
    เจี่ยเหาะเก๊า วานรกระเรียนในนภา) และตี้อวี้เอ้อโหว (ตี่เง็กอั้กเก๊า วานรอเวจี)

    ถังหลางเฉวียน (ถั่งหลั่งคุ้ง) หรือมวยตั๊กแตน มวยตั๊กแตนเป็นมวยจีนที่มีชื่อเสียง ที่มมีความรวดเร็วและร้ายกาจ หลัก
    มวยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย และมีการบุกจู่โจมที่รุนแรง วิชานี้ถ่ายทอดมาจากหวังหลาง (เห่งนึ้ง) แห่งซานตง (ซัวตัง)
    ในสมัยราชวงศ์หมิง เป็นผู้คิดค้นขึ้น เล่ากันว่าหวังหลางเคยร่ำเรียนวิทยายุทธ์จากวัดเส้าหลิน เนื่องจากได้ต่อสู้กับยอด
    ฝีมือของมวยทงปี้ และพ่ายแพ้ให้แก่วิชามวยนี้ ภายหลังได้พบเห็นลักษณะการเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว เกิดปัญญาขึ้น
    มา จึงได้บัญญัติมวยตั๊กแตนนี้ขึ้น และได้กลับไปประลองกับยอดฝีมือของมวยทงปี้ใหม่ คราวนี้ได้รับชัยชนะ มวยตั๊กแตน
    กล่าวถึงลิ่วเหอ (หลักฮะ หกสัมพันธ์) เน้นให้ภายในก่อเกิดเบญจธาตุ ภายนอกเดินตามหลักแปดทิศ มวยตั๊กแตนที่เป็นที่
    นิยมมีสำนักลิ่วเหอถังหลาง (หลักฮะถั่งลั้ง ตั๊กแตนหกสัมพันธ์) ชีซิงถังหลาง (ชิกแชถั่งลั้ง ตั๊กแตนเจ็ดดาว) เหมยฮวา
    ถั่งหลาง (บ่วยฮวยถั่งลั้ง ตั๊กแตนดอกเหมย) เป็นต้น

    ลิ่วเหอถังหลางเฉวียน (หลักฮะถั่งหลั่งคุ้ง มวยตั๊กแตนหกสัมพันธ์) มวยชนิดนี้เป็นสายที่สำคัญสายหนึ่งของมวยตั๊กแตน
    เน้นเรื่องของลิ่วเหอ (หลักฮะ หกสัมพันธ์) ซึ่งหมายถึง ว่ายซานเหอ (หงั่วซาฮะ สามสัมพันธ์ภายนอก) อันได้แก่ มือสัมพันธ์
    กับขา ศอกสัมพันธ์กับเข่า ไหล่สัมพันธ์กับสะโพก ส่วนอีกสามสัมพันธ์คือ เน่ยซานเหอ (ไหล่ซาฮะ สามสัมพันธ์ภายใน)
    ได้แก่ ใจสัมพันธ์กับจิต จิตสัมพันธ์กับลมปราณ และลมปราณสัมพันธ์กับพลัง พลังของมวยสำนักนี้เป็นแบบที่ซ่อนเอาไว้
    คือซ่อนแกร่งและหยุ่นเอาไว้ภายใน จึงมีชื่ออีกชื่อว่าหล่วนถังหลัง (นึงถั่งลั้ง ตั๊กแตนอ่อน)

    ชีซิงถังหลางเฉวียน (ชิกแชถั่งลั้งคั้ง มวยตั๊กแตนเจ็ดดาว) มวยนี้มีอีกชื่อว่า หลัวฮั่นถังหลาง (หล่อฮั่นถั่งลั้ง ตั๊กแตนอรหันต์)
    คำว่าเจ็ดดาวมาจากหลักของมวยตรงหลักของการก้าวเท้า เรียกว่า ก้าวเท้าเจ็ดดาว ซึ่งเป็นพื้นฐานในการรับและรุกของ
    มวยตั๊กแตนเจ็ดดาว เมื่อร้อยกระบวนท่าเข้าด้วยกันแล้ว ตำแหน่งของการก้าวเท้าจะเป็นเฉกเช่นเดียวกับตำแหน่งการ
    เรียงตัวของกลุ่มดาวเหนือ หรือที่เรียกกันว่าเจ็ดดาว จึงได้ชื่อมวยตามหลักของการก้าวเท้านี้

    เหมยฮวาถังหลางเฉวียน (บ่วยฮวยถั่งลั้งคุ้ง มวยตั๊กแตนดอกเหมย) วิชามวยนี้เน้นที่กระบวนท่า ส่วนใหญ่จะออกหมัดครั้ง
    ละ 3-5 หมัดติดต่อกันทุกๆ กระบวนท่าต่อเนื่องกัน ในหนึ่งกระบวนท่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 3 ท่า ใช้ความคล่องแคล่ว
    เป็นหลัก เมื่อเพิ่มการก้าวเท้าที่ว่องไวรวดเร็ว ยิ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น พลังที่ใช้ออกเป็นพลังตาม (ไม่ต้านกับ
    พลังของฝ่ายตรงข้าม) พลังคล่องและพลังหยุ่น เน้นการใช้พลังแกร่งและหยุ่นเสริมกัน มวยนี้จึงมีอีกชื่อว่าไท่จี๋ถังหลาง
    (ไท่เก๊กถั่งลั้ง ตั๊กแตนไท่เก๊ก)

    พีกว้าเฉวียน (เพ้กขั้วคุ้ง) มวยชนิดนี้เริ่มมีฝึกกันในสมัยราชวงศ์หมิง (เม้ง) ในบันทึกของเช่อจี้กวาง (เช็กกี้กวง) กล่าว
    ไว้ว่า "มวยพีกว้ามีความรวดเร็วมาก" มวยพีกว้าประกอบด้วยวิชามวย อาวุธ การฝึกฝนพื้นฐานและการฝึกการซ้อมเข้าคู่
    ในวิชามวยมีชุดมวยทั้งหมด 4 ชุด คือ
    1. พีกว้า (เพ้กขั่ว)
    2. ชิงหลง (แชเล้ง มังกรเขียว)
    3. เฟยหู่ (ปวยโฮ่ว พยัคฆ์เหิร)
    4. ไท่ซู (ไท้สก อ่อนโยน)
    การรุกและรับของมวยพีกว้า มีความรุนแรง เน้นการใช้ความรวดเร็วพิชิตความช้า ใช้ช่วงยาวพิชิตช่วงสั้น รุกและรับทาง
    ด้านขวาง เข้ากระทำด้วยการเบี่ยงและหาจุดจู่โจม ท่ามวยเหยียดกว้าง
     
  2. mead

    mead เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 เมษายน 2005
    โพสต์:
    8,134
    ค่าพลัง:
    +62,441
    ช่วงนี้ ดูจอมยุทธเตี่ยบ้อกี้ อยู่ครับ (ดาบมังกรหยก) เป็นวิชาทุกสำนักเลยมีพ่ออยู่สำนักบู้ตึ้ง แม่อยู่สำนักคุนหลุน..กำลังสนุกครับ..ได้เกล็ดความรู้เสริมดีครับ
     
  3. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ผมก็ชอบครับ ดาบมังกรหยก สนุกดีครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...