ศีลหากรักษาให้บริสุทธิ์ เจ้ากรรมนายเวรจะยำเกรง หรือยกโทษได้

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 5 ตุลาคม 2016.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,294
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    ศีลหากรักษาให้บริสุทธิ์ เจ้ากรรมนายเวรจะยำเกรง หรือยกโทษได้


    aHR0cDovL3AxLmlzYW5vb2suY29tL2hvLzAvdWQvMTQvNzQ2NjEvbW1tLmpwZw.jpg


    ศีลนั้น มีปราชญ์และท่านผู้รู้ได้แปลว่า “ปกติ” จนกลายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คนที่รักษาตนให้มีศีล ก็เรียกว่า รักษาตนให้เป็นปกติหรือสภาพที่เป็นปกติของคนๆหนึ่งพึงจะเป็น เป็นความปกติที่คนทุกนั้นมี เป็นความสุข ความสงบ และเรียบง่ายตามวิถีแห่งธรรมชาติ

    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ครูบาอาจารย์กำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาในยุคนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า การมีศีลทำให้มนุษย์ได้อยู่กันเป็นปกติ เพราะแต่ละคนๆ ก็รักษาสภาพปกติของตนเมื่ออยู่เป็นปกติ จิตใจเป็นปกติแล้ว ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไรจะคิดนึกในสิ่งทั้งหลายก็จะทำได้ราบรื่นดี

    แต่ถ้าจิตใจไม่ปกติ เวลาที่พูดและทำก็จะเกิดความผิดปกติแล้วก็จะเกิดความขัดแย้งปั่นป่วนวุ่นวาย จะไปคิดทำการทำงานอะไรที่เป็นไปในทางที่ดีงามก็เป็นไปได้ยาก มีแต่จะนำไปสู่ความทุกข์มีแต่จะสร้างเวรสร้างกรรมให้มากขึ้น นี่ก็เป็นความหมายหนึ่งของคำว่า “ศีล” เช่นกัน

    การที่สร้างบุญบารมีนอกจากจะเพื่อให้มีความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้าแล้ว ควรรักษาศีลอันเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ความชั่วมาเกาะกุมหัวใจโดยมีจุดประสงค์หลักไม่ให้เราไปก่อกรรมชั่วไปสร้างเจ้ากรรมนายเวรขึ้นมาใหม่อันจะเป็นการก่อทุกข์ให้กับทั้งตัวเราและผู้อื่น

    ที่บอกว่าศีลจะทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ได้มากกว่าทานเพราะว่า การรักษาศีลนั้นเป็นการเพียรพยายามจะระงับสิ่งที่จะเกิดเป็นโทษทางกายและวาจาไม่ให้มันเกิดขึ้นมา เป็นทั้งข้อบังคับและข้อปฏิบัติในเวลาเดียวกัน

    แล้วเราจะปฏิบัติตามศีลแบบใดที่ ทำให้เจ้ากรรมนายเวรพอใจ ?

    เรื่องนี้ตอบได้ง่าย ๆครับ คือยิ่งรักษาศีลให้บริสุทธิ์มากเท่าใดก็ยิ่งเกิดบุญกุศลมากและก็ยิ่งทำให้เจ้ากรรมนายเวรพอใจได้มากขึ้นเท่านั้น

    เช่น ศีล 5 ซึ่งเป็น ศีลพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ได้แก่การห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ใด ๆแม้เพียง 1 บาท การดำรงตนอยู่ในคู่ครองของตัวเอง การไม่พูดปด พูดส่อเสียด หรือแม้แต่พูดคำหยาบ และ ไม่ดื่มสุราให้ขาดสติเป็นเหตุให้สติไม่ตั้งมั่นจิตใจเศร้าหมองลง

    หากได้ปฏิบัติสูงขึ้นไปเรื่อย ในระดับ ศีล 8 หรือ ศีล 10ไปจนถึงข้อปฏิบัติที่เป็นข้อวัตรที่ทำให้กายและวาจาเกิดความบริสุทธิ์ไม่ยอมทำความผิดหรือทำให้กิริยาไม่งามอย่างศีล 227 ข้อของพระภิกษุซึ่ง ถือว่าเป็นระดับสูง เมื่อรักษาศีลได้อย่างหมดจดแล้วก็จะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ปฏิบัติการชำระจิตใจให้สะอาดในขั้นสูงต่อไป

    เมื่อบำเพ็ญศีลอยู่เป็นนิตย์คือ หมั่นรักษาการกระทำทั้งทางกายและวาจาให้ดี จิตใจก็จะไม่ถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งที่ไม่ดีให้สกปรกมากไปกว่าเดิม อันเป็นเหตุป้องกันไม่ให้กลับไปสร้างกรรมที่ไม่ดี ถ้าหากเปรียบจิตเป็นดั่งน้ำ ก็เหมือนน้ำที่ได้มีการเจือจางแล้วด้วยการทำทาน

    และยังมีการป้องกันด้วยศีล เหมือนมีแผ่นกรองไม่ให้สิ่งสกปรกใด ๆตกลงไม่ให้สกปรกไปเพิ่มอีก นอกจากนั้นการรักษาศีลยังเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้าย ๆเข้ามาแผ้วพานได้ง่าย ๆ

    ยกตัวอย่างเช่น คนที่ประสบอุบัติเหตุแล้วรอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ บางคนบอกว่าเหมือนถูกเหวี่ยงออกมาจากพาหนะที่นั่งอยู่แล้วไปตกยังที่ปลอดภัยทั้งๆที่ไม่น่าจะเป็นไปได้หรือ บางคนกำลังประสบเคราะห์กรรมจมน้ำเกือบตายแต่เหมือนมีอะไรมาดึงให้ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ

    บางคนอาจจะโดนเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตอยู่ตามมาทำร้ายแต่ก็เหมือนมีอะไรมาบังตาให้เขามองไม่เห็น เชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้คงเคยเป็นที่ประจักษ์กันมาบ้างแล้ว

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ผู้ที่มีการรักษาศีลให้บริสุทธิ์เป็นเครื่องป้องกันเอาไว้ไม่ให้เจ้ากรรมนายเวรที่ประสงค์ร้ายได้ตามเอาคืนได้ทัน

    หากเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่ไม่มีชีวิตอยู่ในภพภูมิอื่นที่ได้รับรู้ถึงความพยายามรักษาศีลในการสร้างบุญเพื่ออุทิศให้แก่ตนเองนั้น เขาก็จะได้อนุโมทนาบุญนั้นไปและยอมยกโทษหรือยอมอโหสิกรรมให้ในที่สุด

    การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นอกจากเจ้ากรรมนายเวรก็จะยกโทษให้แล้วยังจะเกรงในบุญบารมีของเราอีกด้วย เข้าทำนอง “คนดีผีคุ้ม ตกน้ำไม่ไหลตกไฟก็ไม่ไหม้”

    ในเรื่องศีล แม้เพียงรักษาศีลขั้นต่ำสุดอย่างศีล 5 ก็จะได้อานิสงส์มากมายดังนี้

    1. คนที่มีศีล อาศัยความไม่ประมาทจะทำให้เกิดโภคทรัพย์ได้มาก ส่วนคนไม่มีศีลคนที่เต็มไปด้วยอบายมุข ย่อมปล่อยชีวิตตกต่ำและเมื่อมัวหมกมุ่นวุ่นวายมัวเมาในเรื่องของสิ่งเหลวไหล จึงไม่อาจจะเอาใจใส่ต่อสิ่งดีงามใด ๆไม่ขยันทำมาหากิน

    เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ก็ทำให้เสื่อมทรัพย์อับจนชีวิต แต่คนที่มีศีล เว้นจากทุจริตเว้นจากอบายมุขและเรื่องชั่วช้าเสียหายแล้ว เมื่อมีความไม่ประมาท ก็ขยันหมั่นเพียรทำการงานใจอยู่กับการประกอบอาชีพ ก็ทำให้เกิดโภคะได้มาก

    2. กิตติศัพท์คุณงามความดีอันดีงามก็ระบือไปไกล คนที่ประพฤติมีศีล มีความสุจริต คนก็นิยมชมชอบ ยิ่งสังคมปัจจุบันนี้เราถือเป็นสำคัญมากว่า ในบ้านในเมืองนี้ทำอย่างไรจะหาคนที่มีศีล คือคนสุจริตมาบริหารบ้านเมือง

    ถ้าคนไหนมีศีล สุจริต มีความบริสุทธิ์ มีความซื่อสัตย์ ก็ได้กิตติศัพท์ดีไปด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด อย่างน้อยด้านศีล ก็ได้กิตติศัพท์เป็นเครื่องประดับรองรับตัวเองขึ้นมา เป็นฐานที่สำคัญ

    3. ความมีศีลทำให้มีความแกล้วกล้า ถ้าเรามีศีล เป็นคนประพฤติซื่อสัตย์สุจริตแล้วจะเข้าสมาคมไหนก็มีความแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้าม

    4. เวลาตายก็มีสติ ไม่หลงตาย ต่อจากนั้น

    5. ข้อสุดท้าย ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์
    อ้างอิงจาก หนังสือ ก้าวไปในบุญ โดยพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต)

    กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการรักษาศีลมากๆ แนะนำให้ ไปปฏิบัติธรรมเป็นประจำที่วัดใกล้ ๆบ้าน จะบวชพราหมณ์หรือบวชอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ได้อย่างน้อยสัก 15 วัน หลังจากได้บวชหรือปฏิบัติธรรมออกมาแล้วก็จะทำให้เรามีความเข้าใจในข้อวัตรที่จะต้องปฏิบัติในการรักษาศีลอย่างถ่องแท้มากขึ้นและสามารถรักษาศีลได้อย่างถูกวิธีด้วย

    การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งแม้เพียงสักเล็กน้อยมันจะเป็นเครื่องขวางกั้นไม่ให้บรรลุธรรมชั้นสูงๆได้ ชาวพุทธผู้มีปัญญาที่ยังเป็นปุถุชน ที่ยังมีความโลภ ความโกรธ และความหลงนั้น ควรเพียรรักษาศีลให้ครบอย่างน้อยก็ศีล 5 ที่คนธรรมดาทั่วไปนั้นเป็นข้อปฏิบัติที่สามารถทำได้ง่าย

    หมั่นสร้างกรรมดีงดเว้นจากความชั่วที่เป็นบาปทั้งปวง หมั่นให้ทาน รักษาศีล เมื่อทุกอย่างบริบูรณ์แล้วจึงเข้ามาสู่การเจริญภาวนา จึงจะสำเร็จผลในบุญสูงสุดและทำให้พ้นทุกข์ไปได้

    #พระพุทธเจ้า #ธรรม #หนังสือธรรมทาน #ธ.ธรรมรักษ์ #ศีล
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 13 ตุลาคม 2016
  2. ปาปิปผลิ

    ปาปิปผลิ พระอุโบสถเจดีย์7ชั้น

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 เมษายน 2012
    โพสต์:
    503
    ค่าพลัง:
    +1,801
    สาธุค่ะ
     
  3. 2499

    2499 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2005
    โพสต์:
    450
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +6,033
    ตรวจศีล (ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย)

    ตรวจศีลข้อ1

    ศีลข้อ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาดจากโทสะ
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 1 เพื่อล้างโทสะ ละเบียดเบียน

    ศีลขาด
    คือ เจตนาทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง และแสดงออกซึ่งอาการโทสะทางกาย เช่น เตะหมา ตีแมว ต่อยคน ประทุษร้ายใครด้วยความโกรธ ฯลฯ (อริยกันตศีลเป็นศีลละเอียดกว่าศีลสามัญญตา)

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจาด้วยโทสะ หรือโกรธ เช่น สั่งฆ่า สั่งทำร้าย หรือพูดกระแทกแดกดัน ยั่วกันด้วยโทสะ ด้วยความไม่ชอบใจ หมั่นไส้ และวาจาใดอันอดมิได้ต่อโทสะภายใน

    ศีลด่าง
    คือ มีใจโกรธ อึดอัด ขัดเคือง อาฆาต พยาบาท ถือสาชิงชัง รังเกียจ ไม่ชอบใจหรือปรุงใจเป็นไปด้วยโทสะ (ยังครุ่นคิดแค้น คิดทำร้าย คิดทำไม่ดีไม่งามกับผู้อื่นอยู่)

    ศีลพร้อย
    คือ มีใจเบื่อ ซึม เซ็ง ซังกะตาย ถดถอย ท้อแท้ ไม่ยินดี โลกนี้เป็นสีเทา (อรติ)

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี ไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะสายโทสะละเบียดเบียนนี้ ซึ่งจะรู้ชัดได้ดี เมื่อมีเมตตาสมาทานอย่างต่อเนื่อง



    ตรวจศีลข้อ2

    ศีลข้อ 2 อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากโลภะ
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 2 เพื่อลดโลภะ ละตระหนี่ แม้ตน

    ศีลขาด
    คือ เจตนาขโมย โกง ปล้นจี้ ตีชิง ฉกฉวย แม้ที่สุดหยิบของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจา เลียบเคียง ลวงเล็ม หลอกล่อ หรือพูดเพื่อให้ได้มาสมโลภ

    ศีลด่าง
    คือ มีใจเอาเปรียบ เห็นแก่ได้ คิดอยากใคร่ของคนอื่น หรืออาศัยนิมิตสมมุติ เพื่อให้ได้มาเพื่อให้ได้อยู่โดยไม่สมคุณค่าฐานะแห่งนิมิตสมมุติ (รูปแบบ, ตำแหน่งแต่งตั้ง) นั้นๆ

    ศีลพร้อย
    คือ มีใจยินดีทรัพย์สินของโลก ของคนอื่น หรือมอบตนอยู่บนทางแห่งการได้มาสมโลภ

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี ไม่หลงใหลยินดีทรัพย์สินของโลก และสิ้นความผลักใส ชิงชังทั้งไร้ตระหนี่ตน เป็นคนขวนขวายใฝ่สร้างสรร ขยันชนิดทำงานฟรี ไม่มีเรียกร้องสนองตอบ หรือไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะสายโลภะละตระหนี่นี้ +++ (ฆราวาสครองเรือนจะพ้นศีลพร้อยได้ยากมาก แต่สามารถตรวจจับดับความยินดีในการได้มาได้...เมื่อต้องอยู่กับทรัพย์สินก็ควรอยู่เหนือทรัพย์สิน)




    ตรวจศีลข้อ3

    ศีลข้อ 3 กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากราคะ
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 3 เพื่อลดราคะ ละกามารมณ์

    ศีลขาด
    คือ เจตนามีสัมพันธ์ทางเพศ หรือโลมเล้าจับต้อง เสพสุขสัมผัสกับผู้มิใช่คู่ครองของตน แม้ในคนที่ไม่ได้แต่งงานกัน (การบริโภคกามตามสถานค้าประเวณีจัดเป็นความผิดขั้นนี้)

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจาจีบเกี้ยว พูดแซวเชิงราคะ กระซิกกระซี้ สัพยอก หยอกเย้า เร้าให้รักใคร่ พูดไปเพื่อผูกพัน หรือบำบัดบำเรออารมณ์ โดยกามราคะขับดัน ทั้งที่ผู้นั้นมิใช่คู่ครองของตน

    ศีลด่าง
    คือ มีใจคิดปรุงไปในสัมพันธ์ทางเพศ หรือมีอารมณ์แปรปรวนป่วนฝันฟุ้งบำรุงกาม และเรื่องราวคาวกามลามไหล อยู่ในใจกับใครอื่นซึ่งไม่ใช่คู่ครองของตน (นัยละเอียดต้องจบจิตคิดใคร่)

    ศีลพร้อย
    คือ มีใจยินดีในกาม ความเป็นคู่กับผู้อื่น หรือยินดีพึงใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันชวนกำหนัดรัดรึงจากเพศตรงข้ามที่ไม่ใช่คู่ครองของตน (นัยละเอียดจบสนิทจิตยินดีในกาม)

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี ไร้ความยินดีในกาม ไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะสายราคะ ละกามารมณ์นี้ (ต้องศีล 8 จึงมีสิทธิเป็นไท)



    ตรวจศีลข้อ4

    ศีลข้อ 4 มุสาวาท เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากความเท็จ ความไม่แท้
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 4 เพื่อลดมุสา พัฒนาสัจจวาจา

    ศีลขาด
    คือ เจตนากล่าวคำเท็จ โกหก หลอกลวง บิดเบือนไปจากความจริง หรือสัจจะ

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจา ระบายโทสะ บำเรอโลภะ บำรุงราคะ เป็นคำหยาบ

    ศีลด่าง
    คือ มีวาจาส่อไปในทางเสียด เสียดสีเชิงโทสะบ้าง เสียดสีเชิงโลภะบ้าง เสียดสีเชิงราคะบ้าง เสียดสีเชิงมานะทิฏฐิบ้าง เสียดสีเชิงมานะอัตตาบ้าง แม้จางบางเบา หรือพูดกบคนโน้นทีคนนี้ที เพื่อให้เกิดวิวาทบาดหมาง แยกก๊ก แบ่งเหล่า ก็จัดเข้าอยู่นัยนี้ เป็นวาจาส่อเสียด

    ศีลพร้อย
    คือ มีวาจาเรื่อยเปื่อยเฉื่อยฉ่ำไป เพ้อไป พล่อยไป พล่ามไป จะโดยแรงเร้าจากโทสะที่จากบางเบา โลภะที่จางบางเบา ราคะที่จางบางเบา หรือมานะทิฏฐิที่จางบางเบา มานะอัตตาที่จางบางเบา ก็จัดเข้าอยู่นัยนี้ เป็นวาจาเพ้อเจ้อ

    เป็นไทโดยศีล
    ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี มีวาจาประชาสัมพันธ์ เป็นไปโดยสามารถของตนไร้อิทธิพลจากโทสะ โลภะ ราคะ มานะทิฏฐิ มานะอัตตามาครอบงำ หรือไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะเรื่องราว ลดมิจฉาสู่สัมมา หรือลดมุสา (วาจาอันเป็นเท็จจากสัจจะ) พัฒนาสัจจวาจา




    ตรวจศีลข้อ5

    ศีลข้อ 5 สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากเสพติด ชีวิตมืดบอด
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 5 เพื่อลดโมหะ ละประมาท เพิ่มธาตุรู้หรือสติ

    ศีลขาด
    คือ เจตนาเสพสิ่งเสพติดมัวเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน สังสรรกับคนชั่ว ปล่อยตัวเกียจคร้านอย่างตั้งใจ

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจาชักชวน โน้มเหนี่ยวนำพาตน คนอื่น สู่อบายมุขหรือโน้มน้าวอบายมุขมาสู่ตน คนอื่น และกล่าววาจาพร่ำพิไรใฝ่ถึงซึ่งอบายมุข (ทั้ง6)

    ศีลด่าง
    คือ มีใจทะยานอยากในอบายมุข ปรุงใจถวิลไปในอบายมุข หรือเรื่องราวคราวก่อนตอนเสพอบายมุขลามไหลอยู่ในใจ เก็บสัญญาเก่าก่อนตอนเสพอบายมุขมาย้อนเสพ

    ศีลพร้อย
    คือ ยังมีใจยินดีในอบายมุข เห็นคนเสพอบายมุขยังยินดี มีใจริษยา มิได้เกิดปัญญา เห็นภัยในอบายมุขและการเสพอบายมุข

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี หมดความยินดี และสิ้นอารมณ์ชิงชังในอบายมุข หรือไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะสายมัวเมามือบอดนี้
     
  4. 2499

    2499 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2005
    โพสต์:
    450
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +6,033
    ตรวจศีลข้อ3 (สำหรับศีล8)

    ศีลข้อ 3 อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากราคะ
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 3 เพื่อลดราคะ ละกามารมณ์

    ศีลขาด
    คือ เจตนามีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้อื่น หรือโลมเล้าจับต้อง เสพสุขสัมผัส แม้ที่สุดกับตนเองทางกาย หรือข่มเหงตนเองโดยกามราคะขับดัน

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจาจีบเกี้ยว พูดแซวเชิงราคะ กระซิกกระซี้ สัพยอก หยอกเย้า เร้าให้รักใคร่ พูดไปเพื่อการผูกพัน หรือพูดบำบัดบำเรออารมณ์ โดยกามราคะขับดัน

    ศีลด่าง
    คือ มีใจคิดปรุงไปในสัมพันธ์ทางเพศ มีอารมณ์อันแปรปรวนป่วนปั่น ฝันฟุ้งบำรุงกาม และเรื่องราวคาวกามลามไหลอยู่ในใจ หรือกามสัญญาเก่าก่อนนึกย้อนมาเสพ

    ศีลพร้อย
    คือ มีใจยินดีในกาม ความเป็นคู่ หรือยินดีพึงใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันชวนกำหนัดรัดรึง จากเพศตรงข้าม เพศเดียวกัน แม้ที่สุดตนเอง

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี ไร้ความยินดีในกาม ไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะสายราคะ ละกามารมณ์นี้



    ตรวจศีลข้อ6

    ศีลข้อ 6 วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากการบริโภคอันไม่ควรกาล
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 6 เพื่อลดหลงติดในอาหาร และรู้ประมาณการบริโภค

    ศีลขาด
    คือ เจตนาบริโภคเกินหนึ่งมื้อด้วยความหลงติด สำหรับผู้ยังไม่เข้มแข็งสมาทานสองมื้อก็เจตนาบริโภคเกินสองมื้อ หรืออดมิได้ต่อความยั่วยวนชวนชิมของอาหาร

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจา เรียกร้อง เลียบเคียง หรือพูดเพื่อให้ได้มาสมตัณหาในอาหารอันตนชอบรับประทาน และพร่ำพิไรใฝ่ถึงซึ่งสิ่งอันตนชอบรับประทาน

    ศีลด่าง
    คือ มีใจคิดคำนึงหาอาหารอันตนชอบรับประทาน หรืออยากในรูป รส กลิ่น สัมผัสของอาหารอันยวนใจ และดึงสัญญาในรูป รส กลิ่น สัมผัสของอาหารจากกาลก่อนย้อนมาเสพ

    ศีลพร้อย
    คือ ยังมีใจยินดีในรูป รส กลิ่น สัมผัสของอาหาร ยามได้เห็น หรือได้มาสมอุปาทานยังปลาบปลื้มประโลมลิ้นยินดีพึงใจอยู่

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี ไร้กำหนัดยินดี และสิ้นความผลักไสชิงชังใน รส หรือ ไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือ ขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะเรื่องอาหารการบริโภคนี้



    ตรวจศีลข้อ7

    ศีลข้อ 7 นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิลเปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากส่วยเสริมกามราคะ
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 7 เพื่อลดส่วยเสริมกามราคะ ละกำหนัดในกาย ธุลีเริงทั้งหลายและความเป็นเด็ก

    ศีลขาด
    คือ เจตนา เต้น ร่ายระบำ รำฟ้อน หรือทำท่าทางยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ (นัจจะ) ขับร้อง เอื้อนเอ่ยบรรเลงเพลงยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ (คีตะ) ประโคมดนตรี เครื่องเสียง เครื่องเคาะ เครื่องสายต่างๆ ยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ (วาทิตะ) หาอ่าน หาดู หารู้ รับทราบสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่ใจเร้าให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ (วิสูกะทัสสะนา) และเจตนาประดับตบแต่งด้วย ดอกไม้ พวงดอกไม้ (มาลา) กลิ่นหอมเครื่องหอมเครื่องสำอาง (คันธะ) หรือลูบไล้พอกทาแต้มเติม (วิเลปะนะ) หรือสวมใส่ทรงไว้ทรงจำ (ธาระณะ) หรือแต่งเสริมเติมแต้มด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ (มัณฑะนะ) ด้วยการประดับแต่งเสริมเติมแต้มที่ไม่สมควรไม่ใช่ฐานะอันควร (วิภูสะนัฏฐานา) ทั้งหมดจะเจตนายั่วคนอื่น หรือบำเรอตนก็จัดอยู่ในข้อศีลขาด

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจาชักชวน โน้มเหนี่ยวนำพาตน คนอื่น สู่การขับร้อง ประโคมดนตรีอันเป็นมหรสพ หรือเป็นข้าศึกแก่กุศล หรือชวนอ่าน ชวนดู รับรู้ รับทราบสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่ใจ และโน้มน้าวกล่าวชวนแต่งเติมเสริมประดับด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องสำอางทั้งเครื่องประดับต่างๆ ที่ไม่สมควร ไม่สอดรับกับฐานะ หรือพร่ำพิไรใฝ่ถึงซึ่งสิ่งดังกล่าว

    ศีลด่าง
    คือ มีใจทะยานอยากในส่วยเสริมกามราคะ ปรุงใจถวิลไปในบันเทิงเริงรมย์ เชิงร่ำร้อง ประโคมดนตรี หรือสิ่งดู รับรู้อันเป็นข้าศึกแก่ใจ ทั้งเครื่องลูบไล้ ดอกไม้ของหอม เครื่องสำอางต่าง ๆ หรือประสบการณ์เก่าก่อนนึกย้อนมาเสพ

    ศีลพร้อย
    คือยังมีใจยินดีในส่วยเสริมกามราคะ เห็นผู้อื่นเสพส่วยเสริมกามราคะ ยังยินดีบ้าง มีใจริษยาบ้าง มิได้เกิดปัญญาเห็นโทษภัยในส่วยเสริมกามราคะ และการเสพสิ่งดังกล่าว

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี หมดความยินดี และสิ้นความผลักไสชิงชังในการร้องรำ ประโคมดนตรี และการปรับปรุงระดับต่างๆ หรือไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะเรื่องส่วยเสริมกามราคะ หรือการบันเทิงเริงประดับนี้ (การทำท่าทางเพื่อให้ละหน่ายคลายจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นมงคลอันอุดมไม่ใช่มหรสพ)




    ตรวจศีลข้อ8

    ศีลข้อ 8 อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ศึกษาสมาทานเพื่อการลด งด เว้นขาด จากความมักใหญ่
    เจตนารมณ์ศีลข้อ 8 เพื่อลดมานะ ละอัตตา (โอฬาริกอัตตา มโนมยอัตตา อรูปอัตตา)

    ศีลขาด
    คือ เจตนาเสพที่นอน ที่นั่ง บัลลังก์ ที่อยู่อาศัยใหญ่โตเขื่องหรู หรืออยู่และนั่งในยศตำแหน่งแห่งงาน การดำรงชีพอันเขื่องโข เพื่ออวดใหญ่อวดโต โดยเกิดจากใจอุจาด

    ศีลทะลุ
    คือ เจตนากล่าววาจาชักชวนโน้มเหนี่ยวนำพาตน คนอื่น สู่การนั่ง การนอน การอยู่อันเขื่องหรู ใหญ่โต โดยใจมักใหญ่ หรือกล่าววาจายกตนข่มคนอื่น สำแดงความเป็นใหญ่ โอ่ประโลมอัตตายิ่ง ๆ ขึ้นไป พร่ำพิไรใฝ่ถึงซึ่งที่นั่งที่นอนที่อยู่อันหรูหราใหญ่โต และวาจาใดอันอดมิได้ต่อความมักใหญ่ภายใน

    ศีลด่าง
    คือ มีใจทะยานอยากในความใหญ่ ปรุงใจถวิลไปในที่นั่ง ที่นอน ที่อยู่ ยศตำแหน่งแห่งปรารถนาอันใหญ่ (มโนมยอัตตา) และเรื่องราวคราวใหญ่ในกาลก่อน นึกย้อนมาเสพ

    ศีลพร้อย
    คือ มีใจยินดีในความเป็นใหญ่ อยู่ใหญ่ของตน คนอื่น แม้เห็นคนอื่นเสพ หรือเป็นอยู่เป็นไปในความใหญ่ ทั้งนั่งใหญ่ นอนใหญ่ หรือยศตำแหน่งแห่งที่เขื่องหรู ยังมีใจยินดีที่ตนเป็นใหญ่ มีใจริษยาเมื่อคนอื่นใหญ่ มิได้เกิดปัญญารู้แก่นรู้กาก ของการเป็นอยู่เป็นไปในชีวิตที่พอเหมาะพอควร พอดีสมฐานะ รวมไปถึงอรูปอัตตาที่ยึดเป็นตะกอนนอนนิ่งในจิตทั้งปวง

    เป็นไทโดยศีล
    คือ ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี แม้พัฒนาตนได้ดียิ่งขึ้น เก่งยิ่ง เป็นเลิศยิ่ง ก็ไม่มีความหลงใหลในการเป็นอยู่ เป็นไป ในที่นั่ง ที่นอน ยศตำแหน่งแห่งการงาน การดำรงชีวิตหรือไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะสายอัตตามานะนี้






     
  5. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,103
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,974
    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม องค์ปัจจุบัน
    ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สมบูรณ์พร้อมด้วยศีล ยิ่งกว่าผู้ใด แต่...


    ด้วยอำนาจของเศษอกุศลวิบากกรรมที่เคยกระทำ ก็ยังต้องได้รับเศษผลแห่งวิบากกรรมชั่วที่เคยทำ
    ในสมัยที่เคยเสวยพระชาติในอดีต


    แม้เจ้ากรรมนายเวร ที่เป็นวิญญาณ หรือ ชีวิตในภพภูมิใด ได้อโหสิกรรม

    แต่กฏของการกระทำ ยังคงอยู่ และ ได้ช่องมาถึงตัววันใด

    ถ้ายังเป็นผู้ขาดสติ-สัมปชัญญะ หรือ ยังพร่องอยู่

    ขันธ์ห้า ร่างกายนี้ ก็ยังต้องรับวิบากกรรมอยู่ ฉันใด ฉันนั้น



    ดังนั้น ดำรงสติ สัมปชัญญะ ให้มั่น ก่อนจะกระทำกรรมใดๆลงไป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 12 ตุลาคม 2016
  6. a5g1aeka

    a5g1aeka เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    728
    ค่าพลัง:
    +1,578
    :cool::cool::cool:ช่วงเข้าพรรษานี้ได้สมาทานศีล ๘ คงได้อนิสงส์ ไม่มากก็น้อย เพราะอาจจะศีลพร่องไปบ้าง โดยเฉพาะจิตมักฟุ้งซ่าน คิดอกุศลเป็นครั้งคราว นี่แหละหนาที่ว่า"จิตมนุษย์นี้ไซร์ยากแท้หยั่งถึง":cool:(k):boo:({):cool:
     

แชร์หน้านี้

Loading...