เรื่องเด่น การอยู่กับปัจจุบันธรรม ( พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ )

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 28 กันยายน 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    หลวงพ่อเล็ก005-พลังจิต7.jpg

    การที่ให้ทุกท่านกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนั้น นอกจากจะสร้างสมาธิให้เกิดขึ้น เพื่อให้จิตมีกำลังในการตัดกิเลสแล้ว ที่สำคัญก็คือ ถ้าความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้า ก็จะเป็นการอยู่กับปัจจุบันธรรม

    การอยู่กับปัจจุบันธรรมนั้น จะทำให้การดำรงชีวิตของเรามีทุกข์น้อยมาก นอกจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติของร่างกายนี้แล้ว ทุกข์อื่นที่เกิดจากความคิดของเราจะไม่มี เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ในปัจจุบันนี้เราทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง คิดแล้วไม่สามารถที่จะหยุดความคิดนั้นได้ ส่วนใหญ่เราไปคิดโหยหาอดีต ไปฟุ้งซ่านถึงอนาคต แค่เริ่มคิดก็เริ่มทุกข์แล้ว

    ในภัทเทกรัตตสูตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ คือ บุคคลไม่บังควรหวนคำนึงถึงอดีต และไม่บังควรที่จะฟุ้งซ่านถึงอนาคต ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ การอยู่กับปัจจุบันธรรมเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงจะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงได้

    การที่เราส่งความคิดไปในอดีต ก็เปรียบเหมือนกับรถทัวร์ที่ออกจากท่ารถไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะไปคร่ำครวญถึง เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะขึ้นได้ทัน แต่ถ้าเราส่งความคิดฟุ้งซ่านไปในอนาคต ก็เปรียบเหมือนกับรถเมล์ที่ยังไม่เข้าเทียบท่า เพราะยังไม่ถึงเวลาของตน เราไม่สามารถที่จะขึ้นเพื่อไปสู่จุดหมายได้เช่นกัน เราจึงต้องหยุดกำลังใจไว้ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ คือรถเมล์ที่เทียบท่าอยู่ตรงหน้าเรานี้ ต้องขึ้นรถเมล์คันนี้จึงจะไปสู่จุดมุ่งหมายของเราได้

    การที่เราจะอยู่กับปัจจุบันธรรมนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือผูกกำลังใจทั้งหมดของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ลมหายใจผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ไปสุดที่ท้อง หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมาจากท้อง ผ่านกึ่งกลางออก มาสุดที่ปลายจมูก

    ถ้าเรากำหนดอย่างนี้เอาไว้ จนกระทั่งกำลังใจทรงตัวมั่นคง เกิดความแนบแน่นของสมาธิขึ้น ก็จะมีสภาพของการภาวนาเองโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องบังคับ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาก็สามารถที่จะเกิดขึ้นเองและต่อเนื่องไปเรื่อย ถ้าถึงระดับนี้เราก็แค่เอาสติจดจ่อประคับประคอง อย่าให้การภาวนาอัตโนมัตินี้หลุดหายไปก็พอ

    ถ้าท่านใดทำได้ยิ่งกว่านี้ ก็แปลว่าสติสมาธิของท่าน ก้าวขึ้นสู่ระดับสูงกว่าปฐมฌานละเอียด ถ้าอย่างนั้นบางทีลมหายใจก็เบาลง หรือคำภาวนาหายไป บางท่านก็เกิดความรู้สึกรวบเข้ามาสู่ส่วนกลางส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ก็คือรู้สึกเหมือนกับมือเท้าของเราเกิดชา แข็งขึ้น ๆ รวบเข้ามา ๆ

    บางทีก็รู้สึกเหมือนโดนสาปแข็งเป็นหินไปทั้งตัว หรือที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า เหมือนโดนเขามัดติดหลักไว้ ตึงเป๋งไปทั้งตัว อย่าได้กลัวเมื่ออาการดังนั้นเกิดขึ้น แค่ให้กำหนดรู้ไว้เฉย ๆ ว่าตอนนี้อาการเป็นดังนี้

    ความรู้สึกทั้งหมดเมื่อรวบเข้ามา ๆ แล้วก็จะสว่างโพลงอยู่จุดใดจุดหนึ่งที่เรากำหนดไว้ อย่างเช่นว่าตรงหน้า ในศีรษะ ในอก ในท้อง เป็นต้น ความรู้สึกจะสว่างไสวมาก สดชื่นเยือกเย็นมาก ประสาทหูไม่รับรู้เสียงภายนอก ถ้าหากว่าเป็นดังนั้นก็แสดงว่าท่านทรงระดับอัปปนาสมาธิถึงฌาน ๔ แล้ว

    ความรู้สึกทั้งหมดจะจดจ่อต่อเนื่องอยู่เฉพาะหน้า สภาพจิตไม่ส่งไปในอดีตและไม่ส่งไปในอนาคต ความทุกข์ที่เกิดจากความคิดอื่น ๆ ก็ไม่มี กรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นแม้เล็กน้อยอย่างมโนกรรมก็ไม่เกิด เพราะว่าเราหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้ฟุ้งซ่านไปสร้างมโนกรรมขึ้นมา

    เมื่อสภาพจิตของเราดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว ก็จะค่อย ๆ คลายออกมาเองโดยอัตโนมัติ เหมือนอย่างกับคนเดินไปจนชนกำแพงแล้วไม่สามารถที่จะไปต่อได้ ก็ต้องถอยหลังกลับออกมา

    ถึงวาระนี้ให้ทุกท่านระมัดระวังเป็นที่สุด เพราะว่าถ้าเผลอ จิตใจก็จะฟุ้งซ่านไปสู่ รัก โลภ โกรธ หลง เองโดยอัตโนมัติ และจะฟุ้งซ่านไปได้อย่างหนักแน่นมั่นคงมาก เพราะเอากำลังสมาธิของเราไปใช้ในการฟุ้งซ่าน เราจึงต้องรู้จักนำวิปัสสนาญาณมาให้จิตได้คิดและพิจารณา

    อย่างเช่นว่า มองให้เห็นทุกข์ในอริยสัจ และสาเหตุของการเกิดทุกข์นั้น ๆ เมื่อเราไม่สร้างสาเหตุ ความทุกข์นั้นก็ไม่เกิด หรือว่ามองแบบไตรลักษณ์ เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ หรือตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ มองให้เห็นการเกิดดับของสังขารร่างกายและวัตถุธาตุทั้งปวง

    ไปจนกระทั่งถึงท้ายสุดก็คือการปล่อยวางในสภาพสังขารนี้ ไม่ยินดียินร้ายเมื่อเกิดสิ่งที่ดีหรือไม่ดีขึ้น ดูแลรักษาสังขารนี้ไปตามสภาพเพื่อเอาไว้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น ถ้าร่างกายนี้จะตายจะพังลงไป ก็ไม่ได้เกิดความห่วงหาอาวรณ์ใด ๆ ถ้าท่านสามารถรักษากำลังใจในการพิจารณาได้ดังนี้ จนสภาพจิตยอมรับ การก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นก็ไม่ใช่ของยาก

    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔


    ที่มา วัดท่าขนุน
     

แชร์หน้านี้

Loading...