ประวัติวัดศิริวัฒนาราม และตำนานศาลแม่โพสพ ตลิ่งชัน

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย bu142, 14 เมษายน 2013.

  1. bu142

    bu142 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    8
    ค่าพลัง:
    +8
    คำปรารภ
    ข้าพเจ้า นายยศวัฒน์ ธนโชคนัจนันทน์ ข้าราชการบำนาญครูกรุงเทพมหานคร และ สข.นันท์นภัส ธนโชคนัจนันทน์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ประวัติของวัดศิริวัฒนารามและประวัติแม่โพสพ ควรจะได้จารึกไว้เพื่อให้คนรุ่นหลัง รุ่นลูกรุ่นหลานได้ทราบประวัติความเป็นมาของวัดศิริวัฒนารามและประวัติความเป็นมาของแม่โพสพ เพราะคนในยานนี้จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ยิ่งในสมัยก่อนคนในย่านนี้จะประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก จึงเห็นความสำคัญของแม่โพสพมาก คนโบราณเชื่อว่าแม่โพสพคือเทพธิดาหรือเทวีแห่งข้าว จึงมีประเพณีทำขวัญข้าวทุกๆภาค ทุกๆจังหวัดที่มีการปลูกข้าวจะมีการทำขวัญข้าวทุกที่ ประวัติของวัดและประวัติของแม่โพสพได้รับการถ่ายทอดเล่าขานมาจากผู้ใหญ่หลายท่านที่มีอายุเกือบร้อยปี เช่น แม่บุญชู ขาวเจริญ อายุ 95 ปี น้าช่วย ปานพรหม อายุ 90 ปี คุณสายัณห์ มาเลิศ อายุ 73 ปี และผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ข้อมูลของวัดได้รับความอนุเคราะห์จากท่านเจ้าอาวาส พระอธิการเฉลิม ธนิสสโร พระอาจารย์พิเชษฐ์ ตลอดถึงคณะกรรมการของวัดอีกหลายท่าน หากท่านที่มีความรู้ในรายละเอียดมากกว่านี้ก็สามารถส่งรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วัดหรือที่นายยศวัฒน์ ธนโชคนัจนันทน์ โทร 080-559-1566 จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง เพื่อการรวบรวมประวัติของวัดและประวัติแม่โพสพจะได้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ยศวัฒน์ ธนโชคนัจนันทน์ 17/4/55

    ประวัติวัดศิริวัฒนาราม
    วัดศิริวัฒนาราม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 61/1 หมู่ 2 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 บนเนื้อที่ 9 ไร่ กับ 67 ตารางวา โดยมีพระอธิการเฉลิม ธนิสสโร (เฟื่องฟู) เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เดิมที่ของวัดเป็นของนายถินและนางแก้ว ต่อมานายถินและนางแก้วได้ยกที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ นางสาวศิริ หยุนแดง ภายหลังนางสาวศิริ หยุนแดง ได้ถวายที่ดินผืนนี้ จำนวน 9 ไร่ กับ 67 ตารางวา ว่าเป็นธรณีสงฆ์ เพื่อขอพระราชทานเป็นเขตวิสุงคามสีมายกระดับจากสำนักสงฆ์เป็นวัดต่อไป เมื่อประมาณ พ.ศ.2517 และได้ตั้งชื่อว่า “วัดศิริวัฒนาราม” ตามชื่อของผู้บริจาคให้วัด ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2539 – 2540 ทางวัดได้จัดงานผูกพัทธเสมาและตัดหวายลูกนิมิต ในสมัยเจ้าอาวาสปัจจุบัน
    ตั้งแต่เริ่มเป็นสำนักสงฆ์จนถึงปัจจุบันมีเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดนี้มาจนถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน จำรวน 8 รูปด้วยกันคือ
    1.พระอาจารย์จรูญ (พ.ศ. 2517) มาจากวัดเพลงกลางสวน
    2.พระอาจารย์จ้อย (พ.ศ. 2519)
    3.พระอาจารย์ไสว (ปัจจุบันจำพรรษาอยู่วัดบางสะแกใน)
    4.พระอาจารย์เสถียร (ประมาณ พ.ศ. 2524 - 2527)
    5.พระอาจารย์น้อย (ประมาณ พ.ศ. 2528 - 2529)
    6.พระอาจารย์บุญมาก (ประมาณ พ.ศ. 2530 - 2533)
    ผู้วางรากฐาน และวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ
    7.พระอาจารย์อาจ (ประมาณ พ.ศ. 2533 - 2535)
    เริ่มก่อสร้างอุโบสถจนเกือบเสร็จและทำพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ
    8.พระอธิการเฉลิม ธนิสสโร (เฟื่องฟู)
    เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (พ.ศ. 2536 - 2555)
    มีผลงานปรากฏดังนี้
    - จัดงานฝังลูกนิมิต พ.ศ. 2539
    - สร้างกุฏิสงฆ์(ต่อ)
    - สร้างวิหารที่ประทับของแม่โพสพ
    - สร้างศาลาคตประดิษฐานพระพุทธรูป
    - สร้างวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป
    - สร้างซุ้มวัด
    - สร้างศาลาท่าน้ำ
    - ต่อเติมศาลาคู่กับศาลาท่าน้ำเป็น 2 ชั้น
    - สร้างกำแพงวัดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
    - สร้างสุขาด้านนอก
    - สร้างศาลาไม้

    ประวัติแม่โพสพ
    จากคำบอกเล่าของแม่บุญชู ขาวเจริญ อายุ 95 ปี น้าช่วย ปานพรม อายุ 90 ปี คุณสายัณห์ มาเลิศ 73 ปี และคุณณรงค์ ขาวเจริญ พระอธิการเฉลิม ธนิสสโร พระพิเชษฐ์ และคระกรรมการของวัดหลายท่านได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เมื่อประมาณ 120 ปีมาแล้ว มียายแฟงและตาเหล็ง ได้นำข้าวสารไปแช่เพื่อทำขนนมจีน ปรากฏว่าข้าวสารที่แช่ไว้เกิดงอกขึ้นมาเป็นน่าอัศจรรย์ ยายแฟงและตาเหล็งเกิดศรัทธาคิดจะสร้างรูปแม่โพสพ (บางท่านว่า นำข้าวสารที่งอกไปบรรจุไว้ในองค์แม่โพสพ) และเริ่มมีประเพณีแห่แม่โพสพทางเรือในเดือน 6 กล่าวกันว่าเมื่อมีการจัดงานแห่แม่โพสพจะมีฝนตกหนักจนพื้นที่จัดงานที่เป็นดินเฉอะแฉะชาวบ้านนำฟางข้าว(ซังปี่) หรือซังข้าว มาปูนั่ง ปัจจุบันไม่มีการแห่ทางเรือ แต่จัดที่วัดในเดือนมีนาคม เมื่อเริ่มสร้างแม่โพสพมีประเพณีการทำขวัญข้าว ในขณะทำขวัญข้าวแม่โพสพก็จะเนรมิตวงข้าวเป็นสาวสวย มีผู้ชายไปกอด ท่านแสดงอภินิหารพูดว่า “กอดกูทำไม” แล้วเนรมิตสาวสวยเป็นคนแก่ และเกลียดผู้ชายมาก ต่อมาตาเสาและยายเคลิ้ม ได้สร้างศาลใหม่แทนศาลเก่าที่พังไปและเนื่องจากศาลเก่าหลังที่ 1 เล็กและแคบไป รวมถึงสถานที่ไม่เหมาะที่จะจัดงานจึงสร้างศาลาหลังที่ 2 (เป็นหลังปัจจุบัน) มักจะเกิดเหตุอัศจรรย์เสมอเมื่ออัญเชิญแม่โพสพออกมาเพื่อจัดงานฝนก็จะตกทุกครั้งทั้งๆ ที่ดูแล้วไม่มีเค้าว่าจะมีฝน เดิมที่จัดงานแม่โพสพจะนิมนต์พระสงฆ์มารับบาตรถึง 4 วัดด้วยกัน บริเวณที่จัดงานใกล้ศาลแม่โพสพหลังที่ 2 โดยชาวบ้านจะร่วมกันจัดทำโรงพิธีโดยใช้ทางมะพร้าวมาปักทำเมื่อฝนตกหนักก็จะนำฟางข้าวแห้งๆ (ซังปี่) หรือซังข้าวไปปูพื้นรองนั่งในการทำพิธีและจัดงานบูชาแม่โพสพ ชาวบ้านจะร่วมใจกันนำข้าวสารมารวมกันครั้งหนึ่งๆ จะได้ประมาณ 80 ถัง จากนั้นก็จะขายเพื่อนำเงินมาบำรุงศาลและเก็บไว้เป็นกองทุนสำรองในการจัดงานครั้งต่อไป ต่อมาเมื่อประมาณปี 2522 พวกมิจฉาชีพได้ทำการโจรกรรมแม่โพสพไป ชาวบ้านประกอบด้วย หมอมานพ แก้วคำ (หมอเปีย) น้าช่วย ปานพรหม น้าโอ่ง คุณสายัณห์ มาเลิศ ได้ร่วมกันสร้างแม่โพสพองค์ใหม่ขึ้นมาแทนองค์เก่าที่ถูกโจรกรรมไป โดยใช้แบบของเดิทที่สร้างไว้เป็นองค์เล็กสำหรับบูชาที่บ้านมาทำเป็นแบบสร้างองค์ใหญ่ที่โรงหล่อพระ และนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลาตรีมุขวัดศิริวัฒนาราม ตอนทำพิธีสร้างแม่โพสพองค์ใหม่ ต้องใช้สาวพรหมจาร 4 คน ประจำ 4 ทิศ ในการจัดงานบูชาแม่โพสพทางวัดกำหนดในเดือนมีนาคมของทุกปี มีเกร็ดเสริมตอนท้ายเกี่ยวกับอภินิหารของแม่โพสพว่า มีพระบวชใหม่พูดชมแม่ว่า “ถันของแม่โพสพสวย” เลยทำให้ปากบวมทันที ภายหลังต้องไปขอขมาท่านปากจึงหายบวม
    ขอขอบคุณท่าที่ให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับประวัติวัดและประวัติแม่โพสพดังนี้
    1.พระอธิการเฉลิม ธนิสสโร
    2.พระอาจารย์พิเชษฐ์
    3.คุณแม่บุญชู ขาวเจริญ
    4.น้าช่วย ปานพรม
    5.คุณสายัณห์ มาเลิศ
    6.คุณณรงค์ ขาวเจริญ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 เมษายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...