พระราชพุฒิมุนี ผู้อาสาฝ่าภัยไฟใต้

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 22 มกราคม 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG] ในมหามงคลวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 78 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2548 พระสุนทรธรรมธาดา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชพุฒิมุนี" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นและหาที่สุดมิได้ต่อมวลพสกนิกรชาวหนองคาย

    ปัจจุบัน พระราชพุฒิมุนี (ประทัย วชิรญาโณ ป.ธ.5) สิริอายุ 71 พรรษา 51 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย และเจ้าอาวาสวัดศรีษะเกษ อ.เมือง จ.หนองคาย

    อัตโนประวัติ พระราชพุฒิมุนี มีนามเดิมว่า ประทัย ชานุบาล เกิดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2477 ที่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 3 บ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายอึ่ง และนางทองคำ ชานุบาล

    ห้วงวัยเยาว์เข้าเรียนเขียนอ่านในโรงเรียนประจำท้องถิ่น จนเมื่ออายุ 14 ปี ได้หันเหชีวิตเข้าสู่โลกธรรม บรรพชา ณ พัทธสีมา วัดจอมนาง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย

    มีพระครูพิเศษคณาภิบาล แห่งวัดจอมทอง ต.จุมพล เป็นพระอุปัชฌาย์

    จากนั้น ได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง พ.ศ. 2494 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

    กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2496 ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย โดยมีพระธรรมปริยัติมุนี วัดศรีษะเกษ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวิสุทธิญาณมุนี วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการหัสชัย สุหสโช แห่งวัดหายโศก อ.เมือง จ.หนองคาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    ได้รับฉายาว่า วชิรญาโณ

    หลังบวชได้ตั้งมั่นในหลักธรรมคำสอนแห่งพุทธองค์ หมั่นศึกษาปริยัติธรรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นเนืองนิตย์ ก่อนออกเดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมขั้นสูง

    พ.ศ. 2500 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค จากสำนักเรียนวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ

    นอกเหนือจากการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม ท่านยังให้ความสนใจด้านการศึกษาสามัญเพิ่มเติม เริ่มจาก พ.ศ. 2502

    สอบได้ชั้นเตรียมอุดมศึกษา จากโรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2506 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.) วิชาเอกปรัชญา วิชาโทภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

    พ.ศ. 2512 จบการศึกษาระดับปริญญาโท วิชาเอกปรัชญา จากมหาวิทยาลัยบานาราสฮินดู ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2536 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก วิชาเอกปรัชญา วิชาโท ภาษาสันสกฤต จากมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ประเทศอินเดีย

    ลำดับผลงานด้านการปกครอง พ.ศ. 2517 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีษะเกษ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย พ.ศ. 2518 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ฝ่ายการศึกษา พ.ศ. 2525 เป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตหนองคาย

    พ.ศ. 2532 เป็นประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ จ.หนองคาย พ.ศ. 2536 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ วัดศรีษะเกษ พ.ศ. 2542 เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาฯ วิทยาเขตหนองคาย

    พ.ศ. 2543 เป็นอาจารย์บัณฑิตประจำ, อาจารย์บัณฑิตผู้ช่วยและอาจารย์บัณฑิตพิเศษ บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏมหาสารคาม พ.ศ. 2547 เป็นประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม เขตการศึกษา 8

    นอกจากนี้ พระราชพุฒิมุนี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการก่อสร้างวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งแรกของประเทศไทย

    ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2513 คณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมติที่ประชุมให้จัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น ณ วัดศรีษะเกษ อ.เมือง จ.หนองคาย โดยมีพระราชปรีชาญาณมุนี เลขาธิการศูนย์ประสานงานการพระศาสนา และพระมหาประทัย วชิรญาโณ (พระราชพุฒิมุนี) ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิชาการศูนย์ประสานงานการพระศาสนา (ศ.ป.ศ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ

    พระราชพุฒิมุนี ยังได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารวิทยาลัยสงฆ์ ด้วยความอุตสาหะ บากบั่นในการหางบประมาณสนับสนุน ทั้งงบประมาณแผ่นดิน และงบประมาณจากกำลังศรัทธาของสาธุชนเป็นอาคารทรงไทย 5 ชั้น แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2520 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20 ล้านบาท เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2521 ในนามว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตหนองคาย"

    พระราชพุฒิมุนี เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้ประพฤติปฏิบัติและอุทิศตนเป็นผู้ให้ เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาสังคมให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดโดยทั่วกัน

    ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อตัวขึ้นและไม่มีทีท่าจะสงบลง พระราชพุฒิมุนี จึงได้รับนิมนต์จากราชองครักษ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เป็นประธานคณะสงฆ์ในโครงการ "พระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้" โดยเดินทางไปจำพรรษา ณ วัดเขากง ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ระหว่างเดือน กรกฎาคม-ตุลาคม 2548

    ในช่วงอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเขากง ท่านได้ปฏิบัติภารกิจเป็นปกติ เวลาออกบิณฑบาต จะมีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ คอยคุ้มครองความปลอดภัยให้ พอกลับวัด ท่านจะสวดมนต์ โดยเน้นบทสวด "อุปปตสันติคาถา" (มหาสันติหลวง) ซึ่งเป็นบทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม เหตุร้าย และเภทภัยต่างๆ พระราชพุฒิมุนี ได้สวดมนต์บทนี้ทุกวัน ด้วยเหตุว่าต้องการให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความสงบสุข บ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และด้วยสันติวิธี

    พระราชพุฒิมุนี ย้ายไปอยู่จำพรรษาในหลายวัด ประจำ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ด้วยความมุ่งมั่นอยากให้ประชาชนได้มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน รวมถึงการเป็นหลักชัยในการจรรโลงพระพุทธศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

    จากเกียรติประวัติและผลงานที่ทรงคุณค่าอเนกอนันต์ พ.ศ. 2547 พระราชพุฒิมุนี ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และ พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

    ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2549 พระราชพุฒิมุนี ยังต้องเดินทางกลับไปประจำ ณ วัดเขากง อ.เมือง จ.นราธิวาส อีกครั้ง

    ท่านปรารภว่าจะกลับไปสวดมนต์ เพื่อให้พลังบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา ปัดเป่าความทุกข์ร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้จงได้
     

แชร์หน้านี้

Loading...