ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 16 สิงหาคม 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ความเข้าใจพื้นฐาน


    คำว่า การปฏิบัติธรรม ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีความหมายค่อนข้างจะถูกจำกัดคับแคบลงมา และบางครั้งก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่สู้จะตรงกับความจริง หรือแม้ว่าจะตรงก็ไม่เท่ากับความจริง ไม่พอดี กับ ความจริง อย่างที่บอกตอนต้นว่าออกจะคับแคบไป


    เราเข้าใจความหมายของการปฏิบัติธรรมอย่างไร เวลานี้ เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรม หลายท่านจะนึกถึงการไปนั่งทำสมาธิ การปลีกตัวออกไปจากสังคม ไปอยู่ในที่สงบเงียบ แล้วก็บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ ฝึกทำกัมมัฏฐานอย่างที่เรียกว่า จิตตภาวนา คำว่า ปฏิบัติธรรม ที่เราใช้ในปัจจุบันมักจะใช้ในความหมายแคบๆอย่างนี้ ก็จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะมาพูดกัน ทำความเข้าใจกันตั้งแต่ต้น เพื่อให้มีความแจ่มชัดเกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำ
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ปฏิบัติธรรม คืออย่างไร

    คำว่า ปฏิบัติธรรม นั้น หมายความว่าอย่างไร ปฏิบัติธรรม ก็คือ เอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ เอามาใช้ดำเนินชีวิตทำการทำงาน คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรม ก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ได้ใช้ ก็ไม่เรียกว่า เป็นการปฏิบัติ


    ว่าถึงตัวคำว่า "ปฏิบัติ" เองนี้ เดิมนั้นแปลว่า "เดินทาง" มาจากภาษาบาลี ของเดิมนี้ มีคำคล้ายๆ กันอีกคำหนึ่ง คือ "ปฏิปทา"

    "ปฏิปทา" แปลว่าอะไร จะเห็นได้ในคำว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" ที่เราแปลกันว่า "ทางสายกลาง" มัชฌิมา แปลว่า สายกลาง และปฏิปทา แปลว่า ทาง ทางคืออะไร ทางนั้นคือ ที่ที่จะเดิน คำว่า ปฏิปทา ก็คือที่ที่จะเดิน

    คำว่า ปฏิปทา กับคำว่า ปฏิบัติ นี้ เป็นคำเดียวกัน รากศัพท์อันเดียวกัน ถ้าเป็นกริยา มีรูปเป็นปฏิปชฺชติ เช่นในคำว่า "มคฺคํ ปฏิปชฺชติ" แปลว่า เดินทาง


    เพราะฉะนั้น ปฏิปชฺชติ มาเป็น ปฏิบัติ หรือเป็นปฏิปทาก็ตาม ก็แปลว่า การเดินทาง หรือแปลว่า ทางที่เดิน ถ้าเป็นการเดินทาง ก็นิยมใช้ในรูปว่าปฏิปตฺติ หรือไทยใช้ว่า ปฏิบัติ

    ถ้าเป็นทางที่เดินก็นิยมใช้ ปฏิปทา เพราะฉะนั้น เราเอาถ้อยคำสำหรับสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั้นเอง มาประยุกต์ใช้ในทางนามธรรม

    การเดินทางตามปกตินั้น เป็นการเดินทางภายนอก เป็นการเดินทางด้านวัตถุ เอาเท้าเดิน หรือแม้มีรถแล้ว เอารถวิ่งไปตลอดจนไปด้วยเครื่องบิน ก็เรียกว่า เป็นการเดินทาง


    ทีนี้ ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตก็เป็นการเดินทางชนิดหนึ่ง แต่เรามักเปลี่ยนคำพูดจากเดินมาเป็นดำเนิน ที่จริงเดินกับดำเนินนั้น ก็ศัพท์เดียวกันนั่นแหละ เดินก็แผลงมาเป็นดำเนิน แล้วเราก็มีการดำเนินชีวิต

    ในการดำเนินชีวิตนั้น ก็เหมือนกับว่า เราเอาชีวิตนี้ไปเดินทาง หรือว่าการเป็นอยู่ของเรานั้นเปรียบเสมือนทาง ถ้าเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ก็เรียกว่า เดินทางชีวิตอย่างถูกต้อง คือ ดำเนินชีวิตได้ดี ถ้าเดินทางชีวิตไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่าดำเนินชีวิตที่ผิด

    ในเมื่อปฏิปทา หรือปฏิบัตินี้ แปลว่า การเดินทาง และทางที่เดิน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็คือเอาธรรมะมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือเอามาช่วยให้ดำเนินอย่างถูกต้อง หรือเอามาช่วยในการเดินทางชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปด้วยดี


    หมายความว่า ถ้าเราไม่เอาธรรมมาใช้ การเดินทางชีวิตของเราก็อาจจะผิด อาจจะเขว อาจจะพลาด อาจจะหลง อาจจะไปในทางที่เกิดความเสื่อมความพินาศ แทนที่จะเป็นทางแห่งความสุขความเจริญ เราก็เลยเอาธรรมมาช่วย เอาธรรมมาปฏิบัติ ก็คือเอาธรรมมาใช้ ช่วยให้การเดินทางชีวิตนี้ถูกต้องเกิดประโยชน์ขึ้น
    พูดง่ายๆ จึงว่า การปฏิบัติธรรมคือการเอาธรรมมาใช้นั่นเอง ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็จึงเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่จะปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่ที่วัด ไปอยู่ที่ป่าแล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการพยายามนำธรรมมาใช้ในขั้นลึก ในการที่จะฝึกฝนจิตใจอย่างจริงๆ จังๆ

    ถ้าจะเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ การปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติแบบ intensive เป็นการปฏิบัติแบบเข้มข้น หรือลงลึกเฉพาะเรื่อง

    ที่จริงนั้น การปฏิบัติธรรมต้องมีมีตลอดเวลา เรานั่งกันอยู่ในที่นี้ ก็ต้องมีการปฏิบัติธรรม คือเอาธรรมมาใช้ เมื่อปฏิบัติสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็เป็นการปฏิบัติธรรม


    ดังนั้น ถ้าตนมีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน แล้วศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเล่าเรียน เล่าเรียนให้ได้ผล ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เช่น เล่าเรียนโดยมีอิทธิบาท ๔ มีฉันทะ พอใจรักในการเรียนนั้น

    มีวิริยะ มีความเพียร ใจสู้

    มีจิตตะ เอาใจใส่รับผิดชอบ

    มีวิมังสา คอยไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดลอง ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป อย่างนี้ ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม

    หรือในการทำงานก็เหมือนกัน เมื่อมีอิทธิบาท ๔ เอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ในการทำงานนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

    แม้แต่ออกไปในท้องถนน ไปขับรถ ถ้าขับโดยรักษากฎจราจร ขับเรียบร้อยดีไม่ประมาท มีความสุภาพ หรือลึกเข้าไป แม้กระทั่งว่า ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด มีความผ่องใสสบายใจในเวลาที่ขับรถนั้นได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในระดับต่างๆ

    แล้วแต่ว่า ใครจะสามารถเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือในการทำกิจหน้าที่นั้นๆ ให้ได้ผลแค่ไหนเพียงไร ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม ทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น ต้องมีอยู่ตลอดเวลา เพราะเราทุกคนมีหน้าที่ต้องดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้อง

    แม้แต่การนั่งฟังปาฐกถานี่ ก็มีการปฏิบัติธรรม ในมงคล ๓๘ ก็มีข้อปฏิบัติที่ว่า "กาเลน ธมฺมสฺสวนํ" การฟังธรรมตามกาล เป็นมงคลอันอุดม นี่ก็เป็นธรรมข้อหนึ่ง เมื่อตั้งใจฟัง ฟังเป็น ใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่รับฟังนั้น ทำให้เกิดปัญญาขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น

    เป็นอันว่า การปฏิบัติธรรมนี้ เป็นเรื่องที่กว้างมาก หมายถึงการนำเอาธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือการทำกิจทำงานทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำทุกเรื่องทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้ดี ให้เกิดผลเป็นประโยชน์นั่นเอง เป็นการปฏิบัติธรรม

    แต่เราเอาคำว่าปฏิบัติธรรมมาใช้ในความหมายแคบๆ เฉพาะการปฏิบัติธรรมที่มุ่งเน้นจะฝึกฝนกันอย่างจริงจังในทางจิตใจ และสงวนคำว่าปฏิบัติธรรมไว้ใช้ในความหมายนั้น หรือนิยมใช้กันในความหมายนั้น

    ถ้าจะพูดให้ถูก ต้องบอกว่า ปฏิบัติธรรมด้านนั้นด้านนี้ การที่เราปลีกตัวไปทำกัมมัฏฐาน ไปบำเพ็ญสมาธิ ก็คงจะเรียกว่า ปฏิบัติธรรมด้านจิตตภาวนา อย่างนี้ได้ คือเรียกให้เต็ม แต่ถ้าจะพูดสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจกันเอง โดยใช้คำนั้นต่อไป ก็ต้องใช้อย่างรู้กัน คือใช้ในความหมายที่ถือว่า เข้าใจกันอยู่แล้วหรือละไว้ในฐานเข้าใจ นี่เป็นข้อหนึ่ง ที่ควรจะทำความเข้าใจ
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    การศึกษา กับ การปฏิบัติ ไม่ใช่คนละอย่าง


    ต่อไป ประการที่สอง ธรรมนั้นเมื่อเราเอามาใช้ เอามาลงมือทำ ก็จะมาเข้าคู่กับธรรมที่ยังไม่ได้เอามาใช้ ยังไม่ได้เอามาทำ

    ตอนที่ยังไม่เอามาใช้ ไม่เอามาทำ ธรรมนั้นก็เป็นเพียงธรรมที่ได้ฟังมา ได้เล่าเรียนมา ธรรมที่ยังไม่ได้ใช้ไม่ได้ลงมือทำ ยังเป็นเพียงสิ่งที่รับฟังมา เล่าเรียนมานี่ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง

    ตอนที่เอามาใช้ เอามาทำ เรียกว่า "ปฏิบัติ" ตอนที่ยังไม่ได้ใช้ไม่ได้ทำ เป็นเพียงเล่าเรียน จะเรียกว่าอะไร

    หลายท่านคงจะบอกว่า การปฏิบัตินี้คู่กับการศึกษา เมื่อเอามาใช้เอามาทำเป็นการปฏิบัติ ยังไม่ได้ใช้ยังไม่ได้ทำก็เป็นเพียงการศึกษา อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกแล้ว

    คำว่า การศึกษานี้ ในเมืองไทย นำมาใช้เป็นคำพูดคู่กับการปฏิบัติ ศึกษา หมายความว่า เล่าเรียน ยังไม่ได้ทำ เข้าใจกันว่า ถ้าศึกษา ก็คือยังไม่ได้ทำ เพียงเล่าเรียนมา เมื่อปฏิบัติก็คือเอาสิ่งที่ศึกษานั้นมาลงมือทำ ความเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องอีก


    คำว่าศึกษานั้น เดิมไม่ได้คู่ กับ การปฏิบัติ อันนี้จะต้องแยกจากความหมายที่แท้จริง ความหมายที่เข้าใจกันในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ให้คำว่า ศึกษาคู่ กับคำว่า ปฏิบัติ นั้น เป็นเรื่องของสังคมไทย เป็นเรื่องของภาษาไทยที่กลายหรือเพี้ยนไปเท่านั้น

    คำที่คู่กับปฏิบัติ เป็นเพียงความรู้ที่เล่าเรียนรับฟังมานั้น มีศัพท์เฉพาะของมันอยู่แล้ว เรียกว่า ปริยัติ

    คำที่คู่ กับ ปฏิบัติ ก็คือปริยัติ ปริยัติ คือเล่าเรียนมา แล้วปฏิบัติก็เอามาลงมือทำ แต่ทำไมการศึกษาจึงกลายความหมายมาเป็นการเล่าเรียน

    การศึกษาเดิมนั้น มีความหมายกว้าง ตั้งแต่เรียนรู้ไปจนกระทั่งฝึกหัด ลงมือปฏิบัติ ปฏิบัตินี้ในแง่หนึ่ง ก็คือฝึกหัดเพื่อทำให้เป็น และทั้งหมดตลอดกระบวนการนั้น เราเรียกว่า การศึกษา

    อาจจะเป็นไปได้ว่าในสมัยหลังๆนี้ การศึกษาได้เน้นในด้านการเล่าเรียนหนังสือ อ่านตำราหรือคัมภีร์มากไป ความหมายของการศึกษาก็เลยแคบลง เหลือเป็นเพียงเล่าเรียนตำราไป พอเหลือเพียงเล่าเรียนตำรา ก็ไปได้แค่ปริยัติ แต่ที่จริงคำว่า ศึกษานั้น มีความหมายเท่ากับปริยัติและปฏิบัติรวมกัน


    ความหมายที่แท้จริงนั้น ปฏิบัติคู่กับปริยัติ ถ้าเป็นเพียงความรู้จากการเล่าเรียน ท่องจำอ่านตำรา เป็นธรรมะที่ฟังเขามาอย่างนั้น ก็เป็นขั้นปริยัติ ถ้าเป็นการเอามาลงมือฝึกหัดทำ ก็เป็นขั้นปฏิบัติ ทั้งปริยัติ และปฏิบัติ ๒ อย่างนี้รวมกัน เรียกว่า การศึกษา

    ที่นี้ เมื่อลงมือทำแล้วก็จะเกิดผลขึ้นมา เป็นผลจากการศึกษา ผลจากการศึกษาที่ถึงขั้นปฏิบัติแล้ว ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิเวธ"

    เราต้องแยกว่า การศึกษามี ๒ ขั้น คือ การศึกษาในขั้นปริยัติ กับ การศึกษาขั้นปฏิบัติ เมื่อผ่านการศึกษาขั้นปริยัติมาแล้ว ก็ต่อด้วยการศึกษาขั้นปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้ว ก็จะส่งผลเป็นปฏิเวธ ปฏิเวธก็เป็นอันดับที่ ๓ คือ เป็นผลจากการปฏิบัตินั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ในทางพระศาสนา ท่านจึงมีคำใช้ ๓ คำ เรียงลำดับกันว่า ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

    ถ้าใช้ ๒ ก็เหลือศึกษา และปฏิเวธ

    ในพระไตรปิฎก บางแห่งท่านใช้ศึกษาคู่ กับ ปฏิเวธไปเลย เพราะศึกษานับรวมทั้งปริยัติ และปฏิบัติไปแล้ว จึงก้าวไปถึงปฏิเวธได้เลย

    ในการใช้คำว่า การศึกษาในปัจจุบัน ถ้าจะเข้าถึงความหมายที่แท้จริง จะต้องให้คำว่า การศึกษานี้คลุมไปถึงการฝึกหัด การลงมือทำหรือการปฏิบัติด้วย


    เป็นอันว่า ตอนนี้ เราได้มาถึงความหมายของศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กัน ๓ คำ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

    ปริยัติ เป็นขั้นเล่าเรียน รับฟังผู้อื่นมา โดยเฉพาะสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งสืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก และเรามีครูอาจารย์แนะนำบอกกล่าว เอามาท่องมาบ่น มาสอบสวนทบทวนกัน ทั้งหมดนี้ เรียกว่า ปริยัติ

    เมื่อเอาสิ่งที่ได้เล่าเรียนนั้นมาลงมือทำ ก็เป็นปฏิบัติ การปฏิบัติก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าขยายสำหรับคฤหัสถ์ นิยมใช้คำว่า ทาน ศีล ภาวนา
     
  4. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,425
    ค่าพลัง:
    +35,019
    ''ถ้าจะหลงทางแม้ให้เดินมาถูกทางยังไงก็หลง.....
    แต่ถ้าไม่หลงต่อให้เดินไปผิดทางยังไงก็ไม่หลง....''

    ปล.อ้างอิง ข้อความมาจาก ''ท่านผู้ไร้ร่องรอย''
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    คำพูดแย้งกันอยู่ในตัวเอง

    ก็ในเมื่อเดินถูกทาง แล้วตัวเองก็รู้ว่ามันถูก แล้วมันจะหลงได้ยังไง

    ก็ในเมื่อเดินหลงทาง แล้วมันจะถูกได้ยังไง ตย.เช่น ตนเองตั้งใจจะไปสุไหง-โกลก แต่หลงเดินไปตามถนนมิตรภาพ แล้วมันจะถึงสุไหง-โกลกได้อย่างไร

    ปล.ไม่ได้อ้างอิงจากใคร ดูจากข้อความนั้น อิอิ
     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ


    ตัวแท้ของปฏิบัติอยู่ที่ไหน

    เริ่มด้วยชุดแรกก่อน ที่เรียกว่า ปฏิบัติ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่า ปฏิบัติ จะต้องมีความหมายครบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ปัจจุบันนี้ เรามักจะใช้คำว่า ปฏิบัติ โดยเน้นไปที่สมาธิกันมาก

    ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เราจะเห็นว่าเรียงจากข้างนอกไปหาข้างใน

    ศีล อยู่ที่ตัวของเราที่มองเห็น คือตัวของเราที่แสดงออกมาภายนอก ทางกาย และทางวาจา

    ถ้ากระทำทางกาย ก็เป็นกายกรรม

    ถ้าเป็นด้านวาจา คือ คำพูด ก็เป็นวจีกรรม

    แม้ว่าทั้งหมดนั้น จะออกมาจากใจ คือ เจตนา แต่การกำหนดศีลนั้น กำหนดที่พฤติกรรม ซึ่งแสดงออกมาทางกาย และวาจา อยู่ที่ตัวเราที่ต่อกับภายนอก

    ข้อต่อไปคือสมาธิ ลึกเข้าไปข้างในมองไม่เห็น ไม่อยู่ที่ตัวข้างนอก ไม่มองเห็นที่กาย วาจา แต่อยู่ที่จิตใจ

    แล้วสุดท้ายก็ปัญญา เป็นขั้นที่อาศัยจิตนั่นแหละทำงาน เมื่อใช้จิตนั้นทำงานให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลาย ก็เกิดปัญญาขึ้น เป็นส่วนที่มาเสริม เพื่อปรับปรุงคุณภาพของจิตใจ แล้วจิตใจที่มีความรู้มีปัญญา ก็เอาความรู้นั้นมาใช้ปรับปรุงชีวิตด้านกาย วาจา อีกต่อหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติ



    ชุดที่ ๒ ที่เน้นสำหรับคฤหัสถ์ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ชุด ทาน ศีล ภาวนา นี้ จะเห็นว่า เน้นส่วนภายนอกมากขึ้น เริ่มจากทาน ทานนี้ไปจับที่ของนอกตัวเลย ศีลยังอยู่ที่ตัว แต่ทานนี่ออกไปที่ข้างนอกตัว เป็นการเอาสิ่งของไปให้แก่ผู้อื่น การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน

    พอถึงศีลก็มาอยู่ที่ตัว จากข้างนอกตัวแล้วมาอยู่ที่ตัว เสร็จแล้วถึงภาวนาก็เข้าไปในตัว

    ภาวนาที่เข้าไปในตัว ก็ไปแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ด้านจิตที่เป็นสมาธิ กับ ด้านปัญญา ได้แก่ สมาธิ และ ปัญญามารวมเข้าด้วยกันเป็นภาวนา

    คำว่า ภาวนา นั้น หมายถึง ทั้งภาวนาที่เป็นการฝึกอบรมด้านจิต ซึ่งเรียกว่าจิตตภาวนา และภาวนาที่เป็นการฝึกอบรมด้านปัญญา ที่เรียกว่า ปัญญาภาวนา

    ภาวนาจึงแบ่งเป็น ๒ คือ จิตตภาวนา กับ ปัญญาภาวนา พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นสมาธิ และ ปัญญานั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ๒ ชุด คือ ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ที่จริงก็เรื่องเดียวกัน
    แต่ชุดหนึ่งเน้นด้านภายนอก เน้นด้านหยาบ จัดเป็นทาน ศีล และภาวนา โดยขยายด้านนอกเป็น ๒ อย่าง คือ ทาน กับ ศีล เอาข้างใน ๒ อย่างคือ สมาธิ และ ปัญญาไปยุบเป็นภาวนาอย่างเดียว

    ส่วนชุด ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เอาด้านในคือภาวนาไปแยกละเอียดเป็นจิตใจ (สมาธิ) กับ ปัญญา

    แต่ด้านนอกคือทาน กับ ศีล นั้นรวมเป็นอันเดียว เพราะว่า ศีล นั้น หลักการก็คืออยู่ร่วมกันด้วยดี กับ ผู้อื่นในสังคม

    ส่วนทานก็เป็นองค์ประกอบในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ก็เลยมารวมอยู่ในคำว่าศีล

    เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้ฟังคำว่า ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ก็ให้ทราบว่า ที่จริงเป็นระบบอันเดียวกัน แต่เราแยกเพื่อให้เห็นจุดเน้นที่ต่างกัน

    สำหรับคฤหัสถ์จะเน้นด้านนอก จัดเป็นทาน ศีล ภาวนา

    แต่สำหรับพระสงฆ์จะเน้นด้านใน วางหลักเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา

    อนึ่ง ชื่อเรียกก็คล้ายๆกัน ชุด ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกท่านรู้จักกันดีแล้วว่าไตรสิกขา ไตร แปลว่า ๓ สิกขา คือ การศึกษา รวมเป็นไตรสิกขา แปลว่า การศึกษา ๓ อย่าง


    ส่วนชุด ทาน ศีล ภาวนา เรียกชื่อต่างไปนิดหนึ่งว่า ปุญญสิกขา หรือ บุญสิกขา ก็คือ การฝึกฝนในเรื่องความดี หรือการฝึกหัดทำความดีนั่นเอง ปุญญ = ความดี สิกขา = การฝึกอบรม คือ การฝึกฝนปฏิบัติอบรมในเรื่องความดี การทำให้คนเจริญงอกงามขึ้นในความดีต่างๆ ด้วย ทาน ศีล ภาวนา

    รวมแล้วทั้ง ๒ ชุดก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันที่จุดเน้นดังกล่าว

    จากที่พูดมานี้ จะเห็นได้ทันทีว่า ในเรื่องการศึกษานั้น สาระสำคัญของมันมาปรากฏเด่นที่การปฏิบัติ เพราะว่า การศึกษานั้น คือ สิกขา ซึ่งหมายถึง ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนานั้น และสิกขา หรือการศึกษา ๓ อย่างนั่นแหละ ที่ท่านบอกว่า เป็นการปฏิบัติ

    เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ตัวการปฏิบัติ คือ อยู่ที่ ทาน ศีล ภาวนา อยู่ที่ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องของการกระทำทั้งนั้น

    ฉะนั้น การศึกษาต้องเน้นที่การปฏิบัติ ไม่ใช่ความหมายที่ว่าเพียงมาเล่าเรียนตำรับตำรา นี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น

    อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ต่อไป เราสามารถใช้ศัพท์ตามที่นิยมกันได้ ถึงแม้จะใช้คำว่า ปฏิบัติธรรม โดยรู้ตามเขาว่าจะไปทำสมาธิก็เอา แต่เรารู้ว่าที่จริงนั้น ความหมายมันกว้าง หมายถึงเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตทั้งหมด ในการกระทำทุกอย่าง หรือเมื่อพูดว่าศึกษา และปฏิบัติ ก็ต้องรู้ว่า ที่จริงศึกษานั้น คลุมปฏิบัติอยู่แล้ว
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ปฏิบัติโดยไม่มีปริยัติ จริงหรือ


    ขอก้าวต่อไป ในการทำความเข้าใจเบื้องต้น เพื่อปรับความรู้ความเข้าใจให้เข้ากันดีก่อน มีผู้ถกเถียงกันว่า ไปปฏิบัติเลยโดยไม่มีปริยัติก็ได้ เข้าป่าไปอยู่กับอาจารย์ หรือไปอยู่คนเดียว ไปถึงก็ลงมือบำเพ็ญสมาธิเลย ไม่ต้องมีปริยัติ นอกจากนั้นก็ยังมีการติเตียนว่า ถ้าปริยัติอย่างเดียว โดยไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ทำให้ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เพราะเมื่อไม่มีการปฏิบัติก็ไม่เกิดผลคือปฏิเวธ นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ แต่ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องนี้ก็ต้องรู้ความสัมพันธ์ระหว่างปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เล็กน้อย

    อย่างที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่า ปริยัติคือการเล่าเรียน สดับฟังจากผู้อื่น แม้แต่พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นพระธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นสิ่งที่ได้รับฟังมาจากผู้อื่น คือรับฟังจากที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้


    แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นี้ คือ อะไร ก็คือประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของพระองค์ใช่หรือไม่ คือพระพุทธเจ้าเคยปฏิบัติมาแล้ว แล้วก็ได้รับผล พระองค์มีประสบการณ์ในการปฏิบัติ และได้รับผลจากการปฏิบัตินั้นมาเองแล้ว พระองค์ทรงนำประสบการณ์นั้นแหละ มาจัดเรียบเรียงขึ้น แล้วนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น

    ความรู้จากประสบการณ์ในการปฏิบัติของพระองค์นี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ เพราะฉะนั้น ปริยัติที่แท้จริง จึงเกิดเป็นปฏิบัติและปฏิเวธ ถ้าหากว่าปฏิบัติ และปฏิเวธไม่ถูก เราก็จะได้ปริยัติที่ผิด อันนี้เป็นของแน่นอน


    การที่เรายอมรับปริยัตินี้ ก็เพราะเราเชื่อพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ เราไว้ใจว่าพระพุทธเจ้าปฏิบัติถูกได้รับผลจริงแล้ว เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ที่พระองค์นำมาเล่า ซึ่งมาเป็นปริยัติสำหรับเรานี้ เราจึงเชื่อถือ นี้เป็นขั้นที่หนึ่ง คือ ปริยัติไม่ได้มาจากไหน ก็มาจากประสบการณ์ในการปฏิบัติของพระพุทธเจ้านั่นเอง


    เมื่อเป็นเช่นนี้ ปริยัติก็จะมาเป็นเครื่องช่วยให้ปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป เพราะเป็นประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติมาแล้วเหมือนกับคนที่เดินทางมาแล้ว เขาเดินทางไปจนกระทั่งสำเร็จบรรลุความมุ่งหมายแล้ว

    เราจะเดินทางบ้าง เราไม่รู้เหนือรู้ไต้ จะเจออะไรที่ไหน มีสิ่งใดเป็นที่สังเกตบ้าง ไม่รู้ทางไปเลย แล้วจะเป็นอย่างไร

    ปฏิบัตินี่บอกแล้วว่า คือ เดินทาง เราเดินทางเองไม่ถูก เราไม่แน่ใจตนเอง เราก็เลยขอความรู้จากท่านที่เคยมีประสบการณ์ได้เดินทางมาก่อน เราก็จึงมาเรียนปริยัติ เหตุผลที่เราเรียนปริยัติ ก็เพื่อให้ปริยัตินั้นแหละมาช่วย คือเอาประสบการณ์ของท่านที่เคยผ่านมาแล้ว มาช่วยให้เราเดินได้สะดวกขึ้น


    ทีนี้ ถ้าเราไม่อาศัยปริยัติจะเป็นอย่างไร เราก็สุ่มสี่สุ่มห้าเริ่มต้นใหม่ ลองผิดลองถูก ก็สามารถทำได้ ปฏิบัตินั้นท่านไม่ได้ห้าม ใครจะปฏิบัติก็ได้ จะตั้งตัวเป็นศาสดาใหม่เสียเอง ใครจะไปห้ามได้

    แต่ท่านไม่เคยเดินทางนี้ ก็รับรองไม่ได้นะ ท่านอาจจะไปตกหลุมตกบ่อ อาจจะหล่นเหวไปเสียก่อนระหว่างทาง หรืออาจจะไปทางผิด เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาออกนอกลู่นอกทางไปก็ได้ เพราะในระหว่างทางนี้ มีเลี้ยวมีแยกเยอะแยะไปหมด และในทางปฏิบัติก็เป็นความจริงอย่างนั้น


    ในทางปฏิบัติ ตามหลักการที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายนั้น ระหว่างทางมีทางรก ทางเลี้ยว ทางหลุม ทางบ่อ ทางแยกมากมาย ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็อาจจะไปผิดทาง หรือประสบอันตราย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความฉลาดของเรา เอามาใช้ประโยชน์ มันจะช่วยเรา เราก็เลยเรียนปริยัติ ทีนี้ถ้าเราไม่เอาปริยัติเลย เราก็เสี่ยงต่อการที่จะปฏิบัติเดินทางผิดพลาด


    ปริยัตินี้ ท่านเปรียบเหมือนกับเข็มทิศบ้าง เหมือนกับแสงไฟส่องทางบ้าง เข็มทิศทำให้เรารู้ทิศทางไปถูก แสงไฟส่องทางหรือไฟฉายก็ทำให้เราเห็นทางที่จะเดินไปในความมืดแล้วก็คลำหาลองผิดลองถูกไป


    อีกอย่างหนึ่ง ปริยัติเหมือนกับแผนที่ และเหมือนกับความรู้ในภูมิศาสตร์ หรือหนังสือแนะนำการท่องเที่ยว ความรู้ทางภูมิศาสตร์ หรือ หนังสือแนะนำการเดินทาง ก็ช่วยให้เรารู้ว่าเดินไปทางนี้ไปไหน แล้วในระหว่างทางที่ถูกต้องจะพบปะอะไรบ้าง ผ่านอะไร มีอะไรเป็นที่สังเกต ยิ่งกว่านั้น บางทียังได้รู้ว่าควรจะพักได้ที่ไหนบ้าง มีอะไรที่ควรระวัง มีอะไรที่จะได้พบเห็นเป็นความรู้พิเศษ ทำให้เราเตรียมตัวได้ถูกต้องทุกอย่าง


    แผนที่และหนังสือภูมิศาสตร์นั้น ก็เกิดจากคนที่เขาได้สำรวจที่สำรวจทางมาก่อนแล้วทำไว้ ถ้าแผนที่หรือหนังสือภูมิศาสตร์ทำไว้ผิด ก็เป็นปัญหาซ้อนเข้ามา ซึ่งก็ต้องว่ากันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่รวมความแล้ว ถ้าไม่มีปริยัติเลย ก็เสี่ยงต่อการที่จะเดินทางผิดและเกิดอันตรายอย่างที่กล่าวแล้ว


    บางทีเราไม่ได้เรียนปริยัติโดยตรงจากพระพุทธเจ้า เราก็เรียนผ่านอาจารย์ บางทีอาจารย์ไม่ได้ให้เราเรียนตำราหรือคัมภีร์ทั้งหมด อาจารย์สอนเรานิดๆหน่อยๆ บางทีเราไปหาอาจารย์ปุ๊บนี่ ท่านบอกเลยว่าให้ทำอย่างนั้นๆ เช่น บอกว่าให้กำหนดลมหายใจอย่างนั้นๆ อันนี้คืออะไร อันนี้ก็คือปริยัติ เพียงแต่พบกับอาจารย์แล้ว ท่านบอกให้ทำอย่างนี้ๆ นะ นี่คือปริยัติแล้ว หลายท่านไม่เข้าใจ นึกว่าตัวเองไม่ได้ผ่านปริยัติ ที่จริงผ่านโดยไม่รู้ตัว

    อาจารย์มีหน้าที่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือการใช้ความสามารถคัดเลือกปริยัติให้เหมาะกับตัวผู้ปฏิบัติ แทนที่เราจะต้องไปค้นปริยัติ เรียนปริยัติมากมาย หรือเรียนพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า อาจารย์ท่านมีความชำนาญ ท่านได้เคยใช้ปริยัติในการปฏิบัติ มีประสบการณ์ของตนเองแล้ว ท่านก็รู้ว่าอันไหนจำเป็นจะต้องใช้เมื่อไร ท่านก็คัดเลือกปริยัตินั้นมาให้เรา

    ตอนนี้เธอจะเริ่มแรก เอาตรงนี้เท่านี้พอ แล้วท่านก็ให้ปริยัติมาแค่นี้ คือท่านคัดเลือกปริยัติให้เรา ลัดเวลาให้เราประหยัดเวลาให้เรา เสร็จแล้วพอเราก้าวไปอีกสักนิด อาจารย์ก็มาตรวจสอบว่า เราปฏิบัติไปได้แค่ไหน แล้วท่านก็ให้ปริยัติต่อ กล่าวคือ คำแนะนำที่ว่า ต่อไปให้ทำอย่างนั้นๆ หรือบอกให้รู้ว่าประสบการณ์ที่ได้มาตอนนี่ผิดพลาด ให้แก้ไขอย่างนั้นๆ นี่คือ ปริยัติทั้งสิ้น


    ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านใช้คำว่าปริยัติในความหมายเฉพาะ ท่านจำกัดความไว้ทีเดียวว่า ปริยัติ หมายถึงพุทธพจน์ หรือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่จะพึงเล่าเรียน


    เราเป็นชาวพุทธ ก็คือเป็นคนที่เชื่อถือและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เวลานี้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ไม่มีพระชนม์ชีพอยู่ เราจึงรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากคำสอนของพระองค์ที่เรียกว่าปริยัตินี้ ปริยัติจึงเป็นสื่อเชื่อมโยงเราเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ทำให้เรารู้จักพระองค์ และรู้ว่าพระองค์สอนไว้ว่าอย่างไร


    ถ้าจะพูดให้ตรงทีเดียว ผู้ที่กล่าวว่า ปฏิบัติได้โดยไม่มีปริยัติ ก็เท่ากับพูดว่า ตนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือ ไม่ต้องรู้เลยว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกับพูดว่า ตนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าเลยนั่นเอง


    ถ้าอย่างนั้น คนอื่นก็ย่อมจะกล่าวกับผู้นั้นได้ว่า เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า หรือว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา

    แต่เขาปฏิบัติอะไรๆ ที่เป็นเรื่องความคิดความเห็นของตัวเขาเอง หรือของอาจารย์ท่านนั้นๆโดยเฉพาะ ซึ่งก็อาจจะเก่งมาก เช่น อย่างโยคีหรือฤๅษีชีไพรตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ที่ได้ถึงฌานสมาบัติ หรือ แม้กระทั่งจบโลกียอภิญญาชั้นสูงสุด แต่ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา

    รวมความว่า ปัญหาเกี่ยวกับปริยัตินั้น ไม่ใช่ถามว่าปริยัติต้องมีหรือไม่ แต่ควรถามว่า ปริยัติจะเอาแค่ไหน และจะรับเอามาอย่างไร
     
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ปริยัติ จะเอาแค่ไหนและอย่างไร

    เพราะฉะนั้น คนที่ปฏิบัติโดยไม่มีปริยัตินี่หาไม่ได้ นอกจากคนที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพระพุทธศาสนา คือ จะตั้งศาสนาใหม่ของตนเอง :D

    ทุกคนมีปริยัติ แต่อาจจะเป็นปริยัติในรูปที่เป็นวัตถุดิบ หรือข้อมูลดิบเกินไป หรือเรียนปริยัติแบบอาจารย์ช่วยคัดเลือกมาให้ เพราะปริยัติที่ให้ผลดีนั้น ก็อยู่ที่เหมาะกับตัวเรา


    พระพุทธเจ้า ทรงให้ปริยัติไว้ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้มาสอนเราโดยตรง เราไม่ได้พบพระพุทธเจ้าโดยตรง เรามาพบอาจารย์ ถ้าอาจารย์เป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติแล้ว ก็มาช่วยคัดเลือกปริยัติให้เราอีกขั้นหนึ่ง ก็จะทำให้ชัดเจนและทุ่นเวลา


    ที่สำคัญที่ควรพิจารณาก็คือ ปริยัตินั้นเป็นปริยัติของพระพุทธเจ้า หรือเป็นปริยัติของตัวอาจารย์เอง สิ่งที่เราต้องการแท้ๆ ก็คือ ให้เป็นปริยัติของพระพุทธเจ้า แต่พระอาจารย์ช่วยเลือกคัดให้ ในฐานะที่ท่านมีประสบการณ์ และมีความชำนาญ ยิ่งเป็นปริยัติของพระพุทธเจ้า ที่พระอาจารย์ท่านได้เอาไปปฏิบัติเห็นผลมาเองแล้วก็ยิ่งดี เพราะฉะนั้น อาจารย์จึงมีประโยชน์มาก ในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงเน้นว่า คนที่จะเริ่มปฏิบัติ ควรหาอาจารย์ ถึงกับเรียกว่าเป็น กัลยาณมิตร ก็เพราะเหตุนี้


    พระอาจารย์จะช่วยเลือกเฟ้นปริยัติให้เราให้เหมาะ ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติ สำหรับจุดหรือขั้นตอนนั้นๆ เช่นว่าตอนนี้จะตั้งต้น จะใช้ปริยัติอะไร คือ ควรบอกให้รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร หรือมีอะไรที่ควรรู้บ้าง ซึ่งจำเป็นสำหรับบุคคลนี้ เพราะปริยัติที่เหมาะสำหรับคนนี้คนโน้น บางทีก็ไม่เหมือนกัน เพราะในการปฏิบัตินั้นมีความแตกต่างระหว่างบุคคล


    คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าปริยัตินั้น เกิดจากการที่พระองค์ได้ทรงสอนคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง มากมาย ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงสอนให้เหมาะแก่บุคคล ให้เหมาะที่จะได้ผลแก่บุคคลนั้น ที่นี้ เราไปเรียนปริยัติทั้งดุ้น รวมเอาที่ทรงสอนคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง มาปนเข้าด้วยกันทั้งหมด เป็นวัตถุดิบทั้งนั้น หลายอย่างไม่เหมาะกับตัวเราเลย ก็เลยไม่ค่อยได้ผล นอกจากนั้น จะเอามาใช้ก็ใช้ไม่เป็น ปรับไม่ถูก


    ตอนนี้แหละ ที่อาจารย์มีประโยชน์มาก คือมาทำหน้าที่เลือกเฟ้นให้และปรับให้เหมาะกับตัวบุคคล เพราะฉะนั้น การเลือกเฟ้นปริยัตินั้น ให้เหมาะสมกับขั้นตอนอย่างหนึ่ง และให้เหมาะสมกับตัวบุคคลอย่างหนึ่ง แล้วก็ให้เฉพาะเท่าที่ใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างปริยัติ กับ ปฏิบัติ


    เป็นอันว่า เราจะใช้ปริยัติโดยการเลือกเฟ้นของท่านผู้ชำนาญ แนะนำให้เรา หรือเราจะเรียนปริยัติโดยตรงทั้งดุ้นก็แล้วแต่ อันนี้ก็สุดแต่ว่าเราจะมีความประสงค์อย่างไร


    ถ้าเราไม่ไว้ใจอาจารย์ เราก็อาจจะนึกว่า สติปัญญาของเราก็ดีพอสมควร เราจะเลือกเฟ้นปริยัติด้วยตนเอง เราก็อาจจะไปศึกษาค้นคว้าตำรับตำราคัมภีร์ด้วยตนเอง แล้วก็อาจจะเอาประสบการณ์ของอาจารย์ทั้งหลาย มาประกอบการพิจารณามาเสริมความรู้ในปริยัติของเรา ในการที่จะนำมาใช้ปฏิบัติต่อไป นี้ก็เป็นเรื่องของเรา

    แต่บางคนนั้น เขาเรียนปริยัติโดยมีความมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น แม้แต่พระอรหันต์ ซึ่งปฏิบัติเสร็จแล้ว บรรลุผลคือเข้าถึงปฏิเวธแล้ว หลายท่านก็ยังกลับมาเรียนปริยัติอีก เรียนเพื่ออะไร เรียนเพื่อว่าจะได้สามารถในการสั่งสอนผู้อื่น เพราะว่าประสบการณ์เฉพาะตัวนี้ อาจจะไม่เหมาะกับคนอื่นก็ได้


    พระ อรหันต์นั้น ท่านก็แบบเดียวกับเรา บางทีท่านมาเจออาจารย์เลย อาจารย์นั้น เลือกเฟ้นปริยัติที่เหมาะกับท่านเท่าที่จำเป็นเฉพาะตัวท่าน เฉพาะขั้นตอนนั้นๆ ท่านก็เรียนรู้มาเฉพาะ ความรู้ที่จำเป็นในวงแคบ แล้วก็ปฏิบัติมาจนสำเร็จ

    แต่ความรู้ที่จะไปสอนผู้อื่นนั้น ควรจะกว้างขวางพอที่จะเลือกเฟ้นให้เหมาะ กับคนทั้งหลายที่ต่างๆ กันมากมาย มีข้อปลีกย่อยแง่มุมที่จะประยุกต์ยักเยื้องได้ ท่านก็เรียนปริยัติเพิ่มเติมอีก จึงมีปริยัติที่ท่านเรียกว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ ปริยัติของผู้เป็นเหมือนขุนคลัง เพราะเป็นดุจมีคลังที่เก็บของ ซึ่งเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนอื่นๆ ด้วย ไม่เฉพาะตัวคนเดียว นี้คือความมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับปริยัติ เป็นอันว่า ตอนนี้เรารู้ความสัมพันธ์ระหว่างปริยัติและปฏิบัติ


    เมื่อปฏิบัติแล้ว ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ก็เกิดผลเป็นปฏิเวธ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ผิดพลาดเกิดความล้มเหลว ฉะนั้น ปฏิบัติที่จะถูกต้อง ก็อาศัยปริยัติที่แหละเป็นฐาน เป็นอันว่าหลัก ๓ อย่างนี้ สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ


    แต่หลายคน อาจจะเรียนปริยัติแล้วไม่ได้นำมาใช้ลงมือทำ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะว่าปฏิบัติเป็นตัวที่ต่อระหว่างปริยัติ กับ ปฏิเวธ ในเมื่อปริยัติไม่มาสู่การปฏิบัติ ก็ไม่มีตัวต่อที่จะนำไปสู่ปฏิเวธ ปฏิเวธก็ไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ครบวงจร

    นี่ก็เป็นข้อหนึ่งที่ขอยกมาพูด เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องปริยัติ และปฏิเวธว่า ปริยัติโดยไม่ปฏิบัติ และปฏิบัติโดยไม่ปริยัตินั้นเป็นอย่างไร
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    จริงหรือที่ว่า ผู้ปฏิบัติธรรม ต้องไม่มีความอยาก

    ข้อสังเกตที่ควรมาทำความเข้าใจกันเรื่องต่อไป คือ หลายคนมีความรู้สึกว่า ถ้ามาปฏิบัติธรรม หรือเป็นผู้ปฏิบัติธรรมได้ผลแล้ว ก็จะไม่อยากได้อยากดีอะไร เป็นคนไม่มีความอยาก

    ถ้าจะไปเป็นชาวพุทธ มีชื่อว่า เป็นนักปฏิบัติก็ให้รู้สึกไม่สบายใจ ที่จะพูดถึงคำว่า “อยาก” แล้วก็จะพยายามหลีกเลี่ยงอาการของความอยาก และพยายามแสดงตัวให้คนอื่นรู้สึกว่า ตัวเรานี้ไม่มีความอยาก

    อันนี้ก็เป็นเรื่องอันตรายอย่างหนึ่ง ทำกันจนกระทั่งชักจะให้เกิดความรู้สึก หรือมีภาพพจน์ของผู้ปฏิบัติ หรือแม้แต่ชาวพุทธทั่วไปว่าเป็นคนที่ไม่มีความอยาก


    ทีนี้ ความอยากนั้นเป็นคำที่ยังน่าสงสัยอยู่ ยังจะต้องทำความเข้าใจ เหตุที่เราไปจำกัดว่า ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องกำจัดความอยาก ต้องเลิก ไม่ให้มีความอยาก ก็เพราะเข้าใจความอยากนั้นว่าเป็นตัณหา เป็นอกุศลธรรม แล้วเราก็เข้าใจความอยากนี้มีประเภทเดียวคือตัณหาเท่านั้น


    พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ตัณหาคือความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ จะต้องตัดต้องละต้องเลิกให้หมด เราก็เลยต้องพยายามไม่อยาก พยายามละเลิกความอยาก ต้องพยายามเป็นคนที่ไม่มีความอยาก แสดงตัวว่าเป็นคนปราศจากความอยาก อะไรทำนองนี้

    จึงจะต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ความอยากนั้นมี ๒ อย่าง มีทั้งความอยากที่ถูกต้อง และความอยากที่ไม่ถูกต้อง อย่ารังเกียจความอยากกราดไปหมด ต้องระวังมาก ถ้าไม่มีความอยาก บางทีความไม่อยากหรือการไม่มีความอยากนั่นแหละ อาจจะเป็นตัวกิเลส และเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติก็ได้ ความอยากมี ๒ แบบ คืออะไร

    ความอยากนั้น ในภาษาพระ ใช้คำกลางๆว่า ฉันทะ ฉันทะแปลว่า ความอยาก เรากลับไปเริ่มต้นความอยากที่ฉันทะไม่เริ่มต้นที่ตัณหา

    ความอยาก เรียกว่า ฉันทะ หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า ฉันทะ ทีนี้ ฉันทะที่แปลว่า ความอยากนั้น มี ๒ แบบ

    ฉันทะ ประเภทที่ ๑
    เรียกว่า ตัณหาฉันทะ ตัณหาฉันทะคือความอยากแบบตัณหา ความอยากแบบตัณหา คือความอยากได้สิ่งปรนเปรอตน ปรนเปรอตา ปรนเปรอหู ปรนเปรอจมูก ปรนเปรอลิ้น ปรนเปรอกาย ปรนเปรอใจ คือ ได้สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขสบายทางประสาทสัมผัส

    ความอยากประเภทนี้ มันมีตามธรรมดาของมันเอง โดยที่มนุษย์ไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย พอมนุษย์เกิดมา ก็ต้องมีความปรารถนา ความอยากจะได้สิ่งเสพมาบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยไม่ต้องมีความรู้ว่าอะไรเป็นคุณแก่ชีวิตหรือไม่

    ในเมื่อความอยากแบบนี้ เป็นไปโดยไม่ต้องมีความรู้ จึงเรียกว่า เป็นความอยากที่เกิดจากอวิชชา

    ฉะนั้น ความอยากที่เรียกว่า ตัณหานี้จึงสัมพันธ์กับอวิชชา ไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย เป็นไปตามความรู้สึกเท่านั้น พอรู้สึกถูกตา ถูกหู ถูกลิ้น ก็อยากทันที

    แต่ถ้าไม่ถูกตา ไม่ถูกหู ไม่ถูกลิ้น ก็ไม่อยาก ไม่ชอบใจทันที อยากได้แต่สิ่งที่บำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง เอาแค่สุขตา สุขหู สุขลิ้น

    พออยากขึ้นมาแบบนี้ ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดคุณค่าแก่ชีวิตหรือไม่ สิ่งที่บำรุงบำเรอตนเองนั้น อาจจะทำให้เกิดโทษเกิดภัยแก่ชีวิตก็ได้ หรือโดยบังเอิญอาจจะเกิดประโยชน์ก็ได้

    พูดอย่างภาษาสมัยปัจจุบัน ก็ว่าอาจจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต หรืออาจจะทำลายคุณภาพชีวิตก็ได้ เป็นเรื่องสุ่มๆเสี่ยงๆ เพราะไม่เป็นไปด้วยความรู้ แต่เอาแค่ความรู้สึกเท่านั้น จึงมักจะทำลายคุณภาพชีวิตเสียมากกว่า

    เหมือนตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกมาพูดบ่อยๆ เช่น อยากในรสอาหาร ใครๆพอเกิดมาไม่ต้องเรียนรู้อะไร ก็มีความรู้สึกว่าอร่อย และไม่อร่อย แล้วก็อยากในสิ่งที่อร่อย เมื่ออยากในสิ่งที่อร่อย ถ้าไม่มีความรู้เลย ก็มุ่งแต่อร่อยอย่างเดียว ทำไปตามความอยาก กินจนกระทั่งเกินขนาด อาจจะกินสิ่งที่เป็นพิษ เป็นอันตรายทำลายคุณภาพชีวิต นี้คือความอยากด้วยตัณหา


    แต่ถ้ามีความรู้ขึ้นมา ก็จะมีความอยากอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้น เป็นความอยากที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องเกิดจากความรู้ หรือต้องมีความรู้ ความเข้าใจจึงจะเกิดขึ้นได้ คือมีความรู้ว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตเป็นประโยชน์แก่ชีวิตหรือไม่ ความอยากอย่างนี้เป็นความอยาก หรือฉันทะประเภทที่ ๒ เรียกชื่อว่า กุศลฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ แปลว่า ความอยากที่เป็นกุศล หรือ ความอยากในธรรม

    ตอนนี้เราก็ได้ความอยากครบ ๒ แบบ

    ความอยากประเภทที่ ๒ เป็นความอยากในสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต สัมพันธ์ กับ ความรู้ โดยจะต้องมีการทำลาย หรือลดอวิชชา และต้องมีวิชชาเกิดขึ้นบ้าง พอเริ่มมีวิชชา มีความรู้ เราก็เริ่มรู้จักแยกว่าอะไรจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แล้วก็จะมีความอยากประเภทที่ ๒ คือ อยากในสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต หรืออยากทำให้เกิดคุณภาพชีวิต

    ความอยากประเภทที่ ๒ คือกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะนี้ เมื่อจะเรียกสั้นๆ ท่านเรียกแค่ว่า ฉันทะ ระวังจะสับสนตรงนี้

    ความอยากประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า ตัณหาฉันทะ เวลาเรียกสั้นๆก็เหลือแค่ ตัณหา

    เพราะฉะนั้นคำว่า ตัณหา และคำว่าฉันทะ ก็เลยกลายเป็นความอยากคนละประเภทไปเลย

    แต่ที่จริงนั้น ถ้าเรียกให้เต็ม ตัณหาก็เป็นตัณหาฉันทะ และฉันทะที่เป็นความอยากฝ่ายดี ก็เป็นกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ชื่อเต็มเป็นอย่างนั้น

    รวมความตอนนี้ เพื่อให้จำง่ายๆ ก็แยกเป็นความอยาก ๒ อย่าง คือ ตัณหา อย่างหนึ่ง ฉันทะ อย่างหนึ่ง

    ตัณหา คือความอยากโดยไม่มีความรู้ เพียงแต่จะสนองความรู้สึกเสพสม บำรุงบำเรอปรนเปรอประสาทสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของตนเอง

    ส่วนฉันทะ หรือความอยากประเภทที่ ๒ คือความอยากในคุณภาพชีวิต ในสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ เริ่มตั้งแต่รู้จักแยกว่า อะไรเป็นโทษแก่ชีวิตอย่างแท้จริง

    นี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อน
     
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    วิธีปฏิบัติต่อความอยาก


    ในทางธรรมนั้น ท่านแยกวิธีปฏิบัติต่อความอยาก ๒ ประการนี้

    ความอยากประเภทที่ ๑
    คือ ตัณหา ที่เกิดจากความไม่รู้ หรือเป็นไปโดยไม่มีความรู้ ซึ่งเป็นไปเพื่อการบำรุงบำเรอปรนเปรอประสาทสัมผัสนั้น ท่านบอกว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องควบคุมให้ดี หรือแม้แต่ละเลิกให้ได้ แทนที่ด้วยฉันทะ หรือเอาไว้แต่ฉันทะ

    ถ้าเรายังไม่มีฉันทะ ไม่มีปัญญามาก ตัณหา นี้ต้องใช้ในลักษณะของการควบคุม หรือเบนเอามาใช้ให้เป็นปัจจัยแก่ ความอยากประเภทที่ ๒ คือจะต้องหันเหให้เข้ามาเป็นความอยากประเภทที่ ๒ ให้ได้

    ความอยากประเภทที่ ๒
    ที่เรียกว่า ฉันทะ นั้น เกิดขึ้นแล้ว ให้ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ฉันทะนี้จะระงับไปเอง

    อย่างที่ ๑ นั้น ระงับทันที หรือควบคุมทันทีเมื่อมันเกิดขึ้น หรือว่าคุมทันที หรือว่าเบนทันที ให้มันมาเชื่อมกับฉันทะให้ได้

    ส่วนประเภทที่ ๒ คือฉันทะ ไม่ว่าจะเบนมาจากตัณหาก็ตาม หรือเกิดจากความรู้โดยตรงก็ตาม ให้ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ


    เพราะฉะนั้น ฉันทะนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าต้องระงับเหมือนกัน แต่ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ปล่อยให้มันค้างอยู่ เมื่อมีฉันทะแล้วก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ นี่คือหลักสำคัญ ในการที่จะปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า


    คนที่จะปฏิบัติธรรม จะต้องมีฉันทะเป็นตัวเริ่มต้น ท่านถือว่า ฉันทะ เป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง

    ในเมื่อเราจะต้องมีฉันทะเป็นตัวเริ่มต้น เป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องแรก จึงต้องรู้จักแยกกันให้ดี ระหว่างความอยากที่ถูกต้อง หรือความอยากที่เป็นธรรม ชอบธรรม กับ ความอยากที่ไม่ถูกต้อง หรือ ความอยากที่ไม่ชอบธรรม แล้วก็เลือกปฏิบัติในความอยากที่ถูกต้องชอบธรรม และการกระตุ้นเร้าให้มันเกิดขึ้นด้วย เพราะฉันทะนี้เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง

    ในภาษาสมัยใหม่เขาใช้คำว่า แรงจูงใจ เราก็แบ่งแรงจูงใจออกเป็น ๒ ประเภท
    คือ
    แรงจูงใจประเภทตัณหา ที่ไม่สัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจ และไม่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต
    กับ
    แรงจูงใจประเภทฉันทะ ที่เป็นไปด้วยความรู้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต


    ฉันทะหรือความอยากประเภทที่ ๒ นี้ ถ้าเราใช้ภาษาชาวบ้าน ก็จะแยกออกจากฉันทะประเภทที่ ๑ ได้ง่าย ความอยากประเภทที่ ๑ หรือตัณหา นั้น ถ้าแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ อยากได้ อยากมี หรือใช้อีกคำหนึ่งว่า อยากเสพ

    ส่วนฉันทะหรือความอยากฝ่ายกุศล แปลว่า อยากรู้ อยากทำ หรือใฝ่รู้ ใฝ่ทำ เวลาท่านแปลเป็นภาษาบาลีโดยใช้ศัพท์เต็ม ฉันทะ ท่านขยายเป็น กตฺตุกมฺยตาฉนฺท แปลว่าฉันทะ คือ ความต้องการจะทำ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นบุญเป็นกุศล

    ความอยากทั้งสองนี้ เมื่อเอามาใช้ในแนวคิดสมัยใหม่ ก็สัมพันธ์ กับ ค่านิยม คือ อยากได้อยากมี นั้น เข้ากันกับค่านิยมบริโภค

    ส่วนอยากทำ อยากรู้ เข้ากันกับค่านิยมผลิต มันสัมพันธ์กันอย่างนี้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมในความหมายแคบๆ แต่ใช้ได้กับการพัฒนาประเทศทั้งหมดด้วย


    ปัจจุบันประเทศของเรามีปัญหาเรื่องค่านิยม และเรื่องแรงจูงใจนี้มาก คนในสังคมมีแรงจูงใจประเภทตัณหามาก และทำให้เกิดค่านิยมบริโภค ซึ่งทำให้ไม่เกิดการสร้างสรรค์ และทำให้พัฒนาประเทศไม่สำเร็จ


    คนไทยเรามักมองสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้สึกที่อยากจะมีอยากจะใช้เท่านั้น ไม่ได้คิดอยากจะผลิต ทำอย่างไรจะเปลี่ยนให้คนของเรา เมื่อเห็นอะไรที่เป็นความเจริญแล้ว อยากจะทำให้ได้อย่างนั้น

    แม้แต่ความเข้าใจในคำว่า เจริญนี่ คนไทยเราก็มักเข้าใจความหมายแบบนักบริโภค

    ถามว่า เจริญคืออย่างไร เห็นฝรั่งเจริญ เราก็บอกว่า เจริญคือมีใช้อย่างฝรั่ง เพราะฉะนั้น เราก็เป็นนักบริโภค เพราะคิดแต่หาทางให้มีอย่างเขา


    ทีนี้ ถ้าเข้าใจความหมายของความเจริญอย่างนักผลิต ก็จะมองใหม่ คือมองว่า เจริญคือทำได้อย่างเขา เราเคยมองอย่างนี้ไหม เด็กหรือคนของเรานี่ มองภาพของความเจริญว่า คือทำได้อย่างเขา มีบ้างไหม

    แม้แต่ว่าจะเล่น เด็กๆของเราก็มักจะเล่นเพียงเพื่อสนุกสนาน เล่นแบบนักบริโภค นักเสพ เราไม่ค่อยได้ฝึกเด็กของเราให้เล่นแบบนักผลิต หรือนักทำ


    สำหรับนักผลิตนั้น แม้แต่จะเล่นก็มีความหมายว่าเล่นแบบนักทำ คือฝึกทำอะไรต่ออะไรให้เป็น พยายามเล่นทำอะไรต่างๆให้เป็น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มันสัมพันธ์โยงกันไปหมด

    เพราะฉะนั้น จากอันนี้คือแรงจูงใจที่ผิดพลาด เมื่อมีแรงจูงใจแบบตัณหาอยู่แล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้


    ในการแก้ไขปัญหานั้น เราจะมัวมาลบล้างกำจัดตัณหากันอยู่ก็ไม่ไหว เป็นการแก้ด้านลบอย่างเดียว แต่เราก็มักจะเน้นกันมากในแง่นี้

    แม้แต่ในวงการนักปฏิบัติก็ไปเน้นที่การลดละตัณหา ลดละความอยาก ไม่เน้นในด้านบวก
    การเน้นด้านบวกก็คือให้ส่งเสริมฉันทะขึ้นมา ทำอย่างนี้จะเป็นการดีกว่ามัวไปเน้นด้านลบ คือส่งเสริมให้เอาตัวบวกมาแทนตัวลบ เอาฉันทะมาแทนตัณหา

    ผู้ที่ปฏิบัติธรรมต้องมีฉันทะ แล้วก็ระงับความอยาก ที่เรียกว่า ฉันทะ นั้น ด้วยการทำให้สำเร็จ ซึ่งอันนี้ก็เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศด้วย เพราะความอยากมี อยากใช้ อยากได้ อยากบริโภคนั้น เป็นตัวการทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา ก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้มีความอยากทำ อยากผลิต พร้อมทั้งความอยากรู้ จึงจะพัฒนาไปได้

    ธรรมฉันทะ แปลว่า อยากในธรรม ธรรมแปลว่าอะไร ธรรมแปลว่า สิ่งที่ดีงาม และความจริง หรือความจริง ความถูกต้องดีงาม

    แง่ที่ ๑ ธรรม คือความจริง ธรรมฉันทะ ก็คืออยากในความจริง เมื่ออยากในความจริง ต้องการเข้าถึงความจริง ก็ต้องอยากรู้ เพราะฉะนั้น อยากในความจริงจึงต้องมีความอยากรู้ จึงมีความหมายของฉันทะ แง่ที่หนึ่งว่า อยากรู้ หรือใฝ่รู้

    แง่ที่ ๒ ธรรม แปลว่า สิ่งที่ดีงาม ธรรมฉันทะ ก็คืออยากให้เกิดมีสิ่งที่ดีงาม เมื่ออยากให้เกิดมีสิ่งที่ดีงาม ก็ต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น สิ่งที่ดีงามจะเกิดมีขึ้นสำเร็จได้ก็ด้วยการทำ เพราะฉะนั้น ธรรมฉันทะหรือเรียกสั้นๆว่า ฉันทะ ก็จึงมีความหมายว่า อยากทำ


    รวมความว่า ต้องการเข้าถึงความจริง และต้องการให้สิ่งเกิดขึ้น เมื่อต้องการเข้าถึงความจริง และให้สิ่งที่ดีงามเกิดขึ้น ก็ต้องอยากรู้และอยากทำ อยากรู้ก็จะได้เข้าถึงความจริง อยากทำก็เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดมีเป็นจริงขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงแปลฉันทะว่า อยากรู้ และอยากทำ


    ในเมืองไทยปัจจุบันนี้ต้องส่งเสริมเรื่องนี้ให้มาก ส่งเสริมความใฝ่รู้ และใฝ่ทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังขาดแคลนมากในสังคมไทยปัจจุบัน


    รวมความว่า ในหลักของพระพุทธศาสนานี้ มีความอยาก ๒ ประเภท ที่เราจะต้องแยกให้ถูกต้อง

    อย่าไปนึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการพยายามที่มุ่งแต่เพียงลดละความอยาก แล้วก็รังเกียจกลัวความอยาก แสดงตัวว่า ไม่มีความอยาก จะทำให้เกิดท่าทีที่ผิดพลาด แล้วก็เป็นภาพที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเองและพระพุทธศาสนา


    อย่างที่บอกแล้วว่า ความอยากที่ถูกต้องสัมพันธ์ กับ ปัญญา ตอนแรกจะต้องรู้ การที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นความจริง และอะไรเป็นสิ่งดีงาม ก็คือต้องมีปัญญา คนเราก็จึงต้องมีการเรียนรู้


    การศึกษามีความมุ่งหมายประการหนึ่งเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง แต่แรงจูงใจที่ถูกต้องนั้น จะเกิดมีและเดินหน้าไปไม่ได้ ในเมื่อยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องดีงามคืออะไร แล้วทีนี้ เมื่อการศึกษาดำเนินไปถูกต้องแล้ว การศึกษานั้นก็ทำให้คนเกิดปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ เมื่อมองเห็นคุณค่าของสิ่งใด ก็มีฉันทะในสิ่งนั้น พร้อมที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นลักษณะของการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา


    พระพุทธศาสนาบอกว่า ชีวิตที่ประเสริฐ คือชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ตอนนี้ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยตัณหา ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยอวิชชา เปลี่ยนจากความไม่รู้ที่ทำให้ดิ้นรนไปตามความอยาก ซึ่งแต่จะบำรุงบำเรอตนเอง หันมามีความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วจึงมีความต้องการในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง จึงอยากในสิ่งที่ควรอยาก คืออยากในสิ่งที่รู้ว่ามีคุณประโยชน์ ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต


    ความอยากอย่างนี้ จึงต้องเริ่มต้นด้วยความรู้ก่อน หรือเป็นไปพร้อมด้วยความรู้ ความต้องการหรือแรงจูงใจที่ถูกต้องจึงเริ่มจากการมีความรู้ แต่จะมีความรู้ได้ก็ต้องศึกษาคือพัฒนาคนให้มีปัญญา เมื่อมีปัญญาจึงจะรู้จักที่จะอยากอย่างถูกต้อง แล้วก็ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง เมื่อชีวิตดำเนินไปอย่างนี้ก็จึงเป็นชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา
     
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    เฉยไม่อาเรื่องหรือคือปฏิบัติธรรม


    คราวนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ก็คือ ในวงการนักปฏิบัติไม่น้อยเลย ได้มีความโน้มเอียงที่จะรู้สึกกันว่า ถ้าเป็นนักปฏิบัติหรือปฏิบัติสำเร็จแล้ว จะเป็นคนเฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ความรู้สึกนี้กลายเป็นทัศนคติ ที่ชักจะเป็นไปมาก เป็นเรื่องที่น่าจะต้องรีบยกขึ้นมาพิจารณา และถ้าผิดพลาดก็จะต้องแก้ไข


    เดี๋ยวนี้ชาวพุทธจำนวนมาก มีความรู้สึกทำนองว่า เมื่อมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น ถ้าใครเฉยๆ ก็เป็นคนหมดกิเลส ความรู้สึกคลุมเครืออย่างนี้เป็นอันตรายมาก จะต้องมาทำความเข้าใจกันแม้แต่คำว่า เฉย ก่อน

    คำว่า เฉย นี้ เรามักจะเอาไปโยงกับคำว่าอุเบกขา อุเบกขา แปลว่า วางเฉย ทางพระท่านว่าวางเฉยมี ๒ แบบ

    เฉยแบบที่ ๑ คือ วางเฉย แบบที่เป็นอกุศล เป็นบาป ควรกำจัด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรียกว่า อัญญาณุเบกขา มาจากคำว่า อัญญาณ ญาณ แปลว่า ความรู้ อัญญาณ ก็คือ ความไม่รู้ แล้วไปบวกกับ อุเบกขา ที่แปลว่า ความวางเฉย ก็แปลว่า วางเฉยโดยไม่รู้ เรียกตามภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ เฉยโง่ เฉยเขลา เฉยไม่รู้เรื่อง คนจำนวนมากเฉย เพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว เมื่อไม่รู้ก็เลยเฉย


    ทีนี้ เฉยแบบที่ ๒ เป็นกุศลธรรม เป็นสภาพจิตที่ดีงาม คือ เฉยด้วยความรู้ โดยวางใจเป็นกลางในสิ่งต่างๆ เพราะรู้จังหวะ หรือความพอดีที่จะปฏิบัติต่อบุคคล สิ่งของ เรื่องราว หรือสถานการณ์นั้นๆ เรียกว่า เป็นอุเบกขาตรงๆ ไม่ต้องมีคำอะไรอื่นนำหน้า เป็นอุเบกขาแท้ๆ เป็นอุเบกขาที่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องของการวางท่าทีที่ถูกต้อง


    ในสถานการณ์ที่เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมา มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะเห็นคน ๓ จำพวก

    คนพวกที่ ๑ เฉยเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ มีเรื่องราวเดือดร้อนเป็นปัญหาก็ไม่รู้ พวกนี้ก็เฉย

    ต่อไปพวกที่ ๒ คือ คนที่เอะอะโวยวาย ตื่นตูม พอมีเรื่องราวปัญหาอะไรขึ้นมาก็ตื่นเต้น โว้กว้าก ตีโพยตีพายต่างๆ พวกนี้ ก็เลยเถิดไปอีกแบบหนึ่ง เป็นพวกที่รู้ครึ่งๆกลางๆ

    สุดท้ายพวกที่ ๓ คือ พวกที่รู้จริง คือ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และรู้ด้วยว่าจะทำอะไรเมื่อไร พวกนี้รู้จังหวะ รู้ขั้นตอน รู้ว่าจะทำอย่างไร รู้วิธีแก้ไข พวกนี้อยู่ตรงกลาง ที่จุดพอดี ก็เฉยเหมือนกัน

    มี ๓ พวก ท่านว่าพวกไหนปฏิบัติถูกต้อง พวกที่ ๑ แน่นอนละ ไม่ถูกต้อง เรียกว่า อัญญาณุเบกขา คือ เฉยไม่รู้เรื่อง เพราะไม่รู้ก็เลยเฉย พวกที่ ๒ นั้น เอะอะโวยวาย เพราะรู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง ก็เลยตื่นเต้นหรือตื่นตูม พวกนี้ก็แก้ปัญหาไม่ค่อยสำเร็จ บางทีปะเหมาะแก้ถูกก็ดีไป แต่มักจะทำให้เรื่องสับสนหรือบานปลายออกไป

    พวกที่ ๓ นั่นแหละ จึงจะเป็นพวกที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะมีความรู้แล้วจึงวางใจเฉยนิ่งได้และเฉยไว้ก่อน แต่รู้จังหวะว่าจะทำอะไรเมื่อไร พวกนี้ไม่ใช่เฉยไปเลยนะ เฉยเตรียมพร้อม เฉยพร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้ถูกจังหวะ เฉยรู้ดูทีคอยท่าพร้อมอยู่ อันนี้คือการวางเฉยที่ต้องการในทางธรรม


    ในการปฏิบัติธรรมนั้น มีการวางเฉย คือวางใจเป็นกลาง ทั้งวางใจเป็นกลางต่อบุคคล วางใจเป็นกลางต่อสภาพแวดล้อม และวางใจเป็นกลางต่อธรรม แม้แต่ธรรมต่างๆ ก็ต้องมีการวางใจเป็นกลาง


    ท่านยกตัวอย่าง เหมือนกับสารถีขี่ม้า หรือแม้แต่ขับรถก็ตาม ตอนแรกขับรถ รถยังวิ่งไม่เข้าที่ ก็ต้องเร่งเครื่องบ้างต้องเลื่อนโน่นเลื่อนนี่บ้าง อะไรต่างๆ ต้องใช้ความเพียรพยายาม เอาเรี่ยวแรงมาหันพลิกดึงรั้งอะไรมากมาย

    แต่พอรถวิ่งเข้าที่ เช่น ถ้าเป็นรถม้าวิ่งเรียบสนิทดีแล้ว สารถีจะนิ่ง แกจะวางเฉย นั่งสงบสบาย แต่เป็นการเฉยที่มีความรู้ตัวพร้อมอยู่


    คำว่าอุเบกขานั้น มาจาก อุป + อิกฺข อิกฺข แปลว่า เห็น หรือมอง อุป แปลว่า คอยหรือเข้าไป จึงแปลว่า เข้าไปมองหรือคอยมองดู แสดงว่า ไม่ได้เฉยเมย หรือเฉยเมิน แต่เฉยคอยมองอยู่ คือรู้ตัวตื่นพร้อม

    ในคัมภีร์ท่านอธิบายว่า มองตามเรื่องที่เกิด คือมองพอเหมาะ มองพอดี มองเสมอกันอยู่ ไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือยังไม่ไปข้างไหน จึงว่าวางใจเป็นกลาง อาจจะเฉยรอ คือเฉยดูรู้ทีคอยท่าพร้อมอยู่ หรือเฉยนิ่งสบายใจเรียบสงบ ในเมื่อทุกอย่างเข้าที่ลงตัวดำเนินไปอย่างประสานสอดคล้องกันหมด

    สารถีที่ขับรถเก่งแล้ว ขี่ม้าเก่งแล้ว จะไม่ตื่นเต้นโวยวาย ไม่เหมือนคนมือใหม่ ซึ่งตื่นเต้นวุ่นวาย บางคนกระสับกระส่ายนั่งไม่เป็นสุข แต่คนที่เขาขี่ม้าได้เก่งแล้ว พอม้าวิ่งเรียบร้อยเข้าที่แล้ว เขานั่งนิ่งสบาย นิ่งเนี๊ยบ แล้วก็พร้อมตลอดเวลาที่จะแก้ไข มีอะไรจะต้องแก้ไข ม้าวิ่งผิดพลาดอย่างไร เขาแก้ได้ทันทีทันควัน


    คนขับรถสมัยปัจจุบันก็เหมือนกัน ถือพวงมาลัยอยู่นี่ ขับชำนาญแล้ว แกก็ไม่ตื่นเต้น ไม่วุ่นไม่กระวนกระวาย ไม่ทุรนทุรายอย่างคนขันใหม่ๆ แกจะนั่งนิ่งสบาย แต่พร้อมที่จะแก้ไขเหตุการณ์ได้ทุกเวลา นี่เรียกว่า อุเบกขา

    อุเบกขาจะอยู่ในลักษณะของคนที่ขับรถหรือขี่ม้าได้นิ่งสนิทแล้วพร้อมที่จะแก้ไขเหตุการณ์ได้ทันที หรือเหมือนอย่างพ่อแม่ พ่อแม่เห็นลูกอยู่เป็นปกติสุขสบายรับผิดชอบตัวเองได้ ก็วางเฉย แต่ก็มองดูอยู่ และพร้อมที่จะแสดงเมตตากรุณามุทิตาได้ทันที อันนี้ เรียกว่า อุเบกขา เป็นธรรมที่สำคัญ ต้องมีปัญญาจึงทำได้


    เราไปเข้าใจเป็นว่า ถ้าเป็นผู้สำเร็จแล้ว ก็วางเฉยไม่เอาเรื่องเอาราว เห็นเป็นคนไม่มีกิเลสไป แต่ที่จริงนั้น คนที่หมดกิเลสแล้ว เป็นคนหมดเหตุที่จะต้องทำอะไรเพื่อตนเอง เพราะฉะนั้น ท่านก็จะทำให้ผู้อื่นได้เต็มที่ ทำสิ่งที่ควรทำตามเหตุตามผล และทำในสิ่งที่เห็นว่าเป็นคุณประโยชน์อย่างแท้จริง โดยพร้อมที่จะทำได้ทันทีตลอดเวลา เพราะไม่มีกิเลสมาเหนี่ยวรั้ว ให้คอยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง แม้แต่ความขี้เกียจ


    ความขี้เกียจก็เป็นความเห็นแก่ตนเองอย่างหนึ่ง คือไม่อยากทำอะไร เพราะเห็นแก่สบาย อยากให้ตัวเองสบาย คือ เห็นแก่ตนจึงขี้เกียจ ไม่อยากทำโน่นทำนี่ ทีนี้ คนที่หมดกิเลสนั้น ท่านไม่มีกิเลสแม้แต่ความขี้เกียจ ที่จะมาเหนี่ยวรั้งให้ทำเพื่อตนเอง ท่านจึงทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงเป็นตัวอย่างของคนที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น

    พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำ เป็นโลกนาถ เป็นผู้บำเพ็ญโลกัตถจริยา เป็นผู้ไม่อยู่นิ่งเฉย ทรงบำเพ็ญพุทธกิจแต่ละวันไม่อยู่เฉยเลย ทำงานตลอดวัน เดินไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ละวัน ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงคนอื่นก่อน พอตื่นขึ้นมา พระพุทธเจ้าทำอะไร พุทธกิจประการแรก คือ พิจารณาว่าวันนี้จะไปโปรดใคร คือใครมีความพร้อมสมควรไปแนะนำสั่งสอน ใครเป็นผู้มีปัญหา ใครเป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า เราควรจะไปชุมชนไหน กลุ่มไหน คนไหน พระพุทธเจ้าพิจารณาแล้วก็เสด็จไปหา ไปโปรดเขา

    เวลามีเหตุการณ์กระทบกระเทือนประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้น พระอรหันต์นำก่อน ออกหน้าในการแก้ปัญหา ขอให้นึกถึงพระมหากัสสปะ จะได้ระลึกไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ให้เห็นปฏิปทาของผู้สำเร็จแล้วหมดกิเลส ว่าท่านไม่อยู่นิ่งเฉย


    พระมหากัสสปะนั้น เป็นพระประเภทอยู่ป่า ท่านอยู่ป่าตลอดชีวิต เป็นนักถือธุดงค์ พระพุทธเจ้าททรงยกย่องว่า เป็นเอตัคคะในทางถือธุดงค์ ถ้ามองในสายตาคนทั่ว่ไป ก็เห็นว่าท่านชอบปลีกตัวจากสังคมมากที่สุด


    แต่พอมีเรื่องกระทบกระเทือนส่วนรวมขึ้นมา คือพระพุทธเจ้าปรินิพพานมีพระองค์หนึ่งพูดขึ้นมาในทางที่ไม่น่าไว้ใจ อาจจะกระทบกระเทือนต่อพระศาสนา พระมหากัสสปะเป็นองค์แรกที่ยกเรื่องขึ้นมาพิจารณา นำเรื่องเข้าที่ประชุม เสนอว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วไม่ทันไร มีผู้กล่าวถ้อยคำในทำนองที่ไม่น่าไว้วางใจ ถ้าเราไม่ประมวลหลักธรรมคำสอนให้เป็นหมวดเป็นหมู่ไว้ชัดเจน แล้ววินิจฉัยกันให้จะแจ้งไว้ ไม่ช้าไม่นานธรรมจะเลอะเลือนหมด คนก็จะถือเอาความสะดวกสบาย ประพฤติเอาตามใจชอบ จากคำเสนอของท่านก็เป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาขึ้น

    ในประวัติศาสนาพระพุทธศาสนาในระยะหลังต่อมาก็เหมือนกัน เวลามีเหตุการณ์อะไรกระทบกระเทือนประโยชน์ส่วนรวมต่อพระศาสนา พระอรหันต์จะเป็นบุคคลที่ริเริ่มในการยกเรื่องมาเข้าที่ประชุม แล้วพระอรหันต์ก็มาพร้อมเพรียงกันในการประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหา


    การประชุมกันนี้ถือเป็นกิจสำคัญของสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ก็คือส่วนรวม สังฆกรรมก็คือการกระทำของสงฆ์ ได้แก่การประชุมกันพิจารณาแก้ไขปัญหา และจัดการเรื่องราวต่างๆ สังฆกรรมนี้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ เป็นสิ่งสำคัญในวินัย เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ซึ่งเป็นตัวอย่างของพระสงฆ์ และเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ดีทั้งหมด จึงเป็นผู้นำในการที่จะกระตือรือร้นแก้ไขปัญหาและสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อประโยชน์ส่วนรวม ดังมีคติอยู่ว่า ให้มีความเคารพสงฆ์ ให้ถือวินัยเป็นสำคัญ

    หัวใจสำคัญของวินัย คือความเคารพสงฆ์ ต้องถือสงฆ์เป็นใหญ่ การเคารพสงฆ์ก็คือเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมนั่นเอง

    อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องนำมากล่าวไว้ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะทำให้เรามีความไขว้เขว และมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง อาตมามองดูว่า ในสังคมไทยเรากำลังมีภาพอย่างนี้ มีทัศนคติอย่างนี้ คือไปมีความรู้สึกกันว่า ถ้าใครไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรแล้ว ก็เป็นคนหมดกิเลส ถ้าอย่างนี้แล้วอันตรายก็จะเกิดขึ้น
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ปฏิบัติธรรมสำเร็จ วัดด้วยอะไร

    อีกเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา คือ ในการตัดสินผลการปฏิบัติว่าใครก้าวหน้าไปแค่ไหน ใครเป็นผู้สำเร็จ ใครบรรลุธรรมเป็นอรหันต์หรือไม่ จะวัดกันด้วยอะไร

    เรามักจะตื่นเต้นกัน บางทีก็ตื่นเต้นด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เห็นท่านไหนมีอิทธิฤทธิ์ ก็ฮือกันว่า โอ ท่านคงจะสำเร็จแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว ใครทำนั่นทำนี่ได้ก็เป็นผู้วิเศษ บางทีก็ตื่นกันว่าท่านผู้นั้นเข้าสมาบัติ เห็นโน่นเห็นนี่ มองเห็นสวรรค์วิมาน แม้แต่ไปพบพระพุทธเจ้าได้ เป็นผู้สำเร็จ หรือบางทีเห็นผู้ที่ถือศีลเคร่งครัดมากเป็นพิเศษ ก็นึกว่านี่เป็นผู้สำเร็จ

    ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเรื่องที่มองกันไปต่างๆ แต่การตรวจสอบผลสำเร็จที่แท้จริงนั้นต้องวัดได้ที่ประสบการณ์ตรง ที่ในใจของทุกคนนี่เอง

    พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว่า คนเรานี่จะเขวได้ง่าย จึงตรัสหลักในการตรวจสอบไว้ การตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรงก็คือให้ดูใจของตนเองว่ามีโลภ โกรธ หลงไหม แล้วละคลายไปได้แค่ไหน มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้แค่ไหนเพียงไร มีความคิดประทุษร้ายต่อผู้อื่นหรือไม่ มีความเกลียดชังผู้อื่นหรือไม่ มีความต้องการในทางที่เห็นแก่ตนมากมายแค่ไหนเพียรไร มีความลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาแค่ไหนเพียงไร ใจตัวเองรู้

    ถึงจะปฏิบัติมีศีลเคร่งครัดแค่ไหนเพียงไร หรือได้ฌานสมาบัติ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไร หรือจะได้สมาธิดื่มด่ำอะไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นเครื่องวินิจฉัย

    ในพระธรรมบทก็มีคาถาซึ่งเป็นพุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า น สีลพฺพตมตฺเตน เป็นต้น

    คาถานี้มีใจความว่า ภิกษุไม่ว่าจะถือศีลวัตรเคร่งครัดแค่ไหน ไม่ว่าจะได้เล่าเรียนปริยัติมีความรู้กว้างขวางลึกซึ้งเพียงใด ไม่ว่าจะได้สมาธิสักปานใด ไม่ว่าจะปลีกตัวไปอยู่ในที่สงัด ไปอยู่ป่า อยู่เขา ขนาดไหน หรือแม้แต่จะได้รู้สึกประจักษ์แก่ตัวเองว่า เรานี้ได้สัมผัสกับความสุขอันประณีตลึกซึ้งภายใน ที่เรียกว่าเนกขัมมสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ปุถุชนไม่รู้จัก แม้แต่ได้ความสุขอย่างนั้น ตราบใดที่ยังไม่สิ้นอาสวะ ก็อย่าเพิ่งวางใจ

    เป็นอันว่ามีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้แล้ว ที่จริงท่านเตือนพระแต่ละองค์นั่นเอง ให้วินิจฉัยให้ตรวจสอบตนเอง แต่เราก็สามารถนำมาใช้กันในสังคมได้ด้วยว่า อย่าไปหลงเพลินวัดกันด้วยสิ่งที่ปรากฏอันน่าทึ่งน่าตื่นเต้น ด้วยการที่มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ด้วยการที่ได้สมาธิ ด้วยการที่มีความเคร่งครัดเข้มงวดอะไรต่างๆ ทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่ท่านไม่ให้วางใจ สิ่งที่ตรวจสอบได้แท้จริงคือความจางคลายหมดสิ้นไปของความโลภ ความโกรธ ความหลง

    ที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันก่อน ซึ่งเป็นเรื่องทั่วๆไปเกี่ยวกับการปฏิบัติ ต่อไปนี้จะค่อยๆเข้าสู่การปฏิบัติ เมื่อจะเข้าสู่การปฏิบัติก็ต้องมีจุดเริ่มต้นก่อน
     
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    บทความจากหนังสือนี้

    p_448139.jpg
    ยังไม่จบ
     
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    แรงขับเคลื่อนที่จะเริ่มปฏิบัติธรรม


    ตอนแรกขอพูดถึงต้นทุนและเครื่องประกอบในการปฏิบัติ คนเราจะออกเดินทาง ถ้าจะให้ดีก็ควรจะต้องมีเสบียง หรือมีทุน และเครื่องมือที่ช่วยในการเดินทาง อาจจะมีเข็มทิศ มีไม้เท้า มีไฟฉาย มีกระติกน้ำ และมีอะไรต่างๆ นี่เราก็จะเดินทางชีวิตก็เรียกว่า การปฏิบัติธรรม ก็ต้องมีทุน มีเสบียง มีเครื่องประกอบเหมือนกัน


    อย่างหนึ่งก็คือทุนเริ่มแรก เราจะออกเดินทาง ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจุดหมายนี้มีทางที่คนเดินไปถึงได้จริงหรือไม่ แต่เราอาจจะเชื่อตำรา เชื่อครูอาจารย์ เชื่อคนที่บอกว่าเคยเดินทางไปถึง แล้วเราก็มีความมั่นใจ อย่างน้อยก็มีความเชื่อเป็นต้นทุนว่าทางที่เขาบอกนี้เขารู้ และเคยไปถึงจุดหมายจริง ซึ่งเราก็จะเดินทางไปถึงได้ ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็ไม่เริ่มเดินทาง

    คนที่จะเดินทางชีวิตคือปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน จะต้องมีความเชื่อพื้นฐาน ความเชื่อนี้ท่านเรียกว่าศรัทธา

    ศรัทธาในที่นี้ เป็นศรัทธาในความหมายจำเพาะ ต้องเติมคำว่า โพธิ เข้าไป เป็น โพธิสัทธา

    เติมยาวออกไปอีกหน่อยให้เต็มว่า ตถาคตโพธิสัทธา แต่จะเรียกสั้นๆก็ได้ว่า โพธิสัทธา


    ตถาคตโพธิสัทธานี้ ท่านแปลกันว่า ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หมายความว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าเคยเป็นมนุษย์ธรรมดา ต่อมาพระองค์ได้ตรัสรู้ค้นพบสัจธรรมก็กลายเป็นพระพุทธเจ้า ก็หมายความว่า มีปัญญาที่ทำให้คนกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ หรือมนุษย์สามารถพัฒนาปัญญาของตัวเองให้เป็นพุทธได้ เพราะฉะนั้น เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือ เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพระพุทธเจ้า


    มนุษย์จะต้องมีปัญญาตัวนี้ และมนุษย์ก็สามารถพัฒนาให้ปัญญานี้เกิดขึ้นได้ ตรงกับที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้ ถ้าไม่มีความเชื่ออันนี้ ก็ไปไม่รอด หรือก้าวไปไม่ได้

    ฉะนั้น คนที่จะเริ่มต้นปฏิบัติธรรมจะต้องมีความเชื่ออันนี้ คือ มีตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคต คือเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธ เชื่อว่ามนุษย์นี้สามารถพัฒนาตนเองจนกระทั่งมีปัญญาสูงสุด ตรัสรู้เป็นพุทธได้ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์นี้ มนุษย์ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ ฝึกแล้วคือพัฒนาแล้ว หรือได้รับการศึกษาแล้ว

    คำว่า ทม แปลว่า ฝึก คำว่า ภาวนา แปลว่า เจริญหรือพัฒนา คำว่า สิกขา แปลว่า ศึกษานี้ เป็นศัพท์ที่ใช้แทนกันได้ ใช้แทนกันบ่อย ฝึกแล้ว ก็หมายถึงมีการศึกษาหรือได้พัฒนาแล้วนั้นเอง ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายนั้น มนุษย์ที่ฝึกแล้วหรือมีการศึกษาหรือพัฒนาแล้ว เป็นผู้ที่ประเสริฐสุด

    พุทธพจน์แห่งนั้น ตรัสสอนให้คนมีความกล้าหาญเชื่อมั่นในตนเอง ท่านว่า

    กลฺยาณํ วต โภ สกฺขิ อตฺตานํ อติมญฺญูสิ

    ท่านเอย ท่านก็สามารถทำดีได้ ใยจึงมาหมิ่นตนเองเสีย

    คนจำนวนมาก ดูถูกตนเอง นึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ก็เลยย่อท้อ ไม่สามารถทำสิ่งที่ดีงาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนด้วยพุทธพจน์นี้ ซึ่งก็เป็นบทหนึ่งที่เร้าใจเรา มีพุทธพจน์ประเภทนี้หลายแห่งสำหรับเร้าใจอยู่เสมอ ให้มนุษย์มีความกล้าหาญ มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ไม่ใช่เชื่อมั่นอย่างเลื่อนลอย ให้เชื่อมั่นในการที่จะพัฒนาตนเองต่อไป เพราะฉะนั้น สิ่งเริ่มแรกคือมี โพธิสัทธา ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธได้

    โพธิสัทธานี้ เมื่อโยงออกไปให้เต็มระบบ ก็คือศรัทธาในพระรัตนตรัยนั่นเอง

    ตอนนี้จะเข้าสู่ทางแล้ว พอมีความเชื่อ ก็เริ่มต้นเดินทางได้

    ทีนี้ ตัวทางเรียกว่าอะไร ตัวการนี้เมื่อกี้ก็ได้ใช้คำหนึ่งว่า ปฏิปทา เช่น มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง แต่คำที่สามัญกว่านั้น คือคำว่า มรรคาหรือมรรค มรรค แปลว่า ทาง และในพระพุทธศาสนานี้ หลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติทั้งหมด ก็คือ มรรค

    ตกลงมาสอดคล้องกันที่นี่ชัดเจนเลยว่า การปฏิบัติธรรม ก็คือการเดินทาง ได้แก่ การดำเนินชีวิต เพราะว่า หลักธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมด รวมอยู่ในมรรคทั้งสิ้น

    ...........................

    ต่อลิงค์นี้เลย

    http://palungjit.org/threads/ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง-2-ตอน-พุทธธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม.617596/

    คคห.ต่อๆไป สนทนากับคุณนพล้วนๆ อิอิ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 สิงหาคม 2017
  16. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,425
    ค่าพลัง:
    +35,019
    อิอิ ไม่เป็นไร เชิญรับวิบากการปฏิบัติแบบหลงทาง
    ทั้งชาติไปคนเดียวเถอะ...

    ก็แล้วแต่ระดับสติปัญญาทางธรรม
    ซึ่งได้มาจากการปฏิบัติโดยตรง การลงมือปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง
    ด้วยการปฏิบัติภาคสนาม ไม่ใช่ภาคบรรยาย หรือการใช้ความคิดแล้วใช้ปากพูด
    และไม่ใช่แบบพวกคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ปี๊แป๊ะ ความคิดวนแต่ในสมอง
    ที่พยายามแสดงให้ชาวโลกรู้เหลือเกินว่า
    จะปฏิบัติได้จากการอ่าน จากการคิดเอา จากการปี๊แปะ
    และที่สำคัญยังคือไร้ความสามารถใดๆที่เป็นผลที่ได้จริงจากการปฏิบัติ
    ซึ่งเป็นการชี้วัดการปฏิบัติของบุคคลผู้นั้นได้

    แต่มีความมั่นใจหรือเกินว่า ที่ตนปฏิบัติได้ระดับแบบเด็กที่ยังอยู่ในครรภ์
    นั่นยิ่งใหญ่มากมายเหลือเกิน
    จะมาอ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายๆหรอกครับ..
    เพราะว่ามันเป็นนัยยะครับ
    เขียนเอาไว้ ให้คนที่ปฏิบัติแบบไม่หลงทาง
    มาอ่าน ไม่ใช่เขียนให้คุณอ่านแล้วเข้าใจหรอกครับ

    และมันเรื่องเป็นธรรมดาที่คนปฏิบัติทั้งชาตินี้
    ที่ไม่มีวันที่จะไปถูกทาง และจะหลงทางตลอดชาตินี้
    จะอ่านแล้วเข้าใจได้หรอกครับ...


    ปล.ส่วนตัวไม่แปลกใจอะไรหรอกครับ ที่คุณจะตีความเพื่อแสดง
    ความฉลาดน้อยที่เค้ารู้กันทั้งเวบนี้
    พูดง่ายๆก็คือแบบโง่ๆอย่างนี้หละครับ จบนะ...อิอิ
    เคยบอกแล้ว ว่าไม่อยากคุยด้วย
    ดันเจือกมาอ้างอิงอยู่ได้...จบจริงๆนะ คริคริ
     
  17. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    เอ้ามาว่าเราเจือกอีก ก็ตัวเองเจือกก่อนนิ อิอิ

    ถามเกือบร้อยครั้งแล้วว่า อาจารย์นพ ปฏิบัติยังไง บอกหน่อยเถิด ก็ไม่ตอบสักที เห็นแต่ทอดแหคลุมไปทั่ว

    ถามอีกทีให้ครบ 100 ส่วนตัวคุณนพปฏิบัติยังไงเอาชัดๆ สาธุ สาม ครั้ง ป้าบ ป้าบ ป้าบ:p
     
  18. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,425
    ค่าพลัง:
    +35,019
    กระทู้สาธารณะ ใครจะโพสก็ได้นะครับ
    คุณเป็นเจ้าของเวบนี้หรือครับ อย่าโชว์โง่อีกนะ
    เพียงแต่มารยาท ในการโพส บอกกำพืด(กมลสันดาน)
    และการปฏิบัติของตน
    ที่บอกว่า เจือก คือ มาอ้างอิงคำพูดคนอื่นๆเค้าก่อนนะครับ
    เจือก คือไปยุ่งกับคนอื่นๆเค้าก่อน..

    ตรรกะคงไม่มีเนาะ เลยไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้
    จะมาถามคนอื่นๆว่าปฏิบัติอย่างไร
    เพื่อจะเอาไปก๊อบแป๊ะเวบที่ตนดูแล
    หรือไม่ก็จะโชว์โง่เอาตำรามากล่าวหาว่าคนอื่นๆปฏิบัติผิดๆ
    ทั้งที่ตัวเอง ไม่มีความสามารถเข้าถึงได้ซักกรรมฐานกองเดียวใน ๔๐ กอง

    พุทธศาสนา เป็นการเรียนรู้ทางจิตทางนามธรรมนะครับ
    เน้นที่อายตนะทางจิต
    ไม่ใช่ ทางตาอ่านเอา ทางหูฟังเอา
    แต่เพียงฝ่ายเดียว แล้วมามโนสญานเอานะครับ...

    คนฉลาด และปฏิบัติจริง จะอ่านที่แนะนำแล้วพอเข้าใจ
    ว่าใครปฎิบัติมาอย่างไร
    คนโง่อวดฉลาด อ่านอย่างไร
    ก็ไม่เข้าใจ และคิดว่าตนเก่งกว่า ทั้งที่ไร้ความสามารถใดๆ
    ไม่มีความเข้าใจการปฏิบัติที่ถ่ายทอดเป็นคำพูดหรอกครับ

    พูดไปเหมือนสีซอ ให้กระบือฟัง
    แต่แปลกจัง กระบือก็ยังพยายามโชว์โง่
    ก๊อปปี๊แปะ ไปเรื่อยๆ และยัง
    ที่จะอยากฟังอยู่เรื่อยไป.....
    ทั้งๆที่พูดให้ฟัง ก็เข้าไม่ถึงซักเรื่อง

    ปล. กระบือแท้ ไม่มีอะไรปน ได้มาเพราะฝีมือล้วนๆ
     
  19. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494

    เราก็นึกว่ามีอะไร เห็นพิมพ์มาเยอะแยะ อ่านตั้งนาน ที่แท้มีแต่สันดานเดิมเท่านั้น :)

    อ้อ จะว่าไม่มีเสียทีเดียวก็ไม่ได้ มีอ้างกัมมัฏฐาน ๔๐ กองหน่อย คิกๆๆ

    ถามอีกติ๊ดนึง กรรมฐานนี่ หมายถึงยังไงอ่ะ เอาตามความเข้าใจของท่านอาจารย์นพเคราะห์เอง เอ้าตอบช้าๆชัดๆ :p
     
  20. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494

    คุณนพเขาเป็นอะไร แล้วจะทำยังไง ไหนว่าไปสิ


    นั่งสมาธิแล้วเหมือนร่างกายถูกกรีด

    หนูเป็นคนหนึ่งที่นั่งสมาธิเป็นประจำ โดยอาจจะไม่ถูกวิธีเท่าไรนักเพราะหาหนังสือจากที่มีหลายท่านเขียนเอาไว้ และก็ไม่เคยไปสถานปฏิบัติธรรมที่ไหนเลย ส่วนใหญ่จะศึกษาหาข้อมูลเองเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ซึ่งใช้เวลาในการนั่งสมาธิแต่ละครั้ง ก็ประมาณ ครึ่ง-หนึ่ง ชั่วโมงต่อวันค่ะ บางวันถ้าเวลามีน้อยจริงๆก็ประมาณ 15 นาทีค่ะ ตอนนั่งสมาธิก็ไม่เคยมีอาการอะไรให้เห็นค่ะ เพียงแค่จิต ใจสงบมากขึ้นเท่านั้น หลังจากออกจากสมาธิก็สวดมนต์ไหว้พระและแผ่เมตตา ทุกครั้ง แล้วก็เข้านอน

    มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หลังจากนั่งสมาธิแล้ว แล้วกำลังจะนอนพอหลับตา เพื่อจะนอนซักพัก ซึ่งจะอยู่ในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่นจะรู้สึกเหมือนร่าง กายถูกของมีคมกรีดทั้งร่างเลยค่ะ หลังจากนั้นจะมีอาการตัวลอยขึ้นสูงมาก เหมือนจะสูงกว่าหลังคา บ้านซะอีก ตอนนั้นรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาเลยค่ะ แต่รู้สึกตัวแบบเบลอๆ ทั้งๆที่ก็นอนหลับตาอยู่ คล้ายๆกับกำลังฝัน แต่ไม่ได้ฝันค่ะ หลังจากนั้นตัวก็ลอยกลับลงมาที่เดิม แล้วรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในก้อน น้ำแข็งขนาดใหญ่ รู้สึกว่ามันเย็นมาก จนต้องลืมตาแล้วต้องไปหาผ้าห่มมาห่มเพิ่มหลายผืนเพราะหนาวมาก คิดอยู่ตลอดว่าเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น คิดจนหลับไป

    บางครั้งพอหลับตากำลังจะนอนซึ่งก็อยู่ในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่นอีกนั่นแหละ ก็รู้สึกสว่างจ้าเหมือนมีคนเอาไฟสปอร์ทไลท์ดวงใหญ่ๆมาส่องที่หน้า ขณะที่กำลังนอนค่ะ

    พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า รู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตเบื่อหน่ายโลกเหมือนอยากตัดขาดจากโลกไปเลยค่ะ แต่ รู้สึกแบบสงบๆนะคะ.. และก็เป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง อยากทราบว่าอาการที่ว่านั้นเกิดจากอะไร เกี่ยวข้องกับการนั่งสมาธิหรือเปล่า
     

แชร์หน้านี้

Loading...