เรื่องเด่น พระพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ตอน ทรงมีปาฏิหาริย์สามอย่าง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 26 กรกฎาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    พระพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ตอน ทรงมีปาฏิหาริย์สามอย่าง ๑

    20292904_10213831422849438_2061647965608153311_n.jpg

    เกวัฏฏะ ! นี่ปาฏิหาริย์สามอย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้. สามอย่างอะไรเล่า ? สามอย่างคือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และ อนุศาสนีปาฏิหาริย์.

    (๑) เกวัฏฏะ ! อิทธิปาฏิหาริย์ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำอิทธิวิธีมีอย่างต่าง ๆ : ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน,หลายคนเป็นคนเดียว, ทำที่กำบังให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง, ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปในอากาศว่าง ๆ, ผุดขึ้น และดำลงในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ, เดินไปได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน, ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งสมาธิคู้บัลลังก์. ลูกคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์อานุภาพมาก ได้ด้วยฝ่ามือ. และแสดงอำนาจทางกายเป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้. เกวัฏฏะ ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการแสดงนั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่กุลบุตรอื่นบางคน ที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ว่าน่าอัศจรรย์นัก. กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชาชื่อคันธารี ๒ มีอยู่ ภิกษุนั้นแสดงอิทธิวิธีด้วยวิชานั่นเท่านั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่), เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใส ได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ?
    “พึงตอบได้, พระองค์ !”
    เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ดังนี้แล จึงอึดอัดขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออิทธิปาฏิหาริย์.

    (๒) เกวัฏฏะ ! อาเทสนาปาฏิหาริย์ นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทายจิต ทายความรู้สึกของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่นได้ ว่า ใจของท่านเช่นนี้ ใจของท่านมีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. ---ฯลฯ--- กุลบุตร ผู้ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อผู้เลื่อมใส ว่า วิชา ชื่อ มณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้น กล่าวทายใจได้ เช่นนั้น ๆ ก็ด้วยวิชานั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่), เกวัฏฏะ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ?
    “พึงตอบได้, พระองค์ !”
    เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดงอาเทสนาปาฏิหาริย์ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออาเทสนาปาฏิหาริย์.

    (๓) เกวัฏฏะ ! อนุศาสนียปาฏิหาริย์ นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมสั่งสอนว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ ๆ อย่าตรึกอย่างนั้น ๆ,จงทำไว้ในใจอย่างนี้ ๆ อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้น ๆ จงละสิ่งนี้ ๆ เสีย, จงเข้าถึงสิ่งนี้ ๆ แล้วแลอยู่ ดังนี้ นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์.
    เกวัฏฏะ ! ---ฯลฯ--- ๑ เหล่านี้แล เป็นปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง ที่เราได้ทำ ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย.

    ________________________________
    เชิงอรรถ ๑. บาลี สี. ที. ๙/๒๗๓/๓๓๙. ตรัสแก่เกวัฏฏคหบดีบุตร ที่ปาวาริกัมพวัน เมืองนาลันทา.
    ๒. คันธารี ชื่อมนต์ แต่งโดยฤษีมีนามคันธาระ, อีกอย่างหนึ่งว่าในแคว้นคันธาระ.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 26 กรกฎาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...