เรื่องเด่น คำสอนสายกลาง เรื่อง..ศีล

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 8 ตุลาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    วันนี้วันพระตรงกับวันพุธแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกา
    ขอให้ทุกท่านมีความสุขในธรรม

    คำสอนสายกลาง เรื่อง..ศีล

    ศีล-1.jpg


    มาในวันนี้ก็เลยคิดว่าจะคุย เรื่องศีล เข้าใจว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทหลายท่านยังสงสัย จึงนำมาคุยให้ฟังคร่าวๆ การลงท้ายในการให้ศีล
    องค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสไว้อย่างนี้
    สีเลนะ สุคติง ยันติ
    สีเลนะ โภคสัมปทา
    สีเลนะ นิพพุติง ยันติ
    ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
    ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ศีลเป็นปัจจัยให้มีความสุขในชาตินี้ และมีความสุขในชาติหน้า
    และข้อที่ ๒ แปลว่า ศีลเป็นปัจจัยให้มีทรัพย์สมบัติเยือกเย็นในชาตินี้ และรํ่ารวยในชาติหน้า
    และข้อที่ ๓ แปลว่า ศีลเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระนิพพานได้โดยง่าย
    เหตุนั้นไซร้ขอพวกเราทั้งหลาย จงพากันรักษาศีลให้บริสุทธิ์
    สำหรับฆราวาสก็มีอยู่ ๓ ศีล ไม่ใช่ ๓ ข้อนะ ๓ ศีลที่เรียกว่า “ปกติศีล” คือศีล ๕ นี่เรียก “ปกติศีล”
    ศีล ๘ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ๘ สิกขาบทเหมือนกัน นัยหนึ่งเรียกว่า “ศีล ๘” เมื่อว่าไปแล้วก็ลงท้ายว่า “สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคสัมปทา” เฉยๆ
    อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ศีลอุโบสถ” ที่มีคำลงท้ายว่า
    “อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวสัง”
    รวมความว่า อุโบสถศีลก็ดี ศีล ๘ ก็ดี มีสิกขาบทเท่ากัน แต่ว่าเรียกต่างกัน
    สำหรับศีลอีกอันหนึ่งนั้นที่รักษากันเป็นปกติ คือ ศีล ๕ เป็นปกติ วันนี้ก็จะพูดเรื่องศีล ๕ เสียก่อน สำหรับศีล ๕ นี่ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เป็นปกติศีล

    คำว่า “ศีล” จริงๆ เขาแปลว่า ปกติ
    ฉะนั้น คนที่รักษาศีล บางครั้งบอกว่ารักษาศีลไม่ได้ ไม่มีกำลังใจพอที่จะรักษาศีลได้ อันนี้ความจริงเข้าใจผิด เพราะอะไร
    ประการที่ ๑ บางท่านไม่รู้จักคำว่า “ศีล” อย่างหนึ่ง
    อีกนัยหนึ่ง ไม่รู้จักคำว่า ศีลคืออะไร เลยสิ้นกำลังใจที่จะรักษาศีล แต่ความจริง ศีลที่แปลว่าปกติ ที่บุคคลทั้งหลายต้องการจะเป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี ตามปกติต้องการเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีล ๕ ไม่ว่าคนที่เคยเกิดมาแล้ว จะเคยเข้าวัด จะนับถือพุทธศาสนาหรือศาสนาไหนก็ดี ก็มีความต้องการศีล ๕ เหมือนกัน ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า เป็นปกติ
    คำว่า “ศีล” นี่แปลว่า ปกติ

    ก็มีเรื่องอยู่ว่า ในสมัยองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วไปทางไหน เวลานั้นศาสนามีมาก เขามีอยู่ก่อน สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาทรงอุบัติขึ้นมาทีหลัง จะไปไหนก็ดี ในเวลานั้นในเขตประเทศอินเดีย เขาต้องถือว่าเป็นสมัยที่คลั่งพระศาสนา และเวลานี้ก็ยังคลั่งกันอยู่ ศาสนาต่างศาสนากันก็เป็นคนชาวอินเดียเหมือนกัน รบกันเรื่องศาสนานี่ เมื่อปีที่แล้วก็ยังมี ในสมัยก่อนๆ ก็ยังมี ยกทัพตีกันก็เพราะเรื่องการนับถือพระศาสนา เป็นอันว่า คนสมัยนั้นเป็นคนคลั่งศาสนามาก ถ้าใครถือศาสนาของศาสดาจารย์ใดแล้ว ก็นับถือศาสดานั้นเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง ถือว่าของตนดีกว่า เมื่อเวลาที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก ทรงสอนบรรดาท่านพุทธบริษัทใหม่ๆ แล้วเขาก็ถามกันว่า
    “ทำอย่างไร? คนจึงจะมีความสุข”
    “ทำอย่างไร? คนเราจึงจะมีทรัพย์สมบูรณ์ใช้ไม่ขาด”
    “ทำอย่างไร? จิตใจคนจึงจะสงบ สงบสงัด”

    องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ก็ทรงแสดงเรื่องศีลว่า ถ้าปกติต้องการอย่างนั้นละก็ อย่างข้อต้นให้ปฏิบัติตามนี้ และตามปกติของคน องค์สมเด็จพระทศพลทรงตรัสว่า
    ตามธรรมดาของคนนี้น่ะ ต้องการความเป็นอยู่เป็นสุข คือ:-
    ๑. ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายร่างกายของตัวเรา
    ๒. ไม่มีใครต้องการให้ใครมาเข่นฆ่าตน
    แล้วอีกประการหนึ่ง องค์สมเด็จพระทศพลกล่าวว่า ทรัพย์สินของเราที่มีอยู่ เราก็ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่งมาลักมาขโมย มาบังคับขู่เข็ญเอาทรัพย์สินไป
    ประการที่ ๓ คนที่มีคนรัก มีสามีภรรยา และคนที่รักบุตรธิดา ลูก หลาน เหลนก็ตาม มีอยู่แล้วไม่ต้องการให้ใครมาข่มเหงนํ้าใจเรื่องคนรัก
    ประการที่ ๔ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสว่า วาจาทุกอย่างเราฟัง ต้องการให้คนทุกคนที่มาพูดกับเรา พูดแต่ความเป็นจริง เพราะเราต้องการอย่างนั้น
    ประการที่ ๕ สมเด็จพระบรมศาสดากล่าวว่า ทั้งชายและหญิงเหมือนกันหมด คือไม่มีใครต้องการเป็นคนบ้า สมเด็จพระบรมศาสดาจึงกล่าวว่า
    โภ ปุริสะ ดูก่อนท่านผู้เจริญ ถ้าทุกคนต้องการอย่าง ทุกคนต้องการมีความสุข ให้ปฏิบัติตามนี้ คือ:-

    ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี ขอให้ทุกคนพึงงดเว้นเบียดเบียนทางร่างกายซึ่งกันและกัน อย่าประหัตประหารซึ่งกันและกัน และก็จงอย่าเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นให้เอาจิตตั้งอยู่ในความ เมตตา กรุณา ทั้ง ๒ ประการ ข้อนี้จึงจะส่งผล
    หมายความว่า องค์สมเด็จพระทศพลบอกว่า จงอย่าฆ่ากันนะ จงอย่าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน แต่ว่าการที่จะไม่ทำอย่างนั้นน่ะ อยู่ๆ แล้วจะไม่ทำเฉยๆ มันไม่ได้ ต้องเอาจิตใจประกอบไปด้วย เมตตา คือ ความรัก คิดเสียว่าเราเกิดมาเรารักตัวเราเพียงใด คนทั้งหลายก็มีความรักตัวของเขาเพียงนั้น เราไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายร่างกายเรา เขาก็ไม่ต้องการให้ใครไปทำร้ายร่างกายเขา ทั้งนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีกล่าวว่า
    ทั้งคนและสัตว์ในโลกมีความปรารถนาเหมือนกัน เราต่างคนต่างเว้นการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน เว้นการเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างรักกัน ต่างคนต่างสงสารกัน ทุกคนก็มีความสุข เจอะหน้ากันเมื่อไร ต่างก็มีแต่ความยิ้นแย้มแจ่มใส มีกำลังใจเบิกบาน
    แล้วต่อไป องค์สมเด็จพระพิชิตมารก็ทรงตรัสว่า

    อันดับที่ ๒ ทรัพย์สินของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่งมาลักขโมย ทรัพย์สินของคนอื่นเขาก็เช่นเดียวกัน เขาหามาได้ เขาต้องการกิน ต้องการใช้ของเขาเอง ถ้าเราไปยื้อแย่งเขา เขาก็โกรธ เขาก็ไม่พอใจ
    ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า ถ้าเราระมัดระวังเรื่องการที่จะไม่มีการยื้อแย่ง อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นสมบัติของตน จงเห็นใจชาวบ้านเขา ให้ทรงกำลังใจอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “สันโดษ” แปลว่า ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรม สันโดษไม่ใช่ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วนะ ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรม หามาได้โดยไม่คิดไปโกง ไปลักไปขโมยใคร และไม่เบียดเบียนร่างกายของคนอื่น ทรัพย์ส่วนนั้นเราพอใจ แต่ทว่าเราจะมีสันโดษโดยเฉยๆ ในข้อนี้ก็ไม่ไหว
    องค์สมเด็จพระจอมไตรบอกว่า ต้องแก้ความอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นด้วยการให้ทาน เพราะการให้ทานกับการอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่น เป็นกำลังใจต่างกัน การอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เป็นการอยากดึงเข้ามา การให้เป็นการผลักออก การให้ทานนี่ประกอบด้วย เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร เหมือนกัน แต่ทว่ามาถึงข้อนี้เราก็เพิ่มสันโดษเข้ามาด้วย เพิ่มทานบารมีเข้ามาด้วย
    รวมความว่า ถ้าจะรักษาศีลข้อนี้ให้เป็นปกติทุกวัน ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้ว ต้องคิดไว้เสมอว่า ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะให้ได้ หรือเราช่วยได้ ไม่ว่าใครทั้งหมด คนก็ดี สัตว์ก็ดี ถ้าหันหน้าเข้ามาพึ่งเราก็ดี แล้วมีความทุกข์ยากลำบากก็ดี เราจะสละทรัพย์ที่เรามีอยู่ตามสมควรให้ทันที ถ้าคิดไว้อย่างนี้ ถ้าทรัพย์ไม่มีก็ไม่ต้องให้ ถ้ามีแล้วให้ไปเราไม่มีเหลือกิน เราก็ไม่ต้องให้ แต่ใจมันคิดจะให้ แต่ให้ไม่เกินวิสัยที่เราจะพึงให้ได้
    ถ้ากำลังใจของพุทธบริษัททรงอยู่อย่างนี้ไซร้ ชื่อว่าเป็นผู้เจริญ จาคานุสสติกรรมฐาน ประจำใจ ศีลข้อนี้ก็บริสุทธิ์ ถ้าเราไม่ลักขโมยใคร ไม่ทำร้ายร่างกายใคร ไปไหนก็มีแต่คนรักเรา เขาไว้วางใจเรา ของเขาฝากไว้เราก็ไม่โกง ของเขาเผลอเราก็ไม่ลัก เป็นอันว่าไปที่ใดก็ตาม ไม่มีใครสะดุ้งหวาดหวั่นว่าจะต้องทำร้ายเขา เราจะลักขโมยเขา ไปที่ไหนก็มีความสุข

    ข้อที่ ๓ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า คนที่รัก ไม่ใช่เฉพาะสามีภรรยา คือบุตรก็ดี ธิดาก็ดี คนในปกครองก็ดี ทุกคนเขาก็หวงแหน ฉะนั้นถ้าเรามีความพอใจ ก็อย่าไปละเมิดสิทธิ์ ให้สู่ขอกันตามประเพณี ถ้าผู้ปกครองอนุญาตก็ใช้ได้ เป็นที่ผูกใจสร้างความรักซึ่งกันและกัน อย่างนี้องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัสว่า เป็นปัจจัยของการมีความสุข ถ้าในระหว่างสามีภรรยาของบุคคลอื่น เราต้องถือสันโดษอีกตัวหนึ่งว่า สามีของเราก็ดี ภรรยาของเราก็ดี เป็นที่พอใจของเรา เราจะไม่ละเมิดสิทธิของสามีภรรยาบุคคลอื่น เพราะเป็นที่รักของเขา ถ้าทำได้อย่างนี้ก็มีความสุขในปัจจุบัน

    ข้อที่ ๔ องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัสว่า วาจาที่รับฟัง เราต้องการความจริง คนไหนพูดจริงกับเรา เราก็รักคนนั้น เราก็นับถือคนนั้น ถ้าเราไปพูดไม่จริงกับคนอื่นเขา เขาก็เกลียด ถ้าเราพูดตามความเป็นจริงเขาชอบ ฉะนั้นในตอนนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ต้องมี สัจจะ คือ ความจริงใจ ด้วย และก็มี เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร ๒ ประการเข้ามาควบคุมใจ ตั้งใจว่า เราจะพูดแต่ความเป็นจริง ถ้าไปไหนเราพูดแต่ความจริงทุกอย่าง ก็เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป ทางเราก็มีแต่ความสุข เพราะเป็นที่รักของบุคคลอื่นทุกคน

    ข้อที่ ๕ องค์สมเด็จพระทศพลตรัสว่า คนที่ไม่ต้องการบ้า ไม่ต้องการเป็นโรคประสาท ไม่ต้องการเป็นโรคมึนเมา ประสาทฟั่นเฟือน ถ้าไม่ต้องการอย่างนี้ละก็ องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า ขอจงพากันรักษาศีลข้อที่ ๕ คือ ปกติเราจงอย่าดื่มสุราและเมรัย เพราะสุราและเมรัยดื่มเข้าไปเมื่อไรก็บ้าเมื่อนั้น ดื่มมากก็บ้ามาก ดื่มน้อยก็บ้าน้อย ที่เขาบอก สุรา แปลว่า กล้า สุราของเมานี่มันแปลว่า กล้า คือกล้าทำทุกอย่างในด้านของความชั่ว บางอย่างเราไม่เมา เราไม่พูด บางกรณีเราไม่เมา เราไม่ทำ เพราะทำแล้วมันอายชาวบ้านเขา ไม่น่าจะพูด แต่พอดื่มสุราเข้าไปหน่อยเดียวมันพูดได้ ทำได้
    รวมความว่า สิ่งที่เรารังเกียจ เมื่อยังไม่เมา เราไม่ทำเพราะมันเลว พอดื่มสุราเข้าไปแล้วเรากล้าทำความเลว ความกล้านี่เป็นความกล้าชั้นตํ่า ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าต้องการให้ใจพ้นจากความเลวก็อย่าดื่มสุราเมรัย

    โพสต์โดย achay



    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     

แชร์หน้านี้

Loading...