เมื่อหลวงปู่ขาวแนะนำอุบายธรมให้หลวงปู่หลุย

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 27 ธันวาคม 2007.

แท็ก: แก้ไข
  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    [​IMG]
    ปี ๒๕๐๖ นี้ ท่านได้ตกลงใจไปจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพลอีกครั้งหนึ่งด้วยรำลึกนึกถึงหลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร สนิทสนมกัน ว่าอะไรก็เห็นด้วยกันไม่ขัดแย้งกัน ท่านบันทึกถึงการจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพลงไว้สั้น ๆ ว่า
    “พ.ศ.๒๕๐๖ จำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพล ภาวนาดีนัก เสนาสนะดี ปรุโปร่งแจบจมดี ได้กัลยาณมิตรดี ท่านอาจารย์ขาว ดีกว่าจำพรรษา ณ ที่อื่น”
    ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ภาวนากันเหมือนดังที่ท่านเคยได้มาจำพรรษาอยู่แล้วในปี ๒๕๐๑- ๒๕๐๒ บริเวณวัดถ้ำกลองเพลนั้นกว้างขวางมาก เป็นป่า เป็นเขามีโขดหิน มีธารน้ำ เต็มไปทั้งบริเวณวัด จะอยู่ที่ใดก็เป็นที่เงียบสงบ สัตว์ป่าก็ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกช้างป่า ซึ่งดูจะเป็นมิตรสนิทสนมกับหลวงปู่ขาวอย่างยิ่งท่านเล่าว่า หลวงปู่ขาวนั้นมีบุญบารมีเกี่ยวกับช้างมากมาย เห็นทีว่าท่านคงจะเคยมีชาติกำเนิดเก่ามาแต่ปางก่อน เป็นพญาช้าง บรรดาช้างซึ่งเกิดในชาติปัจจุบันจึงเคารพยำเกรงท่านมาก สมัยเมื่อท่านขึ้นไปจังหวัดภาคเหนือ เพื่อติดตามหาท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อได้พบท่านระยะหนึ่งก็ธุดงค์ไปด้วยกัน ได้มีช้างออกหากินอยู่ข้างทางซึ่งเป็นไหล่เขาทางนั้นเป็นทางซึ่งหมิ่นเหม่ที่จะตกลงเหวอีกข้างหนึ่ง ด้านหนึ่งเป็นเขาอันสูงชันเป็นที่อันจำกัด แล้วช้างนั้นก็ยังขวางทางอยู่ ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกให้หลวงปู่ขาวให้จัดการ “เจรจา” กับช้างเหล่านั้น เข้าใจว่า โดยที่ท่านพระอาจารย์มั่นหยั่งรู้ถึงอดีตชาติของหลวงปู่ขาว ท่านจึงบอกเช่นนั้น
    หลวงปู่ขาวก็ออกหน้าหมู่เพื่อน เข้าไปเจรจากับช้างบอกว่า
    พี่ชายท่านก็เป็นสัตว์ซึ่งใหญ่น่ากลัว พวกเราเป็นมนุษย์ จะต้องเดินทางต่อไปทางนั้นซึ่งมีทางเดียว ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไปที่นั่นได้ ขอให้พี่ชายจงเห็นใจเรา เพราะร่างของท่านนั้นก็แสนจะน่ากลัว ถ้าเผื่อเห็นใจกันได้ ขอให้ท่านเอาหน้าซุกเขาหลบทางให้พวกเราวางใจว่าท่านจะไม่ทำอันตราย เราจะได้เดินทางผ่านไป พวกเราเป็นเพศนักบวชจะพากันไปเจริญศีล ภาวนา ได้กุศลก็จะได้แผ่เมตตาให้แก่ท่าน ขอให้ผ่านทางให้แก่เราด้วยเถอะ
    หลวงปู่ขาวบอกว่า ช้างนั้นก็ดูแสนรู้คำพูดนั้น ฟังแล้วก็นั่งหันหลังให้ เอาหน้าซุกเข้าก้อนหิน ดูท่าทางจะรู้ภาษากันดี ดังนั้นคณะธุดงค์ชุดนั้นก็เดินผ่านเข้าไปได้ ข้อนี้ซึ่งหลวงปู่บอกว่า เป็นอัศจรรย์ข้อหนึ่ง
    จำพรรษาในปีนี้ ท่านได้แยกอยู่ห่างจากหมู่เพื่อน มาอยู่คนเดียวอีกด้านหนึ่งของบริเวณถ้ำกลองเพล มานั่งคิดนึกถึงตนแล้ว ก็ให้นึกสะท้อนใจ ท่านรู้องค์ว่าท่านได้พยายามปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนามาอย่างเด็ดเดี่ยว สิ่งใดที่ครูบาอาจารย์พูดว่าให้กล้า ให้ทำความเพียร ก็ได้พยายามทำตามคำที่ท่านแนะนำ หรือได้ยินได้ฟังท่านพูดท่านอบรมให้ฟัง อย่างเช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร ผ่อนข้าว ผ่อนน้ำ อาหารเคยฉันเต็มอิ่ม ก็ลดละให้เหลือเพียงวันละ ๒๐ คำ ผ่อนเหลือ ๑๐ คำ ๕ คำ หรือไม่ฉันเลยก็มี ไม่ฉันเป็นวัน ๆ หรือเป็นอาทิตย์ก็มี อดข้าวเพื่อจะดูกำลังความเพียรของตนว่าจะสามารถอดทนได้เพียงใด ส่วนน้ำนั้นก็แสนจะประหยัด มัธยัสถ์ ใช้วันละกา ครึ่งกาเป็นที่กล่าวขวัญกันมานานแล้ว เคยพูดกันว่า อดข้าวนั้นอดได้ แต่อดน้ำนั้นลำบากแต่ท่านเองก็พยายามแม้แต่การอดน้ำ
    ท่านเคยได้รับคำทักจากครูบาอาจารย์ว่า ท่านนั้นเป็นคนราคจริต คือเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นสิ่งไม่งดงามจะทนไม่ได้ท่านก็พยายามทรมานตนเอง ให้เห็นเป็นอสุภะ ความไม่สวยไม่งามของกาย แม้แต่เครื่องนุ่งห่ม จีวรก็ต้องเย็บปะชุนจนแทบจะหาเนื้อเดิมไม่ได้ เอาผ้าบังสุกุลหรือที่เขาเรียกว่าผ้าเกลือกฝุ่นที่ทิ้งไว้ตามทุ่งนา เอามาปะเย็บเป็นของตน หากมีใครถวายจีวรใหม่สบงใหม่ ก็จะถวายให้พระองค์อื่นไป แต่ตัวเองนั้นจะต้องใช้ของเก่า ซอมซ่อดูสกปรกเพราะปะซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความจริงก็ต้องซักให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ
    ท่านทรมานตนเพื่อที่จะไม่ให้เป็นคนราคจริต รักสวยรักงาม อดทนทุกอย่าง เพราะว่าจิตเดิมเคยรักความงาม เคยเกิดมาในบ้านในตระกูลที่ร่ำรวยมีอันจะกิน เคยกับของงามของสูง ก็ดัดสันดานจิตของตนให้ไปเคยชินชากับความไม่สวย คิดขึ้นมาได้ว่า แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดในปราสาทราชวัง เกิดเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีนางสนมกำนัลห้อมล้อม มีความสุขความสบาย แต่กระนั้นท่านก็ยังกล้าสละความสำราญความสบายเหล่านั้น ออกมาแสวงหาโมกขธรรม ตัวเรานั้นเทียบไม่ได้เลยกับองค์พระบรมศาสดา ไฉน ทำไมเราจะทำเป็นคนทุกข์คนยาก ลำบากเช่นนั้นไม่ได้
    <TABLE id=table14 align=left border=0><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    หลวงปู่นวดขาให้หลวงปู่ขาว

    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    ส่วนการพักการนอนนั้น ท่านก็ทำเนสัชชิก อธิษฐานไม่นอน ไม่ยอมให้หลังแตะพื้นเป็นเดือน ๆ อยู่เพียงในอิริยาบถ ๓ คือ เดิน ยืน และนั่ง เท่านั้นส่วนอาหารการกิน ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ให้อยู่ด้วยความอดอยากยากแค้นเหลือเกินการเดินจงกรมก็เดินครั้งละเป็นครึ่งค่อนวัน เดินจนเท้าแทบจะแตก ทะลุ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เพียงความสงบ จะพิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ก็ดูเลือนลางอยู่ อย่างเช่นการม้างกาย เห็นเป็นปฏิภาคนิมิตคล่องแคล่วว่องไว กำหนดไปครั้งใดจิตจะรวมลงกายแตกแยกเป็นส่วน ๆ กำหนดไปให้กายราบ กองร่างกายที่แยกออกเป็นส่วนนั้นให้ราบลงเป็นหน้ากลอง กำหนดให้กลับคืนขึ้นมาเป็นกาย ขยายไปให้ใหญ่โตจนกายนั้นจะใหญ่คับห้องคับถ้ำ หรือจะย่นย่อลงเล็กในขนาดเท่าตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตัวน้อยทำได้หมด จนกระทั่งม้างกายตนเองก็กระทำได้ว่องไว ม้างกายไปสนุก จนกระทั่งเก่งกล้าไปม้างกายครูบาอาจารย์ จนกระทั่งถูกดุ ถูกกำราบ สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ท่านนึกขึ้นมาแล้วก็แสนจะให้นึกอายใจที่กล้าดี ม้างท่านพระอาจารย์มั่น ไปดูจิตของท่านจนเห็นแสงจิตท่านเป็นสีทองสว่างไสว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้ ท่านจึงกำราบเสียยกใหญ่ ดูเป็นการที่สนุกสนานที่จะได้ม้างกาย ได้รู้จิตคนอื่น แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านสมถะ ครูบาอาจารย์สอนให้เอาไตรลักษณ์เข้าฟอกก็รู้อยู่ มันก็เป็นหลักกฎเกณฑ์อยู่ แต่จะบอกว่าเป็น อนิจฺจํ เป็น ทุกฺขํ เป็น อนตฺตา ปากมันว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แต่ใจมันยังไม่ยอมรับ เหมือนกับมีอะไรที่มาปกคลุม กั้นกางอยู่
    หลวงปู่เล่าว่า เมื่อท่านมองดูหมู่เพื่อน ใคร ๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกันอย่างเช่น หลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นสหธรรมิก ได้บวชในเวลาเดียวกัน เป็นคู่นาคซ้ายขวาด้วยกัน ก็ดูท่านจะผ่านไปสู่ความสงบถึงที่สุดจิตนานแล้ว ก่อนหน้าเราหลายปี ตัวเรานั้นเป็นอย่างไรถึงทำไม่ได้ เพื่อนเราซึ่งบวชพร้อมกันกับเรา ทำไมท่านทำได้ เราเป็นอย่างไร ไม่ได้กินข้าวเหมือนกับเขาหรือ เลือดของเราไม่มีสีแดงเหมือนกันหรือ ท่านไม่มีหิว ไม่มีกระหาย ไม่หนาว ไม่ร้อน ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ดีกว่าเรากระนั้นหรือ ก็ต่างคนก็ต่างเหมือนกัน ทำไมท่านจึงทำได้ ทำไมเราจึงทำไม่ได้ เถอะน่า
    หลวงปู่ได้พยายามคิดถึงเรื่องนี้ ระหว่างทำความเพียร ท่านบอกว่า บางครั้งท่านรู้สึกว้าเหว่และอาจจะน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งก็รู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูก แต่มันก็พยายามสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความอุตสาหะวิริยะที่จะทำความเพียร แต่ท่านก็ทราบดีว่าการทำความเพียรนั้นท่านก็ไม่ได้ย่อหย่อนน้อยหน้ากว่าใคร แต่มันอาจจะเป็นได้ไหมว่าปัญญายังไม่ได้เกิดขึ้น ปัญญาซึ่งเป็นประดุจเส้นผมบังภูเขา ซึ่งเราเองนึกไม่ออก แต่คนอื่นจะนึกออก
    หวนนึกถึงคำที่ท่านอาจารย์มั่นท่านได้เคยพูดว่า ท่อนซุงนั้นมันไม่เข้าตาใครหรอกเส้นผมเล็ก ๆ นั้นต่างหากเล่าที่จะเข้าไปในดวงตา กำบังตาไม่ให้เห็นประการใด
    คืนวันนั้น หลังจากที่จงกรมแล้วระยะหนึ่ง ก็ได้มาพูดคุยกันกับหลวงปู่ขาว แสดงธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกัน หลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่ขาวก็คงจะเข้าใจความคิดของท่าน แต่คำน้อยมิได้พูดให้เป็นที่กระเทือนใจ ท่านคงเข้าใจดีว่า ระยะนั้นเพื่อนสหธรรมิกของท่านกำลังกระสับกระส่ายที่จิตไม่เป็นไปตามที่ต้องการ แต่ท่านจะพูดอะไรตรง ๆ ก็ลำบาก ท่านก็ได้แต่เปรยขึ้น
    หลวงปู่ขาวท่านทำทีเป็นเล่าถึงเรื่องสมัยที่ท่านยังอยู่เชียงใหม่กับท่านพระอาจารย์มั่น ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ข้างล่าง ท่านก็ไม่สบายใจ นึกบ่นว่า ทำอย่างไร ๆทำไมจิตมันจึงแข็งอยู่อย่างนั้น ทำสมาธิก็ไม่ลง ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่ลง ทำอย่างไร ๆ มันก็ไม่สงบ ท่านรำคาญเต็มที จึงโกรธว่าตัวเองขึ้นมาว่า
    “ที่นั่นมันผีนรกวิ่งขึ้นมาจากอเวจีนี่นา จิตมันถึงได้แข็งกระด้างอย่างนี้ ไฟเผามันอย่างนี้ น่าจะกลับให้มันลงไปอเวจีอีก อย่าให้มันขึ้นมา ให้อเวจีมันเผา”
    ท่านด่ามัน เสร็จแล้วก็ลงนอน พอตื่นเช้า หลวงปู่ขาวก็ขึ้นไปจัดการถ่ายกระโถนของท่านอาจารย์มั่น ปฏิบัติท่านอาจารย์ของท่าน ท่านอาจารย์ก็ลุกขึ้นมาว่า
    “เอ๊ะ ! ท่านขาว ท่านทำไมทำอย่างนี้ ท่านก็เป็นผู้ประเสริฐเป็นมนุษย์ประเสริฐอยู่แล้ว มาด่าตัวเองเฮ็ดหยัง(ทำไม) ให้ลงนรกอเวจีอย่างไร ไม่ถูกนี่ ท่านมาประจานตน ว่าตนอย่างนี้ไม่ได้ ท่านก็ทำความเพียรอย่างดีแล้ว จะไปว่ามันทำไม ถ้าว่าหนัก ๆ เข้า ท่านอาจฆ่าตัวตายได้นะ และถ้าเผลอไปฆ่าตัวตายเข้าแล้วชาตินี้ ต่อไปนับชาติไม่ได้นะ ที่จะต้องวกวนกลับไปฆ่าตัวตายอีก ฆ่าตัวตายนี่ถ้าท่านเริ่มขึ้นชาติหนึ่งแล้ว ก็จะต้องต่ออีก ๕๐๐ ชาติ แล้วก็ไปเที่ยวเอาภพเอาชาติผูกเวรผูกกรรมกัน ฆ่าตัวตายอยู่อย่างนั้น อย่าไปทำอีกนะท่าน ไม่ถูกตัวเองบริสุทธิ์อยู่ ทำไมถึงไปทำตน ไปด่าตนอย่างนี้”
    หลวงปู่ขาวบอกว่า ใครไปนึกอย่างไร ทำอย่างไร อยู่ที่ไหน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้หมด ท่านก็อยู่กุฏิของท่าน อยู่ทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมท่านรู้จิตคนอื่นก็ไม่ทราบ ถึงถูกท่านพระอาจารย์มั่นดุแล้ว แต่หลวงปู่ขาวทั้ง ๆ กลัว มันก็ยังนึกโกรธตัวเองอยู่นั่นแหละ
    ขึ้นไปอยู่ดอยมูเซอกับพวกมูเซอ เสือก็มีตัวใหญ่ ๆ ลายพาดกลอน เดินอยู่กลางคืนก็นึกบอก “เจ้า นี่มันเลวจริงๆ มันเป็นหยังมันหยาบแท้ มันแข็งแท้ ให้เสือมาคาบมึงไปกินซะ”
    หลวงปู่ขาวท่านเล่า สมัยนั้นท่านเป็นคนโทสจริต ท่านโกรธง่าย โกรธนี่ สมัยที่ท่านมีลูกเล็ก ลูกร้องไห้ท่านจับขาแขวนห้อยลงมาแล้วตีก้น ทั้งตีทั้งด่า มีอะไรนิดหน่อยก็โกรธ ไม่น่าเชื่อเลยเมื่อได้ยินอย่างนี้ เพราะว่าภาพหลวงปู่ขาวที่พวกเราเห็นระยะหลัง ท่านงามพร้อม ยิ้มของท่านเป็นยิ้มที่เปิดโลก สว่างเข้าไปในหัวใจ ยิ้มที่ทำให้ทุกคนได้เห็นแล้วก็ชื่นใจ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาอย่างที่สุด แต่ท่านบอกว่าเดิมนั้นท่านเป็นคนโทสจริต
    นี่แหละ สิ่งที่หลวงปู่หลุยเล่าให้ฟังถึงเรื่องเก่า ๆ หลวงปู่ขาวก็เล่าให้ท่านฟังว่า ด่าตัวเอง นึกว่าตัวเอง โกรธที่จิตไม่ลง ให้เสือมาเอาไปกินซะนึกว่าฆ่ามันได้แล้ว จิตมันจะได้กล้า มันจะได้เกรง อ่อนน้อมยอมต่อเรา ท่านด่าไปจบแล้ว ก็ไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่งอย่างไร ๆ จิตมันก็ไม่ลง ท่านก็เลยนอน
    คืนนั้น ท่านบอกว่า พอหลับไปปรากฏมีนิมิตเห็นมารดามานั่งอยู่ข้าง ๆ เห็นพวกมูเซอมาจากไร่ หอบผักใส่ตะกร้าแบกขึ้นหลังมา โยมมารดาท่านบ่นขึ้นว่า “ขาว..ขาว นี่ ทำอย่างไรถึงเป็นหนอ”
    พวกมูเซอก็พูดว่า “ไม่ยาก ๆ เอาของอ่อนให้กินเด้อ อย่าไปกินของแข็ง ถ้ากินของแข็งไม่เป็น กินของอ่อนล่ะเป็น”
    แม่ท่านก็เลยบอกว่า “ไม่เข้าใจ เป็นอย่างไร ของอ่อน ของแข็ง” แม่ท่านก็เอิ้น (เรียก) ถามขึ้นว่า “ของอ่อนมีอะไรไหม”
    “ของอ่อนก็อย่างสาหร่ายไงล่ะ”
    แม่ท่านก็บอกว่า “ขาว..ขาว กินของอ่อนเด้อ”
    ท่านตื่นขึ้นจากนิมิตความฝัน ไปนั่งสมาธิ เริ่มต้นพิจารณา พิจารณาของแข็ง ก่อน
    อะไรหนอที่มูเซอร์ว่าเป็นของแข็งเรามีอะไรที่เขาว่าเรากินของแข็ง
    พิจารณาไป ๆ มา ๆ ผู้รู้ก็ตอบขึ้นว่า “ที่ว่าของแข็งคือความโกรธ ความมักโกรธ นั่นแหละ ของแข็งล่ะ”
    แล้วอ่อนล่ะ ที่บอกว่าให้เอาของอ่อนมากิน อะไรคือของอ่อน ?
    พิจารณาไป ๆ มา ๆ ก็รู้ขึ้นว่า ของอ่อนก็ต้องเอาเมตตา
    ท่านได้ข้อคิดอันนั้น ต่อนั้นมา ท่านก็แผ่เมตตาทั่วสารทิศ แผ่แม้แต่สัตว์ทั้งหลาย แผ่เมตตาไปไม่แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย แม้แต่ศัตรูก็แผ่ไป แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ ความโกรธที่เคยสิงอยู่ในดวงจิตนั้นก็ค่อย ๆ อ่อนลง...อ่อนลงแทบจะไม่นึกโกรธอะไรเลย มีแต่ความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก ให้นึกเห็นใจเขา เขาจะทำอะไรที่ผิดไปบ้าง เขาก็ไม่ตั้งใจ หากเขาตั้งใจ ก็เห็นใจว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาถึงได้ทำอย่างนั้น เป็นความลำบากของเขาเอง ที่เขาไม่ดี ไม่ได้เกี่ยวอะไร ให้นึกสงสารเขา เมื่อแผ่เมตตาไป ๆ ความโกรธนั้นก็ค่อย ๆ อ่อนลง จิตก็ไม่ค่อยแข็ง จิตอ่อนแล้ว จิตอ่อนควรแก่การงานแล้ว นึกจะทำอะไรก็ได้ เป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่ควรชม ควรแก่การงาน จะพิจารณาอะไรก็ได้ จิตอ่อนหมายถึงว่าจิตเบา จิตว่าง
    ท่านเล่าให้หลวงปู่หลุยฟัง แล้วท่านก็หัวเราะ ว่าตอนนั้นในนิมิตที่เกี่ยวกับโยมแม่มาพูด “ขาวต้องกินของอ่อนเด้อ” มันชัดอยู่ในใจ ไม่มีนิมิตอันนั้น ท่านจะคิดไม่ออก มันเป็นเส้นผมบังภูเขาจริง ๆ
    หลวงปู่หลุยได้ยิน ท่านก็ได้คิดว่า อธิบายธรรมทั้งหลายนั้น มันไม่ได้ตรงเป็นการชี้แจงอธิบายอะไรตรงไปตรงมา คำพูดบางคำ พูดนิดหน่อยก็จะสามารถสะกิดใจผู้เป็นปราชญ์ให้คิดขึ้นได้เอง
    ท่านก็กลับมาหวนพิจารณาตัวท่านเอง ความโกรธท่านไม่ได้มีอย่างท่านอาจารย์ขาว แต่ท่านมีอะไรที่ท่านรู้อยู่ว่ามันค้างคาอยู่ อุบายธรรมเกี่ยวกับเรื่องของอ่อน ของแข็ง ของหลวงปู่ขาว ก็กลับมาทำให้ท่านคิดได้ สิ่งนั้นคือสิ่งที่ได้ค้างอยู่ในใจมานาน ท่านก็ไม่ค่อยยอมบอกให้แก่ใคร เกรงเพื่อนจะว่า คิดการใหญ่โต คิดเกินตัว นั่นก็คือการที่ท่านปรารถนาพุทธภูมิ ต้องการเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมโดยตนเอง ไม่ต้องอาศัยคำสั่งสอนของใคร อาจารย์ของท่านที่ได้ทราบแต่องค์แรก ก็คือท่านพระอาจารย์สิงห์ ที่หลุดปากสารภาพไปก็เพราะว่าได้เกิดเรื่องรอยอดีตที่ฝังมาแต่ชาติก่อน ซึ่งท่านได้พยุงพาไป หนีจากอันตรายจากพรหมจรรย์ไปวัดป่าบ้านเหล่างาในครั้งกระนั้น ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น ในภายหลังก็คงทราบเช่นกัน เพราะตอนหลังท่านก็มีเมตตา และเห็นใจว่า หลวงปู่ยังและละความปรารถนาที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ค่อยเด็ดขาด การดุว่าตอนหลังท่านจึงเพลาไปมาก
    หลวงปู่ท่านบ่นว่า ความจริงท่านเลิกละแล้ว การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นท่านมาคิดดูว่า ครูบาอาจารย์ที่มีอยู่ ต่างองค์ดีกว่า วิเศษกว่าท่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่านพระอาจารย์บุญ ท่านพระอาจารย์เสาร์ หรือ ท่านพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ก็ยังต้องกลับมาปรารถนาเพียงพระอรหันตสาวก เราดีวิเศษเช่นไร ถึงจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะต้องละความคิดอันนั้นเสีย
    แต่ท่านว่า ท่านละแล้ว มันก็ยังไม่แน่ใจแท้ เพราะทำอะไรดูมันขัดเขินอยู่ตลอด อย่างน้อยเมื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ย่อมต้องมีผู้ปรารถนามาเกิดด้วยเป็นคู่บารมีกัน คงจะได้สร้างบารมีปรารถนาเช่นนั้นมาด้วยกันหลายภพหลายชาติหรือช้านานแล้ว เช่นที่เป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา ทั้งบริวาร ก็คงจะได้ไปเกิดพร้อมกันเป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา หรือบริวารของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านจะเลิกละไปท่านเหล่านั้นก็ย่อมมาทวงความปรารถนาอยู่ คงยังไม่ยอมเลิกรากันไปได้ ครั้งแรกก็ว่าปรารถนาให้มาพบกันก็เป็นของยาก ก็พยายามให้พบกัน เพื่อว่าเมื่อพบกันแล้วจะได้ช่วยกันสร้างบารมีกว่าจะตรัสรู้นั้นประการหนึ่ง เกิดมาซ้ำซากหลายชาติเป็นอนันตนัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า “เอาเข็มจี้ลงแผ่นหินไม่ถูกกองฟอน ตถาคตไม่มี”สร้างบารมีกันนานหนักหนาจนกว่าจะสำเร็จพระพุทธเจ้าได้ บุตรบริวารว่านเครือโดยเฉพาะคู่บารมีนั้นก็ย่อมจะต้องมาเกิดใกล้ชิดกัน เมื่อท่านผู้เป็นหัวหน้าจะเลิกละผู้อื่นก็ย่อมจะต้องไม่ยอมง่าย ๆ จะต้องเจรจากัน
    ท่านไม่ทราบว่าตัวท่านนั้นจะได้เกิดมานานเท่าไรที่ตั้งปรารถนาอันนี้ แต่ท่านก็ทราบดีว่าผู้ปรารถนาพุทธภูมินั้น เกิดมาชาติใดย่อมไม่ทิ้ง ทาน ศีล ภาวนา ไม่ทิ้งการสงเคราะห์ฝูงชนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทิ้งการเมตตาแก่สัตว์ทั้งหลายเสมอภาคกัน เกิดภพใดชาติใด ภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่ทิ้งการสร้างพระบารมี เป็นบารมีที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ไม่ใช่บารมีที่จะตัดภพตัดชาติ ในชาตินี้ท่านได้พบผู้ที่เคยข้องแวะเกี่ยวข้องกันในชาติต่าง ๆ จึงทำให้ดูหวั่นไหวไปบ้าง แต่ด้วยความรักในเพศพรหมจรรย์จึงได้ผ่านมา แต่การดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นที่สุดของจิตนั้น ก็ยังอยู่ ขัดขวางอยู่มาก ท่านแน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ท่านจะต้องดำเนินผ่านไปให้ได้
    ท่านเล่าว่า พรรษานี้ท่านรู้สึกปลอดโปร่งใจที่ว่า สามารถหาเส้นผมที่มาบังภูเขาได้ จากข้อคิดที่ได้จากเพื่อนกัลยาณมิตร นี่แหละ ท่านจึงได้พูดว่า “การภาวนาถ้าจะเป็นไปได้ดีนั้น นอกจากจะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว ก็ควรจะต้องมีกัลยาณมิตร มีมิตรดี มีสหายที่ดีด้วย” จริงอยู่ท่านไม่ไม่ได้คิดว่า ข้อขัดข้องของท่านจะเป็นเรื่องโทสจริต ท่านไม่ค่อยได้มีด้านโทสจริต เพราะท่านไม่ได้โกรธใครง่าย ๆ ของท่านนั้นเป็นราคจริต ซึ่งท่านได้พยายามแก้อยู่แล้ว แต่สิ่งขัดข้องของท่านนั้น มันเป็นเรื่องที่ฝังลึก ฝังรากไว้ช้านานแล้วต่างหาก ท่านจึงกล่าวว่า “ในบรรดาผู้ที่จะเจริญภาวนานั้น ย่อมใช้อารมณ์ธรรมต่าง ๆ กัน” คนหนึ่งอาจจะขัดเกลาด้านโทสจริต อีกคนหนึ่งด้านราคจริต ฯลฯ แต่ทุกคนต่างมุ่งเพื่อละกิเลสอย่างเดียวกัน ปราชญ์ท่านว่าไว้ว่า “ดุจผู้เป็นเสนาม้า เสนารถ เสนาเดินด้วยเท้า แต่ทุกด้านก็ต่างเพื่อทำสงครามเอาชนะอย่างเดียวกัน” ฉะนั้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...