พระอริยสัจจ์ ๔ (ความจริงแห่งชีวิต)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NATdrp5995, 18 พฤศจิกายน 2023.

  1. NATdrp5995

    NATdrp5995 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    42
    ค่าพลัง:
    +133
    พระอริยสัจจ์ ๔ (ความจริงแห่งชีวิต)


    ข้อปฏิบัติในทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าไปพัวพันยึดถือทางสุดโต่งทั้งสอง ดังนี้

    ๑)กามะสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในการแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนี้

    ๑.หีโน เป็นของต่ำ

    ๒.คัมโม เป็นของชาวบ้าน , เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน

    ๓.โปถุชชะนิโก เป็นของคนกิเลสหนา

    ๔.อะนะริโย เป็นของผู้ไม่ใช่อะริยะ

    ๕.อะนัตถะสัญหิโต เป็นสิ่งหาประโยชน์ไม่ได้

    ๒)อัตตะกิลมถานุโยค คือ การประกอบตัวเองให้ตัวเองลำบากเกิน , ทรมานตนเองให้เดือดร้อน ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ดังนี้

    ๑.ทุกโข เป็นสิ่งนำมาซึ่งความทุกข์

    ๒.อะนะริโย เป็นของผู้ไม่ใช่อะริยะ

    ๓.อะนัตถะสัญหิโต เป็นสิ่งหาประโยชน์ไม่ได้

    ท่านจึงว่ามีพุทธภาษิตดังนี้

    “เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา

    ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ

    อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ”

    แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ไม่เข้าไปหาส่วนสุดแห่งการกระทำสองอย่างนั้น มีอยู่ เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เป็นไปเพื่อนิพพาน”



    อริยสัจจ์ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่ ๔ ประการดังนี้


    ๑)ทุกขอริยสัจจ์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้มีลักษณะเบียดเบียน ซึ่งความทุกข์แบ่งไว้เป็น ๑๑ ประเภทดังนี้

    ๑.ชาติ (ชาติปิ ทุกขา) คือ ทุกข์เพราะความเกิด การคลอดจากครรภ์มารดาเด็กได้ความลำบากอย่างไร น่ากลัวอันตรายอย่างไร ทุกข์เพราะความเกิดก็เป็นฉันนั้น

    ๒.ชรา (ชราปิ ทุกขา) คือ ทุกข์เพราะความชรา ความเสื่อม ความเสื่อโทรมของสังขารทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบากนานา ทั้งความอ่อนแรงอ่อนเพลีย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้า

    ๓.มรณะ (มรณัมปิ ทุกขัง) คือ ทุกข์เพราะความตาย ความสิ้นชีวิตมีมรณาอันกล้าแข็งนำหน้าเป็นทุกข์เพราะความตาย

    ๔.ความโศก (โสกะ) คือ ทุกข์เพราะความแห้งใจ

    ๕.ความคร่ำครวญรำพัน (ปริเทวะ)

    ๖.ความทุกข์กาย (ทุกขะ)

    ๗.ความทุกข์ใจ (โทมนัส)

    ๘.ความคับแค้นใจ (อุปายาสะ)

    ๙.ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก (อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข)

    ๑๐.ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก (ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข)

    ๑๑.ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นะ ละภะติตัมปิ ทุกขัง)

    กล่าวโดยย่อแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้เป็นความทุกข์

    ข้อ ๑ ถึง ๓ นั้นเรียกว่า สภาวทุกข์ เป็นทุกข์ประจำที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทั้งปวง ส่วนข้อ ๔ ถึง ๑๑ นั้นเรียกว่า ปกิณณกทุกข์ เป็นทุกข์เบ็ดเตล็ดอาจเกิดหรือไม่ก็ได้


    ๒)สมุทัยอริยสัจจ์ คือ เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ นั้นคือ ตัณหา ความทะยานอยาก ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้

    ๑.โปโนพภะวิกา คือ ทำให้มีภพเพิ่มขึ้นอีก

    ๒.นันทิราคะสะหะคะตา คือ เป็นไปในความเพลิดเพลินในกำหนัด

    ๓.ตัตระตัตราภินันทินี คือ ยินดีพอใจในอารมณ์นั้นๆ

    ตัณหาแบ่งเป็น ๓ ประเภท

    ๑.กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกามคุณทั้ง ๕ เป็นความมัวเมา ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย หรือบางท่านอธิบายว่า เป็นตัณหาที่ทำให้ติดในกามาวจรภูมิ

    ความระงับในกามตัณหาย่อมนำมาซึ่งความสุข ดัวพุทธวจนะว่า

    “อะนิจจา อัทธุวา กามา พหุทุกขา มหาวิสา

    อะโยคุโฬวะ สันตัตโต อะฆะมูลา ทุกขัปผะลา”

    แปลว่า “กามทั้งหลาย ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก ประดุจก้อนเหล็กแดง กามทั้งหลาย มีความคับแค้นเป็นรากเหง้า มีทุกข์เป็นผล”

    ๒.ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นโน่นเป็นนี้ ประกอบด้วย ภวทิฏฐิ หรือ สัสสตทิฏฐิ เห็นว่าทุกอย่างเป็นของเที่ยง หรือ บางม่านอธิบายว่า เป็นตัณหาที่ติดใน รูปาวจรภูมิ ยังข้องในรูปฌาน ๔

    ความอยากได้อำนาจราชศักดิ์ เป็นใหญ่เหนือผู้อื่นก็เป็นภวตัณหาเช่นเดียวกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธพจน์ว่า “อัตตา หะเว ชิตัง เสยโย” แปลว่า “การชนะตนเอง นั่นแหละประเสริฐสุด” การเป็นใหญ่เหนืออำนาจกิเลสของตนเองได้ ถึงจะเป็นผู้เป็นใหญ่โดยแท้จริง

    ๓.วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความปราศจากภพ เป็นความไม่ปรารถนาภพนี้แต่จะเอาอีกภพหนึ่ง รวมทั้งความไม่อยากมีไม่อยากเป็นต่างๆ ประกอบด้วย วิภวทิฏฐิ หรือ อุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าทุกสิ่งขาดสูญ หรือ บางท่านอธิบายว่า เป็นตัณหาที่ยังติดใน อรูปาวจรภูมิ หรือ ยังข้องในอรูปฌาน ๔

    วิภวตัณหานี้ต่างจาก นิพพิทา ในนิพพิทานั้นจะเบื่อหน่ายไปหมด เช่น เบื่อผู้หญิงก็จะเบื่อไปหมด ถ้าเป็นวิภวตัณหา จะเบื่อผู้หญิงคนนี้ แต่ไปชอบผู้หญิงคนอื่น ส่วนใหญ่นิพพิทามักตามมาด้วย วิราคะ คือความคลายกำหนัด , วิมุตติ คือความหลุดพ้น

    อีกนัยตัณหานั้นมี ๒ ประเภท

    ๑.วิสัตติกา ตัณหา คือ ตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ทั้ง ๖ ดังนี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และ ธรรมารมณ์ หรือ เรียกอีกอย่างว่า ตัณหา ๖ เป็นตัณหาในส่วนตื้นๆ

    ๒.วัฏฏมูลกา ตัณหา คือ ตัณหาที่เป็นมูลเหตุแห่งวัฏฏะ หมายถึง ตัณหานุสัย ที่นอนนิ่งในสันดานส่วนลึกของคน


    ๓)นิโรธอริยสัจจ์ คือ ความดับไปซึ่งความทุกข์ทั้งปวง มีลักษณะดังนี้

    ๑.อะเสสะวิราคะนิโรโธ คือ ความสำรอกตัณหา ความดับไปแห่งตัณหา

    ๒.จาโค คือ ความสละจากตัณหาทั้งปวง

    ๓.ปะฏินิสสัคโค คือ ความบอกคืนตัณหา , ความไม่เกี่ยวข้องกับภพต่างๆ

    ๔.มุตติ คือ ความหลุดพ้นจากตัณหา

    ๕.อะนาละโย คือ ความไม่อาลัยในตัณหาทั้งปวง

    นิโรธ เป็นอีกชื่อของพระนิพพาน เป็นไวพจน์ของกันและกัน

    นิพพานัง แปลตามตัวอักษรว่า ความออกจากตัณหา , ความดับกิเลส ,ความสงบระงับ ฯลฯ ความดับซึ่งตัณหา หรือ นิโรธ มี ๕ ประเภท

    ๑.ตทังคนิโรธ คือ ดับชั่วคราวด้วยวิปัสสนาญาณ เช่น การพิจารณาแยกนามรูปเพื่อระงับกิเลส

    ๒.วิกขัมภนนิโรธ คือ ดับด้วยอำนาจฌานข่มกิเลสเอาไว้ เช่นใช้ผลของฌานข่มนิวรณ์ ๕ เอาไว้

    ๓.สมุจเฉทนิโรธ คือ ดับขาดสิ้นไม่กำเริบอีกด้วยโลกุตตรมัคคะจิต

    ๔.ปฏิปัสสัทธินิโรธ คือ ดับด้วยความสงบระงับด้วยโลกุตตรผลจิต หมายถงกิเลสได้ดับไปแล้ว ไม่ต้องขวนขวายดับอีก

    ๕.นิสสรณนิโรธ คือ ดับสิ้นหมดแล้ว จบกิจพรหมจรรย์แล้ว , ภาวะนิสสรณนิโรธ นั้นคือ พระนิพพาน

    พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “นัตถิ สันติ ปะระมัง สุขัง แปลว่า ความสุขอย่างอื่นยิ่งกว่าความสงบระงับนั้นไม่มี” ความสุขในกามคุณนั้นเจือด้วยโทษมาก , ความสุขในฌานนั้น ยังเปลี่ยนแปลงได้ เสื่อมได้ แต่ความสุขในนิพพานนั้น เป็นสุขชั่วนิจนิรันดร์ สุขเหนือล้ำกว่าความสุขทั้งปวง

    นิพพาน มี ๒ ประเภท ดังนี้

    ๑.สอุปาทิเสสนิพพาน คือ ความดับกิเลสที่ยังเหลืออุปาทิอยู่ (อุปาทิ หมายถึงขันธ์ ๕)

    ๒.อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ความดับกิเลสที่ไม่มีอุปาทิเหลืออยู่

    สภาพแห่งพระนิพพาน

    “ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้น (คือพระนิพพานนั้น) ไม่ใช่ ดิน,น้ำ,ไฟ,ลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ , ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ , ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ , ไม่ใช่เนวะสัญญานาสัญญายตนะ , ไม่ใช่โลกนี้ , ไม่ใช่โลกอื่น , ไม่ใช่ดวงจันทร์ , ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ , ไม่ใช่การมาการไป, ไม่ใช่การดำรงอยู่ , ไม่ใช่การจุติและอุบัติ , อายาตนะนั้นหาที่ตั้งไม่ได้, ไม่เป็นไป , ไม่มีอารมณ์ , แต่อายตนะนั้นมีอยู่ นั่นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”

    hachiyo001.jpg
     
  2. NATdrp5995

    NATdrp5995 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    42
    ค่าพลัง:
    +133
    ๔)ทุกขะนิโรธะคามินีปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้ถวความดับแห่งทุกข์ หรือ พระนิพพาน เรียกว่า อริยัฏฐังคิกมรรค หมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ มีดังนี้


    ๑.สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ

    ๑-สัมมาทิฏฐิที่เป็น สาสวะ เป็นส่วนของบุญให้ผลเป็นขันธ์ มีดังนี้

    -ทานที่ให้แล้วมีผล

    -ยัญที่บูชาแล้วมีผล

    -สังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล

    -ผลหรือวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วนั้นมีอยู่

    -โลกนี้มีอยู่

    -โลกหน้ามีอยู่

    -มารดามีคุณจริง

    -บิดามีคุณจริง

    -สัตว์ที่เกิดแบบผุดขึ้นมีจริง (โอปปาติกะมีอยู่จริง)

    -สมณะพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติชอบมีอยู่

    ๒-สัมมาทิฏฐิที่เป็น อนาสวะ เป็นไปเพื่อมรรคผล

    -รู้ชัดในอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศล , รู้ชัดในกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล

    -รู้ชัดในอาหาร , เหตุเกิดแห่งอาหาร , ความดับแห่งอาหาร และ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร

    อาหาร ๔ คือ กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) , ผัสสาหาร (ผัสสะเป็นอาหารของเวทนา) , มโนสัญเจตนาหาร (เจตนา หรือ กรรม ชักนำมาซึ่งภพ) , วิญญาณาหาร (วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป)

    เหตุแห่งอาหาร นั้นคือตัณหา , ความดับแห่งอาหาร คือ ความดับแห่งตัญหา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารนั้นคือ อัฏฐังคิกมรรค

    -รู้ชัดในพระอริยสัจจ์ ๔

    -รู้ชัดในปฏิจจสมุปบาท


    ๒.สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ มีด้วยกัน ๓ ประการ

    ๑-เนกขัมมะสังกัปปะ หรือ เนกขัมมะวิตก คือ ความดำริออกจากกาม ออกจากความโลภ ไม่ยึดติดกับความอยาก

    ๒-อะพยาปาทสังกัปปะ หรือ อะพยาปาทวิตก คือ ความดำริออกจาก ความคิดประทุษร้าย ความเคียดแค้นชิงชัง

    ๓-อวิหิงสาสังกัปปะ หรือ อวิหิงสาวิตก คือ ความดำริออกจากความคิดเบียดเบียนผู้อื่น

    ๓.สัมมาวาจา คือ วาจาชอบ มีดังนี้

    ๑-มุสาวาทา เวรมณี คือ ไม่พูดโกหก พูดคำเท็จ

    ๒-ปิสุณายะ วาจายะ เวรมณี คือ ไม่พูดส่อเสียด ยุยง นินทา

    ๓-ผรุสายะ วาจายะ เวรมณี คือ ไม่พูดคำหยาบ คำด่า คำสบถ

    ๔-สัมผัปปลาปา เวรมณี คือ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ

    พูดวาจาที่เป็นสุภาษิต ได้แก่

    -วาจานั้นย่อมกล่าวถูกกาล

    -วาจาที่กล่าวเป็นคำสัตย์

    -วาจาที่กล่าวเป็นมธุรสวาจา

    -วาจาที่กล่าวเป็นประโยชน์

    -วาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต


    ๔.สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำชอบ มีดังนี้

    ๑-ปาณาติปาตา เวรมณี คือ งดเว้นจากการฆ่าและเบียดเบียนชีวิตสัตว์

    ๒-อทินนาทานา เวรมณี คือ งดเว้นจากการถือเอาของเขา โดยที่เขายังไม่ได้ให้

    ๓-กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย หรือ อพรัหมะจริยา เวรมณี คือ งดเว้นจากการทำลายพรหมจรรย์แห่งตน

    อีกนัยหนึ่งการกระทำชอบ คือ การงานดี การงานที่ชอบ ดังนี้

    การงานไม่อากูล คือ ไม่คั่งค้าง ไม่ทอดทิ้งเมื่องานยังไม่สำเร็จ ทำงานเสร็จตามกำหนดเวลาด้วยความบากบั่นพากเพียร การทำงานที่จะประสบผลสำเร็จ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

    ๑.ปฏิรูปการี คือ ทำการงานที่เหมาะสม คือ เหมาะแก่กาลสมัย เหมาะแก่สถานที่ เหมาะแก่บุคคล

    ๒.ธุรวา คือ ทำการงานอย่างเอาจริงเอาจัง

    ๓.อุฏฐาตา คือ มีความเพียรทำการงานที่คั่งค้างอยู่จนสำเร็จ


    ๕.สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง ทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริตไม่ผิดศีล ไม่ผิดกฎหมาย เว้นการแสวงปัจจัยมาบริโภคในทางที่ไม่ชอบ เช่น การหลอกลวงคดโกง , เว้นการประจบสอพลอ , การบีบบังคับขู่เข็ญ , การต่อลาภด้วยลาภ ฯลฯ

    เว้นจากการประกอบมิจฉาอาชีวะ ๕ อย่างนี้

    ๑-สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธต่างๆ

    ๒-สัตตวณิชชา คือ การค้าขาย มนุษย์ และ สัตว์ เช่น ค้าเด็ก ค้าทาส ใช้แรงงานอย่างทารุณ เป็นต้น

    ๓-มังสวณิชชา คือ การค้าขายเนื้อสัตว์ หรือขายทั้งเป็นเพื่อให้เขานำไปฆ่า

    ๔-มัชชวณิชชา คือ การค้าขายน้ำเมา เหล้าสุรา รวมทั้งสารเสพติดอื่นๆ

    ๕-วิสวณิชชา คือ การค้าขายยาพิษ เพื่อให้เขาไปฆ่ากัน หรือ ฆ่าตัวตาย , นำไปเบื่อเมาสัตว์ต่างๆ


    ๖.สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ เป็นผู้มีวิริยารัมภะ ความปรารภซึ่งความเพียร มีความอดทนในการทำความดี รอคอยผล มีความมั่นใจว่าทำดีแล้วย่อมได้ผลดี ความเพียรชอบที่ปรากฏในพระสูตร คือ สัมมัปปธาน ๔ หรือ ปธาน ๔ มีดังนี้

    ๑-สังวรปธาน คือ เพียรระวังอกุศลที่ยังไม่ได้เกิด ไม่ให้เกิด (ยับยั้งบาป)

    ๒-ปหานปธาน คือ เพียรละอกุศลที่เกิดแล้ว ให้หายไป (ลดละเลิก)

    ๓-ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิด (บังเกิดบุญ)

    ๔-อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และเจริญยิ่งขึ้น (บำรุงธรรม)


    ๗.สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ หมายถึง การมีสติสัมปชัญญะ การระลกรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่ในสภาวะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยพิจารณา กาย , เวทนา , จิต , ธรรม ตามแนวทางในสติปัฏฐาน ๔


    ๘.สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจชอบ หมายถึง จิตที่เป็นฌานตั่งแต่ รูปฌาน ๔ และ อรูปฌาน ๔


    อริยมรรค มีองค์ ๘ สรุปลงไตรสิกขา ได้ดังนี้

    อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา , สัมมากัมมันตะ , สัมมาอาชีวะ

    อธิจิตตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ , สัมมาสติ , สัมมาสมาธิ

    อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ , สัมมาสังกัปปะ


    กิจในอริยสัจจ์ ๔ คือ สิ่งที่ต้องทำต่อจาก อริยสัจจ์ ๔ แต่ละข้อ

    ๑.ปริญญา คือ ความกำหนดรู้ให้เห็นชัดตามสภาพความเป็นจริง เป็นกิจในทุกข์ คือ กำหนดรู้ทุกข์

    ๒.ปหานะ คือ การละ การขจัดให้หมดสิ้นไป เป็นกิจในสมุทัย คือ ละเลิกเหตุแห่งทุกข์

    ๓.สัจฉิกิริยา คือ การทำให้แจ้ง การเข้าถึง การบรรลุถึง เป็นกิจในนิโรธ คือ ทำให้แจ้งซึ่งความดับทุกข์ (ทำให้แจ้งในพระนิพพาน)

    ๔.ภาวนา คือ การเจริญ การอบรม การลงมือปฏิบัติ เป็นกิจในมรรค คือ การเจริญอบรมให้ถึงความดับทุกข์

    ญาณ ๓ ในพระอริยสัจจ์ มีดังนี้

    สัจจญาณ คือ เครื่องหยั่งรู้ ในการรู้ว่าความจริงอันประเสริฐมี ๔ ประการ

    กิจจญาณ คือ เครื่องหยั่งรู้ ในการรู้กิจ หรือหน้าที่ต่อ อริยสัจจ์ ว่าสมควรกระทำ

    กตญาณ คือ เครื่องหยั่งรู้ ในการรู้ว่ากิจในอริยสัจจ์ ได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้ว


    พระอริยสัจจ์ ๔ จึงมี ๓ ปริวัฏฏ์ ๑๒ อาการ ดังนี้ (นำเอา ญาณ ๓ มาคูณ กับ กิจในอริยสัจจ์ ๔ จะได้ ๑๒)

    ๑.ปริญญา

    ๑-ทุกขัง อะริยะสัจจันติ : อริยสัจจ์ คือ ทุกข์ เป็นอย่างนี้ (สัจจญาณ)

    ๒-ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ : อริยสัจจ์ คือ ทุกข์นั่นแล เป็นสิ่งควรกำหนดรู้ (กิจจญาณ)

    ๓-ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ : อริยสัจจ์ คือ ทุกข์นั่นแล ได้กำหนดรู้แล้ว (กตญาณ)

    ๒.ปหานะ

    ๑-ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ : อริยสัจจ์ คือ เหตุแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ (สัจจญาณ)

    ๒-ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ : อริยสัจจ์ คือ เหตุแห่งทุกข์ นั่นแล เป็นสิ่งควรละ (กิจจญาณ)

    ๓-ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ : อริยสัจจ์ คือ เหตุแห่งทุกข์ นั่นแล ได้ละแล้ว (กตญาณ)

    ๓.สัจฉิกิริยา

    ๑-ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ : อริยสัจจ์ คือ ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ (สัจจญาณ)

    ๒-ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ : อริยสัจจ์ คือ ความดับแห่งทุกข์ นั่นแล เป็นสิ่งควรทำให้แจ้ง (กิจจญาณ)

    ๓-ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ : อริยสัจจ์ คือ ความดับแห่งทุกข์ นั่นแล ได้ทำให้แจ้งแล้ว (กตญาณ)

    ๔.ภาวนา

    ๑-ทุกขะนิโรธะคามินี ปฏิปทา อะริยะสัจจันติ : อริยสัจจ์ คือ ข้อปฏิบัติแห่งความดับทุกข์ เป็นอย่างนี้ (สัจจญาณ)

    ๒-ทุกขะนิโรธะคามินี ปฏิปทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ : อริยสัจจ์ คือ ข้อปฏิบัติแห่งความทุกข์ นั่นแล เป็นสิ่งควรทำให้เจริญ (กิจจญาณ)

    ๓-ทุกขะนิโรธะคามินี ปฏิปทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ : อริยสัจจ์ คือ ข้อปฏิบัติแห่งความดับทุกข์ นั่นแล ได้ทำให้เจริญแล้ว (กตญาณ)

    พระอริยสัจจ์ ๔ จึงมี ๓ ปริวัฏฏ์ ๑๒ อาการดังนี้

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเทศนาว่า

    “ยะโต จะโข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติ

    ปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง”

    แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง มี ปริวัฏสาม อาการสิบสอง เช่นนั้น ในอริยสัจทั้งสี่ เหล่านี้ เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา เมื่อนั้น เราปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดา และมนุษย์”


    หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับอะไรไปบ้างไม่มากก็น้อย สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน จงมีแต่ความสุขความเจริญ คิดอะไรในทางกุศลขอให้สำเร็จสมประสงค์ทุกประการ


    ที่มาจากหนังสือ หลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา โดย อ.วศิน อินทสระ
     

แชร์หน้านี้

Loading...