~ แหล่งกำเนิดจักรวาลดวงดาวและธาตุต่างๆ ~

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย Phuket, 28 ธันวาคม 2009.

  1. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    ก่อนอื่นผมต้องให้ที่มา ผู้ที่เอื้อเฟื้อเนื้อหาและภาพก่อนนะครับ

    phuketvegetarian.com (da0_sanqing) และ cyberjoob.multiply.com (cyberjoob.multiply.com, thaitaoism.org) และท่านอื่นๆ

    *********************************************

    ในกระทู้นี้ไม่ได้กล่าวไว้เฉพาะจักรวาลเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกด้วย จะออกไปทางจีนซะเป็นส่วนใหญ่ ความรู้หมดเลยครับ ยาวมากๆ ตามจริงยาวกว่านี้ ได้ตัดออกไปบางส่วน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 29 ธันวาคม 2009
  2. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    จักรวาลวิทยา

    จักรวาลวิทยา


    พอดีมีคนถามเรื่อง “หยกอ๋อง” (เง็กเซียนฮ่องเต้) และก็พอดีอีกเช่นกันว่าก่อนหน้านี้มีคนมาถามเรื่องสวรรค์ ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จำมารวมในเรื่องเดียวกันเลย แต่ต้องบอกก่อนว่า เรื่องที่จะเล่านี้จะไม่ค่อยมีประวัติพระหรือเทพ ซึ่งบางเรื่องนั้นอาจจะไม่ค่อยเกี่ยวกับศาสนาเต๋าเท่าไหร่ และบางส่วนนั้นถ้าคนที่ไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อน พออ่านแล้วอาจจะเกิดอาการงงได้ แต่ก็จะพยายามอธิบายง่ายๆ และด้วยเหตุนี้เลยพยายามทำภาพมาประกอบ (เพราะอย่างนี้เลยต้องเสียเวลาทำภาพประกอบเป็นอย่างมาก) และบางส่วนของเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ในปัจจุบันคนที่รู้เรื่องนี้เหลือไม่มากแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ประโยชน์โดยทั่วกัน


    “อฺวี้หวงต้าตี้” 《玉皇大帝》 ในภาษากลาง หรือก็คือ “หยกหองไต่เต่” ในภาษาจีนฮกเกี้ยน คนไทยมักเรียกท่านว่า “เง็กเซียนฮ่องเต้” ซึ่งคำว่า “เง็กเซียน” เพี้ยนมาจากคำว่า “เหงกเซี่ยง” 《玉上》 ในภาษาจีนแต้จิ๋ว และคำว่า “ฮ่องเต้” เพี้ยนมาจากคำว่า “ห่องเต่” 《皇帝》 ในภาษาฮกเกี้ยน ในศาสนาเต๋านั้นเทพสูงสุดในการสั่งสอนทางศาสนาคือ เทพปรมาจารย์ซันชิง 《三清》แต่ในสายการปกครองนั้นเทพที่มีอำนาจสูงสุดคือ “เง็กเซียนฮ่องเต้” พอกล่าวมาถึงตรงนี้หลายคนอาจไม่เห็นด้วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรูปข้างล่างนี้

    [​IMG]

    รูปนี้จัดทำขึ้นโดยศาลเจ้าแห่งหนึ่งในไต้หวัน (รูปในแนวนี้ยังมีอีก ๒ – ๓ แบบ ตามที่ปรากฏในที่ต่างๆ) เนื้อหาในรูปแสดงถึงแผนผังของการกำเนิดของสรรพสิ่ง, เทพ, ภพภูมิต่างๆ โดยแผนผังนี้ทั้งเทพ “ซันชิง” และ “เง็กเซียนฮ่องเต้” ต่างก็ไม่ได้มีฐานะเป็นเทพสูงสุด แผนผังนี้ผสมผสานความเชื่อพุทธศาสนา และศาสนาเต๋าเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งถ้าเราสังเกตจะพบว่า เทพชั้นสูงจะมีนามทั้งที่เป็นของศาสนาเต๋า และในขณะเดียวกันก็มีสถานะเป็นพระพุทธเจ้าด้วยด้วย ในผังนี้พยายามทำแนวความคิดเรื่องเต๋าที่เป็นอนัตตา ให้เป็นอัตตา และยังมีการอ้างถึงภพภูมิต่างๆ โดยในส่วนของสวรรค์ มีการกล่าวถึงกามาวจรภูมิ ๖ รูปพรหมภูมิ ๑๘ (ในผังนี้กล่าวว่ารูปพรหมมี ๑๘ ภูมิ ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนามหายานกล่าวว่ามี ๑๘ ภูมิ ซึ่งต่างกับเถรวาทที่กล่าวว่ามีเพียง ๑๖ ภูมิ) และอรูปพรหมภูมิ ๔ ในพุทธศาสนาอีกด้วย เนื่องจากเนื้อหาในแผนภูมินี้ เป็นการผสมผสานระหว่างเต๋าและพุทธ และบางเรื่องยังเป็นที่ชัดเจนว่าแต่งขึ้นในภายหลัง ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยอมรับในวงจำกัด

    [​IMG]
     
  3. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    “เง็กเซียนฮ่องเต้” เป็นเทพสูงสุดในศาสนาเต๋า (ในด้านการปกครอง) แต่ยังรองเทพซันชิง ตามความเชื่อนั้น เง็กเซียนฮ่องเต้ เป็นเทพที่เกิดจากการแบ่งภาคของเทพซันชิง เพื่อมาทำหน้าที่ในฐานะเทพสูงสุดในการปกครอง และต่อมาเง็กเซียนฮ่องเต้ก็ยังแบ่งภาค เป็นเทพอีกหลายองค์อีกด้วย ซึ่ง ๑ ในนั้นก็คือเทพเสฺวียนเทียนสั้งตี้ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ความเชื่อเรื่องเง็กเซียนฮ่องเต้ มีมาก่อนเทพซันชิง และก่อนที่จะมีศาสนาเต๋าอีกด้วย ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง 《商朝》 (ก่อน พ.ศ. ๕๒๓ – ๑๑๖๘ ปี ) หรือก็คือเกือบ ๔ พันปีมาแล้ว (ในข้อเท็จจริงอาจจะเก่าแก่กว่านั้น) ซึ่งที่จริงแล้วเง็กเซียนฮ่องเต้ก็คือ “ดาวขั้วฟ้าเหนือ” (Polaris) ด้วยเหตุที่ว่าองค์เง็กเซียนอ่องเต้เป็นดวงดาว คนโบราณเวลาจะเซ่นสรวงองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ จะกระทำต่อฟ้า โดยไม่มีการทำรูปเคารพ และกระทำในที่กลางแจ้ง ซึ่งการเซ่นไหว้ลักษณะนี้ ยังสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน คนจีนเฉลิมนามท่านว่า “เทียนกง” 《天公》 (ทีกง) ซึ่งแปลว่า “เจ้าฟ้า” และทำพิธีเซ่นไหว้ท่านในวัน ๙ ค่ำ เดือนอ้าย จันทรคติจีน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันประสูติของท่าน เนื่องจากองค์เง็กเซียนฮ่องเต้เป็นดวงดาวบนท้องฟ้า ค่อนข้างเป็นนามธรรม คนโบราณจึงไม่มีการทำรูปเคารพของท่าน ในกรณีที่พบว่ามีรูปเคารพของท่าน เป็นเรื่องที่ทำกันมาสมัยหลัง และยิ่งในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ตีค่าสิ่งต่างๆ ด้วยวัตถุ เราจึงสามารถพบรูปเคารพของท่านได้อย่างดาดดื่น ซึ่งต่อไปนี้เราจะพูดเรื่องจักรวาลวิทยา (ความรู้และความเชื่อเรื่องจักรวาล) ของคนสมัยโบราณกัน


    ในสมัยเด็กๆ เวลาเราเรียนหนังสือ เขาจะสอนเราว่า “คนสมัยโบราณเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล และมีดาวดวงอื่นเป็นบริวาร” ซึ่งที่เขาสอนเรานั้นมัน “ผิด” ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ปรากฏอยู่ในระบบการเรียนการสอน ฝังในระบบความคิดของคน ซึ่งพบได้ในรูปของความเห็น และบทความที่สามารถพบได้จนถึงทุกวันนี้


    ซึ่งตามความเชื่อของคนโบราณ ศูนย์กลางจักรวาลแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ “โลก” หากแต่เป็น “ดาวขั้วฟ้าเหนือ” (Polaris) 《北极星》

    [​IMG]

    “ดาวขั้วฟ้าเหนือ” Polaris 《北极星》 (จีนกลางออกเสียงว่า “เป่ยจี๋ซิง” ส่วนฮกเกี้ยนออกเสียงเหมือนแต้จิ๋วว่า “ปักเก็กแช”) เป็นดาวดวงแรกของกลุ่มดาวหมีเล็ก (Alpha Ursae Minoris) ดาวดวงนี้โคจรทำมุมตรงกับขั้วโลกเหนือตลอดเวลา (จริงๆ แล้วคลาดเคลื่อนไปประมาณ ๔๖ ลิปดา โดยที่ ๖๐ ลิปดาเท่ากับ ๑ องศา) ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงคิดว่า ดาวดวงนี้ไม่เคลื่อนที่ และดาวดวงอื่นโคจรรอบดาวดวงนี้ จึงนำไปสู่ความเชื่อที่ว่า ดาวดวงนี้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีดาวดวงอื่นเป็นบริวาร ซึ่งรวมทั้งโลกของเราด้วย

    [​IMG]
     
  4. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    เนื่องจากพื้นดิน (แผ่นดิน) ส่วนใหญ่ อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร คนส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงอาศัยอยู่เหนือเส้นศูนย์ ซึ่งคำว่า “เหนือเส้นศูนย์” นั่นก็หมายความว่า คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในโลกซีกเหนือ และการที่อาศัยอยู่โลกซีกเหนือ จึงทำให้สามารถมองเห็นท้องฟ้าซีกเหนือ ได้มากกว่าท้องฟ้าซีกใต้ โดยที่ดาวในท้องฟ้าซีกใต้บางดวง คนที่อยู่ในโลกซีกเหนือแทบไม่มีโอกาสได้เห็น ด้วยเหตุนี้คนในสมัยโบราณจึงให้ความสำคัญกับท้องฟ้าซีกเหนือมากกว่าซีกใต้ แต่ต้องเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ท้องฟ้าคืออวกาศอันไร้ประมาณ ไม่ได้แบ่งว่าเป็นซีกเหนือและซีกใต้ การแบ่งดังกล่าวข้างต้นเป็นการแบ่งจากมุมมองที่มองจากโลก เป็นการแบ่งโดยสมมุติเท่านั้น

    [​IMG]

    แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า คนในสมัยก่อนจะไม่มีความสามารถ ในการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับท้องฟ้าซีกใต้ เพราะได้มีการจดบันทึกดวงดาวในท้องฟ้าซีกใต้ไว้ตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

    [​IMG][​IMG]

    ดาราศาสตร์จีนโบราณเชื่อว่า ดาวขั้วฟ้าเหนือ (ดาวเป่ยจี๋ซิงหรือดาวปักเก็กแช) คือเทพเง็กเซียนฮ่องเต้ เป็นศูนย์กลางจักรวาล โดยตามความเชื่อนั้นจะแบ่งสวรรค์หรือท้องฟ้า ออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนชั้นในสุดเรียกว่า “จื่อเวยเหยฺวี้ยน” 《紫微垣》 ถือเป็นเขตพระราชฐาน เป็นที่ประทับของเง็กเซียนฮ่องเต้ (ดาวขั้วฟ้าเหนือ) และ องค์รัชทายาท เชื้อพระวงศ์ ฯลฯ, ส่วนชั้นกลางเรียกว่า “ไท่เวยเหยฺวี้ยน” 《太微垣》 ถือเป็นท้องพระโรง เป็นที่ออกว่าราชการของเง็กเซียนฮ่องเต้และเทพทั้งปวง และส่วนชั้นนอกสุดเรียกว่า “เทียนซื่อเหยฺวี้ยน” 《天市垣》 ถือเป็นเขตของพสกนิกร, พ่อค้า, ประชาชน (บนสวรรค์) ฯลฯ ซึ่งบรรดาขุนนาง, รัชทายาท, พ่อค้า ฯลฯ มีลักษณะเช่นเดียวกับ เง็กเซียนฮ่องเต้ (ดาวขั้วฟ้าเหนือ) คือเป็นดวงดาวบนท้องฟ้าทั้งสิ้น

    [​IMG]
     
  5. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    ซึ่งในส่วนของท้องฟ้า ส่วนกลาง “จื่อเวยเหยฺวี้ยน” 《紫微垣》 ก็คือ ที่ศาสนาเต๋าเรียกว่า “ตำหนักจื่อเวย” 《紫微宫》 อันเป็นที่ประทับของเง็กเซียนฮ่องเต้ และ “เหยฺวียนซื่อเทียนจุน” 《元始天尊》 (ฮกเกี้ยนเรียกว่า “หงวนสีเทียนจุน”) ซึ่งความเชื่อนี้ นำสู่การสร้างพระราชวังของฮ่องเต้จีนในสมัยโบราณ และครั้งล่าสุดในสมัยราชวงศ์หมิง ในการสร้างพระต้องพระราชวังต้องห้าม ที่กรุงปักกิ่ง โดยมีชื่อภาษาจีนว่า “จื่อจิ้นเฉิง” 《紫禁城》 ซึ่งชื่อนี้ ได้มาจาก “จื่อเวยกง” 《紫微宫》 (ตำหนักจื่อเวย) นั่นเอง

    [​IMG]

    และก่อนที่เราจะพูดถึงเนื้อหาในลำดับถัดไป สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันก่อนคือ “แผนที่ฟ้า” ดังนี้

    [​IMG]

    ภาพนี้เป็นแผนที่ท้องฟ้าซีกเหนือ จากภาพเราจะพบว่ามีดาวที่เป็นจุดศูนย์กลาง (สีแดง) ของภาพ ซึ่งดาวดวงนั้นก็คือ “ดาวขั้วฟ้าเหนือ” และอีกสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ แผนที่ท้องฟ้า (เรียกอีกอย่างว่า “แผนที่ดาว”) ในสมัยโบราณ จะมีลักษณะต่างกันคือ มีลักษณะกลับด้านซ้าย – ขวา ทั้งนี้เพราะเวลาคนสมัยก่อนเขียนแผนที่ดาว เขาจะเงยหน้าขึ้นดูดาวบนท้องฟ้า แล้วก้มหน้าวาดลงบนกระดาษ (สมัยนั้นคงยังไม่มีกระดาษ) ด้วยเหตุนี้แผนที่ท้องฟ้าสมัยโบราณ จะมีลักษณะตรงกันข้าม (คือสลับซ้าย – ขวา เหมือนกับการส่องกระจก) เพราะฉะนั้นทิศทางบนท้องฟ้าที่คนโบราณกล่าวถึงจึงมีลักษณะสลับซ้าย – ขวา กับแผนที่ดาวในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนโบราณผิด ทั้งโบราณและปัจจุบันต่างถูกต้อง หากแต่เพียงมีวิธีจดบันทึกที่แตกต่างกันเท่านั้น เพื่อไม่ให้งง ดูรูปต่อไปนี้ประกอบ

    [​IMG]
     
  6. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    เมื่อทำความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราจะพูดถึงเรื่องเทพอารักษ์ทั้ง ๔ อันประกอบไปด้วย เต่าดำ 《玄武》, กระจิบแดง 《朱雀》 , พยัคฆ์ขาว 《白虎》 และมังกรเขียว 《青龙》 หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องเทพอารักษ์ทั้ง ๔ มาไม่มากก็น้อย ความเชื่อนี้มีปรากฏชัดเจนในสมัยราชวงศ์ซาง ซึ่งในข้อเท็จจริงอาจจะมีมาก่อนหน้านั้นมาก ความเชื่อนี้ถือเป็นทฤษฎีพื้นฐาน และสำคัญมากในวิชาฮวงจุ้ย ซึ่งหลายคนทราบดี แต่ในปัจจุบันคนที่จะรู้ว่าที่มาของความเชื่อนี้ แท้จริงแล้วมีที่มาอย่างไรกลับเหลือไม่มากแล้ว

    ซึ่งตามความเชื่อนั้น เทพอารักษ์ทั้ง ๔ มีดังนี้​

    ๑. เต่าดำ 《玄武》 ธาตุน้ำ (สีดำหมายถึงธาตุน้ำ) เป็นเทพอารักษ์ ประจำทิศเหนือ
    ๒. กระจิบแดง 《朱雀》 ธาตุไฟ (สีแดงหมายถึงธาตุไฟ) เป็นเทพอารักษ์ ประจำทิศใต้
    ๓. พยัคฆ์ขาว 《白虎》 ธาตุทอง (สีขาวหมายถึงธาตุทอง) เป็นเทพอารักษ์ ประจำทิศตะวันตก
    ๔. มังกรเขียว 《青龙》 ธาตุไม้ (สีเขียวหมายถึงธาตุไม้) เป็นเทพอารักษ์ ประจำทิศตะวันออก (สมัยโบราณ ไม่ได้เรียกว่า 《青龙》 ที่แปลว่า “มังกรเขียว” แต่เรียกว่า 《苍龙》 แปลว่า “มังกรสีคราม”)

    ซึ่งเทพอารักษ์ทั้ง ๔ นี้ แท้จริงคือกลุ่มดาวทั้ง ๔ ที่ล้อมรอบดาวขั้วฟ้าเหนือ (เง็กเซียนฮ่องเต้) ซึ่งตามความเชื่อนั้น เทพอารักษ์ทั้ง ๔ นี้ มีหน้าที่ติดตามคอยถวายอารักขาเง็กเซียนฮ่องเต้ และเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจดูรูปต่อไปนี้

    [​IMG]

    ----------------------------------------------------------------
    [​IMG]

    จากภาพจะพบว่า (ภาพนี้ผ่านการสลับซ้ายขวา ให้เป็นแผนที่ดาวแบบโบราณแล้ว)​

    กลุ่มดาวซีฟิอัส Cepheus คือ เต่าดำ 《玄武》

    กลุ่มดาวยีราฟ Camelopardalis คือ กระจิบแดง 《朱雀》

    กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย Cassiopeia คือ พยัคฆ์ขาว 《白虎》

    กลุ่มดาวมังกร Draco คือ มังกรเขียว 《青龙》

    อาศัย กลุ่มดาวทั้ง ๔ ข้างต้น ศาสนาเต๋าจึงแบ่งท้องฟ้าออกเป็น ๔ ส่วน รวมตำแหน่ง ส่วนกลาง (ดาวขั้วฟ้าเหนือ) เป็น ๕ ส่วน และนี่คือที่มาของความเชื่อ “สวรรค์ทั้ง ๕ ทิศ ในศาสนาเต๋า” ถ้าถามว่า “สวรรค์ในศาสนาเต๋ามีกี่ชั้น?” คำตอบคือ “มีชั้นเดียว” ซึ่งถ้าจะตอบให้ถูกจริงๆก็คือ “สวรรค์ในศาสนาเต๋าไม่มีชั้น” ในปัจจุบันที่พบว่าในศาสนาเต๋า มีถึงสวรรค์ทั้ง ๓๖ ชั้นนั้น เป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนามหายาน ซึ่งถ้าพูดกันตามความจริงแล้ว ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่กล่าวว่าสวรรค์มีหลายชั้น (รวมทั้งพรหมโลกด้วย) ทั้งในนัยยะของศาสนาเต๋าก็ค่อนข้างแตกต่างกับพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธศาสนาแสดงว่าสวรรค์ชั้นกามาวจร ยังมีการเสพกาม แต่ศาสนาเต๋าแสดงว่าในสวรรค์ไม่มีการเสพกาม ไม่มีภรรยา – สามี ไม่มีบุตร – ธิดา ในกรณีที่เคยได้ยินตำนานว่าเทพในศาสนาเต๋า มีภรรยา หรือบุตรนั้น เป็นเพียงนิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องเล่าของชาวบ้าน ไม่มีในศาสนาเต๋าแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ต้องแยกแยะว่า ในข้อเท็จจริงนั้น ศาสนาเต๋าในแง่ของมนุษย์ บางนิกายยังมีบุตรและภรรยา และไม่จำเป็นต้องกินเจเสมอไป

    [​IMG]

    และจากความเชื่อ “สวรรค์ทั้ง ๕ ทิศ ในศาสนาเต๋า” ต่อมาในสมัยราชวงศ์จิ้น 《晋朝》 (พ.ศ. ๘๐๘ – ๙๖๓) ความเชื่อนี้ได้ถูกพัฒนาเป็น “กองทัพสวรรค์ทั้ง ๕” และ “แม่ทัพสวรรค์ทั้ง ๕” ตามลำดับ (อ่านเรื่อง “เหล่งกี – ประกาศิตฟ้า – บัญชากองทัพสวรรค์

    อย่างไรก็ตาม เทพในศาสนาเต๋า ไม่ได้มีเฉพาะดวงดาวบนท้องฟ้าแต่อย่างใด โดยที่มาของเทพในศาสนาเต๋ายังประกอบไปด้วย เทพที่มาจากวรรณคดี, บุคคลในประวัติศาสตร์, เทพที่มาจากธรรมชาติ (ไฟ – ลม – น้ำ ฯลฯ), เทพท้องถิ่น และเทพที่ได้รับมาจากพระพุทธศาสนา
     
  7. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    ต่อไปเราจะพูดถึงกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) กลุ่มดาวนี้มีความสำคัญมาก ชื่อ “หมีใหญ่” นั้น เป็นการเรียกตามฝรั่ง คนจีนเรียกดาวกลุ่มนี้ว่า “เป๋ยโต่วซิง” 《北斗星》 (ฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ปักเต้าแช”) เอกสารหลายแห่งอธิบายอย่างผิดๆว่า คนจีนเห็นกลุ่มดาวนี้เป็นรูปกระบวย ทั้งนี้เพราะอาศัยการแปลคำว่า “โต่ว” 《斗》 ซึ่งตามศัพท์ นั้นแปลได้หลายความหมาย ซึ่ง ๒ ในนั้นคือ ๑. เครื่องตวงของชาวจีนมีลักษณะ ๔ เหลี่ยม และ ๒. หมายถึงชื่อของกลุ่มดาว อย่างไรก็ตามคำว่า “โต่ว” 《斗》 อันเป็นชื่อของกลุ่มดาวไม่ได้เกี่ยวข้องกับ เครื่องตวงของชาวจีนแต่อย่างใด โดยในทางดาราศาสตร์จีน มีกลุ่มดาวที่มีชื่อว่า “โต่ว” 《斗》 ๓ กลุ่มคือ

    ๑. กลุ่มดาว “เป๋ยโต่วซิง” 《北斗星》

    ๒. กลุ่มดาว “หนานโต่วซิง” 《南斗星》 และ

    ๓. กลุ่มดาว “โต่ว” 《斗》 ซึ่งเป็น กลุ่มดาว ๑ ใน ๒๘ ดาวนักษัตรของจีน (ทางอินเดียถือว่ามีเพียง ๒๗ กลุ่มเท่านั้น)


    และเมื่อแปลความผิดว่าเป็นกระบวย จึงลากเข้ากับความเชื่อฝรั่ง จากกลุ่มดาวหมีเล็ก และกลุ่มดาวหมีใหญ่ กลายเป็นกลุ่มดาวกระบวยเล็ก และกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ จากตรงนี้เองทำให้เราทราบว่า คนที่แปลเรื่องนี้เป็นชาวตะวันตก แปลจากภาษาจีนไปสู่ตะวันตกอีกที (และคนไทยก็แปลมาเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง ซึ่งสภาพการณ์ดังนี้พบได้มากในประเทศไทยเมื่อ ๓๐ – ๔๐ ปีก่อน เนื่องจากในวงการวิชาของเมืองไทย มีผู้ชำนาญภาษาจีนไม่มาก เอกสารวิชาการเกี่ยวกับจีนจำนวนมาก จึงแปลมาจากภาษาอังกฤษ การออกเสียงจึงผิดเพี้ยน ทั้งเนื้อหาก็ไม่สมบูรณ์ บางส่วนก็คลาดเคลื่อนไปจากความจริง โดยในปัจจุบันเอกสารลักษณะนี้ ยังสามารถพบเห็นได้ในมหาวิทยาลัย และสถานที่ทั่วไป ซึ่งบางทีไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาษาเท่านั้น บางเรื่องนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้เฉพาะทาง) ซึ่งในปัจจุบันคน แม้คนจีนเอง ก็ยังมีจำนวนไม่น้อย ที่ยังคิดว่าคนจีนมองกลุ่มดาวนี้เป็นรูปกระบวย

    อย่างไรก็ตามศาสนาเต๋า กล่าวว่าเทพกลุ่มดาวโต่ว มีทั้งหมด ๕ กลุ่ม อันประกอบไปด้วย “เป่ยโต่วซิงจฺวิน” 《北斗星君》 ทิศเหนือ, “หนานโต่วซิงจฺวิน” 《南斗星君》 ทิศใต้, “ตงโต่วซิงจฺวิน” 《东斗星君》 ทิศตะวันออก, “ซีโต่วซิงจฺวิน” 《西斗星君》 ทิศตะวันตก และ “จงโต่วซิงจฺวิน” 《中斗星君》 ตำแหน่งศูนย์กลาง

    [​IMG]

    ตามความเชื่อของชาวจีน กลุ่มดาวเป๋ยโต่ว เปรียบเสมือนราชรถของเง็กเซียนฮ่องเต้ มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากกลุ่มดาวเป๋ยโต่ว ไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี โดยนอกจากจะใช้การหาทิศเหนือในยามค่ำคืนแล้ว ยังใช้ในการกำหนดฤดูการสำหรับการเพาะปลูกอีกด้วย แม้ว่าคนจีนจะมีปฏิทินมากกว่า ๔,๐๐๐ ปี แต่การเผยแพร่ปฏิทินให้เป็นที่แพร่หลาย ไปสู่ประชาชน กลับไม่ใช่ของง่าย โดยทั่วไป ในสมัยโบราณ ประชาชน จะสังเกตหางของดาวเป๋ยโต่ว ในการกำหนดฤดูกาล กล่าวคือฤดูใบไม้ผลิหางของดาวเป๋ยโต่วจะชี้ไปทางทิศตะวันออก, ฤดูใบร้อนหางของดาวเป๋ยโต่วจะชี้ไปทางทิศใต้, ฤดูใบไม้ร่วงหางของดาวเป๋ยโต่วจะชี้ไปทางทิศตะวันตก และฤดูใบหนาวหางของดาวเป๋ยโต่วจะชี้ไปทางทิศเหนือ และนี่ก็คือที่มาของทฤษฎีวิชา ๕ ธาตุ ที่กล่าวว่า “ทิศตะวันออก ธาตุไม้ สังกัดฤดูใบไม้ผลิ, ทิศใต้ ธาตุไฟ สังกัดฤดูร้อน, ทิศตะวันตก ธาตุทอง สังกัดฤดูใบไม้ร่วง และตำแหน่งศูนย์กลาง ธาตุดิน ไม่สังกัดทิศและฤดูใดๆ” (ทฤษฎี ๕ ธาตุ นี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีศาสนาเต๋า) การที่หางของดาวเป๋ยโต่วชี้ไปทางทิศต่างๆ นี้ ที่จริงคือการที่ดาวเป๋ยโต่ว โคจรรอบดาวขั้วฟ้าเหนือ (โดยเป็นมุมมองเมื่อจากโลก) ซึ่งคนโบราณเชื่อว่า นี่คือการประทับราชยาน เสด็จประพาส เพื่อตรวจตราโลกมนุษย์ ขององค์เง็กเซียนฮ่องเต้ โดยเชื่อกันว่าในฤดูใบไม้ผลิจะเสด็จประพาสไปทางทิศตะวันออก, ฤดูร้อนจะเสด็จประพาสทางทิศใต้, ฤดูใบไม้ร่วงจะเสด็จประพาสไปทางทิศตะวันตก และฤดูหนาวจะเสด็จประพาสไปทางทิศใต้

    [​IMG]

    ในแง่ความเชื่อทางศาสนา ศาสนาเต๋าชื่อว่า ดาวเป๋ยโต่ว คือ “เทพเป๋ยโต๋วซิงจฺวิน” 《北斗星君》 (ปักเต้าแชกุน) โดยความเชื่อได้แตกออกเป็น ๒ สาย คือ พวกหนึ่งถือว่า เทพเป๋ยโต่วซิงจฺวิน คือเทพองค์หนึ่ง แต่อีกพวกหนึ่งเชื่อว่า เทพเป๋ยโต่วซิงจฺวิน ไม่ได้เป็นเทพเพียงองค์เดียว หากแต่เป็นคณะเทพที่ประกอบไปด้วยสมาชิก ๗ องค์ ตามจำนวนดาวของกลุ่มดาวเป๋ยโต่ว

    [​IMG]

    ต่อมาได้มีการนำดาวอีก ๒ ดวง ที่หางของกลุ่มดาวเป๋ยโต่ว (ในภาพประกอบคือดาวสีเขียว ๒ ดวงที่อยู่ตรงหางดาวเป๋ยโต่ว) มารวมเข้าไว้ด้วยกัน แล้วพัฒนาความเชื่อจาก “เทพเป๋ยโต่วซิงจฺวิน” 《北斗星君》 ให้กลายเป็น “จิ่วหวงต้าตี้” 《九皇大帝》

    [​IMG]
     
  8. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    โดยรายนาม “๙ เทพราชันย์” หรือ “จิ่วหวงต้าตี้” 《九皇大帝》 (กิ้วหองไต่เต่) หรือ “จิ่วหวงซิงจฺวิน” 《九皇星君》(กิ้วหองแชกุน) นั้น ประกอบไปด้วย


    ๑. ทานหลางซิงจฺวิน 《贪狼星君》

    ๒. จฺวี้เหมินซิงจฺวิน 《巨门星君》

    ๓. ลฺวี่ฉุนซิงจฺวิน 《禄存星君》

    ๔. เหวินฉฺวี่ซิงจฺวิน 《文曲星君》

    ๕. เหลียนเจินซิงจฺวิน 《廉贞星君》

    ๖. อู๋ฉฺวี่ซิงจฺวิน 《武曲星君》

    ๗. พ่อจฺวินซิงจฺวิน 《破军星君》

    ๘. ฟู่ซิงจฺวิน 《辅星君》

    ๙. ปี้ซิงจฺวิน 《弼星君》


    เชื่อกันว่าดาว “ฟู่” 《辅》 และดาว “ปี้” 《弼》เป็นฝาแฝดกัน โดยดาวฟู่อยู่ทางซ้าย และดาวปี้อยู่ด้านขวา ดาราทั้ง ๙ นี้ เป็นทฤษฎีที่สำคัญที่สุดทฤษฎีหนึ่ง ในวิชาฮวงจุ้ย อันมีนามว่า “เสฺวียนคงเฟยซิง” 《玄空飞星》
     
  9. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) คือ “ธุรวเทพ” (เทพดาวเหนือ) ขณะที่อีกสายกล่าวว่า (ศาสนาพราหมณ์เองก็มีหลายสายหลายนิกาย) คือ “สัตปฤาษี” (ฤาษีทั้ง ๗)

    [​IMG]

    “สัปตฤาษี” (ฤาษีทั้ง ๗) มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สปฺตรฺษิ” มีฐานะเป็นเทพประชาบดี เป็นมานะสาบุตรของพระพรหม “มานะสาบุตร” แปลว่า “บุตรอันเกิดจากความคิดนึก” ไม่ได้เกิดจากประเวณี อย่างเทพองค์อื่นๆ ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าเทพยังมีการเสพกาม ในคัมภีร์ “ศตปถพราหมณะ” แสดงนามแห่งสัปตฤาษีไว้ ดังนี้

    ๑. โคตมะ

    ๒. ภรัทวาชะ

    ๓. วิศวามิตระ

    ๔. ชมทัคนี

    ๕. วสิษฐะ

    ๖. กศยปะ

    ๗. อัตริ

    โดยในศาสนาพราหมณ์ ยังมีคัมภีร์อื่น ที่ออกนาม สัปตฤาษีที่แตกต่างไปจากนี้ อย่างไรก็ตาม คนอินเดียเองก็มีทัศนะ เกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนสมาชิก ของกลุ่มดาวหมีใหญ่เช่นเดียวกับชาวจีน โดยใน คัมภีร์ “วิษณุปุราณะ” ได้เพิ่มเข้าอีก ๒ องค์ คือ

    ๘. ภฤคุ

    ๙. ทักษะ

    และได้ขนานนามสัปตฤาษีใหม่ว่า “นวพรหมฤาษี” ซึ่งก็ตรงกับ “๙ เทพราชันย์” (กิ้วอ๋องไต่เต่) 《九皇大帝》 ของชาวจีนนั่นเอง

    บัดนี้จักได้แสดงจักรวาลวิทยาของชาวอินเดีย อันปรากฏอยู่ในพุทธศาสนา แลศาสนาพราหมณ์ เป็นลำดับสืบไป....

    คนอินเดียในสมัยโบราณนั้น เหมือนกับชาวจีนคือ ยึดถือว่า “ดาวขั้วฟ้าเหนือ” (Polaris) เป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่ต่างกันที่ คนจีนถือว่า ดาวขั้วฟ้าเหนือคือเทพ แต่คนอินเดียกลับไม่คิดเช่นนั้น คนอินเดียเชื่อว่านั่นคือที่ประทับของเทพ ผู้มีมเหศักดิ์อันยิ่ง คือมหาบรรพต ศูนย์กลางแห่งจักรวาล นั่นคือ “เขาพระสุเมรุ”

    “เขาพระสุเมรุ” หรือ “สิเนรุราชบรมบรรพต” ถือเป็นศูนย์การแห่งจักรวาลตามคติความเชื่อของอินเดียโบราณ ขณะที่คนจีนแบ่งจักรวาล (ท้องฟ้า) ออกเป็น ๓ ชั้น คนอินเดียได้แบ่งจักรวาลออกเป็น ๗ ชั้น โดยความเชื่อนั้น เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ล้อมรอบด้วยเทือกเขา ๗ ชั้น และแต่ละชั้นถูกขั้นกลางด้วย “มหานทีสีทันดร” จนถึงชั้นนอกสุดคือกำแพงจักรวาล โดยที่เทือกเขาทั้ง ๗ นั้น เรียกว่า “สัตบริภัณฑ์คีรี” ซึ่งแต่ละเทือกเขา มีนามดังต่อไปนี้ (เรียงลำดับจากชั้นในสุดไปยังชั้นนอกสุด และเอกสารบางแห่งอาจมีชื่อที่แตกต่างจากนี้บ้างเล็กน้อย โดยรายชื่อนี้เรียบเรียงจากเอกสารฝ่ายพระบาลี)

    ๑. ยุคันธระ

    ๒. อิสินธระ

    ๓. กรวีกะ

    ๔. สุทัสสนะ

    ๕. เนมินธระ

    ๖. วินตกะ

    ๗. อัสสกัณณะ

    [​IMG]

    ซึ่งแท้จริงแล้ว “มหานทีสีทันดร” ก็คืออวกาศอันบนท้องฟ้านั่นเอง ทั้งนี้เพราะเหตุที่ว่า คนอินเดียโบราณเห็นว่าท้องฟ้าเหมือนดั่งท้องทะเล ประโยคที่ว่า “หนทางระหว่างเขาพระสุเมรุเถิง (ถึง) กำแพงจักรวาล เป็นที่โคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ แลดารากรทั้งหลาย” เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า คนโบราณเชื่อว่า เขาพระสุเมรุ (ดาวขั้วฟ้าเหนือ) เป็นศูนย์กลาง โดยที่ดวงดาวทั้งหลายโคจรล้อมรอบ ในปัจจุบันการที่มีผู้กล่าวว่า เขาพระสุเมรุ คือ โลก, ขั้วโลกเหนือ, กาแล็กซี่ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะอาศัยความรู้ทางดาราศาสตร์ในปัจจุบัน โดยไม่มีความรู้ทางจักรวาลวิทยา (ความรู้เรื่องจักรวาล) ของคนโบราณ เมื่อได้พบเอกสารหรือคัมภีร์ของคนโบราณ จึงได้แต่จินตนาการไปตามความรู้ความเข้าใจของตน

    ยอดเขาพระสุเมรุ เป็นที่ประทับของพระอินทร์ หลายคนอาจสงสัยว่าเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นบรมบรรพตศูนย์กลางแห่งจักรวาล ทำไมเป็นเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ทำไมไม่เป็นที่ประทับสูงสุดอย่างพระพรหมธาดา, พระวิษณุ และพระศิวะเจ้า คำตอบคือ ความจริงแล้ว พระอินทร์เป็นเทพสูงสุดของชาวอารยัน ทรงเป็นเทพแห่งสงคราม, เป็นเทพแห่งชัยชนะ, เป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์, เป็นเทพแห่งสายฟ้า ตลอดจนเป็นเทพประจำเผ่าของชาวอารยัน

    คัมภีร์พระเวทแสดงไว้ว่า พระอินทร์นั้น มีพระวรกายอ้วน พระศอ, พระโอษฐ์ และพระนาภีใหญ่ พระองค์ทรงมีพระมัสสุ และเกศาสีทอง (ฝรั่งดีๆนี่เอง ซึ่งก็มีลักษณะเหมือนบรรพบุรุษของชาวอารยัน จะว่าไปก็คล้ายเทพจูปิเตอร์ของฝรั่งมาก จริงๆ แล้วบรรพบุรุษของชาวอารยัน และชาวยุโรปเป็นพวกเดียวกัน) ทรงโปรดที่จะเสวยน้ำโสม (เหล้า) ทรงเป็นโอรสแห่ง “เทยาส” (ท้องนภา) และ “ปฤถวี” (พื้นปฐพี)
    [​IMG]

    รูปลักษณ์ของพระอินทร์ ที่พบเห็นกันในปัจจุบันนั้น มาจากคัมภีร์ในสมัยหลัง ที่กล่าวว่า พระองค์มีผิวกายสีเขียว (บ้างก็ว่าผิวขาว) มี ๔ กร และพระกรยาว ซึ่งโดยมากมักจะทำรูปเคารพที่มีเพียง ๒ พระกร และยังแสดงอีกว่า ทรงเป็นโอรสของ พระกัศยปเทพบิดร และ พระนางอทิติเทพมารดร ทรงมีพี่น้องร่วมมารดา ๘ องค์ โดยที่พระองค์เป็นบุตรลำดับที่ ๖ โดยพี่น้องทั้ง ๘ นั้นมีนามว่า “อาทิตย์” ต่อท้าย (คำว่า “อาทิตย์” มีลักษณะเหมือนนามสกุล “อาทิตฺย” แปลว่า “เกิดแต่นางอทิติ”) ซึ่งพี่น้องทั้ง ๘ มีรายนามตามลำดับดังนี้

    ๑. พระวรุณาทิตย์ (พระวรุณ เทพแห่งสายฝน)

    ๒. พระมิตราทิตย์

    ๓. พระอริยมนาทิตย์

    ๔. พระภคาทิตย์

    ๕. พระองศาทิตย์

    ๖. พระอินทราทิตย์ (พระอินทร์)

    ๗. พระธาตราทิตย์

    ๘. พระสุริยาทิตย์ (พระสุริยะ - หรือที่คนไทยเรียกว่า “พระอาทิตย์”)

    [​IMG]

    ต่อมาภายหลัง การเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ มหาเทพทั้ง ๓ อันได้แก่ พระพรหม, พระนารายณ์ และพระศิวะ ได้เกิดขึ้นจากปรัชญาแนวคิดแห่งสรรพสิ่งว่า “เกิดขึ้น, ตั้งอยู่ และดับไป” นับแต่นั้นเป็นต้นมาฐานะของพระอินทร์ก็ไม่ใหญ่สมชื่อ (“อินฺท” เป็นภาษาบาลี ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “อินฺทฺร” แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่”) เรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) เกี่ยวกับพระอินทร์ในทางเสียหายก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจที่ลดลง, ความประพฤติที่ไม่เหมาะสม จนกระทั่งกลายเป็นตัวตลกแห่งสรวงสวรรค์

    [​IMG]

    มหาเทพทั้ง ๓ ในยุคเริ่มต้น พระพรหมเป็นเอก ในฐานะพระผู้สร้าง รองมาคือพระวิษณุ พระผู้รักษา และที่สุดคือ พระศิวะ พระผู้ทำลาย ต่อมาได้เกิดนิกายใหญ่ ๒ นิกาย คือ ไวษณวนิกาย บูชาพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด และไศวนิกาย บูชาพระศิวะเป็นเทพสูงสุด การขับเคี่ยวของทั้ง ๒ นิกาย กลายเป็นการช่วงชิงความเป็นใหญ่ของ ๒ มหาเทพ และผลที่ปรากฏคือ การดำเนินรอยตามพระอินทร์ของพระพรหม

    พระพรหมถูกลดความสำคัญลง จาก “พระผู้สร้าง” กลายเป็น “ผู้ถูกสร้าง” ไวษณวนิกาย กล่าวไว้ในคัมภีร์ “วราหปุราณะ” ว่าในพระพรหมทรงสมภพจากปทุมชาติ อันผุดขึ้นแต่พระนาภีของพระวิษณุ และยังกล่าวไว้ในคัมภีร์ “ปัทมปุราณะ” ว่า พระวิษณุทรงสร้างพระพรหมจากการแบ่งภาคจากพระองค์ ไศวนิกายเห็นท่าไม่ดี จึงกล่าวแก้ว่า พระศิวะเป็นสยัมภู (เกิดเองไม่มีใครสร้าง) โดยกล่าวว่า จักรวาลคือ อวกาศอันเวิ้งว้าง พระศิวะได้ถือกำเนิดขึ้น จากนั้นพระศิวะจึงทรงสร้างพระพรหม พระนารายณ์ และทวยเทพอื่นๆ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระพรหมจะถูกลดสถานะลง แต่เมื่อเทียบกับพระอินทร์แล้ว ฐานะของพระพรหมในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าดีกว่าพระอินทร์มากนัก

    ความเชื่อเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุ ส่งผลต่ออิทธิพลระบบความเชื่อในศาสนาพุทธและพราหมณ์ เป็นอันมาก ในด้านของสิ่งปลูกสร้างนั้น ได้แก่การสร้างปราสาท, พระปรางค์, เทวาลัย, พระเมรุ ฯลฯ ในด้านของพิธีกรรม ก็ได้แก่บายศรี โดยในพุทธศาสนาวัชรยานมีการสร้างมณฑลวัชรธาตุ, มหามณฑล

    [​IMG]

    บายศรีนี้สันนิษฐานกันว่า ไทยรับเอาวัฒนธรรมมาจากเขมร โดยคำว่า “บาย” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ข้าว” ทั้งนี้เพราะในการทำบายศรีนั้น จะมีการบรรจุข้าวสุกในกรวยตรงกลาง บายศรีนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน (ในรูปที่เห็นนี้คือบายศรีปากชาม ของคนภาคกลาง) ในกรณีที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด คือการออกแบบของผู้จัดทำ ในปัจจุบันมีการทำบายศรี โดยมีการอ้างว่าเป็นแบบบายศรีที่ใช้บูชาเทพ และมีแบบบายศรีที่ใช้บูชาพรหม ถือว่าเป็นการผิดเพี้ยนทางวัฒนธรรม โดยผู้ที่ทำนั้นต่างก็ไม่มีความรู้
     
  10. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    ดังเช่นกรณีของขัน ๕ (สะกดว่า “ขัน ๕” ไม่ใช่ “ขันธ์ ๕”) ขัน ๕ นี้คืออุปกรณ์ไหว้ครูอย่างหนึ่ง โดยจะมีขันน้ำล้างหน้า ๑ ใบ (คำว่า “ขัน” ในคำว่า “ขัน ๕” หมายถึงขันน้ำ ไม่ใช่ “ขันธ์ ๕” ในพระพุทธศาสนา) โดยในขันจะมีกรวยที่ทำจากใบตอง ๕ กรวย แต่ละกรวยจะบรรจุเทียน ๑ เล่ม ธูป ๑***ก หมากพลู ๑ คำ ดอกบัว ๑***ก (เอาแต่ดอกไม่เอาก้าน) ก้นขันรองด้วยผ้าเช็ดหน้าสีขาว และสีแดงอย่างละ ๑ ผืน และใส่เงินไหว้ครู (สมัยก่อนเรียกเงินกำนัลครู) ๖ สลึง, ๖ บาท, ๑๒ บาท (อย่างใดอย่างหนึ่ง) โดยขันนี้ทำขึ้นเพื่อใช้ไหว้ครู ใช้กริยาว่า “ตั้ง” (ตั้งขัน) ขันนี้จะเป็นตัวแทนครู จะไม่ทิ้ง ยกเว้นว่าจะมีการตั้งขันใหม่ โดยขันเก่าจะทำการทิ้งไป แต่จะไม่ใช้คำว่า “ทิ้ง” แต่จะใช้คำว่า “จำเริญ” โดยจะเอาไปวางไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่ หรือลอยน้ำไป ห้ามทิ้งถังขยะ การตั้งขันนี้จะไม่ทำพร่ำเพรื่อ ตามปกติจะไม่เกินปีละ ๑ ครั้ง “ขัน ๕” หรือ “ขันครู” นี้ คนเข้าใจผิดกันมาก บางคนก็เขียนกันเป็น “ขันธ์ ๕” ซึ่งผิด “ขัน ๕” นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ ในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ต่อมาภายหลังขัน ๕ กลายเป็นเครื่องมือของพวกถือผี โดยใช้กิริยาว่า “รับ” (รับขัน) ต่อมาก็กลายเป็นเครื่องมือของพวกเข้าทรง ซึ่งในปัจจุบันความเชื่อเชิงวัฒนธรรมที่ผิดเพี้ยนไปจากของเดิม มีอยู่มากมายในทุกส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน ฯลฯ

    [​IMG]
    [​IMG]
    ----------------------------------------------------------------
    [​IMG]

    พระเมรุสร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุแลจักรวาลวิทยา อันมีมาแต่อินเดียในสมัยโบราณ โดยประเทศในบริเวณนี้ อันได้แก่ พม่า, ลาว, เขมร และไทย ต่างรับเอาคติความเชื่อนี้มาทั้งนั้น สำหรับคนไทยนั้น งานพระราชพิธีออกพระเมรุ นอกจากจะสะท้อนถึง คติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาแล้ว ยังสะท้อนถึงพระเดชานุภาพ ความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง ของประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ คติเรื่องการปลง (เผา) ศพนี้ ในสมัยก่อนยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว สามัญชนไม่มีสิทธิ์ที่จะ ปลง (เผา) ศพภายในเขตกำแพงพระนคร (เมืองในสมัยก่อนไม่มีขนาดใหญ่เท่ากับทุกวันนี้ อย่างเช่นกรุงเทพมหานครนั้น ขนาดเมืองในสมัยก่อน ก็คือเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน พ้นจากเขตเกาะรัตนโกสินทร์ไปก็ถือว่า พ้นเขตกำแพงพระนคร ปัจจุบันกำแพงพระนครได้ถูกทุบทิ้งไปเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่เพียงบางส่วน คือบริเวณใกล้ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และบริเวณข้างวัดบวรนิเวศวิหารฯ บางลำพู) โดยการการปลง (เผา) ศพนี้ ตามคติโบราณในการสร้างเมือง ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว (เหตุที่ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นเพราะ ท่านเป็นเผ่าพงศ์วงศ์นารายณ์ เป็นสมมุติเทวา ไม่ใช่คนธรรมดา โดยที่เจ้านายชั้นสูง จะมีการพระราชพิธีพระศพ โดยจะจัดที่ “ทุ่งพระเมรุ” ปัจจุบันคือท้องสนามหลวง ซึ่งสนามหลวงปัจจุบันมีพื้นน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก เป็นเพราะการตัดถนน) ห้ามมีการปลงศพ สามัญชนในเขตพระนครเป็นอันขาด โดยถือว่าเป็นอวมงคล โดยเมื่อมีคนตายจะทำการนำศพออกจากเมือง โดยบังคับว่า จะต้องนำศพออกทางประตูเมืองด้านทิศเหนือ ด้วยเชื่อว่าทิศเหนือเป็นทิศแห่งความตาย กฎเกณฑ์นี้สำคัญมาก มาตรว่าฝ่าฝืน เชื่อกันว่า จะนำความอัปมงคล (อาเพศ) มาสู่เมือง

    คนจีนเชื่อว่า ทิศเหนือเป็นเป็นทิศแห่งความตาย ทั้งนี้เพราะศาสนาเต๋า เชื่อว่า “ชี่” 《气》 ริเริ่ม (กำเนิด) ที่ตะวันออก รุ่งเรื่องที่ทิศใต้ โรยราที่ทิศตะวันตก และร่วงโรย (ดับสูญ) ที่เหนือ ด้วยเหตุนี้เทพที่ทิศใต้ อย่างเทพ “หนานโต่วซิงจฺวิน” (หน่ำเต้าแชกุน) จึงมีหน้าที่ดูแลบัญชีเกิดของมนุษย์ ขณะที่เทพ “เป๋ยโต่วซิงจฺวิน” (ปักเต้าแชกุน) จึงมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความตายของมนุษย์ โดยความเชื่อนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิม ในปัจจุบันที่เราพบว่า มี “พญายมราช ๑๐ ตำหนัก” 《十殿阎罗王》 ตลอดจนถึงยมทูต “หน้าขาว – หน้าดำ” 《黑白无常》 และยมทูต “หัววัว – หน้าม้า” 《牛头马面》 เทพพวกนี้เป็นเทพที่ศาสนาเต๋า ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายานเมื่อภายหลัง

    เพราะเหตุที่ว่า ต้องนำศพออกไปทำการฌาปนกิจที่นอกกำแพงเมือง และต้องนำออกทางประตูเมืองด้านทิศเหนือ ประตูเมืองทางด้านทิศเหนือ จึงมีชื่อว่า “ประตูผี” และเมื่อนำศพออกไปแล้วก็ทำการเผาหรือฝัง แต่จะไม่มีการเผาในเขตวัดเด็ดขาด เชื่อกันว่าเผาศพในวัดจะนำความอวมงคล (เสนี ยดจั ญไร) มาสู่วัด คนสมัยก่อนจะทำเชิงตะกอนเผาศพ ตลอดจนถึงป่าช้านอกวัด ปัจจุบันที่พบว่ามีการสร้างเมรุเผาศพในวัด เป็นเรื่องที่มีมาในภายหลัง ถ้าสังเกตเราจะพบว่าวัดเก่าแก่ (โดยเฉพาะวัดหลวง) จะไม่มีเมรุเผาศพ (ยกเว้นจะมีการสร้างในสมัยหลัง) ประตูผีนี้อยู่ทางทิศเหนือของเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องจากชื่อไม่เป็นมงคล ทั้งคติความเชื่อนี้ได้เสื่อมคลาย ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นประตู “สำราญราษฎร์” (ปัจจุบันได้ถูกทุบทิ้งไปแล้ว) ที่ตั้งของประตูผีนี้ ปัจจุบันคือบริเวณสี่แยกสำราญราษฎร์ ถนนมหาไชย (ตรงที่ไปกินผัดไทยกันนั่นแหละ)

    ความเชื่อว่าทิศเหนือเป็นทิศของแห่งความตายของคนไทย มีนานเท่าใดไม่ทราบได้ หลักฐานที่สำคัญชิ้นหนึ่งคือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ที่กล่าวถึง “ทิศหัวนอน” และ “ทิศเบื้องตี นนอน” (ไม่ได้หยาบคาย นี่เป็นภาษาสมัยพ่อขุนราม) โดยทิศหัวนอนหมายถึงทิศใต้ และทิศเบื้องตี นนอนหมายถึงทิศเหนือ ความเชื่อนี้มีมาแต่พระพุทธศาสนา เล่ากันว่าเมื่อครั้งพระสุคตเจ้า ดับขันธปรินิพพาน ระหว่างต้นสาละทั้งสอง ที่เมืองกุสินารา ทรงหันพระเศียรไปยังทิศเหนือ และหันพระบาทไปทางทิศใต้ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่าทิศเหนือเป็นทิศแห่งความตาย โดยเชื่อกันว่าการนอนหัวศีรษะไปทางทิศเหนือไม่เป็นมงคล ต้องหันไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามแทน ด้วยเหตุนี้เองคนในสมัยสุโขทัยจึงกล่าวว่า “ทิศหัวนอน” คือ “ทิศใต้” และ “ทิศเบื้องตี น นอน” คือ “ทิศเหนือ” ปัจจุบันได้มีผู้ (เหมือนจะ) รู้ ได้อธิบายว่า พระปางไสยาสน์ ในประเทศไทยไม่ใช่ปางปรินิพพาน ด้วยเหตุที่ว่า พระปางไสยาสน์ในประเทศไทย ยังมีการนำพระหัตถ์หนุนพระเศียร ในลักษณะชันพระกร (ชันแขน) ขณะที่พระปางปรินิพพานที่เมืองกุสินารา จะวางพระกรแนบกับลำตัว (ซึ่งเหมือนกับคนตายจริงๆ) ข้อนี่ถ้าไปดูพระปางไสยาสน์ที่สร้างในสมัยสุโขทัยจะพบว่า พระไสยาสน์ทุกองค์จะหันศีรษะไปทางทิศเหนือ อันเป็นทิศที่พระศาสดาหันพระเศียรไปเมื่อครั้งปรินิพพาน ข้อนี้เป็นที่ยืนยันได้ดีว่า พระปางไสยาสน์ในประเทศไทย คือปางปรินิพพาน โดยการชันพระกรขึ้นนั้น เป็นพุทธศิลป์อย่างหนึ่งเท่านั้น

    ต่อไปเราจะพูดถึงท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ในปัจจุบันมีเอกสารและนักวิชาการบางคน อาศัยการตีความจากคัมภีร์ฝ่ายมหายาน ที่แสดงว่า เมือท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พากันมาเฝ้าพระศาสดา ๑ ในนั้นฟังภาษาที่พระสุคตเจ้าตรัสไม่ออก พระศาสดาจึงทรงตรัสภาษาท้าวจาตุมหาราชองค์นั้นฟังแล้วเข้าใจ โดยอธิบายว่าแท้จริงแล้ว ท้าวจาตุมหาราช หรือท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ เป็นหัวหน้าชนเผ่า ที่อยู่ในทิศทั้ง ๔ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดเลยแม้แต่สิ่งเดียวในทางจักรวาลวิทยา ที่ตั้งอยู่บนโลกนี้

    ก่อนอื่นนั้นเราจะต้องทำความรู้จักกับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก่อน ดังนี้

    ๑. ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวัณ อธิบดีแห่งยักษ์และภูตผี มหาราชแห่งอุตรทิศ (ทิศเหนือ)

    ๒. ท้าววิรุฬหก อธิบดีแห่งเทวดา และ กุมภัณฑ์ มหาราชแห่งทักษิณทิศ (ทิศใต้)

    ๓. ท้าวธตรัฏฐ์ อธิบดีแห่งคนธรรพ์ มหาราชแห่งบุรพทิศ (ทิศตะวันออก) และ

    ๔. ท้าววิรูปักษ์ อธิบดีแห่งนาค มหาราชแห่งปัจฉิมทิศ (ทิศตะวันตก)

    [​IMG]
    [​IMG]

    ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ นี้ เป็นความเชื่อในพุทธศาสนา ไม่มีในศาสนาเต๋า โดยที่พบว่ามีเรื่องของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ในนิยายอิงประวัติศาสตร์จีน เป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นมาภายหลัง ในบรรดาท้าวจตุโลกบาล คงไม่มีองค์ไหนจะมีบทบาทเกินไปกว่าท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณ ที่กล่าวว่าท้าวกุเวรเป็นจ้าวแห่งยักษ์และภูตผีนั้น บางแห่งก็ว่าเจ้าแห่งมนุษย์ด้วย ในอินเดียจะมีการทำรูปเคารพของท้าวกุเวรที่มีมนุษย์หรือยักษ์เป็นพาหนะ ขณะที่ทิเบตเชื่อว่ามีม้าหรือราชสีห์เป็นพาหนะ ในคัมภีร์มหารามายณะ แสดงว่ามีบุษบกเป็นพาหนะ แต่ภายหลังมีคนขึ้นไปนั่ง จนเกิดมลทินไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งว่ากันตามคัมภีร์ฝ่ายมหายานแล้ว ท้าวกุเวรก็คือพ่อของหน่าจา 《哪咤》 ในปัจจุบันมีการบูชาเทพเจ้าแห่งโชคลาภของทิเบต ที่มีนามว่า “จัมปาลา” ซึ่งเทพองค์นี้แท้จริงแล้วก็คือท้าวกุเวรนั่นเอง

    [​IMG]

    ท้าว “กุเวร” หรือ “จัมปาลา” เทพแห่งโชคลาภของทิเบตนี้ ชาวทิเบตมักจะทำเป็นรูปชายรูปร่างอ้วน ผิวกายสีเหลือง ท่อนบนเปลือยเปล่า มีราชสีห์เป็นพาหนะ พระหัตถ์ขวาถือ “จินดามณี” แก้วสารพัดนึก (บางทีพระหัตถ์ขวาก็ถือร่ม) พระหัตถ์ซ้ายถือพังพอน (ไม่ใช่หนูหรือกระรอก) พระบาทเหยียบหอยสังข์

    การที่พระบาทเหยียบหอยสังข์ หมายความถึงการเป็นอธิบดีแห่งนิธิ (ทรัพย์) ในแผ่นดินและมหาสมุทร พระหัตถ์ซ้ายถือพังพอน ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่า แหล่งขุมทรัพย์ทั้งหลายจะมีงูเฝ้าอยู่ (หรือที่คนไทยเรียกว่า “งูเจ้า”) และการที่จะต่อสู้กับงู เพื่อที่จะนำทรัพย์ออกมาได้ต้องอาศัย “พังพอน” ซึ่งเป็นคู่ปรับของงู เชื่อกันว่าพังพอนตัวนี้เป็นพังพอนวิเศษ จะคายแก้วมณี และทรัพย์สมบัติออกมาตลอดเวลา พระหัตถ์ขวาถือ “จินดามณี” แก้วสารพัดนึก หมายถึงการสมปรารถนาในทุกเรื่อง ในกรณีที่ถือร่ม หมายถึง ฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งก็หมายถึงความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง ที่กล่าวว่าท่านเป็น “จ้าวแห่งภูตผี” นั้น เพราะเชื่อกันว่า ขุมทรัพย์ต่างๆจะมีผีเฝ้าอยู่ โดยเชื่อกันว่า พวกเศรษฐีเมื่อตายไป หากมีจิตอาลัยในทรัพย์ของตน ก็จะไปเกิดเป็นเปร ตเฝ้าทรัพย์ (คนไทยเรียกว่า “ปู่โสม”) ด้วยเหตุที่ท่านเป็น “เจ้าผี” นี้ จึงสามารถนำทรัพย์ออกมาได้ทุกเมื่อ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 ธันวาคม 2009
  11. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    ในทางจักรวาลวิทยา กล่าวว่าท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่บนเขายุคันธระ (เขายุคนธร) ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งในทางดาราศาสตร์ ก็คือกลุ่มดาวทั้ง ๔ ที่เป็นเทพอารักษ์ทั้ง ๔ ของจีนนั่นเอง ดังรูป

    [​IMG]

    กลุ่มดาวซีฟิอัส Cepheus คือ ท้าววิรุฬหก มีสัญลักษณ์ เหมือนหม้อหรือคนโทน้ำ ทั้งนี้เพราะ ท้าววิรุฬหกเป็นนายแห่งกุมภัณฑ์ คำว่า “กุมฺภ” แปลว่า “หม้อหรือคนโทน้ำ”

    กลุ่มดาวยีราฟ Camelopardalis คือ ท้าวกุเวร เป็นเจ้าแห่งมนุษย์หรือยักษ์ สัญลักษณ์จึงเป็นรูปมนุษย์หรือยักษ์ (กลุ่มดาวดวงนี้รูปร่างคล้ายคน )

    กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย Cassiopeia คือ ท้าวธตรัฏฐ์ เจ้าแห่งคนธรรพ์ คำว่า “คนธรรพ์” มาจากบาลีว่า “คนฺธพฺพ” แปลว่า “พวกที่มีกลิ่นหอม” ตามความเชื่อนั้น ในคัมภีร์ “ปรมัตถโชติกะ” แสดงไว้ว่า เป็นพวกโอปปาติกะที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม (คล้ายๆรุกขเทวดา) เพราะฉะนั้น ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของคนธรรพ์ (กลุ่มดาวแคสซิโอเปียนี้ คนไทยเรียกว่า “กลุ่มดาวค้างคาว”)

    กลุ่มดาวมังกร Draco คือ ท้าววิรูปักษ์ อันนี้ชัดเจนเพราะท่านเป็น อธิบดีแห่งนาค สัญลักษณ์คือนาค รูปเคารพของจีนจะพบว่าท่านถือมังกร กลุ่มดาวมังกรนี้ อินเดีย, จีน, ฝรั่ง เห็นตรงกันว่า เหมือน นาค หรือ มังกร (งู) Draco (Dragon)

    และถ้าสังเกตจะพบว่า คนอินเดียถือว่า กลุ่มดาวยีราฟ Camelopardalis เป็นทิศเหนือ ขณะที่คนจีนถือว่า กลุ่มดาวซีฟิอัส Cepheus เป็นทิศเหนือ

    ต่อไปเราจะว่าด้วย ทวีปทั้ง ๔ อันมีมาในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาแสดงว่า มีมหาทวีปทั้ง ๔ คือ อุตรกุรุทวีป, ปุพพวิเทหทวีป, ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป โดยที่ อุตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ (“อุตร” แปลว่า “ทิศเหนือ”), ปุพพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ (“ปุพฺพ” แปลว่า “ทิศตะวันออก”), ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ และอมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ

    คำว่า “ทวีป” มาจากรวมคำ ๒ คำ คือ คำว่า “ทวิ” ที่แปลว่า “สอง” และ คำว่า “อาป” ที่แปลว่า “น้ำ” คำว่า “ทวีป” จึงแปลได้ว่า “สถานที่ที่มีน้ำไหลผ่านทั้งสองข้าง” หรือก็คือ “สถานที่ที่มีน้ำล้อมรอบ” นั่นเอง ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า คนอินเดียโบราณเห็นว่า ท้องฟ้าหรืออวกาศอันไพศาลนั้น เป็นดั่งท้องนทีหรือท้องสมุทร ดังนั้นทวีปในทางจักรวาลวิทยาก็คือ กลุ่มดาวบนท้องฟ้านั่นเอง โดยทวีปทั้ง ๔ นั้นคือกลุ่มดาวทั้ง ๔ ดังภาพต่อไปนี้

    [​IMG]

    จากภาพจะพบว่า​

    ๑. อุตรกุรุทวีป มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ คือ กลุ่มดาวสารถี (Auriga)

    ๒. ปุพพวิเทหทวีป มีสัณฐานเป็นรูปพระจันทร์เต็มดวง (วงกลม) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ คือ กลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona borealis)

    ๓. ชมพูทวีป มีสัณฐานเป็นรูปดุมเกวียน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ คือ กลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) และ

    ๔. อมรโคยานทวีป มีสัณฐานเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก หรือ บาตรตัด (ครึ่งวงกลม) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ คือ กลุ่มดาวสามเหลี่ยม (Triangulum)

    บางคนอาจแย้งว่า “ชมพูทวีป” คือ โลกที่เราเหยียบอยู่นี้ ไม่ใช่ดาวดวงอื่น ข้อนี้ขอเรียนว่า คำว่า “ชมพูทวีป” นี้ มี ๓ ความหมาย คือ

    ๑. โลกที่เราอาศัยอยู่นี้

    ๒. สถานที่แห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือประเทศอินเดีย และบริเวณใกล้เคียง

    ๓. ในความหมายของจักรวาลวิทยา คือ กลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของดาวขั้วฟ้าเหนือ (ตามความคิดของคนโบราณ)

    จะสังเกตได้ว่า ชมพูทวีปในทางจักรวาลวิทยาที่แสดงไว้ในคัมภีร์ ไม่ได้มีรูปร่างเหมือนอย่างโลกเราแต่อย่างใด แม้แต่ในเรื่องของขนาดของชมพูทวีปที่แสดงไว้ (ซึ่งคนโบราณคิดว่ามันใหญ่มาก) บัดนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ขนาดที่แสดงไว้นั้น มีขนาดเล็กกว่าโลกของเรา อนึ่งดาวหลายดวง ที่เราซึ่งอยู่บนโลกคิดว่าเป็นกลุ่มดาวเดียวกัน ในความเป็นจริงเป็นเพียงการจัดกลุ่มดาวโดยสมมุติขึ้น ในข้อเท็จจริงดาวแต่ละดวง ในกลุ่มดาวต่างๆ หาได้มีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใดไม่
     
  12. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    บัดนี้จักได้กล่าวถึงพระจุฬามณีเจดีย์สวรรค์, พิภพอสูร, ไกลาสสิงขร และไวกูณฐ์พิภพ ในทางจักรวาลวิทยา เป็นลำดับสืบไป

    [​IMG]

    พระจุฬามณีเจดีย์สวรรค์นั้น ท่านแสดงไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระสิทธัตถะราชกุมาร เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์นั้น ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นสู่นภากาศ ครานั้นสมเด็จพระอัมรินทราธิราช ทรงนำพานทองมารองรับพระเมาลี แล้วนำไปประดิษฐานในพระจุฬามณีเจดีย์ (“จุฬา” มีความหมายเดียวกับ “เมาลี” หรือ “โมฬี” แปลว่า “จุก(ผม)” ส่วนคำว่า “มณี” แปลว่า “ดวงแก้ว” ) ต่อมาเมื่อครั้ง แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ท้าวสหัสนัยน์ ทรงนำพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ที่โทณพราหมณ์ ซ่อนไว้ในมวยผม ไปบรรจุไว้ที่พระจุฬามณีเจดีย์ เพื่อเป็นที่สักการะเทพยดาทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เมื่อคนตาย จึงให้ศพถือธูปเทียนดอกไม้ด้วยเชื่อกันว่า ผู้ตายจะได้นำไปสักการะ พระเกศาธาตุ และพระเขี้ยวแก้ว ที่พระจุฬามณีเจดีย์สวรรค์



    ท่านแสดงว่า พระจุฬามณีเจดีย์สวรรค์ ตั้งอยู่ทางอาคเนย์ทิศ (ตะวันออกเฉียงใต้) ของเขาพระสุเมรุ หรือก็คือ กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ Bootes นั่นเอง (ที่ฝรั่งคิดว่ากลุ่มดาวนี้เป็นรูปคนเลี้ยงสัตว์ เพราะว่า กลุ่มดาวนี้อยู่ใกล้กลุ่มดาวหมีเล็ก และกลุ่มดาวหมีใหญ่ เลยคิดไปได้ว่า กลุ่มดาวนี้คือกลุ่มดาวคนเลี้ยงหมี.... )



    พิภพอสูรนั้น ท่านแสดงว่า ใต้เขาพระสุเมรุ มีภูเขา ๓ ลูกทำมุมเป็นสามเหลี่ยมก้อนเส้า พื้นที่ระหว่างภูเขาทั้ง ๓ ลูกนั้น เรียกว่า “ตรีกูฏ” เป็นที่ตั้งของพิภพอสูร ตามความเชื่ออสูรนั้นแต่เดิมเป็นเทพผู้ครองสวรรค์ ต่อมาเมื่อ “มาฆะมานพ” (พระอินทร์) ไปอุบัติบนดาวดึงส์ บรรดาเทพที่เคยอยู่ก่อน ก็จัดงานเลี้ยงต้อนรับ พอเมาได้ที่ มาฆะมานพและพวก ก็จับพวกเทพทั้งหลายโยนลงมาที่ตี นเขาพระสุเมรุ แล้วตั้งตัวเองเป็นพระอินทร์ ด้วยเหตุที่เทพที่ถูกโยนลงมาเหล่านั้นมีบุญรักษา จึงบังเกิดเป็นนครที่ตี นเขาพระสุเมรุ ซึ่งมีความวิจิตรไม่แพ้สวรรค์ดาวดึงส์ เทพเหล่านั้นตระหนักถึงภัยของสุราที่ตนดื่ม เป็นเหตุให้ภัยมาถึงตัว เพื่อเตือนสติตนเอง จึงขนานนามตนเองว่า “อสุร” แปลว่า “ไม่ดื่มสุรา” อย่างไรก็ตามพวกอสูรเองก็ยังมีความคิดที่จะชิงดาวดึงส์คืน ด้วยเหตุนี้ เทวดาและอสูรจึงรบพุ่งกันตลอดมาเป็นเนืองนิตย์



    จากคติความเชื่อข้างต้น พิภพอสูร คือบริเวณที่ดาวทำทั้ง ๓ ทำมุมเป็นรูปทั้งสามเหลี่ยมนั่นเอง (ในรูปคือสีเหลือง) ซึ่งดาว หรือ ภูเขา ทั้ง ๓ (ตรีกูฏ) นั้นประกอบไปด้วย ดาววีกา (Vega), ดาวตานกอินทรี (Altair) และ ดาวางหงส์ (Deneb)



    ส่วนเขาไกลาส และไวกูณฐ์ หรือ เกษียรสมุทร นั้น ในคัมภีร์แสดงว่า เกษียรสมุทร อันเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ คือทะเลน้ำนม (คำว่า “เกษียร” มาจากคำว่า “กษีร” ในภาษาสันสกฤต หรือ ”ขีร” ในภาษาบาลี แปลว่า “น้ำนม” โดยในบางแห่งจะเรียก “เกษียรสมุทร” ว่า “ขีรสาคร”) โดยกล่าวว่าต้นน้ำของ เกษียรสมุทร มาจากแม่น้ำคงคา (ศาสนาพราหมณ์กล่าวว่า แม่น้ำคงคา มีต้นน้ำอยู่บนสวรรค์ ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยตีความอย่างผิดๆ ว่า แม่น้ำคงคามีต้นน้ำจากเทือกเขาหิมาลัย ว่าแท้ที่จริงแล้ว ต้นแม่น้ำคงคาในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ อันหมายถึงนทีแห่งสวรรค์ แท้ที่จริงแล้วคือทางช้างเผือก และ สวรรค์คือท้องฟ้า ไม่ใช่เทือกเขาหิมาลัย) แล้วผ่าน “ธุรวเทพ” (ดาวเหนือ) จากนั้น ผ่านสระน้ำแห่งสวรรค์ทั้ง ๕แล้ว ค่อยลงมายัง เกษียรสมุทร ขณะที่ไศวนิกายกล่าวว่า ก่อนที่จะแม่น้ำคงคาจะไปยังสระน้ำแห่งสวรรค์ทั้ง ๕ ไม่ได้ผ่านธุรวเทพ แต่ผ่านมวยผมของพระศิวะ และไหลลงมาตามพระพักตร์ ทำให้แม่น้ำคงคาแยกมาเป็น ๗ สาย เพื่อลดความรุนแรงของแม่น้ำ ไม่ให้แม่น้ำคงคาทำลายโลก จากนั้นไหลสู่สระน้ำแห่งสวรรค์ทั้ง ๕, เกษียรสมุทร แล้วค่อยลงมาสู่โลกมนุษย์ (ท่านใดสนใจเรื่องราวในช่วงนี้ เชิญหาเรื่องเกี่ยวกับ “การเชิญแม่น้ำคงคาลงมาสู่โลกมนุษย์” อ่านได้)

    [​IMG]

    จากคติความเชื่อข้างต้น ไวกูณฐ์พิภพ ก็คืออสูรพิภพ ในพุทธศาสนา ไกลาสบรรพตก็คือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) นั่นเอง อย่างไรก็ตาม แต่มีอีกสายหนึ่งซึ่งกล่าวแตกต่างกันออกไป คือ กล่าวว่าไกลาสสิงขร เป็นหนึ่งใน มหาบรรพตทั้ง ๕ ในป่าหิมพานต์



    ป่าหิมพานต์ในทางจักรวาลวิทยา ไม่ได้อยู่ที่เทือกเขาหิมาลัย หากแต่อยู่ทางทิศเหนือของชมพูทวีป (กลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส Hercules) ซึ่ง “ปัญจมหาบรรพต” ก็คือ กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย Cassiopeia นั่นเอง



    ส่วน ไวกูณฐ์ หรือ เกษียรสมุทร อีกสายแสดงว่า คือ ๑ ใน ๔ มหาสมุทรแห่งสวรรค์ โดยที่กล่าวไว้แล้วว่า คนอินเดียโบราณเปรียบท้องฟ้าดุจดังท้องทะเล ด้วยเหตุนี้จึงแบ่งท้องฟ้าออกเป็น ๔ ทิศ (เหมือนกับการแบ่ง “สวรรค์ทั้ง ๕ ทิศ ในศาสนาเต๋า) โดยที่ “เกษียรสมุทร” หรือ “ขีรสาคร” คือท้องฟ้าทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งท้องฟ้าทั้ง ๔ ทิศ มีนามดังต่อไปนี้



    ๑. ปีตสาคร มีน้ำสีเหลือง (“ปีต” แปลว่า “สีเหลือง”) คือ ท้องฟ้าทางทิศเหนือ

    ๒. ขีรสาคร (เกษียรสมุทร) มีน้ำสีดั่งน้ำนม คือ ท้องฟ้าทางทิศตะวันออก

    ๓. นีลสาคร มีน้ำสีเขียว (“นีล” แปลว่า “สีเขียว”) คือ ท้องฟ้าทางทิศใต้

    ๔. ผลึกสาคร สีน้ำเหมือนแก้วผลึก คือ ท้องฟ้าทางทิศตะวันตก
     
  13. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    “ทวาทศราศี” หรือ “๑๒ราศี” มีปรากฏในชนทุกชาติทุกภาษา ชนชาติใดเป็นผู้ริเริ่มไม่ทราบได้ ต่างคนต่างอ้างว่า บรรพบุรุษของตนเป็นคนต้นคิด แต่ที่แน่ๆคือ สัญลักษณ์ของ ๑๒ ราศีนี้ทุกชาติทุกภาษาล้วนตรงกัน โดยเรียงลำดับดังต่อไปนี้ ๑. ราศีเมษ (แกะ), ๒. ราศีพฤษภ (วัว), ๓. ราศีมิถุน (คนคู่), ๔. ราศีกรกฏ (ปู), ๕. ราศีสิงห์ (สิงโต), ๖. ราศีกันย์ (หญิงสาวพรหมจรรย์), ๗. ราศีตุล (ตราชั่ง), ๘. ราศีพิจิก (แมงป่อง), ๙. ราศีธนู (คนยิงธนู), ๑๐. ราศีมกร (สัตว์ในตำนานกึ่งแพะกึ่งปลา บ้างก็ว่าเป็นแพะทะเล), ๑๑. ราศีกุมภ์ (คนโทน้ำ) และ ๑๒. ราศีมีน (ปลาคู่) โดยที่ ๑๒ ราศีนี้ คือกลุ่มดาวทั้ง ๑๒ กลุ่มอันตั้งอยู่บนเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ Ecliptic



    เส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ Ecliptic (เมื่อมองจากโลกนี้) คนไทยเรียกว่า “ระวิมรรค” หรือ “สุริยะวิถี” (สุดแท้แต่จะตั้งชื่อ) ส่วนคนจีนเรียกว่า “หวงเต้า” 《黄道》 หรือ “หวงเหล่าจือเต้า” 《黄老之道》 (เรียกสั้นๆว่า “หวงเหล่า”) ซึ่ง “หวงเต้า” 《黄道》 นี้ เป็นชื่อของศาสนาโบราณของจีน ก่อนที่จะกลายมาเป็นศาสนาเต๋า 《道教》 ในที่สุด


    คนโบราณแบ่งท้องฟ้าออกเป็น ๑๒ ส่วนเท่าๆกัน โดยมีดาวขั้วฟ้าเหนือเป็นจุดศูนย์กลาง ท้องนภาอันไร้ประมาณ มีปริมณฑลโดยรอบได้ ๓๖๐ องศา เมื่อแบ่งเป็น ๑๒ ส่วน จึงได้ส่วน (ราศี) ละ ๓๐ องศา (“องศา” มาจากคำว่า “อํศ” แปลว่า “การแบ่ง”) ซึ่งการแบ่งนี้เป็นการแบ่งโดยการคำนวณเท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว กลุ่มดาวทั้ง ๑๒ ต่างมีขนาดเล็กใหญ่ กินพื้นที่ในท้องฟ้าที่ไม่เท่ากัน

    ๑๒ ราศีนั้น ถือกันว่าเริ่มต้นที่ราศีเมษ และสิ้นสุดที่ราศีมีน โดยเวียนวนเช่นนี้ไปมิสิ้นสุด เหตุที่ใช้ราศีเมษเป็นราศีเริ่มต้น ทั้งนี้เพราะแกนโลกเอียงได้ ๒๓.๕ องศา ด้วยเหตุนี้ โดยปกติจะมีราศีอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร (โลกซีกเหนือ) ๖ ราศี และใต้เส้นศูนย์สูตร (โลกซีกใต้) ๖ ราศี เมื่อแกนโลกเอียงจึงทำให้โลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน เมื่อโลกซีกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ จะทำให้โลกซีกเหนือเป็นฤดูร้อน และมีเวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืน ในทางตรงกันข้ามเมื่อโลกซีกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ โลกซีกเหนือจะเป็นฤดูหนาว มีเวลากลางคืนยาวกว่ากลางวัน แต่อย่างไรก็ตาม ใน ๑ ปี จะมี ๒ ช่วงที่โลกซีกเหนือ และโลกซีกใต้ หันเข้าหาดวงอาทิตย์เท่าๆกัน ซึ่งก็หมายความว่าจะมีเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน โดยเวลาทั้ง ๒ ช่วงนั้นคือ ช่วงที่พระอาทิตย์โคจรผ่าน (เมื่อมองจากโลก) ราศีเมษ และราศีตุล ด้วยเหตุนี้ ราศีเมษจึงเป็นจุดเริ่มต้นของจักรราศี ขณะที่ราศีตุลคือการแบ่งครึ่งจักรราศี

    อาศัยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ในปกรณ์ทางพยากรณ์ศาสตร์จึงกล่าวว่า ชนใดเกิดภายใต้อิทธิพลของราศีเมษ และราศีตุล ย่อมมีจิตใจที่เที่ยงธรรมเป็นกลาง แต่มีข้อแตกต่างคือราศีเมษเป็นธาตุไฟ มักอารมณ์ร้อน แม้จะเป็นซื่อตรง แต่ไม่ยอมอย่างยิ่งที่จะถูกเอาเปรียบหรือถูกใส่ร้าย จึงมักยอมหักไม่ไม่ยอมงอ ด้วยเหตุนี้มักมีศัตรูมาก ซึ่งต่างจากราศีตุลที่เป็นธาตุลม จึงอ่อนโยน มีความอดทน ประสานได้กับคนทุกฝ่าย ลดความขัดแย้ง โดยไม่เสียความเป็นกลาง จึงมักกล่าวกันว่า “ราศีเมษตรงเหมือนไม้ ราศีตุลตรงเหมือนเชือก”

    [​IMG]

    แผนที่ฟ้าของคนโบราณ จะมีลักษณะสลับซ้าย – ขวากับแผนที่ฟ้าในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จักรราศีในแผนที่ฟ้าของโบราณจะตรงข้ามกัน กล่าวคือ จักรราศีของคนโบราณ (หรือก็คือที่พวกหมอดูใช้) จะเวียนขวา (ทักษิณาวัตร – ทวนเข็นนาฬิกา) ขณะที่จักรราศีในปัจจุบันจะเวียนซ้าย (อุตราวัตร – ตามเข็มนาฬิกา) และด้วยนัยยะเดียวกันนี้ สรรพดาราทั้งปวงตามสายตาของคนโบราณ จะโคจรรอบเขาพระสุเมรุโดยอาการเวียนขวา โดยนัยหนึ่งหมายถึงเทพทั้งปวงกระทำการสักการะ ท้าวสักกะผู้เป็นเจ้าฟ้า เหตุนี้เองจึงเชื่อกันว่า การเวียนขวา หรือ ทักษิณาวัตร เป็นมงคล ขณะที่การ เวียนซ้าย หรือ อุตราวัตร เป็นอัปมงคล ในแง่ประเพณี ไม่ว่าจะเป็นงานเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา, การแห่นาครอบพระอุโบสถก่อนบวช จะกระทำโดยการทักษิณาวัตร (เวียนขวา โดยการเดินรอบ แล้วหันแขนขวาเข้าหาโบสถ์หรือเจดีย์) จะมีเพียงการแห่ศพรอบเมรุเท่านั้น ที่กระทำโดยการอุตราวัตร (เวียนซ้าย)

    อนึ่งดวงดาวทั้งปวงที่เราเห็นอยู่บนท้องฟ้า มีเพียงดาว ๖ ดวงเท่านั้น ที่เป็นดาวเคราะห์ นอกนั้นเป็นดาวฤกษ์ทั้งสิ้น ดาวเคราะห์นี้ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง การที่เราสามารถมองเห็นได้ทั้งนี้เพราะการได้รับแสงสว่างจากด้วยอาทิตย์ เมื่อรวมดาวเคราะห์ทั้ง ๖ และ พระอาทิตย์ จึงเป็นที่มาของการกำหนดวันทั้ง ๗ ใน ๑ สัปดาห์ (อาทิตย์, จันทร์, อังคาร ฯลฯ)
     
  14. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    ดังที่กล่าวแล้วว่า คนโบราณเชื่อว่า “เง็กเซียนฮ่องเต้” หรือ “เขาพระสุเมรุ” (ดาวขั้วฟ้าเหนือ) เป็นศูนย์กลางจักรวาล โดยมีพระอาทิตย์และดารากรทั้งปวงเป็นบริวาร โดยที่ดวงดาวทั้งปวงจะโคจรรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งถ้าพระอาทิตย์โคจรรอบเขาพระสุเมรุครบ ๑ รอบ (หรือก็คือ ครบ ๑๒ ราศี) เรียกว่า ๑ ปีสุริยคติ (ซึ่งก็คือปฏิทินสากลที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้) เมื่อพระจันทร์โคจรครบ ๑ รอบ เรียก ๑ เดือนจันทรคติ โดยเมื่อพระจันทร์โคจรครบ ๑๒ รอบ เรียกว่า ๑ ปีจันทรคติ (ซึ่งก็คือที่มาของปฏิทินจันทรคติไทย, จีน, อินเดีย, อิสลาม ฯลฯ) และเมื่อดาวพฤหัสจรรอบเขาพระสุเมรุ ๑ รอบ เรียกว่า ๑ ปีพฤหัสคติ (๑ ปีพฤหัสคติ เท่ากับ ๑๒ ปีสุริยคติ)

    การที่ดาวพฤหัสโคจรรอบเขาพระสุเมรุนี้ หรือก็คือการโคจรผ่าน กลุ่มดาวทั้ง ๑๒ ราศี จะต้องผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ หรือ นักษัตรทั้ง ๒๘ ของจีน (หรือ ๒๗ ของอินเดีย) โดยจะมี ๑๒ กลุ่มที่มีรูปร่างตามจินตนาการของคนสมัยก่อน ตามและชนชาติ ว่าเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ นักษัตรทั้ง ๑๒ นี้ จะกระจายอยู่ตามราศีทั้ง ๑๒ ราศี และเมื่อดาวพฤหัสโคจรมาถึง จึงเรียกว่า “๑ นักษัตร” โดยที่ ๑ นักษัตรจะมีเวลาเท่ากับ ๑ ปีสุริยคติโดยประมาณ (เวลาที่กล่าวนี้เป็นเวลาประมาณการ ทั้งนี้เพราะในสายตาคนโบราณ ดาวดวงต่างๆเดินไม่มีมาตรฐานช้าบ้างเร็วบ้าง ซึ่งถ้าอธิบายด้วยดาราศาสตร์ปัจจุบัน คือการที่ดาวโคจรเป็นวงรี เมื่อมองจากโลกดาวจึงเดินไม่สม่ำเสมอ )

    และเมื่อดาวพฤหัสโคจรครบรอบเขาพระสุเมรุ ๑ รอบ (๑ ปีพฤหัสคติ) ก็คือการโคจรผ่านดาวนักษัตรทั้งหมดครบ ๑ รอบ จึงเรียกกันว่า “๑ รอบนักษัตร” (“นักษัตร” เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับคำว่า “นักขัตต” ในภาษาบาลี) โดยเรียกย่อๆ ว่า “๑ รอบ” (ซึ่งเท่ากับ ๑๒ ปีสุริยคติ หรือ ๑๒ ปีสากล)

    สัญลักษณ์ของปีนักษัตรต่างๆนั้น มีต่างๆ กันตามแต่ละชนชาติ โดยที่แพร่หลายมากที่สุด คือของชาวจีนและอินเดีย โดยเป็นที่ปรากฏว่า ทั้งสองประเทศนี้นี้มีสัญลักษณ์ของนักษัตรที่ตรงกัน จะต่างกันก็คือ ปีเสือ – สิงห์ และ ปีมังกร – นาค โดยในส่วนของคนไทยนั้น รับการเอานับปีนักษัตรนี้มากจากเขมร ซึ่งคำว่า ชวด, ฉลู, ขาล ฯลฯ ล้วนเป็นภาษาเขมรทั้งสิ้น หลายคนอาจะเคยได้ยินนิทานของชาวจีน เรื่องที่แมวไม่ได้โอกาสที่จะได้เข้าร่วมไปเป็นสมาชิก ๑๒ นักษัตร จนนำไปสู่ความบาดหมาง ระหว่างเผ่าพันธุ์ของ หนู, แมว และสุนัข ซึ่งในข้อเท็จจริง แมวเป็นสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่ทะเลทราย คนจีนในสมัยโบราณ จึงไม่รู้จักแมว, ไม่รู้จักลักษณะของแมว และไม่รู้ถึงการมีอยู่ของแมว จึงไม่สามารถนำแมวมาตั้งเป็นปีนักษัตรได้ ซึ่งเป็นที่ยุติว่า นิทานเรื่องที่แมวตกอันดับจากได้รับเลือกเป็นปีนักษัตร และตำนานเรื่องการตามหาสัตว์ ๑๒ ประเภท เพื่อมาเป็นปีนักษัตรนั้น เป็นเพียงนิทานที่แต่งขึ้นไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามปีนักษัตรแมวมีอยู่จริง โดยปีเถาะของชาวเวียดนามคือปีแมว แม้แต่ชาวอียิปต์โบราณเองก็มีปีแมวเช่นกัน อนึ่งปีนักษัตรของชาวจีนที่เรารู้จักนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แพร่หลาย ในความเป็นจริงนั้น ประเทศจีนประกอบไปด้วยหลายชนเผ่า ปีนักษัตรจึงมีหลากหลาย ทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน แม้ในประเทศอินเดียก็มีนัยยะเช่นเดียวกัน

    ปัจจุบันการใช้การโคจรของดาวพฤหัสเพื่อกำหนดเวลา ได้สูญสิ้นไปแล้ว เหลือไว้เพียงการนับปีนักษัตร ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวองค์ความรู้ ในด้านดาราศาสตร์ ของบรรพชนแห่งมวลมนุษยชาติ ........

    [​IMG]

    --------------------------------------------------------
    ดูเพิ่มเติมได้ที่ : เฮี่ยงเทียนส่งเต่ , ซำเซ็ง , เหล่งกี...ประกาศิตฟ้า...บัญชากองทัพสวรรค์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 ธันวาคม 2009
  15. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    เต้าโบ้ ผู้กำเนิดดวงดาวทั้งหมดในจักรวาล

    เต้าโบ้ ผู้กำเนิดดวงดาวทั้งหมดในจักรวาล

    [​IMG]

    เต้าโบ้ (斗姆) นั้น ท่านอุบัติขึ้นมาก่อนการเกิดเหตุการณ์บิ๊กแบง (大爆炸/大霹靂) เมื่อประมาณ หนึ่งแสนสี่หมื่นล้านปีที่แล้ว โดยที่โลกของเรา (地球) เพิ่งจะเกิดขึ้นได้แค่ เก้าหมื่นหนึ่งพันล้านปี (大約九十一億年前) และเต้าโบ้นั้น ได้อุบัติขึ้นเมื่อหนึ่งพันสองร้อยสามสิบล้านล้านปี (เต้าโบ้นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่มีซานชิง - 與元始天王一氣化三清的一千二百三十億萬年之間﹐斗姆誕生了)

    ก่อนหน้าเหตุการณ์บิ๊กแบงนั้น จักรวาลของเราจะมีลักษณะยืดหยุ่นเป็นก้อนเดียว ซึ่งทางเต๋าจะเรียกช่วงนี้ว่า 混元期 หรือ 無極界 จากนั้นเจ้าก้อนจักรวาลนี้ได้ดูดเอาพลังจากภายนอก (外來之陽氣) เข้ามาในก้อนนี้เรื่อยๆ โดยที่พลังงานภายนอกที่โดนดูดเข้ามานี้ เต๋าจะเรียกว่า 生為斗父 โดยพลังภายนอกนี้เกิดการปะทะกับพลังภายใน內在之陰氣 ซึ่งเต๋าเรียกว่า “เต้าโบ้” 生為斗姆 และเกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง (陰陽相極之氣相碰) นี้คิอเหตุการณ์การปะทะกันของหยินและหยางอย่างรุนแรงที่สุด หรือเหตุการณ์บิ๊กแบงนั้นเอง而導致天文學中所稱之為的大爆炸/大霹靂)

    ขณะที่เกิดเหตุการณ์บิ๊กแบงนั้น ได้มีพลังงานความร้อนและรังสีในช่วงคลื่นต่างๆ ได้ถูกปล่อยออกมาอย่างมากมาย จึงทำให้เต้าโบ้นั้น มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า 巨光天后 ซึ่งแปลว่าแสงสว่างอันหาประมาณมิได้ (在兩極之氣相碰之時﹐巨大光芒及熱量被釋放﹐因此﹐斗姆又被稱之為巨光天后或紫光夫人) และ 紫光夫人 ซึ่งแปลว่าแสงสีม่วง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงความถี่สเปรคตัมของแสงสีม่วงนั้นจะเป็นแสงที่มีความร้อนมากที่สุด และผลของการเกิดบิ๊กแบงนั้นทำให้เกิดอนุภาคที่เราเรียกว่า ดวงดาว นั้นเองครับ (在碰撞之後﹐因大能量的產生﹐小小星體因此而誕生)

    [​IMG]

    พลังงานที่เกิดขึ้นจากการปลดปล่อยของบิ๊กแบงนั้นทำให้เกิดจักรวาลของเราและเกิดดวงดาวต่างๆขึ้นมากมายครับ ซึ่งหลังจากการเกิดบิ๊กแบงใหม่ๆนั้น ดวงดาวต่างๆยังเป็นกลุ่มก๊าซที่มีความร้อนสูง หลังจากที่ผ่านช่วงเวลาหนึ่ง พวกดาวเหล่านั้นก็เริ่มเย็นลงและมีขนาด น้ำหนัก และมีตำแหน่งโคจรที่ชัดเจนขึ้นในจักรวาล เพราะดวงดาวเกิดใหม่เหล่านี้ เริ่มมีแรงโน้มถ่วงและแรงดึงดูดระหว่างกัน เกิดเป็นวงโคจร ตามตำแหน่งต่างๆ เช่นกลุ่มดาวปักเต้า北斗星 ดาวจี๋เหว่ย 紫微星 ดาวเที้ยนอ๋อง天皇星 และดาวอื่นๆ เป็นต้น เราอาจจะพูดได้ว่าหลังจากที่มีการเกิดขึ้นของดาวต่างๆแล้ว นั้นก็คือการอุบัติขึ้นของเทพเจ้าในทางเต๋า

    :cool:

    เอื้อเฟื้อภาพโดย : trangvegetarian.com , th.wikipedia.org
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 ธันวาคม 2009
  16. นักเดินธรรม

    นักเดินธรรม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มกราคม 2009
    โพสต์:
    998
    ค่าพลัง:
    +2,393
    ก็ดีนะ อ่านเพลินดี
     
  17. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,662
    ค่าพลัง:
    +9,236
    ค้นข้อมูลเก่งมากค่ะ..ได้ความรู้มาก..
    ขออนุโมทนาค่ะ
     
  18. Phuket

    Phuket เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    499
    ค่าพลัง:
    +877
    กลุ่มดาวต่างๆของจีน


    กลุ่มดาวของจีนนั้น คนจีนได้พัฒนาเป็นระบบของตัวเอง ซึ่งต่างกับกลุ่มดาวที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งเอามาจากกรีกหรืออินเดีย

    คนจีนโบราณได้แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 31 ส่วนด้วยกัน

    ใน 31 ส่วนแบ่งเป็นกลุ่มดาวสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มดาวซานหยวน (三垣 sān yuán) และกลุ่มดาว 28 (二十八宿 èr shí bā xiù)

    [​IMG]

    กลุ่มดาวซานหยวนนั้น จะประกอบขึ้นจากกลุ่มดาวสามกลุ่มคือ กลุ่มดาวจื่อเวยหยวน (紫微垣, Zǐ Wēi Yuán), กลุ่มดาวไท่เวยหยวน (太微垣, Tài Wēi Yuán) และกลุ่มดาวเทียนซื่อหยวน (天市垣, Tiān Shì Yuán)

    กลุ่มดาวจื่อเวยหยวน จะปรากฏให้เห็นได้ทางท้องฟ้าทิศเหนือ และจะเป็นตำแหน่งศูนย์กลางของกลุ่มดาวอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มดาวไท่เวยหยวนจะอยู่ตำแหน่งทิศตะวันออกและทิศเหนือ ของกลุ่มดาวจื่อเวยหยวน ส่วนกลุ่มดาวเทียนซื่อหยวน จะปรากฏอยู่ ณ ตำแหน่งทิศจะวันตก และทิศใต้ของกลุ่มดาวจื่อเวยหยวน

    กลุ่มดาว 28 นั้นจะประกอบไปด้วยกลุ่มดาวใหญ่ 4 กลุ่มดาว หรือสัตว์สี่ทิศที่ศาสตร์ฮวงจุ้ยคุ้นเคยกันดี ( 四象 Sì Xiàng) ซึ่งจะเรียกแบ่งไปตามทิศต่างๆ และในแต่ละ 4 กลุ่มดาวใหญ่จะแบ่งได้อีกเป็น 7 กลุ่มดาวย่อย 4 คูณ 7 ได้ครบ 28 กลุ่มดาวพอดี

    กลุ่มดาวใหญ่ทั้งสี่คือ กลุ่มดาวมังกรเขียวทิศตะวันออก (東方青龍) ธาตุไม้, กลุ่มดาวเต่าดำทิศเหนือ (北方玄武) ธาตุน้ำ, กลุ่มดาวเสือขาวทิศตะวันตก (西方白虎) ธาตุทอง และกลุ่มดาวกระเรียนแดงทิศใต้ (南方朱雀) ธาตุไฟ แต่เอ๊ะ ขาดไปธาตุหนึ่ง คือธาตุดิน ซึ่งจริงๆแล้ว คนจีนจะเรียก ตรงกลางว่า มังกรเหลือง (黃龍) ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ ธาตุดิน อยู่ตรงกลาง

    [​IMG]

    กลุ่มดาวมังกรเขียวจะประกอบด้วยกลุ่มดาวต่างๆดังนี้ คือ
    กลุ่มดาวเจี่ยว(角Jiăo) มีดาว 2 ดวง
    กลุ่มดาวคั่ง(亢Kàng)มีดาว 4 ดวง
    กลุ่มดาวตี (氐 Dī)มีดาว 4 ดวง
    กลุ่มดาวฟ๋าง(房 Fáng)มีดาว 4 ดวง
    กลุ่มดาวซิน(心Xīn)มีดาว 3 ดวง
    กลุ่มดาวเว่ย(尾 Wěi)มีดาว 9 ดวง
    กลุ่มดาวจี (箕Jī)มีดาว 4 ดวง

    [​IMG]


    กลุ่มดาวเต่าดำ จะประกอบด้วยกลุ่มดาวต่างๆดังนี้ คือ
    กลุ่มดาวโต่ว(斗Dǒu) มีดาว 6 ดวง
    กลุ่มดาวหนิว(牛 Niú)มีดาว 6 ดวง
    กลุ่มดาวหนี่ว์ (女Nǚ)มีดาว 4 ดวง
    กลุ่มดาวซูว์(虛Xū)มีดาว 2 ดวง
    กลุ่มดาวเวย(危Wēi)มีดาว 3 ดวง
    กลุ่มดาวซื่อ(室Shì)มีดาว 2 ดวง
    กลุ่มดาวปี้ (壁Bì)มีดาว 2 ดวง

    [​IMG]


    กลุ่มดาวเสือขาว จะประกอบด้วยกลุ่มดาวต่างๆดังนี้ คือ
    กลุ่มดาวขุย(奎Kuí) มีดาว 16 ดวง
    กลุ่มดาวเหลา(婁Lóu)มีดาว 3 ดวง
    กลุ่มดาวเว่ย(胃Wèi)มีดาว 3 ดวง
    กลุ่มดาวมาว(昴Mǎo)มีดาว 7 ดวง
    กลุ่มดาวปี้(畢Bì)มีดาว 8 ดวง
    กลุ่มดาวจือ(觜Zī)มีดาว 3 ดวง
    กลุ่มดาวเซิน(參Shēn)มีดาว 7 ดวง

    [​IMG]


    กลุ่มดาวกะเรียนแดง จะประกอบด้วยกลุ่มดาวต่างๆดังนี้ คือ
    กลุ่มดาวจิง(井Jǐng) มีดาว 8 ดวง
    กลุ่มดาวกุย(鬼Guǐ)มีดาว 4 ดวง
    กลุ่มดาวลิว(柳Liǔ)มีดาว 8 ดวง
    กลุ่มดาวซิง(星Xīng)มีดาว 7 ดวง
    กลุ่มดาวจาง(張Zhāng)มีดาว 6 ดวง
    กลุ่มดาวอี้(翼Yì)มีดาว 22 ดวง
    กลุ่มดาวเจิ่น(軫Zhěn)มีดาว 4 ดวง

    [​IMG]


    ดิน น้ำ ไม้ ไฟ ทอง

    ทองกำเนิดน้ำ น้ำกำเนิดไม้ ไม้กำเนิดไฟ ไฟกำเนิดดิน ดินกำเนิดทอง

    ธาตุดินจะมากำเนิดขึ้นทีหลังจาก ตำนานของดวงดาว มาจากการคำนวนของหลักห้าธาตุที่บัญญัติขึ้นมาภายหลัง โดยตามหลักการนี้จะมีการนำไปแบ่งกระบวนทัพทหารด้วย นอกจากทัพทั้งสี่มี สี่ทิศแล้ว ยังมีทัพกลางคนจีนจะเรียก ตรงกลางว่า มังกรเหลือง (黃龍) ซึ่งจะเป็นทัพหลวง สัญลักษณ์ ธาตุดิน อยู่ตรงกลางพอดิบพอดีครับ ทำไมต้องเหลือง เพราะสีเหลืองคือสีของธาตุดิน อย่าเข้าใจผิดว่าธาตุทอง นั่น คือสัญลักษ์แห่งผืนแผ่นดินสัญลักษ์ของความเป้นจ้าว เป็นเหตุผลว่าทำไมฮ่องเต้จีนถึงใส่ชุดสีเหลือง เพราะมาจากสัญลักษ์ของจ้าวแผ่นดินนั่นเอง

    ที่มา : http://paiking.ipbfree.com/index.php?showtopic=3876&st=0
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 29 ธันวาคม 2009
  19. ดีเลว อย่าโทษดวงทำ

    ดีเลว อย่าโทษดวงทำ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มีนาคม 2008
    โพสต์:
    51
    ค่าพลัง:
    +62
    ที่เค้าเห็นดาว เป็นสัตย์ สิ่งของต่างๆ นี่ จินตนาการ ไช่ไหม ครับ

    ผมก็ สนใจ เรื่องนี้
     
  20. Namushakamunibutsu

    Namushakamunibutsu เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    1,347
    ค่าพลัง:
    +2,618
    จักรวาลวิทยาแบบพุทธ คือ จักรวาลเกิด-ดับ มีเป็นอนันต์(นับไม่ถ้วน)
    จักรวาลเกิดจากปัจจัยที่มีมา เช่นเกิดจากเศษซากของทำลายล้างจักรวาลหนึ่งๆ
    ไปรวมตัวเป็นจักรวาล โดยผ่านกระบวนการบีบอัดของแรงดึงดูดเป็นเวลานาน
    สิ่งแน่นอนเป็นแรงของกรรม ที่จะต้องมีสิ่งมีชีวิตมาเวียนว่ายตายเกิด ในจักรวาลนั้นๆ
    ซึ่งลมกัล์ปย้ายมาจากจักรวาลที่แตกสลาย
    เป็นกระบวนการที่ไม่รู้จบ ยกเว้นจะหยุดวงล้อของสังสารวัฏได้
    เราก็จะพ้นจากกระบวนการ แปรสภาพเหล่านี้
    จิตดวงเดียว ผันแล้วผันเล่า กายสังขารปรุงแต่งแล้วปรุงแต่งเล่า
    ตามเหตุปัจจัยต่างๆ มาขับเคลื่อนสนับสนุน
    ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ทุกอย่างก็จะคงดำเนินต่อไป

    อิอิ จีนมีเทพนิยายที่น่าสนใจดีนะครับ เป็นปุคลาธิษฐานที่ดีเลย
     

แชร์หน้านี้

Loading...