เรื่องเด่น ศีล สมาธิ ปัญญา (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย อกาลิโก!, 11 มกราคม 2018.

  1. อกาลิโก!

    อกาลิโก! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    609
    กระทู้เรื่องเด่น:
    531
    ค่าพลัง:
    +3,731
    yyy.jpg

    พวกเราทั้งหลายถือว่าเป็นบุคคลที่มีโชคอย่างยิ่งที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมแล้วน้อมนำมาปฏิบัติ เพื่อความสุขของตนเองทั้งในปัจจุบัน ในอนาคต และประโยชน์สุขสูงสุด คือหลุดพ้นไปสู่พระนิพพาน

    ในเมื่อพวกเราทั้งหลายเกิดมาพร้อมกับความโชคดีเห็นปานนี้แล้ว เราก็ต้องรักษาความโชคดีของเราเอาไว้ การที่เราจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นต้องถือว่าเรามีต้นทุนมาเพียงพอ ถ้าต้นทุนไม่พอ เราก็ไม่มีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน ต้นทุนของการเกิดเป็นมนุษย์คือศีล ๕ ศีล ๕ นั้นบางทีก็เรียกว่ามนุสสธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ถ้าศีล ๕ บกพร่อง โอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่มี

    นอกจากนี้พวกเราทั้งหลายก็ยังโชคดีที่เกิดมาทันศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีโอกาสได้ฟังธรรมแล้วก็นำมาปฏิบัติให้เกิดผล ในส่วนของการปฏิบัตินั้นก็คือการปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเอาไว้

    ศีล สมาธิ ปัญญานั้น ถ้าหากว่าเรามาทบทวนกันเบื้องต้น ก็ต้องดูที่ศีลก่อน ว่าในขณะนี้เราทั้งหลายนั้นมีศีลทั้ง ๕ สิกขาบทหรือ ๘ สิกขาบทสมบูรณ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เราเป็นผู้ล่วงศีลด้วยตนเองบ้างหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ล่วงศีลด้วยตนเองแล้ว เรายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นล่วงศีลบ้างหรือไม่ ? เมื่อเราไม่ล่วงศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นล่วงศีลแล้ว เราเห็นผู้อื่นล่วงศีลเรายินดีบ้างหรือไม่ ? นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนกันอยู่ทุกวัน

    ถ้าศีลของเรามีข้อใดที่บกพร่อง ให้ตั้งใจว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะรักษาศีลทุกสิกขาบทให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ให้บกพร่องอีก ทันทีที่เราตั้งใจว่าเราจะรักษาศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ก็แปลว่า เรามีศีลทุกสิกขาบทสมบูรณ์บริสุทธิ์บริบูรณ์ตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นไป สิ่งที่เคยล่วงมาแล้วเราไม่ไปคำนึงถึง เราจะระมัดระวังเฉพาะในปัจจุบันด้วยการรักษาศีลให้ดี

    ในส่วนของสมาธินั้น อยากจะบอกว่าพวกเราให้เวลากับสมาธิน้อยเกินไป ทั้ง ๆ ที่ถือว่าเป็นส่วนที่เกือบจะสำคัญที่สุด ปัญหาในการปฏิบัติเกือบทั้งหมดทั้งสิ้นของเรานั้น คำตอบอยู่ที่สมาธิแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้นการใช้ปัญญาตัดกิเลสในช่วงสุดท้ายเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น อยากจะให้ทุกท่านให้ความสำคัญและให้เวลากับสมาธิมากกว่าที่เป็นอยู่

    ถ้าหากว่าเราภาวนาในช่วงเช้าครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ต่อให้กำลังใจทรงตัวขนาดไหนก็ตาม กำลังก็ไม่พอที่จะรักษาใจของเราให้ทรงตัวอยู่ได้ครบทั้งวันอย่างแน่นอน เพราะว่าเราไปทำการทำงานก็ต้องกระทบกระทั่งกับบุคคลและอารมณ์ต่าง ๆ กำลังสมาธิก็จะคลอนจะแคลนไปเรื่อย ไม่ทันจะครบวันก็พังแล้ว

    ถ้าหากว่าเราทำตอนเช้าชั่วโมงหนึ่ง ตอนเย็นชั่วโมงหนึ่ง ก็ถือว่าทำมากอย่างยิ่งในความรู้สึกของเรา แต่ว่าก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากว่าถ้าหากว่าไม่ใช่ผู้ที่คล่องตัวสามารถทรงฌานได้ทุกเวลาที่ต้องการจริง ๆ เมื่อถึงเวลาเผลอ สติสมาธิก็จะคลายตัวจนหมด

    เพราะฉะนั้น..ตอนเช้าที่เราปฏิบัติแล้วกระทบอารมณ์ต่าง ๆ ก็ไปไม่ถึงเย็น ถ้าตอนเย็นเราปฏิบัติแล้วหลับ สติเผลอสมาธิก็คลายตัวหมด เมื่อเป็นดังนั้นโอกาสที่เราจะรักษากำลังใจของเราให้ผ่องใสตลอดเวลาก็เป็นไปไม่ได้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะไม่มี

    ดังนั้น..เราจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเวลาในการปฏิบัติของเรา อย่างเช่นว่าภาวนาตอนช่วงเช้าจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ก็ให้พยายามประคับประคองกำลังใจให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ถ้ามีเวลาช่วงพักกลางวัน แอบไปภาวนาสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที เพื่อรักษากำลังใจของเราให้ต่อเนื่องไว้ แล้วตอนเย็นเราก็มาทำต่อ

    ถึงแม้ว่าไม่คล่องตัวถึงขนาดว่าจะรักษาเอาไว้ได้ตลอดเวลา แต่ตื่นเช้าขึ้นมาให้รีบทำให้ต่อเนื่องเข้าไว้ ก็ยังได้ชื่อว่ากำลังใจของเราเกาะอยู่ในด้านดี

    ถ้าสามารถที่จะเพิ่มระยะเวลาในการปฏิบัติให้มากขึ้น กำลังใจที่จะทรงตัวผ่องใสก็มีมากขึ้น ทำให้ท่านทั้งหลายมีความสุขในปัจจุบันมากขึ้น เพราะว่าจิตสงบจากรัก โลภ โกรธ หลง และขณะเดียวกัน ถ้ากำลังใจทรงตัวตั้งมั่นจริง ๆ ความสุขในอนาคตคือ หวังสุคติเป็นที่ไปได้อย่างแน่นอน

    แล้วเราก็นำเอากำลังสมาธินี้มาใช้ในการพิจารณาตัดกิเลส โดยมองให้เห็นชัดว่าสภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสรรพสิ่งทั้งหลายก็ดี มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลย

    สภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์เป็นปกติ ทุกข์ของการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ การปรารถนาไม่สมหวัง การกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ หรือความทุกข์ของการหิว การกระหาย การร้อน การหนาว การเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น มีอยู่กับเราตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาเพื่อมีความทุกข์เช่นนี้เราไม่พึงปรารถนามันอีก เราต้องการอย่างเดียวคือหลุดพ้นจากความทุกข์ไปสู่พระนิพพาน

    ท้ายสุดก็ต้องพิจารณาให้เห็นจริงให้ได้ว่า อัตภาพร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา มันประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม รวมกันเป็นเครื่องให้เราอาศัยอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไปตามสภาพ ไม่อาจยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาในร่างกายที่ไม่มีส่วนใดเป็นเราเป็นของเราเลยอย่างแท้จริงเช่นนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน

    แล้วให้เอาใจสุดท้ายของเราเกาะพระนิพพานหรือเกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ให้มั่น ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ให้กำหนดรู้ในลมหายใจเข้าออก ถ้ามีคำภาวนาอยู่ให้กำหนดรู้ในคำภาวนา

    ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออกไม่มีคำภาวนา ให้กำหนดจิตนิ่งรู้อยู่เฉย ๆ อย่างนั้น อย่าอยากให้เป็น อย่าอยากให้หาย อย่าอยากให้ก้าวหน้า และอย่ารำคาญที่สภาพจิตไม่เคลื่อนคล้อยไปที่ไหน ถ้าหากสามารถวางกำลังอย่างนั้นได้ สมาธิจะทรงตัวตั้งมั่นยิ่งขึ้นจนถึงที่สุดของรูปฌานคือ ฌาน ๔ ขอให้ทุกคนรักษากำลังใจเอาไว้อย่างนี้ จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๔


    ที่มา วัดท่าขนุน
     
  2. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628
  3. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,095
    sa148.jpg
     
  4. madeaw23

    madeaw23 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2017
    โพสต์:
    209
    ค่าพลัง:
    +188
    กราบสาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...