วิธีคิดแบบวิภัชชวาท

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 10 มิถุนายน 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ

    วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ก็คือการนำเอาโยนิโสมนสิการมาใช้ในทางปฏิบัติ หรือโยนิโสมนสิการที่เป็นภาคปฏิบัติ

    วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ หรือเรียกสั้นๆว่า วิธีโยนิโสมนสิการนี้ แม้จะมีหลายอย่างหลายวิธี แต่เมื่อว่าโดยหลักการ ก็มี ๒ แบบ คือ
    - โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัดหรือกำจัดอวิชชาโดยตรง
    - โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัดหรือบรรเทาตัณหา

    (ลักษณะความคิดตามอวิชชา-ตัณหา ดังนี้
    ๑. เมื่ออวิชชา เป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะติดตันวกวนอยู่ที่แง่หนึง่ตอนหนึ่งอย่างพร่ามัว ขาดความสัมพันธ์ ไม่รู้ทางไป หรือไม่ก็ฟุ้งซ่านสับสน ไม่เป็นระเบียบ ปรุงอย่างไร้เหตุผล เช่น ภาพในความคิดของคนหวาดกลัว
    ๒. เมื่อตัณหา เป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะโน้มเอียงไปตามความยินดียินร้าย ความชอบใจไม่ชอบใจ หรือความติดใจขัดใจ ติดพันครุ่นอยู่กับสิ่งที่ชอบหรือชังนั้น และปรุงแต่งความคิดไปตามความชอบความชัง
    อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดลึกลงไปอีกในด้านสภาวะ อวิชชาเป็นฐานก่อตัวของตัณหา และตัณหาเป็นตัวเสริมกำลังให้แก่อวิชชา ดังนั้น ถ้าจะกำจัดความชั่วร้ายให้สิ้นเชิง ก็จะต้องกำจัดให้ถึงอวิชชา)


    โยนิโสมนสิการที่มุ่งกำจัดอวิชชาโดยตรงนั้น ตามปกติเป็นแบบที่ต้องใช้ในการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด เพราะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตรัสรู้

    ส่วนโยนิโสมนสิการแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา มักใช้เป็นข้อปฏิบัติขั้นต้นๆ ซึ่งมุ่งเตรียมพื้นฐานหรือพัฒนาตนเองในด้านคุณธรรม ให้เป็นผู้พร้อมสำหรับการปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไป เพราะเป็นเพียงขั้นขัดเกลากิเลส แต่โยนิโสมนสิการหลายวิธีใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งกำจัดอวิชชา และบรรเทาตัณหาไปพร้อมกัน

    วิธีโยนิโสมนสิการเท่าที่พบในบาลี พอประมวลเป็นแบบใหญ่ๆ ได้ ดังนี้

    ๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
    ๒. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
    ๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์
    ๔. วิธีคิดแบบอริสัจ/คิดแบบแก้ปัญหา
    ๕. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
    ๖. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก
    ๗. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ - คุณค่าเทียม
    ๘. วิธีคิดแบบเร้ากุศล
    ๙. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน
    ๑๐. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ลง วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม แบบที่ ๑๐ ก่อน

    ....

    วิธีคิดแบบวิภัชชวาท

    วิธีคิดแบบวิภัชชวาท ความจริงวิภัชชวาทไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด หรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม การคิด กับ การพูด เป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนจะพูด ก็ต้องคิดก่อน สิ่งที่พูดล้วนสำเร็จมาจากความคิดทั้งสิ้น ในทางธรรมก็แสดงหลักไว้ว่า วจีสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งคำพูด) ได้แก่ วิตกและวิจาร* (ม.มู.12/549/550 สํ.สฬ.18/561/361) ดังนั้น จึงสามารถกล่าวถึงวิภัชชวาทในระดับที่เป็นความคิดได้


    ยิ่งกว่านั้น คำว่า “วาทะ” ต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า วาทะอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มีความหมายลึกซึ้ง เล็งไปถึงระบบความคิดซึ่งเป็นที่มาแห่งระบบคำสอนทั้งหมด ที่เรียกกันว่า เป็นลัทธิหนึ่ง ศาสนาหนึ่ง หรือปรัชญาสายหนึ่ง เป็นต้น คำว่าวาทะ จึงเป็นไวพจน์แห่งกันและกันของคำว่า ทิฏฐิ ทิฐิ หรือทฤษฎี เช่น สัพพัตถิกวาท คือ สัพพัตถิกทิฏฐิ นัตถิกวาท คือ สัพพัตถิกทิฏฐิ สัสสตวาท คือ สัสสตทิฏฐิ อุจเฉทวาท คือ อุจเฉททิฏฐิ อเหตุกวาท คือ อเหตุกทิฏฐิ เป็นต้น


    คำว่า “วิภัชชวาท” นี้ เป็นชื่อเรียกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา เป็นคำสำคัญคำหนึ่ง ที่ใช้แสดงระบบความคิด ที่เป็นแบบของพระพุทธศาสนา และวิธีคิดแบบวิภัชชวาท ก็มีความหมายคลุมถึงวิธีคิดแบบต่างๆ การกล่าวถึงวิธีคิดแบบวิภัชชวาท นอกจากทำให้รู้จักวิธีคิดแง่อื่นๆเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้เข้าใจวิธีคิดบางอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นชัดเจนขึ้นอีกด้วย



    การที่วิภัชชวาทเป็นชื่อเรียกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา หรือเป็นคำหนึ่งที่แสดงระบบความคิดของพระพุทธศาสนานั้น ถือได้ว่าเป็นเพราะพระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็น วิภัชชวาท หรือวิภัชชวาที* (ม.ม.13/711/651 องฺ.ทสก.24/94/204) และ คำว่า วิภัชชวาท หรือวิภัชชวาทีนั้น ก็ได้เป็นคำเรียกพระพุทธศาสนา หรือคำเรียกพระนามของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ใช้อ้างกันมาในประวัติการณ์แห่งพระพุทธศาสนา เช่น ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมทหาราช ตรัสถามพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสงฆ์ในการสังคายนาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะอย่างไร พระเถระทูลตอบว่า "มหาบพิตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นวิภัชชวาที" (วินย.อ.1/60 ปญฺจ.อ.145 ฯลฯ)

    ถึงตรงนี้ก็เท่ากับบอกว่า วิภัชชวาทนั้นเป็นคำใหญ่ ใช้เรียกรวมๆหมายถึงระบบวิธีคิดทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

    วิภัชชวาท มาจาก วิภัชช+วาท "วิภัชช" แปลว่า แยกแยะ แบ่งออก จำแนก หรือแจกแจง ใกล้กับคำที่ใช้ในปัจจุบันว่าวิเคราะห์ "วาท" แปลว่า การกล่าว การพูด การแสดงคำสอน ระบบคำสอน ลัทธิ วิภัชชวาท ก็แปลว่า การพูดแยกแยะ พูดจำแนก หรือพูดแจกแจง หรือระบบการแสดงคำสอนแบบวิเคราะห์


    ลักษณะสำคัญของความคิด และการพูดแบบนี้ คือ การมอง และแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ละด้าน ครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาแง่หนึ่งแง่เดียว หรือบางแง่ ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด หรือประเมินคุณค่าความดีความชั่ว เป็นต้น โดยถือเอาส่วนเดียว หรือบางส่วนเท่านั้นแล้วตัดสินพรวดลงไป

    วาทะที่ตรงข้ามกับวิภัชชวาท เรียกว่า เอกังสวาท แปลว่า พูดแง่เดียว คือ จับได้เพียงแง่หนึ่ง ด้านหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง ก็วินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างเดียวทั้งหมด หรือพูดตายตัวอย่างเดียว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 มิถุนายน 2017
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    เพื่อให้เข้าใจความหมายของวิภัชชวาทชัดเจนยิ่งขึ้น อาจจำแนกแนววิธีคิดของวิภัชชวาทนั้นออกให้เห็นในลักษณะต่างๆ ดังนี้

    ก. จำแนกโดยแง่ด้านของความจริง แบ่งซอยได้เป็น ๒ อย่าง คือ

    ๑) จำแนกตามแง่ด้านต่างๆตามที่เป็นอยู่จริงของสิ่งนั้นๆ คือ มองหรือแถลงความจริงให้ตรงตามที่เป็นอยู่ในแง่นั้นด้านนั้น ไม่ ใช่จับเอาความจริงแง่หนึ่งด้านหนึ่ง หรือแง่อื่นด้านอื่น มาตีคลุมเป็นอย่างนั้นไปหมด เช่น เมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้หนึ่งว่าเขาดีหรือไม่ดี ก็ชี้ความจริงตามแง่ด้านที่เป็นอย่างนั้นว่า แง่นั้น ด้านนั้น กรณีนั้น เขาดีอย่างไร หรือไม่ดีอย่างไร เป็นต้น ไม่ใช่เหมาคลุมง่ายๆทั้งหมด ถ้า จะประเมินคุณค่า ก็ตกลงกำหนดลงว่าจะเอาแง่ใดด้านใดบ้าง แล้วพิจารณาทีละแง่ ประมวลลงตามอัตราส่วน ตัวอย่างวิภัชชวาทในแง่นี้ เช่น คำสอนเกี่ยวกับกามโภคีหรือชาวบ้าน ๑๐ ประเภท

    ๒) จำแนกโดยมอง หรือแสดงความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ครบทุกแง่ทุกด้าน คือ เมื่อมอง หรือพิจารณาสิ่งใด ก็ไม่มองแคบๆ ไม่ติดอยู่กับส่วนเดียวแง่เดียวของสิ่งนั้น หรือวินิจฉัยสิ่งนั้นด้วยส่วนเดียวแง่เดียวของมัน แต่มองพลายแง่หลายด้าน เช่น จะว่าดีหรือไม่ดี ก็ว่าดีในแงนั้น ด้านนั้น กรณีนั้น ไม่ดีในแง่นั้น ด้านนั้น กรณีนั้น สิ่งนี้ ไม่ดีในแง่นั้น แต่ดีในแง่นี้ สิ่งนั้น ดีในแง่นั้น แต่ไม่ดีในแง่นี้ เป็นต้น

    การคิดจำแนกแนวนี้ มองดูคล้ายกับข้อแรก แต่เป็นคนละอย่าง และเป็นส่วนเสริมกันกับข้อแรกให้ผลสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น คำสอนเกี่ยวกับกามโภคี คือ ชาวบ้าน ๑๐ ประเภทนั้น และเรื่องพระบ้าน พระป่า ที่ควรยกย่องหรือติเตียน เป็นต้น

    การคิดแนวนี้ มีผลรวมไปถึงการเข้าใจในภาวะที่องค์ประกอบต่างๆ หรือลักษณะด้านต่างๆ มาประมวลกันเข้าโดยครบถ้วน จึงเกิดเป็นสิ่งนั้นๆ หรือเหตุการณ์นั้นๆ และการมองสิ่งนั้นๆ เหตุการณ์นั้นๆ โดยเห็นกว้างออกไปถึงลักษณะด้านต่างๆ และองค์ประกอบต่างๆของมัน
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ข. จำแนกโดยส่วนประกอบ

    การคิดจำแนกแบบนี้ คือ วิเคราะห์แยกแยะออกไป ให้รู้เท่าทันภาวะที่สิ่งนั้นๆเกิดขึ้นจากองค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ มาประชุมกันเข้า ไม่ติดตันอยู่แต่ภายนอก หรือถูกลวงโดยภาพรวมของสิ่งนั้นๆ เช่น แยกแยะสัตว์บุคคลออกเป็นนาม และรูป เป็นขันธ์ ๕ และแบ่งซอยแต่ละอย่างๆ ออกไป จนเห็นภาวะที่ไม่เป็นอัตตา เป็นทางรู้เท่าทันความจริงของสังขารธรรมทั้งหลาย


    วิภัชชวาทแง่นี้ ตรงกับวิธีคิดอย่างที่ ๒ (วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ) จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายอีก เดิมทีเดียว คำว่าวิภัชชวาท ท่านไม่ได้มุ่งใช้ในความหมายนี้ แต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง ท่านใช้ศัพท์คลุมถึงด้วย (เช่น วิสุทฺธิ. ฎีกา. 3/45,349,397 (คำเดิม ที่ใช้ในความหมายนี้ คือ วิภังค์ เช่น ธาตุวิภังค์ ขันธวิภังค์ เป็นต้น)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 มิถุนายน 2017
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ค. จำแนกโดยลำดับขณะ

    การคิดจำแนกแบบนี้ คือ แยกแยะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ตามลำดับความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ซอยออกไปเป็นแต่ละขณะๆ ให้มองเห็นตัวเหตุปัจจัยที่แท้จริง ไม่ถูกลวงให้จับเหตุปัจจัยสับสน
    การคิดแบบนี้ เป็นด้านหนึ่งของการคิดจำแนกโดยส่วนประกอบ และการคิดจำแนกตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย แต่มีลักษณะและการใช้งานพิเศษ จึงแยกออกมาแสดงเป็นอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่ใช้มากในฝ่ายอภิธรรม

    ตัวอย่างเช่น เมื่อโจรขึ้นปล้นบ้าน และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย คนทั่วไปอาจพูดว่า โจรฆ่าคนตายเพราะความโลภ คือ ความอยากได้ทรัพย์ เป็นเหตุให้ฆ่าเจ้าทรัพย์

    คำพูดนี้ ใช้ได้เพียงในฐานะเป็นสำนวนพูดให้เข้าใจกันง่ายๆ แต่เมื่อวิเคราะห์ทางด้าน กระบวนธรรมที่เป็นไปภายในจิตอย่างแท้จริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความโลภเป็นเหตุของการฆ่าไม่ได้ โทสะจึงเป็นเหตุของการฆ่าได้ เมื่อวิเคราะห์โดยลำดับขณะแล้ว ก็จะเห็นว่าโจรโลภอยากได้ทรัพย์ แต่เจ้าทรัพย์อุปสรรคต่อการได้ทรัพย์นั้น ความโลภทรัพย์จึงเป็นเหตุให้โจรมีโทสะต่อเจ้าทรัพย์ โจรจึงฆ่าเจ้าทรัพย์ด้วยโทสะนั้น

    โจรโลภอยากได้ทรัพย์ หาได้โลภอยากได้เจ้าทรัพย์แต่อย่างใดไม่ ตัวเหตุที่แท้ของการฆ่า คือ โทสะ หาใช่โลภะไม่ โลภะเป็นเพียงเหตุให้ลักทรัพย์เท่านั้น แต่เป็นปัจจัยให้โทสะเกิดขึ้นต่อสิ่งอื่นซึ่งขัดขวาง หรือไม่เกื้อกูลต่อความมุ่งหมายของมัน

    อย่างไรก็ตาม ในภาษาสามัญจะพูดว่า โจรฆ่าคนเพราะความโลภก็ได้ แต่ให้รู้เข้าใจเท่าทันความจริงในกระบวนธรรมที่เป็นไปตามลำดับขณะดังที่ กล่าวมาแล้ว ว่าความโลภเป็นมูล เป็นตัวการเริ่มต้นในเรื่องนั้นเท่านั้น การแยกแยะ หรือวิเคราะห์โดยขณะเช่นนี้ ทำให้ในสมัยต่อมา มีคำเรียกพระพุทธศาสนาว่า เป็นขณิกวาท
     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ง. จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

    การจำแนกแบบนี้ คือ สืบสาวสาเหตุปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์สืบทอดกันมาของสิ่งหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ทำให้มองเห็นความจริงที่สิ่งทั้งหลายไม่ได้ตั้งอยู่ลอยๆ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ดำรงอยู่เป็นอิสระจากสิ่งอื่นๆ และไม่ได้ดำรงอยู่โดยตัวของมันเอง แต่เกิดขึ้นด้วยอาศัยเหตุปัจจัย จะดับไป และสามารถดับได้ ด้วยการดับที่เหตุปัจจัย

    การคิดจำแนกในแง่นี้ เป็นวิธีคิดข้อสำคัญมากอย่างหนึ่ง ตรงกับวิธีคิดแบบที่ ๑ ที่กล่าวแล้ว คือ วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย หรือวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา ซึ่งนอกจากจะได้บรรยายในวิธีคิดแบบที่ ๑ แล้ว ยังได้อธิบายไว้อย่างยึดยาวในบทว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท

    ความคิดที่ขาดความตระหนักในความสัมพันธ์ ทำให้คนโน้มเอียงไปในทางที่จะยึดความเห็นสุดทางข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ยึดถือสัสสตวาท มองเห็นว่ามีอัตตาที่ตั้งอยู่เที่ยงแท้นิรันดร หรือยึดถืออุจเฉทวาท มอง เห็นว่าอัตตาต้องดับสิ้นขาดสูญไป ทั้งนี้เพราะเมื่อเผลอลืมมองความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย ก็มองเห็นสิ่งนั้นตั้งอยู่ขาดลอยโดดๆ แล้วความเห็นเอียงสุดอย่างใดอย่างหนึ่งก็จึงเกิดขึ้น

    แต่ภาวะที่เป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ไม่ได้ขาดลอยอย่างที่คนตัดตอนมองเอาอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์กัน ขึ้นต่อกันและสืบทอดกัน เนื่องด้วยปัจจัยย่อยต่างๆ ความมี หรือไม่มี ไม่ใช่ภาวะเด็ดขาดลอยตัว ภาวะที่เป็นจริงเป็นเหมือนอยู่กลาง ระหว่างความเห็นเอียงสุดสองอย่างนั้น ความคิดแบบจำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ช่วยให้มองเห็นความจริงนั้น

    ตามแนวคิดที่กล่าวนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมอย่างที่เรียกว่าเป็นกลางๆ คือ ไม่กล่าวว่า สิ่งนี้มี หรือว่าสิ่งนี้ไม่มี แต่กล่าวว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี หรือว่านี้มี ในเมื่อนั้นมี นี้ไม่มี ในเมื่อนั้นไม่มี

    หลักความจริงที่แสดงอย่างนี้ เรียกว่า อิทัปปัจจยาตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท และการแสดงหลักความจริงนี้ เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา จึงอาจเรียกวิธีคิดแบบนี้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า วิธีคิดแบบ มัชเฌนธรรมเทศนา หรือ เรียกสั้นๆว่า วิธีคิดแบบมัชเฌนธรรม

    การจำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนั้น นอกจากช่วยไม่ให้เผลอมองสิ่งต่างๆหรือปัญหาต่างๆอย่างโดดเดี่ยวขาดลอย และช่วยให้ความคิดเดินได้เป็นสาย ไม่ติดตันแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการที่จะให้รู้จักจับเหตุปัจจัยได้ตรงกับผลของมัน หรือให้ได้เหตุปัจจัยที่ลงตัวพอดีกับผลที่ปรากฏด้วย

    ความที่ว่านี้ เกี่ยวข้องกับความสับสนที่มักเกิดขึ้นแก่คนทั่วไป ๓ อย่าง คือ

    ๑) การนำเอาเรื่องราวอื่นๆ นอกกรณีมาปะปนสับสนกับเหตุปัจจัยเฉพาะกรณี เช่น เมื่อบุคคลที่ไม่สู้ดีคนหนึ่ง ได้รับผลอย่างหนึ่งที่คนเห็นว่าเป็นผลดี มีคนอื่นบางคนพูดว่า นาย ก. หรือ นาย ข. ซึ่งเป็นคนดีมาก มีความดีหลายอย่าง อย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมจึงไม่ได้รับผลดีนี้
    บางทีความจริงเป็นว่า ความดีของนาย ก. หรือ นาย ข. ที่มีหลายๆอย่างนั้น ไม่ใช่ความดีที่สำหรับจะให้ได้รับผลเฉพาะอันนั้น
    วิธีคิดแบบนี้ ช่วยให้แยกเอาเรื่องราวหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากเหตุปัจจัยที่แท้จริงของกรณีนั้นได้ ความหมายข้อนี้ รวมถึงการจับผลให้ตรงกับเหตุด้วย คือ เหตุปัจจัยใด เป็นไปเพื่อผลใด หรือผลใดพึงเกิดจากเหตุปัจจัยใด ก็มองเห็นตรงตามนั้น ไม่ไขว้เขวสับสน

    ๒) ความ ไม่ตระหนักถึงภาวะที่ปรากฏการณ์หรือผลที่คล้ายกัน อาจเกิดจากเหตุปัจจัยต่างกันและเหตุปัจจัยอย่างเดียวกัน อาจไม่นำไปสู่ผลอย่างเดียวกัน เช่น ภิกษุอยู่ป่า พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญก็มี ไม่สรรเสริญก็มี โดยทรงพิจารณาสุดแต่เหตุ คือ เจตนา
    อีกตัวอย่างหนึ่ง การได้ทรัพย์ อาจเกิดจากการขยันทำการงาน จากการทำให้ผู้ให้ทรัพย์พอใจ หรือจากการลักขโมยก็ได้ คนได้รับการยกย่องสรรเสริญ อาจเกิดจากการทำความดีในสังคมที่นิยมความดี หรือเกิดจากทำอะไรบางอย่าง แม้ไม่ดี แต่ให้ผลที่สนองความต้องการ หรือเป็นที่ชอบใจของผู้ยกย่องสรรเสริญนั้นก็ได้

    ในกรณีเหล่านี้ จะต้องตระหนักด้วยว่า เหตุปัจจัยต่างกัน ที่ให้เห็นผลเหมือนๆกันนั้น ยังมีผลต่างกันอย่างอื่นๆที่ไม่ได้พิจารณาในกรณีเหล่านี้ด้วย

    ในทำนองเดียวกัน คนต่างคน ทำความดีอย่างเดียวกัน คนหนึ่งทำแล้วได้รับการยกย่องสรรเสริญเพราะทำในที่เขานิยมความดีนั้น หรือทำเหมาะกับกาลเวลาที่ความดีนั้นก่อประโยชน์แก่คนที่ยกย่อง

    อีกคนหนึ่ง ทำแล้ว กลับไม่เป็นที่ชื่นชม เพราะทำในที่เขาไม่นิยมความดีนั้น หรือทำแล้วเป็นเป็นการทำลายประโยชน์ของคนที่ไม่พอใจ หรือมีความบกพร่องในตนเองอย่างอื่นของผู้กระทำความดีนั้น ดังนี้เป็นต้น

    ในกรณีเหล่านี้ จะต้องตระหนักด้วยว่า เหตุปัจจัยอย่างเดียวกัน ที่ยกขึ้นพิจารณานั้น ไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยทั้งหมดที่จะให้ได้รับผลอย่างนั้น ความจริงสภาพแวดล้อมและเรื่องราวอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยร่วมด้วย ที่จะให้เกิด หรือไม่ให้เกิดผลอย่างนั้น

    ๓) การไม่ตระหนักถึง เหตุปัจจัยส่วนพิเศษนอกเหนือจาก เหตุปัจจัยที่เหมือนกัน ข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับความตอนท้ายข้อ ๒) กล่าวคือ คนมักมองเฉพาะแต่ เหตุปัจจัยบางอย่างที่ตนมั่นหมายว่าจะให้เกิดผลอย่างนั้นๆ ครั้นต่างบุคคลทำ เหตุปัจจัยเอย่างเดียวกันแล้ว คนหนึ่งได้ผลที่ต้องการ อีกคนหนึ่งไม่ได้รับผลนั้น ก็เห็นไปว่าเหตุปัจจัยนั้นไม่ให้ผลจริง เป็นต้น

    ดังตัวอย่าง เช่น คนสองคนทำงานดีเท่ากัน มีกรณีที่จะได้รับการคัดเลือกอย่างหนึ่ง เป็นธรรมดาที่คนหนึ่งจะได้รับเลือก อีกคนหนึ่งไม่ได้รับเลือก ถ้าไม่ใช้วิธีเสี่ยงทายโดยจักสลาก ก็จะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น คนหนึ่งสุขภาพดีกว่า หรือรูปร่างดีกว่า และคุณธรรมหรือความสามารถทางปัญญาที่ยิ่ง หรือ หย่อนของผู้คัดเลือก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยได้ทั้งสิ้น

    ตัวอย่างที่ยกมาในที่นี้ เกี่ยวกับหลักกรรมทั้งสิ้น แม้ตัวอย่างที่เป็นไปตามกฎอย่างอื่น ก็พึงเข้าใจในทำนองเดียวกัน
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    จ. จำแนกโดยเงื่อนไข

    การจำแนกแบบนี้ คือ มองหรือแสดงความจริงโดยพิจารณาเงื่อนไขประกอบด้วย ข้อนี้ เป็นวิภัชชวาท แบบที่พบบ่อยมากอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าถูกถามว่า บุคคลนี้ควรคบหรือไม่ ถิ่นสถานนี้ควรเข้าเกี่ยวข้องหรือไม่

    ถ้าพระภิกษุเป็นผู้ตอบ ก็อาจกล่าวตามแนวบาลีว่า ถ้าคบหรือเกี่ยวข้องแล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าเกี่ยวข้อง แต่ถ้าคบหรือเข้าเกี่ยวข้องแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ควรคบ ควรเกี่ยวข้อง

    ตัวอย่าง อื่นๆในแนวนี้ เช่น ถ้าถามว่า ภิกษุควรถือธุดงค์หรือไม่ ท่านที่รู้หลักดี ก็จะตอบว่า ภิกษุใดถือธุดงค์แล้ว กรรมฐานดีขึ้น ภิกษุนั้นควรถือ

    ภิกษุใดถือแล้ว กรรมฐานเสื่อม ภิกษุนั้นไม่ควรถือ

    ภิกษุใดจะถือธุดงค์ก็ตาม ไม่ถือก็ตาม กรรมฐานก็เจริญทั้งนั้น ไม่เสื่อม ภิกษุนั้น เมื่ออนุเคราะห์ชนรุ่นหลัง ควรถือ

    ส่วนภิกษุใดจะถือธุดงค์ก็ตาม ไม่ถือก็ตาม กรรมฐานย่อมไม่เจริญ ภิกษุนั้นก็ควรถือ เพื่อเป็นพื้นอุปนิสัยไว้

    ถ้ามีผู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นอุจเฉทวาทหรือ ไม่

    ถ้าตอบตามพระองค์ก็ว่า ถ้าใช้คำนั้นในความหมายอย่างนี้ๆ ก็ใช่

    ถ้าใช้ในความหมายว่าอย่างนั้นๆก็ไม่ใช่

    หรือถ้าถามว่า ภิกษุที่ชอบอยู่ผู้เดียว จาริกไปรูปเดียวชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ใช่หรือไม่ ก็ต้องตอบอย่างมีเงื่อนไขเช่นเดียวกัน

    ตัวอย่างทางวิชาการสมัยใหม่ เช่น พิจารณาปัญหาทางการศึกษาว่า ควรปล่อยให้เด็กพบเห็นสิ่งต่างๆในสังคม เช่น เรื่องราว และการแสดงต่างๆทางสื่อมวลชน เป็นต้น อย่างมีอิสรเสรีหรือไม่ หรือแค่ไหนเพียงไร ถ้าตอบตามแนววิภัชชวาท ก็จะไม่พูดโพล่งหรือพรวดลงไปอย่างเดียว แต่จะวินิจฉัยโดยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ คือ

    ๑) ความโน้มเอียง ความพร้อม นิสัย ความเคยชินต่างๆซึ่งเด็กได้สั่งสมไว้โดยการอบรมเลี้ยงดู และอิทธิพลทางวัฒนธรรม เป็นต้น เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น (พูดภาษาทางธรรมว่า สังขารที่เป็นกุศลและอกุศล คือแนวคิดปรุงแต่งที่ได้สั่งสมเสพคุ้นเอาไว้) อาจเรียกง่ายๆว่า พื้นของเด็กที่จะแล่นไป

    ๒) โยนิโสมนสิการ คือ เด็กรู้จักใช้ โยนิโสมนสิการอยู่โดยปกติหรือไม่ และแค่ไหนเพียงไร

    ๓) กัลยาณมิตร คือ มีบุคคลหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยชี้แนะทางความคิดความเข้าใจ เช่น แง่มุมในการมองอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่พบเห็น หรือที่จะชักนำให้เด็กเกิด โยนิโสมนสิการอย่างได้ผลอยู่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น กัลยาณมิตรในครอบครัว ในสื่อมวลชนนั้นๆ หรือทั่วๆไปในสังคมก็ตาม

    ๔) ประสบการณ์ คือ สิ่งที่ปล่อยให้แพร่ หรือให้เด็กพบเห็นนั้น มีลักษณะหรือคุณสมบัติที่เร้าหรือยั่วยุ เป็นต้น รุนแรงมากน้อยถึงระดับใด


    ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นตัวแปรได้ทั้งนั้น แต่ในกรณีนี้ ยกเอาข้อ ๔) ขึ้น ตั้งเป็นตัวยืน คำตอบจะเป็นไปโดยสัดส่วน ซึ่งตอบได้เอง เช่น ถ้าเด็กมีโยนิโสมนสิการดีจริงๆ หรือในสังคม หรือโดยเฉพาะที่สื่อมวลชนนั้นเอง มีกัลยาณมิตรที่สามารถจริงๆ กำกับอยู่ หรือพื้นด้านแนวความคิดปรุงแต่งที่เป็นกุศล ซึ่งได้สั่งสมอบรมกันไว้โดยครอบครัว หรือวัฒนาธรรม มีมากและเข็มแข็งจริงๆ แม้ว่าสิ่งที่แพร่หรือปล่อยให้เด็กพบเห็น จะล่อเร้ายั่วยุมาก ก็ยากที่จะเป็นปัญหา และอาจหวังได้ว่าจะเกิดผลดีด้วยซ้ำไป

    แต่ถ้าพื้นความโน้มเอียงทางความคิดกุศล ก็ไม่ได้สั่งสมอบรมกันไว้ โยนิโสมนสิการ ก็ไม่เคยฝึกกันไว้แล้วยังไม่จัดเตรียมให้มีกัลยาณมิตรไว้ด้วย การปล่อยนั้น ก็มีความหมายเท่ากับเป็นการสร้างเสริมสนับสนุนปัญหา เหมือนดังว่าจะตั้งใจทำลายเด็กโดยใช้ยาพิษเบื่อเสียนั่นเอง
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ฉ. จำแนกโดยทางเลือก หรือความเป็นไปได้อย่างอื่น

    ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุผลสำเร็จ หรือเข้าถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี ในการพิจารณาหาความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้น และความเป็นไปของสิ่ง สภาพ หรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี ผู้ที่คิดค้นพิจารณาพึงตระหนักว่า

    ก) หนทาง วิธี หรือความเป็นไปได้ อาจมีได้หลายอย่าง

    ข) ในบรรดาหนทาง วิธีการ หรือความเป็นไปได้หลายอย่างนั้น บางอย่างอาจดีกว่า ได้ผลกว่า หรือตรงแท้กว่าอย่างอื่น

    ค) ในบรรดาทางเลือกหลายอย่างนั้น บางอย่าง หรืออย่างหนึ่ง อาจเหมาะสม หรือได้ผลดีสำหรับคน สำหรับต่างคน หรือสำหรับกรณีนั้น มากกว่าอย่างอื่น

    ง) ทางเลือก หรือความเป็นไปได้ อาจมีเพียงอย่างเดียว หรือหลายอย่าง แต่เป็นอย่างอื่น คือไม่ใช่ทางเลือกหรือความเป็นไปได้อย่างที่ตนกำลังปฏิบัติ หรือกำลังเข้าใจอยู่ในขณะนั้น

    ความตระหนักเช่นนี้ มีผลดีหลายประการ เช่น ทำให้ไม่อื้อตื้อติดตันวนเวียนอยู่ อย่างหาทางออกไม่ได้ ในวิธีปฏิบัติ หรือความคิดที่ไม่สำเร็จผล ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมกับตน ทำให้ไม่ท้อแท้ ถดถอย หรืออับจนแล้วหยุด เลิกความเพียรเสีย ในเมื่อทำหรือคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้หลายอย่างแล้วไม่สำเร็จ

    โดยเฉพาะข้อที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้สามารถคิดหา และค้นพบหนทาง วิธีการ หรือความเป็นไปได้ที่ถูกต้อง เหมาะสม ตรงแท้ เป็นจริง หรือได้ผลดีที่สุด

    วิธีคิดแบบนี้ จะเห็นตัวอย่างจากพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทดลองบำเพ็ญทุกรกิริยา จำพวกตบะที่เป็นอุดมการณ์ของยุคสมัย อย่างสุดกำลัง และสุดหนทางที่จะมีบุคคลผู้ใดปฏิบัติได้ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ไม่สำเร็จผล แทนที่จะทรงติดตันและสิ้นหวัง ทรงเห็นว่า ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ที่จะบรรลุจุดมุ่งหมาย แล้วทรงดำริต่อไป

    ครั้งนั้น ทรงมีพุทธดำริว่า

    “เราจะบรรลุญาณทัศนะอันพิเศษที่ทำให้เป็นอริยะ ซึ่งเหนือกว่าธรรมของมนุษย์นั้น ด้วยทุกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ หาได้ไม่ หนทางตรัสรู้จะเป็นอย่างอื่น

    เมื่อทรงดำริแล้ว จึงทรงคิดพิจารณาและค้นพบทางสายกลาง แล้วทรงปฏิบัติจนบรรลุโพธิญาณในที่สุด
     
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ช. วิภัชชวาทในฐานะวิธีตอบปัญหาอย่างหนึ่ง

    วิภัชชวาทปรากฏบ่อยๆ ในรูปของการตอบปัญหา และท่านจัดเป็นวิธีตอบปัญหาอย่าง ในบรรดาวิธี ตอบ ๔ อย่างนี้ มีชื่อเฉพาะเรียกว่า “วิภัชชพยากรณ์” ซึ่งก็คือการนำเอาวิภัชชาวาทไปใช้ในการตอบปัญหาหรือตอบปัญหา แบบวิภัชชวาทนั่นเอง
    เพื่อความความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ พึงทราบวิธีตอบปัญหา (ปัญหาพยากรณ์) ๔ อย่าง คือ

    ๑. เอกังสพยากรณ์ การตอบแง่เดียว คือตอบอย่างเดียวเด็ดขาด

    ๒.วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ

    ๓.ปฏิปุจฉาพยากรณ์ การตอบโดยย้อนถาม

    ๔. ฐปนา การยั้งหรือหยุด พับปัญหาเสีย ไม่ตอบ


    วิธีตอบปัญหา ๔ อย่างนี้ แบ่งตามลักษณะของปัญหา ดังนั้น ปัญหาจึงแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท ตรงกับวิธีตอบเหล่านั้น จะยกตัวอย่างปัญหาตามที่แสดงไว้ในคัมภีร์รุ่นหลังมาแสดงประกอบความเข้าใจ ดังนี้

    ๑. เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรตอบอย่างเดียวเด็ดขาด เช่น ถามว่า จักษุไม่เที่ยง ใช่ไหม ? พึงตอบได้ทีเดียวแน่นอนลงไปว่า ใช่

    ๒. วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่แยกแยะ หรือ จำแนกตอบ เช่น ถามว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่จักษุใช่ไหม ? พึงแยกแยะตอบว่า ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น แม้โสตะ ฆานะ เป็นต้น ก็ไม่เที่ยง

    ๓. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถาม เช่น จักษุฉันใด โสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใด จักษุก็ฉันนั้น ใช่ไหม ? พึงย้อนถามว่า มุ่งความหมายแง่ใด ถ้าถามโดยหมายถึงแง่ใช้ดูหรือเห็น ก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามุ่งความหมายแง่ว่าไม่เที่ยง ก็ใช่

    ๔. ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้ง หรือพับเสีย ไม่ควรตอบ เช่น ถามว่า ชีวะกับสรีระ คือ สิ่งเดียวกัน ใช่ไหม ? พึงยับยั้งเสีย ไม่ต้องตอบ

    นี้เป็นเพียงตัวอย่างสั้น ๆ ง่ายๆ เพื่อความเข้าใจในเบื้องต้น เมื่อว่าโดยใจความ

    ปัญหาแบบที่ ๑ ได้แก่ ปัญหาซึ่งไม่มีแง่ที่จะชี้แจงหรือไม่มีเงื่อนงำ จึงตอบแน่นอนลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ทันที เช่น อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนทุกคนต้องตายใช่ไหม ? ก็ตอบได้ทันทีว่า ใช่

    ปัญหาแบบที่ ๒ ได้แก่ เรื่องซึ่งมีแง่ที่จะต้องชี้แจง โดยใช้วิธีวิภัชชวาทแบบต่างๆที่กล่าวมาแล้ว

    ปัญหาแบบที่ ๓ พึงย้อนถามทำความเข้าใจกันก่อนจึงตอบ หรือตอบด้วยการย้อนถาม หรือสอบถามไปตอบไป อาจใช้ประกอบไปกับการตอบแบบที่ ๒ คือ ควบกับวิภัชชพยากรณ์

    ในบาลี พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีย้อนถามบ่อยๆ และด้วยการย้อนถามนั้นผู้ถามจะค่อยๆเข้าใจสิ่งที่เขาถามไปเอง หรือช่วยให้เขาตอบปัญหาของเขาเองโดย พระองค์ทรงชี้แนะแง่คิดต่อให้ไม่ต้องทรงตอบ

    ส่วนปัญหาแบบที่ ๔ ซึ่งควรยับยั้งไม่ตอบ ได้แก่ คำถามเหลวไหลไร้สาระจำพวกหนวดเต่า เขากระต่ายบ้าง ปัญหาที่เขายังไม่พร้อมที่จะเข้าใจ จึงยับยั้งไว้ก่อน หันไปทำความเข้าใจเรื่องอื่นที่เป็นการเตรียมพื้นของเขาก่อน แล้วจึงค่อยมาพูดกันใหม่ หรือให้เขาเข้าใจได้เองบ้าง

    ที่ลึกลงไป ก็คือ ปัญหาที่ตั้งขึ้นมาไม่ถูก โดยคิดขึ้นจากความเข้าใจผิด ไม่ตรงตามสภาวะ หรือไม่มีตัวสภาวะอย่างนั้นจริง * เช่น ตัวอย่างในบาลี มีผู้ถามว่า ใครผัสสะ หรือ ผัสสะของใคร ใครเสวยอารมณ์ หรือเวทนาของใคร เป็นต้น ซึ่งไม่อาจตอบตามที่เขาอยากฟังได้ จึงต้องยับยั้ง หรือ พับเสีย อาจชี้แจงเหตุผลในการไม่ตอบ หรือ ให้เขาตั้งปัญหาเสียใหม่ให้ถูกต้อง ตรงตามสภาวะ

    ....

    อ้างอิง *
    * ท่านว่า ความเห็นความเข้าใจที่ทำให้ตั้งคำถามประเภทนี้ เกิดจากอโยนิโสมนสิการ หรือจากปรโตโฆสะที่ผิด
     
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อไปนี้ จะยกข้อความในบาลีแหล่งต่างๆ มาแสดงตัวอย่างแห่งวิภัชชวาท

    “สารีบุตร แม้รูปที่รู้ได้ด้วยตา เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่าง คือ ที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพ ก็มี คำที่ว่านี้ เรากล่าว โดยอาศัยเหตุผลอะไร ?
    เมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างใด อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมหาย รูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างนี้ ไม่ควรเสพ

    เมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างใด อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมหาย กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งขึ้น รูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างนี้ควรเสพ...

    “สารีบุตร แม้ เสียง...แม้กลิ่น...แม้รส...แม้สิ่งต้องกาย...แม้ธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่าง คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี...”

    “ภิกษุทั้งหลาย แม้จีวร เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่างคือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี คำที่ว่าดังนี้ เรากล่าว โดยอาศัยเหตุผลอะไร ?
    บรรดาจีวรเหล่านั้น หากภิกษุทราบจีวรใดว่า เมื่อเราเสพจีวรนี้ อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมหาย จีวรอย่างนี้ไม่ควรเสพ บรรดาจีวรเหล่านั้น หากภิกษุทราบจีวรใดว่า เมื่อเราเสพจีวรนี้ อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมหาย กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งขึ้น จีวรอย่างนี้ควรเสพ...

    “ภิกษุทั้งหลาย แม้บิณฑบาต...แม้เสนาสนะ...แม้หมู่บ้านและชุมชน...แม้ท้องถิ่นชนบท...แม้บุคคล เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่างคือ ที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพ ก็มี...”

    “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าอยู่อาศัยแดนป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อเธอเข้าอยู่อาศัยแดนป่านั้น สติที่ยังไม่กำกับอยู่ ก็ไม่กำกับอยู่ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะทั้งหลาย ที่ยังไม่หมดสิ้นไป ก็ไม่ถึงความหมดสิ้นไป ภาวะจิตปลอดโปร่งจากเครื่องผูกมัดอย่างสูงสุดที่ยังไม่ได้บรรลุ เธอก็หาบรรลุไม่ อีกทั้งสิ่งเกื้อหนุนชีวิต ที่บรรพชิตพึงเก็บรวบรวมได้ คือ จีวร...จีวร...บิณฑบาต...เสนาสนะ...และเครื่องหยูกยาทั้งหลาย ก็มีมาโดยยาก ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นดังนี้...จะเป็นกลางคืน ก็ตาม กลางวัน ก็ตาม พึงหลีกไปเสียจากแดนป่านั้น ไม่พึงอยู่

    “...เมื่ออยู่อาศัยแดนป่านั้น สติที่ยังไม่กำกับอยู่ ก็ไม่กำกับอยู่ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่หมดสิ้น ก็ไม่ถึงความสิ้นไป ภาวะจิตปลอดโปร่งจากเครื่องผูกมัดอย่างสูงสุดที่ยังไม่ได้บรรลุ เธอก็หาบรรลุไม่ แต่สิ่งที่เกื้อหนุนชีวิต...มีมาโดยไม่ยาก ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นดังนี้...ตรองตระหนักแล้ว พึงหลีกไปเสียจากแดนป่านั้น ไม่พึงอยู่

    “...เมื่ออยู่อาศัยแดนป่านั้น สติที่ยังไม่กำกับอยู่ ก็กำกับอยู่ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น อาสวะทั้งหลาย ที่ยังไม่หมดสิ้น ก็ถึงความสิ้นไป ภาวะจิตปลอดโปร่งจากเครื่องผูกมัดอย่างสูงสุดที่ยังไม่บรรลุ เธอก็ค่อยบรรลุ แต่สิ่งเกื้อหนุนชีวิต...มีมาโดยยาก ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นดังนี้ว่า...เราออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริก มิใช่เพราะเห็นแก่จีวร มิใช่เพราะเห็นแก่บิณฑบาต มิใช่เห็นแก่เสนาสนะ มิใช่เห็นแก่เครื่องหยูกยา ก็แต่ว่า เมื่อเราอยู่แดนป่านี้ สติที่ยังไม่กำกับอยู่ก็กำกับอยู่ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น...ภิกษุนั้น ตรองตระหนักแล้ว พึงอยู่ในป่านั้น ไม่พึงหลีกไป

    “...เมื่ออยู่อาศัยแดนป่านั้น สติที่ยังไม่กำกับอยู่ ก็กำกับอยู่ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่หมดสิ้น ก็ถึงความหมดสิ้น ภาวะจิตปลอดโปร่งจากเครื่องผูกมัดอย่างสูงสุดที่ยังไม่บรรลุ เธอก็ค่อยบรรลุ อีกทั้งสิ่งเกื้อหนุนชีวิต...ก็มีมาโดยไม่ยาก ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นดังนี้...พึงอยู่ในป่านั้นแม้จนตลอดชีวิต ไม่พึงหลีกไป” (วนปัตถสูตร 12/234-242/212-219)
     
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    อภัยราชกุมาร: พระองค์ผู้เจริญ คำพูดซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่น พระองค์ตรัสหรือไม่ ?

    พระพุทธเจ้า: นี่แน่ะราชกุมาร ในเรื่องนี้ จะตอบลงไปข้างเดียวไม่ได้

    (ต่อจากนั้น ได้ทรงแยกแยะคำพูด ที่ตรัส และไม่ตรัสไว้ มีใจความต่อไปนี้)

    ๑) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

    ๒) คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

    ๓) คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส

    ๔) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มีประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

    ๕) คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส

    ๖) คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    พระพุทธเจ้า: อานนท์ ศีลพรต การบำเพ็ญพรต พรหมจรรย์ การบำเรอสิ่งบูชา มีผลทั้งนั้น หรือ ?

    อานนท์: พระองค์ผู้เจริญ ในข้อนี้ จะตอบลงไปข้างเดียวไม่ได้

    พระพุทธเจ้า: ถ้าอย่างนั้น จงจำแนก

    อานนท์: เมื่อเสพศีลพรต การบำเพ็ญข้อปฏิบัติยากลำบาก พรหมจรรย์ การบำเรอสิ่งบูชา อย่างใด อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมหาย ศีลพรต การบำเพ็ญข้อปฏิบัติยากลำบาก พรหมจรรย์ การบวงบำเรอ อย่างนี้ ไม่มีผล

    เมื่อเสพศีลพรต การบำเพ็ญข้อปฏิบัติยากลำบาก พรหมจรรย์ การบำเรอสิ่งบูชา อย่างใด อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมหาย กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่งขึ้น ศีลพรต การบำเพ็ญข้อปฏิบัติยากลำบาก พรหมจรรย์ การบำเรอสิ่งบูชา อย่างนี้มีผล

    ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลข้อความนี้แล้ว พระบรมศาสดาทรงพอพระทัย (องฺ.ติก.20/518/289)
     
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ปริพาชก: นี่แน่ะท่านคหบดี ทราบว่า ท่านพระสมณโคดม ทรงติเตียนตบะหมดทุกอย่าง ทรงค่อนว่า กล่าวติผู้บำเพ็ญตบะ ผู้เป็นอยู่คร่ำๆ ทั้งหมด โดยส่วนเดียว ใช่ไหม ?

    วิชชิยมาหิตะ
    : ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงติเตียนตบะหมดทุกอย่าง ก็หาไม่ จะทรงค่อนว่า กล่าวติผู้บำเพ็ญตบะ ผู้เป็นอยู่คร่ำๆ ทั้งหมด โดยส่วนเดียว ก็หาไม่ พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนตบะที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญตบะที่ควรสรรเสริญ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นวิภัชชวาที ทรงติเตียนสิ่งที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญสิ่งที่ควรสรรเสริญ ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคมิใช่เป็นเอกังสวาที (ผู้กล่าวส่วนเดียว) * (องฺ.ทสก.24/94/204)
     
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกกามโภคี คือชาวบ้าน ออกเป็น ๑๐ ประเภท พร้อมทั้งส่วนดี และส่วนเสีย ของแต่ละประเภท มีใจความดังนี้

    กลุ่มที่ 1 แสวงหาไม่ชอบธรรม

    1. พวกหนึ่ง แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข, ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์ทำความดี - ควรตำหนิทั้ง 3 สถาน

    2. พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข, แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี - ควรตำหนิ 2 สถาน ควรชม 1 สถาน

    3. พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข, ทั้งเผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี - ควรตำหนิ 1 สถาน ควรชม 2 สถาน

    กลุ่มที่ 2 แสวงหาชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง

    4. พวกหนึ่ง แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข. ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี – ควรตำหนิ 3 สถาน ควรชม 1 สถาน

    5. พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข, แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี - ควรตำหนิ 2 สถาน ควรชม 2 สถาน

    6. พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข, ทั้งเผื่อนแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี - ควรตำหนิ 1 สถาน ควรชม 3 สถาน

    กลุ่มที่ 3 แสวงหาชอบธรรม

    7. พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข, ทั้งไม่เผื่อนแผ่แบ่ง และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี - ควรตำหนิ 2 สถาน ควรชม 1 สถาน

    8. พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข, แต่ไม่เผื่อนแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี - ควรตำหนิ 1 สถาน ควรชม 2 สถาน

    9. พวกหนึ่ง แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข, ทั้งเผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทำความดี; แต่ยังติด ยังหมกมุ่น กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะทำตนให้เป็นอิสระ เป็นนายเหนือโภคทรัพย์ - ควรตำหนิ 3 สถาน ควรชม 1 สถาน

    พวกพิเศษ : แสวงหาชอบธรรม และกินใช้อย่างมีสติสัมปชัญญะ มีจิตใจเป็นอิสระ

    10. พวกหนึ่ง แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข, เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี; ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยรู้เท่าทัน เห็นคุณโทษ ทางดีทางเสียของมัน มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระ - เป็นชาวบ้านชนิดที่เลิศ ประเสริฐ สูงสุด ควรชมทั้ง 4 สถาน (สํ.สฬ.18/631-643/408-451…)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มิถุนายน 2017
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    การจำแนกโดยวิภัชชวาทแบบนี้ ทำให้ความคิด และการวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ชัดเจนตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง และเท่าความจริง พอดีกับความจริง จะไม่เกิดความสับสนในเรื่องต่างๆ

    ตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวันอย่างสามัญ เช่น คำพูดว่า เขาเป็นคนตรงไปตรงมา ชอบพูดขวานผ่าซาก โผงผาง พูเพราะไม่เป็น ดูเหมือนจะเอาลักษณะตรงไปตรงมา มากลบเกลื่อนลักษณะโผงผาง พูดไม่ไพเราะ ถ้าจำแนกตามวิธีวิภัชชวาท ความเป็นคนตรง เป็นความดีของบุคคลผู้นั้น ส่วนการพูดไม่ไพเราะ โผงผาง ก็เป็นข้อบกพร่องของเขา

    คนที่มีความดี ในแง่ความตรงนี้ ก็ต้องยอมรับความบกพร่องของตน ในแง่คำพูดไม่ไพเราะ ไม่ต้องเอาลักษณะทั้งสองมากลบเกลื่อนกัน เมื่อจะให้มีความดีครบถ้วน ก็ต้องปรับปรุงตนเองในส่วนที่ยังขาดยังพร่องนั้น

    ส่วนคนที่พูดจาไพเราะ การพูดเพราะนั้น ก็เป็นความดีของเขาอย่างหนึ่ง แต่เขาจะเป็นคนตรงหรือไม่ ก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาตรง ก็เป็นความดีอีกส่วนหนึ่ง ถ้าไม่ตรง เขาก็บกพร่องในส่วนนั้น

    ยังมีต่อไปอีก ในแง่ที่เป็นคนพูดจาไพเราะนั้น จะเป็นการพูดด้วยเจตนาดีงาม หรือเกิดจากความคิดหลอกลวง มีเล่ห์กลอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องจำแนกกันในแง่เจตนาที่เป็นเหตุปัจจัย แล้วชี้ความจริงตามที่มันเป็นในแง่นั้นๆ ไม่มีการสับสนกัน

    ดูต่อไป สมมติว่า จะเลือกคนไปทำงาน งานนั้นต้องการคนพูดเพราะ หรือต้องการคนพูดตรง ก็ตัดสินไปตามความต้องการของงานนั้น ถ้างานนั้นใช้คนพูดเพราะ ก็เลือกคนพูดเพราะ (คนเลือกก็คงพยายามหาคนพูดเพราะ ที่มีความซื่อสัตย์ด้วย) คนตรงที่พูดไม่เพราะ ก็ไม่ต้องมาอ้างความดีในด้านความตรงของตน หรือถ้างานต้องการความตรง คนจะพูดเพราะหรือไม่เพราะ ไม่สำคัญ คนไม่ถูกเลือก ก็ไม่ต้องเอาความอ่อนหวานของตนขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลเกี่ยวกับกรณีนั้น หรือถ้าจะพิจารณาความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาระหว่างลักษณะ ๒ ด้าน คือ ความตรง กับการพูดไม่เพราะ และการพูดอ่อนหวาน กับ ความมีเล่ห์กล ก็ว่าให้ชัดว่าจะวิเคราะห์ในแง่นั้นๆ

    วิธีวิภัชชวาทนี้ จึงตรงไปตรงมา พอดีกับความจริง เป็นกลางๆ ตามธรรมชาติแท้ๆ เป็นแบบอย่างสำหรับผู้ต้องการพูดตรงไปตรงมาอย่างแท้จริง
     
  17. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่า มี ๕ ประเภท ดังนี้ ๕ ประเภท คืออะไร?

    ได้แก่ ผู้ที่อยู่ป่าเพราะเป็นผู้โง่เขลา เพราะงมงาย ๑ ผู้มีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาลามกครอบงำ จึงอยู่ป่า ๑ ผู้อยู่ป่าเพราะความเสียจริต เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ ผู้อยู่ป่าเพราะเห็นว่า การอยู่ป่านี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระพุทธสาวกทั้งหลายสรรเสริญ ๑ ผู้อยู่ป่า เพราะอาศัยความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความใฝ่สงัด ความพอใจเท่าที่มี ๑ ....
    บรรดาผู้อยู่ป่า ๕ ประเภทเหล่านี้ ผู้ที่อยู่ป่า เพราะความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความใฝ่สงัด ความพอใจเท่าที่มี นี้เป็นอย่างเลิศ ประเสริฐ นำหน้า สูงสุด ดีเยี่ยม ในบรรดาผู้อยู่ป่าทั้ง ๕ ประเภทเหล่านี้" (องฺ.ปญฺจก.22/181-190/245-7)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มิถุนายน 2017
  18. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    พระพุทธเจ้า : ดูกรคฤหบดี ทานในตระกูล ท่านยังให้อยู่หรือ ?

    ทารุกัมมิกะ : ข้อแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานในตระกูล ข้าพระองค์ยังให้อยู่ ก็แล ทานนั้น ข้าพระองค์ถวายในประดาท่านพระภิกษุทั้งหลาย ชนิดที่เป็นผู้อยู่ป่า ถือบิณฑบาต ครองผ้าบังสุกุล ซึ่งเป็นพระอรหันต์ หรือเข้าถึงอรหัตมรรค

    พระพุทธเจ้า : ดูกรคฤหบดี ท่านซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ยากจะรู้ได้ถึงความข้อนั้นว่า ท่านเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือว่าท่านเหล่านี้เป็นผู้เข้าถึงอรหัตมรรค

    ถึงจะเป็นภิกษุอยู่ป่า หากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ลำพอง กวัดแกว่ง ปากมาก พูดพล่อย สติเลอะลอย ไร้สัมปชัญญะ จิตไม่ตั้งมั่น จิตใจวุ่นวาย ปล่อยอินทรีย์ เธอก็เป็นผู้อันควรติเตียน โดยลักษณะข้อนั้น

    ถึงจะเป็นภิกษุอยู่ป่า หากเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ลำพอง ไม่กวัดแกว่ง ไม่ปากมาก ไม่พูดพล่อย มีกำกับตัว มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น จิตใจเป็นหนึ่งเดียว สำรวมอินทรีย์ เธอก็เป็นผู้อันควรสรรเสริญ โดยลักษณะข้อนั้น

    ถึงจะเป็นผู้อยู่ชายเขตบ้าน หากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ลำพอง กวัดแกว่ง ปากมาก พูดพล่อย สติเลอะลอย ไร้สัมปชัญญะ จิตไม่ตั้งมั่น จิตใจวุ่นวาย ปล่อยอินทรีย์ เธอก็เป็นผู้อันควรติเตียน โดยลักษณะข้อนั้น

    ถึงจะเป็นผู้อยู่ชายเขตบ้าน หากเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ลำพอง ไม่กวัดแกว่ง ไม่ปากมาก ไม่พูดพล่อย มีสติกำกับตัว มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น จิตใจเป็นหนึ่งเดียว สำรวมอินทรีย์ เธอก็เป็นผู้อันควรสรรเสริญ โดยลักษณะข้อนั้น

    ถึงจะเป็นภิกษุถือบิณฑบาต...ถึงจะเป็นภิกษุรับนิมนต์...ถึงจะเป็นภิกษุครองผ้าบังสุกุล...ถึงจะเป็นภิกษุครองจีวรที่คหบดีถวาย...(ก็เช่นเดียวกัน)

    ดูกรคหบดี เชิญท่านให้ทานในสงฆ์เถิด (องฺ.ฉกฺก.22/330/436)

    “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบาป เป็นผู้เที่ยวไปรูปเดียวอย่างไร ? กล่าวคือ ภิกษุบาป อยู่อาศัยในชนบทชายแดนผู้เดียว เธอเข้าหาสกุลทั้งหลายในที่นั้น ย่อมได้ลาภ ภิกษุบาป ผู้เที่ยวไปรูปเดียวอย่างนี้แล” (องฺ.ปญฺจก.22/103/147)

    “นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เที่ยวไปผู้เดียว ไม่เกียจคร้าน ฝึกตนอยู่ผู้เดียว พึงเป็นผู้ยินดีในแดนป่า” (ขุ.ธ.25/31/55)

    (พราหมณ์ผู้บำเพ็ญตบะทั้งหลาย) สยบแก่ตัณหา ถูกศีลและพรตมัดเอาไว้ บำเพ็ญตบะอันคร่ำตลอดเวลาร้อยปี จิตของเขาก็หาหลุดพ้นโดยชอบไม่ เขายังมีท่วงทีทราม หาไปถึงฝั่งไม่


    “ผู้ชอบถือตัว ย่อมไม่มีการฝึกตน ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่มีปรีชาแห่งมุนี อยู่ผู้เดียวในป่า ประมาทเสีย ก็ข้ามฝั่งแห่งแดนมัจจุราชไม่ได้


    “ละมานะได้แล้ว มีจิตตั้งมั่นเป็นอันดี ใจงาม หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง อยู่ผู้เดียวในป่า ไม่ประมาท ผู้นั้น จึงจะข้ามฝั่งแห่งแดนมัจจุราชไม่ได้” (สํ.ส. 15/130/40)

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มิถุนายน 2017
  19. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,293
    ค่าพลัง:
    +12,622
    เรื่องแบบนี้แมวจะไม่ยุ่ง
     
  20. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ภิกษุรูปหนึ่ง มีชื่อว่าเถระ เป็นผู้อยู่เดียว และพูดสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว เธอเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านองค์เดียว กลับมาองค์เดียว นั่งในที่ลับอยู่องค์เดียว เดินจงกรมองค์เดียว มีภิกษุหลายรูปกราบทูลเรื่องของท่านแด่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ตรัสเรียกเธอมา ตรัสซักถาม ดังคำสนทนาต่อไปนี้

    พระพุทธเจ้า : ดูกรเถระ ทราบว่า เธอเป็นผู้อยู่เดียว และสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว จริงหรือ ?

    ภิกษุชื่อเถระ: จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระพุทธเจ้า : เธออยู่เดียว และสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว อย่างไร?

    ภิกษุชื่อเถระ: ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านองค์เดียว กลับมาองค์เดียว นั่งอยู่ในที่ลังองค์เดียว เดินจงกรมองค์เดียว ข้าพระองค์อยู่องค์เดียว และพูดสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว อย่างนี้แล

    พระพุทธเจ้า : ดูกรเถระ นั่นก็เป็นการอยู่เดียวได้อยู่ เรามิได้กล่าวว่าไม่เป็น แต่เธอจงฟังวิธีที่จะให้การอยู่เดียวของเธอเป็นกิจบริบูรณ์ โดยพิสดารยิ่งกว่านั้น จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าว

    สิ่งที่เป็นอดีต ก็ละได้แล้ว สิ่งที่เป็นอนาคต ก็งดได้แล้ว ความพอใจติดใคร่ในการได้เป็นตัวตนต่างๆในปัจจุบัน ก็กำจัดได้แล้ว การอยู่เดียว ย่อมบริบูรณ์โดยพิสดารยิ่งกว่านั้นได้ ด้วยประการฉะนี้แล...(สํ.นิ.16/716/328)

    พระมิคชาล: พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า ผู้อยู่เดียว ผู้อยู่เดียว ดังนี้ ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ จึงจะเป็นผู้อยู่เดียว และด้วยเหตุผลเพียงไร จึงจะเป็นผู้อยู่มีคู่สอง ?

    พระพุทธเจ้า : ดูกรมิคชาล รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยตา....เสียงทั้งหลาย...กลิ่นทั้งหลาย...รสทั้งหลาย...สิ่งต้องกายทั้งหลาย...ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยใจ ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของเปรมปรีย์ กอปรด้วยความเย้ายวน ชวนให้ติดใจ มีอยู่
    หากภิกษุพร่ำเพลิน พร่ำบ่นถึง สยบอยู่กับสิ่งนั้นๆ...นันทิ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีนันทิ ก็มีความติดพัน เมื่อมีความติดพัน ก็มีสัญโญชน์ ภิกษุผู้ติดพันอยู่ด้วยนันทิและสัญโญชน์ เรียกว่า อยู่มีคู่สอง

    ภิกษุผู้เป็นอยู่อย่างนี้ ถึงจะไปเสพอาศัยเสนาสนะอันสงัด ในราวป่าแดนไพร ซึ่งเงียบเสียง ไม่มีความอึกทึก วังเวง ควรแก่การลับของมนุษย์ เหมาะแก่การหลีกเร้น ก็เรียกได้ว่า เป็นผู้อยู่มีคู่สองโดยแท้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ?
    ก็เพราะตัณหาเป็นเพื่อนสองของเธอ ตัณหานั้น เธอยังละไม่ได้ เพราะฉะนั้น เธอจึงถูกเรียกว่าเป็นผู้อยู่มีคู่สอง

    ดูกรมิคชาล รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยตา....เสียงทั้งหลาย...กลิ่นทั้งหลาย...รสทั้งหลาย...สิ่งต้องกายทั้งหลาย...ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยใจ ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของเปรมปรีย์ กอปรด้วยความเย้ายวน ชวนให้ติดใจ มีอยู่
    หากภิกษุไม่พร่ำเพลิน ไม่พร่ำบ่นถึง ไม่สยบอยู่กับสิ่งนั้นๆ...นันทิ ย่อมดับ เมื่อไม่มีนันทิ ก็ไม่มีความติดพัน เมื่อไม่มีความติดพัน ก็ไม่มีสัญโญชน์ ภิกษุผู้ไม่ติดพันอยู่ด้วยนันทิและสัญโญชน์ เรียกว่า ผู้อยู่เดียว

    ภิกษุผู้เป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอยู่ในเขตบ้าน ปะปนด้วยภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ราชา มหาอำมาตย์ เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็เรียกได้ว่า เป็นผู้อยู่เดียวโดยแท้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ?
    ก็เพราะตัณหาเป็นเพื่อนสองของเธอ เธอละได้แล้ว เพราะฉะนั้น เธอจึงเรียกได้ว่า เป็นผู้อยู่เดียว” *
    .........

    ที่อ้างอิง *
    * สํ.สฬ.18/66-67/43-45 นันทิ = ความเริงใจ หรือหื่นเหิม สัญโญชน (หรือ สังโยชน์) = กิเลสที่ผูกมัดใจ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มิถุนายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...