ประสบการณ์ปฏิบัติของท่านสันตินันท์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย พลังใจพิชิตภัยพิบัติ, 28 กันยายน 2008.

  1. พลังใจพิชิตภัยพิบัติ

    พลังใจพิชิตภัยพิบัติ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2008
    โพสต์:
    32
    ค่าพลัง:
    +94
    ผมลังเลใจอยู่นานที่จะเล่าถึงการปฏิบัติธรรมของตนเองเพราะมันเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถ้าใครตั้งใจปฏิบัติก็ทำกันได้ แต่ด้วยความเคารพในคำสั่งของครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง คือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน ที่ท่านสั่งให้เขียนเรื่องนี้ออกเผยแพร่ ผมจึงต้องปฏิบัติตาม โดยเขียนเรื่องนี้ให้ท่านอ่าน
    ผมเป็นคนวาสนาน้อย ไม่เคยรู้เรื่องพระธุดงคกรรมฐานอย่างจริงจังมาก่อน จนแทบจะละทิ้งพระพุทธศาสนาไปแล้ว เพราะเกิดตื่นเต้นกับลัทธิวัตถุนิยม แต่แล้ววันหนึ่ง ผมได้พบข้อธรรมสั้นๆ บทหนึ่งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ มีสาระสำคัญว่า

    "จิตส่งออกนอกคือสมุทัย มีผลเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค มีผลเป็นนิโรธ"

    ผมเกิดความซาบซึ้งจับจิตจับใจ และเห็นจริงตามว่า ถ้าจิตไม่ออกไปรับความทุกข์แล้ว ใครกันล่ะที่จะเป็นผู้ทุกข์

    จิตใจของผมมันยอมรับนับถือหลวงปู่ดูลย์เป็นครูบาอาจารย์ตั้งแต่นั้น
    ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2525 ผมมีโอกาสด้นดั้นไปนมัสการหลวงปู่ดูลย์ที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อไปถึงวัดของท่านแล้ว เกิดความรู้สึกกลัวเกรงเป็นที่สุด เพราะท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ และไม่เคยรู้จักอัธยาศัยของท่านมาก่อน ประกอบกับผมไม่คุ้นเคยที่จะพบปะพูดจากับพระผู้ใหญ่มาก่อนด้วย จึงรีรออยู่ห่างๆ นอกกุฏิของท่าน

    ขณะที่รีรออยู่ครู่หนึ่งนั้น หลวงปู่ดูลย์เดินออกมาจากกุฏิของท่าน มาชะโงกมองดูผม ผมจึงรวบรวมความกล้าเข้าไปกราบท่านซึ่งถอยกลับไปนั่งเก้าอี้โยกที่หน้าประตูกุฏิ แล้วเรียนท่านว่า "ผมอยากภาวนาครับหลวงปู่"

    หลวงปู่หลับตานิ่งเงียบไปเกือบครึ่งชั่วโมง พอลืมตาท่านก็แสดงธรรมทันทีว่า การภาวนานั้นไม่ยาก แต่มันก็ยากสำหรับผู้ไม่ภาวนา ขั้นแรกให้ภาวนา "พุทโธ" จนจิตวูบลงไป แล้วตามดูจิตผู้รู้ไป จะรู้อริยสัจจ์ 4 เอง (หลวงปู่ท่านสอนศิษย์แต่ละคนด้วยวิธีที่แตกต่างกันตามจริตนิสัย นับว่าท่านมีอนุสาสนีปาฏิหารย์อย่างสูง) แล้วท่านถามว่าเข้าใจไหม ก็กราบเรียนว่าเข้าใจ ท่านก็บอกให้กลับไปทำเอา

    พอขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพเกิดเฉลียวใจขึ้นว่า ท่านให้เราดูจิตนั้นจะดูอย่างไร จิตมันเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนและจะเอาอะไรไปดู ตอนนั้นชักจะกลุ้มใจไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆจนจิตสงบลง แล้วพิจารณาว่าจิตจะต้องอยู่ในกายนี้แน่ หากแยกแยะเข้าไปในขันธ์ 5 ถึงอย่างไรก็ต้องเจอจิต จึงพิจารณาเข้าไปที่รูปว่าไม่ใช่จิต รูปก็แยกออกเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น หันมามองเวทนาแล้วแยกออกเป็นอีกส่วนหนึ่ง ตัวสัญญาก็แยกเป็นอีกส่วนหนึ่ง จากนั้นมาแยกตัวสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่ง โดยนึกถึงบทสวดมนต์ เห็นความคิดบทสวดมนต์ผุดขึ้น และเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ถึงตอนนี้ก็เลยจับเอาตัวจิตผู้รู้ขึ้นมาได้
    หลังจากนั้น ผมได้ตามดูจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถรู้ว่า ขณะนั้นเกิดกิเลสขึ้นกับจิตหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นและรู้ทัน กิเลสมันก็ดับไปเอง เหลือแต่จิตผู้รู้ ซึ่งรู้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆอย่างเป็นอิสระจากกิเลส และอารมณ์ต่างๆ ต่อมาภายหลังผมได้หาหนังสือธรรมะมาอ่าน จึงรู้ว่าในทางปริยัติธรรมจัดเป็นการจำแนกรูปนาม จัดเป็นการเจริญวิปัสสนาแล้ว แต่ในเวลาปฏิบัตินั้น จิตไม่ได้กังวลสนใจว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นใด
    ปฏิบัติอยู่ 3 เดือน จึงไปรายงานผลกับหลวงปู่ดูลย์ว่า "ผมหาจิตเจอแล้ว จะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป"

    คราวนี้ปรากฏว่าท่านแสดงธรรมอันลึกซึ้งมากมาย เกี่ยวกับการถอดถอนทำลายอุปาทานในขันธ์ 5 ท่านสอนถึงกำเนิดและการทำงานของจิตวิญญาณ จนถึงการเจริญอริยมรรค จนมีญาณเห็นจิตเหมือนมีตาเห็นรูป
    ท่านสอนอีกว่า เมื่อเราดูจิต คือตามรู้จิตเรื่อยๆ ไปนั้น สิ่งปรุงแต่งจะดับไปตามลำดับ จนถึงความว่าง

    แต่ในความว่างนั้นยังไม่ว่างจริง มันมีสิ่งละเอียดเหลืออยู่คือวิญญาณ ให้ตามรู้จิตเรื่อยๆ ไป ความยึดในวิญญาณจะถูกทำลายออกไปอีก แล้วจิตจริงแท้หรือพุทธะ(หลวงปู่เทสก์เรียกว่าใจ) จึงปรากฎออกมา

    คำสอนครั้งนี้ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนฝนตกทั่วฟ้า แต่ภูมิปัญญาของผมมีจำกัด จึงรองน้ำฝนไว้ได้เพียงถ้วยเดียว คือได้เรียนถามท่านว่า "ที่หลวงปู่สอนมาทั้งหมดนี้ หากผมจะปฏิบัติด้วยการดูจิตไปเรื่อยๆจะพอไหม"

    หลวงปู่ดูลย์ตอบว่า "การปฏิบัติก็มีอยู่เท่านั้นแหละ แม้จะพิจารณากายหรือกำหนดนิมิตหมายใดๆ ก็เพื่อให้ถึงจิตถึงใจตนเองเท่านั้น นอกจากจิตแล้วไม่มีสิ่งใดอีก พระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ก็รวมลงที่จิตตัวเดียวนี้เอง
    หลังจากนั้นผมก็เพียรดูจิตเรื่อยๆ มา มีสติเมื่อใดดูเมื่อนั้น ขาดสติแล้วก็แล้วกันไป นึกขึ้นได้ก็ดูใหม่ เวลาทำงานก็ทำไป พอเหนื่อยหรือเครียดก็ย้อนดูจิต เลิกงานแล้วแม้มีเวลาเล็กน้อยก็ดูจิต ดูอยู่นั่นแหละ ไม่นานก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
    วันหนึ่งของอีก 4 เดือนต่อมา ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นปลายเดือนกันยายน 2525 ได้เกิดพายุพัดหนัก ผมออกจากที่ทำงานเปียกฝนไปทั้งตัว และได้เข้าไปหลบฝนอยู่ในกุฏิพระหลังหนึ่งในวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ได้นั่งกอดเข่ากับพื้นห้องเพราะไม่กล้านั่งตามสบายเนื่องจากตัวเราเปียกมากกลัวกุฏิพระจะเลอะมาก พอนั่งลงก็เกิดเป็นห่วงร่างกายว่า ร่างกายเราไม่แข็งแรง คราวนี้คงไม่สบายแน่
    สักครู่ก็ตัดใจว่า ถ้าจะป่วยมันก็ต้องป่วย นี่กายยังไม่ทันป่วยใจกลับป่วยเสียก่อนแล้วด้วยความกังวล พอรู้ตัวว่าจิตกังวลผมก็ดูจิตทันที เพราะเคยฝึกดูจนเป็นนิสัยแล้ว
    ขณะนั้นนั่งกอดเข่าลืมตาอยู่แท้ๆ แต่ประสาทสัมผัสทางกายดับหายไปหมด โลกทั้งโลก เสียงฝน เสียงพายุหายไปหมด เหลือแต่สติที่ละเอียดอ่อนประคองรู้อยู่เท่านั้น (ไม่รู้ว่ารู้อะไรเพราะไม่มีสัญญา)
    ต่อมามันมีสิ่งละเอียดๆ ผ่านมาสู่ความรับรู้ของจิตเป็นระยะๆแต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะจิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายใดๆ
    ต่อมาจิตมีอาการไหวดับวูบลง สิ่งที่ผ่านมาให้รู้ดับไปหมดแล้ว แล้วก็รู้ชัดเหมือนตาเห็นว่า ความว่างที่เหลืออยู่นั้น ถูกแหวกพรวดอย่างรวดเร็วและนุ่มนวลออกไปอีก กลายเป็นความว่างที่บริสุทธิ์หมดจดอย่างแท้จริง
    ในความว่างนั้น จิตซึ่งเป็นอิสระแล้วได้อุทานขึ้นว่า "เอ๊ะ จิต ไม่ใช่เรานี่"
    จากนั้นจิตได้มีอาการปิติยินดี ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น พร้อมๆ กับเกิดแสงสว่างโพลงขึ้นรอบทิศทาง จากนั้นจิตจึงรวมสงบลงอีกครั้งหนึ่งแล้วถอนออกจากสมาธิ เมื่อความรับรู้ต่างๆ กลับมาสู่ตัวแล้ว ถึงกับอุทานในใจ(จิตไม่ได้อุทานอย่างทีแรก)ว่า "อ้อ ธรรมะเป็นอย่างนี้เอง เมื่อจิตไม่ใช่ตัวเราเสียแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่เป็นตัวเราอีกต่อไป"
    เมื่อผมไปกราบหลวงปู่ดูลย์ และเล่าเรื่องนี้ให้ท่านทราบ พอเล่าว่าสติละเอียดเหมือนเคลิ้มๆ ไป ท่านก็อธิบายว่า จิตผ่านฌานทั้ง 8
    ผมได้แย้งท่านตามประสาคนโง่ว่า ผมไม่ได้หัดเข้าฌาน และไม่ได้ตั้งใจจะเข้าฌานด้วย
    หลวงปู่ดูลย์อธิบายว่า ถ้าตั้งใจก็ไม่ใช่ฌาน และขณะที่จิตผ่านฌานอย่างรวดเร็วนั้น จิตจะไม่มานั่งนับว่ากำลังผ่านฌานอะไรอยู่ การดูจิตนั้นจะได้ฌานโดยอัตโนมัติ (หลวงปู่ไม่ชอบสอนเรื่องฌาน เพราะเห็นเป็นของธรรมดาที่จะต้องผ่านไปเอง หากสอนเรื่องนี้ ศิษย์จะมัวสนใจฌานทำให้เสียเวลาปฏิบัติ)

    พอผมเล่าว่าจิตอุทานได้เอง หลวงปู่ก็บอกอาการต่างๆ ที่ผมยังเล่าไม่ถึงออกมาตรงกับที่ผมผ่านมาแล้วทุกอย่าง แล้วท่านก็สรุปยิ้มๆว่า จิตยิ้มแล้ว พึ่งตัวเองได้แล้ว ถึงพระรัตนตรัยแล้ว ต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องมาหาอาตมาอีก
    แล้วท่านแสดงธรรมเรื่อง จิตเหนือเหตุ หรือ อเหตุกจิต ให้ฟังมีใจความว่า อเหตุกจิต มี 3 ประการคือ

    1. ปัญจทวารวัชนจิต ได้แก่ความไหวตัวของจิตขึ้นรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
    2. มโนทวารวัชนจิต ได้แก่ความไหวตัวของใจขึ้นรับรู้อารมณ์ทางใจ
    3. หสิตุปปาท หรือจิตยิ้ม เป็นการแสดงความเบิกบานของจิตที่ปราศจากอารมณ์ปรุงแต่ง เพื่อแสดงความมีอยู่ของจิตซึ่งไม่มีตัวตนให้ปรากฏออกมาสู่ความรับรู้
    อเหตุกจิต 2 อย่างแรกเป็นของสาธารณะ มีทั้งในปุถุชนและพระอริยเจ้า แต่จิตยิ้มเป็นโลกุตรจิต เป็นจิตสูงสุด เกิดขึ้นเพียง 3 - 4 ครั้งก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์
    หลังจากนั้นผมก็ปฏิบัติด้วยการดูจิตเรื่อยมา และเห็นว่าเวลามีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย จะมีคลื่นวิ่งเข้าสู่ใจ หรือบางครั้งก็มีธรรมารมณ์เป็นคลื่นเข้าสู่ใจ
    หากขณะนั้นขาดสติ จิตจะส่งกระแสไปยึดอารมณ์นั้น ตอนนั้นจิตยังไม่ละเอียดพอ ผมเข้าใจว่าจิตวิ่งไปยึดอารมณ์แล้วขยับๆ ตัวเสวยอารมณ์อยู่จึงไปเรียนให้หลวงปู่ดูลย์ทราบ
    ท่านกลับตอบว่า จิตจริงแท้ไม่มีการไป ไม่มีการมา
    ผมได้มาดูจิตต่ออีกสักครึ่งปีต่อมา วันหนึ่งจิตผ่านเข้าสู่อัปปนาสมาธิและเดินวิปัสสนา คือมีสิ่งให้รู้ผ่านมาสู่จิต แต่จิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าคือสิ่งใด จากนั้นเกิดอาการแยกความว่างขึ้นแบบเดียวกับเมื่อจิตยิ้ม คราวนี้จิตพูดขึ้นเบาๆว่า จิตไม่ใช่เรา แต่ต่อจากนั้นแทนที่จิตจะยิ้ม จิตกลับพลิกไปสู่ภูมิของสมถะ ปรากฏนิมิตเป็นเหมือนดวงอาทิตย์โผล่ผุดขึ้นจากสิ่งห่อหุ้ม แต่โผล่ไม่หมดดวง เป็นสิ่งแสดงให้รู้ว่ายังไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ
    ปรากฏการณ์นี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การดำเนินของจิตในขั้นวิปัสสนานั้นหากสติอ่อนลง จิตจะวกกลับมาสู่ภูมิของสมถะ และวิปัสสนูปกิเลสจะแทรกเข้ามาตรงนี้ถ้าไม่กำหนดรู้ให้ชัดเจนว่า วิปัสสนาพลิกกลับเป็นสมถะไปแล้ว นักปฏิบัติจึงต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยพบกับจิตยิ้ม(สำนวนของหลวงปู่ดูลย์) หรือใจ (สำนวนของหลวงปู่เทสก์) หรือจิตรวมใหญ่(สำนวนของท่านอาจารย์สิงห์)
    เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ว่า ดีแล้ว ให้ดูจิตต่อไป
    ผมก็ทำเรื่อยๆ มา ส่วนมากเป็นการดูจิตในชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยได้นั่งสมาธิแบบเป็นพิธีการ ต่อมาอีก 1 เดือน วันหนึ่งขณะนั่งสนทนาธรรมอยู่กับน้องชาย จิตเกิดรวมวูบลงไป มีการแยกความว่างซึ่งมีขันธ์ละเอียด(วิญญาณขันธ์)ออกอีกทีหนึ่ง แล้วจิตก็หัวเราะออกมาเองโดยปราศจากอารมณ์ (ร่างกายไม่ได้หัวเราะ) มันเป็นการหัวเราะเยาะกิเลสว่า มันผูกมัดมานาน ต่อๆ ไป จิตจะเป็นอิสระยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
    เหตุการณ์นี้ทำให้ได้ความรู้ชัดว่า ทำไมเมื่อครั้งพุทธกาล จึงมีผู้รู้ธรรมในขณะฟังธรรมเกิดขึ้นได้เป็นจำนวนมาก
    ผมนำเรื่องนี้ไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ คราวนี้ท่านไม่ได้สอนอะไรอีกเพียงแต่ให้กำลังใจว่า ให้พยายามทำให้จบเสียแต่ในชาตินี้ หลังจากนั้นไม่นานท่านก็มรณภาพ

    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์อีกรูปหนึ่ง เคยสั่งให้ผมเขียนเรื่องการปฏิบัติของตนเองออกเผยแพร่ เพราะอาจมีผู้ที่มีจริตคล้ายๆ กันได้ประโยชน์บ้าง ผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อสนองคำสั่งครูบาอาจารย์ และเพื่อรำลึกถึงหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ผู้เปี่ยมด้วยอนุสาสนีปาฏิหารย์ รวมทั้งหวังว่าจะเป็นประโยชน์สักเล็กน้อย สำหรับท่านที่กำลังแสวงหาหนทางปฏิบัติอยู่

    ที่มา www.geocities.com/Tokyo/Gulf/4126/story0001.html
    ----------------

    ท่านสันตินันท์ปัจจุบันคือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช ครับ

    [​IMG] [​IMG]

    ที่มา http://i22.photobucket.com/albums/b326/sasitorn/P1010015.jpg
    www.oknation.net/<WBR>blog/print.php?id=174638
     
  2. พลังใจพิชิตภัยพิบัติ

    พลังใจพิชิตภัยพิบัติ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2008
    โพสต์:
    32
    ค่าพลัง:
    +94
    โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 09:46:56

    วันนี้เป็นวันครบรอบ 18 ปี ที่ผมได้ไปศึกษาธรรมกับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

    ตลอด 18 ปีมานี้ ไม่มีวันใดเลย ที่ผมไม่ได้ทำตามคำสอนของท่าน

    และไม่มีวันใดเลย ที่จะไม่ระลึกถึงท่านด้วยความเคารพนอบน้อม



    โอวาทธรรมที่ท่านสอนให้คราวนั้นก็คือ อริยสัจจ์แห่งจิต

    ความว่า

    จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย

    ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอก เป็นทุกข์

    จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค

    ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ



    ทุกวันนี้ มีผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ท่านสอนกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ

    หลายคนที่เพียงเริ่มปฏิบัติไม่นานก็ได้พบว่า

    ชีวิตจิตใจของตนได้พบความสงบสุข อันเนื่องมาจากความรู้เท่าทันกิเลสตัณหา

    ผู้ไม่เคยมีศีล ก็มีศีลโดยอัตโนมัติ

    ผู้ไม่เคยมีสมาธิ ก็มีสมาธิโดยอัตโนมัติ

    ผู้ไม่มีปัญญา ก็มีปัญญาประจักษ์ถึงความเกิดดับของอารมณ์ทั้งปวง ต่อหน้าต่อตา

    ล้วนเป็นพยานยืนยันในคำสอนของท่าน ที่หนักแน่นมั่นคงยิ่งกว่าคำโฆษณาใดๆ



    ************************************



    เมื่อกล่าวถึงการดูจิตแล้ว นักดูจิตน้องใหม่มักจะสงสัยและถามกันมากว่า

    การดูจิตนั้น แท้ที่จริงคือการดูอะไร

    เพราะจิตนั่นแหละเป็นผู้รู้ จะใช้ผู้รู้ ูไปดูผู้รู้ ได้อย่างไรกัน



    กระทั่งผู้ฝึกหัดปฏิบัติไปบ้างแล้ว หากยังไม่ "เข้าใจ"

    (คือรู้ด้วยจิตด้วยใจตนเอง ไม่ใช่รู้ด้วยสมองหรือสัญญาความจำ)

    บางครั้งก็ยังอาจสับสนขึ้นเป็นคราวๆ ได้ว่า

    ที่ตนดูอยู่นั้น ถูกต้องแล้วหรือยัง



    ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูจิตให้ชัดเจนขึ้น

    โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่บรรดาน้องใหม่ทั้งหลาย

    ส่วนรุ่นพี่ที่แก่วัด(หมายถึงชำนาญการวัดจิตใจตนเอง) แล้ว

    ถือว่าเป็นของอ่านเล่นก็แล้วกันครับ



    ***********************************



    สรุปย่อเกี่ยวกับขั้นตอนของการดูจิต



    สิ่งที่เราต้องรู้ ต้องดู ในระหว่างการปฏิบัติธรรม

    ประกอบด้วย 1. อารมณ์(ของจิต) 2. อาการ(ของจิต) และ 3. จิต



    เริ่มต้นด้วยการรู้ อารมณ์ ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

    อารมณ์นั้น ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์หรืออารมณ์ทางใจ

    เมื่อรู้อารมณ์แล้ว จะเห็นชัดเจนว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

    และเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั้น

    จิตจะมี อาการ หรือมีปฏิกิริยาต่อการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์อยู่เสมอ

    เป็นความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็น "กลาง" บ้าง

    เมื่อยินดี จิตก็ทะยานออกไปยึดถือเป็นเจ้าของอารมณ์นั้นๆ

    เมื่อยินร้าย จิตก็ทะยานออกไปปฏิเสธอารมณ์นั้นๆ

    เมื่อเป็น "กลาง" จิตก็ยังหลงอยู่ในความเป็นเราของจิต



    ผู้ปฏิบัติต้องรู้ทันอาการของจิตตามความเป็นจริง

    ซึ่งอาการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็น อารมณ์ทางใจ

    ที่เกิดต่อเนื่องจากการรู้อารมณ์ในเบื้องต้นนั่นเอง



    เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว

    ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง

    กระทั่งความเป็น "กลาง" จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป

    จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง

    ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง



    ถัดจากนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวายอีก

    ให้จิตรู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลางไปตามธรรมชาติธรรมดา

    โดยไม่หลงใหล หรือหลง "ไหล" ไปตามมายาของกิเลส คือไม่ส่งออกนอก

    แล้วจิตก็จะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งไปตามลำดับ

    อย่างอื่น ก็จะรู้เองเป็นเองโดยไม่ต้องถามใคร



    น้องใหม่ทั้งหลาย อ่านเท่านี้ก็พอครับ

    ข้อเขียนต่อจากนี้ จะเป็นการขยายความ ซึ่งไม่จำเป็นอะไรนัก

    ถ้าอ่านแล้วคิดมาก อาจจะยุ่งยากใจก็ได้

    แต่ถ้าจะอ่านเล่นๆ ก็ไม่ห้ามกันครับ



    บทขยายความ



    1. อารมณ์ของจิต



    คำว่าอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ได้

    เช่นเมื่อตามองไปเห็นแมว รูปแมวก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา

    เมื่อได้ยินเสียงเพลง เสียงเพลงก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางหู

    เมื่อเราคิดนึกปรุงแต่งทั้งดี ชั่ว และเป็นกลาง

    ความคิดนึกปรุงแต่งเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ เป็นต้น



    นักปฏิบัติในขั้นเบื้องต้นนั้น ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน

    ถ้าเป็นผู้ที่จิตใจยังไม่เคยสงบเลย

    ก็ให้เอาสติกำหนดรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่ง

    หรือทางทวารอันใดอันหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ

    รู้อย่างสบายๆ ให้ต่อเนื่องไว้



    เช่นเดินจงกรม ก็จับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นเรื่อยไป

    นั่งกำหนดลมหายใจ ก็จับความรู้สึกที่ลมกระทบจมูก

    หรือจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ปลายจมูก จนถึงท้อง

    ขอให้สนใจที่จะจับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบกายไว้

    ไม่ใช่เอาสติจับเข้าไปที่เท้า หรือที่ตัวลมหายใจ

    เพราะการจับความรู้สึกนั้น ง่ายที่จะพัฒนาไปสู่การดูจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป

    เนื่องจากจิต เป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรม

    ส่วนการใช้สติจับเข้าไปในวัตถุเช่นเท้าและลม

    ง่ายที่จิตจะน้อมไปสู่ความสงบในแบบสมถกรรมฐาน

    โดยเพ่งแช่จมอยู่กับเท้า หรือลมหายใจนั้น



    บางคนถามว่า ถ้าไม่กำหนดให้รู้การกระทบทางทวารหนึ่งทวารใด

    แต่ปล่อยให้สติตามรู้การกระทบในทุกๆ ทวาร

    แล้วแต่ว่าขณะใด ความรู้สึกทางทวารใดจะเด่นชัดที่สุด จะได้หรือไม่

    ขอเรียนว่า ถ้าทำไหวก็ได้ แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ ก็เห็นจะทำยากสักหน่อย

    เปรียบเหมือนนักมวย เวลาเขาฝึกซ้อม เขาก็ฝึกซ้อมไปทีละอย่างก่อน

    เช่นวิ่งออกกำลังกาย กระโดดเชือก แล้วซ้อมเต้น ซ้อมเตะ ซ้อมต่อยไปทีละท่า

    พอชำนิชำนาญแล้วจึงซ้อมชกจริงๆ แล้วขึ้นเวทีต่อไป



    การวิ่งออกกำลังกาย เปรียบเหมือนการทำสมถกรรมฐาน

    อันเป็นกำลังพื้นฐานเพื่อใช้งานต่อไป

    นักปฏิบัติจึงไม่ควรละเลยเสียทีเดียว ควรจะมีเวลาเข้าหาความสงบจิตใจบ้าง

    โดยทำกรรมฐานใดๆ ก็ได้ ที่ทำแล้วสงบง่าย



    การซ้อมเต้น ซ้อมต่อย ซ้อมเตะ ซ้อมศอก ซ้อมเข่า เหล่านี้

    เปรียบเหมือนการฝึกซ้อม รู้ความรู้สึกทางทวารใดทวารหนึ่ง

    ที่ง่ายที่สุดก็คือทวารกาย เช่นเท้ากระทบพื้น ลมกระทบจมูก เป็นต้น



    เมื่อมีความพร้อมพอแล้ว เวลาลงสนามจริง

    จะได้ไม่ถูกกิเลสไล่ถลุงเอาเป็นไก่ตาแตก

    ไม่ว่าอารมณ์จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

    ก็สามารถจับความรู้สึกที่ส่งเข้ามากระทบจิตได้ทันท่วงที



    การฝึกหัดปฏิบัติเข้มเป็นบางเวลา กับการลงสนามปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

    จึงมีส่วนเกื้อxxxลกันดังที่กล่าวมานี้

    แต่ถ้าใครเห็นว่าจิตของตนแข็งแรงพอแล้ว ไม่ต้องการทำสมถะ

    และสติสัมปชัญญะว่องไวดีแล้ว ไม่คิดจะเข้าค่ายซ้อม

    จู่ๆ จะลองโดดลงสนาม ไปปฏิบัติเอาในชีวิตประจำวันเลย ก็ได้

    ถ้าชกชนะกิเลส ก็จะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น โดยเริ่มชนะกิเลสระดับปลายแถวก่อน

    แล้วค่อยเขยิบขึ้นไปต่อกรกับกิเลสที่ละเอียดแนบเนียนต่อไปตามลำดับ

    แต่ส่วนมาก ผู้ที่ละเลยการทำความสงบ และการฟิตซ้อมที่ดี

    มีโอกาสจะถูกกิเลสชกเอาเสียมากกว่า

    เพราะกิเลสนั้น เป็นมวยระดับแช้มป์โลก

    จะเข้าต่อกรด้วยมวยวัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก



    เมื่อเราหัดจับความรู้สึก เช่นความรู้สึกตอนที่เท้ากระทบพื้น

    หรือลมหายใจกระทบปลายจมูก ไปมากพอแล้ว

    ความรู้สึกจะรวมเข้ามาที่กลางอกเองโดยอัตโนมัติ

    พอเท้ากระทบพื้น ก็จะเห็นความไหวของอารมณ์ขึ้นที่กลางอก

    กระพริบตาวิบเดียว ก็จะเห็นความไหวเข้ามาที่กลางอก

    ทำนองเดียวกับเวลาเราตกใจ จะมีความรู้สึกวูบเข้ามาที่กลางอกนั่นเอง

    คนไทยโบราณ ท่านเข้าใจธรรมชาติของจิตไม่ใช่น้อยทีเดียว

    ท่านจึงมีศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับความรู้สึกในอกอยู่มาก

    เช่นอิ่มอกอิ่มใจ ร้อนอกร้อนใจ เสียอกเสียใจ คับอกคับใจ

    เสียวแปลบในหัวอก วูบในหัวอก เสียใจจนอกจะแตกตาย

    สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ฯลฯ



    ความรู้สึกที่ผุดขึ้นที่กลางอกนี้ ขอให้มันเกิดขึ้นเอง เพราะการรู้อารมณ์

    แล้วจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรู้อารมณ์นั้นได้

    จนกระทั่งยกระดับขึ้นมารวมลงในอก

    เราไม่ควรใจร้อน เพ่งใส่อก เพราะจะกลายเป็นการเพ่งวัตถุธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นอก

    ไม่ใช่จับความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นในอก



    อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่ามีความไหวอยู่ที่อื่น นอกจากอก ก็ไม่ต้องตกใจ

    มันจะไหวอยู่ที่ใด เช่นเวลาโกรธ แล้วไปรู้สึกวูบที่สมอง ก็ไม่เป็นไร

    อย่าไปกังวลกับที่ตั้งมากนัก

    ปล่อยให้มันเป็นไปเองตามธรรมดา จะดีที่สุดครับ

    แล้วเวลาเกิดกิเลส เช่นความสงสัย หรือความโกรธ

    คอยเฝ้ารู้มันไว้ มันดับลงตรงไหน ก็รู้อยู่ที่ตรงนั้นเอง

    ไม่ต้องเที่ยวไปหาจุดที่ตั้งอื่นใดให้วุ่นวายใจ



    อนึ่ง บางคนอาจจะสงสัยว่า ความรู้สึกต่างๆ ที่แสดงออกมาในอกนี้

    อาจจะเป็นเพียงอาการทางกายเท่านั้น

    เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก ที่จะต้องอภิปรายถกเถียงกันในที่นี้

    เพราะเราเพียงต้องการอาศัยรู้ความรู้สึกที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    เพื่อที่จะก้าวต่อไปให้ถึงจิต

    ทำนองเดียวกับการตกปลา จะใช้เหยื่อจริง หรือเหยื่อปลอมก็ไม่มีปัญหา

    ขอให้จับปลา คือจิต ได้ก็แล้วกัน



    ความรู้สึกต่างๆ ในอกนี้ ก็กลายเป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้เช่นกัน


    สิ่งที่ผมกล่าวมาแล้วนั้น เป็นการจับความรู้สึก เมื่อจิตไปรู้อารมณ์เข้า

    ยังมีวิธีปฏิบัติที่รวบลัด และจะขอยกตัวอย่างอีกแบบหนึ่ง

    คือเมื่อเราทำความสงบพอสมควรแล้ว

    ให้น้อมจิตเข้าไประลึกรู้อารมณ์ทางใจโดยตรง

    ไม่ต้องผ่านการรู้อารมณ์ทางกาย เช่นเท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบจมูก

    วิธีนี้จะง่าย หากเรารู้ถึงกิเลสที่กำลังปรากฏชัดๆ สักตัวหนึ่ง

    เช่นหากกำลังสงสัย ให้รู้เข้าไปที่ความรู้สึกสงสัยโดยตรงทีเดียว

    เอาความสงสัยนั่นแหละ มาเป็นอารมณ์ให้จิตรู้

    เมื่อรู้ชำนิชำนาญเข้า ความรู้สึกก็จะรวมลงในอกอีกเช่นกัน



    สรุปแล้ว การปฏิบัติในขั้นต้นของการดูจิต

    ขอให้เรารู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน

    เช่นความรู้สึกที่เท้าสัมผัสพื้น ลมหายใจสัมผัสจมูก

    หรือเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ทั้งหลาย

    หรือสัญญาคือความจำได้หมายรู้ที่ผุดขึ้นมา

    หรือจิตสังขาร คือความคิดนึกปรุงแต่งทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว และเป็นกลางๆ

    แรกๆ อาจจะรู้การกระทบทางกายก่อนก็ได้

    แต่เมื่อทำไปแล้ว จะพบว่าการกระทบทางกายนั้น

    จะส่งผลสะเทือนเข้าไปถึงใจ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงกายแต่อย่างใด



    *************************************************



    2. อาการของจิต



    ทุกคราวที่มีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น และกาย

    แล้วส่งทอดความรู้สึกเข้าถึงใจ

    หรือบางคราว แม้ไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย

    หากสัญญาผุดขึ้นทางใจ ความคิดนึกปรุงแต่งทางใจก็เกิดขึ้น

    ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถรู้ได้ชัดเหมือนตาเห็นรูปทีเดียว

    เมื่ออารมณ์เข้าสัมผัสใจแล้ว

    จิตจะมีปฏิกิริยาอาการขึ้นมาเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบ

    นักดูจิตที่ชำนาญ จะรู้ทันปฏิกิริยา หรืออาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น



    ปฏิกิริยามีอยู่ 3 รูปแบบเท่านั้น คือเกิดความยินดีต่ออารมณ์นั้น

    เกิดความยินร้ายต่ออารมณ์นั้น

    หรือเกิดความรู้สึกเป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์นั้น



    ขอให้ผู้ปฏิบัติ รู้อารมณ์และปฏิกิริยาของจิต ถ้ารู้ได้

    แต่ถ้ายังรู้ไม่ได้ ก็ขอให้รู้อารมณ์อย่างเดียวไปก่อน



    บรรดาความยินดี ยินร้ายนั้น เมื่อจิตไปรู้เข้าแล้ว

    จะเห็นมันมีสภาพเป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกับอารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 นั่นเอง

    ถ้ารู้ด้วยความเป็นกลางจริงๆ ไม่ช้ามันก็จะดับไป

    จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง

    คราวนี้ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ความรู้สึกที่เป็นกลางนั้นต่อไป



    *****************************************************



    3. จิต



    เมื่อปฏิบัติชำนิชำนาญเข้าจะพบว่า ความเป็นกลางก็ยังมีหลายแบบ

    ความรู้สึกเป็นกลางแบบเฉยๆ ก็มี

    ความเป็นกลางของจิตในขณะที่จิตเบิกบานและเป็นตัวของตัวเองก็มี

    แบบแรกนั้นจิตถูกอารมณ์ละเอียดห่อหุ้มไว้ แต่ยังมองไม่ออก

    ส่วนแบบหลัง จิตพ้นการห่อหุ้มแล้ว

    จิตชนิดหลังนี้ บางทีครูบาอาจารย์เรียกว่า จิตหนึ่ง บ้าง จิตเดิมแท้ บ้าง ใจ บ้าง

    อันนั้นก็เป็นเพียงคำสมมุติเรียกขาน



    ถ้าปฏิบัติจนเข้าถึงความเป็นกลางอย่างหลังนี้ ความทุกข์จะก่อตัวขึ้นไม่ได้

    เพราะจิตพ้นความปรุงแต่งของสังขารแล้ว

    ซึ่งอาจเป็นการพ้นชั่วขณะ หรือพ้นถาวรก็ได้

    แล้วแต่คุณธรรมที่เข้าถึง


    ความเห็นที่ 18 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 09:19:28



    มีพรรคพวก ขอให้ผมขยายความข้อความต่อไปนี้สักหน่อย คือ

    "เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว

    ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง

    กระทั่งความเป็น "กลาง" จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป

    จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง

    ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง"

    จุดที่สงสัยคือ ความเป็นกลางจอมปลอม เป็นอย่างไร



    ในเวลาที่ดูจิตนั้น บางคราวจะเห็นความยินดี หรือความยินร้าย

    แต่บางคราว ที่อารมณ์ไม่รุนแรงเร้าใจนัก จะเห็นว่าจิตเป็นกลางวางเฉย

    หรือไม่ปรากฏกิเลสตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาให้เห็น

    ในจุดนั้นผู้ปฏิบัติจำนวนมากจะรู้สึกว่าจิตของตนว่าง และเป็นกลางแล้ว



    แท้จริงยังไม่ว่าง ยังไม่เป็นกลางจริง และยังไม่พ้นจากตัณหา

    มันเพียงแต่มีอารมณ์เฉยๆ แต่เรามองไม่เห็น ไม่ได้เฉลียวใจ จึงคิดว่าไม่มีอะไร

    เหมือนอย่างเรามองไปข้างหน้าเรานี้

    แม้ไม่มีอะไรเลย ก็ยังมีอากาศอยู่ แต่มองไม่เห็น



    ผู้ปฏิบัติที่จิตเข้ามาถึงความว่าง และเป็นกลางๆ ชนิดนี้

    หากยินดี พอใจ หรือคิดว่าไม่มีอะไรแล้ว

    ย่อมไม่สามารถเจริญในธรรมต่อไปได้

    แต่หากเฉลียวใจสักนิดหนึ่งว่า

    จิตที่ว่างและเป็นกลางนั้น ยังเป็นภพอีกอันหนึ่ง

    จึงจะสามารถปล่อยวาง แล้วเข้าถึงความเป็นกลาง คือ ใจ ได้



    จิตที่ปล่อยวางจริงๆ หรือเป็นกลางจริงๆ นั้น เป็นจิตที่อิสระและเบิกบาน

    เหมือนอยู่ในอีกระนาบหนึ่ง และไม่เข้ามายึดเกาะในก้อนขันธ์นี้เลย

    ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=270
     
  3. พลังใจพิชิตภัยพิบัติ

    พลังใจพิชิตภัยพิบัติ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2008
    โพสต์:
    32
    ค่าพลัง:
    +94
    <TABLE cellSpacing=20 width="85%" border=0><TBODY><TR><TD class=postbody vAlign=top>
    การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์
    โดยพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

    วิธีขจัดความทะยานอยากในจิตใจลงได้มีอยู่ทางเดียว คือการเจริญอริยมรรคมีองค์๘ประการ หรือการเจริญวิปัสสนาคือการมีสติสัมปชัญญะตามรู้กายตามรู้ใจนั่นเอง โดยมีสติ(มีสัมมาสติ) ตามรู้ทุกข์ ตามรู้กาย ตามรู้ใจอยู่เนืองๆ(มีสัมมาวายามะ) ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้(มีสัมมาทิฎฐิในภาคปริยัติธรรม) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น(มีสัมมาสมาธิ) ไม่นานก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาวธรรมว่า กายและใจหรือรูปนามเป็นทุกข์จริง แต่ไม่ใช่ตัวเรา(สัมมาทิฎฐิในภาคปฏิบัติ) แล้วจิต(ไม่ใช่เรา) ก็ปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามเสียได้ในที่สุด จิตที่ปล่อยวางรูปนามนั่นแหละคือจิตที่พ้นทุกข์ และได้ประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็นสภาวะที่สงบสันติจากขันธ์และกิเลสตัณหาทั้งปวง

    การตามรู้กายก็มีหลักง่ายๆคือ ให้มีความรู้สึกตัวแล้วตามรู้กายไปอย่างสบายๆ หากกายอยู่ในอาการอย่างไร ก็รู้ว่ารูป(ไม่ใช่เรา) อยู่ในอาการอย่างนั้น การตามรู้ใจก็มีหลักการปฏิบัติง่ายๆเช่นกันคือ ให้มีความรู้สึกตัวแล้วตามจิตรู้จิตใจไปอย่างสบายๆ หากจิตใจมีความรู้สึกหรือมีอาการอย่างไรก็รู้ว่านาม(ไม่ใช่เรา) มีความรู้สึกหรือมีอาการอย่างนั้น เช่นจิตมีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆก็รู้ ชั่วก็รู้ส่งออกหรือหลงไปตามอารมณ์ทางทวารทั้ง๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ก็รู้และสักว่ารู้อารมณ์ทางทวารทั้ง๖ คือรู้โดยไม่หลงก็รู้ เป็นต้น

    ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการตามรู้กายและตามรู้ใจ เพราะถ้าจิตมีความรู้สึกตัวคือไม่หลงไปกับอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง๖ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล สอนว่า อย่าส่งจิตออกนอก) จิตก็ย่อมจะอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวแล้วรู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้กายรู้ใจได้
    ผู้ปฏิบัติพึงทำความรู้จักสภาวะของความรู้สึกตัว โดยหัดการสังเกตความแตกต่างระหว่างความหลงกับความรู้สึกตัวซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน ความหลงมี๖ชนิดคือ เมื่อดูรูปก็หลงรูปแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง เมื่อได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ก็หลงกลิ่น ก็หลงรส หลงสัมผัส แล้วลืมกายลืมใจของตนเอง และเมื่อรู้อารมณ์ทางใจก็หลงอารมณ์ทางใจแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง

    เมื่อรู้สึกตัวเป็นแล้วก็ต้องเจริญสติปัฏฐานเพื่อ (๑) กระตุ้นความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นเนืองๆ และ(๒) ตามรู้รูปนามอันเป็นอารมณ์วิปัสสนาในสติปัฏฐาน จนเห็นความจริงว่ากายและใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงจะสามารถละสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดว่ารูปนาม หรือกายใจคือตัวตนลงได้ในเบื้องต้น และสามารถทำลายความยึดถือรูปนามลงได้ในที่สุด

    การเจริญสติปัฏฐาน เช่น การตามรู้กายใน อริยาบถเดิน หรือการตามรู้ความเคลื่อนไหวของกาย จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกตัวได้ง่ายกว่าการตามรู้อารมณ์ที่นิ่งๆ เช่นการรู้รูปนั่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งหลับตา) เพราะเมื่อนั่งนานก็มักจะเคลิ้มง่าย อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติพึงสังเกตตนเองว่าใช้อารมณ์กรรมฐานอันใดแล้วเกิดสติบ่อย ก็ควรใช้อารมณ์นั้นเป็นเครื่องอยู่ประจำไว้ จะเป็นตามรู้กาย เวทนา จิต หรือธรรมก็ใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนมีจริตนิสัยต่างๆกัน ทั้งนี้การเจริญสติ แม้ต้องอยู่ภายใต้หลักการอันเดียวกันที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แต่ต่างคนก็มีทางเดินเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำรอยกัน เพราะทางนี้เป็นทางของผู้ไปคนเดียว ดังนั้นจึงไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปของการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีที่สุด มีแต่รูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเท่านั้น

    เมื่อรู้สึกตัวได้แล้วก็ให้หมั่นรู้สึกถึงอาการปรากฏของกายและของจิตอยู่เนืองๆ (แล้วแต่สิ่งใดจะปรากฎชัด เพราะการรู้กายก็ช่วยกระตุ้นให้รู้ใจ และการรู้ใจก็ช่วยกระตุ้นให้รู้กายได้) แต่ไม่จำเป็นต้องรู้แบบไม่ให้คลาดสายตา เพราะจะกลายเป็นการกำหนด เพ่งจ้อง หรือดักดูกายและใจ ด้วยอำนาจบงการของตัณหา ให้รู้ไปอย่างสบายๆ รู้บ้าง เผลอบ้างก็ยังดี ไม่ต้องอยากรู้หรืออยากให้สติเกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงหมั่นตามรู้กายและใจเนืองๆ สติจะเกิดได้บ่อยขึ้นเอง และไม่ต้องพยายามห้ามไม่ให้จิตหลง เพราะจิตเป็นอนัตตาคือห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ เพียงทำความรู้จักสภาวะของความหลงให้ดี และเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ แล้วความหลงจะสั้นลงได้ นอกจากนี้จะต้องจับหลักการปฏิบัติให้แม่นยำว่า จะต้องตามรู้กายตามรู้ใจ ตามที่เป็นจริงไม่ใช่เข้าไปดัดแปลง แก้ไข หรือควบคุมกายและใจแต่อย่างใดเลย ทั้งนี้บรรดาคำสอนที่ให้เพ่งกายเพ่งจิต หรือให้แก้ไขดัดแปลงจิตใจ เป็นคำสอนในขั้นสมถะกรรมฐานทั้งสิ้น

    จิตที่มีความรู้สึกตัวย่อมไม่หลงไปตามอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่หลงไปในโลกของความคิด เมื่อไม่หลงไปกับความคิดอันเป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ จิตก็อยู่กับความจริง และสามารถเห็นอารมณ์ปรมัตถ์คือ กายและใจหรือรูปนาม ได้ตรงตามความเป็นจริง
    การที่รู้กายรู้ใจได้ตรงความเป็นจริงนี้เอง จะส่งให้เกิดผล๒ ขั้นตอน คือเบื้องต้นจะละความเห็นผิด ว่ากายและใจคือตัวเราลงได้ และเบื้องปลายจะละความยึดถือกายและใจลงได้

    การละความเห็นผิดว่ากายและใจคือตัวเรานั้น เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติตามรู้กาย ตามรู้ใจอยู่เนืองๆ จนเห็นความจริงว่ากายและใจเป็นสิ่งที่แปรปรวน เป็นทุกข์ และบังคับไม่ได้จริง เช่น เมื่อตามรู้รูป ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่เนืองๆก็จะเห็นว่า รูปแต่ละชนิดล้วนถูกความทุกข์บีบคั้น ทำให้รูปเก่าดับไปแล้วรูปใหม่เกิดขึ้น เช่นต้องเปลี่ยนอิริยาบถจากรูปนั่งเป็นรูปยืนและรูปเดิน เป็นต้น จะบังคับให้รูปคงที่ตลอดไปไม่ได้ ส่วนความรู้สึกทางใจก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและบังคับไม่ได้เช่นกัน

    สำหรับการละความยึดถือ กายและใจเป็นการปฏิบัติในเบื้องสูง วิธีปฏิบัติก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการปฏิบัติในเบื้องต้นนั่นเอง เพียงแต่ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะหรือมีความรู้สึกตัวแก่กล้ามากขึ้น สามารถรู้สึกตัวได้อย่างถี่ยิบโดยไม่เจตนารู้ ในขั้นนี้จึงไม่ต้องจงใจทำเพราะจิตเขาจะทำของเขาเอง คล้ายกับผลไม้ที่รอเวลาสุกเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเหมือนกับว่า ความรู้สึกแผ่กว้างออกในขณะที่ความหลงหดสั้นลง อนุสัยและอาสวะกิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม กำลังของกิเลสที่ห่อหุ้มปกคลุมจิตและผูกมัดจิตให้ยึดติดอยู่กับขันธ์ (คือกายและใจอันเป็นของหนัก) ก็จะอ่อนกำลังลง ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าจิตใจมีน้ำหนักน้อยลงเรื่อยๆ เพราะวางภาระที่ต้องแบกหามขันธ์ไปตามลำดับ และรู้สึกว่าจิตเป็นเพียงสภาวธรรมบางอย่างที่ไม่สนใจจะเรียกตัวเองว่าจิตด้วยซ้ำไป ความคิดนึกปรุงแต่งจะจางลงๆ เว้นแต่มีกิจที่จะต้องคิดก็คิดปรุงไปตามหน้าที่ และเมื่อถึงจุดหนึ่งจิตก็จะสลัดตัวหลุดพ้นจากอาสาวกิเลสที่ห่อหุ้มอยู่ เกิดการปล่อยวางขันธ์หรือกายและใจ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ว่าจิตกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ว่าง และปราศจากน้ำหนักเช่นเดียวกัน คือธรรมภายในได้แก่จิตใจซึ่งปราศจากเปลือกหุ้ม คืออาสวกิเลสก็ว่างไร้ขอบเขตแผ่กว้างผ่านทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมเข้าถึงความว่างของธรรมภายนอกเป็นสิ่งเดียวรวดเสมอกัน จิตจึงไม่มีการหลงหรือไหลไปมา และเป็นจิตที่ไม่ทำกรรมอีกต่อไป อนึ่งจิตที่ปล่อยวางขันธ์ก็คือจิตที่พ้นทุกข์ เพราะอุปาทานขันธ์นั่นแหละคือตัวทุกข์ นี้คือนิพพานประเภทแรกคือความพ้นทุกข์ทางจิตใจอย่างสิ้นเชิงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ (สอุปาทิเสสนิพพาน)

    การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ มีแนวทางปฏิบัติหลักๆอยู่เพียงเท่านี้ ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก เพียงแต่รู้สึกตัวเนืองๆ แล้วตามรู้กายตามรู้ใจไปตามความเป็นจริง ซึ่งตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ทำได้อย่างนี้จิตจะพัฒนาไปสู่ความพ้นทุกข์ได้เอง

    </TD></TR><TR><TD> </TD></TR></TBODY></TABLE>ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5844
     
  4. wara43

    wara43 ทีมผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 เมษายน 2006
    โพสต์:
    9,108
    ค่าพลัง:
    +16,130
    [​IMG]ขอกราบโมทนาสาธุครับ สาธุ...[​IMG]
     
  5. magic_storm

    magic_storm เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 มกราคม 2007
    โพสต์:
    464
    ค่าพลัง:
    +3,053
    ขอบคุณมากๆครับ
     
  6. ท้องฟ้าและแผ่นดิน

    ท้องฟ้าและแผ่นดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    232
    ค่าพลัง:
    +127
    [​IMG][​IMG]


    ธรรมะแห่งพระอริยเจ้าเป็นสุข เบาสบายยิ่ง
    นำจิตนี้เป็นอิสระ พ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในจิตและกายอันเป็นอนัตตา
    ขอกราบเท้าวันทาบูชาคุณเมตตาและกรุณาธรรมแห่งพระอริยเจ้า
    ด้วยกาย ใจ และจิตวิญญาน

    ขอให้ธรรมะนี้แผ่ขจายไปทั่วทั้งจักรวาล
    ขอให้สรรพสัตว์ทั้งปวงมีดวงใจอันพิสุทธ์
    เพื่อสรรพสัตว์ทั้งสิ้นมีดวงตาเห็นธรรม
    หลุดพ้นจากห้วงน้ำแห่งทุกข์ในวัฏฏสงสาร
    สู่แดนอันดับและเย็นเป็นสุขยิ่งทุกรูปทุกนามเทอญ


    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...