"ฝึกสติให้เกิดปัญญา"

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 27 กันยายน 2016.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,294
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    "ฝึกสติให้เกิดปัญญา"

    หลายคนพยายามควบคุมสติตัวเองให้อยู่ในใจตลอด เช่นว่า ใช้คำภาวนาต่างๆ เพื่อกลบทับความคิดต่างๆ ไม่ให้มันเกิดขึ้น เพราะกลัวจิตฟุ้งซ่าน และจะทำให้เผลอวิ่งตามอารมณ์ ต่างๆที่มันมากระทบอายตนะภายนอกและภายใน เรียกว่า "หาหลักยึด" ก็ว่าได้ แต่ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง วิธีนี้บอกได้เลยว่า หากขาดความอดทน ขันติ วิริยะ แล้ว จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย! ในการปฏิบัติธรรม หรือการฝึกสติ แต่คนที่มีขันติมาก อารมณ์มั่นคงดี ก็จะใช้ได้ดี เพราะฝึกมาดีแล้ว ก็ให้ทำต่อไปเลยอย่าหยุด แต่คนใหม่ก็ขอให้มีความอดทนและพยายามให้มากก็จะผ่านไปได้ สำหรับวิธีนี้นะ

    ความจริงการฝึกสติให้รู้เท่าทัน ผัสสะทั้งหลายนั้นควรมีสติระลึกรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกสภาวะธรรม ยกคำภาวนาออกไปก็ได้ คือ เอาจิตไปจับที่ผัสสะเกิด ให้มีสติระลึกรู้ว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบใจ) อันเกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นแหละ เวลาเดินเหยียบพื้นก็รู้ว่าพื้นอ่อนหรือแข็งเป็นต้น กลิ่นโชยมาก็ให้รู้ว่า หอมหรือเหม็น เท่านั้น ไม่ปรุงแต่งเพิ่ม หรือเวลาหูได้ยินเสียง จะเพราะหรือไม่เพราะ ดังหรือค่อยก็ให้รู้ แค่ว่านี่เสียงไม่ปรุงแต่ง แม้ว่าจะมีคนมาว่า มาด่า ก็ต้องรู้ว่าโผฏฐัพพะเกิดขึ้นแล้ว กระทบใจเราแล้ว ก็ให้รู้ว่าแค่เสียง ไม่เอาจิตไปปรุงว่า พอใจหรือไม่พอใจในคำนั้นๆ ที่ได้ยิน เป็นต้น

    ช่วงฝึกใหม่อาจจะยากเพราะจิตยังไม่ละเอียดพอ จะแยกสติการรับรู้ได้ยากมาก วิธีง่ายๆ คือ เอาที่เด่นที่สุดก่อน เช่น เวลาตื่นมาก็ให้มีสติว่าตื่นแล้ว สติจับดูว่า ยังง่วงอยู่ หรือสดชื่นเบิกบาน หรือขี้เกียจ เอาสติตามรู้อารมณ์ของจิตนั้นๆ ไปเป็นช่วงๆ ช่วงกลางวันกินข้าวหรือดื่มกาแฟก็ฝึกการรับรส ที่ลิ้น ไปด้วย หรือช่วงค่ำก็ฝึกดูว่า เหนื่อยไหม? ร้อนไหม? หิวไหว? เอาจิตตามรู้สภาวะเหล่านั้นไปด้วย จับอาการที่เด่นที่สุดไปก่อน ให้คล่องๆ แล้วมันจะพัฒนาไปเองอัตโนมัติ โดยเฉพาะความคิด จะเกิดบ่อยที่สุด การปรุงแต่งจะมีมากสุด ควรจะจับอารมณ์เหล่านั้นให้ได้ ให้สติระลึกรู้อยู่เสมอ ว่านี่มันโกรธนะ มันเบื่อนะ มันรำคาญนะ ทั้งหมดทั้งปวงให้สติดูมัน ว่านั่นตัวกิเลสมันทำงานแล้ว อวิชชาทำงานแล้ว ไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราเบื่อ ไม่ใช่เรารำคาญ พอเรารู้แค่นี้ จิตจับได้ไล่ทันมันเท่านี้ มันก็จะดับไปชั่วคราว จนกว่าจะเจอเหตุการแบบเดิมๆซ้ำๆอีก เมื่อเจออีก ก็ใช้วิธีเดิมกับมันอีกบ่อยๆเช่นกัน เรียกว่า "รู้ทันมันก็ดับ" แล้วเราก็จะเห็นว่ามัน เกิดๆดับๆ อย่างนั้นทั้งวัน ใครที่สติดีมั่นคงมากๆ จะเกิดความเบื่อหน่ายในจิตไปเลยว่า เฮ้อ! กิเลสอวิชชานี่ มันน่าเบื่อหน่ายจริงๆ ทำงานไม่หยุดพักผ่อนเลย ขนาดฝันยังลากไปนั่นนี่ได้นะ แต่คนที่ฝึกมาดี ฝันจะไม่ค่อยมี หากมีก็มีสติดึงคืนได้ นี่เรื่องจริง พอฝึกไปได้สักพักอาจจะนานหรือไม่นาน แล้วแต่คน กำหนดเวลาไม่ได้ ....จิตจะแสดงตัวรู้ขึ้นมาว่า เพราะมีขันธ์ ๕ นี่แหละพวกกิเลสตัณหา อวิชชามันถึงได้สนุกสนานเล่นกันเพลิน สุดท้ายแล้ว กายนี้เป็นบ้านของมันแท้ๆ ไม่ใช่ของเราเลย เพราะเราสั่งบังคับมันไม่ได้ซักอย่าง มีแต่พวกอาสวะกิเลส ที่มันสั่งนั่นนี่ให้จิตเราติดกับดักมันไปเรื่อยๆ

    เมื่อระลึกได้อย่างนั้นจิตจะยกระดับความหน่ายออกมาจากกายได้แบบอัตโนมัติเหมือนกัน (แต่สภาวะต้องเป็นไปตามจริงนะ จิตต้องหน่ายจริงๆภายในเท่านั้น ไม่ใช่ปรุงแต่งคิดเองว่าหน่าย คนละเรื่องกันเลยนะ อันนี้ก็ต้องรู้ให้ได้ด้วย) เมื่อกายกับจิตแยกออกจากกัน ความอาลัยในกายนี้จักไม่มีแล้ว จิตจะเห็นแต่ของสกปรกโสโครกที่ไร้ที่ยึดเหนี่ยวใดๆ ช่วงนี้จะได้ประจักษ์ถึงกฎไตรลักษณ์แล้วว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เป็นอย่างไร แล้วจิตมันจะบอกว่า โธ่เอ้ย! โง่มาตั้งนาน หลงเห็นกองมูตคูด น่าขยะแขยงเหล่านี้เป็นของตน โง่ จริงๆ! อาการนี้เกิดขึ้น กายจะไม่มีผลใดๆกับชีวิตอีกต่อไป จิตจะวางอุเบกขารมณ์ขึ้นทันที ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่อาลัยใยดีกับมันอีกแล้ว จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่เสียดายแล้ว เพราะจิตกับกายมันแยกกันไปแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ยึดแล้ว อย่างนั้น อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายจะชั่วหรือดี วางหมด เหลือแต่ความว่างเปล่าในจิต........

    ที่กล่าวมาเบื้องต้นคร่าวๆนั้นเป็นการทำงานของสติ ในขณะใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการทำสมาธิควบคู่ไปด้วย อย่าลืมว่าการฝึกสติ ไม่ใช่แค่การระลึกรู้ให้เท่าทันผัสสะทั้งหลายเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วยการคิดพิจารณาไปด้วยควบคู่กัน เรียกว่า "โยโสมนสิการ" นั่นเอง คือการพิจารณาโดยแยบคายละเอียดให้เห็นถึงต้นตอของกิเลสตัณหา ที่เป็นตัวก่อทุกข์ทั้งปวง พูดในภาพรวมทั้งหมดก็คือ ฝึกสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง คือ การพิจารณากาย เวทนา จิต และสภาวะธรรม ที่เกิดขึ้นทุกขณะจิต ทั้งดีและชั่ว ทั้งหยาบและละเอียด ไปในคราวเดียวกัน พูดกันง่ายๆก็คือ "เมื่อกิเลสทำงานไม่หยุด สติก็จะไม่หยุดทำงานเช่นกัน"

    จำใว้เสมอว่า "อวิชชาหมุนปฏิจสมุบาทเป็นวัฏฏะทุกข์ และเราต้องใช้สติหมุนธรรมจักรให้เป็นไป เพื่อการออกจากวัฏฏะทุกข์นั้น"

    "ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปทุกคนเทอญ...สาธุ"
     

แชร์หน้านี้

Loading...