จตุธรรมธาตุ…จากพระธาตุสู่วิถีชุมชน

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 1 ตุลาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช, พระบรมธาตุสวี ชุมพร, พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี และพระมหาธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว พัทลุง 4 พระธาตุซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวในโครงการ “จตุธรรมธาตุ” หากแต่ไม่ใช่เพียงแค่พระธาตุเท่านั้นที่เชื่อมโยงทั้ง 4 จังหวัดไว้ด้วยกัน ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมและเส้นทางท่องเที่ยวทางฝั่งอ่าวไทยที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างกลมกลืน
    ห้วงเวลาหนึ่งจตุคามรามเทพเคยทำให้ผู้คนต่างหลั่งไหลมาที่นครศรีธรรมราช

    แต่สำหรับวันนี้นอกจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองแล้ว วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนนครค่อย ๆ กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัตถกรรมจากย่านลิเภา เครื่องถมเมืองนคร ไปจนถึงหนังตะลุง ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่เพียงเป็นโอทอป ระดับห้าดาว แต่ยังเป็นภูมิปัญญาที่ยังคงได้รับการสืบต่อ และงานหัตถกรรมเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาที่รวมอยู่ใน “หมู่บ้านภูมิปัญญาสวนอาจารย์ทวี” ด้วย

    “ตลาดกรีนภูมิปัญญา” หรือ “หลาด กรีนภูมิปัญญา” ตามภาษาเรียกพื้นเมือง คือชื่อที่ อ.ทวี พลายด้วง นายกสมาคมภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ก่อตั้งตลาดแห่งนี้ใช้เรียกเพื่ออยากจะสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ได้ตั้งแต่ชื่อเรียกขาน โดยนำพื้นที่สวนของตัวเองกว่า 13 ไร่ ซึ่งไม่เคยต้องเจอกับปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมเลยสักครั้งแปรเปลี่ยนให้เป็นหลาดกรีนภูมิปัญญา โดยเปิดทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

    “ภูมิปัญญาชาวบ้านถดถอย ทั้งที่รัฐบาลก็สนับสนุนมาตลอด เลยมาตกผลึกความคิดพบว่า จุดที่จะทำให้คงอยู่ต้องทำอย่างไร คำตอบก็คือ การจะรักษาแบบยั่งยืนคือต้องพัฒนาเป็นอาชีพให้ได้ วันนี้ทุกคนโหยหาธรรมชาติ เรื่องเก่า บรรยากาศเก่า ตรงนี้น้ำไม่ท่วมและไม่แล้งทั้งปี ผมเลยให้ใช้พื้นที่ตรงนี้ขอเดินก่อนแล้วค่อยให้รัฐเข้ามาช่วยเสริมทีหลัง”

    ในหลาดกรีนภูมิปัญญาแห่งนี้หลักสำคัญก็คือ สินค้าทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นของกิน ของฝาก ของที่ระลึก ทุกอย่างจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากภูมิปัญญา ทั้งที่สานต่อจากบรรพบุรุษและสิ่งที่พัฒนาขึ้นจากของเดิม ที่นี่จึงไม่มีสินค้าประเภทแฟรนไชส์ที่อาจพบเจอจากตลาดแห่งอื่น ๆ ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อให้กรีนสมชื่อตลาด ภาชนะที่ใช้หากไม่เป็นวัสดุธรรมชาติแบบดั้งเดิม ก็จะเป็นภาชนะที่ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ ขณะที่ในส่วนของขยะแต่ละร้านจะช่วยจัดเก็บโดยติดป้ายบอกอย่างชัดเจน ทั่วทั้งตลาดจึงไม่มีขยะสักชิ้นให้เห็นขัดตา

    0b8a3e0b8a1e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8-e0b888e0b8b2e0b881e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8.jpg

    อีกหนึ่งภูมิปัญญาของคนนคร ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างไม่น่า เชื่อก็คือ น้ำตาลจาก เพราะน้ำตาลปี๊บแบบเดียวกับที่ได้จากน้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลโตนด หากมาแปรรูปต่ออีกขั้นให้เป็นน้ำตาลเกล็ดหน้าตาคล้ายกับน้ำตาลทรายแดง ราคาจะสูงขึ้นไปอีกเท่าตัว แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ โกวิทย์ จันทรังษี เจ้าของ “ไร่จันทรังษี” ก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยบาดเจ็บจากการทำฟาร์มกุ้งมาก่อน จึงเอาเลนมาใส่ไว้ในบ่อกุ้งจนมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาเก็บดินไปตรวจสอบ และพบว่าพื้นที่เหมาะสมที่จะปลูกต้นจาก นับจากนั้นบ่อกุ้งร้างก็เปลี่ยนเป็นป่าจากต้นใหญ่หนาทึบ

    ที่เห็นต้นจากสูงใหญ่นั้นเป็นเพราะกว่าที่จากจะให้น้ำตาลได้นั้นจะต้องมีอายุถึง 7 ปี แถมยังต้องมีเทคนิคในการตีงวงเพื่อกระตุ้นน้ำจาก ยังไม่รวมการแปรรูปผลผลิตทั้งน้ำตาลปึก น้ำตาลสด น้ำผึ้งจาก และน้ำตาลเกล็ดราคาสูง จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้วที่ป่าจากแห่งนี้ไม่เพียงเป็นต้นแบบให้กับชาวสวนรอบข้าง หากแต่ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนไปพร้อมกัน

    จากวิถีชุมชนเปลี่ยนไปชมธรรมชาติกับการ “ล่องแพบ้านวังหอน” กับกิจกรรมล่องแพไม้ไผ่จากธรรมชาติ ท่ามกลางความร่มรื่นของสองฝั่งคลองวังหอน คลองธรรมชาติที่เกิดจากป่าต้นน้ำของเทือกเขาบรรทัดที่ไหลลงสู่แมน้ำปากพนัง แม้จะเป็นระยะทางสั้น ๆ แต่หากมาถูกจังหวะช่วงฤดูผลไม้การล่องแพจะเพิ่มอรรถรสมากขึ้น เพราะบ้านวังหอน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่นอกจากจะปลูกยางแล้วยังทำสวนผลไม้แบบผสมผสานด้วย ว่ากันว่าทุเรียนกวนจากทุเรียนบ้านที่สุกหล่นมาเองนั้นขึ้นชื่อไม่แพ้ที่ไหน

    ข้ามไปฝั่งพัทลุงมีตลาดอีกแห่งที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไม่กี่สัปดาห์กับ “หลาดหัวลานหัวเลี้ยว” ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้คนในชุมชนเก่าแก่กว่า 100 ปี ริม “ทะเลน้อย” จากชุมชนโบราณที่เต็มไปด้วยเรื่องราววิถีชีวิตของคนทะเลน้อยที่มีอาชีพประมงเป็นหลัก นอกจากขายสดยังนำมาแปรรูปเป็นปลาตากแห้งด้วย แต่ที่ขึ้นชื่อและทุกคนต้องนึกถึงก็คือ “ปลาดุกร้า” ปลาดุกในธรรมชาติตัวโตนำมาหมักและตากแห้ง ส่วนไข่ของปลาดุกถูกนำไปแปรรูปเป็นของทานเล่นอย่าง “ไข่ปลาทอด” โดยนำไข่ปลามาปรุงรสชาติด้วยเครื่องปรุงต่าง ๆ แล้วจึงนำไปหยอดทอดในกระทะจนเหลืองได้ที่ จากนั้นรับประทานได้ทันทีแบบไม่ต้องพึ่งน้ำจิ้มใด ๆ

    นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่น ๆ ให้ลิ้มลองทั้งคาวหวานสองข้างทางของสะพานปูนกว้างราว 1 เมตร ที่เป็นเส้นทางสัญจรและเชื่อมต่อบ้านเรือนในชุมชนไว้ด้วยกัน บางจุดมีงานศิลปะให้แชะแล้วแชร์ด้วย ทั้งบนพื้น ตามชายคา และฝาบ้านบางหลัง ไม่ไกลกันท่ามกลางดงตาลสูงลิบและไม้ใหญ่ที่ปกคลุมหนาครึ้ม คือที่ตั้งของ “หลาดใต้โหนด” ชื่อที่บ่งบอกถึงภูมิศาสตร์ของสถานที่ได้อย่างชัดเจน เดิมที่นี่คือที่พักอาศัยของกวีซีไรต์อย่าง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จากจุดเริ่มต้นที่พี่ชายทำให้บ้านเก่าของน้องชายผู้ล่วงลับเป็น “บ้าน นักเขียน” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน มีร้านกาแฟเพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ใหญ่ ก่อนจะขยายมาเป็นตลาดนัดชุมชน เพราะพี่น้องของกวีซีไรต์ผู้ล่วงลับเห็นว่าชาวบ้านในแถบนี้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนผักปลอดสารที่ปลูกกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงเปิดพื้นที่ให้เป็นลานค้าของชุมชนเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนรอบข้าง

    8a3e0b8a1e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8-e0b888e0b8b2e0b881e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8-1.jpg

    จากผักพื้นบ้านแบบไม่พึ่งพาสารเคมี ขยายมาสู่อาหารการกินพื้นบ้านทั้งข้าวแกง ขนมจีน ยำไข่ปลาทอด ไปจนถึงขนมแปลกสำหรับคนต่างถิ่นอย่างข้าวเหนียวหัวครก ข้าวเหนียวมูนกับน้ำตาลโตนดใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่หวานมันจับใจ แม้จะไม่ได้ตั้งชื่อแบบตรงโดนใจอย่างหลาดกรีนภูมิปัญญา แต่ที่นี่ก็ใส่ใจกับภาชนะที่ใช้ไม่ต่างกัน ทั้งยังมีจุดจัดเก็บขยะที่ผู้มาเยือนจะต้องแยกขยะให้ถูกต้องอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ขณะที่น้ำดื่มหากไม่จ่ายแพงกว่ากับน้ำสมุนไพร จะดื่มน้ำเปล่าราคาเดียวขวดละ 10 บาท เชิญหยิบจากถังและจ่ายเงินเอง

    3e0b8a-2e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8-e0b888e0b8b2e0b88-2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8-2.jpg

    มาถึงพัทลุงแล้วหากไม่แวะไปเที่ยวชมทุ่งดอกบัวในทะเลน้อยก็อาจจะไม่ครบรส เพียงแต่อาจจะต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับอากาศเย็นสบายแล้ว บัวก็พร้อมจะบานรับแสงอาทิตย์ของวันใหม่ให้ชมอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับนกน้ำหลากสายพันธุ์ที่เริ่มต้นออกหากิน จากนั้นค่อยขึ้นไปชมควายน้ำจากบน “สะพานเฉลิมพระ เกียรติ 80 พรรษา” หรือ “สะพานแห่งความสุข” ที่ทอดยาวบนทะเลน้อยเชื่อมระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และอ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งเป็นเจ้าของสถิติสะพานยาวที่สุดในไทยล่าสุด แวะ “คลองปากประ” ประตูเชื่อมระหว่างน้ำจืดและ น้ำเค็มที่เป็นแหล่งชุมนุมของปลาและกลายเป็นแหล่งจับปลาที่สำคัญ

    ดูข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวได้ที่ www.จตุธรรมธาตุ.com หรือสอบถามสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร โทร.0-7750-4940, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 0-7728-3612, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช โทร. 0-7535-5160 และสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง โทร. 0-7467-1800.

    ———-

    อธิชา ชื่นใจ

    athichac@dailynews.co.th


    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.dailynews.co.th/article/601602
     

แชร์หน้านี้

Loading...