หนังสือมุนีนาถทีปนี27 การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ภาคจบ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย saksit5455, 4 กันยายน 2011.

  1. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    คุณแห่งจันทน์แดง

    ธรรมดาจันทน์แดงรุกขชาติในโลกนี้ ย่อมมีคุณลักษณะวิเศษแตกต่างจากพฤกษชาติชนิดอื่น คือ เป็นของที่บุคคลหาได้เป็นอันยากนักหนา มิใช่เป็นของหาได้ง่ายๆ เหมือนไม้ธรรมดา อุปมานี้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนั้นก็เช่นกัน กว่าสัตว์จะได้นั้นยากนัก ต้องมีใจรักมุ่งมาดปรารถนา ต้องอุตสาหะปฏิบัติตามพระบรมพุทโธาทไม่คำนึงถึงชีวิต และต้องปฏิบัติไม่ผิด จึงจะได้สมประสงค์...อนึ่ง จันทน์แดงนั้นย่อมมีกลิ่นหอมหาที่เปรียบมิได้ พระนิพพานนี้ ก็มีกลิ่นหอมหาที่จะเปรียบมิได้เช่นกัน อีกประการหนึ่ง จันทน์แดงนั้น ปวงชนต่างพากันยกย่องสรรเสริญว่าเป็นรุกขชาติชั้นสูงชั้นดี เป็นที่พอใจของเหล่าชน ผู้รู้สรรพคุณแห่งไม้ทั้งหลาย พระนิพพานนี้ก็เปรียบกันได้เหมือนเช่นนั้น เพราะเป็นคุณชาติอันปวงพระอริยเจ้าทั้งหลายต่างพากันยกย่องสรรเสริญว่าเป็นธรรมชั้นสูง และประเสริฐสุด เป็นที่พอใจของเหล่าอริยชนมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ฉะนั้นชนผู้มีปัญญาเห็นภัยในวัฏสงสารจึงปรารถนาประสงค์ตรงต่อพระนิพพานกันถ้วนหน้า


    คุณแห่งแก้วมณี

    ธรรมดาแก้วมณีโชติรส อันปรากฎมีแก่ผู้มีบุญญาภินิหารนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะเป็นอัศจรรย์เพริศพริ้งบันดาลให้สำเร็จสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกประการ และบันดาลให้เกิดความยินดีปลาบปลื้มในดวงหทัยอยู่มิวาย อุปมานี้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมบันดาลบุคคลผู้ได้นิพพาน ให้สำเร็จสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกประการ และบันดาลให้เกิดความยินดี ชุ่มชื่นปลื้มใจรุ่งเรืองขึ้นไปไม่มีวันสิ้นสุดพระชินบุตรสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาที่เข้าสู่นิพพานแล้ว ย่อมเสวยสมบัติแก้วเป็นอมตะ ไม่รู้ที่จะเดือดร้อน โดยประการทั้งปวงฉะนั้น ชนผู้มีปัญญาจึงปรารถนายึดหน่วงเอาพระนิพพานมาเป็นสมบัติของตน


    คุณแห่งมหาสมุทร

    ธรรมดามหาสมุทรที่จัดว่าบริสุทธิ์ใสสะอาดนั้น จะเห็นได้จากสัญลักษณ์ที่สำคัญ คือ ไม่มีซากศพอันลามกสกปรกล่องลอยอยู่เลย เป็นมหาสมุทรที่บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง อุปมานี้ฉันใด พระนิพพานนั้นก็เปรียบได้กับมหาสมุทรที่บริสุทธิ์สะอาด เพราะพระนิพพานเป็นจุณชาติผ่องใสบริสุทธิ์ ไม่มีซากศพคือกิเลสร้ายต่างๆ ล่องลอยปะปนอยู่เลย อนึ่ง ธรรมดาว่ามหาสมุทร ย่อมสุดแสนจะใหญ่กว้างนักหนา พึงมาตรว่าคงคาสี่ห้าห้วง จะไหลล่วงลงมาสักเท่าใดๆ ก็ไม่เต็ม มีฝั่งฟากพ้นมิได้เห็นปรากฎแก่นัยน์ตา ข้อนี้มีครุวนาฉันใด พระนิพพานนี้ก็เหมือนกัน ย่อมเป็นคุณชาติอันสุดแสนจะกว้างใหญ่ยิ่งนัก จักได้มีฝั่งจากโพ้นให้เห็นปรากฎนั้นหามิได้ ถึงฝูงสัตว์จะพากันไปอยู่ในพระนิพพานศิวาลัยประมาณสักเท่าใดก็ตามทีที่จะได้รู้เต็ม รู้หมดนั้นเป็นอันไม่มี อย่าได้เกรงเลย เกรงอยู่อย่างเดียวก็แต่ว่า ประชาสัตว์จะพากันไปมิถึง พระนิพพานอันกว้างใหญ่ที่ว่ามานี้เท่านั้น... อีกประการหนึ่งอันว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่นี้ ใช่ว่าจะเป็นภูมิสถานที่อันว่างเปล่าก็หามิได้ โดยที่แท้ เป็นอาวาสที่อาศัยอยู่แห่งหมู่สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมากฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็คล้ายกัน คือ เป็นที่อยู่อย่างสุขสำราญแห่งพระขีณาสพเจ้าทั้งหลายผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าปุถุชนคนธรรมดา เพราะว่าเป็นผู้หากิเลสตัณหามิได้ เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีใครจะเทียมถึง... อีกประการหนึ่ง อันว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่นี้ย่อมเจือจานไปด้วยบุปผาสุมาลีลาดอกไม้ ชวนให้รื่นรมย์แก่บุคคลผู้ดมดอม มีกลิ่นหอมบริสุทธิ์สุดคณนา อุปมานี่ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็เหมือนกันย่อมเจือจานด้วยดอกไม้เสาวคนชาติหอมบริสุทธิ์ กล่าวคือพระวิมุติธรรมอันไพบูลย์บริสุทธิ์ ทรงไว้ซึ่งพระบวรคุณมากมายสุดประมาณ ซึ่งคนพาลโง่งมงายไม่มีโอกาสรู้จัก แต่นักปราชญ์ผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลาย ต่างก็มีใจมุ่งหมายปรารถนากันนัก


    คุณแห่งโภชนาหาร

    ธรรมดาว่าโภชนาหาร อันสัตว์โลกทั้งหลายต้องบริโภคเข้าไปทุกวันนี้ หากเป็นอาหารดีไม่มีโทษแล้ว ย่อมอำนวยประโยชน์โสตถิผลตามคุณลักษณะ ๕ ประการ คือ
    ๑. เลี้ยงไว้ซึ่งอายุสัตว์ให้วัฒนาการจำเริญยิ่งๆ ขึ้นไป

    ๒. เพิ่มกำลังแรงแห่งสัตว์ทั้งหลายให้จำเริญยิ่งๆ ขึ้นไป

    ๓. ให้เกิดมีผิวพรรณผ่องใสไม่ให้อับเศร้าหมองศรีคือผมตายซาก

    ๔. ดับเสียซึ่งความอยาก ความกระวนกระวายไม่มีความสบายอยู่ไม่เป็นสุข

    ๕. บรรเทาทุกข์อันเกิดจากความหิวโหยโรยแรง เพราะอดข้าวอดน้ำแห่งสัตว์ทั้งหลาย อุปมาที่ว่ามานี้ ฉันใด
    อันว่าพระนิพพานนี้ ก็มีสภาพคล้ายกันนี้ เพราะมีคุณลักษณะอันประเสริฐสุดเทียบเคียงกันได้ ๕ ประการ คือ
    ๑.พระนิพพาน ย่อมเลี้ยงสัตว์ทรงสัตว์ผู้ได้พระนิพพานไว้ มิให้ฉิบหายด้วยชราและมรณะ คือไม่ให้แก่ไม่ให้าย

    ๒. พระนิพพาน ย่อมเพิ่มกำลังแรง ทำสัตว์ผู้ได้พระนิพพานให้เป็นคนจำเริญฤทธิ์มีอิทธิพลโดยอุดม แม้แต่พญามัจจุราชเจ้าแห่งความตายก็ต้องเกรงกลัว จะมาทำอันตรายมิได้

    ๓. พระนิพพาน ย่อมบันดาลให้สัตว์ผู้ได้บรรลุนั้นเป็นบุคคลมีผิวพรรณผุดผ่องสวยงาม เป็นหนึ่งไม่มีสองสุดประเสริฐ เพราะผู้ได้พระนิพพานนั้น ย่อมเพริศพริ้งไปด้วยศีลอันงามสุดประเสริฐ

    ๔. พระนิพพาน ย่อมบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุข ระงับดับเสียซึ่งความกระวนกระวาย เพราะอำนาจแห่งกิเลสทั้งหลายชักพาไปให้เดือดร้อนกระวนกระวาย เช่นที่เห็นๆ กันอยู่นี่

    ๕. พระนิพพาน ย่อมบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายหมดความทุกข์ บันเทาเสียซึ่งความอยากหิวโหย กล่าวคือ กองทุกข์ทั้งหลายอันสุมทับสามัญสัตว์ ให้ปริวัฏเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่มีวันสิ้นสุด

    พุทธบุตรผู้มีปัญญา เมื่อมองเห็นคุณค่าแห่งพระนิพพานอันมีคุณลักษณ์สิริรวมเป็น ๕ ประการนี้ จึงมีจิตยินดีปรารถนาพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งอื่นประการใดทั้งหมด

    คุณแห่งยอดบรรพตคีรี

    ธรรมดาว่าบรรพตคีรี อันปรากฎมีในโลกนี้ เฉพาะตรงที่ยอดแห่งภูเขาคีรีนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะสำคัญเป็น ๕ ประการ คือ

    ๑. ยอดคีรีนั้น ย่อมปรากฎเป็นส่วนสูงที่สุดแห่งส่วนคีรีนั้นทั้งหมด

    ๒. ยอดคีรีนั้น ย่อมจะหาพืชต่างๆ งอกขึ้นมิได้เลย

    ๓. ยอดคีรีนั้น ย่อมไม่มีความหวั่นไหว โดยประการใดทั้งปวง

    ๔. ยอดคีรีนั้น ย่อมเป็นสถานที่อันบุคคลจะขึ้นไปได้โดยยากนักหนา

    ๕. ยอดคีรีนั้น ย่อมปราศจากความรักความชังทั้งสิ้น เพราะเป็นภูมิสถานที่ไม่มีวิญญาณชีวิตจิตใจ อุปมาที่ยกมานี่ฉันใด

    อันว่าพระนิพพานนี้ ก็มีสภาพคล้ายกันกับยอดบรรพตคีรีที่ว่านั้น เพราะทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะสำคัญ ๕ ประการ คือ

    ๑. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา บรรดาธรรมะอันเป็นพระโอวาทานุสาสนีแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ย่อมมีพระนิพพานปรากฎเป็นยอดสูงเด่น

    ๒. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมสถานที่เตียนโล่งปลอดโปร่ง ปราศจากพืชที่รกรุงรัง คือกิเลสตัณหาทั้งหลาย หมายความว่ากิเลสตัณหาจะงอกขึ้นในพระนิพพานไม่ได้เด็ดขาด

    ๓. พระนิพพาน ย่อมไม่มีความหวั่นไหว ท่านผู้ได้นิพพานสมบัติ ย่อมปราศจากความหวั่นไหวในโลกธรรมทุกชนิด มีจิตคงที่ มั่นคงไม่คลอนแคลนโดยประการทั้งปวง

    ๔. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมสถานอันบุคคลจะขึ้นไปถึงได้นั้นยากนักหนา อย่าว่าแต่จะขึ้นไปถึงเลย ประชาสัตว์โดยมากมักเฉยเมยไม่รู้ไม่ชี้ ต่งพากันถือว่ามิใช่หน้าที่ของตน เพราะค่าที่เป็นคนพาลสันดานหนาไปด้วยโมหะ มองสักเท่าไหร่ก็ไม่เห็นคุณแห่งพระนิพพาน ฝ่ายท่านที่มีปัญญามองเห็นคุณค่ากว่าจะได้จะถึง ก็ต้องอุตสาหะพยายามฟันฝ่าอุปสรรคอันตรายมากมายนักหนา กว่าจะถึงยอดคีรีคือพระนิพพานนี้ได้

    ๕. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมที่ปราศจากความรักความชัง เพราะไม่มีกิเลสตัณหาคั่งค้างเหลือติดอยู่แม้แต่เพียงนิดหนึ่ง ซึ่งท่านผู้ที่ได้นิพพาน ย่อมประสบความสุขเกษมสานต์โดยส่วนเดียวอย่างแท้จริง พระนิพพานย่อมเป็นสิ่งประเสริฐสุดนักหนา ตามที่พรรณานามานี้

    คุณแห่งนภาลัย

    อุปมากถา สุดท้าย ที่จะยกมากล่าวให้เราท่านทั้งหลายได้ทราบเพื่อเป็นเครื่องอาบใจให้เกิดความชุ่มฉ่ำดื่มด่ำในพระคุณแห่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า พระองค์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาทรงประทานพระนิพพานสมบัตินี้ไว้แก่พวกเราชาวพุทธบริษัททั้งหลายและเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เราท่านทั้งหลายมีศรัทธาอันถูกต้อง เร่งรีบรองรับมรดกอันประเสริฐสุด กล่าวคือพระนิพพาน ที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ เอามาเป็นสมบัติของตนให้จงได้ ก่อนที่จะตายไปจากโลกโดยเปล่าประโยชน์นั้น ก็ได้แก่อุปมาพระนิพพาน ด้วยคุณลักษณะแห่งนภาลัยประเทศ ๑๐ ประการ คือ

    ๑. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศ คืออากาศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักแก่ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติที่ไม่รู้จักแก่ชราเหมือนกัน

    ๒. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติไม่รู้ตายฉัน อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติอันอมตะไม่รู้มรณะเหมือนกัน

    ๓. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ทรงอิทธิฤทธิ์ไว้ในตัวของมัน หาอันธพาลตนใดจะข่มเหงมิได้ อันว่าพระนิพพานนี้ก็เป็นคุณชาติที่มีฤทธิ์ ปราศจากอมิตรผู้ข่มเหงเหมือนกัน

    ๔. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น โจรอันธพาลใจฉกาจสักเพียงไร ก็ไม่สามารถจะช่วงชิงฉกเอาไปได้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติที่โจรร้ายจะช่วงชิงฉกลักเอาไปมิได้เหมือนกัน

    ๕. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครจะไปตั้งรกอาศัยอยู่ได้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็เป็นคุณชาติที่กิเลสร้ายลามกทั้งหลายจะอาศัยอยู่มิได้เหมือนกัน

    ๖. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่สัตว์บางหมู่ เช่นสกุณปักษี มนุษย์ผู้มีฤทธีและอสุรี ยักษ์ เทวดา พรหม เท่านั้น ที่สามารถจะคมนาการสัญจรไปได้ฉันใด อันว่าพระนิพพาน ก็เป็นคุณชาติที่บุคคลผู้มีวาสนาคือพระอริยเจ้าผู้ประเสริฐเท่านั้น จักสัญจรไปมาได้เช่นเดียวกัน

    ๗. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้ จุติเคลื่อนไปฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็ย่อมเป็นคุณชาติที่ไม่รู้จุติเหมือนกัน

    ๘. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่กว้างขวาง ว่างโล่งหาสิ่งที่จะกั้นกางมิได้เหมือนกัน

    ๑๐. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่เป็นอนันต์ คือหาที่สุดมิได้ กว้างยวใหญ่ไม่มีประมาณฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติที่กว้างยาวใหญ่ไม่มีประมาณ เป็นอนันต์หาที่สุดมิได้เหมือนกัน

    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย พระนิพพานเปรียบเทียบคล้ายกับคุณลักษณะแห่งอากาศนภาลัย สิริรวมเป็น ๑๐ ประการตามที่พรรณนามานี้ ขอจงค่อยพิจารณาให้ดีเถิด จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตนักหนา

    นิพพานปฏิปทา

    เมื่อเมธีคนมีปัญญามาพิจารณาเห็นคุณค่าแห่งพระนิพพานที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงเปิดเผยโปรดประทานไว้ เพื่อเป็นเครื่องรื้อสัตว์ขนสัตว์ไป ให้พ้นภัยจากวัฏสงสารตามที่พรรณนามานี้แล้วด้วยดี ย่อมมีศรัทธาเกิดขึ้นในดวงใจอย่างลึกซึ้ง ใคร่ที่จะได้จะถึงพระนิพพาน มีน้ำใจร่าเริงอาจหาญในนิพพานปฏิปทา อุตสาหะพยายามค่อยดำเนินไป มิได้มีความประมาทในวัยแลชีวิต มิได้คิดโง่เซ่อซ่ามัวแต่หลับตาแสวงหาสิ่งภายนอกอันไร้ผล ดุจคนอาภัพไม่พบพระพุทธศาสนา แต่มีน้ำใจกล้าสู้พยายามดำเนินตามมรรคา แม้แต่ชีวิตแลเลื้อเนื้อแห่งอาตมาก็จำยอมเสียสละ พยายามปฏิบัติด้วยดีโดยวิธีการที่ถูกต้องตามครรลองแห่งสัมมาปฏิบัติ ด้วยการพิจารณาซึ่งสังขารธรรม ตามพระโอวาทานุสาสนีสมเด็จบพิตรชินสีห์สั่งสอนมาเมื่อวาสนาบารมีเต็มที่แล้ว ก็จะกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา บรรลุถึงพระนิพพานสมความปรารถนา เปรียบอุปมาดุจศิษย์ที่เรียนวิชาในสำนักอาจารย์ เมื่อไม่มีความดื้อด้านหรือความเกียจคร้านติดอยู่ในสันดาน เชื่อถือตามที่อาจารย์เฝ้าสั่งสอนมา ก็สามารถจะกระทำพิทยาคุณให้แจ้งได้ด้วยปัญญา สำเร็จศิลปศาสตร์สมปรารถนา มีความสุขสบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

    เมื่อท่านผู้มีเพียรกล้า เป็นพระโยคาวจรบุคคล หวังจะนำตนออกจากวัฏฏสงสาร พยายามปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีการเป็นสัมมาปฏิบัติจนได้สำเร็จธรรมวิเศษ สิ้นกิเลสกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานแล้ว่อมมีดวงหฤทัยผ่องแผ้วปราศจากทุกข์ หาอุปทวะอันตรายมิได้ เพราะพระนิพพานมีลักษณะเป็นสภาวะละเอียด สงบเกษมสำราญ ประณีตสะอาดและเยือกเย็นสนิท ทำให้ผู้พบเห็นประสบสุขสุดประมาณเปรียบปานดุจบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งมัวหลงนั่งซึมเซ่ออยู่ใกล้กองเพลิงใหญ่มาตลอดกาลนาน ความร้อนแห่งไฟย่อมจะเผาผลาญเขาให้ร้อนรนกระวนกระวายอยู่เนืองนิตย์ ครั้นเขาได้สติคิด จึงกระโดดเผ่นหลีกหนีออกไปให้พ้นจากกองเพลิงนั้น ไปให้ไกลเสียในที่อื่นเขาย่อมได้รับความชุ่มชื่นเป็นสุขสำราญ ไม่ต้องทรมานร้อนเร่าอีกต่อไป อุปมานี้ฉันใด เราทั้งหลายในปัจจุบันทุกวันนี้ก็เร่าร้อนอยู่นัก ด้วยถูกกองไฟ ๓ กอง คือ ราคคฺคิ...ไฟคือราคะกองหนึ่ง โทสคฺคิ...ไพคือโทสะกองหนึ่ง โมหคฺคิ...ไฟคือโมหะกองหนึ่ง มันพากันสุมรุมล้อมอยู่รอบตัวเป็น ๓ เส้า แต่ยังมึนเมางงๆ อยู่ชอบกล เลยมิค่อยจะรู้สึกตนได้สติ แต่ท่านผู้มีวิริยะกล้า คือพระโยคาวจรบุคคล ท่านทนความเร่าร้อนอยู่มิได้ เพราะในดวงใจค่อยเกิดปัญญาเบ่งรัศมีออกมา ทำให้ฉวีวรรณคือผิวหนังของท่านเกิดมีอาการบาง จึงรีบกระโดยผางออกไปตามหนทางมรรคา ที่พระศาสดาจารย์เจ้าทรงชี้บอกไว้ มิได้อาลัยในกองเพลิงอันรุ่งเรืองร้อนร้าย ลุกเผาไหม้อยู่ไม่วายเว้น ก็ได้ไปอยู่ในโอากสที่เย็นสบายสุดประมาณคือพระนิพพานนี่แหละเป็นจำนวนมากต่อมากมาแล้ว เป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ต้องสงสัย

    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ซึ่งนั่งอยู่ ณ สุสานท่ามกลางซากศพงู สุนัขและศพมนุษย์อันเน่าเหม็นตลอดกาลนานไม่น้อย กลิ่นเหม็นทุคนธชาติย่อมจะระบายทะยอยโชยเข้าไปในนาสิกของเขาเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง ย่อมทำให้เขาคลุ้มคลั่งกระวนกระวายสะอิดสะเอียนอยู่เนืองนิตย์ ครั้นได้สติคิดจึงบ่ายหน้าเข้าไปสู่ป่าเพื่อจะแสวงหาฟืน มาเผาซากศพอันลามกร้ายให้หมดไป ในขณะที่เผาซากศพนั้น ย่อมจะต้องร้อนรนด้วยเปลวไฟบ้างเป็นธรรมดา ครั้นว่าเขาเผาซากศพแล้วย่อมจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์สดชื่นรื่นอุรา กลิ่นเหม็นแห่งงูเน่าแลมนุษย์เน่า ย่อมไม่กระทบนาสิกของเขาอีกต่อไป อุปมาข้อนี้ฉันใด เราท่านทั้งหลายทุกวันนี้ ที่ยังเป็นปุถุชนยังระคนยินดีอยู่ในซากศพอันได้แก่เบญจกามคุณคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีฆานประสาท คือ จมูกวิบัติใช้การมิได้ เลยไม่รู้สึกเหม็นในซากศพ คือเบญจกามคุณ มิหนำซ้ำกลับหลงใหลไขว่คว้าแสวงหากันวุ่นเพลินอยู่ ถึงจะมีท่านผู้รู้คือสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพยายามบอก ก็ใคร่คิดจะเถียงนอกคอกไปว่า " ซากศพคือเบญจกามคุณที่ว่านั่น มันไม่เห็นน่าจะรังเกียจอะไร พยายามคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่เห็นว่า มันจะเน่าเหม็นที่ตรงไหน" ทั้งนี้มิใช่อื่นไกล เป็นเพราะจมูกยังเสียอยู่นั่นเอง ฆานประสาทยังใช้การไม่ได้ เมื่อไรจะดีสักทีก็ไม่รู้ ฝ่ายท่านผู้มีปัญญาวาสนาคือพระโยคาวจรบุคคล ท่านทนความเหม็นแห่งเบญจกามคุณอยู่มิได้ เพราะในดวงใจค่อยเกิดปัญญาเบ่งรัศมีออกมาทำให้นาสิกดี จึงรับขะมีขมันเข้าป่าไปหาฟืนมาเผาซากศพคือเบญจกามคุณเสีย ด้วยการปฏิบัติตามพระแสพระพุทธฎีกา แต่ว่าในขณะปฏิบัติอยู่นั้นก็ย่อมลำบากบ้างเป็นธรรมดา เหมือนบุรุษกำลังเผาซากศพในป่าย่อมร้อนด้วยเปลวไฟบ้าง ฉะนั้น ครั้นพยายามปฏิบัติไป เมื่อวาสนาบารมีถึงที่แล้ว ก็ไม่แคล้วที่จะจัดการเผาเบญจกามคุณสำเร็จ ได้บรรลุธรรมวิเศษเป็นพระอรหันตขีณาสพเจ้า ได้มีโอกาสเข้าไปสูดอากาศอันแสนจะสดชื่น หายใจอย่างโล่งอกสุขสำราญอยู่ในห้วงแห่งพระนิพพานอันแสนประเสริฐ เป็นอย่างนี้มามากต่อมากแล้วจริงๆ ไม่ต้องสงสัย

    อีกประการหนึ่ง เปรียบเสมือนบุรุษหนุ่มเจ้าสำราญมีน้ำใจอาจหาญสัญจรเดินดุ่มไปเที่ยวแต่ผู้เดียว ในหนทางที่เปลี่ยวทั้งมีเลนตมเต็มไปด้วยภัยอันตรายรอบด้านลำบากนักหนา แต่อาศัยที่บุรุษนั้นเป็ฯคนใจคอกล้า จึงพยายามเพียรหลีกออกจากทางมหาวิบากนั้น จนพ้นได้มาสู่ที่ดอนบริสุทธิ์สะอาด ก็เดินสำราญ ความประการนี้มีอุปมาฉันใด ฝ่ายพระโยคาวจรเจ้าผู้มีปัญญา เมื่อแรกปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีกา ย่อมประสบความลำบากนักหนา เพราะมรรคาที่ดำเนินนั้นเต็มไปด้วยเลนตามและภยันตรายกคือกิเลสคัณหาทั้งหลาย ครั้นพยายามหลีกออกมาได้สำเร็จ สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ก็เข้าสู่ที่อันแผ้วสบายคือที่ดอน เดินเล่นเย็นสำราญเข้าไปในทุกห้อง อันเป็นสุขเกษมสานต์กล่าวคือพระนิพพานอันประเสริฐสุดดี เป็นอย่างนี้มามากต่อมากแล้วจริงๆ ไม่ต้องสงสัย

    จึงเป็นอันสรุปได้ว่า การที่สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้าแห่งเราท่านทั้งหลาย พระองค์ทรงอุบัติมาตรัสในโลกนี้ ก็เพื่อที่จะทรงรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่พระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายประการสำคัญจึงได้ทรงโปรดประทานแสดงมรรคาคือทางเข้าสู่พระนิพพานเอาไว้ หากจะถามว่าอะไรคือมรรคาแห่งพระนิพพาน? คำตอบปัญหานี้ ที่ถูกต้องที่สุดก็คือ "วิปัสสนากรรมฐาน ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอันถูกต้องเท่านั้น ชื่อว่ากำลังเดินไปตาทางพระนิพพาน ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงชี้บอกไว้ ด้วยมีพระหฤทัยประสงค์จะให้ประชาสัตว์ทุกผู้ดำเนินไปเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการกระทำสิ่งอื่นใดทั้งหมด นอกเหนือจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว หาใช้มรรคาสำหรับไปสู่แดนอมตพระมหานฤพานไม่" นี่คือคำตอบอย่างรวบรัด แต่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้บรรลุถึงนิพพานจะมีวิธีการอย่างไรบ้างนั้น เป็นการจนใจนักหนา ที่ไม่สามารถจะนำมากล่าวไว้ได้ในที่นี้ เพราะว่าโอกาสการรจนาเรียบเรียงเรื่อ มุนีนาถทีปนี ถึงวาระที่จะยุติลงแล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการ ฉะนี้. (การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ศึกษาได้จากหนังสือ "วิธีบริหารจิตใจ" จัดพิมพ์โดย คณะสังคมผาสุก)

    อวสาน



    ปัจฉิมพจน์

    ข้าพเจ้าผู้มีนามปรากฏว่า พระมหาวิลาศ ญาณวโร (บัดนี้เป็นพระราชคณะชั้นเทพ ที่พระเทพมุนี) ได้อุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ โดยมีพระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาบดี (บัดนี้ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ชิตินธรเถระ เปรียญธรรม ๙ ประโยค วัดสามพระยา จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุทธิวรคุณ วัดสุทธิวราราม จังหวัดพระนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูกัลยณวิสุทธิ์ วัดดอน จังหวัดพระนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    นับแต่ได้อุปสมบทมา ก็ศึกษาพระปริยัติธรรมตามกำลังสติปัญญาสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ ครั้นเสร็จธุระในด้านปริยัติศึกษาแล้ว ก็ใฝ่ใจในการปฏิบัติตามกำลังศรัทธา ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๒ ครั้ง โดยมีพระอาจารย์เข่ง อุตตรกโข เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้บอกกรรมฐานครั้งแรก และพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะเถระ ธัมมะจริยะเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้บอกกรรมฐานครั้งหลัง

    เมื่อออกจากกรรมฐานแล้ว มีใจนึกถึงคุณแห่งพระบวรพุทธศาสนาซาบซึ้งนพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จอมมุนีเจ้า จึงคิดรจนาเรียบเรียงหนังสือ มุนีนาถทีปนี นี้ขึ้น โดยมากประมวลเอากถาถ้อยคำท่านบุรพจารย์ทั้งหลาย ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในที่ต่างๆ เอามาปรุงแต่งเสียใหม่ เพื่อให้เข้าใจง่ายตามสมควรแก่รูปเรื่องในที่นี้ หวังใจให้เป็นสมบัติพระศาสนา เพื่อบูชาพระคุณองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสติปัญญาอันเล็กน้อยแห่งตน โดยเริ่มรจนาเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ และจบลงในวันนี้ที่ ๒๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ รวมเป็นเวลา ๗๗ วัน โดยปราศจากอุปทวันตรายใดๆ

    ต่อจากนี้ไป ก็ได้แต่หวังใจอยู่ว่า หนังสือมุนีนาถทีปนีที่เรียบเรียงขึ้นนี้ คงจะมีสารัตถประโยชน์แก่ท่านสาธุชนผู้มีปัญญา ที่อุตส่าห์ติดตามอ่านมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งจบลงในบัดนี้ บ้างตามสมควร
    ข้าพเจ้า ผู้มีน้ำใจศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะให้พระสัทธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระชินวรโลกนาถบรมศาสดาจารย์ถาวรตั้งอยู่ตลอดกาลนาน จึงได้อุตสาหะรจเรียบเรียงเรื่อง มุนีนาถทีปนี นี้ขึ้น แล้วได้ประสบบุญกุศลซึ่งอำนวยประโยชน์ให้อันใดด้วยเดชะแห่งบุญกุศลนั้น ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงประสบแต่ความสุขสำราญจงทั่วกัน
    อนึ่ง บรรดาพุทธมามกชนผู้เลื่อมใสพระไตรรัตน์ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีเจตจำนงใคร่จะพ้นจากกองทุกข์ จงพ้นทุกข์ในอบายภูมิ และจงบรรลุถึงนิพพานในอนาคตกาลด้วยเถิด

    ขอมโนรถความปรารถนาอันประเสริฐซึ่งเกิดจากน้ำใจอันงามของข้าพเจ้า จงสำเร็จผลตามที่ตั้งใจไว้นี้ทั้งหมด เพื่อความหมดจดไหบูลย์แห่งพระสัทธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาจารย์ ตลอดกาลนิรันดรเทอญ

    มุนีนาถทีปนี
    จบบริบูรณ์

     
  2. อุตฺตโม

    อุตฺตโม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    1,688
    ค่าพลัง:
    +1,909
    .............อนุโมทนาสาธุ..ที่ท่านมีความเพียรพยายามอย่างยิ่ง...ในการ

    นำ..."เรื่องราวของพระพุทธองค์นำมาเสนอต่อสาธารณชนทั้ง 27

    ตอน" ....ผมก็จะเพียรพยาพยามอ่านจนจบครับ....เพื่อให้ท่านได้รับอานิ

    สงฆ์ผลบุญของท่านครั้งนี้..ให้ยิ่งใหญ่เต็มภาคภูมิ......ขอให้ท่านเจริญ

    ยิ่ง ๆขึ้นไปทั้งทางโลกในทางที่ชอบ...และทางธรรมครับ.........สาธุ
     
  3. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,254
    อนุโมทนา สาธุ ๆ
    กับท่านที่ได้นำพระธรรมมาเผยแพร่ด้วยครับ
    นิพพานัง ปัจจโย โหตุ<!-- google_ad_section_end --> <!-- / message --><!-- sig -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...