เทคนิคการจำ โดย แชมป์แข่งขันความจำคนแรกของไทย

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย Orora416, 30 เมษายน 2009.

  1. Orora416

    Orora416 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2007
    โพสต์:
    135
    ค่าพลัง:
    +112
    [​IMG]

    สุดยอดอัจฉริยะ 'ความจำ'

    ฑีฆรัตน์ อื๊อนุเคราะห์
    "แชมป์แข่งขันความจำ"
    (Thailand Open Memory Championships)
    คนแรกของประเทศไทย!!

    ฑีฆรัตน์ หรือ "แซ็ก" เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2529
    เป็นลูกคนโตของคุณพ่อมณเฑียร-ผู้จัดการบริษัทเอกชน และคุณแม่สิริพร
    เจ้าของรีสอร์ทที่อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
    มีน้องสาวหนึ่งคน คือ พิราภรณ์ กำลังจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่แดนมังกร

    เรียนชั้นอนุบาล-ป.6 ที่โรงเรียนจินดาพงศ์ ย่านอ่อนนุช
    ต่อมัธยมต้นที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน จากนั้นใช้ชีวิตนักเรียน ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต
    ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

    ถึงตอนนี้ ฑีฆรัตน์ เป็นนิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
    คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    "ตอนเรียนปี 2 ผมมีปัญหามากๆ
    ไม่เข้าใจว่าคอนเซ็ปท์แต่ละวิชาอยู่ตรงไหน ตามไม่ค่อยทัน
    เรียนไม่รู้เรื่อง พยายามจำก็ไม่ไหว
    พอตะลุยอ่านหนังสือก็ไม่รู้เลยว่าที่อ่านมีแต่น้ำ" ฑีฆรัตน์เล่า

    ปวดหัวกับการเรียนอยู่นานสองนาน จนเมื่อเพื่อนแนะนำวิธีการเรียน
    โดยใช้ความเข้าใจเป็นตัวนำ ความจำถึงจะตามมา
    ฑีฆรัตน์จึงเริ่มสนุกกับการเรียน-สนุกกับเรื่องของ "ความจำ" มากขึ้นเรื่อยๆ
    แล้วเข้าประกวดแข่งขันความจำ...คว้ารางวัลที่ 1 มาครอง


    เป้าหมายต่อจากนี้ คือ ฝึกตัวเองให้ได้มากที่สุด
    เพื่อเดินทางไปแข่งขันประกวดความจำระดับโลก
    ปลายเดือนตุลาคมนี้ ที่ประเทศบาห์เรน

    "เข้าสวนชวนที่รัก บุกหาผักตอนดึกๆ" -
    ประโยคนี้สำคัญกับการฝึกฝนความจำของฑีฆรัตน์อย่างไร
    ต้องติดตามอ่าน...

    [​IMG]

    เป็นคนจำเก่งมาตั้งแต่เด็กเลยไหม

    อืม...ไม่แน่ใจครับ ชอบจำบางเรื่องมากกว่า
    อย่างวันเกิดของคนที่บ้านหรือญาติๆ
    เพราะถ้าเขารู้ว่าเราจำได้เขาจะดีใจ
    หรือจำเบอร์โทรศัพท์ที่คิดว่าต้องใช้บ่อยๆ

    มีอยู่ครั้งหนึ่งผมต้องโทร.หาคนอื่น แต่โทรศัพท์ผมแบตฯหมด
    เปิดดูเบอร์ไม่ได้ เลยรู้สึกว่าสุดท้ายเราต้องใช้สมองของเราช่วยจำ
    เริ่มเห็นความสำคัญของสมองตัวเองแล้ว (หัวเราะ)
    คืออย่าคิดว่าเซฟข้อมูลลงโทรศัพท์มือถือ
    หรือคอมพิวเตอร์แล้วจะวางใจได้ตลอด

    การที่จำอะไรได้เลยช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะ


    เรียนหนังสือเก่งหรือเปล่า

    ช่วง ม.ต้นและ ม.ปลายถือว่าอยู่ในระดับธรรมดา เพราะคนเก่งเยอะมากครับ

    สมัยนั้นตอนอ่านหนังสือสอบ อย่างวิชาประวัติศาสตร์
    ผมจะพยายามจำเป็นเหตุการณ์ๆ หรือวิชาภูมิศาสตร์ ก็จะนึกภาพว่า
    จังหวัดนั้นจังหวัดนี้เป็นยังไง แบ่งเป็นเรื่องๆไป

    อาจคล้ายกับไมด์ แม็พ (Mind Map)
    ตอนนั้นได้ยินเรื่องไมด์ แม็พ แล้ว แต่ไม่ได้สนใจศึกษาเพิ่มเติม
    ว่าช่วยเรื่องความจำได้ยังไงบ้าง

    มารู้หลังๆ ว่าเป็นเทคนิคทำให้เราจำอะไรง่ายขึ้น
    แทนที่จะจำข้อความมีแต่ตัวอักษรเรียงกันยาวๆ
    ก็หาคีย์เวิร์ดให้เจอ แล้วแตกแขนงออกไปเป็นกิ่งก้านสาขา
    เวลานึกก็ให้นึกเป็นภาพ


    พอเข้าปี 1 ผมได้เกรดประมาณ 2.8 ถือว่าทั่วๆ ไป
    แต่พอเรียนปี 2 ผมมีปัญหามากๆ
    ไม่เข้าใจว่าคอนเซ็ปท์แต่ละวิชาอยู่ตรงไหน ตามไม่ค่อยทัน
    เรียนไม่รู้เรื่อง พยายามจำก็ไม่ไหว
    พอตะลุยอ่านหนังสือก็ไม่รู้เลยว่าที่อ่านมีแต่น้ำ
    ผมทำหมดทั้งสรุปเนื้อหาย่อ หรือจดเฉพาะคำสำคัญ
    แต่ไม่ได้ทำให้เรียนเข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่


    แก้ปัญหาเรื่องเรียนไม่เข้าใจอย่างไร

    ตอนปลายปี 2 ผมถามเพื่อนที่ตอนเรียนปี 1 เกรดไล่ๆ กัน
    แต่พอปี 2 เกรดเขาดีกว่าเดิมมาก ว่ามีวิธีอ่านหนังสือยังไง
    เพื่อนก็แนะนำว่าเวลาฟังอาจารย์สอนให้พยายามนึกภาพตามไปด้วย
    แล้วเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ ที่เรารู้ไปเรื่อยๆ
    แล้วจะรู้คอนเซ็ปท์ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น


    ฟังเพื่อนแล้วผมไม่เข้าใจเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่ลองทำดู แรกๆ ทุลักทุเลอยู่เหมือนกันครับ

    อย่างพูดถึงการทำงานของคอมพิวเตอร์ แต่เดิมผมจะจำแยกเป็นชิ้นๆ
    ว่าชิ้นนี้ทำอะไร ชิ้นนั้นทำอะไร แต่พอลองจำใหม่เป็นว่า แต่ละชิ้นทำอะไร
    แล้วเชื่อมโยงกันยังไงก็ง่ายขึ้น
    ใช้ภาษาตัวเองในการอธิบายแทนการใช้ภาษาวิชาการ
    ก็...อ๋อ แค่นี้เอง รู้สึกชีวิตดีขึ้น (หัวเราะ)


    ถึงยังจำได้ไม่สมบูรณ์ แต่ดีขึ้นเยอะ เครียดน้อยลง
    เรียนทุกวิชาอย่างมีความสุขและสนุกมากขึ้น ผมใช้วิธีนี้มาเรื่อยๆ ครับ
    คะแนนดีขึ้นเยอะ ตอนปี 3 ได้เกรดเฉลี่ยประมาณ 3.8

    แต่ละคนก็มีวิธีต่างกัน เลือกที่เหมาะกับตัวเรา เพื่อนผมอาจถนัดอ่าน
    อ่านจนจำทุกบรรทัดได้แม่นยำ ส่วนผมใช้วิธีทำความเข้าใจ
    เมื่อเข้าใจแล้วจะทำให้เราจำแม่นขึ้นมาเอง
    บางครั้งก็ติวเพื่อนบ้าง เป็นการทบทวนตัวเองด้วย


    มีการฝึกเทคนิคความจำด้วย?

    ใช่ครับ เรื่องเริ่มมาจากว่า อาจารย์ธงชัย (ธงชัย โรจน์กังสดาล)
    ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ภาค ติดประกาศรับสมัครนิสิตเข้าร่วมการแข่งขันความจำ
    ผมเป็นคนชอบจำ แต่ไม่คิดว่าจะจำเก่งอะไรมากมาย
    คิดว่าคงมีคนจำเก่งกว่าผมอีกเยอะ ผมเลยมองผ่านๆ

    จนเปิดเทอมที่ผ่านมา อาจารย์แนะนำว่า
    มีการพูดอบรมเกี่ยวกับการฝึกทักษะความจำ
    ผมเลยลองไปฟังดู พบว่ามีวิธีน่าสนใจที่เปลี่ยนสิ่งที่จำยากให้จำง่าย


    อย่างวันที่ไปฟัง เขาสอน
    เทคนิคการจำตัวเลข
    โดยแปลงตัวเลข 1-0 เป็นตัวอักษร
    เรียกว่า "รหัสคำ"
    อาจารย์บุญเกิด ธรรมวาสี คิดค้นขึ้นมา
    จำเป็นประโยคง่ายๆ คือ
    "เข้าสวนชวนที่รัก บุกหาผักตอนดึกๆ"
    หมายความว่า พยัญชนะ "ข" คือเลข 1,
    "ส" คือเลข 2, "ช" คือเลข 3, "ท" คือเลข 4, "ร" คือเลข 5,
    "บ" คือเลข 6, "ห" คือเลข 7, "ผ" คือเลข 8, "ต" คือเลข 9
    และ "ด" คือเลข 0

    ถ้าต้องจำเบอร์โทรศัพท์ใคร หรือจำตัวเลขยาวๆ
    ก็เปลี่ยนตัวเลขให้เป็นตัวอักษร แล้วแต่งเป็นประโยค
    พอจะใช้ค่อยแปลงประโยคกลับเป็นตัวเลข


    พอฟังแบบนี้ก็...เอาล่ะสิ น่าสนใจ ผมเลยลองเอามาใช้เล่นๆ
    แรกๆ ไม่คุ้น แต่ถ้าชินแล้วจะแปลงกลับไปมาได้รวดเร็ว
    แทนที่จะจำเป็นตัวเลขที่ไร้ความหมาย
    ก็เอามาแต่งเป็นเรื่องราว เป็นประโยคยาวๆ

    แล้วเทคนิคการใช้หมุดความจำ (เป๊ก) เป็นอย่างไร

    สมมุติผมต้องจำสิ่งของเรียงลำดับกัน 50 อย่าง
    ถ้าจำเป็นสิ่งๆ ไปคงจำได้ไม่หมด
    วิธีการ คือ ให้เก็บสิ่งของ 50 อย่างนั้นลงไปใน 50 กล่องที่เราสร้างขึ้นในใจ
    แต่ละกล่องมีสิ่งที่เรียกว่า "เป๊ก" (หมุด) วางไว้อยู่แล้ว

    ถ้าพูดถึงเลข 1 ผมจะนึกถึงเสาธงทันที
    เพราะสำหรับผมเสาธงมีลักษณะคล้ายเลข 1
    เพราะฉะนั้นกล่องใบที่ 1 ของผมจะมีเสาธงอยู่,
    เลข 2 ผมนึกถึงเป็ด เพราะฉะนั้นกล่องใบที่ 2 ของผมจะมีเป็ด,
    เลข 3 ผมคิดถึงพีระมิด หรือกล่องใบที่ 12 ผมนึกถึงไข่ 1 โหล
    นึกไปเรื่อยๆ จนถึงกล่องใบที่ 50 เคล็ดลับ
    คือ เลือกสิ่งที่เราจำได้แม่นมาเป็นเป๊ก

    จากนั้นจะจำอะไร ก็เอาสิ่งที่ต้องจำนั้นใส่ลงไปในกล่อง
    เช่น สิ่งที่ต้องจำอย่างแรก คือ ขวดน้ำ ผมจะนึกภาพธงปักอยู่ในขวดน้ำ
    สิ่งที่สองที่ต้องจำ คือ โน้ตบุ๊ก ผมก็อาจนึกภาพเป็ดนั่งทับโน้ตบุ๊ก
    สิ่งที่สาม คือ หนังสือ ก็อาจจำว่ามีหนังสือวนๆ อยู่บนยอดพีระมิด

    วิธีนี้เป็นการสร้างโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เราจำแม่นกับสิ่งที่ต้องจำ
    ใช้ได้ผลกว่าการจำสิ่งของไล่ไปตามลำดับอย่างเดียว


    ฝึกยากไหม

    แรกๆ ไม่ชิน ต้องฝึกฝนเยอะๆ อยู่บ้านไม่มีอะไรทำก็นั่งนึก เข้าห้องน้ำ ขึ้นรถเมล์ก็ฝึกไป

    ปกติผมชอบจำอยู่แล้ว ถึงตอนนี้มีสิ่งที่มาช่วยให้ผมจำสิ่งของ
    หรือสิ่งรอบตัวได้ง่ายขึ้นจากการมองเป็นภาพหรือการใช้รหัส
    ที่สำคัญคือเอามาใช้กับการเรียนได้

    ถ้าฝึกฝนบ่อยๆ จะไม่หลุดครับ...จะจำแม่น


    การแข่งขันความจำต้องแข่งอะไรบ้าง

    ทางสถาบันนวัตกรรมความจำ
    จัดแข่งขันความจำครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อต้นเดือนนี้เองครับ
    แต่ระดับโลกมีแข่งมาเกือบ 20 ปีแล้ว

    บ้านเราแบ่งเป็นระดับเยาวชนและบุคคลทั่วไป
    ผมลงระดับบุคคลทั่วไป มีคนเข้าร่วมแข่งขันระดับนี้ประมาณ 10 คน
    มีทั้งนิสิตนักศึกษาและคนทำงาน แข่งกัน 2 วัน
    มีทั้งแข่งจำตัวเลข จำใบหน้าคน จำปี จำไพ่ ฯลฯ
    บางเกมให้เวลา 5 นาที บางเกมก็ 10-15 นาที

    ตอนแข่งเกมจำตัวเลข เขาจะให้กระดาษมา
    มีตัวเลขเดี่ยวอยู่ในตาราง 25 แถว แถวละ 40 ตัว
    หมดเวลาก็เก็บกระดาษ แล้วให้เราเขียนว่าแต่ละช่องมีตัวเลขอะไรบ้าง
    เขียนให้ตรงกับแผ่นที่เป็นโจทย์ ผมก็ใช้รหัสคำ
    "เข้าสวนชวนที่รัก บุกหาผักตอนดึกๆ" ให้เป็นประโยชน์ (หัวเราะ)
    และเพื่อความง่ายเลยแต่งให้เป็นกลอน

    เกมที่ยาก คือ "สโปคเค่น นัมเบอร์"
    ให้เรานั่งฟังเสียงคนพูดตัวเลขเป็นภาษาอังกฤษ
    พูดมาวินาทีละตัวเห็นจะได้ (หัวเราะ) ยากมาก...
    พอฟังเสร็จทุกคนหันมายิ้มเลย ลืมไปแล้วว่าตัวเลขตัวแรกคืออะไร

    เกมที่สนุกสุด?

    "จำไพ่" ครับ เกมนี้ให้เวลา 10 นาที ให้ไพ่มาสำรับหนึ่ง
    จำว่าไพ่สำรับนั้นเรียงยังไงบ้าง แล้วหยิบไพ่อีกสำรับ
    มาเรียงลำดับให้เหมือนสำรับแรก

    [​IMG]

    ผมจะจำไพ่เป็นรูปภาพ ใช้รหัสคำชุดเดิม
    ไพ่ดอกจิกผมก็จัดหมวดให้เป็นดอกไม้
    ไพ่ข้าวหลามตัดก็จัดหมวดให้เป็นเพื่อนที่รู้จัก
    ไพ่โพดำให้เป็นหมวดสัตว์

    พอเจอ "2 ดอกจิก" ผมจะนึกให้เป็นดอกไม้ที่ขึ้นต้นด้วย "ส" หรือ "ซ"
    ก็เป็นดอกซากุระ

    "5 ดอกจิก" ก็แทน 5 ด้วย ร.เรือ ดอกไม้ที่ขึ้นต้นด้วย ร.เรือ ก็คือดอกรัก
    วิธีนี้ทำให้จำง่ายขึ้น เกมนี้ได้คะแนนเต็มครับ (ยิ้ม)

    ตอนแข่งแรกๆ ผมลนลานมาก ไม่มีสมาธิ
    แต่แข่งๆ ไป เริ่มตั้งสติได้ เริ่มนิ่ง ถึงค่อยทำได้ดี


    ต่อไปคือการเข้าแข่งขันความจำระดับโลก?

    ครับ เป็น "World Memory Championships" ที่ประเทศบาห์เรน
    แข่งวันที่ 22-24 ตุลาคมนี้
    แต่ช่วงนี้ยังไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย
    ไม่ค่อยสบาย (ยิ้ม)

    ผมลองเข้าไปดูเว็บไซต์ด้านนี้
    เห็นว่าลักษณะการแข่งก็มาตรฐานเดียวกับที่ผมแข่งไป
    เพียงแต่เกมของเขาอาจให้เวลายาวกว่า และแน่นอนว่าคงต้องยากกว่า

    ในเว็บไซต์บอกคะแนนของคนที่เข้าแข่งขันด้วย
    ดูแล้วคะแนนผมยังห่างจากคนอื่นมาก อยู่อันดับท้ายๆ เลย ...
    ผมต้องฝึกอีกเยอะ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
    เป็นการพัฒนาความสามารถด้านการจำของตัวเอง

    ถามว่าหวังมั้ย...หวังนะครับ
    ถึงคะแนนผมจะห่างจากคนอื่นเยอะก็ตาม
    มีโอกาสไปแข่งตรงนั้นผมก็อยากทำให้เต็มที่
    ให้เขารู้ว่าคนไทยก็ทำด้านนี้ได้ดีเหมือนกัน

    "ผมสู้เต็มที่ครับ"

    ที่มา:
    http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=384.msg72851
    หน้า 17 หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551



     
  2. สัทธาธิกะ

    สัทธาธิกะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    736
    ค่าพลัง:
    +373
    มีเทคนิคการจำที่น่านำไปใช้ดีครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...