ลลิตวิสตรพุทธประวัติมหายาน ตอน ความพยายาม

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 24 พฤษภาคม 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    ลลิตวิสตรพุทธประวัติมหายาน ตอน ความพยายาม
    อัธยายที่ 02
    [​IMG]
    สมุตสาหปริวรฺโต ทฺวิตียะ

    ชื่อสมุตสาหปริวรรต(ว่าด้วยความพยายาม)

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาธรรมทั้งหลายนั้น ธรรมบรรยายมีนามว่า ลลิตวิสตร อันดีงาม จัดอยู่ในประเภทพระสูตรชื่อมหาไวปุลย (มีอรรถอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง) มีเท่าไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ธรรมบรรยายมีนามว่าลลิตวิสตรอันดีงามจัดอยู่ในประเภทพระสูตรชื่อมหาไวปุลยชื่อมหาไวปุลย(มีอรรถอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง)นั้น เป็นของพระโพธิสัตว์ผู้สถิตย์อยู่ในภพอันประเสริฐชื่อว่าดุษิต(สวรรค์ชั้นดุสิต)มีผู้ที่นับถือได้บูชาแล้ว ได้ปราบดาภิเษกแล้ว มีเทพยาดาตั้งแสนสดุดีชมเชยพรรณนาสรรเสริญ ได้อภิเษกแล้ว มีความตั้งใจสูง มีปัญญาอันมาจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งปวง มีดวงตาคือญาณอันบริศุทธกว้างขวางเป็นอันดี มีปัญญากว้างขวางอันบ่มด้วยสมฤติ มติ คติ และธฤติ บรรลุบารมีอย่างยอดยิ่งอันเป็นอุปายโกศลใหญ่ยิ่ง คือทาน ศีล กษนติ วีรยะ ธยานะ และปรัชญา(*) เป็นผู้ฉลาดในพรหมบถ(พรหมวิหาร)คือมหาไมตรี กรุณา มุทิตา อุเบกษา เป็นผู้บรรลุสุดยอดอันสมบูรณ์ยิ่งในโพธิปักษธรรมทั้งปวง คือสฤตยุปัสถานะ สัมยักปรหาณ ฤทธิปาท อินทรีย์ พละ โพธยังคะ และมรรค ซึ่งเป็นธรรมมุ่งตรงต่อชญานทรรศนะ (เห็นด้วยญาณ) เห็นแจ้งธรรมที่เป็นสังคณะ (เกลศแทรกซึม) และอาวรณะ(อวิชชาเครื่องกำบัง) แห่งอภิญญา มีพระกายประดับด้วยลักษณะ(32ประการ)และอนุพยัญชนะ(80ประการ)อันเพียบพร้อมไปด้วยบุณยสัมภาร หาประมาณมิได้ ประพฤติตามธรรมตลอดกาลนาน พูดอย่างใดทำอย่างนั้นมีวาจีกรรมไม่มดเท็จ ทีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้ มีใจซื่อตรง ไม่คตเคี้ยวกลับกลอก ไม่มีอะไรขัดขวาง ปราศจากมานะ ความมัวเมา ความหยิ่งจองหอง ความกลัว ความทุกข์ทั้งสิ้น มีใจสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งปวง (ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง) มีพระพุทธเจ้าตั้งแต่แสนล้านโกฏินับไม่ถ้วนเข้ามานั่งรอบๆ มีพระพักตร์อันพระโพธิสัตว์จำนวนมากตั้งแสนล้านโกฏิมองแล้วมองอีก มีพระยศเป็นที่ชื่นชมยินดีของหมู่ อินทร์ พรหม อิศวร โลกบาล เทวดา นาค ยักษ์ คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กินนร งูใหญ่ รากษส เป็นผู้ฉลาดในบท ประเภท นิเทส อสังคะ ประติสัมพิทะ และอวตารชญานทั้งปวง เป็นผู้ได้รับมนตร์ธารณีอันไม่ฟุ้งสร้าน ไม่สิ้นสุดไม่มีขอบเขต เป็นภาชนะ คือ สมฤติอันรองรับพุทธภาษิตทั้งปวงได้เป็นนายพาณิชใหญ่ บรรทุกธรรมนาวาขึ้นสู่ระวางด้วยสินค้า คือ ธรรมรัตนะได้แก่ สมฤตยุปัสถาน สัมยักประหาณ ฤทธิปาท อินทรียะ พละ โพธยังคะ มรรค บารมี อุปายโกศล และบุณยมุ่งที่จะข้ามโอฆะทั้ง 4 มีความประสงค์เฉพาะหน้าที่จะกำจัดมานะ บำราบลัทธิอื่นทั้งหมดอย่างเต็มที่ ดำรงอยู่ในฐานเป็นยอดนักรบ ทำลายล้างหมู่ศัตรูคือเกลศ มีวัชราวุธอันประเสริฐ คือชญานเป็นเครื่องประหารเข็มแข็ง ทรงเป็นดอกบัวคือมหาบุรุษ มีรากเหง้า คือจิตตรัสรู้ มีลำก้านคือมหากรุณา สูงด้วยอัธยาศัย (คือมหากรุณาประจำอยู่ภายในใจ) รดด้วยน้ำคือความเพียรอันลึกซึ้ง มีช่อดอกคือความฉลาดในอุบาย มีเกสร คือโพธยังคธยาน (ฌานเป็นองค์ตรัสรู้) มีใยคือสมาธิ บัวนั้นเกิดดีแล้วในสระที่มีน้ำใสสะอาด คือหมู่แห่งคุณธรรมทั้งหลาย มีกลีบปราศจากมลทินอันแผ่กว้างดังดวงจันทร์เพ็ญไม่มีรอยรั่วคือปราศจากความมัวเมาและความถือตัว มีกลิ่นหอมตลบไปในทิศทั้งสิบกลิ่นหอมนั้นคือศีล ศรุต (การเล่าเรียนสดับฟัง) ปรสาทะ (ความเลื่อมใส) เจริญแล้วด้วยชญานในโลก ไม่เปรอะเปื้อนด้วยโลกธรรมทั้ง 8 มีกลิ่นหอมอันกระจายไปด้วยปุณยสัมภาระและชญานสัมภาระ (สะสมบุญและสะสมชญ๗นมีจำนวนมาก) เป็นบัวสัตบรรณ (100กลีบ) อันรุ่งเรืองบริศุทธพิเศษยิ่ง บานแล้วด้วยรัศมีแห่งอาทิตย์คือปรัชญาชญาน ทรงเป็นชายชาตรีสิงห์ผู้ร่ายมนตร์อย่างดียิ่งเบ่งกระแสมนตร์ออกไปคือมีฤทธิบาท 4 มีเล็บเขี้ยวอันคมดีคืออารยสัตย์ 4 มีดวงตาประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 มีศีรษะอันสงเคราะห์ดีแล้วด้วยสังครหวัสตุ 4 มีกายสูงขึ้นตามลำดับด้วยการตรัสรู้ประตีตยสมุตปาทมีองค์ 12 มีกลุ่มขนคอคือการตรัสรู้อวิทยาอันเกิดดีแล้ว สมบูรณ์พร้อมแล้วด้วยโพธิปักษธรรม 37 ประการ มีปากอ้าหาวลมคือวิโมกษ 3 มีแววตาใสบริศุทธคือศมถะและวิทรรศนา อาศัยอยู่ในถ้ำซอกภูเขาคือธยาน วิโมกษ สมาธิ และสมาบัติ มีต้นไม้อันเจริญงอกงามดีแล้วอยู่ในสวนอุทยานคืออิริบททั้ง 4 อันแช่มช้อยละมุนละม่อม มีกำลังอันเจริญด้วยการฝึกซ้อมคือทศพล(**) (กำลัง 10)และไวศารัทยะ(***) (ความกล้าหาญ4) ปราศจากความครั่นคร้ามสยดสยองในความเจริญและความเสื่อม ระงับหมู่คณะกระต่ายป่า และมฤคคือพวกเดียรถี บรรลือมหาสีหนาทคือเปล่งเสียงประกาศ ในราตมยะ(อนัตตา) ทรงเป็นมหาบุรุษชายชาติดวงตะวันที่ส่องแสงร้อนแรงด้วยรัศมีแสงสว่างคือบุณยในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ข่มแสงหมู่หิ่งห้อยคือพวกเดียรถีด้วยรัศมีแสงสว่างคือปรัชญาอันมีวิมุกติและธยานเป็นภาคพื้น มีวีรยะ(ความเพียร) เป็นกำลังเผาผลาญเครื่องมือแห่งความมืดซึ่งได้แก่ความมืดมนคืออวิทยา ทรงเป็นมหาบุรุษเทียบเท่าดวงจันทร์ลดตัวลงในปักษ์ข้างแรม ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับในปักษ์ข้างขึ้น เป็นที่อิ่มใจและน่าดูไม่เคืองนัยน์ตา ประดับด้วยหมู่ดวงดาวคือเทวดาตั้งแสนตน มีธยาน วิโมกษ และชญานเป็นขอบวงกลม แผ่ซ่านรัศมีจันทร์อย่างสุขสบายคือโพธยังค์(องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้)

    *ตามนิกายมหายานมี บารมี 6 อย่าง และคำว่าปรัชญาในที่นี้เป็นคำสันสกฤตเขียนว่า ปฺรชญา ตรงกบคำมคธว่า ปัญญา แปลเป็นไทยว่าปัญญาหรือความรู้ คำอังกฤษว่า Intellectual หาใช่ปรัชญาตามที่กระทรวงศึกษาธิการแปลออกมาจากคำอังกฤษว่า Philosophy ไม่

    **ทศพละคือ ญาณมีกำลัง 10 อย่าง ได้แก่ 1ฐานาฐานญาณ ญาณกำหนดรู้ฐานะและอฐานะ 2 วิปากญาณ ณาณกำหนดรู้ผลแห่งกรรม 3 สัพพัตถคามีนีปฏิทาญาณ ญาณกำหนดรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวง 4นานาธาตุญาณ ญาณกำหนดรู้ธาตุต่างๆ 5 นานาธิมุตติกญาณ ญาณกำหนดรู้อธิมุตคือ อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายต่างๆกัน 6 อินทรียปโรปริยัตตญาณ ญาณกำหนดรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย 7 นานาติสังกิเลสาทิญาณ ญาณกำหนดรู้อาการมีความเศร้าหมองเป็นต้นแห่งธรรม มีญาณเป็นต้น 8 ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ญาณกำหนดระลึกขาติหนลังได้ 9 จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นต่างๆกันโดยกรรม 10 อาสวักขยญาณ ญาณรู้จักทำอาสวะให้สิ้น

    ***ไวศารัทยะ 4 คือ ไม่มีใครท้วงโดยธรรมในฐานะ 4 อย่างคือ 1 ปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะแต่ยังมิได้ตรัสรู้ 2 สํกิเลสธรรมเป็นอันตรายนิรวาณ 3 ผู้ปฏิบัติธรรมไนราณิกี คือ ธรรมเป็นเครื่องนำออกจากวัฏสงสารจะห่างไกลนิรวาณ 5 มีประหาณชญานคือชญานรู้ความสิ้นอาศวะทั้งปวง

    คลี่ขยายดอกกุมุท (บัวก้านอ่อน) คือคนที่มีความรู้สามัญและที่มีความรู้พิเศษ แวดล้อมตามลำดับชั้นด้วยหมู่ดาวที่ส่องแสงคือชุมนุมชน(บริษัท) 4 จำพวก (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ประกอบด้วยรัตนะคือโพธยังค์ 7 อย่าง ประกอบด้วยดวงจิตมีความรู้สึกสม่ำเสมอในสรรพสัตว์ไม่เลือกหน้า มีความรู้ตลอดปลอดโปร่งไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวาง ทรงประพฤติพรตและตบะคือกุศลกรรมบถ 10 ประการ ทรงตั้งพระทัยที่จะบรรลุถึงธรรมอันวิเศษมั่งคงสมบูรณ์ยิ่ง ทรงอุบัติในวงศ์สกุลแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งเป็นผู้ยังจักรรัตนะคือพระธรรมอันประเสริฐของพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ให้หมุนจักรรัตนะนั้นเคลื่อนไปโดยไม่มีอะไรขัดขวาง ทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยพระธรรมรัตนะทั้งปวง คือ ปรตีตยสมุตปาท อันลึกยากที่จะหยั่งถึง ไม่ล่วงละเมิดขอบเขตคือชญานและศีลเริ่มขึ้นอย่างใหญ่โตกว้างขวางฟังแล้วไม่รู้อิ่ม มีพระเนตรดั่งว่ากระพุ้งดอกบัวหลวงมีความรู้กว้างขวางทรงไว้ซึ่งความประเสริฐดั่งว่าทะเล มีพระหทัยเสมอด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม ทรงพระกำลังแข็งแรงมั่นคงไม่สะเทือนเทียมเท่าภูเขาสุเมรุ เมื่อแนะนำก็ไม่ทอดทิ้งละเลยด้วยความโกรธ มีความรู้ผ่องใสไพบูลย์ ไม่จำนน กว้างขวางเหมือนพื้นแผ่นฟ้า มีพระอัธยาศัยบริศุทธยิ่ง ทรงให้ทานเป็นอันดี ทรงประกอบความดีมาก่อนแล้ว ทรงสร้างสมภารเป็นอย่างดี ทรงประทานตราเครื่องหมายคือความสัตย์ ทรงแสวงหากุศลมูลทั้งปวง ทรงมีวาสนาได้อบรม ทรงมีกุศลมูลทั้งปวงดั่งว่า บรมคติคือทางดำเนินอันสูงสุด ทรงกลั่นเอาแต่กุศลมูลทั้งปวงอันนำมาเสร็จสรรพแล้วนั้นในกัลปซึ่งมี 7 อสงไขย(*) ทรงให้ทาน 7 อย่าง ทรงประพฤติประกอบในบุณยกริยาวัสตุ 5 อย่าง ทรงประพฤติสุจริตด้วยกาย 3 ด้วยวาจา 4 ด้วยใจ 3 ทรงประพฤติประกอบด้วยกุศลกรรมบถ 10 และการให้ทาน ทรงประพฤติฝึกฝน สัมยักประโยค(คือกัมมัฏฐาน) ประกอบด้วยองค์ 40 (**) ทรงประพฤติปฏิบัติใฝ่พระหทัยใน สัมยักปรณิธาน (คือ ในหลักสมาธิอันสุขุมโดยชอบ) ประกอบด้วยองค์ 40 ทรงประพฤติปฏิบัติใน สมยัคธยาศยะ (คือ ธรรมเป็นเครื่องอาซัยของจิตโดยชอบ ประกอบด้วยองค์ 40 ทรงประพฤติบำเพ็ญ สัมยัควิโมกษ (คือ ความหลุดพ้นจากอำนาจใดๆทั้งสิ้น อันเป็นอิสระโดยชอบ) ประกอบด้วยองค์ 40 ทรงประพฤติธรรมอันตรงต่อ สัมยัคธิมุกติ (ได้แก่ ความถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจใดๆทั้งสิ้นอันชอบ) ประกอบด้วยองค์ 40 ทรงประพฤติถือบวชตามอย่างในสำนักพระพุทธเจ้า สีสิบแสนโกฏินิยุตะ (***) ทรงประพฤติถวายทานในสำนักพระพุทธเจ้าห้าสิบห้าแสนโกฏินิยุตะ ทรงประพฤติบำเพ็ญอธิการ (สะสมบารมี) ในพระปรัตเยกพุทธสี่ร้อยโกฏิกึ่ง ทรงประพฤติช่วยให้สัตว์ถึงสวรรค์นิรวาณมีจำนวนนับไม่ถ้วน ทรงมุ่งต่อการตรัสรู้ อนุตตรสัมยักสัมโพธิ แต่ยังติดอยู่เพียงทรงอุบัติอีกชาติเดียว ทรงเป็นผู้ซึ่งจุติจากมนุษยโลกนี้แล้วประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุษิตเป็นเทวะบุตรสูงสุดทรงพระนามว่า เศวตเกตุ มีหมู่เทพยดาทั้งปวงพากันมาบูชาโดยเข้าใจว่าเทวะบุตรเศวตเกตุองค์นี้ เมื่อสิ้นรัศมีจากสวรรค์ชั้นดุษิตแล้วจะอุบัติในโลกมนุษย์ ไม่ช้าก็จะตรัสรู้ อนุตตรสัมยักสัมโพธิ คือ ปรัชญาตรัสรู้โดยชอบอย่างสูงสุด

    * อสงไขย 7 คือ นันทอสงไขย , สุนันทอสงไขย , ปฐวีอสงไขย , มัณฑอสงไขย , ธรณีอสงไขย , สารอสงไข , ปุณฑริกอสงไขย

    ** กัมมัฏฐาน 40 คือ กสิณ 10 อสุภ 10 อนุสสติ 10 อัปมัญญา 4 พรมหวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถานะ 1

    *** นิยุตะมีมาตราว่า ร้อยโกฏิเป็นอยุตะ ร้อยอยุตะเป็นนิยุตะ

    เมื่อพระโพธิสัตว์ประทับอย่างเป็นสุขในมหาวิมานนั้น อันตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 หมื่น 2 พันชั้น ประดับด้วยเรือนยอดพื้นปราสาทอันมีบรรลังก์ ประตู ซุ้มประตูมีลวดลาย หน้าต่าง ยกฉัตร ธงชัย ธงปฏาก ตาข่ายกระดิ่งแก้ว ภู่ห้อยเพดาน เป็นพืดติดต่อด้วยดอกมณฑารพและมหามณฑารพ เดียรดาษกลาดเกลื่อนไปด้วยเสียงขับลำทำเพลงของนางอัปสรตั้งหมื่นแสนโกฏิ งามด้วยรัตนพฤกษ์ คือ จำปาออกดอกบานแฉล้ม แคฝอย ทองหลาง จิกน้อย จิกใหญ่ อโศก ไทย มะขาม ประดู่ กรรณิกา สารภี รัง ปกคลุมด้วยตาข่ายทองคำ งามด้วยหม้อใหญ่ใส่น้ำเต็ม งาด้วยจัดระเบียบสม่ำเสมอ มีพระพายรำเพยพัดดอกมะลิพุ่มเหมือนดวงดาวมีแสงสว่างอันเทวดาตั้งหมื่นแสนโกฏิหันหน้ามามอง เป็นเครื่องทำลายเกลศคือกำลังแห่งความยินดีในกามด้วยบทเพลงคือธรรมอันใหญ่ยิ่งไพบูลย์ เป็นเครื่องบำบัดความโกรธ ความหงุดหงิดใจ มานะ ความมัวเมา ความจองหองอันครอบงำอยู่แล้ว เป็นเครื่องให้เกิดความอิ่มใจ ความเลื่อมใส ความชื่นใจ ความเพียรสูงและสติปันไพบูลย์ พระองค์ประทับอย่างเป็นสุขแล้ว เมื่อการแสดงธรรมอันใหญ่ยิ่งนั้นดำเนินไปแล้ว ก็ได้มีคาถาเหล่านี้เปล่งออกมาด้วยการอัดตัวของกุศลกรรมในปางก่อนของพระโพธิสัตว์ โดยการบรรเลงดนตรีขับร้องของเทวดาตั้ง 8 หมื่น 4 พัน ตน เหล่านั้นอย่างเซ้งแซ่ ว่า

    1 ข้าแต่พระองค์ผู้สะสมบุณยอันไพบูลย์มีสติ มีมติ กระทำแสงสว่าง คือปัญญาหาที่สุดมิได้ องอาจแกล้วกล้าไพบูลย์ด้วยกำลังไม่มีใครเทียมเท่า ขอพระองค์จงระลึกถึงคำพยากรณ์ของพระทีปังกรพุทธเจ้า ฯ

    2 ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระหทัยหามลทินมิได้อย่างไพบูลย์ ขอพระองค์งจงทรงระลึกถึงโทษในการมัวเมาที่ได้สงบลงแล้ว เพราะละมลทินทั้ง 3 นั้นได้อย่างถึงขนาดเท่ากับเป็นผู้มีจิตงามบริศุทธปราศจากมลทินประพฤติติดต่อกันมาในภพทั้ง 3 เหมือนเส้นเชือก ฯ

    3 ข้าแต่พระองค์ผู้มีวงศ์ตระกูลสูง มีความเพียร มีกำลัง มีธยานและปรัชญา ซึ่งได้ปฏิบัติมาแล้วนับด้วยหมื่น(โกฏิฉ ปัลป ขอพระองค์จงทรงระลึกถึง ศมถะ ศีลพรต คือการสมาทานศีล กษมา(การอดทน) และทมะ(การข่มอินทรีย์) ฯ

    4 ข้าแต่พระองค์ผู้มีเกียรติหาที่สุดมิได้ เมื่อพระองค์จะทรงกรุณาต่อสรรพสัตว์ ขอพระองค์จงทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้ง 3 นับจำนวนเป็นหมื่นๆ ซึ่งเขาได้บูชากันมาแล้ว นี่ก็ถึงเวลาแล้ว ขอพรองค์อย่าได้เพิกเฉยเสียเลย ฯ

    5 ข้าแต่พระองค์ผู้รู้วิธีจุติ ผู้กำจัดชรา มรณะ และเกลศ ผู้ปราศจากธุลีคือ เกลศ เทวดา อสูร นาค ยักษ์ คนธรรพ์ ทั้งหลายเป็นอันมากเขาตั้งตาคอยอยู่แล้ว ขอพระองค์จงจุติ จุติเถิด ฯ

    6 ถึงพระองค์จะยินดีอยู่ในที่นี้ตลอด 1000กัลป ก็ไม่มีอิ่มในทิพยสมบัติ เหมือนทะเลไม่อิ่มน้ำ ดังข้าพเจ้าขอโอกาส ขอพระองค์จงอิ่มปรัชญาและยังประชุมชนทั้งหลายผู้กระหายอยู่นานแล้วให้อิ่มปรัชญาด้วยเถิด ฯ

    7 ถึงแม้พระองค์มี(ความมี)ยศไม่ถูกติเตียน ยินดีอยู่ในสภาพเป็นที่ยินดีคือธรรม ไม่ยินดีในกามก็จริง แต่พระองค์ผู้มีพระเนตรไม่ขุ่นมัว ขอจงอนุเคราะห์โลกพร้อมทั้งเทวโลกต่อไปเถิด ฯ

    8 ถึงแม้เทพยดาตั้งหมื่นฟังธรรมของพระองค์แล้วไม่รู้อิ่มก็จริงแต่พระองค์จงมองดูสัตว์ที่อยู่ในอบายซึ่งจะได้รับความคุ้มครองป้องกันจากพระองค์อีกต่อไป ฯ

    9 ถึงแม้พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส เห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายในโลกทั้ง 10 ทิศ และฟังธรรมอยู่แล้วก็จริง แต่พระองค์ก็จงจำแนกธรรมอันประเสริฐนั้นในโลกนี้ด้วย ฯ

    10 ข้าแต่พระองค์ท่าน ถึงแม้พิภพดุษิตจะงามด้วยสง่าราศีแห่งบุณยของพระองค์ก็จริง แต่พระองค์ก็จงมีพระทัยประกอบด้วยความกรุณาโปรยฝน (คือธรรม) ให้ตกลงมายังชมพูทวีปอีกต่อไปเถิด ฯ

    11 เทวดาทั้งหลายที่ยังมีรูปธาตุ คือมีรูปร่างอยู่เป็นอันมาก สละกามธาตุได้แล้วต่างพากันยินดีไปทั่วหน้า ขอให้พระองค์ประพฤติเพื่อสำเร็จผล ประสบความตรัสรู้เถิด ฯ

    12 งานของมารพระองค์กำจัดได้แล้ว พวกเดียรถีย์อื่นๆพระองค์ก็ชนะแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่ง เวลานี้ เป็นเวลาที่พระองค์ตรัสรู้สภาพทั้งมวล ขออย่าเพิกเฉยเสียเลย ฯ

    13 เมื่อโลกลุกโชนด้วยไฟคือเกลศ ข้าแต่พระองค์ผู้กล้าหาญ ขอพระองค์จงเป็นเหมือนเมฆฝนโปรยคืออมฤตธรรมดับไฟเกลศของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

    14 พระองค์เป็นแพทย์ มีความรู้ฉลาดในธาตุต่างๆ พระองค์เป็นผู้มีความสัตย์ เป็นแพทย์อย่างแท้จริง ขอพระองค์จงรีบบำบัดผู้ป่วยเป็นโรคมานานด้วยยาคือวิโมกษ 3 ให้เขาอยู่ในความสุขคือพระนิรวาณ ฯ

    15 สุนับจิ้งจอก เมื่อไม่ได้ยินเสียงคำรามของราชสีห์ ก็ยังไม่นึกกลัว พากันเห่าคำรามด้วยเสียงคำรามของสุนัขจิ้งจอก ขอพระองค์จงบรรลือสีหนาทของราชสีห์คือเสียงของพระพุทธเจ่า คุกคามให้สุนัขจิ้งจอกคือพวกเดียรถีย์อื่นๆสะดุ้งตกใจ ฯ

    16 พระองค์ผู้มีประทีปคือปรัชญาอยู่ในพระหัตถ์ อุบัติขึ้นมาด้วยกำลังแห่งพละและวีรยะในพื้นแผ่นดิน พระองค์จงตบแผ่นดินด้วยฝ่ายพระหัตถ์อันประเสริฐ ชนะมารเสียเถิด ฯ

    17 เทพผู้เป็นโลกบาลทั้ง 4 คอยจ้องจะถวายบาตรแก่พระองค์ อินทร์ พรหม หลายหมื่นคอยจ้องจะรับพระองค์ซึ่งเสด็จอุบัติแล้ว ฯ

    18 ข้าแต่พระองค์ผู้มีแนวความคิดดี พระองค์ทรงอุบัติในตระกูลใดจึงจะแสดงพระองค์ให้เป็นไปตามประวัติของพระโพธิสัตว์ได้ ขอพระองค์จงพิจารณาตระกูลนั้นด้วยพระยศอันใหญ่ยิ่ง ด้วยตระกูลที่สืบมาจากตระกูลประเสริฐหลายชั่วตระกูล และด้วยวงศ์ตระกูลสูงๆ

    19 ข้าแต่พระองค์ท่าน แก้วมณีจะเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในภาชนะใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปรัชญาบริศุทธ ขอพระองค์จงโปรยฝนแก้วมณีลงในภาชนะนั้น คือธงชัยชมพูทวีป เถิด ฯ

    20 คาถาซึ่งเปล่งออกมาตามเสียงขับลำทำเพลงมากมายหลายประการดั่งนี้ กระตุ้นเตือนพระทัยประกอบด้วยพระกรุณาว่า นี่ถึงเวลาแล้วอย่าทรงเพิกเฉยเสียเลย ฯ ดั่งนี้แล ฯ

    อัธยายที่ 2ชื่อสมุตสาหปริวรรต (ว่าด้วยความพยายาม) ในคัมภีร์ศรีลลิตวิสตร ดั่งนี้แล ฯ
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างศาลาการเปรียญรับพระไพรีพินาศ100ปี.565514/
     

แชร์หน้านี้

Loading...