เรื่องเด่น วิวาทะพระช่วยน้ำท่วม!มิใช่ความขัดแย้งของชาวพุทธ

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 4 สิงหาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    87188_th.jpg

    วิวาทะพระช่วยน้ำท่วม!มิใช่ความขัดแย้งของชาวพุทธ


    ช่วงที่เกิดอุทกภัยพิษพายุโซนร้อน “เซินกา” ถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสกลนคร หลายภาคส่วนได้ออกมาช่วยเหลือในด้านต่างๆ ร่วมถึงคณะสงฆ์ด้วย อย่างไรก็ตามได้เกิดเสียงวิจารย์เกี่ยวกับการทำหน้าที่คณะสงฆ์ในครั้งนี้ โดยมองว่าเป็นการทำหน้าที่แทนฆราวาส พูดง่ายๆ ก็คือไม่ใช่กิจของสงฆ์ บุคคลที่ท้วงติดนี้คืออาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นักบรรยายธรรมทางพระพุทธศาสนา และก่อนหน้าก็ได้ท้วงติงกรณีที่พระภิกษุสามเณรใช้สื่อออนไลน์ ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้

    ต่อประเด็นนี้ ร.ท.,ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้ออกมาทำความเข้าใจผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Banjob Bannaruji – บ้านบรรณรุจิ ความว่า “วิวาทะระหว่างพุทธแค่สะท้อนความเห็นต่างระหว่างความยากจนกับความมีฐานะแต่ไม่ใช่ข้ดแย้งแตกแยก”

    @ ฟังความเห็นต่างตรงนี้มาหลายวัน พิจารณาดูแล้วน่าจะทำความเข้าใจกันได้

    @ มุมมองที่ต่างกัน

    อ.สุจินต์ เป็นคนยุคเก่า ถูกฝึกอบรมมาในสายอภิธรรมให้มองไปที่สภาวธรรมคือกุศลธรรม(ความดี) กั บ อกุศลธรรม (ความชั่ว) ล้วนๆ และใช้กุศลธรรมกับอกุศลเป็นปทัฏฐานในการตัดสินพฤติกรรมในสังคม โดยไม่คุ้นกับการมองตัวบุคคล มองสถานการณ์ มองแต่สภาวธรรมคือเป็นรูปกับนาม โดยมีนามเป็นตัวตัดสินว่าดีหรือชั่ว ดังนั้น ในทัศนะของท่าน พฤติกรรมที่แสดงออกจึงมีแต่กุศลกับอกุศล หรือดีกับชั่ว หรือถูกกับผิดเท่านั้น หรือ ขาวกับดำเท่านั้น ไม่มีสีเทา

    ประกอบกับพื้นฐานเดิม ท่านเป็นคนมีสกุลคือดูเหมือนจะเป็นลูกหรือหลานสาวของคุณพระบริหารวนเขต (ขออภัยถ้าผิด) จึงมีชีวิตที่สัมพันธ์กับคนชั้นกลางถึงคนชั้นสูงเป็นส่วนมาก ไม่ได้สัมพันธ์กับคนชั้นล่างและคนทุกข์ยาก เรียนอภิธรรมกับอาจารย์แนบซึ่งก็มีสกุลรุนชาติ แถมสอนธรรมะก็สอนอยู่แต่กับคนชั้นกลางถึงชั้นสูง จึงไม่ค่อยสัมผัสกับความยากจนและคนยากคนจน จึงยากจะรู้รสของความทุกข์ยากอย่างที่คนยากจนรู้

    ด้านการมองพระ อ.สุจินต์เคารพพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉกเช่นชาวพุทธทั่วไป แต่พระสงฆ์ ท่านอาจจะคุ้นเคยกับการมองพระอริยสงฆ์อย่างที่เรียนรู้มาจากคัมภีร์หรือจากการบอกเล่าของครูอาจารย์ จึงนิยมเอาชีวิตพระอริยสงฆ์มาวัดชีวืตของสมมติสงฆ์ในโลกปัจจุบัน ซึ่งค่อนข้างเกี่ยวข้องกับสังคม

    @ การผูกพันกับสังคม – บทบาทหนึ่งพระสงฆ์ในโลกปัจจุบัน

    โลกปัจจุบัน คำสอนของพระพุทธเจ้ายังบริสุทธิ์แทั แต่พฤติกรรมของศาสนิกจะให้บริสุทธิ์เพียวตามคำสอนได้ค่อนข้างยากมาก เพราะอะไร ? เพราะอิทธิบาท ๔ ในการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามี แต่ไม่แก่กล้า ส่วนมากยังมีอินทรีย์ ๕ เช่นกัน แต่อ่อนกำลังมาก แม้พระสงฆ์ก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ก็ยังมีอิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ สำหรับการการเรียนรู้และการปฏิบัติธรรม แต่ไม่เข้มแข็งพอที่จะก้าวข้ามเรื่องโลกธรรมได้ การสัมพันธ์กับสังคมจึงต่างกับสมัยพุทธกาล

    ไม่ต้องอะไรมาก ดูการบวชก็แล้วกัน สมัยครั้งพุทธกาล การบวชคือการละทิ้งครอบครัวพร้อมเครือญาติ มุ่งสู่ความหลุดพ้นเป็นพระอริยะ แต่การบวชในบ้านเรามี ๓ วัตถุประสงค์ คือ ๑) สละโลกสู่ความหลุดพ้น ๒) ประเพณีแทนคุณพ่อแม่หรือบวชหน้าไฟ และ๓) ประเพณีแล้วมุ่งสู่ความหลุดพ้น แต่วัตถุประสงค์ ๒ และ ๓ น่าจะมากกว่า จึงเป็นเหตุให้ตัดการเกี่ยวข้องสังคมไม่ได้ จึงออกมาเป็นผูกพันและอิงอาศัยกัน ดังสรุปอยู่ใน

    คำกลอนที่ว่า
    “วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย
    บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย
    วัดกับบ้านผลัดกันช่วยยิ่งอวยชัย
    ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง”

    การช่วยเหลือในปัจจุบันอย่างคำกลอนว่าไว้แสดงความอิงอาศัยกันเป็นเรื่องจำเป็น…บ้านช่วยวัด วัดช่วยบ้าน การผูกพันอย่างนี้ระหว่างวัดกับบ้านหรือระหว่างพระกับชาวบ้านมีอยู่ทั่วไปในสังคมชาวพุทธไม่ว่าเถรวาทหรือมหายาน ฝรั่งมารู้มาเห็นเข้าก็เรียกพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธปฏิบัติกันอย่างนี้ว่า “socially engaged Buddhism – พระพุทธศาสนาแบบผูกพันกับสังคม”

    อ.สุจินต์ไม่ใช่คนระดับล่าง ครอบครัวท่านไม่ได้สัมผัสกับบรรยากาศของความสัมพันธ์แบบนี้ ท่านจึงไม่เข้าใจ จึงน่าอภัยมากกว่าตำหนิ เพราะภูมิหลังท่านคือชาวพุทธที่ดีคนหนึ่ง ทำหน้าทึ่สอนธรรมะมานานน่าจะกว่า ๕๐ ปี

    @ ด้านธรรมวินัย – พระสงฆ์เป็นอย่างไร ?

    เอาละในด้านอาจาระ ตามที่เห็น พระที่ไปช่วยชาวบ้านอาจจะมีการแสดงออกแบบชาวบ้าน เช่น พายเรือ ทำครัว นุ่งโจงกระเบน แบกแพคน้ำ ถือข้าวห่อ แบกของ

    นี่ละมังทึ่ อ.สุจินต์บอกว่าไม่ควรช่วยแบบชาวบ้าน ซึ่งแน่ละกิริยาอาการอย่างนี้จะว่าเรียบร้อยไปไม่ได้ และยิ่งมองทะลุเข้าไปถึงจิตใจว่ามีสังขารหรือเจตสิกตัวใดปรุงแต่ง นักอภิธรรมอย่าง อ.สุจินต์ก็ต้องว่าเป็นอกูศลเจตสิกฝ่ายโลภะปรุงแต่ง สหรคตด้วยโสมนัส เพราะมีการหัวเราะสนุกสนานในการช่วยและประกอบด้วยทิฏฐิและมานะ

    นี่คือการตัดสินแบบนักอภิธรรมที่เรียนรู้แต่เรื่องสัมปยุตกับวิปยุตตามปรากฏในคัมภีร์ฎีกา ซึ่งมีแต่กุศลกับอกุศล หรือขาวกับดำ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าอภัยท่าน เพราะท่านขาดองค์ความรู้เรื่องคำสอนในพระสูตร ที่นักอภิธรรมทั่วไปไม่ใช่เฉพาะแต่ อ.สุจินต์มองข้าม

    เอาละกลับมาด้านพระวินัย เป็นไปได้ว่าอาจาระเช่นนั้น หากจะปรับก็ไม่แคล้วอาบัติทุกกฏ (ทำไม่ดี)เพราะทำไม่เรียบร้อยไม่สวยงาม ไม่สมควรแก่สมณสารูป ซึ่งเป็นอาบัติหรือโทษที่พระพุทธเจ้าทรงไว้วางสำหรับความผิดขั้นพื้นฐานทางกายและวาจา และพ้นผิดได้ด้วยการแสดงความผิดสารภาพผิดอย่างที่เรียกว่า “ปลงอาบัติ”

    แต่เมื่อด้านธรรมะ การช่วยเหลือชาวบ้านของพระเณรสะท้อนให้เห็นกรุณาหรือความสงสารอันใหญ่หลวง ที่มีเมตตา(ความรักความปรารถนาดี)เป็นฐานหนุนสำคัญ จริงอยู่ คุณธรรม ๒ ข้อนี้จะมองข้ามไปจากจิตใจของพระเณรที่ลงมือไปช่วยไม่ได้เลย

    สิ่งที่น่าถามก็คือว่า ทำไมพระสงฆ์จึงเกิดกรุณาความสงสารได้ใหญ่หลวงขนาดนั้น ? คำตอบที่ผมหาได้ คือ เพราะเมตตาความรักความปรารถนาดีที่มีต่อกันมายาวนานระหว่างพระกับชาวบ้านมันลึกซึ้ง เมื่อรักลึกซึ้ง ความสงสารยามที่คนที่เรารักประสบทุกข์ก็ย่อมลึกซึ้งตามไปด้วย

    นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าอภัย เพราะในสังคมของ อ.สุจินต์อาจจะมีเมตตา แต่จะมีคนประสบทุกข์ใหต้องกรุณากันขนาดนี้หรือไม่ ?

    @ สรุป

    ร่ายมาเสียยาวก็อยากจะสรุปว่า

    ๑. ด้านพระวินัยพระเป็นอาบัติแน่ แต่เมื่อเทียบเคียงกับสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติตามหลักมหาปเทส(ข้ออ้างหรือหลักฐานสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้)แล้วเบื้องต้นก็ปรับได้แค่อาบัติทุกกฏ

    ทุกวันนี้ พระอาจจะต้องอาบัติได้ง่าย เพราะสภาพสังคมพาให้เป็นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งพระพลาดเอง ดังนั้น พระอาจต้องอาบัติกับเรื่องที่เป็นประโยชน์เฉพาะตนมานานแล้ว เช่น ดูทีวี จับเงิน คราวนี้หากจะต้องอาบัติเพื่อประโยชน์แก่สังคมที่ไม่ถึงขั้นสูญเสียความเป็นพระก็น่าเสี่ยงดู เพราะอะไร ? (ดูข้อที่ ๒ ครับ)

    ๒. ด้านพระธรรม ท่านแสดงออกถึงเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้งที่คนดีพึงมีต่อกัน และธรรมนี้แหละจะพัฒนาตนพัฒนาใจพัฒนาวิสัยทัศน์ให้รู้จักช่วยสังคม แล้วสังคมจะมาช่วยพระช่วยรักษาพระศาสนา มหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผาก็เพราะพระไม่เอาสังคมนี่แหละเป็นเหตุใหญ่

    @ ข้อสังเกต

    อยากให้ข้อสังเกต การต้องอาบัติอย่างทุกกฏนั้นหลีกเลี่ยงได้ยากมาก พระอริยะหลายรูปทำกิจกรรมบางอย่างด้วยจิตเป็นกุศลก็ยังไม่พ้น เช่น

    พระอานนท์ก็เคยถูกสงฆ์ปรับเป็นอาบัติทุกกฏ เพราะขณะที่เย็บจีวรถวายพระพุทธเจ้า ท่านใช้เท้าเหยียบจีวร คณะสงฆ์ทราบความจึงปรับอาบัติทุกกฏย้อนหลัง เพราะทำไม่เรียบร้อย ทำให้คนมองว่าท่านไม่เคารพพระพุทธเจ้า

    เอาละครับ ยอมให้ปรับอาบัติทุกกฏแก่พระสงฆ์ที่ช่วยชาวบ้าน แต่ยอมให้ไม่ได้ หากใครจะมองข้ามเจตนาดีของท่านไป คือต้องการช่วยชาวบ้านที่กำลังทุกข์ให้พ้นทุกข์

    @ สุดท้าย

    ประเด็นการพูดแสดงความเห็นมของ อ.สุจินต์ เป็นแค่วิวาทะ (พูดต่างออกไป) แต่ไม่ใช่วิวาทะประเภทขัดแย้ง เป็นแค่สะท้อนว่า การมุ่งเอาวินัยเป็นเรื่องดี แต่ไม่คำนึงถึงธรรมะด้วยก็เป็นอย่างนี้แหละ บางทีอาจสุดโต่ง เพราะจิตจะให้แค่ดี-ชั่วไม่พอ ยังต้องมีดีปนชั่วหรือชั่วปนดีด้วย เพราะสติของปุถุชนอย่างเราไม่สามารถกันกิเลสออกจากกุศลธรรมได้สมบูรณ์ ยังต้องมีกิเลสแทรกเข้ามาปนจนได้ ไม่อย่างนั้นปัญญาคงไม่สำแดงความฉลาดแกมโกงออกมา ฉลาดเป็นเรื่องของปัญญา แต่โกงเป็นเรืองของโลภะความอยากได้มากเกินไปจึงต้องไปโน้มปัญญาให้ทำตามความต้องการของโลภะ แม้ผิดก็ยอม

    อ.สุจินต์เกิดในสังคมชั้นสูงไม่มีความสัมพันธ์กับคนทุกข์ยากสักเท่าไร เรียนรู้และปฏิบัติธรรมมุ่งเอาความบริสุทธิ์ของตัวเองเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่น่ายกย่องคือสอนธรรมะประเภทไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขามานาน

    ขณะเดียวกันพระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา ได้แสดงความรู้สึกผ่านทางเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat ขณะที่ลงไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า

    ” พระพุทธเจ้าต้นแบบผู้ทำเพื่อคนอื่น: กิจกรรมเพื่อสังคมทนเห็นเพื่อนมนุษย์มีความทุกข์ไม่ได้ : ตื่นมาพร้อมกับความเบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ : การุณยธรรมคุณธรรมของโพธิสัตว์ : รอยยิ้มความสุขของคนในชุมชน “

    ลงพื้นที่ร่วมทำบุญกับพระสงฆ์และผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งนำโดยพระครูภาวนาสารบัณฑิต ดร. ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร และ อาจารย์ ผศ.ดร.อุทัย สติมั่น ผศ.ดร.ปราโมทย์ ยอดแก้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพในนามศิษย์เก่าวัดชนะสงคราม มีความเบิกบานในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

    คำว่า การุณย์หมายถึง ความเอ็นดู ความเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกหวั่นไหวในเมื่อเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยาก การุณยธรรมจึงเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะเป็นหลักประกันให้เราอยู่ร่วมกันในโลกนี้อย่างมีสันติสุขและปราศจากการเบียดเบียน นักปราชญ์เขียนไว้ว่า ” มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห แปลความว่าอัชฌาศัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณาเป็นลักษณะของมหาบุรุษ” ซึ่งคนที่เป็นมหาบุรุษหรือคนที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ก็เพราะเขาคนนั้นมีจิตใจที่อ่อนโยน เปี่ยมด้วยความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างจริงใจ ในทางพระพุทธศาสนาการุณยธรรม เป็นคุณธรรมที่เป็นแรงใจให้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์โลก ซึ่งพระพุทธศาสนาทางมหายานเน้นการุณยธรรมเป็นพิเศษ ซึ่งมีปณิธานว่า ” จะช่วยรื้อขนสรรพสัตว์เข้าสู่นิพพานให้หมดสิ้นเสียก่อน จากนั้นจึงจะหันมาคำนึงถึงตนเอง “หมายถึงเป็นการนึกถึงคนอื่นก่อนจะนึกถึงตนเอง

    ฉะนั้น บุคคลที่กล้าลำบากเพื่อคนอื่นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ พระพุทธเจ้า แม่ชีเทเรซ่า มหาตมะคานธี เนลสัน แมนเดล่า บุคคลเหล่านี้จะสอนตนเองว่า ” เช้าวันนี้ ฉันมีความยินดีที่จะช่วยเหลือคนทั้งโลก ” และเตือนตนเองว่า ” พรุ่งนี้ ฉันจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความเบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์” วันนี้จึงถือโอกาสแบ่งปันความสุขให้กับเพื่อนมนุษย์ท่ามกลางของภัยธรรมชาติ ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน ขอพลังอำนาจบุญส่งผลให้ชีวิตของท่านมีความสุขตลอดไป



    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.banmuang.co.th/news/education/87188
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 4 สิงหาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...