คนดีแท้ๆ แม้เทวดาก็ต้องเกรงใจ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 28 ตุลาคม 2016.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,294
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    คนดีแท้ๆ แม้เทวดาก็ต้องเกรงใจ

    คนแบบนี้มีอยู่จริงมากมายครับ คนประเภทที่ว่าไปไหนก็มีแต่บารมี ได้รับความเกรงใจเชิงเคารพนบน้อมโดยดุษณี (ไม่ได้เกรงเพราะกลัวในอำนาจ) ได้รับการต้อนรับไปทุกสารทิศ

    ในพุทธกาลมีคนๆ หนึ่งผู้เป็นแบบอย่างเรื่องนี้คือท่าน สุทัตตะ หรือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี

    เบื้องต้นโดยวิสัยแล้ว ท่านเป็นผู้ที่ "ได้ให้ทานประจำ" ไม่เฉพาะถวายทานแด่พระสงฆ์ ประชาชนทั่วไป แม้กระทั่งคนอนาถาไร้ที่พึ่ง จำพวกยาจกวณิพกทั้งหลาย ท่านก็ให้เป็นประจำ

    คำ “อนาถบิณฑิกะ” นี้ ถ้าไม่แปลตามตัวอักษร แปลเอาความก็คือ “เศรษฐีผู้ใจบุญ” นั่นเอง

    เพียงแค่เงินที่สร้างวัดพระเชตวันและการเฉลิมฉลองการสร้างวัดเลี้ยงพระเลี้ยงคน 7 วัน 7 คืนแล้วก็หมดเงินไปประมาณ 18โกฏิกหาปณะ อยากรู้ว่าเยอะแค่ไหน เทียบว่า 1 โกฎิเท่ากับ 10 ล้าน และ 1 กหาปณะ คือ 4 บาท คูณเข้าไปเด๋วก็ทราบตัวเลข

    การทำทานของท่านเศรษฐีนั้นทำมากมายเหลือเกินตามกำลังที่ท่านพึงมีทั้งหมดสิ่งที่ท่านทำประจำก็คือ ถวายทานข้าวปลาอาหารอย่างละ 500 โดยไปถวายที่วัดเชตวันที่ท่านสร้างให้พระพุทธองค์นั่นแหละ

    ในความจริงแล้วผู้ร่ำรวยระดับอภิมหาเศรษฐีอย่างท่านอนาถบิณฑิกะก็มีมาก แต่ในบรรดาเศรษฐีใหญ่เหล่านั้น ไม่มีใครใจบุญทุ่มทรัพย์สินเงินทองเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนามากมายเท่าท่านทำให้ท่านได้รับการยกย่องอย่างมาก

    แต่ชีวิตมีขึ้นลง ครั้งหนึ่งท่านทำทานจนยากจนลง เพราะเกิดทรัพย์สินสูญหายไปบ้าง จมน้ำไปบ้าง แต่ก็ยังถวายทานเป็นประจำอยู่เช่นเดิม เพราะท่านเชื่อถึงที่สุดว่า "การให้ทานนั้นไม่ทำให้ยากจนแน่นอน"

    เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูทนไม่ได้ นัยว่าเพราะสงสารเศรษฐี มาปรากฏตัวต่อหน้าเศรษฐี บอกมิให้เศรษฐีทำบุญทำทานมากนัก ลดลงเสียบ้าง ทำจนยากจนลงทุกวันเห็นไหม อะไรทำนองนั้น

    เศรษฐีถามว่า “ท่านเป็นใคร มาพูดอย่างนี้กับข้าพเจ้า”

    “ข้าเป็นเทวดาที่อยู่ซุ้มประตูของท่าน”

    ท่านเศรษฐีตวาดว่า "การที่ได้เกิดเป็นเทพ ไม่ว่าเทพชั้นสูงหรือต่ำเป็นผลจากการทำทาน รักษาศีล ท่านยังไม่รู้หรือ ท่านยังจะมาห้ามมิให้ข้าพเจ้าทำบุญทำทานหรือ เท่ากับว่าเป็นเทวดาอันธพาล เทพอย่างท่านไม่สมควรอยู่ที่บ้านข้าพเจ้า จะไปไหนก็ไปเถิด"

    เทวดาจึงจำต้องออกจากซุ้มประตูบ้านเศรษฐี เร่รอนไปหาที่อยู่ใหม่ หาที่ไหนก็ไม่ได้ ต้องกลับมาขอโทษเศรษฐี ซึ่งตอนแรกเทวดาไปปรึกษาผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านว่าจะทำอย่างไรดี

    ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ว่าก็คือ พระอินทร์ ท่านบอกให้เทวดาตกอับผู้นี้ไปทวงของที่เคยเป็นของท่านเศรษฐีมาคืน มาใส่ให้เต็มคลัง ใครโกงท่านไปก็ไปทวงมาให้ได้

    เทวดาก็เลยไปตามทรัพย์ที่สูญหายและโดนเบี้ยวไปทั้งหมดมาคืนท่านแล้วไปทำการขอโทษ ท่านเศรษฐียังไม่รับคำขอโทษทันที ต้องให้ไปขอโทษต่อหน้าพระพุทธเจ้า

    เทวดาจึงไปทำการขอขมาท่าน และพระพุทธองค์ยกโทษให้ ทรงแสดงธรรมให้เทวดาได้ดวงตาเห็นธรรมในที่สุด

    ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในคราวที่ท่านเศรษฐีตกอับอยู่นั้น กิจการค้าขายขาดทุนนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการจาริกไปสั่งสอนประชาชนที่แว่นแคว้นต่างๆ พระองค์ตรัสถามเศรษฐีว่า

    "ท่านยังให้ทานเหมือนเดิมหรือเปล่า

    เศรษฐีกราบทูลว่า "ยังให้เป็นประจำเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าตอนนี้อาหารและสิ่งของที่ถวายมิได้ประณีตเท่าเดิมพระเจ้าข้า"

    พระพุทธองค์ตรัสว่า

    " วัตถุที่ให้นั้นจะเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม นั่นมิใช่สิ่งสำคัญ เจตนาและความเลื่อมใส ตลอดจนกิริยาอาการที่ให้นั้นสำคัญกว่า

    ถ้าให้ด้วยความไม่เคารพ ไม่นอบน้อม มิได้ให้ด้วยมือของตน ให้แบบทิ้งๆ ขว้างๆ สักแต่ให้ ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ทานนั้นไม่ว่าจะประณีตเพียงใด ก็ไม่มีอานิสงส์มาก แต่ถ้าให้ด้วยความเคารพนอบน้อม ให้ด้วยมือของตน ไม่ทิ้งให้เทให้ ให้เพราะเชื่อมั่นในกรรมและผลของกรรม ทานนั้นย่อมมีอานิสงส์มาก

    แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องเวลาพราหมณ์ให้เศรษฐีฟัง เพื่อให้กำลังใจแก่เศรษฐี

    พราหมณ์คนนี้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี เป็นอาจารย์สอนศิษย์ที่เป็นขัตติยราชกุมารถึง 84 องค์ มีทรัพย์สมบัติมากมาย ให้ทานเป็นการใหญ่ ด้วยจิตศรัทธาเชื่อมั่นในผลของการทำบุญกุศล

    จนการให้ทานของเขาเป็นที่รู้กันกว้างขวาง ในนาม “เวลามหายัญ” (ยัญยิ่งใหญ่ของเวลามะ)

    พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องนี้แล้ว ทรงสอนต่อไปว่า

    "ทานนั้นไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด ไม่ว่าจะสร้างวัดวาอารามมากมายเพียงไร ก็ยังสู้การถึงไตรสรณคมน์ (ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก) การรักษาศีล การเจริญเมตตา และการรำลึกถึงความเป็นอนิจจัง ไม่ได้หมายความว่าสี่อย่างหลังนี้ยิ่งใหญ่กว่าการให้วัตถุเป็นทาน

    ทรงแสดงพระประสงค์เพื่อน เตือนท่านเศรษฐีว่าอย่าขวนขวายแต่เรื่องให้วัตถุทานเพียงอย่างเดียว จงบำเพ็ญศีลและภาวนาบ้าง เพราะ ทานไม่ได้ปิดอบาย แต่ศีลและภาวนาต่างหากที่สามารถทำเช่นนั้นได้

    ติดตามต่อต่อไปครับว่า พระพุทธองค์ทรงสอนอะไรท่านเศรษฐีต่อ



    **********
    เครดิต https://www.facebook.com/Sabiangbunpublishing
    ‪#‎หนังสือธรรมทาน‬ ‪#‎เสบียงบุญ‬ ‪#‎ธรรมะ‬
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...