"พุทธศาสตร์ศึกษาโดยวิธีอุปมาอุปมัย เรื่อง วิธีทำบุญให้ได้ผลที่สุด"

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย พรายแสง, 3 พฤษภาคม 2005.

  1. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    [size=+1]
    [size=+1]พุทธศาสตร์ศึกษาโดยวิธีอุปมาอุปมัย เรื่อง

    "วิธีทำบุญให้ได้ผลที่สุด"
    (ตอนที่ ๒ การทำทาน)

    พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

    [/size]

    [/size]
    ว่าด้วยเรื่องเรื่องการทำบุญทำกุศลตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ" มีอยู่ ๑๐ อย่าง โดยได้จัดรวมเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ ทานมัย สีลมัย และ ภาวนามัย




    <DL><DD>๑. "ทานมัย" ได้แก่ การทำบุญด้วยการให้เงิน สิ่งของ ความรู้ และหรืออภัย <DD>๒. "สีลมัย" ได้แก่ การทำบุญด้วยการรักษาศีล มีความประพฤติดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ <DD>๓. "ภาวนามัย" ได้แก่ การทำบุญด้วยการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา </DD></DL>



    ในบทความนี้ ผมจะหยิบยกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "ทานมัย" มาขยายความให้ท่านผู้อ่านที่กำลังศึกษาและปฏิบัติธรรมเข้าใจในเรื่องนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เกิดปิติในผลบุญกิริยาที่ท่านได้กระทำลงไป และกำลังจะกระทำในโอกาสต่อไป

    ผู้ที่ได้ประกอบบุญกิริยาในลักษณะ "ทานมัย" (ต่อไปผมจะใช้คำว่า "การทำทาน" ซึ่งเป็นภาษาชาวบ้านทั่วไปฟังแล้วเข้าใจง่าย) นับได้ว่า เป็นผู้ที่ได้สร้างบารมีให้แก่ตนเองประการหนึ่งของบารมี ๑๐ ทัศ หรือ "ทศบารมี" ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติเมื่อครั้งยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะได้ทรงปฏิสนธิมาเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธิทัตถะ แล้วได้ตรัสรู้ในที่สุด




    คำว่า "บารมี" หมายถึง การกระทำที่ประเสริฐ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศลเจตนาคุณงามความดี ที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญซึ่งช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณได้ มี ๑๐ ประการ ดังนี้ <CENTER><TABLE style="WIDTH: 366px; HEIGHT: 117px" width=366><TBODY><TR><TD>๑. ทานบารมี</TD><TD>๒. สีลบารมี</TD></TR><TR><TD>๓. เนกขัมมบารมี</TD><TD>๔. ปัญญาบารมี</TD></TR><TR><TD>๕. วิริยบารมี</TD><TD>๖. ขันติบารมี</TD></TR><TR><TD>๗. สัจจบารมี</TD><TD>๘. อธิฏฐานบารมี</TD></TR><TR><TD>๙. เมตตาบารมี</TD><TD>๑๐. อุเบกขาบารมี</TD></TR></TBODY></TABLE></CENTER>


    ทานบารมี จัดได้ว่า เป็นบารมีพื้นฐานที่ช่วยเหลือสนับสนุนอุปการะให้การบำเพ็ญบารมีอื่นๆ เกิดความสำเร็จ และมีการบริจาค หรือการให้เป็นลักษณะ <DL><DT>คำว่า "ทาน" หมายถึง การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับจัดเป็น ๓ ประเภท คือ <DD>๑. ให้เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ เป็นการให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่าตนในอายุ กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เช่น การเลี้ยงดูบุตรธิดา ให้แก่ผู้ที่ยากจนขัดสน คนพิการทุพพลภาพ เป็นต้น การให้เพื่ออนุเคราะห์นี้มีความเมตตากรุณาเป็นมูล <DD>๒. ให้เพื่อสงเคราะห์ เป็นการให้แก่บุคคลในชั้นเดียวกันเสมอกัน เช่น เพื่อนฝูงมิตรสหาย เป็นต้น การให้เพื่อสงเคราะห์นี้มีความรักนับถือเป็นมูล <DD>๓. ให้เพื่อบูชาคุณ เป็นการให้แก่บุคคลที่ทรงคุณควรคารวะบูชา ได้แก่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ อุปัชฌาย์ ท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน หรือ ผู้ที่ทรงคุณวุฒิ การให้เพื่อบูชาคุณนี้มีความกตัญญู ความเคารพบูชาเป็นมูล </DD></DL>




    อนึ่ง การบริจาคทรัพย์เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาก็ดี บำรุงสาธารณกุศลทั่วไป เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สร้างถนน สร้างสะพาน ฯลฯ ก็อนุโลมเข้าในการให้เพื่อบูชาคุณเช่นกัน <DL><DT>การให้ทานดังกล่าวข้างต้นยังจำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ ได้แก่ <DD>๑. วัตถุทาน ได้แก่ การทำบุญด้วยการให้สิ่งของทรัพย์สมบัติของตนซึ่งรวมไปถึงการบริจาคชิ้นส่วนอวัยวะของร่างกาย เช่น การบริจาคดวงตา ไต โลหิต เป็นต้น <DD>๒. อภัยทาน ได้แก่ การทำบุญด้วยการช่วยชีวิตของคน หรือสัตว์ ให้พ้นจากอันตราย เช่น การบริจาคชิ้นส่วนอวัยวะของร่างกายดังกล่าวในข้อ ๑ เพื่อการช่วยเหลือให้คนป่วยรอดชีวิต การซื้อไถ่ชีวิตโค กระบือ การปล่อยนก ปล่อยสัตว์ที่นิยมกระทำกันในงานเทศกาลบุญต่างๆ <DD>๓. ธรรมทาน หรือ วิทยาทาน ได้แก่ การทำบุญด้วยการสอน การบรรยายเพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาความรู้ให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่าตน การแสดงธรรมเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจถึงบาปบุญคุณโทษ การจัดทำหนังสือ บทความ สื่อการสอน (เทปบันทึกเสียง) ทั้งทางโลกและทางธรรมแจกจ่ายเพื่อประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา และสาธารณกุศล โดยไม่หวังผลทางการค้า </DD></DL>


    ในคัมภีร์ สัททสารัตถชาลินี ได้กล่าวถึง อานิสงส์แห่งการให้ทานซึ่งแปลเป็นภาษาไทย ไว้ว่า

    บุคคล บำเพ็ญบุญ มีทานเป็นต้น ในปางก่อน ย่อมได้รับความสุขในบัดนี้เหมือนคนรดน้ำที่โคนต้นไม้ (ต้นไม้นั้น) ย่อมให้ผลที่ยอด (คือปลายกิ่ง) ฉะนั้น

    สรุปได้ว่า ผู้ที่ทำบุญด้วยการให้ทานเป็นนิจ เป็นนิสัย เจตสิกของท่านผู้นั้นย่อมได้รับการฝึกและพัฒนาเกิดเป็น "อัปมัญญาเจตสิก" ให้เฝ้าคอยกระตุ้นจิตให้ระลึก มีอารมณ์ มีความสงสารเห็นใจผู้ที่กำลังได้รับทุกข์เวทนา มีความอยากที่จะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์ที่กำลังได้รับอยู่ หรือ กำลังจะได้รับ ไม่นิ่งดูดายต่อทุกข์ของผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เขาได้รับทุกข์กาย ทุกข์ใจ อยู่เป็นประจำ บังเกิดเป็นเจตสิกที่เรียกว่า "โสภณเจตสิก" กระตุ้นให้จิตเป็นกุศลระลึกแนบแน่นอยู่กับความดีงาม ปราศจากความเร่าร้อน ตั้งอยู่ในศีลธรรม เว้นจากการกระทำบาป ทุจริตต่างๆ อยู่ตลอดเวลา สามารถประหาร "โลภเจตสิก" ที่คอยกระตุ้นให้จิตมีตัณหาอารมณ์มีความกระหายทะเยอทะยาน อยากได้อยากเป็น ได้เป็นอย่างดี จึงส่งผลให้เกิดกุศลเจตนาขึ้น ตั้งใจประกอบแต่กุศลกรรมแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นประจำ ที่เรียกว่า "พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม" ซึ่งสามารถส่งผลหรือวิบากได้รุนแรงรองลงมาจาก "ครุกกรรม" ดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วในตอนที่ ๑



    ผมขอยกตัวอย่างที่จะช่วยทำให้เข้าใจคำว่า "อัปมัญญาเจตสิก" ที่ได้เกิดขึ้นแก่ตนเอง โดยที่บางครั้ง ท่านผู้ที่มีอารมณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โดยเจ้าของอารมณ์เองก็อาจไม่รู้ตัว คือ เมื่อได้รับฟัง รับทราบข่าวจากรายการวิทยุ โทรทัศน์ และ/หรือ หนังสือพิมพ์ว่า ได้เกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ เช่น เกิดอุทกภัย หรือ แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขึ้นในเมืองลิมา ประเทศเปรู ที่อยู่ห่างไกลจากบ้านเราไปแสนไกล เป็นเหตุมีผู้คนลูกเล็กเด็กแดง คนเฒ่า คนแก่ ต้องประสบทุกข์เวทนาล้มตายจากภัยพิบัติครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้จิตของเรารู้สึกสลดหดหู่ มีความเมตตาสงสาร เกิดความกรุณาอยากจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือต่อบุคคลเหล่านี้ สิ่งที่กระตุ้นให้จิตเกิดอารมณ์ในลักษณะ "อัปมัญญาเจตสิก" ซึ่งเป็นกุศลเจตสิกที่อยู่ในกลุ่ม "โสภณเจตสิก" ขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าสัตว์โลกที่เราระลึกถึงนั้นจะอยู่ไกลแสนไกลก็ตาม การแผ่เมตตาให้แก่สัตว์ที่ได้ร่วมเกิด ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมโลก ที่พระท่านได้อบรมสั่งสอนให้แก่ผู้ที่ศึกษา และปฏิบัติธรรม ถือเป็นกิจวัตร์ประจำวันภายหลังการประกอบการบุญการกุศลแล้ว จึงเป็นการพัฒนา "อัปมัญญาเจตสิก" ให้หมั่นคอยกระตุ้นจิตให้เกิดอารมณ์เป็นกุศลอยู่เป็นประจำนั่นเอง <DL><DT>ส่วนคำว่า "โลภเจตสิก" นั้นก็มีความหมายในตัวอยู่แล้ว เพราะคำว่า "โลภ" เป็นคำศัพท์ที่เราได้เคยยิน เคยฟังอยู่เป็นประจำวันอยู่แล้ว แต่ท่านผู้ที่กำลังศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่พึงเข้าใจด้วยว่า ในพระอภิธรรมนั้น ท่านได้จำแนกลักษณะของคำว่า "โลภ" ออกไปถึง ๑๐ ประการ โดยจัดเป็น ๓ กลุ่ม คือ <DD>๑. กามตัณหา ได้แก่ ความกระหาย มีความกำหนัดอยากได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ เช่น อยากได้รถยนต์หรูๆ ราคาแพง อาทิ ยี่ห้อจากัวร์ เดมเลอร์ ปาเจโร มาเป็นของตน ด้วยอิทธิพลของ "โลภเจตสิก" ก็กระตุ้นให้จิตไปคิดหาช่องทางพลิกแพลงให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ จะโดยวิธีใดก็ตาม ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ใช้อำนาจหน้าที่กระทำสิ่งที่ผิดกฏหมายบ้านเมืองดังที่ปรากฏเป็นข่าวกันอยู่ในขณะนี้ <DD>๒. ภวตัณหา ได้แก่ ความกระหาย มีความกำหนัด อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ เช่น อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ "โลภเจตสิก" ก็คอยกระตุ้นจิต ให้ไปคิดหาช่องทางพลิกแพลงให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา จะโดยวิธีใดก็ตาม ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป บ้านเมืองประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ล่มจมอย่างไร ก็ไม่สนใจ คอยจ้องจะเสียบ ปัดแข้งปัดขาฝ่ายรัฐบาล โดยออกหน้าออกตา อ้างว่า ทำหน้าที่ของฝ่ายค้านคอยคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน <DD>๓. วิภวตัณหา ได้แก่ ความไม่อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากทำ ความอยากตาย เบื่อโลก ความอยากพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่พึงปรารถนา มีอาการยึดถือความเห็นผิดว่า เป็นสูญ ไม่เชื่อเหตุ ไม่เชื่อผล ไม่เชื่อกฏของกรรม เป็นอารมณ์ เช่น เห็นว่า จะทำบุญให้ทานไปทำไม ทำไปแล้วก็สูญเปล่า หรือ เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่หนึ่งใดที่ตนไม่สพอารมณ์ ไม่พึงปรารถนา แทนที่จะใช้สติสัมปชัญญะ ใตร่ตรองด้วยเหตุ ด้วยผลว่า ทำไม ผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุนให้ตนไปดำรงตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ มีเกียรติยศ มีลาภผลไหลมาเทมา ก็บังเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากทำงาน อยากลาออก หรือ พยายามวิ่งเต้นไปผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไป รวมทั้งนักการเมือง ขอรับการสนับสนุนแต่งตั้งให้ได้รับแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งอื่น ถึงแม้ว่า จะต้องเสียเงินค่าวิ่งเต้นเท่าไรก็ยอม ดังนี้เป็นต้น </DD></DL>


    "โลภเจตสิก" จึงจัดอยู่ในกลุ่มอกุศลเจตสิกที่คอยกระตุ้นให้จิตมีตัณหาอารมณ์มีความกระหายทะเยอทะยาน อยากได้อยากเป็น อยู่ตลอดเวลา และสามารถทำลายล้าง หรือผ่อนบรรเทาได้ด้วย "อัปมัญญาเจตสิก"

    การทำบุญด้วยการให้ทาน โดยเฉพาะเรื่อง วัตถุทาน นั้น ไม่จำเป็นต้องให้ หรือบริจาคด้วยเงินทองทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก บริจาคตามกำลังทุนทรัพย์ หรือกำลังศรัทธาของตนก็เพียงพอแล้ว ขอเพียงแต่ให้ปฏิบัติเป็นนิสัยเป็นประจำ และเมื่อบริจาคแล้วมิได้หวังผลตอบแทนเป็นเกียรติยศชื่อเสียง เหรียญตรา เมื่อบริจาคแล้ว ในใจมีแต่ความอิ่มเอิบ เจริญด้วยเมตตา ปลื้มปิติในการกระทำของตนก็เป็นการเพียงพอแล้ว หากปฏิบัติได้เช่นนี้ ผู้ปฏิบัติย่อมจะได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงเหลือคณานับ

    ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ได้แสดงข้อเปรียบเทียบของอานิสงส์ของการให้ทานไว้ดังนี้

    การมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าสร้างวิหารทานถวายสงฆ์

    การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานศีล ๕ มีผลมากกว่าการมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

    การที่มีจิตเจริญด้วยเมตตาแม้เพียงเวลาชั่วสูดของหอมมีผลมากกว่าการมีจิตเลื่อมใสสมาทานศีล ๕

    สำหรับท่านที่มีจิตศรัทธาเป็นกุศล และมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบรูณ์พอสมควร ผมขอ แนะนำให้สละเวลาไปบริจาคโลหิตที่สภากาชาดไทย หรือที่โรงพยาบาลที่ใกล้เคียง เพราะผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเงินทองที่ตนมีอยู่ ทั้งเป็นการให้ทานซึ่งเข้าลักษณะวัตถุทาน และอภัยทาน ควบคู่กัน และหากได้บริจาคอยู่เป็นประจำด้วยแล้ว ย่อมจะบังเกิดเป็นอานิสงส์ที่ส่งผลรุนแรงมาก

    อนึ่ง ยังมีการเข้าใจผิดกันอยู่มากว่า การบริจาคโลหิตนี้จะบั่นทอนสุขภาพตนเองเพราะต้องเสียโลหิตไปครั้งละมากๆ บางคนเป็นโรคกลัวเข็ม (ที่ใช้ในการเจาะดูดเลือด) กลัวเจ็บ ในฐานะที่ผมได้เคยบริจาคโลหิตอยู่เป็นประจำมาก่อน จึงขอทำความเข้าใจและยืนยันว่า การบริจาคโลหิตแต่ละครั้งนั้น ผู้บริจาคจะมีสุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากความรู้สึกปิติที่เกิดขึ้นเมื่อได้ระลึกว่า เรากำลังทำหน้าที่ช่วยชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังได้รับความทุกข์ทรมานด้วยโรคาพยาธิ หรืออุบัติภัย ในด้านสุขภาพทางกายนั้น โลหิตของผู้บริจาคจะได้รับการตรวจสอบดูแลจากแพทย์โลหิตทันทีว่า มีไขมัน น้ำตาล และองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะสร้างปัญหาทางสุขภาพให้แก่ผู้บริจาคหรือไม่เพียงไร หากตรวจพบ แพทย์จะให้คำแนะนำวิธีป้องกันบำบัดรักษาได้ทันท่วงที เกี่ยวกับปริมาณของโลหิตที่ต้องบริจาคในแต่ละครั้ง ประมาณ ๓๐๐ ซี.ซี.นั้น ก็มิใช่จะมากมายนัก กล่าวกันว่า การสูญเสียโลหิตของสตรีในรอบเดือนแต่ละครั้งยังมีปริมาณสูงกว่ามากมายนัก และเรื่องความเจ็บปวดเมื่อถูกเข็มแทงเจาะเลือดนั้น มดกัด ยุงกัดยังเจ็บกว่า

    ในบทสวด มงคลสูตร ที่เราได้ยินพระท่านสวดในงานพิธีมงคลต่างๆ (เมื่อพระเริ่มสวด "....อะเสวนา จะ พาลานัง...." แล้วเจ้าภาพจะจุดและประเคนเทียนทำน้ำมนต์ถวายพระสงฆ์องค์ประธาน) ได้กล่าวถึง วิธีการสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองไว้ ๓๘ ประการ ในจำนวนนี้ ได้รวมถึงเรื่อง การบูชาผู้ที่ควรบูชา การบำรุงอุปถัมภ์บิดามารดา การสงเคราะห์บุตรและภรรยา การให้ทาน การสงเคราะห์ญาติพี่น้อง การเคารพ การกตัญญูรู้คุณ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในข่ายการให้ทานทั้งสิ้น จึงเป็นการยืนยันได้ว่า การทำบุญด้วยการให้ทานแต่ละครั้งจะสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองได้นานาประการอย่างแน่นอน

    ในบทความตอนนี้ จะเห็ว่า มีคำศัพท์บาลีที่น่าสนใจ และสมควรจดจำเพิ่มขึ้นอีก ๒ คำ คือ "อัปมัญญาเจตสิก" และ "โลภเจตสิก" คำว่า "อัปมัญญา" นี้แปลว่า "การแผ่กระจายออกไปยังสัตว์ทั้งหลายได้อย่างยิ่งใหญ่ไพศาล หาประมาณมิได้" ซึ่งได้แก่ "พรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา" นั่นเอง

    "พรหมวิหาร" แปลว่า "ที่อยู่ของพรหม" ดังนั้น ผู้ที่มีความศรัทธา มีความเพียรหมั่นศึกษา ปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตของตนให้ยึดมั่น ตั้งเจตนาถือปฏิบัติตามหลัก "พรหมวิหารสี่" อยู่เป็นประจำ เป็นนิสัย เช่น การทำทาน การแผ่เมตตา ฯลฯ ก็ควรจะกล่าวได้ว่า ท่านผู้นั้นได้เป็นบุตร เป็นทายาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงได้รับการขนานพระนามจากหมู่พราหมณ์ว่า "พรหมกาย" ดังปรากฏใน อัคคัญญสูตร,ทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์, พระสุตตันตปิฎก ที่ว่า



    ".....ผู้ใดมีความมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต ผู้นั้นย่อมควรที่จะกล่าวว่า เราเป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม อันธรรมสร้างเป็นธรรมทายาท (ผู้รับมรดกธรรม) ทั้งนี้ เพราะคำว่า ธัมมกาย (กายธรรม) พรหมกาย (กายพรหม) และผู้เป็นธรรม ผู้เป็นพรหม นี้เป็นชื่อของตถาคต




    <CENTER>("พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน",สุชีพ ปุญญานุภาพ, มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ) </CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER>



    เอามาจากที่นี่ http://www.dabos.or.th
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 4 พฤษภาคม 2005

แชร์หน้านี้

Loading...