พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย aprin, 30 เมษายน 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ชาตินี้ศิษย์กับอาจารย์ต้องจากกันที่ทางแยก แต่สักวันหนึ่งด้วยบุญกุศลที่สั่งสมมาในอดีตชาติก็คงมีสักวันที่ท่านจะบรรลุซึ่งฝั่งฝัน

    15 ปีผ่านมา พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) จึงพิสูจน์ได้ว่าพระอาจารย์สีทัตถ์กลับชาติมาเกิดเป็น ด.ช.ถวัลย์ หรือ ด.ช.บุญติด จริง ท่านจึงเอ่ยปากขอเด็กจากคุณนายสายบัวมาอุปการะตามที่เคยรับปากพระอาจารย์สีทัตถ์เอาไว้ โดยมีรายละเอียดซึ่งท่านบันทึกเอาไว้เองดังนี้

    ข้าพเจ้าจึงพูดกับคุณนายสายบัวว่า “จะขอรับเอาไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ยังเล็กอยู่ เกรงเด็กจะลำบาก ขอให้คุณนายเลี้ยงไปก่อนจนกว่าจะมีวัยอันสมควร”
    พ.ศ. 2496 ออกพรรษาแล้วข้าพเจ้าไปบ้านสงเปลือยอีกครั้งหนึ่ง พักอยู่ที่วัดในหมู่บ้าน คุณนายสายบัวก็พาเด็กชายคนนี้มาต้อนรับ

    ข้าพเจ้าอยากจะพิสูจน์ให้แน่อีกครั้งหนึ่งว่า จะเป็นพระอาจารย์สีทัตถ์แน่หรือไม่ จึงถามว่าเมื่อก่อนนั้นตัวชื่อสีทัตถ์หรือไม่?

    เขาตอบทันทีว่า “ใช่”

    แล้วข้าพเจ้าก็ยุติไว้เพียงนั้น ไม่เล่าเรื่องอาจารย์สีทัตถ์ให้เขาได้ยิน เพราะเพื่อจะสังเกตความเป็นไปต่อไป

    [​IMG]
    เมื่อคุณนายสายบัวพากลับบ้านแล้ว คุณนายสายบัวกลับมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เด็กนั้นเมื่อกลับถึงบ้านได้เล่าเรื่องราวครั้งเป็นอาจารย์สีทัตถ์ในชาติก่อนให้คุณนายสายบัวฟัง แต่ทว่าไม่ติดต่อกัน เล่าเฉพาะเรื่องสำคัญของชีวิตเป็นท่อน เป็นตอน พอรู้ได้ว่าเขาระลึกชาติได้

    กลางปี พ.ศ. 2497 คุณนายสายบัวนำเด็กชายถวัลย์มาให้ข้าพเจ้าที่วัดป่าเขาสวนกวาง ข้าพเจ้าเอารูปถ่ายของพระอาจารย์สีทัตถ์ให้ดู แล้วถามเด็กว่า นี่รูปของใคร? เด็กตอบว่ารูปของเขาในตอนปลาย

    (ตั้งแต่พระอาจารย์สีทัตถ์มรณภาพ จนถึงเด็กชายคนนี้เกิดประมาณ 10 ปีกว่าๆ เมื่อตอนท่านทำนายนั้น พระอาจารย์สีทัตถ์อายุ 71 ปี)

    ต่อมาข้าพเจ้ามีธุระไปที่อุดรธานี พาเด็กชายคนนั้นไปด้วย

    วันหนึ่งข้าพเจ้าไปเยี่ยมพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตร์ พอขึ้นไปบนบ้านเห็นเจ้าคุณอุดรฯ กำลังนั่งโต๊ะรับประทานอาหารเย็น เด็กชายคนนี้ก็ตรงรี่เข้าไปหา และทำท่าจะรับประทานอาหารร่วมด้วย เจ้าคุณอุดรฯ มีความเมตตาจึงจัดอาหารให้รับประทาน

    ข้าพเจ้ามานั่งรอคอยเจ้าคุณอุดรฯ อยู่ที่โต๊ะรับแขกใต้ซุ้มกล้วยไม้ เมื่อเด็กชายนั้นรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าถามว่าไม่กลัวท่านหรือ ท่านเป็นพระยา
    เขาตอบว่าไม่กลัว เพราะเคยรู้จักกับท่าน

    ข้าพเจ้าถามว่า รู้จักท่านที่ไหน?

    เขาตอบว่า รู้จักเมื่อครั้งก่ออุโมงค์คร่อมพระพุทธบาทที่ อ.บ้านผือ
    พอเจ้าคุณอุดรฯ มานั่งกับข้าพเจ้าเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าถามเจ้าคุณอุดรฯ ว่า เมื่อครั้งพระอาจารย์สีทัตถ์ก่ออุโมงค์คร่อมพระพุทธบาทที่บ้านผือนั้น ท่านเจ้าคุณเคยไปและเคยรู้จักสนิทกันกับพระอาจารย์สีทัตถ์หรือไม่?

    ท่านเจ้าคุณอุดรฯ ตอบว่าเคยไป และรู้จักกันสนิทสนมกันมาก

    ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 จนถึงปัจจุบันนี้ เด็กคนนี้ได้มาอยู่กับข้าพเจ้าที่เขาสวนกวาง เมื่อคนต่างถิ่นมาเยี่ยม ถ้าคนนั้นเคยรู้จักกับพระอาจารย์สีทัตถ์ แม้เขาจะไม่รู้จัก ก็แสดงอาการสนิทสนมเหมือนกับคนที่เคยรู้จักกันมาช้านานแล้ว แต่ถ้าคนนั้นไม่เคยรู้จักพระอาจารย์ สีทัตถ์ แม้จะแนะนำให้เขารู้จัก เขาก็ไม่แสดงอาการสนิทสนม แสดงอาการอย่างคนธรรมดาที่เพิ่งรู้จักกัน

    เด็กคนนี้เมื่อมาอยู่กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการทดลองว่าเขาจะเคยบวชในชาติก่อนหรือไม่ จึงตัดสบงจีวรและย่ามเล็กๆ ให้ ทำทีบรรพชาให้เป็นสามเณร เขาแสดงอาการดีใจชื่นบานหรรษา ส่อว่ามีอุปนิสัยในการบวชมาแล้ว เมื่อบวชแล้วอดข้าวเย็นไม่ได้ ต้องสึกกินข้าวเย็นในวันนั้น (อายุ 5 ขวบ กับ 7 เดือน เกิดวันอังคาร แรม 5 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล วันที่ 7 ก.พ. ปี พ.ศ. 2493 เวลา 05.00 น. เศษ)

    จึงตั้งชื่อล้อเลียนเขาว่า “เซียงโมง” คนที่บวชเณรไม่ข้ามวันแล้วสึก ทางภาคอีสานเรียกผู้สึกจากเณรนั้นว่า “เซียง”

    เมื่อเหตุการณ์ตรงกับคำพยากรณ์ของพระอาจารย์สีทัตถ์ทุกประการดังที่เล่ามาตลอดถึงพฤติการณ์ของเด็ก ข้าพเจ้าจึงปลงใจ เชื่อว่าอาจารย์สีทัตถ์มาเกิดและระลึกชาติได้จริง

    ข้าพเจ้าจึงขอรับรองด้วยเกียรติยศและศีลธรรมว่า เป็นความจริงดังนี้กล่าวมามิได้เสกสรรปั้นแต่งขึ้น

    ขอส่งเรื่องนี้แก่ยุวพุทธิกะ เพื่อเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกลับชาติมาเกิดใหม่ของคน

    ท่านจบบันทึกเรื่องราวการกลับชาติมาเกิดของพระอาจารย์สีทัตถ์ไว้แต่เพียงเท่านั้น เรื่องราวจากนั้นคือ เซียงโมงอยู่กับท่าน 2 ปี หลังจากนั้นก็กลับไปอยู่กับคุณแม่สายบัว เติบใหญ่นาม ถวัลย์ อินทรกำแหง ตามสกุลคุณแม่สายบัว อินทรกำแหง พอเรียนจบมัธยมปีที่ 3 แล้ว ได้ไปรอทำงานอยู่ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก แต่ก็ไม่ได้งาน จึงกลับมาบวชเณรเมื่อปี 2512 ที่วัดจอมสี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โดยมีท่านพระครูชิโนวาทธำรงค์เป็นอุปัชฌาย์ แล้วก็ไปอยู่วัดเขาสวนกวางกับท่านเจ้าคุณเส็ง พออายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุ โดยมีท่านพระครูอินทรโสภณเป็นอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า โชติธัมโม

    ท่านว่า เจ้าคุณเส็งได้สอนให้ปฏิบัติกรรมฐานและสอนให้เร่งความเพียรให้หนัก พร้อมกับบอกว่า “ให้เพียรทำสมาธิเรื่อยๆ แล้วของเก่าจะกลับมา” แต่อยู่มาไม่กี่พรรษาก็หมดบุญออกมามีครอบครัว สุดท้ายก็กลับไปบวชอีกครั้ง

    หลายสิบปีก่อนโน้น พระถวัลย์ โชติธัมโม จำพรรษาอยู่ที่วัดวงศ์สนิทเมตตาราม อ.เมือง จ.ระยอง ก่อนจะเงียบหายไป

    สำหรับเจ้าคุณเส็งนั้น ถ้าได้ศึกษางานเขียนเกี่ยวกับเรื่องการบำเพ็ญภาวนาแล้ว เป็นที่ยอมรับกันว่าท่านเป็นนักปฏิบัติช่ำชองในเรื่องทิพยอำนาจ มีญาณรู้เห็นอะไรแปลกๆ

    หลวงพ่อพุธหนึ่งในผู้มีอดีตชาติวาสนาร่วมมากับท่านได้เล่าไว้ว่า เมื่อท่านนำหลวงพ่อพุธแต่ครั้งเป็นเณรมาจาก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มาถึง จ.อุบลราชธานี เป็นเหตุให้ได้พบและฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล แล้วนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 พระอาจารย์เสาร์ได้พาสามเณรพุธธุดงค์จากอุบลราชธานีเข้ามายัง กทม. ไปฝากตัวกับ ท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม แล้วพำนักอยู่ ณ อารามแห่งนี้ จนอายุได้ครบบวชในปี พ.ศ. 2485 จึงได้รับการได้รับฉายาว่า “ฐานิโย”

    2 ปีถัดมา ปี 2487 เกิดสงครามเอเชียมหาบูรพา พระพุธจึงกลับอีสาน 2 ปีจากนั้นก็อาพาธรักษาตัวไม่หาย จนปี 2490 จึงได้กลับไปอยู่กับเจ้าคุณเส็งที่เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ณ ที่นี่เองที่เจ้าคุณเส็งได้เล็งเห็นด้วยญาณแล้วบอกกับศิษย์รูปนี้ว่า “คุณอย่าประมาท รีบเร่งปฏิบัติเข้าให้มันได้ภูมิจิตภูมิใจ อนาคตคุณจะไปนั่งเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง”

    เจ้าคุณเส็งสอนอะไรหลายอย่างแก่ท่าน เช่น สอนมโนมยิทธิ ให้ไปนั่งดูนรก สวรรค์ ฯลฯ แต่หลวงพ่อพุธท่านว่า การปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติธรรมที่เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์นั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมา สมาธิตามหลักของพุทธศาสนา สัมมาสมาธินั้นจิตประชุมพร้อมลงสู่อริยมรรคแล้ว จิตจะดำเนินไปเพื่อความหมดกิเลสเท่านั้นไม่ได้พอกพูนกิเลส

    ทางแยกเช่นว่านี้ทำให้วิถีแห่งจิตและวิถีแห่งชีวิตของเจ้าคุณเส็งและหลวงพ่อพุธหรือเจ้าคุณชินวงศาจารย์ในกาลต่อมาแยกออกจากกัน
    ร่องรอยเช่นนั้นปรากฏมาตั้งแต่ปี 2490 แล้ว


    หลวงพ่อพุธ เล่าว่า วันหนึ่งในปีนั้น เจ้าคุณเส็งสั่งให้ท่านเอาของไปเซ่นศาลเจ้าปู่ผึ้ง เจ้าปู่ที่ว่านี้คือ ผีที่มาสิงคนที่นั่งสมาธิไปดูนรกสวรรค์แล้วบอกว่าอยากมาอยู่ใกล้ๆ เจ้าคุณเส็งเลยไปสร้างลูกศาลให้ ผีเจ้าปู่ก็สั่งว่าให้หลานผู้นี้คือ หลวงพ่อพุธเอาโอวัลติน ขนมปัง หมาก บุหรี่ไปส่งทุกวัน เจ้าคุณเส็งก็บัญชาให้ท่านทำตามนั้น เมื่อทำหลายวันเข้า หลวงพ่อพุธก็ว่า เอาไปวางไว้มดมันขึ้นเสียเปล่าๆ วันสุดท้ายท่านก็ว่า เห็นแต่มดมันกิน สู้เรากินมิได้กว่ารึ ว่าแล้วท่านจัดการเสียเรียบวุธ จากนั้นเก็บใบไม้ หญ้าแห้งเอาน้ำมันเบนซินมาราด แล้วจุดบุหรี่ไปวางไว้เหนือลม พอลมกระพือมา ไฟติดพรึ่บ ศาลวอดไม่เหลือ

    พอเจ้าคุณเส็งสั่งให้เอาเครื่องไว้ไปไหว้ศาลอีกในวันต่อมา หลวงพ่อพุธก็เรียนท่านว่า “หลวงปู่ท่านนิพพานไปแล้ว ผมฌาปนกิจ ถวายพระเพลิงท่านตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว”

    ข้างพระอาจารย์ฟังแล้วได้แต่อึ้ง พอฉันจังหันเสร็จก็เดินไป พอได้เห็นกับตาถึงกับอุทานว่า “เฮ้ย มึงไปเผาบ้านเจ้าปู่วอดวายหม๊ด”
    จุดเริ่มที่ทำให้ท่านทั้งสองมาพบกันคือ เส้นทางธรรม ผู้มาก่อนพร่ำสอนให้ผู้ตามหลังได้รู้จักธรรมะ ผู้อยู่หลังสำนึกในบุญคุณนี้ไม่รู้วาย

    หลวงพ่อพุธเองพูดอยู่บ่อยครั้งว่า “พระคุณของท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธารนี้ เลิศล้ำภายในจิตใจของอาตมาเสมอ เพราะท่านเป็นพระองค์แรกที่พาให้รู้จักทางธรรม ซึ่งเป็นทางที่สงบระงับ และเป็นทางเดินของจิตจริงๆ” (โลกทิพย์ ฉบับที่ 21 ปีที่ 2 เดือน พ.ย. 2526) แต่ก็น่าเศร้าที่เมื่อมาถึงทางแยกต่างก็ต้องจากกัน เพราะพลัดพรากกันในทางธรรม

    ผู้เป็นอาจารย์เจริญในธรรมมามากก็จริง เจริญในลาภได้เป็นถึงเจ้าคุณ มีสมณศักดิ์เป็นพระอริยคุณาธารก็จริง แต่สุดท้ายท่านก็ต้องสึกออกไป การสึกหาลาเพศของเจ้าคุณเส็งเป็นเรื่องใหญ่ราวแผ่นดินไหวในวงกัมมัฏฐาน เพราะเป็นพระผู้ใหญ่ของฝ่ายกัมมัฏฐาน |เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นซึ่งลือลั่นว่า สำเร็จมรรคผลนิพพาน

    บอกเล่าของหลวงพ่อพุธถึงแนวทางการปฏิบัติของเจ้าคุณพระอาจารย์ว่า “จริตนิสัยท่านไปในทางทิพย์อำนาจ ท่านติดฤทธิ์เดช ติดนิมิต เอานิมิตมาเป็นเรื่องจริง จิตท่านแปลกมาก สามารถรับรู้อะไรๆ ที่คนอื่นไม่รู้ และท่านก็ชอบเล่าเรื่องอดีตชาติ เรื่องเทวบุตร เทวดา...”

    ผู้เป็นพระอาจารย์หลงขนาดไหน หลวงพ่อพุธได้เล่าไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า “ท่านไปติดในเรื่องการระลึกชาติ ท่านไปติดว่าท่านเป็นเจ้า ทีนี้ความรู้อดีตกับปัจจุบันมันตัดกันไม่ขาด มันก็เลยสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน ท่านบอกว่าแม่ของท่านทุกวันนี้ไม่ใช่แม่ เขามาฝากเลี้ยงไว้เฉยๆ เราก็สงสัย พอแม่ท่านมาก็ถาม “ท่านเจ้าคุณฯ ท่านว่าไม่ใช่แม่ใช่มั้ย เขาเอามาฝากเลี้ยงไว้” แม่ท่านก็บอกว่า “ออกมาจากท้องแม่นี่แหละ” หลวงพ่อไม่ไปอยู่ใกล้ๆ ท่าน เวลาท่านพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องอดีตที่เราไม่รู้ไม่เห็นด้วย ตอนนั้นอยู่วัดเขาสวนกวางพรรษาเดียว ที่ไม่อยากอยู่นั่นก็เพราะท่านชอบพูดเรื่องลึกลับที่ชาวบ้านไม่เห็น แล้วเราก็ไม่อยากให้ท่านพูด ทิฏฐิมันขัดกัน”

    ถึงกระนั้นหลวงพ่อพุธก็ยืนยันว่า “ท่านก็ให้วิชาความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติเยอะแยะ ถ้าพูดถึงว่าธัมมะธัมโมของท่านนี่ละเอียดสุขุมมาก”

    ความรู้ที่เจ้าคุณเส็งรู้ก็ใช่ว่า ไม่ใช่เพ้อหรือเรื่องประสาทๆ หากแต่เป็นทางผ่านซึ่งต้องพ้นด้วยกำลังสติปัญญาอันบริสุทธิ์

    “เรื่องรู้วาระจิต ท่านรู้จริงๆ อันนี้มันไม่ใช่ความบริสุทธิ์ มันเสื่อมได้ เพราะมันเป็นส่วนเกินอันหนึ่งในการภาวนาเท่านั้น พอท่านไปสนใจกับมันมากๆ ก็ทำให้หลงได้เหมือนกัน เหมือนกันกับสมาธิ สมาธิไม่ใช่ความบริสุทธิ์ สมาธิมันก็สามารถเสื่อมๆ ได้ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นทางเดินไปเพื่อความหลุดพ้น ใครจะเดินไปก็ต้องผ่านทางนี้ แต่จะติดจะหลงหรือไม่เท่านั้น ถ้าผู้มีวิจัยธรรมใคร่ครวญพินิจพิจารณามีสติรอบด้าน มีปัญญารอบด้านก็จะไม่ติดสิ่งเหล่านี้...”

    ผู้มาก่อนหลงทาง ขณะผู้มาหลังผ่านพ้นไปได้

    เมื่อท่านเจ้าเส็งสึกแล้วก็พำนักที่เขาสวนกลาง และยังถือศีลภาวนาต่อไป เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงพ่อพุธก็จะคอยเฝ้าดูแลไม่ทอดทิ้ง แต่การดูแลรักษาก็เป็นไปในลักษณะเดียวนั่นคือ พอเอาตัวมารักษาดีขึ้นแล้ว หลานของท่านก็จะมารับไปรักษากับหมอจีนแล้วอาการก็ทรุดลงอีก หลวงพ่อพุธก็รับมารักษาอีก แล้วหลานก็มารับไปรักษาอีก แล้วก็ทรุดลงอีก

    ครั้งสุดท้ายที่เข้าโรงพยาบาล แพทย์ก็สั่งไม่ให้ออกโรงพยาบาลอีกแล้ว

    “ครั้งสุดท้ายก็เลยตายในโรงพยาบาล ท่านป่วยเชิงๆ จะเป็นอัมพาต ไปเยี่ยมทีไรร้องไห้ทุกที ถามว่า ‘ร้องไห้ทำไม’ ท่านบอกว่า ‘อายท่านเจ้าคุณฯ’ เราก็นึกถึงคำพูดของท่านสมัยที่ท่านเอาเรามาทิ้งไว้ที่วัดบูรพาฯ ก่อนที่ท่านจะจากไป ท่านบอกว่า ‘ถ้าตัวเป็นคนดีเขาจะทิ้งหรือ’ ไหนว่าจะฝากไว้เรียนหนังสือหนังหา ที่แท้ก็ทิ้งกัน ทิ้งก็ทิ้ง เราก็ตั้งใจอยากอยู่อยู่แล้ว เราก็เลยมาคิดว่าท่านคงคิดถึงคำพูดของท่านเองสมัยที่ท่านทิ้งเราไว้ที่วัดบูรพาราม...”

    เมื่อเจ้าคุณเส็งซึ่งสึกไปเป็นฤาษีถือศีลสิ้นชีวิต ศิษย์กตัญญูผู้นี้ได้ฌาปนกิจศพ และก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุไว้ที่เขาสวนกวาง

    ชีวิตของพระพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) เป็นชีวิตพิสดาร แต่ก็เป็นคติธรรมให้กับเราๆ ท่านๆ ได้เป็นอย่างดี

    ชาตินี้ศิษย์กับอาจารย์ต้องจากกันที่ทางแยก แต่สักวันหนึ่งด้วยบุญกุศลที่สั่งสมมาในอดีตชาติ ก็คงมีสักวันที่ท่านจะบรรลุซึ่งฝั่งฝัน

    พระอริยคุณาธาร(ปุสโส เส็ง)นาม"อริย"แต่ยังข้ามไม่พ้นฝั่งฝัน
     
  2. canopus

    canopus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กันยายน 2009
    โพสต์:
    86
    ค่าพลัง:
    +531
    อนุโมทนาครับ
    เคยได้อ่านหนังสือและเรื่องราวของท่านมาพอสมควร รู้ว่าท่านเป็นประเถระผู้ทรงคุณวิเศษรูปหนึ่งในสายหลวงปู่มั่น แต่เรื่องราวช่วงบั้นปลายชีวิตหลังจากสึกไปแล้วของท่านก็เพิ่งได้อ่านวันนี้เอง ขอบคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน
     

แชร์หน้านี้

Loading...