กรรมหรือกฎแห่งกรรม ตามนัยพระพุทธศาสนา(ตอน:การให้ผลของกรรม) 2

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 20 สิงหาคม 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    การให้ผลของกรรม

    ก) ผลกรรมในระดับต่างๆ

    ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือการให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดี และคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย

    ความจริง ปัญหาเช่นนี้ เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่างกรรมนิยาม กับ สมมตินิยาม โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามทั้งสองนี้มาปนเปกัน ไม่รู้จักแยกขอบเขต และขั้นตอนให้ถูกต้อง ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้นเอง คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน แทนที่จะเข้าใจความหมายของทำดีได้ดี ว่าเท่ากับทำความดี ได้ความดี หรือทำความดี ก็มีความดี หรือทำความดี ก็เป็นเหตุให้ความดีเกิดมีขึ้น หรือทำความดี ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้ว ได้ผลประโยชน์ หรือได้อามิสที่ตนชอบใจ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้ จึงควรศึกษากันให้ชัดเจน

    ต่อจาก

    http://palungjit.org/threads/กรรมหรือกฎแห่งกรรม-ตามนัยพระพุทธศาสนา-1.615938/
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ ความสับสน
    เกี่ยวกับขอบเขตที่แยกต่างหากจากกันและที่สัมพันธ์กันระหว่างกรรมนิยาม กับ สมมตินิยาม เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ เบื้องแรกขอให้พิจารณาการให้ผลของกรรม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

    1. ระดับภายในจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติ คือ กุศลธรรมและอกุศลธรรม คุณภาพและสมรรถภาพของจิต มีอิทธิพลปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุขความทุกข์ เป็นต้น อย่างไรบ้าง

    2. ระดับบุคลิกภาพ ว่ากรรมให้ผลในด้านการสร้างเสริมนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติ การแสดงออก ท่าทีการวางตนปรับตัว อาการตอบสนอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และต่อสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมทั่วๆไป อย่างไรบ้าง การให้ผลระดับนี้ ต่อเนื่องออกมาจากระดับที่ 1 นั่นเอง และมีขอบเขตคาบเกี่ยวกัน แต่แยกพิจารณาเพื่อให้มองเห็นแง่มุมของการให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น

    3. ระดับวิถีชีวิตของบุคคล ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้ รับประสบการณ์ ที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความสูญเสียต่างๆที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่า โลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง ผลระดับนี้อาจแยกมองได้สองด้าน
    คือ
    -ผลสนองจากปัจจัยด้านอื่นๆ ของสภาพแวดล้อมที่นอกจากคน
    -ผลสนองจากปัจจัยด้านบุคคลอื่นและสังคม

    4. ระดับสังคม ว่ากรรมที่บุคคลและคนทั้งหลายกระทำ มีผลต่อความเป็นไป ของสังคมอย่างไรบ้าง เช่น ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความทุกข์ยากเดือดร้อนร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผลจากการที่มนุษย์กระทำ ต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้วย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เอง
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ


    จะเห็นได้ชัดว่า ผลในระดับที่ 1 และที่ 2 คือ ผลภายในจิตใจ และบุคลิกภาพ เป็นขอบเขตที่กรรมนิยามเป็นใหญ่ ระดับที่ 3 เป็นขอบเขตที่กรรมนิยาม กับ สมมตินิยามเข้ามาสัมพันธ์กัน และเป็นจุดที่มักเกิดความสับสน ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งควรพิจารณาในที่นี้ ส่วนระดับที่ 4 แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อยู่นอกขอบเขตของการพิจารณาในหัวข้อนี้

    คนทั่วไป เมื่อ มองดูผลของกรรมที่เกิดแก่ตน หรือ เพ่งจ้องติดตามดูผู้อื่นว่าใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ อย่างไร มักมองดูแต่ผลในระดับที่ 3 คือ ความเป็นไปในชีวิตส่วนที่ได้รับผลตอบสนองจากภายนอกเท่านั้น ทำให้มองข้ามผลในระดับที่ 1 และ 2 ไปเสีย ทั้งที่ผลสองระดับต้นนั้นแหละ มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญทั้งในแง่เฉพาะของมันเอง เช่น สุขทุกข์ในใจ ความเข้มแข็งอ่อนแอภายใน ความพร้อมความแก่ หรือ อ่อนแห่งอินทรีย์ เป็นต้น และสำคัญทั้งในแง่เป็นที่มาแหล่งใหญ่ของผลในระดับที่ 3 ด้วย

    ขยายความว่า ผลในระดับที่ ๓ นั้น ส่วนที่เป็นขอบเขตของกรรมนิยาม ก็ต่อเนื่องมาจากผลในระดับ ที่ 1 และ 2 นั่นเอง เช่น ด้วยผลในระดับที่ 1 จิตใจของบุคคลผู้นั้นเอง คือ ความ สนใจ ความนิยมชมชอบ ความโน้มเอียง แนวทางแสวงสุขหรือระบายทุกข์ ภายในของเขา ซึ่งเป็นผลของกรรมในระดับที่ ๑ ก็จะชักนำให้เขามองสิ่งนั้น เรื่องนั้นในแง่นั้นๆ นำเขาเข้าไปหาสถานการณ์นั้นๆ ทำการตอบสนองอย่างนั้นๆ จะทำหรือไม่ทำสิ่งนั้นๆ ทำให้เขาดำเนินตามวิถีชีวิตอย่างนั้นๆ ให้ได้พบประสบการณ์ หรือประสบผลอย่างนั้นๆ และให้มีความรู้สึก หรือท่าทีต่อสิ่งที่ประสบอย่างนั้นๆ เป็นต้น เฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้เกิดผลในระดับที่ ๒ ซึ่งก็ช่วยเสริมผลในระดับที่ ๑ ในการก่อผลระดับที่ ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

    ทั้งนี้ รวมทั้งการที่ว่า เมื่อเขาจะทำการใดๆ เขาจะทำสิ่งนั้นๆ ตามแนวไหน ลักษณะใด ด้วยอาการใด จะทำไปตลอดไหม พบข้อขัดข้องอย่างไหน จะยอมอย่างไหน จะย่ำต่อไป จะทำ สำเร็จหรือไม่ จะหยาบประณีต ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร ตลอดถึงว่า ตัวเขาจะปรากฏเป็นภาพในความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นอย่างไร อันจะเป็นผลย้อนกลับมาหาตัวเขาเองอีก ในรูปของความช่วยเหลือ ร่วมมือ หรือขัดแย้งปฏิเสธ เป็นต้น อันเป็นส่วนหนึ่ง ที่บุคลิกภาพของเขาชักนำคนอื่นให้ช่วยพาตัวเขาไปสู่ผล สนองที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ


    ทั้งนี้ มิได้ปฏิเสธองค์ประกอบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ที่จะมามีปฏิกิริยาตอบโต้กัน และมีอิทธิพลต่อเขาโดยอาศัยกรรมนิยามนี้ เพียงแต่ว่าในที่นี้ มุ่งเน้นการมองกรรมนิยามจากด้านภายในออกมาอย่างเดียวก่อน ส่วนการมองจากด้านนอกเข้าไป จะเห็นได้ในหลักปรโตโฆสะ และ กัลยาณมิตรเป็นต้น


    ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนิยามตามที่กล่าวมานี้ มิใช่มีประโยชน์เฉพาะในด้านการแก้ไขปรับปรุงตน ในการประกอบกรรมของบุคคลเองเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในการที่คนอื่น หรือ สังคมจะช่วยเหลือบุคคลให้โน้มน้อมไป ในทางแห่งกุศลกรรม ด้วยการจัดสรรอำนวยสภาพแวดล้อมและเครื่องชักจูงที่ดีงามตามหลักปฏิรูปเทสวาส และ กัลยาณมิตตตา หรือสัปปุริสูปัสสยะ อีกด้วย

    ในหัวข้อก่อน ได้กล่าวถึงการก่อผลแปรกรรมในระดับที่ ๑ คือ ภายในจิตใจพอเป็นเค้าแล้ว ส่วนการก่อผลในระดับที่ ๒ ก็ คือ เนื่องจากระดับที่ ๑ นั่นเอง และได้กล่าวถึงความหมายคร่าวๆ ไว้แล้ว ทั้งสองระดับนั้นเกี่ยวโยงถึงผลในระดับที่ ๓ ด้วย แต่ไม่ใช่ข้อพิจารณาโดยตรง ณ ที่นี้จึงขอผ่านไป

    ผลกรรมในระดับที่ 3 คือ ความเป็นไปแห่งวิถีชีวิต พร้อมด้วยผลตอบสนองต่างๆ นั้น ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องของกรรมนิยามนั่นแหละ และส่วนมากก็สืบเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และที่ 2
    เช่น
    ถ้าคนผู้หนึ่ง มีใจรักงาน ทำงานสุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร จัดการงานได้ดี เขาก็น่าจะได้รับผลงาน และผลตอบแทนดี อย่างน้อยดีกว่าคนที่เกียจคร้านหรือทำงานไม่สุจริต
    ข้าราชการ ที่ซื่อสัตย์สุจริตมีความสามารถ ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการบังเกิดผลดี ก็น่าจะเจริญก้าวหน้าในราชการ อย่างน้อยดีกว่าราชการที่ไม่สามารถ และไม่เข้มแข็งในหน้าที่ แต่บางที ผลหาเกิดเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้ เพราะผลในระดับที่ 3 มิใช่เกิดจากกรรมนิยามอย่างเดียวล้วน หากแต่มีปัจจัยด้านนิยามอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งสมมตินิยาม เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


    ในกรณีอย่างนี้ เมื่อมองดูแต่กรรมนิยามอย่างเดียว ไม่มองปัจจัยด้านอื่นให้ครบถ้วน และไม่รู้จักแยกขอบเขตความสัมพันธ์ ระหว่างนิยามต่างๆ ก็จะเกิดความสับสน แล้วคำกล่าวที่ว่า ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี ก็ติดตามมา ถ้ากรรมนิยาม ทำงานลำพังอย่างเดียว ก็ย่อมไม่มีปัญหา ผลก็เกิดตรงตามกรรมนั้น ตัวอย่าง
    เช่น
    ขยันอ่านหนังสือเรียน หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาตั้งใจอ่าน ก็อ่านจบ ได้ความรู้ แต่บางคราว ร่างกายอ่อนเพลียเกินไป หรือปวดหัวหรืออากาศร้อนเกินไป ก็อาจอ่านไม่จบ หรือ อ่านไม่รู้เรื่อง หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นในระหว่างการอ่านก็ต้องหยุดชะงักลง ดังนี้ เป็นต้น

    อย่างไรก็ดี พึงตระหนักแน่ใจได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับมนุษย์กรรมนิยามก็ยังคงเป็นแกนกลางชี้นำวิถีชีวิตเป็นปัจจัยตัวเอก ที่กำหนดการได้ รับผลสนองดีร้ายต่างๆ ในชีวิตอยู่อย่างแน่นอน

    สำหรับผู้ที่รู้สึกผิดหวังในตนเอง หรือ มองเห็นใครอื่นก็ตามว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดีนั้น แม้ยังไม่ได้ตรวจสอบเหตุปัจจัยในด้านต่างๆให้ชัดเจนเลย ก็อาจลองมองดูอย่างง่ายๆก่อนว่า นี่ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมดีนั้นไว้ คงจะแย่ยิ่งกว่านี้ นั่นถ้าเขาไม่ได้ทำดีไว้บ้าง เขาคงตกหนักยิ่งกว่านั้นอีก ถ้ามองอย่างนี้ บางทีจะเริ่มเกิดความเข้าใจ มองเห็นอะไรๆ ค่อยๆ ชัดมากขึ้น และตระหนักว่า ถึงอย่างไร กรรมที่ทำไว้ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย และอาจสืบลึกลงไปจนถึงผลภายในจิตใจ และ ผลต่อบุคลิกภาพอย่างที่กล่าวแล้วด้วย
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการให้ผลของกรรม ขอให้มาดูและแก้ไขกัน ตั้งแต่ต้นแต่ข้อความแสดงหลักทีเดียว คำกล่าวที่ชาวไทยนิยมพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น มาจากพุทธศาสนสุภาษิตว่า ดังนี้ * (สํ.ส.5/903/333 ขุ.ชา.27/294/84; 713/166)

    ยาทิสํ วปเต พีชํ - ตาทิสํ ลภเต ผลํ
    กลฺยาณการี กลฺยาณํ - ปาปการี จ ปาปกํ
    .

    แปลว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดี ได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว.

    คาถานี้ เป็นพุทธพจน์ในรูปของอิสิภาษิต (คำกล่าวของฤๅษี) และโพธิสัตว์ภาษิต ซึ่งพระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก นับว่า เป็นข้อความที่แสดงหลักกรรม ของพระพุทธศาสนาได้อย่างกะทัดรัดชัดเจน

    พึงสังเกตว่า ความท่อนแรกที่เป็นอุปมานั้น ท่านนำเอาพืชนิยามมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพียงแต่พิจารณาข้ออุปมานี้ให้ดี ก็จะแยกความสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม ได้ทันที กล่าวคือ ข้อความว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้นแสดงกฎธรรมชาติฝ่ายพืชพันธุ์ ว่าปลูกมะขามได้มะขาม ปลูกองุ่นได้องุ่น ปลูกผักกาด ได้ผักกาด เป็นต้น ไม่ได้แสดงผลในทางสมมตินิยามแต่ประการใด ว่าปลูกมะขามแล้วจะได้เงิน หรือปลูกผักแล้วจะรวย เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกัน

    พืชนิยาม กับ สมมตินิยาม จะมาสัมพันธ์กัน ก็ในตอนที่ว่า ปลูกองุ่นได้องุ่นแล้ว พอดีถึงคราวที่ตลาดต้องการองุ่นมาก จึงขายได้ราคาดี และ ปีนั้นจึงรวย

    แต่อีกคราวปลูกแตงโม ได้แตงโม และงอกงามได้ผลมากด้วย แต่ปีนั้น คนปลูกกันมาก ผลดกทั่วไป จนมีเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาตก ปีนั้นขายขาดทุน ต้องทิ้งเปล่าเสียมากมาย

    นอกจากปัจจัย ด้านความต้องการของตลาดแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น เรื่องคนกลาง การกดราคา เป็นต้น

    แต่สาระสำคัญก็คือ จะเห็นความแน่นอนของพืชนิยามคงตัว และเห็นขอบเขตของพืชนิยาม กับ สมมตินิยาม ทั้งที่แยกต่างหากจากกัน และ สัมพันธ์กันได้อย่างชัดเจน

    อุปมาข้างต้นนี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น คนมักมองกรรมนิยาม กับ สมมตินิยามสับสนกัน โดยพูดว่า ทำดีได้ดี ในความหมายว่า ทำดีแล้วรวย ทำความดีแล้วได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่บางทีก็ไม่เป็น เหมือนกับพูดว่า ปลูกมะม่วงได้เงินดี ปลูกมะพร้าวทำให้รวย เขาปลูกน้อยหน่าจึงยากจน ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ แต่ความจริงก็คือ เป็นการพูดข้ามขั้นตอน ไม่แสดงความจริงตลอดสาย อาจใช้ได้สำหรับภาษาพูดพอรู้กัน แต่ถ้าจะเอาความจริงแท้ ต้องแสดงเหตุปัจจัยซอยออกไป โดยว่ากันเป็นลำดับให้ละเอียด
    ...........
    อ้างอิงที่ *
    * เรื่องเล่าประกอบมาใน ชา.อ.3265; 4/425 ภาษิตเต็มของแต่ละที่มา มีข้อความมากกว่านี้ ส่วนเรื่องที่เล่าประกอบในชาดก ดูเหมือนท่านมุ่งสดงให้เห็นผลชนิดที่เป็นเหตุการณ์ชัดเจน อนึ่ง คาถาในชาดกบาทที่สอง เป็น ตาทิสํ รุหเต ผลํ บ้าง ตาทิสํ หรเต ผลํ บ้าง แปลว่า หว่านพืชเช่นใด ผลเช่นนั้นย่อมงอกขึ้น หรือหวานพืชเช่นใด ก็นำผลเช่นนั้นไป
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ข) องค์ปะกอบที่ส่งเสริมและขัดขวางการให้ผลของกรรม

    การที่กรรมนิยามจะแสงผลออกมาในระดับของวิถีชีวิต ทำให้มีความเป็นไปต่างๆ ประสบผลตอบสนองจากภายนอก อันน่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างนั้น ในบาลีท่านแสดงหลักไว้ว่า ต้องขึ้นต่อองค์ประกอบต่างๆ ๔ คู่ คือ สมบัติ และวิบัติ ๔

    สมบัติ แปลง่ายๆว่า ข้อดี หมายถึงความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งช่วยเสริม ส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆว่า องค์ประกอบอำนวยช่วยเสริมกรรมดี สมบัติ มี ๔ อย่าง
    คือ
    ๑. คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ ถึงพร้อมด้วยคติ หรือคติให้ คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศที่เจริญ เหมาะ หรือเกื้อกูล ตลอดจนในระยะสั้น คือ ทางดำเนินชีวิตเอื้อ หรือไปในถิ่นที่อำนวย

    ๒. อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย ร่างกายดี หรือรูปร่างให้ เช่น มีรูปร่างสวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดี แข็งแรง

    ๓. กาลสมบัติ สมบัติแห่งการ ถึงพร้อมด้วยกาล หรือกาลให้ คือ เกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ตลอดจนในระยะสั้น คือทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ

    ๔. ปโยคสมบัติ สมบัติแห่งการประกอบ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือกิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดความสามารถของตน ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์หรือเต็มอัตรา ไม่ใช่ทำครึ่งๆกลางๆ หรือเหยาะแหยะ หรือไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ


    ส่วน "วิบัติ" แปลง่ายๆว่า ข้อเสีย หรือจุดอ่อน หมายถึง ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆว่า องค์ประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว วิบัติ มี ๔ อย่าง
    คือ
    ๑. คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ หรือคติเสีย คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศ สภาพแวดล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ทางดำเนินชีวิตไม่เอื้อ ถิ่นที่ไปไม่อำนวย

    ๒. อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย หรือรูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการ อ่อนแอ ไม่สวยงาม กิริยาท่าทางน่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก

    ๓. กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มากด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไรไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ

    ๔. ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ หรือกิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการหรือเรื่องราวที่ผิด ทำการไม่ตรงความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่งๆกลางๆ เป็นต้น
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ


    คู่ที่ ๑

    คติสมบัติ เช่น เกิดในถิ่นเจริญ มีบริการศึกษาดี ทั้งที่สติปัญญาและความขยันไม่เท่าไร แต่ก็ยังได้ศึกษามากกว่า เข้าถึงสถานนะทางสังคมสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรดีกว่า แต่ไปเกิดอยู่ในถิ่นป่าดง หรือ เช่น ไปเกิดเป็นเทวดา ถึงจะแย่อย่างไร ก็ยังสุขสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อดอยาก

    คติวิบัติ เช่น มีพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสสอนธรรม แต่ตัวไปเกิดอยู่เสียในป่าดง หรือในนรก ก็หมดโอกาสได้ฟังธรรม หรือมีสติปัญญาดี แต่ไปเกิดเป็นคนป่าอยู่ในกาฬทวีป ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นนักปราชญ์ในวงการศิลป์ และศาสตร์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามารถดี แต่ไปอยู่ในถิ่นหรือในชุมนชนที่เขาไม่เห็นคุณค่าของความรู้ความสามารถ นั้น เข้ากับเขาไม่ได้ ถูกเหยียดหยามบีบคั้น อยู่อย่างเดือดร้อน คนหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนดี แต่ไปอยู่ในตำแหน่งฐานะหน้าที่ที่ไม่เข้ากับส่วนดีที่ตัวมี กลายเป็นตัวขัดถ่วงกิจการของส่วนรวมนั้น และตนเองก็ไม่เป็นสุข (กรณีหลังนี้ อาจมีปโยควิบัติซ้ำด้วย) ดังนี้เป็นต้น



    คู่ที่ ๒

    อุปธิสมบัติ เช่น รูปร่างสวยงาม น่าชื่นชม แม้ไปเกิดในตระกูลยากไร้ หรือถิ่นห่างไกล รูปกายช่วยให้ขึ้นมาสู่ฐานะและถิ่นที่มีเกียรติยศและความสุข

    อุปธิวิบัติ เช่น เกิดในถิ่นดี หรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับเกียรติยศและความสุขความรื่นรมย์ที่พึงได้

    คนสองคน มีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอกัน คนหนึ่งรูปร่างสง่า สวยงาม อีกคนหนึ่งขี้เหร่ หรือขี้โรค ในกรณีที่ถือร่างกายเป็นส่วนประกอบด้วย คนมีกายดีก็ได้รับผลไป แม้ในกรณีที่ไม่ถือกายเป็นคุณสมบัติ ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่จะเอนเอียงเข้าหาคนที่มีรูปสมบัติ คนที่รูปวิบัติจะต้องยอมรับความจริงที่เป็นธรรมดาของชาวโลกข้อนี้ และตระหนักว่า ผู้ที่มีจิตเที่ยงตรงไม่เอนเอียงเพราะเหตะแห่งรูปสมบัติรูปวิบัตินี้ ก็มีเฉพาะแต่ท่านที่ประกอบด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป

    คนที่มีรูปร่างวิบัตินั้น เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ไม่พึงเสียใจ จากนั้นจะได้เร่งขวนขวายสร้างเสริมคุณสมบัติส่วนอื่นๆ ให้มีพิเศษยิ่งกว่าปกติ ถ้าคนรูปกายดีใช้ความพยายามหนึ่งส่วน คนมีอุปธิวิบัติอาจต้องพยายามสองหรือสามส่วน เป็นต้น ข้อสำคัญ อย่าท้อแท้ ปัจจัยที่หย่อน ก็รู้ ที่เสริมได้ ก็เร่งทำ ความรู้กรรมจึงจะเกิดประโยชน์


    คู่ที่ ๓


    กาลสมบัติ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ดีงาม มาเกิดอยู่ในยุคที่ผู้ปกครองดี สังคมดี ยกย่องเชิดชูคนดี คนผู้นั้น ก็มีเกียรติ มีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข ผู้มีสติปัญญาเป็นนักปราชญ์ ก็มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถให้ปรากฏและให้เป็นประโยชน์ หรือในยุคสมัยหนึ่ง คนนิยมกาพย์กลอนกันมาก คนเก่งกาพย์กลอนก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู

    กาลวิบัติ ก็ตรงข้าม เช่น ในยามสังคมเสื่อมจากศีลธรรม ผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรม คนทำดีไม่รับยกย่อง หรืออาจถูกเบียดเบียนกดขี่ ประสบความเดือดร้อน หรือยามบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย มีศึกสงคราม ไม่มีใครสนใจคนทำความดีทางสันติ แม้มีสติปัญญาความสามารถ ก็ไม่มีโอกาสสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ หรือในยุคที่สังคมนิยมดนตรีหยาบร้อน ตนแม้เชียวชาญในดนตรีที่สงบเยือกเย็น แต่ไม่ได้รับความสนใจยกย่อง เป็นต้น


    คู่ที่ ๔


    ปโยคสมบัติ เช่น ตนไม่ใช่คนดีมีความสามารถจริง แต่รู้จักเข้าหาคนควรเข้าหา รู้จักเลี่ยงเรื่องควรหลบ อะไรควรเสียยอมเสีย ทำให้ตนเจริญก้าวหน้าไปได้ และความเสียหายบกพร่องของตนไม่ปรากฏ หรือมีความสามารถในการปลอมแปลงเอกสาร เอาความสามารถนั้นมาใช้ทางดี เช่นในงานพิสูจน์หลักฐาน

    ปโยควิบัติ เช่น มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติอื่นดีหมด แต่ติดการพนัน จึงไม่ได้รับการคัดเลือกไปทำงาน หรือมีฝีเท้ารวดเร็วมาก พอจะเป็นนักกรีฑาชั้นเลิศ แต่เอาความสามารถนั้นไปใช้ในการวิ่งฉกชิงทรัพย์เขา หรือคนมีฝีมือดีในทางช่าง แต่ไปนั่งทำงานเสมียนที่ไม่ถนัด เป็นต้น
     
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ผลในระดับที่ ๓ นี้ ส่วนมากเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องชั้นเปลือกผิวภายนอก มิใช่แกนของชีวิต จะกระทบกระทั่งหนักเบา ก็อยู่ที่ว่าจะมีความยึดติดถือมั่นมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ยึดติด สามารถวางใจ ก็มีความสุขได้เสมอ หรือย่างน้อยก็ทุกข์ไม่มาก และผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดา ประกอบด้วยสติ มิให้หลงใหลประมาทมัวเมา คราวสุขคราวได้ ก็ไม่เหลิงลำพองเคลิ้มไป คราวทุกข์คราวเสีย ก็ไม่ขุ่นมัวคลุ้มคลั่งปล่อยตัวถลำลงในทางชั่วทางเสีย ค่อยผ่อนผันแก้ไขเหตุการณ์ด้วยสติปัญญา

    มื่อยังต้องการโลกธรรมฝ่ายดี คือที่ชื่นชอบ เป็นอิฏฐารมณ์ ก็กำหนดสมบัติวิบัติ ที่เป็นกำลัง หรือเป็นจุดอ่อนของคน และจัดสรรเลือกองค์ประกอบฝ่ายสมบัติที่จัดเลือกได้ หรือเว้นวิบัติเสีย แล้วพยายามเข้าถึงผลดีที่มุ่งหมายด้วยกรรมที่เป็นกุศล ซึ่งมีผลมั่นคงและลึกซึ้งถึงชีวิตทุกระดับของตน ไม่สร้างผลด้วยอกุศลกรรม และไม่ถือโอกาสยามสมบัติอำนวยไปประกอบการอกุศล เพราะสมบัติและวิบัติสี่ประการนั้นเป็นของไม่แน่นอน เมื่อกาลโอกาสที่เอื้ออำนวยผ่านไป กรรมร้ายก็แสดงผล พึงถือโอกาสยามสมบัติช่วย เร่งประกอบกุศลกรรมเท่านั้น คือถือเอาแต่ส่วนที่ดีงาม ไร้โทษ ของหลักการที่กล่าวมานี้


    โดยนัยนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าจะทำการใด ในเมื่อมีองค์ประกอบของนิยามหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็พึงทำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามให้ดี เป็นส่วนที่ยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นใจใจแล้วอย่างหนึ่งก่อน

    ส่วนองค์ประกอบฝ่ายนิยามอย่างอื่น ก็พึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเอามาใช้เสริม เท่าที่ไม่เป็นโทษในแง่ของกรรมนิยามต่อไป หากปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักถือเอาประโยชน์จากกุศลกรรม และสมบัติวิบัติทั้งสี่ หรือรู้จักใช้ทั้งกรรมนิยาม และสมมตินิยามในทางที่เป็นคุณ
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สำหรับบางคน อาจต้องเตือนว่า อย่ามัวคิดวุ่นอยู่เลยว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำดี แต่กลับได้ดี ทำไมคนนี้ทำไม่ดี แต่ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเราทำอย่างนี้ ไม่เห็นได้อะไร ดังนี้เป็นต้น ปัจจัยหรือองค์ประกอบของนิยามทั้งหลาย เราอาจยังตรวจดูรู้ไม่ทั่วถึง และพึงคิดว่า ตัวเรานี้ ปัญญาที่จะรู้จักเลือกถือเอาประโยชน์จากนิยามอื่นๆก็ไม่มี หนำซ้ำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามที่เป็นฐานยืนพื้นแน่นอนอยู่นี้ ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะทำให้ดีเสียอีก ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ ก็คงมีแต่จะต้องทรุดหนักลงไปทุกที


    อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าแท้จริง ผู้ประกอบกรรมดี ย่อมไม่ติดอยู่เพียงขั้นที่ยังมุ่งหวังผลอันเป็นโลกธรรม (ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ) ตอบสนองแก่ตน เพราะกุศลกรรมที่แท้จริง เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เขาจึงทำกรรมด้วยจาคะ สละอกุศลในใจ และเผื่อแผ่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทำกรรมด้วยเมตตา กรุณา ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ และสนับสนุนความอยู่ร่วมกันโดยสุขสงบมีไมตรี ทำกรรมด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อโพธิ เพื่อให้ธรรมแพร่หลายครองใจคน และครองสังคม ซึ่งจัดเข้าได้ว่า เป็นกรรมขั้นสูงสุด คือกรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ตามหลักที่ยกมาอ้างแล้วข้างต้น* (พึงสังเกตการทำกรรมให้หมดไป หรือลบล้างกรรมด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ เป็นต้น ในพุทธพจน์ที่จะนำมาลงไว้ต่อจากนี้ด้วย)
     
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ค) ผลกรรมในช่วงกว้างไกล

    เนื้อความในหัวข้อที่กำลังจะกล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการให้ผลของกรรม ในระดับวิถีชีวิตของบุคคล ที่รวมอยู่แล้วในหัวข้อใหญ่ แต่ที่แยกออกมาตั้งเป็นหัวข้อโดยเฉพาะในที่นี้ ก็เพราะการให้ผลของกรรมชั่วอย่างไกลแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นปัญหาที่มีผู้เอาใจใส่กันมากเป็นพิเศษ

    แม้ว่าในที่นี้ จะไม่มุ่งอธิบายเรื่องนี้ และถือว่าได้แสดงหลักรวมไว้ในหัวข้อใหญ่แล้ว

    แต่ก็เห็นว่าควรจะได้กล่าวถึงข้อสังเกตบางอย่างไว้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาพิจารณา


    เมื่อเจตนาที่ประกอบด้วยกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นในใจ ก็เป็นอันว่ากิจกรรมของจิตได้เริ่มต้นแล้ว จิตได้มีการเคลื่อนไหวหรือไหวตัวแล้ว เราจะเลียนศัพท์ฝ่ายวัตถุมาใช้ และเรียกอาการนี้ว่าพลังแห่งเจตจำนง ได้เกิดขึ้นแล้ว

    พลังนี้เป็นไปอย่างไร มีกระบวนการทำงานในระหว่างอย่างไร โดยอาศัยปัจจัยอื่นๆ อะไรอีกบ้าง เรามักไม่สู้เข้าใจ และไม่ใส่ใจที่จะรู้ แต่มักสนใจเฉพาะผลข้างปลายที่ปรากฏสำเร็จรูปออกมาแล้ว

    โดยเฉพาะพลังแห่งเจตจำนง ที่แสดงผลออกไปในโลกแห่งวัตถุ และในสังคมมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่มอง เห็นได้ชัด และพูดถึงได้ง่าย ผลสำเร็จแห่งพลังเจตจำนง ในโลกฝ่ายวัตถุ มีตัวอย่างมากมาย โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงยานอวกาศสู่ดวงดาวต่างๆ

    ตั้งแต่ขวานหินจนถึงระเบิดนิวเคลียร์ ตั้งแต่ไม้นับคะแนนจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

    หรือในทางสังคม เช่น ระบบ ระบอบ และสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบต่างๆ ก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ ก็ตาม สถาบันต่างๆ ของสังคม การจัดระเบียบกลไกการบริหารการปกครองรัฐ การจัดรูปองค์กรและระบบงานต่างๆ เป็นต้น

    เป็นที่รู้กันดีว่า สิ่งเหล่านี้มีความละเอียดซับซ้อนยิ่งนัก ความข้อนี้ ย่อมเป็นเครื่องส่องแสดงว่า กระบวนการแห่งเจตจำนง พร้อมด้วยกลไกของจิต ที่เป็นเวทีแสดง หรือเป็นโรงงานของมัน จะต้องมีความละเอียดซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ไม่ด้อยไปกว่าระบบระบอบ หรือ สิ่งประดิษฐ์ชนิดละเอียดซับซ้อนที่สุดที่มันเองได้คิดสร้างสรรค์ขึ้น

    เรามีความรู้ที่นับได้ว่าดีมาก เกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งประดิษฐ์ หรือ ระบบแบบแผนบางอย่าง ที่จิตอาศัยเจตจำนงสร้างสรรค์ขึ้น ว่าได้ดำเนินมาแต่แรกคิดจนสำเร็จผล อย่างไร

    แต่ในด้านสภาวะของชีวิตจิตใจอันเป็นที่อาศัยของเจตจำนงนั้น พร้อมทั้งวิถีความเป็นไปของชีวิตจิตใจที่ถูกเจตจำนงนั้นปรุงแต่ง กระบวนการปรุงแต่งจะดำเนินไปอย่างไรบ้าง เรากลับมีความรู้น้อยเหลือเกิน อาจพูดได้ว่า ยังเป็นความลับอันมืดมน สำหรับมนุษย์ทั่วไป ทั้งความเป็นไปของชีวิตนั้น เป็นเรื่องของตัวเอง ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด

    ด้วยเหตุที่มีความมืดมัวไม่รู้เช่นนี้ เมื่อประสบภาวะ หรือสถานการณ์ที่เป็นผลข้างปลายของการปรุงแต่ง มนุษย์จึงมักจับเหตุจับผลต้นปลายชนกันไม่ติด

    มองปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้องไม่เห็นหรือไม่ทั่วถึง แล้วกล่าวโทษสิ่งโน้นสิ่งนี้ พาลไม่ยอมรับกฎแห่งกรรม ซึ่งก็คือไม่เชื่อกฎแห่งเหตุและผล หรือ ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง และ

    การไม่ยอมรับ ก็ดี การมัวกล่าวโทษสิ่งโน้นสิ่งนี้ ก็ดี ก็เป็นการทำกรรมขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะมีผลเสียติดตามมา คือ การสูญเสียโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงตน และการดัดแปลงแต่งแก้กรรมวิธีที่จะทำผลให้สำเร็จตามต้องการ หรือหนักกว่านั้น อาจพาลพาโลด้วยโทสะทำกรรมร้ายอื่นที่มีผลเสียรุนแรงยิ่งขึ้น


    อย่างไรก็ดี ท่านยอมรับว่า กระบวนการให้ผลของกรรมนี้ เป็นเรื่องละเอียดซับซ้อนยิ่ง พ้นวิสัยแห่งความคิด ไม่อาจคิดให้เห็นแจ่มแจ้ง บาลีจัดเป็นอจินไตย คือ สิ่งที่ไม่พึงคิดอย่างหนึ่ง * ท่านว่าถ้าขืนครุ่นคิดก็มีส่วนที่จะอัดอั้นเป็นบ้า

    ที่ท่านว่าอย่างนี้ มิใช่หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้เราคิด เพียงแต่ทรงแสดงความจริงไปตามธรรมดาว่า เรื่องนี้คิดเอาไม่ได้ หรือ ไม่อาจจะเข้าใจได้สำเร็จด้วยการคิดหาเหตุผล

    แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ด้วยการรู้ และเมื่อคิดไปจะเกิดเป็นบ้าขึ้น ก็มิใช่เป็นเพราะพระพุทธเจ้า หรือใครลงโทษ หรือทำให้บ้า แต่ผู้คิดเป็นบ้าไปตามธรรมดาของเขาเอง เพราะคิดอัดอั้นตันวุ่นไป



    ถึงแม้จะเป็นอจินไตย ก็มิใช่ว่า เราจะแตะต้องไม่ได้ แง่ที่เราจะเกี่ยวข้องได้ก็ คือ เกี่ยวข้องด้วยความรู้ และเท่าที่รู้ แล้วมีความมั่นใจตามแนวความรู้นั้น โดยศึกษาพิจารณาสิ่งที่เราตามรู้เห็นได้ คือ สิ่งที่กำลังเป็นอยู่จริงในปัจจุบัน จากส่วนย่อย หรือ จุดเล็กที่สุดขยายออกไป ได้แก่ กระบวนการแห่งความคิด หรือ เจตจำนงที่กล่าวมาแล้วนั่น

    เริ่มตั้งแต่ให้เห็นว่า เมื่อคิดดีเป็นกุศล ก็เกิดเป็นผลดีแก่ชีวิตจิตใจอย่างไร

    เมื่อคิดร้ายเป็นอกุศล เกิดเป็นผลร้ายชีวิตจิตใจเสียหายอย่างไร

    ผลนั้นออกไปภายนอกสู่ผู้อื่น สู่สังคม สู่โลก ในทางดีไม่ดีอย่างไร แล้วสะท้อนกลับเข้ามาหาตัวอีกในทางดีร้ายอย่างไร และให้เห็นกระบวนการก่อ ผลที่ละเอียดซับซ้อนเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างและหลายฝ่าย จนพอหยั่งเห็นแนวแห่งความสะเอียดซับซ้อน ที่อาจเป็นไปได้เกินกว่าจะคาด หมายอย่างง่ายๆ และให้เกิดความมั่นใจในความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย

    เมื่อเข้าใจความเป็นไปส่วนย่อยในช่วงสั้นอย่างไร ก็พอมองเข้าใจความเป็นไปช่วงยาวไกลได้อย่างนั้น เพราะความเป็นไปช่วงยาวนั้น ก็สืบไปจากช่วงสั้น และประกอบด้วยช่วงสั้นนี้ขยายออกไปนั่นเอง

    ถ้าปราศจากช่วงสั้นเสียแล้ว ช่วงยาวจะมีหาได้ไม่

    อย่างนี้เรียกว่า เกิดความเข้าใจตามแนวธรรม

    เมื่อมั่นใจในความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับเจตนา หรือ เจตจำนงแล้ว ก็คือ มั่นใจในกฎแห่งกรรม หรือเชื่อกรรมนั่นเอง



    ครั้นมั่นใจในกฎแห่งกรรมแล้ว เมื่อ ต้องการผลที่ปรารถนาใด ก็หวังผลนั้นจากการกระทำ และกระทำการตามเหตุปัจจัย ด้วยความรู้เท่าทัน เหตุปัจจัย ให้ผลเกิดขึ้นตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย

    เมื่อยังต้องการผลที่ดี ทั้งในแง่กรรมนิยาม และทั้งในแง่โลกธรรม ก็พึงศึกษาปัจจัยหรือองค์ ประกอบทั้งในด้านกรรมนิยาม และด้านนิยามอื่นๆ ให้ครบถ้วน แล้วทำปัจจัยเหล่านั้น ให้เกิดขึ้นพรั่งพร้อมโดยรอบคอบ อย่างที่ได้กล่าวในตอนที่แล้ว



    ไม่ต้องพูดถึงงานปรุงแต่งวิถีชีวิตดอก แม้แต่งานประดิษฐ์สร้างสรรค์ในภายนอก นักประดิษฐ์หรือ สร้างสรรค์ผู้ฉลาด ย่อมจะไม่คำนึงถึงเฉพาะแต่เนื้อหาแห่งความคิดปรุงแต่งหรือเจตจำนงของตนเพียงอย่างเดียว แต่ย่อมคำนึงถึงปัจจัย หรือองค์ประกอบฝ่ายนิยามอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น

    ช่างใช้ความวิจิตรแห่งเจตจำนง ออกแบบบ้านไม้หลังหนึ่งอย่างสวยงาม เมื่อเอาแบบในความคิด นั้นออกมาสร้างเป็นความจริงในโลกแห่งวัตถุ ก็ต้องคำนึงด้วยว่า จะใช้ไม้ชนิดใด สำหรับส่วนใด มีไม้เนื้อแข็ง เนื้ออ่อน เป็นต้น

    หากที่ควรใช้ไม้เนื้อแข็ง กลับใช้ไม่ฉำฉา แม้ว่าแบบที่ออกไว้จะสวยงามปานใด บางทีก็อาจพังเสียก่อน ไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะได้ใช้เป็นบ้านตามประสงค์ หรือแบบที่คิดปรุงแต่งออกไว้ควรจะสวยงาม แต่ใช้วัสดุก่อสร้างที่ดูน่าเกลียด ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายเขาไม่นิยมชมชอบ ความงามของรูปแบบก็พลอยหมดความหมายไปด้วย

    หรือเหมือนนักออกแบบเครื่องแต่งกาย คำนึงแต่ความวิจิตรแห่งเจตจำนงของตน ไม่นึกถึงอุณหภูมิแห่งดินฟ้าอากาศของถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยฝ่ายอุตุนิยม ประดิษฐ์เสื้อผ้าสวยงามที่ควรใช้ในถิ่นหนาวจัดให้แก่คนในถิ่นร้อนจัด ก็ไม่สำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกัน

    มนุษย์ผู้เป็นช่างปรุงแต่งวิถีชีวิตของตน พึงมีความฉลาดรอบคอบในการประกอบเหตุปัจจัย เยี่ยงอุปมาที่กล่าวแล้วนี้

    ถึงตอนนี้ มีข้อที่เห็นควรย้ำไว้เป็นพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ในการที่จะควบคุมการใช้ประโยชน์จากกรรมนิยาม ให้เป็นไปในทางที่ดีงามอย่างแน่นอนนั้น จะต้องพยามปลูกฝังหรือสร้างเสริมกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ให้เกิดขึ้นด้วย คือ ต้องฝึกอบรมให้คนเกิดความใฝ่ธรรม รักความดีงาม เข่น

    อยากให้ชีวิตของตนเป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ดีงาม

    อยากให้สังคมมนุษย์เป็นสังคมแห่งความดีงาม

    อยากให้สิ่งทั้งหลายที่ตนเกี่ยวข้อง หรือ กระทำดำรงอยู่ในภาวะดีงามเป็นเลิศ หรือ เจริญเข้าสู่ภาวะดีงาม สูงสุดของมัน

    อยากให้ธรรมแพร่หลายออกไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ดังนี้ เป็นต้น

    ทั้งนี้เพราะว่า ถ้าตราบใด คนยังขาดกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ และมีแต่ความโลภต่อผลที่ดีในแง่โลกธรรมอย่างเดียว เขาก็จะพยายามเล่นตลกกับกรรมนิยาม หรือพยายามหลอกลวงกฎธรรมชาติอยู่เรื่อย ไป (ความจริงเขาหลอกกฎธรรมชาติไม่ได้ แต่เขาหลอกตัวของเขาเองนั่นเอง) และก็จะก่อให้เกิดผลร้ายทั้งแก่ชีวิตของตนเอง แก่สังคม และแก่มนุษยชาติทั้งหมด อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
    ..............

    อ้างอิง *
    * อจินไตย มี ๔ อย่าง คือ พุทธวิสัย ฌานวิสัย กรรมวิบาก และโลกจินตา (การคิดปัญหาอภิปรัชญาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลก หรือการสร้างโลก) ดู องฺ.จตุกฺก.21/77/104
     
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ง) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการพิสูจน์เรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่

    ปราชญ์หลายท่านเห็นว่า การที่จะให้คนสามัญทั้งหลายเชื่อกฎแห่งกรรม และตั้งอยู่ในศีลธรรม จะต้องให้เขายอมรับการให้ผลของกรรมในช่วงยาวไกลที่สุด คือ ผลจากชาติก่อน และผลในชาติหน้า และดังนั้น จึงจะต้องพิสูจน์เรื่องตายแล้วเกิด หรืออย่างน้อยแสดงหลักฐานให้เห็นให้ได้

    โดยเหตุนี้บ้าง โดยมุ่งแสวงความรู้บ้าง ปราชญ์และผู้สนใจบางท่านและบางกลุ่มบางคณะจึงได้พยายามอธิบายหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด โดยอ้างกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น law of conservation of energy โดยขยายออกไปจากเจตนา ที่เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวของจิต ซึ่งเคยเอ่ยถึงแล้ว หรืออ้างทฤษฎีทางจิตวิทยาอย่างอื่นๆบ้าง พยายามเสาะสืบพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับการระลึกชาติได้บ้าง ตลอดจนใช้วิธีการแบบทรงเจ้าเข้าผี ก็มี

    เรื่องราวและคำอธิบายเหล่านี้ และทำนองนี้ จะไม่นำมากล่าวไว้ เพราะหนังสือนี้มุ่งแสดงพุทธธรรมตามสายความคิดในพระพุทธศาสนาเองเท่านั้น... สำหรับในที่นี้ จะกล่าวเพียงข้อสังเกต และข้อคิดที่เกี่ยวข้องบางอย่างเท่านั้น


    คำกล่าวที่ว่า ถ้าพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นได้ว่าตายแล้วเกิด ชาติหน้ามีจริง กรรมตามไปให้ผลจริง จนคนทั้งหลายยอมเชื่อเช่นนั้นแล้ว การสอนศีลธรรมจะได้ผล คนจะกลัวบาป ยอมเว้นชั่วและทำดีกันทั่วไป

    คำกล่าวนี้ นับว่ามีเหตุผลอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าคนเชื่อเช่นนั้นจริง ผลในทางปฏิบัติ ก็น่าจะเกิดขึ้นเช่นนั้นเป็นอย่างมาก

    ท่านผู้กล่าวเช่นนี้ก็นับว่า เป็นผู้ตั้งใจดีและมีเหตุผลเป็นพื้นฐาน จึงไม่น่าจะมีข้อขัดข้องที่จะปล่อยให้ท่านเหล่านั้นดำเนินการศึกษาสอบสวนค้นคว้าของท่านไป โดยคนอื่นๆ พลอยยินดีและสนับสนุนเท่าที่อยู่ ในขอบเขตแห่งเหตุผล ความสมควร ไม่เฉไฉคลาดออกไปสู่แนวทางแห่งความงมงายไขว้เขว เช่น มิใช่ว่า แทนที่จะนำสิ่งที่อยู่ในโลกแห่งความลึกลับพิสูจน์ไม่ได้ ออกมาสู่การพิสูจน์ได้

    กลับนำสิ่งที่พิสูจน์ได้เข้าไปสู่โลกแห่งความลึกลับที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือแทนที่จะนำสิ่งลึกลับ ซึ่งคนไร้อำนาจที่จะจัดทำ ออกมาสู่ภาวะที่มนุษย์จัดการได้ กลับทำให้คนหมดอำนาจ ต้องหันไปพึ่งอาศัยสิ่งลึกลับจนตนเองทำอะไรไม่ได้ ดังนี้ เป็นต้น

    เมื่อสอบสวนค้นคว้ากันอยู่ในขอบเขตแห่งเหตุผลแล้ว อย่างน้อยก็อาจได้ประโยชน์ทางวิชาการให้รู้ไปเสียทีว่า มนุษย์เข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้วจะแค่นี้อย่างนี้ ทั้งนี้ มีข้อควรย้ำว่า จะต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของปราชญ์บางท่านบางคณะนั้นท่านทำของท่านไป คนอื่นๆ หรือคนทั่วไปไม่พึงไปขลุกขลุ่ยสาระวนด้วย เพียงแต่รอรับทราบผลที่แน่นอนเด็ดขาดแล้ว หรือฟังข่าวความเคลื่อนไหวอยู่ห่างๆ อย่างคนชอบรู้ชอบฟังเท่านั้น คือ จะต้องไม่พาคนทั่วไปเข้าไปหมกมุ่นในกระบวนการระหว่างการพิสูจน์ด้วย

    นอกจากนี้ แม้ตัวนักปราชญ์ผู้สอบสวนค้นคว้านั้นเอง ก็ไม่ควรหมกมุ่นกับเรื่องเช่นนั้นเกินไปจนมองด้านเดียวเห็นความสำคัญเฉพาะแต่แนวการพิสูจน์โลกหน้าเท่านั้น จนละเลยความสำคัญด้านปัจจุบัน กลายเป็นสุดโต่ง หรือเลยเถิดไปเสีย และจะต้องมองให้ครบทั้งด้านผลดีและผลเสียของการให้ความสำคัญแก่เรื่องนั้นด้วย กล่าวคือ

    นอกจากผลดีที่คาดหมายนั้นแล้ว จะต้องตระหนักถึงผลเสียด้วยว่า การย้ำความสำคัญให้คนกลัวการไปเกิดในที่ชั่ว และอยากไปเกิดที่ดีมากเกินไป จะเป็นการชวนให้คนหันไปวุ่นกับการคิดหวังผลในโลกหน้าและเอาใจใส่เฉพาะแต่กิจการและกิจกรรมซึ่งเนื่องด้วยการที่จะไปเก็บเกี่ยวผลในชาติหน้า จนละเลยประโยชน์สุขและความดีงามที่ตนและหมู่ชนควรพยายามเข้าถึงได้ในชีวิตนี้

    นอกจากนั้น เมื่อไม่มีสติระมัดระวังให้ดี ความมุ่งหมายเดิมที่จะให้คนกลัวผลร้ายของกรรมชั่ว สบายใจว่า จะได้ พบผลดีของกรรมดีตลอดไปถึงโลกหน้า แล้วมีความมั่นใจในกฎแห่งกรรม พยายามเว้นกรรมชั่ว ทำกรรมดีในโลกนี้ ก็กลับกลายเป็นว่าจะทำการชนิดที่มุ่งเอาผลในชาติหน้าโดยตรงอย่างเดียว เกิดความโลภต่อผลชนิดนั้น แล้วกลายเป็นนักทำบุญแบบค้ากำไรไปเสีย

    ถ้าการณ์กลายมาเสียอย่างนี้ ก็จะเกิดผลเสียขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ การย้ำความสำคัญของผลดีผลร้าย ที่จะได้ประสบในชาติหน้ามากเกินไป เป็นการมองข้ามหลักการฝึกอบรมกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ กลายเป็นการไม่ยอมรับ หรือ ถึงกับดูหมิ่นมนุษย์ว่า ไม่มีความใฝ่ธรรมรักความดี หรือไม่อาจฝึกปรือความใฝ่ธรรมรักความดีนั้นให้เกิดมี และเจริญเพิ่มพูนได้ เป็นเหมือนกับบอกว่า มนุษย์ไม่สามารถเว้นชั่วทำดีด้วยความใฝ่ดีรักความประณีตบริสุทธิ์

    มนุษย์เว้นชั่วทำดีได้ด้วยความโลภหวังผลตอบแทนแก่ตนเพียงอย่างเดียวแล้วปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจที่จะฝึกอบรบคน ในด้านกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ


    อนึ่ง ถึงแม้จะเป็นการสมเหตุสมผลไม่น้อยที่ว่า ถ้าพิสูจน์ให้เห็นชัดจนคนทั่วไปเชื่อว่า ตายแล้วเกิดใหม่จริง คนจะยอมอยู่ในศีลธรรมกันเป็นอย่างดี

    แต่การที่จะรอให้คนมีศีลธรรมกันขึ้นเอง ต่อเมื่อได้เห็นผลสำเร็จของการพิสูจน์นั้นแล้ว ก็เป็นการไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด เพราะไม่อาจทราบได้ว่า คำว่า “ถ้า” ในการพิสูจน์นั้น จะกลายเป็นผลสำเร็จแท้จริงได้เมื่อใด คือ ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะพิสูจน์กันเสร็จ และถ้าว่ากันตามความจริงแท้อย่างเคร่งครัดแล้ว คำว่า พิสูจน์ ในความหมายว่า แสดงให้เห็นแจ้งประจักษ์ ก็ไม่อาจใช้ได้กับเรื่องนี้ เพราะคนอื่นไม่สามารถแสดงการเกิดใหม่ให้อีกคนหนึ่งดูได้ การเกิดใหม่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ประจักษ์ด้วยตนเอง

    ที่พูดกันว่า พิสูจน์นั้น ก็เป็นเพียงขั้นหาหลักฐานพยานมาให้ดูและวิเคราะห์เหตุผลมาให้ฟังเท่านั้น

    ส่วนตัวแท้ของเรื่องก็เข้าแนวเป็นอจินไตย คือ คิดเองด้วยเหตุผลไม่ได้ และ เป็นเรื่องเหนือสามัญวิสัยอยู่นั่นเอง ถึงจะพยายามพิสูจน์แสดงหลักฐานกันไปเพียงไร

    สำหรับคนสามัญ ก็คงอยู่ในขั้นศรัทธาหรือความเชื่ออยู่นั่นเอง จะแตกต่างกันก็เพียงจากไม่เชื่อมาเป็นเชื่อ และ เชื่อน้อย เชื่อมาก และในเมื่อยังเป็นเรื่องของความเชื่อ ก็จะยังมีผู้ไม่เชื่อ และยังมีโอกาสแห่งความคลางแคลงลังเลหรือความสงสัยไม่แน่ใจในผู้ที่เชื่ออยู่ได้ต่อไป

    ถึงคนที่ไม่เชื่อก็เช่นกัน ก็ได้เพียงขั้นเชื่อ คือ เชื่อว่าไม่เป็นอย่างนั้น เพราะยังไม่รู้ประจักษ์เหมือนกัน จึงยังมีช่องว่างที่จะระแวงสงสัยต่อไป จนกว่าจะหมดกังขาเมื่อได้เป็นโสดาบัน


    รวมความว่า การที่จะพยายามชี้แจงเหตุผล และ แสดงหลักฐานพยานให้คนเชื่อเรื่องตายแล้วเกิด และให้เชื่อกันมากขึ้น ก็มีผลดีอยู่ ใครทำก็ทำไป (ถ้าความพยายามนั้นไม่กระทบกระเทือนเสียหายต่อหลักการสำคัญข้ออื่นๆ ของพระพุทธศาสนา เช่น ไม่ ทำให้กลายเป็นผู้ที่ต้องหวังพึ่งอำนาจภายนอกหรือสิ่งเร้นลับมากขึ้น เป็นต้น) แต่การที่จะให้การประพฤติธรรม หรือ การดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา ต้องขึ้นต่อการพิสูจน์เรื่องนี้ ย่อมเป็นการไม่สมควรและไม่ถูกต้อง
     
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    จ) ข้อสรุป: การพิสูจน์ และท่าทีปฏิบัติต่อเรื่องชาติหน้า



    เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่คนสนใจกันมาก และเป็นข้อกังวลค้างใจของคนทั่วไป เพราะเป็นความลับของชีวิตที่อยู่ในอวิชชา จึงเห็นควรกล่าวสรุปแทรกไว้ที่นี้เล็กน้อย เฉพาะแง่ว่า มีจริงหรือไม่ พิสูจน์ได้อย่างไร

    ๑. ตามคำสอนในพุทธศาสนา เมื่อว่าตามหลักฐานในคัมภีร์ และแปลความตามตัวอักษร ก็ตอบได้ว่า สิ่งเหล่านี้มี

    ๒. การพิสูจน์เรื่องนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่อาจแสดงให้เห็นประจักษ์แก่ผู้ไม่รู้ ไม่ว่าในทางบวกหรือในทางลบ คือไม่ว่าในแง่มี หรือในแง่ไม่มี เป็นไปได้เพียงขั้น เชื่อว่ามีหรือเชื่อว่าไม่มี เพราะทั้งผู้เชื่อ และผู้ไม่เชื่อ หรือผู้พยายามพิสูจน์ว่ามี และผู้พยายามพิสูจน์ว่าไม่มี ต่างก็ไม่รู้ที่มาที่ไปแห่งชีวิต ไม่ว่าของตนหรือผู้อื่น ต่างก็มืดต่ออดีต รู้ไกลออกไปไม่ถึงแม้เพียงการเกิดคราวนี้ของตนเอง

    แม้แต่ชีวิตตนเอง ที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็ไม่รู้ และมองไม่เห็นอนาคตแม้เพียงว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

    ๓. ถ้าจะพิสูจน์ หลักมีว่า สิ่งที่เห็น ต้องดูด้วยตา สิ่งที่ได้ยิน ต้องฟังด้วยหู สิ่งที่ลิ้ม ต้องชิมด้วยลิ้น เป็นต้น สิ่งที่เห็น ถึงจะใช้สิบหูและสิบลิ้นรวมกัน ก็พิสูจน์ไม่ได้ หรือสิ่งที่ได้ยิน จะใช้สิบตากับสิบจมูกรวมกัน ก็พิสูจน์ไม่ได้ หรือสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน แต่ต่างระดับคลื่น ต่างระดับความถี่ ก็ไม่รู้กัน บางอย่างที่แมวมองเห็น สิบตาคนรวมกันก็ไม่เห็น บางอย่างที่ค้างคาวได้ยิน สิบหูคนรวมกันก็ไม่ได้ยิน เป็นต้น

    ในแง่หนึ่ง การตายเกิดเป็นประสบการณ์ของชีวิตโดยตรง หรือแคบลงมาเป็นปรากฏการณ์ของจิต ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยชีวิตหรือจิตเอง การพิสูจน์จึงควรเป็นไปดังนี้

    ก) พิสูจน์ด้วยจิต ท่านให้ต้องใช้จิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ถึงที่ แต่ถ้าไม่ยอมทำตามวิธีนี้ หรือ กลัวว่าที่ว่า เห็นในสมาธิ อาจเป็นการเอานิมิตหลอกตัวเอง ก็เลื่อนสู่วิธีต่อไป

    ข) พิสูจน์ด้วยชีวิต ตั้งแต่เกิดมาคราวนี้ คนที่อยู่ ยังไม่เคยมีใครตาย ดังนั้น จะรู้ว่าเกิดหรือไม่ต้องพิสูจน์ ด้วยการตายของใครของคนนั้น แต่วิธีนี้ไม่ปรากฏว่ามีใครกล้าทดลอง

    ค) เมื่อไม่ยอมพิสูจน์ ก็ได้เพียงขั้นแสดงหลักฐานพยานและชี้แจงเหตุผล เช่น หาตัวอย่างคนระลึกชาติได้ และสอบสวนกรณีต่างๆเช่นนั้น หรือ แสดงเหตุผลโดยหาความจริงอื่นมาเปรียบเทียบ อย่างเรื่องวิสัยการเห็น การได้ยิน ที่ขึ้นต่อระดับคลื่น และความถี่ เป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว ช่วยให้เห็นว่า น่าเชื่อ หรือเชื่อมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งรวมอยู่ในขั้นของความเชื่อเท่านั้น

    ๔. ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือจะพยายามพิสูจน์ให้กันและกันดูได้แค่ไหนก็ตาม สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ มีใครหนีพ้น ทุกคนต้องเกี่ยวข้อง และเป็นที่สืบต่อออกไปของชีวิตข้างหน้าที่เชื่อหรือไม่เชื่อว่ามีนั้นด้วย ก็คือ ชีวิตขณะนี้ที่มีอยู่แล้วนี้ ที่จะต้องปฏิบัติต่อมันอย่างใดอย่างหนึ่ง

    เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรเอาใจใส่ให้มาก จึงได้แก่ชีวิตในปัจจุบัน และสำหรับพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นจุดสนใจมากกว่า และเป็นที่สนใจแท้ จึงได้แก่การปฏิบัติต่อชีวิตที่เป็นอยู่นี้ ว่าจะดำเนินชีวิตที่กำลังเป็นไปอยู่นี้อย่างไร จะใช้ชีวิตที่มีอยู่แล้วนี้อย่างไร เพื่อให้เป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี และเพื่อชีวิตข้างหน้าถ้ามี ก็มั่นใจได้ว่าจะสืบต่อออกไปเป็นชีวิตที่ดีงามด้วย


    ดังนั้น สิ่งที่ควรกล่าวถึง จึงได้แก่ ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

    - บาลีชั้นเดิม คือ พระสูตรทั้งหลาย กล่าวบรรยายเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรก สวรรค์ ไว้น้อยนัก โดยมากท่านเพียงเอ่ยถึง หรือ กล่าวถึงเท่านั้น แสดงถึงอัตราส่วนของการให้ความสนใจแก่เรื่องนี้ว่ามีเพียงเล็กน้อย ในเมื่อเทียบกับคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในโลก หรือข้อปฏิบัติ จำพวก ศีล สมาธิ ปัญญา

    - บาลีเมื่อกล่าวถึงผลร้ายของกรรมชั่ว และอานิสงส์ของกรรมดี ถ้ากล่าวถึงการไปเกิดในนรกหรือสวรรค์ มักกล่าวไว้ต่อท้ายผลที่จะประสบในชีวิตนี้ โดยกล่าวถึงผลในชีวิตนี้ 4-5-10 ข้อ แล้วจึงจบลงด้วยคำว่า “เมื่อกายแตกทำลาย ภายหลังแต่มรณะ ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” หรือ “เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์


    ข้อสังเกตในเรื่องนี้ มี ๒ อย่าง คือ ประการแรก ท่านถือผลในชีวิตปัจจุบันเป็นสำคัญ และแยกแยะอย่างชี้ชัดเป็นอย่างๆไป ส่วนผลหลังตาย กล่าวเพียงปิดท้ายไว้ให้ครบรายการ

    ประการที่สอง การตรัสถึงผลดีผลร้ายเหล่านั้น เป็นไปในลักษณะแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ เป็นผลที่จะเกิดขึ้นเองตามเหตุ ไม่ต้องวอนหวัง เป็นเรื่องของการรู้ไว้ให้เกิดความมั่นใจเท่านั้น ถึงไม่ตั้งความปรารถนา ก็ย่อมเป็นไปเช่นนั้น

    - สำหรับคนที่ไม่เชื่อ ในเมื่อยังได้เพียงแต่เชื่อ คือ เชื่อว่าไม่มี ยังไม่รู้แจ้งประจักษ์จริง ย่อมไม่อาจปฏิเสธความสงสัยในส่วนลึกแห่งจิตใจของตนได้โดยเด็ดขาด

    คนเหล่านี้ เมื่อเรี่ยวแรงความมัวเมาในวัยหนุ่มสาวเสื่อมไปแล้ว ถูกชราครอบงำ ความหวาดหวั่นต่อโลกหน้าก็มักได้ช่องแสดงตัว ซึ่งเมื่อไม่ได้เตรียมความดีไว้ ก็จะมีทุกข์มาก ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ ถึงคนที่ไม่เชื่อก็ควรทำดีไว้ จะมีหรือไม่มี ก็มั่นใจและโล่งใจ

    - สำหรับคนที่เชื่อ

    ก) พึงให้ความเชื่อมั่น อิงหลักแห่งความเป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างแท้จริง คือ ให้มองผลในชาติหน้าว่า สืบต่อไปจากคุณภาพของจิตใจ ที่ได้สร้างขึ้นไว้ในชาตินี้ แล้วเน้นที่การทำกรรมดีในปัจจุบัน เพื่อสร้างเสริมคุณภาพจิตคุณภาพชีวิตที่ดีงาม เพื่อให้ชีวิตที่สืบต่อไปข้างหน้าเป็นชีวิตที่ดีงามด้วย

    การเน้นในแง่นี้ จะทำให้การเกี่ยวข้องกับชาติหน้า หรือหวังผลชาติหน้า เป็นไปในรูปของความมั่นใจโดย อาศัยปัจจุบันเป็นฐาน และการหวังผลชาติหน้านั้น จะยิ่งทำให้เอาใจใส่ให้ความสำคัญแก่ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น ไม่เสียหลักที่ว่า ถึงจะยุ่งเกี่ยวกับชาติหน้าอย่างไร ก็อย่าให้สำคัญกว่าชาติที่เป็นอยู่ขณะนี้ และจะได้ไม่เน้นการทำกรรมดี แบบเป็นการลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไร

    ข) ความเชื่อต่อชาติหน้านั้น ควรช่วยให้เลิก หรือ ให้บรรเทาการพึ่งพาอาศัยอำนาจดลบันดาลหรือสิ่งลึกลับในภายนอกลงด้วย เพราะการเชื่อชาติหน้าหมายถึงการเชื่อกรรมดีที่ตนกระทำ และการที่จะต้องก้าวหน้าเจริญสูงขึ้นไปในสังสารวัฏนั้น

    ส่วนการรอหวังพึ่งอำนาจภายนอก ย่อมเป็นการทำตัวให้อ่อนแอลง และเป็นการกดตัวเองให้ถอยตัวออกมาสร้างเรี่ยวแรงกำลังของตนเองขึ้นใหม่โดยเร็ว

    - สำหรับผู้เชื่อ หรือ ไม่เชื่อก็ตาม จะต้องก้าวไป หรือได้รับการสอนให้ก้าวไปถึงขั้นเว้นกรรมชั่ว ทำกรรมดี โดย ไม่ต้องขึ้นต่อความเชื่อหรือความไม่เชื่อนั้นเลย คือ ทำดีได้โดยไม่ต้องหวังผลชาติหน้า หรือ ถึงแม้ไม่เชื่อว่ามีชาติหน้า ก็จะไม่ทำชั่ว ผลขั้นนี้ ทำให้เกิดขึ้นได้โดย

    ๑) ฝึกอบรมกุศลฉันทะหรือธรรมฉันทะ ให้กล้าแข็ง คือ ทำให้เกิดความใฝ่ธรรม รักความดีงาม ต้องการความประณีตหมดจด มุ่งให้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรลุอุดมสภาวะของมัน

    ๒) สร้างความใฝ่รักในปีติสุขอันประณีตลึกซึ้งภายใน และให้ความใฝ่ปีติสุขอันประณีตหรือการใช้ประสบปีติสุขอันประณีตนั้น เป็นเครื่องป้องกันการทำชั่ว และหนุนการทำดีโดยตัวของมันเอง ทั้งนี้ เพราะการที่จะได้ปีติสุขอันประณีตนั้น ย่อมเป็นเงื่อนไขอยู่ในตัวว่าต้องเว้นทุจริตประกอบสุจริต และการได้ปีติสุขอันประณีตนั้นแล้ว ก็จะเป็นแรงหน่วงเหนี่ยวไม่ให้หลงใหลกามถึงขั้นที่จะประกอบกรรมชั่วร้ายได้

    อย่างไรก็ตาม สำหรับปีติสุขอันประณีตขั้นโลกีย์ อาจต้องระมัดระวังบ้าง ที่จะไม่ให้ติดเพลินมากเกินไปจนเสียงานหรือหยุดความก้าวหน้า

    ๓) ฝึกอบรมปัญญาให้เจริญถึงขั้นที่จะเป็นอยู่ด้วยปัญญาหรือดำเนินชีวิตด้วยปัญญา คือ มีความรู้เท่าทันสภาวะ ของโลกและชีวิต หรือรู้ธรรมดาแห่งสังขาร พอที่จะทำจิตใจให้เป็นอิสระได้บ้างพอสมควร ไม่หลงใหลติดอามิส หรือกามวัตถุถึงกับจะทำกรรมชั่วร้าย มองชีวิตจิตใจของมนุษย์อื่นสัตว์อื่นด้วยความเข้าใจ หยั่งเห็นทุกข์สุข และ ความต้องการของเขา พอที่จะทำให้คิดการในทางที่เกื้อกูลช่วยเหลือด้วยกรุณา ใจไม่โน้มน้อมไปในทางที่จะเบียนเบียนผู้อื่น

    ข้อนี้ นับเป็นขั้นแห่งการดำเนินชีวิตของท่านผู้ได้เข้าถึงโลกุตรธรรม ซึ่งมีโลกุตรสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว หรืออย่างน้อยก็เป็นขั้นของผู้ดำเนินชีวิตตามแนวปฏิบัติเพื่อเข้าถึงโลกุตรธรรมนั้น


    ถ้าแม้ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง ก็เป็นอยู่ด้วยศรัทธาที่เป็นบุพภาคของปัญญานั้น คือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาและเป็นไปเพื่อปัญญา ซึ่งเชื่อในวิถีทางแห่งการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มั่นใจในชีวิตที่เป็นอิสระด้วยปัญญานั้นว่าเป็นชีวิตที่ดีงามประเสริฐสุด และพยายามดำเนินปฏิปทาแห่งการเป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ประกอบด้วยกรุณานั้นด้วยตนเอง *

    ความจริงหลักปฏิบัติ ๓ ข้อนี้เนื่องถึงกัน ใช้ประกอบเสริมกันได้ โดยเฉพาะข้อที่ ๑) ต้องใช้ในการทำสิ่งดีงามทุกอย่าง จึงเป็นที่อาศัยของข้อ ๒) และ ๓) ด้วย

    ถ้าปฏิบัติได้ตามหลักสามข้อนั้น ความเชื่อเรื่องกรรมในชีวิตหน้า ก็จะเป็นเพียงส่วนช่วยเสริมความมั่นใจในการเว้นชั่วทำดีให้มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นสำหรับบางคน แต่ไม่ถึงกับเป็นตัวตัดสินเด็ดขาดว่า ถ้าเขาจะไม่ได้รับผลนั้นในชาติหน้าแล้ว เขาจะไม่ยอมทำความดีเลย


    ถ้าอ่อนแอเกินไป ไม่สามารถฝึกคน หรือฝึกตนให้ปฏิบัติตามหลักสามข้อนั้นได้ การใช้ความเชื่อต่อกามวัตถุ มุ่งแต่แสวงหาอามิสมาปรนเปรอตน ซึ่งมีแต่จะทำให้การเบียดเบียนและความชั่วร้ายนานาระบาดแพร่หลาย นำชีวิตและสังคมไปสู่หายนะถ่ายเดียว และถึงอย่างไร ความเชื่อผลกรรมชาติหน้าก็จัดเข้าในโลกียสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อให้ก้าวหน้าไปในทางดีงามง่ายขึ้น

    .........
    อ้างอิงที่ *
    * ศรัทธาที่ออกผลเช่นนั้น ต้องอาศัยความเชื่อมั่นในท่าน ซึ่งเป็นผู้นำแห่งการดำเนินชีวิตอิสระด้วยปัญญา คือ พระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในคำสอนของพระองค์ คือ พระธรรม เชื่อมั่นในชุมชนผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนนั้นและประสบความสำเร็จในการมีชีวิตที่เป็นอิสระเช่นนั้นด้วย คือ พระสงฆ์ รวมเรียกว่า ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย
     
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ทุคติ คติไม่ดี, ทางดำเนินที่ไม่ดีมีความเดือดร้อน, ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือที่ไปเกิดของผู้ทำกรรมชั่ว, แดนกำเนิดที่ไม่ดีมากไปด้วยความทุกข์ มี ๓ ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต, คติที่ไม่ดี คือ ทุคติ ๓ นี้ ตรงข้ามกับคติที่ดี คือ สุคติ ๒ (มนุษย์ และเทพ) รวมทั้งหมดเป็น คติ ๕


    วินิบาต โลกหรือวิสัยเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์อย่างไร้อำนาจ (คือช่วยตัวไม่ได้เลย) แดนเป็นที่ตกลงไปพินาศย่อยยับ, สภาพตกต่ำ, ภพคือภาวะแห่งชีวิตที่มีแต่ความตกต่ำเสื่อมถอยย่อยยับ, อรรถกถาทั้งหลาย (เช่น วินย.อ.1/187) แสดงความหมายไว้ ๒ นัย คือ พูดแบบรวมๆ ก็เป็นไวพจน์คำหนึ่งของ นรก นั่นเอง แต่ถ้าแยกความหมายออกไปต่างหาก ก็หมายถึงกำเนิดอสุรกาย


    นรก เหวแห่งความทุกข์, ที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย, ที่ไปเกิดและเสวยความทุกข์ของสัตว์ผู้ทำบาป


    นิรยะ นรก, ภพที่ไม่มีความเจริญ, ภูมิที่เสวยทุกข์ของคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิด


    อบาย, อบายภูมิ
    ภูมิกำเนิดทีปราศจากความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ ๑. นิรยะ นรก ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ๓. ปิตติวิสัย ภูมิเปรต ๔. อสุรกาย พวกอสุรกาย


    สุคติ คติดี, ทางดำเนินที่ดี, แดนกำเนิดอันดีที่สัตว์ผู้ทำกรรมดีตายแล้วไปเกิด ได้แก่ มนุษย์ และเทพ


    สวรรค์ แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ ๕, โลกของเทวดา ตามปกติหมายถึงกามาพจรสวรรค์ (สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม) ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี


    โลก แผ่นดินเป็นที่อาศัย, หมู่สัตว์ผู้อาศัย โลก ๓
    คือ
    ๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร

    สัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์

    ๓. โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน, อีกนัยหนึ่ง

    ๑. มนุษยโลก โลกมนุษย์

    ๒. เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น

    ๓. พรหมโลก โลกของพระพรหม
     
  17. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  18. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ฉ) ผลกรรมตามนัยแห่งจูฬกรรมวิภังคสูตร

    เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็ขอนำพุทธพจน์แห่งสำคัญ ที่กล่าวถึงผลกรรมซึ่งสืบเนื่องจากปัจจุบัน ไปถึงภพหน้า ตามที่ปรากฏในจูฬกัมมวิภังคสูตร* (ม.อุ.14/579-597/376-385) (เรียกอีกอย่างว่า สุภสูตร) มาแสดงไว้ สรุปใจความได้ ดังนี้

    “ดูกรมานพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นที่กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้ทรามและประณีต”

    ๑. ก. สตรีหรือบุรุษ มักทำปาณาติบาต เป็นคนเหี้ยมโหด หมกมุ่นอยู่ในการประหัตประหาร ไร้เมตตาการุณย์ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีอายุสั้น

    ข. สตรีหรือบุรุษ ผู้ละเว้นปาณาติบาต มีเมตตาการุณย์ มักเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีอายุยืน


    ๒. ก. สตรี หรือบุรุษ ผู้มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือไม้ศัสตรา ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโรคมาก (ขี้โรค)

    ข. สตรีหรือบุรุษ ผู้ไม่มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโรคน้อย (มีสุขภาพดี)


    ๓. ก. สตรี หรือบุรุษ ผู้เป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นง่าย ใครว่ากล่าวนิดหน่อย ก็ขัดใจพลุ่งพล่าน พยาบาท แสดงความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม (ไม่สวยไม่งาม)

    ข. สตรีหรือบุรุษ ผู้ไม่มักโกรธ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนน่าเลื่อมใส (มีรูปร่างท่าทางชวนใจนิยม)


    ๔. ก. สตรี หรือบุรุษ ผู้มีใจริษยาคนอื่น ได้ลาภได้รับความเคารพนับถือกราบไหว้บูชา ก็ไม่สบายใจ ทนไม่ได้ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีศักดาน้อย (ต่ำต้อยด้อยอำนาจ)

    ข. สตรีหรือบุรุษ ผู้ไม่มีใจริษยา ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีศักดามาก (มีเดชมีอำนาจมาก)


    ๕. ก. สตรีหรือ บุรุษ ผู้ไม่บำเพ็ญทาน ไม่ให้ปันข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโภคะน้อย

    ข. สตรี หรือ บุรุษ ผู้บำเพ็ญทาน ให้ปันข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโภคะมาก


    ๖. ก. สตรี หรือ บุรุษ ผู้เป็นคนแข็งกระด้าง เย่อหยิ่ง ชอบดูถูกคน ไม่เคารพนับถือ กราบไหว้ แสดงความเอื้อเฟื้อ แก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีตระกูลต่ำ

    ข. สตรี หรือ บุรุษ ผู้ไม่เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง แสดงความเคารพนับถือ กราบไหว้ เอื้อเฟื้อ แก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีตระกูลสูง


    ๗. ก. สตรี หรือ บุรุษ ผู้ไม่เข้าหาไม่สอบถามสมณะหรือพราหมณ์ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีโทษ ไม่มีโทษ อะไรควรปฏิบัติ ไม่ควรปฏิบัติ อะไรเมื่อทำ จะเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ อะไรเมื่อทำ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขชั่วกาลนาน ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนทรามปัญญา

    ข. สตรี หรือ บุรุษ ผู้รู้จักเข้าหาสอบถามสมณะหรือพราหมณ์ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีปัญญามาก



    จะเห็นได้ว่า ในสูตรนี้ แม้จะกล่าวถึงผลที่จะประสบในชีวิตข้างหน้า แต่ก็เน้นที่การกระทำในปัจจุบัน โดยเฉพาะการกระทำที่มีลักษณะเป็นความประพฤติปฏิบัติอย่างประจำ

    เป็นส่วนแห่งการดำเนินชีวิต ชนิดที่จะสร้างสมคุณภาพของจิตใจ ปรุงแต่งลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพได้ และเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงแก่ผลจำเพาะแต่ละอย่าง


    ไม่ใช่เป็นอานิสงส์เฟ้อชนิดที่ว่า ทำกรรมดีอะไรครั้งเดียว เช่น ให้ทานครั้งหนึ่งก็มีผลมากมาย ไม่มีขอบเขต จะหวังเป็นอะไร ปรารถนาได้อะไร ก็ได้ก็เป็นอย่างนั้นหมด ซึ่งถ้าเน้นกันนัก ก็จะทำให้คนมุ่งแต่จะทำบุญกรรม แบบฝากเงินในธนาคารเฉยไว้ไปรอรับผลดอกเบี้ย หรือแบบคนเล่นลอตเตอรี่ที่ลงทุนทีหนึ่งหวังผลกำไรมหาศาลแล้วเลยไม่ใส่ใจกรรมดีชนิดที่เป็นความประพฤติปฏิบัติทั่วไป และการดำเนินชีวิตดีงามประจำวันอย่างที่ตรัสไว้ในสูตรนี้*


    รวมความว่า สาระของจูฬกรรมวิภังคสูตรนี้ ก็ยังคงยืนหลักการสำคัญที่ว่า การนึกถึงผลกรรมที่จะได้ประสบในชีวิตภพหน้า พึงเป็นไปในลักษณะของความมั่นใจที่อาศัยกรรม คือ คุณภาพจิตใจ และ คุณภาพแห่งความประพฤติ ที่ตนมีอยู่ในปัจจุบันนี้เอง และการได้รับผลห่างไกลเบื้องหน้านั้น มีลักษณะที่สืบทอดต่อเนื่องออกไปอย่างมีความสัมพันธ์กันได้ตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัย


    หลักสำหรับวินิจฉัยในเรื่องนี้ อาจพูดอย่างสั้นๆได้แนวหนึ่งว่า ความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกรรมในชาติหน้า จะต้องเป็นความเชื่อที่มีลักษณะช่วยเสริมธรรมฉันทะให้เข้มแข็งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

    หากความเชื่อเกี่ยวกับผลกรรมในชาติหน้าอย่างใด ไม่ช่วยเสริมธรรมฉันทะ แต่กลับเป็นไปในทางส่งเสริมโลภะ หรือตัณหาถ่ายเดียว ก็พึงเข้าใจว่า ความเชื่ออย่างนั้น เป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อน และควรได้รับการแก้ไข
    ..................

    อ้างอิงที่ *
    * เนื้อหาของสูตรนี้ เป็นการตอบปัญหาของสุภมาณพ ซึ่งเป็นคนวรรณะพราหมณ์
    การที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่สุภมาณพอย่างนี้ มองในแง่สัมพันธ์กับศาสนาพราหมณ์ มีข้อสังเกตอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรก เป็นการแย้งต่อคำสอนของพราหมณ์ที่ว่า พรหมเป็นผู้สร้าง ผู้บันดาลชีวิตมนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่าง โดยให้มองอย่างใหม่ว่า การกระทำของคนนั่นเอง เป็นเครื่องสร้างสรรค์ปรุงแต่งชีวิตของมนุษย์
    ประการที่สอง ตามพิธีกรรมของพราหมณ์ เช่น การบูชายัญ ผู้ประกอบพิธีและถวายทักษิณาแก่พราหมณ์ จะได้รับผลานิสงส์มากมายมหาศาลชนิดที่จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์โดยทางเหตุปัจจัยกับสิ่งที่กระทำนั้นเลย การตรัสผลของกรรม ตามแนวแห่งสูตรนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจอย่างใหม่ในแง่นั้นด้วย
     

แชร์หน้านี้

Loading...