พระเครื่องพ่อแก่เจ้าแสง มายอ ปัตตานี

ในห้อง 'พระเครื่อง วัตถุมงคล' ตั้งกระทู้โดย night_club, 16 กันยายน 2017.

  1. night_club

    night_club เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    710
    ค่าพลัง:
    +1,134
    แม้จะไม่ใช่ฤดูฝน แต่สำหรับปัตตานีแล้วยังคงเป็นวันที่มีฝนตกโปรยปรายสลับกับแสงแดดที่แผดจ้า ผมและเพื่อนๆ กำลังนั่งลุ้นอยู่บนรถระหว่างเดินทางบนถนนผ่านตัวเมืองปัตตานี ถึงเราจะมองเห็นแท่งปูนวางเรียงรายกันตามแนวขอบถนนสำหรับบรรเทาความเสียหายและป้องกันภัย แต่เราก็ยังคงเห็นผู้คนเดินไปมาขวักไขว่และใช้ชีวิตกันตามปกติ

    บริเวณกลางเมืองปัตตานีเราเดินทางผ่านอาคารแห่งหนึ่งที่คงเหลือซากปรักหักพังหลังจากถูกลอบวางระเบิด ภาพและบรรยากาศที่เห็นนั้นเป็นนัยยะบ่งบอกว่าปัตตานีคือหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายที่ถูกใช้เป็นสถานที่แห่งการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์

    พวกเรากำลังเดินทางไปอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีครับ

    “มายอ” แปลว่า “ต้นมะตูม”

    ข้อมูลทางภูมิศาสตร์บอกเราว่าอำเภอมายอ ตั้งอยู่ตอนกลางของจังหวัดปัตตานี มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียงคือ ทิศเหนือ ติดอำเภอยะหริ่ง ทิศใต้ ติดอำเภอทุ่งยางแดงและยะรัง ทิศตะวันออก ติดอำเภอปะนาเระ,สายบุรีและทุ่งยางแดง ทิศตะวันตก ติดอำเภอยะรัง ประชากรในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธ ภายในอำเภอมายอมีวัดไทยเพียงสองวัดคือ วัดประเวศน์ภูผา (บ้านตรัง) และวัดมาลีนิเวศน์ (มายอ)



    ตามข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นทำให้ก่อนการเดินทางครั้งนี้พวกเราต้องมานั่งทำการบ้านอย่างหนักกันอีกครั้งครับ โดยทุกคนในกลุ่มสรุปว่าการเดินทางไป “วัดประเวศน์ภูผา (บ้านตรัง)” พวกเราต้องใช้เวลาทุกวินาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะอำเภอมายอเป็นพื้นที่ที่อยู่ท่ามกลางระลอกคลื่นแห่งความขัดแย้งไม่ต่างไปจากอำเภอข้างเคียง เช่น ยะรัง ปะนาเระ สายบุรี ฯลฯ ดังนั้นการเตรียมตัวและเตรียมใจจึงต้องอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อม

    บนถนนมุ่งหน้าสู่อำเภอมายอ หลังจากที่ผ่านหน้าค่ายสิริธรมาได้ระยะหนึ่ง สิ่งที่เราพบเห็นมากที่สุดคือเครื่องกีดขวางสีส้มที่ถูกวางแนวสลับฟันปลา เพื่อให้รถที่แล่นผ่านไปมาลดความเร็ว ซึ่งการเลือกใช้เครื่องกีดขวางที่มากเป็นพิเศษของทางราชการ ทำให้การเดินทางของพวกเราค่อนข้างใช้เวลานานมากขึ้นกว่าที่ได้วางแผนไว้



    ก่อนการเดินทางครั้งนี้ คุณเพชรได้เล่าให้ฟังว่า “วัดประเวศน์ภูผา” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดบ้านตรัง”ตำบลตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี มี “พระครูมงคลประภาต (แสง จนทวณโณ)” หรือ “พ่อแก่เจ้าแสง”(ภาษาท้องถิ่น) เป็นเจ้าอาวาส ด้วยอายุที่มากถึง ๙๔ ปี ๗๓ พรรษา ทำให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระอาจารย์ที่ทรงคุณธรรมและมีอาวุโสมากที่สุดใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

    แต่จากสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ได้สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่มิใช่น้อย “วัดประเวศน์ภูผา” ซึ่งเดิมเคยเป็นวัดที่รวบรวมสรรพวิชาไสยศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง ได้ถูกบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงค่อยๆ กลืนกินความทรงจำของผู้คนไปทีละน้อย แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า “มนต์ขลังและพลังวัฒนธรรม” ของวัดแห่งนี้จะหมดไป

    เพราะในทุกวันนี้ “พ่อแก่เจ้าแสง” ท่านได้ใช้ความสามารถในเชิงไสยศาสตร์และจิตสาธารณะมาเป็นตัวสร้างกำลังใจและเชื่อมความสัมพันธ์ของชุมชนชาวไทยพุทธในพื้นที่รอบๆ วัด ที่มีอยู่เพียงร้อยกว่าหลังคาเรือน ได้ผ่อนคลายความวิตกกังวลและสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง





    ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าในพื้นที่ที่กฎปืนมีอำนาจมากกว่ากฎหมาย นอกจากกำลังทหารและอาวุธแล้วคงไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ดีไปกว่า พระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังนานาชนิด ซึ่งวัตถุมงคลและเครื่องรางต่างๆ ที่พ่อแก่เจ้าแสงได้สร้างและเสกขึ้นมา เป็นที่ยอมรับกันว่าสามารถช่วยให้ชาวบ้านและทหารรอดพ้นจากอันตรายต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจครับ

    พูดกันง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า “มหัศจรรย์แห่งเครื่องรางไทย” ได้สร้างประสบการณ์อย่างชัดเจนขึ้นที่วัดแห่งนี้ครับ

    ด้วยอายุของวัดที่ยาวนานร่วมกว่า ๒๐๐ ปีและยังคงต่อเนื่องยืนหยัดเป็นศูนย์รวมกิจกรรมและจิตใจของชาวไทยพุทธ ทำให้วัดบ้านตรังได้รับการขนานนามว่า “ธงธรรมที่โบกไสวอย่างมีชีวิต” และหากคำว่า “ชีวิต” หมายถึง“ความสืบเนื่อง” แล้ว วัดบ้านตรังก็ไม่ได้ต่างไปจากชีวิตในอดีตเลยครับ เพราะสิ่งปลูกสร้าง เสนาสนะภายในวัด ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่น ยังคงความมีเอกลักษณ์และความงามที่มากด้วยความหลากหลายครับ



    อย่างสิ่งปลูกสร้างเสนาสนะก็เช่น “หอไตร” ที่บริเวณยอดจั่วแกะเป็นลายกนกคล้ายรูปพญานาคอยู่เรียงรายกัน ได้ถูกใช้เป็นสถานที่เก็บพระไตรปิฎกไว้ให้พระภิกษุและประชาชนเข้ามาศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

    หรือจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น “การแสดงมโนราห์” ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการร่ายรำและการร้องที่ถูกผนวกเข้ากับความเชื่อในไสยศาสตร์ เช่น การเสกแป้งผัดหน้า การเสกเครื่องทรงและเครื่องประดับต่างๆ ฯลฯ ยังคงมีความต่อเนื่องผ่านอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ผ่านความเชื่อในศาสนาพุทธ ผ่านความเชื่อดั่งเดิมของชาวใต้และผ่านกาลเวลา จนเกิดการตกผลึกทางวัฒนธรรมกลายมาเป็นความงดงามที่อยู่คู่กับท้องถิ่น ก็ยังคงมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องกับพี่น้องชาวไทยพุทธในละแวกชุมชนวัดบ้านตรังแห่งนี้ครับ



    “มือข้าทั้งสิบนิ้ว สอดขึ้นหว่างคิ้วเหนือเกล้าเกศี

    ยกขึ้นวันทา ลูกจะร้องเรียกหาโนรามี

    แต่ก่อนเขาใจดี พอมาปีนี้ลูกหลานไม่เคยเห็น

    แต่ก่อนแต่ไร โนรามียอดใยน้ำใจเย็น

    ลูกหลานไม่หอนเห็น มาเล่นมารำเสียเถิดหนา

    มาเถิดโนรา มีฤกษ์งามยามดี เชิญพ่อมา......”

    เสียงกลอนบทเชิญมโนราห์พร้อมปีกลองที่ประโคมให้สอดคล้องกับบทร้องดังก้องขึ้นเพื่ออัญเชิญ ”ราชครูมโนราห์” ในงานบุญสรงน้ำ “พ่อแก่เจ้าแสง” เจ้าอาวาสผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดบ้านตรัง

    คุณยายท่านหนึ่งที่ปักหลักนั่งชมการแสดงมโนราห์อย่างอินในอารมณ์พร้อมกับเคี้ยวหมากหยับๆ ตาใสเป็นประกาย เล่าให้พวกเราฟังว่า เด็กๆ ที่กำลังร่ายรำมโนราห์อยู่นี้ล้วนเป็นลูกเป็นหลานที่สืบเชื้อสายมโนราห์มาจากบรรพบุรุษ พวกเสื้อผ้าเครื่องประดับและเครื่องดนตรีที่เล่นประโคมอยู่นี้ได้รับการอุปถัมภ์จากพ่อแก่เจ้าแสง แกว่าเป็นบุญของเด็กๆ ที่พ่อแก่เจ้าแสงท่านเมตตายื่นมือเข้ามาโอบอุ้ม



    “ชาวบ้านในพื้นที่ละแวกวัด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา มีรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเมื่อบรรพบุรุษของพวกเขาดำเนินชีวิตมาแบบนี้ การจะย้ายหรืออพยพไปแสวงหาโอกาสในที่ใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่ายๆ เลย ทุกวันนี้ก็ได้พ่อแก่เจ้าแสงนี่แหละ ที่เป็นขวัญกำลังใจของคนในพื้นที่ เด็กๆ ที่นี่มีฝีมือในการแสดงทุกคน”

    พี่ทหารที่ถือปืนยืนเฝ้ารักษาความปลอดภัยในงานบอกรายละเอียดคร่าวๆ

    แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายครับว่า ทุกวันนี้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต่างถิ่นบางคนมองว่ามโนราห์เป็นเพียงการแสดงชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเฉพาะท้องถิ่นในภาคใต้ ซึ่งความคิดนี้มันก็ไม่ใช่ว่าจะผิดไปเสียทั้งหมด เพียงแต่ว่ามันถูกน้อยไปหน่อยครับ

    เพราะเหตุว่าคนใต้โดยสายเลือดแล้ว มโนราห์ถือเป็นการแสดงชั้นเลิศเลยทีเดียว อีกทั้งวิธีการแสดงอย่างที่คนใต้ฝึกฝนกันมาก็ต้องถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่น่าอัศจรรย์ใจครับ ซึ่งการจะเล่นมโนราห์ให้ได้ดีนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เสียงดีหรือดนตรีไพเราะ ความสำคัญอยู่ตรงที่การจะเล่นมโนราห์ได้ดีต้องมีความเข้าใจ,ความเคารพในศาสตร์และวิถีของมโนราห์อย่างแท้จริง



    คุณเพชร ผู้เป็นทั้งล่ามและผู้นำทางของพวกเราเล่าว่า มโนราห์เป็นศาสตร์การแสดงที่นอกจากจะสืบทอดกันมาแบบสายเลือดแล้ว ยังเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยบารมีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกกันเข้าใจง่ายๆ ว่า “แรงครู” ซึ่งครูหมอมโนราห์นั้นจะแรงและลึกมาก หากว่าผิดครูหรือผิดธรรมเนียมปฏิบัติ ครูหมอมโนราห์ก็จะให้โทษ เช่นมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย หรือมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะตลอดเวลาอย่างหาสาเหตุไม่พบ

    บางคนใช้การแพทย์สมัยใหม่ที่ผ่านการยอมรับว่ามีความถูกต้องและสากลตามหลักวิทยาศาสตร์เข้าทำการรักษาแต่ก็ไม่ได้ผล จึงต้องย้อนกลับมารักษาในแบบดั้งเดิมพื้นบ้านที่เชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมของท้องถิ่น ซึ่งกรณีการผิดครูหมอมโนราห์ จะต้องใช้การรักษาเพียงวิธีเดียวคือการกราบขอขมาลาโทษ

    วีธีการรักษาโดยการขอขมาลาโทษนั้นก็คงเหมือนกันในด้านเนื้อหา คือเชิญครู แก้บน ฯลฯ แต่สาระแล้วคงเป็นเรื่องของแต่ละพื้นที่แต่ละความเชื่อ สำหรับพื้นที่นี้ (ละแวกวัดบ้านตรังและพื้นที่รอบๆ ) ก็จะพากันมาให้พ่อแก่เจ้าแสงทำการรักษาหรือแก้ไขด้วยพิธีกรรมที่วิทยาศาสตร์ก็ดูเหมือนจะหยั่งลงไม่ถึงครับ



    เพื่อนรุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ แกมีเนื้องอกขึ้นบริเวณหน้าผาก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย คุณแม่จึงได้พามาหาครูหมอมโนราห์รักษาด้วยวิธีการเหยียบไปบริเวณเนื้องอกนั้น ก็เหยียบอยู่สามวัน วันละครั้ง เนื้องอกก้อนนั้นก็ยุบตัวลง ทุกวันนี้บริเวณหน้าผากของเขายังมีรอยบุ๋มตรงจุดที่ครูหมอมโนราห์เหยียบ แกเล่าพร้อมกับชี้ให้ดูรอยแผลนั้น

    นอกจากนี้ยังมีเพื่อนของแก มีอาการคอบวมใหญ่มาก มารักษาโดยวิธีการเหยียบกับครูหมอมโนราห์ ก็ยุบและหายเป็นปกติจนถึงทุกวันนี้ครับ ซึ่งการรักษาโรคด้วยวิธีการแบบนี้มโนราห์อาวุโส ซึ่งส่วนมากจะมีความรู้ทางด้านไสยศาสตร์จะทำพิธีติดต่อกับครูหมอมโนราห์โดย “การเชื้อ” คือเชิญครูหมอมาสอบถามก่อนทำการรักษาครับ

    คุณเพชรเล่าว่าพ่อแก่เจ้าแสงท่านสืบสายวิชาทางด้านมโนราห์มาจาก โนรานุ่ม โนรานิ่ม โนราแคล้ว ซึ่งเป็นโนราที่มีชื่อเสียงมากในหัวเมืองปัตตานีสมัยก่อนมาอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวิชาเสกหวาย วิชาทำเชือกคล้องหงส์ วิชาคันธนูพรานบุญ เป็นต้น

    พ่อแก่เจ้าแสง จนทวณโณ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีรูปร่างสันทัดครับ ถึงในวันนี้ท่านจะมีอายุสูงและผ่านการผ่าตัดหัวเข่าทั้งสองข้าง แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ถึงอายุมากแต่ท่านก็สามารถฟื้นคืนสภาพและเดินเหินได้เหมือนคนปกติทั่วไป



    ใบหน้าของท่านที่สงบนิ่งในทีและดวงตาที่คมกริบราวกับพยัคฆ์ สามารถทำให้พวกเรารับรู้ได้ถึงความเป็นพระที่คงแก่วิชาจริงๆ สมแล้วที่คุณเพชรได้ให้ข้อมูลว่าท่านเป็นพระที่มีดีและมีตบะกล้าแข็ง สามารถสร้างและเสกของด้วยวิชาอาถรรพ์โบราณได้อย่างเชี่ยวชาญ

    ด้วยความเข้าใจภาษาท้องถิ่นของพวกเราที่มีน้อยมาก เรื่องราวของท่านที่เล่าผ่านล่ามจำเป็นได้ถูกถ่ายทอดออกมาว่า “พ่อแก่เจ้าแสง” มีชื่อเดิมว่า “แสง” นามสกุล“แก้วทอง” เกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๒ ท่านเป็นบุตรของ “คุณพ่อบุญทอง-คุณแม่แมะ แก้วทอง”อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๑ ปี ณ วัดประเวศน์ภูผา เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๘๓ โดยมี “พระครูสุวรรณไพบูลย์ (จันทร์ทอง)” เจ้าอาวาสวัดตะเคียนทอง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นพระอุปัชฌาย์



    ท่านเล่าว่าหลังจากที่เสร็จสิ้นการบวชแล้ว ท่านได้เข้าจำพรรษา ณ วัดบ้านตรัง ด้วยความที่ในสมัยนั้นอำเภอมายอมีสภาพไม่ต่างไปจากเมืองชายขอบ ความเจริญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การศึกษา ฯลฯ รวมไปถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ยังคงเดินทางเข้าไปไม่ถึง ชาวบ้านยังคงความเสถียรกับการดำรงชีวิตในรูปแบบเดิมคือความพอเพียง ดังนั้นทุกๆ ชีวิต ทุกๆ ลมหายใจ จึงดำรงอยู่ภายใต้กฎการพึ่งพาตนเอง

    ท่านว่าเมื่อได้เห็นสภาพของสังคมเป็นแบบนี้ ท่านจึงได้ตระหนักถึงความเป็นพระว่ามิใช่มีเพียงแต่ฉันอาหารและสวดมนต์เท่านั้น สิ่งที่จะแสดงให้ชาวบ้านมองเห็นถึงคุณค่าว่าการน้อมตัวลงกราบไหว้ของพวกเขาไม่ได้เป็นการไหว้แบบเสียมือ คือการที่พระต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม

    จากการตกผลึกความคิดดังกล่าว ท่านจึงได้ตัดสินใจหันมาศึกษาในเรื่องของคาถาอาคม ซึ่งพระอาจารย์องค์แรกที่สอนวิชาให้ท่านคือ “พ่อท่านทองแก้ว” ยอดพระขมังเวทย์แห่งวัดบ้านตรัง สิ่งที่พ่อท่านทองแก้วกำชับกับท่านเสมอๆ คือ ไสยศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่จะมาล้อเล่นหรือเป็นเรื่องที่เรียนเอาไว้เพื่ออวดตัว



    “ไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่แปลก วิชาเดียวกันสามารถทำให้เกิดได้ทั้งคุณและโทษ คาถาอาคมจึงเป็นพื้นฐานของธรรมะ พื้นฐานของคุณธรรมที่ฝังอยู่ในจิตใจของผู้เรียน ใช้ให้ดีก็มีแต่สิ่งดีๆ ใช้ในเรื่องไม่ดีก็มีแต่โทษและความเสื่อม”

    ด้วยไหวพริบปฏิภาณที่ดีเยี่ยม ทำให้ท่านสามารถเรียนรู้จากพ่อท่านทองแก้วได้อย่างแตกฉานและด้วยความเป็นผู้ใฝ่รู้ตลอดเวลาท่านจึงได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ของ “พ่อแก่เจ้าไชย” เจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง (ในขณะนั้น)

    ชะรอยพ่อแก่เจ้าไชยจะทราบอนาคตว่าวัดบ้านตรังแห่งนี้จะรุ่งเรืองด้วยบารมีของพระใหม่องค์นี้ ท่านจึงได้ถ่ายทอดสรรพวิชาโบราณต่างๆ ที่อยู่คู่กับวัดบ้านตรังมาแต่เดิม เช่น วิชาสั่งสูญ (ธนูสั่ง) การผูกหุ่นพยนต์ การทำความธนู ฯลฯ ให้แก่พ่อแก่เจ้าแสงจนหมดสิ้น

    ท่านเล่าว่า “พ่อแก่เจ้าไชย” เป็นพระที่สมถะ เรียบง่าย ความสามารถในด้านคาถาอาคมก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าพ่อท่านทองแก้วแต่อย่างใด ท่านว่าพ่อแก่เจ้าไชยได้สอนท่านทุกอย่าง ทุกตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในตำราอย่างเคร่งครัด

    โดยพ่อแก่เจ้าไชยได้ให้เหตุผลว่า วิชาเหล่านี้เป็นวิชาอาถรรพ์ ดังนั้นหากไม่รู้จริงสิ่งลึกลับที่แฝงอยู่ในวิชาจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่ทำวิชานั้น

    ท่านหยุดพูดและหันไปหยิบประคตเอวที่ได้ลงอักขระกำกับไว้

    “อันนี้เป็นวิชากายะพัน ตามชื่อคือวิชามหาอุดแต่มีความพิสดารตรงที่แฝงเร้นด้วยเรื่องเมตตา เรื่องนี้สามารถดูได้จากอุปเท่ห์การใช้ที่โบราณาจารย์ผู้รจนาได้บอกถึงคุณวิเศษของวิชาไว้ว่า เอาสายประคตคาดขวางไปทางซ้ายจะเป็นเมตตามหานิยม แต่หากต้องการให้เป็นมหาอุดหยุดปืนไฟ ต้องคาดขวางไปทางขวา”



    พ่อแก่เจ้าแสงขยายความให้ฟังว่า “กายะพัน” นี้เป็นหนึ่งในวิชาไสยศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ในตำราโบราณของวัดบ้านตรัง จริงอยู่ถึงมองดูแล้วมันจะเป็นแค่ประคตเอวที่นำมาลงอักขระและถักร้อยเข้ากับตะกรุด แต่กว่าจะทำสำเร็จได้แต่ละเส้นต้องใช้เวลานานมาก เพราะการทำต้องอาศัยองค์ประกอบ ฤกษ์ยามและพิธีกรรมตามที่ตำราได้ว่าไว้

    ท่านบอกว่า “กายะพัน” ทุกเส้นคือตัวแทนของท่าน ดังนั้นความสมบูรณ์ของอักขระและวิธีการทำจึงต้องทำให้มันถูกต้อง ท่านว่าเคยมีคนภายนอกติดต่อเสนอมาให้ท่านทำออกมาเยอะๆ แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธ เพราะในฐานะของผู้ทำที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้ที่นำไปใช้แล้ว ท่านยังต้องคำนึงด้วยว่าของสิ่งนี้จะตกไปอยู่ในมือของใคร ถ้าไปอยู่ในมือของคนไม่ดี เรื่องเลวร้ายต่างๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้



    ผมมองดูประคตเอวที่ถูกถักร้อยขึ้นเป็นเครื่องรางในมือท่าน มองดูพานทองเหลืองที่เต็มไปด้วย “หุ่นพยนต์”หน้าตาน่ารัก มองดูคุณลุงสูงวัยที่กำลังปั้น ”วัวธนู” และก็มองเลยไปที่ถาดใบใหญ่ซึ่งเวลานี้เต็มไปด้วยเม็ดกลมๆ ที่เรียกว่า “ลูกนูสั่งสูญ” แอบคิดในใจไม่ได้ว่าสิ่งที่ท่านและลูกศิษย์กำลังช่วยกันทำนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องของไสยศาสตร์แล้ว

    อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องยกชูขึ้นคือเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ด้วยเหตุที่ว่าวัฒนธรรมคือกระบวนการสรรสร้างที่สืบเนื่องมาจากการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมดีๆ นี่เอง

    ซึ่งถ้าเราไม่คิดมาก เปิดใจให้กว้างและมองทุกสรรพสิ่งในแบบองค์รวม คำว่า “เครื่องรางของขลัง”มันก็คือการตกผลึกทางความคิดของโบราณาจารย์ ที่ท่านได้คิด ประดิษฐ์และสร้างสรรเครื่องรางที่แตกต่างกันขึ้นมาที่ละประเภท โดยการอาศัยธรรมชาติของโลก ธรรมชาติของวิถีชีวิตมนุษย์ขึ้นมากำหนดให้ตรงตามความต้องการนั่นเอง

    ส่วนตัวแล้วผมมองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ความขลังเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของความสวยงาม เป็นเรื่องของ “ชีวิต” เลยทีเดียวครับ



    นอกเหนือไปจากเรื่องของเครื่องรางของขลังแล้ว พ่อแก่เจ้าแสงท่านยังมีดีและมีครูบาอาจารย์อีกหลายองค์ครับ อย่างเช่นการทำ “ผงนะปถมัง” ที่ท่านได้ศึกษามาจากพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ “พ่อท่านจันทร์ทอง แห่งวัดตะเคียนทอง” ซึ่งลูกศิษย์ของพ่อท่านจันทร์ทองและเป็นศิษย์น้องของพ่อแก่เจ้าแสงที่สร้างผงนะปถมังได้โด่งดังเป็นที่เลื่องลือก็คือ “พ่อท่านหวาน วัดลานควาย” ครับ

    ท่านเล่าว่า “ผงนะปถมัง” มีคุณวิเศษและอานุภาพมากมาย สามารถใช้ได้ทั้งทางเมตตาและคงกระพัน พระเกจิอาจารย์สายใต้ที่สร้างพระขึ้นจากผงนะปถมังและมีชื่อเสียงนอกจากพ่อท่านหวานแล้ว ก็ยังมีพ่อท่านมุ่ย วัดป่าระกำเหนือ อีกหนึ่งองค์ครับ

    ต้องยอมรับครับว่าช่วงเวลาที่พวกเราได้สนทนากับพ่อแก่เจ้าแสงค่อนข้างจะน้อย แต่สิ่งที่พวกเราได้รับรู้มากมายคือที่มาของความรู้ในคาถาอาคมต่างๆ ที่ท่านได้ร่ำเรียนมา ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับผมคือการได้พบว่าในความเป็น “พระ” ของพ่อแก่เจ้าแสง



    ท่านเป็นพระที่ใจดีอ่อนโยน ผิดกับใบหน้าที่นิ่งสงบราวกับพระพุทธรูป ท่านเอื้อเฟื้อและแบ่งปันธรรมะด้วยวิธีการง่ายๆ ซึ่งพวกเราสังเกตุได้จากการสอนลูกศิษย์และชาวบ้านแต่ละคนด้วยวิธีการแตกต่างกันไป

    มีบางครั้งที่พวกเราเผอเรอพูดจาเพ้อเจ้อไร้สาระเรื่องความขมังเวทย์ ท่านก็จะนั่งนิ่งเงียบ บางครั้งก็นั่งหันข้างและคุยไปในเรื่องอื่นท่านไม่ได้ให้ความสนใจหรืออวดอ้างในคุณวิเศษใดๆ ทั้งๆ ที่ท่านทำได้

    “ไหว้แม่ไหว้ป้า ที่นั้งหน้าเวที

    พรานอย่ายืนแข็ง ลองแหลงแลถี่

    ยืนเฉยพรรนี้ ไม่มีน้ำยา

    อย่าสนเลยแม่ อย่าแลดีหว่า

    หันหาโนรา หน้าตาชื่นบาน...”



    เสียงกลอนมโนราห์พร้อมปีกลองที่ประโคมให้สอดคล้องกับบทร้องยังคงดังก้อง คุณยายคนเดิมที่ปักหลักนั่งชมการแสดงมโนราห์อย่างอินในอารมณ์ยังคงเคี้ยวหมากหยับๆ ตาใสเป็นประกาย

    จำนวนผู้คนด้านหน้าเวทีเริ่มมากขึ้น ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยทักทายกันอย่างสบายใจ ดูเหมือนว่าความวิตกกังวลหรือความหวาดระแวงต่างๆ ได้ถูกปล่อยกองไว้นอกกำแพงวัด

    ว่ากันว่าบนถนนแห่งกาลเวลาอันยาวไกลของวัดประเวศน์ภูผา (บ้านตรัง) วัดชายขอบที่มีชีวิตเคลื่อนไหวและดำเนินไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตของผู้คน ความแตกต่างระหว่างวัดบ้านตรังกับวัดอื่นๆ ในพื้นที่หรือจังหวัดที่ปลอดภัยอยู่ตรงที่ ความเข้มข้นของความเป็นวัดที่ค่อนข้างพิเศษกว่าวัดอื่นๆ คือการเป็นวัดที่ต้องรับบทบาททางการเมืองอย่างไม่ได้ตั้งใจมาตลอด

    การที่วัดหรือชาวไทยพุทธแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้มิใช่เกิดจากการยอมสยบต่อภัยต่างๆ แต่พวกเขาอยู่ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในบารมีของ “พ่อแก่เจ้าแสง” พระผู้เป็นศูนย์รวมของจิตใจ เป็นธงธรรมที่คงโบกไสวอย่างมั่นคงในใจของทุกคน.....สวัสดีครับ



    ขอขอบคุณ พี่หลวงปอย วัดบ้านตรัง คุณเพชร ร้านเพชรฉลูกัณฑ์ สำหรับรายละเอียดและภาพถ่ายประกอบ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย กับภาพถ่าย เพื่อนต่อกับคำแนะนำและคุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรีสำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอครับ

    หมายเหตุ-ปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างและเสนาสนะหลายอย่างในวัดบ้านตรังอยู่ในสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา โดยเฉพาะขณะนี้ทางวัดกำลังซ่อมแซมอุโบสถเก่าของวัดที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี 200090bc3.jpg 200090bc3.jpg
     
  2. night_club

    night_club เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    710
    ค่าพลัง:
    +1,134
    20525980_1971081739838626_4605121467682299500_n.jpg 20431198_1971081726505294_3318870332104355599_n.jpg ขุนแผนผงพรายผีผูกพิมพ์เล็ก หลังตะกรุตเงิน พ่อแก่เจ้าแสง วัดบ้านตรัง อ มายอ จ ปัตตานี
    เปิดให้บูชาราคา 5,000 บาท ครับ สนใจสอบถามได้ครับ
    ใจร้อนโทร 0832935416 ไลน์ thanakitjoe



    สภาพคัดสวย ผมพรายผีผูกเพียบ ผังตะกรุตเงิน ยันต์พุทธอุดม้วนโลก (ยันต์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ) เสกด้วยนะดอกดิน (สุดยอดเรื่องเมตตามหาเสน่ห์ ของคณะลิเกนะดอกดิน)
    ขุนแผนพรายผีผูกนี้ จัดสร้างเนื่องจากหลวงปอย ศิษย์วัดบ้านตรัง บอกบุญหมอฝอร์ดบูรณพระอุโบสถวัดบ้านตรังและสร้างพระเจดีย์มายอ หมอจึงรับปากเป็นธุระในการหาปัจจัยถวาย 1 ล้านบาท เพื่อถวายวัดให้บูรณะพระอุโบสถให้แล้วเสร็จ ปัจจุบัน (ปี58)พ่อแก่เจ้าแสงท่านอายุ 98 ปี ท่านปรารภเรื่องการละสังขารของท่านเองว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน อยากเห็นการบูรณะอุโบสถให้แล้วเสร็จ ซึ่งทางหมอก็จัดหาเงินมาถวาย 1 ล้านบาท ให้วัดแล้วเสร็จไปเมื่อ 22 เมษายน 2558
    พ่อแก่เจ้าแสงเสกเดี่ยว แล้วได้นำมาเข้าพิธีฟ้าลั่นอีกรอบ มีทั้งพ่อแก่เจ้าแสง และพ่อท่านเขียว วัดห้วยเงาะเสกอธิษฐานร่วมกัน ได้เกิดปรากฏการณ์ ฟ้าคำราม ทุกท่านที่ไปร่วมพิธีได้ยินกันหมด
    พิมพ์เล็กจัดสร้าง 108 องค์ มวลสาร
    ว่าน 108 ผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ผงชิ้นส่วนในโบสถ์วัดพระแก้ว ผมพรายผีผูก ที่พ่อท่านหวานให้ไว้ซึ่งเป็นของอาถรรพ์ตามธรรมชาติ ผู้ใดมาตัดก้ไม่ขาด จนต้องนิมนต์พ่อท่านหวานมาทำพิธีตัดให้ และท่านได้เก็บรักษาไว้อย่างดีจนก่อนมรณภาพท่านได้ให้หมอมาเป็นมวลสารในการสร้างพระ ผมพรายผีผูก มีคุณสมบัติ เป็นคงกระพัน เมตตามหานิยม เมตตาค้าขาย เป็นของทนสิทธิ์ตามธรรมชาติ หายากจึงเป็นที่มาของการสร้างพระขุนแผน มายอ เปิดจองเพียง 2-3 วัน คนจองเต็มทั้ง 108 องค์ สภาพองค์นี้คัดสวย มวลสารเต็มๆ ผมพรายผีผูกโรยเยอะทั้งองค์ เรียกได้ว่า จิ๋ว และแจ๋วที่จะเป็นตำนานของวัดบ้านตรังอีกรุ่นหนึ่ง
    หลวงพ่อมะขามเฒ่าเเห่งเเดนใต้ (พ่อแก่เจ้าแสงแห่งวัดบ้านตรัง)
    เมื่อย้อนไปสมัยมายออำเภอเล็กๆในปัตตานี เมื่อปี2501 ยังมีพระวัยกลางคน ได้ทำพิธี นำเอาคนมาห่มผ้าเเล้วรดน้ำมนต์อาคมเสกคนจนกลายร่างเป็นจรเข้มาเเล้ว เเม้เสก หุ่นพยนต์จนขยับ เเม้เเต่วัวควายธนูอาคมขยับจนเขาหัก เเม้กระสุนคตก็สามารถยิงศิษย์วัดจนตกต้นไม้ก็มีมาเเล้ว เเม้เเต่ พระผู้เฒ่าอย่างพ่อท่านทอง วัดสำเภาเชย เวลาทำพระยังต้องให้ศิษย์มาขอผงลบจากพระนิรนามผู้นี้ตลอดมา นี่คือเสี้ยวหนึ่งของพระมหาเถราจารย์ผู้เฒ่า อย่าถามว่าท่านชื่ออะไรผมเล่าถึงเฉยๆว่าพระดียังมีอยู่ ว่าท่านคือตำนานที่มีลมหายใจ
    พระมหาเถระผู้เฒ่าเเห่งเมืองลังกาสุกะ
    มหาเถราจารย์ปลายด้ามขวาน อำเภอที่ลือลั่นเรื่องระเบิดมากที่สุดคือมายอ ท่านเปรียบเสมือนดวงประทีบเเห่งปลายด้ามขวานเป็นที่พึ่งทางใจชาวบ้าน ท่านสำเร็จวิชากระสุนคด เเละทำควายธนู ตำรับของวัดตกทอดมากกว่าสองร้อยปี สำเร็จวิชามงกุฏพระพุทธเจ้า นี่คือตำนานของพระมหาเถระในตำนานที่เหลืออยู่
    ท่านมางานพุทธาภิเษก วัดบวรนิเวศวิหาร วัดหลวงสำคัญนิมนต์ท่านมาเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่าพระเกจิต้องระดับอ๋องถึงจะนิมนต์อย่างเเน่นอนไม่ให้เสียชื่อวัด
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 กันยายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...