หลวงพ่อพระราชพรหมยานสอนเรื่องความทุกข์ในหลายด้าน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 11 กุมภาพันธ์ 2008.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    อันดับแรกพระองค์ทรงสอนให้เห็นทุกอย่างเป็นทุกข์ เราก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ ตะนี้เวลาเรานอนอยู่หรือนั่งอยู่เป็นที่เงียบสงัดปราศจากสิ่งรบกวน เราก็ใคร่ครวญหาความเป็นจริงว่า ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่าโลกเป็นทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีทุกข์อะไรบ้าง ก็นั่งนึกหาความจริงให้มันพบ แล้วก็แปลทุกข์ให้มันออก ต้องนึกไว้เสมอ อะไรบ้างที่ทำให้เราไม่สบายกายไม่สบายใจ ภาระทุกอย่างที่เรามีอยู่ สร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจให้แก่เราทั้งหมด หนึ่ง ตื่นต้องกินข้าว ถ้าเราตื่นนอนมาถ้าไม่มีข้าวจะกินความหนักใจมันก็เกิด นี้ถ้ามีข้าวแล้วยังไม่กิน สายเกินไปความเสียดแทงมันเกิดมันเป็นทุกข์

    นี่ถ้าเรากินข้าวเข้าไปแล้วทำไง อุจจาระ ปัสสาวะจะมามันก็เป็นทุกข์ นี่เรื่องพูดเก่า แต่หากว่าเป็นคนร่วมกัน ถ้าเราคุยเสียงดังเกินไปคนข้างห้องเขาบอกรำคาญ แต่เวลานี้ความจริงเขาอยากจะพูดให้เสียงดังเพราะมันสบายใจ ตะนี้คนข้างๆ เขาบอกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้ฉันไม่ชอบ รำคาญ ไอ้ความไม่สบายใจของเราก็เกิด มันเกิดคับใจเสียแล้วนี่ แหมจะปล่อยอารมณ์ตามปรารถนาสักหน่อยเป็นไปไม่ได้ นี่ความไม่สบายใจมันก็เกิด ไอ้ตัวไม่สบายใจเกิดมันก็เป็นทุกข์

    นี่ประเดี๋ยวก็ได้ยินข่าวแล้วเขาบอกว่า พ่อป่วย แม่ป่วย ญาติคนนั้นป่วย ญาติคนนี้ตาย เอ้าความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดขึ้นอีก ดีไม่ดีเขาบอกนี่ พื้นที่ของท่านที่มีอยู่ที่โน้นมีคนเขามารุกที่เข้าไปศอกนึงแล้วแขนนึงแล้ว หรือว่าคืบนึงแล้ว เอาอีกแล้ว แล้วก็คิดในใจว่าไอ้นี่ที่มีโฉนดมารุกรานกันยังไง มาอีกแล้วนอนตาไม่หลับอีกแล้ว มือก่ายหน้าผาก นี่ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สินต่างๆ ก็ดี ร่างกายก็ดี มันทุกข์จริงๆ นี่เวลานักปฏิบัติเขาปฏิบัติ เขามองหาทุกข์ของตัวให้พบ แม้แต่ทุกข์เล็กทุกข์น้อย เขาต้องมองให้พบ หาด้วยปัญญาไม่ได้หาด้วยสัญญา

    นี่มาหาความทุกข์ของเราพบแล้ว ก็หาความทุกข์ของคนอื่น มองดูคนทั้งโลกว่าคนไหนน่ะมีความสุขจริงๆ เห็นคนเดินผ่านหน้าเราไป เราก็คิดว่าคนนี้น่ะหิวข้าวบ้างมั้ย คิดในใจ ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ บ้างไหม เขาเคยป่วยไข้ไม่สบายบ้างมั้ย ร่างกายของเขาทรงอยู่หรือว่าทรุดโทรมอยู่เสมอมันเลื่อนไปเสมอ นี่หาความจริงเหล่านี้ เราก็จะพบว่าคนทุกคนในโลกหาใครสุขไม่ได้เลย มันจะสุขยังไงก็หิวข้าวเหมือนเรา เราหิวข้าวมีอาการแบบไหน เขาหิวข้าวก็มีอาการแบบนั้น เราปวดอุจจาระ ปัสสาวะ แบบไหน มีความรู้สึกยังไง เขาก็เหมือนกัน เวลาเราป่วยไข้ไม่สบาย เรามีความรู้สึกแบบไหนเขาก็มีความรู้สึกแบบเรา

    ขณะใดที่ร่างกายมันทรุดโทรมลงไปความทุกข์มันเกิดกับใจ เพราะอะไร เพราะใช้กายมันไม่สะดวก เวลาที่เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มตัวใช้ร่างกายได้สะดวก นี้พอมันชักจะแก่เหลาเหย่อย่างผมนี่มันใช้อะไรไม่สะดวก ตาน่ะใส่แว่นยังอ่านหนังสือไม่ค่อยจะออกเลย สมัยก่อนหนังสือตัวเล็กขนาดไหนไม่ต้องใส่แว่นก็อ่านออก เวลานี้หนังสือตัวใหญ่ๆ บางทีใส่แว่นแล้วอ่านไม่ออก มันใช้ไม่ได้สะดวก นี่ความรำคาญมันก็เกิด ไอ้ความรำคาญของการอ่านหนังสือไม่สะดวก หรือไม่ชัดเจนมันก็เป็นตัวทุกข์ อันได้แก่การไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าให้มองหาความจริงของชาวโลก
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=center width=185>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>ความจริงกายก็ดี หรือวัตถุก็ดีมันไม่มีทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์จริงๆ น่ะมันอยู่ที่ใจ ความจริงร่างกายนี่มันไม่มีทุกข์หรอกคุณ วัตถุมันก็ไม่ทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ใจคือเรา ที่บอกว่าความทุกข์มันอยู่ที่ใจคือ เรา คำว่าเราก็คือจิตหรืออาทิสมานกายที่ควบคุมร่างกายอยู่ ไอ้ร่างกายแท้ๆ น่ะ ถ้าเราถอยออกมาเสียแล้วมันไม่มีความรู้สึก ตัวอย่างคนตายที่เราเห็นในเมื่ออาทิสมานกายมันเคลื่อนออกไป ตะนี้ร่างกายนั้นใครเขาทำอะไรมันก็ไม่ว่า นี่ความจริงมันไม่ทุกข์ ที่มันทรุดโทรมลงไปก็เป็นกฎธรรมดาของมัน ร่างกายเรามีอุปมาเหมือนไม้ท่อน มันไม่ต่างอะไรกับไม้ท่อน ความจริงมันไม่ได้มีความรู้สึกอะไร ไอ้ที่มีความรู้สึกทุกข์ต่างๆ มันมาจากจิตตัวเดียว </TD></TR></TBODY></TABLE>
    จิตคือความนึกคิดที่มีกำลังเหนือระบบของร่างกายทั้งหมดที่สามารถสั่งให้ร่างกายทำอะไรต่ออะไรก็ได้ นี่เราต้องเดินไป เราต้องพูดไป ต้องนอน ต้องยืน ต้องกิน อะไรพวกนี้มันเรื่องของจิตสั่งตัวเดียว ลำพังของร่างกายมันไม่ได้สั่ง เพราะอะไร เพราะมันไม่ต้องการ จะให้มันทรงอยู่แบบไหนก็ตามใจ จะให้กินหรือไม่กินมันก็ไม่ได้ว่าอะไร ร่างกายมันไม่ได้ทวงแต่ว่าจิตมันทวง เพราะจิตเข้าไปรับทราบถึงความเสื่อมของร่างกาย ความขาดอาหารของร่างกายจิตมันเข้าไปรับทราบ

    ตะนี้ถ้าเราจะพูดว่าคนเรายังไม่ตาย ถ้าจิตออกจากร่างแล้วร่างกายมันไม่ทุกข์ ตรงนี้เราจะต้องไปพิสูจน์กันอีตอนที่ได้มโนมยิทธิหรือว่าเข้าถึงฌาน ๔ แต่ขณะใดจิตเราทรงอยู่ในฌาน ๔ ขณะนั้นจิตมันแยกจากกายเด็ดขาด ความจริงมันอยู่ในกาย แต่ว่ามันไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาท นี่ท่านทรงฌาน ๔ อยู่น่ะ ยุงกินริ้นกัดจึงไม่มีความรู้สึก แล้วก็ใครเอาเสียงดังๆ อย่างเสียงปืนใหญ่ เสียงพลุ เสียงระเบิด มาทำเสียงให้ปรากฏใกล้ๆ หูก็ไม่ได้ยิน แต่ความจริงประสาทไม่ได้ดับ มันทรงตัวตลอดแต่ว่าจิตไม่ยอมรับทราบ นี่เราจะพิสูจน์ได้ตอนฌาน ๔ อย่างหนึ่ง

    นี่ประการหนึ่งถ้าเราได้มโนมยิทธิสามารถถอดกายภายในออก ถอดออกแล้วเราจะไปที่ไหนหรือไม่ไปก็ช่างจะมายืนดูกายของเราที่เราอาศัยอยู่ที่มันนั่งอยู่ แล้วก็ดูสิเวลายุงกินริ้นกัดร่างกายมันจะเกามันจะไล่ยุงมั้ย จะไม่มีทางเลย มันจะเฉยทำเหมือนว่าเหมือนหัวหลักหัวตอ นี่แสดงว่าร่างกายนี่มันไม่รับรู้เรื่องจริงๆ มันไม่ได้ทุกข์ด้วย และอาการที่ทุกข์ก็คือจิต จิตเข้าไปยึดว่าร่างกายนี้มันเป็นเราเป็นของเรา นี่มาลงสักกายทิฏฐินะ ถ้ายุงมันกินก็เกรงว่าไอ้ไข้ต่างๆ ที่มันมาจากยุง ยุงนำมาจะเกิดแก่ร่างกาย หรือไม่งั้นร่างกายมันเจ็บ เราเสียเลือด เราต้องไล่ยุง นี่เมื่อจิตมันเกาะอยู่มันรับทราบ ถ้าจิตมันไม่เกาะอยู่มันไม่เอา ร่างกายมันไม่ทำ นี่เป็นอันว่าไอ้ตัวทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่จิตที่เราเรียกกันว่าอุปาทานตัวเข้าไปยึดถือ
    ตะนี้เรื่องทุกข์นี่ บอกแล้วว่าพูดเท่าไรก็ไม่จบ ท่านจะต้องหากันให้พบ ดูคนทุกคนในโลกให้เห็นว่าทุกคนมีแต่ความทุกข์ และก็ดูสัตว์ทุกประเภทในโลก เห็นว่าสัตว์ทุกตนมีแต่ความทุกข์ ไม่ใช่ ไปแช่งเขานะ ไม่ใช่ไปแช่งให้เขามีความทุกข์ หาความจริงว่าเขามีทุกข์ ไอ้ความจริงที่เขามีทุกข์จะมียังไงบ้าง ก็มีตามที่ผมพูดมาแล้วนั่นแหละ ผมขี้เกียจย้อน ย้อนไปย้อนมาเดี๋ยวรำคาญ เป็นอันว่าหาให้ได้ ถ้าเรายังมองโลกมุมใดมุมหนึ่งว่าเป็นแดนของความสุข อันนี้เขาถือว่าใช้ไม่ได้

    จะชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติที่ดีน่ะใช้ไม่ได้ เขาเรียกว่า นักปฏิบัติเหมือนกันแต่เป็นนักปฏิบัติที่เลวแสนเลว เพราะอะไร เห็นว่าโลกเป็นสุขมันก็ค้านความเป็นจริง เพราะชื่อว่าจิตเรายังประกอบไปด้วยตัณหา มีกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน ตัวยึดมั่น แล้วมันจะดีได้ยังไง มันก็เลว กิเลสแปลว่าความเศร้าหมอง ไอ้วัตถุใดๆ ก็ตามถ้ามันเศร้าหมองไม่แจ่มใส เราก็ถือว่าวัตถุนั้นเลว มันหาตัวดีไม่ได้
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top width=185>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>ตะนี้หากว่ามันเศร้าหมองแล้วเรายังไปดึงมันเข้าไว้ ก็ดึงเอาความสกปรกเข้ามา แล้วมันจะสะอาดได้ยังไงก็เลวน่ะซิ อุปาทานเป็นตัวเดียวไอ้ตัวทะยานอยาก ตัณหาอยาก อุปาทานดึง ดึงเข้ามาแล้วอกุศลกรรมคือทำด้วยความโง่รักษาของเลวไว้เป็นสมบัติของตนเลยเอาดีไม่ได้ นี่ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็ต้องเป็นนักปฏิบัติที่ระบบดีชั้นเลวสุด ถ้าเราจะไล่ตัวเลวกัน ไอ้ตัวเลวอันดับหนึ่งน่ะมันถึงก่อน ตัวที่จะถึงก่อนนี้ เขาต้องถือว่า ถ้าจิตของเราเข้าไปเห็นมุมใดมุมหนึ่งของโลกหรือว่าคนใดคนหนึ่งในโลก ไม่ว่าจะทรงร่างกายทรงฐานะระดับไหนก็ตามเห็นว่าเขามีสุข นั่นเราจะรู้เลยว่าเราโง่เต็มที จัดว่าเป็นคนบรมโง่แล้ว บรมโง่</TD></TR></TBODY></TABLE>
    ปรมะ แปลว่าอย่างยิ่ง โง่ ก็แปลว่าโง่ อย่างยิ่งคือยอดของความโง่ หาใครโง่เกินกว่าเราไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะความจริงของโลกไม่มีมุมไหนเป็นมุมของความสุข คุณลองบอกผมทีเถอะ คุณเห็นว่าไอ้โลกมุมไหนมันสุขบ้าง ถูกล็อตเตอรี่มีความสุขหรือความทุกข์ ไม่มีสุข หาสุขไม่ได้ มันจะสุขตรงไหน พอรู้ข่าวถูกล็อตเตอรี่ ดีใจว่าถูกล็อตเตอรี่ ความทุกข์มันตามมาเลย เกรงว่าฉลากล็อตเตอรี่จะหาย ใช่มั้ย ความจริงตอนซื้อมา ๑๐ บาท อาจจะวางตรงไหนก็ได้ แต่รู้ข่าวว่าถูกรางวัลที่ ๑ อีคราวนี้ดีไม่ดีไม่อาบน้ำไม่อาบท่าแล้ว อีใบนี้เก็บกันเต็มที่เลย นี่ทุกข์ตามมาเลย นี้พอไปรับสตางค์ เขาเกิดหักภาษีรายได้ขึ้นมา อารมณ์ของความทุกข์มันก็เกิดเสียดายสตางค์ใช่มั้ย พอได้สตางค์มาแล้ว กลัวสตางค์หาย เสร็จ ดีไม่ดีถูกใครเขาต้มเขาตุ๋นไปก็เจ๊งไปเลยนี่เป็นอันว่า มุมของโลกหาความสุขไม่ได้

    ในฐานะของคนก็เหมือนกันถ้าจะคิดว่ากษัตริย์มีความสุขก็ดูเรื่องของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็ลองนึกดูว่า ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินท่านมีทุกอย่าง ต้องการอะไรก็ได้ ต้องการจะขี่เครื่องบินเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องการจะขี่รถยนต์เมื่อไหร่ก็ได้ ต้องการจะเสวยพระกระยาหารแบบไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ลองไปถามท่านซิเคยปวดอุจจาระ ปัสสาวะมั้ย ใช่มั้ย เคยปวดหัวมัวตามั้ย เฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ก็ลองถามท่านเคยปวดฟันบ้างหรือเปล่า หือ ไอ้โรคปวดฟันน่ะ มันทุกข์มาก ถ้าปวดด้านไหนประสาทด้านนั้นทั้งแถบมันไม่ดีเลย นี้เป็นตัวทุกข์ เป็นอันว่ากษัตริย์ก็ทุกข์ มหาเศรษฐีก็ทุกข์ จะมีใครมันก็ทุกข์ทั้งหมด เป็นอันว่าโลกนี้ทั้งโลกมีแต่ความทุกข์

    นี่ถ้าเราจะเรียนอริยสัจ ต้องหาทุกข์ให้จบก่อน มันไม่มีอะไร อันนี้มี ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เห็นมีอะไร ง่ายนิดเดียว ที่เรียนมาในขณะที่ปฏิบัติท่านบอกว่าต้องมองโลกทั้งหมดให้เห็นว่าเป็นความทุกข์ให้เห็นด้วยปัญญานะ ไม่ใช่เห็นด้วยสัญญา ไม่ใช่จำวาทะของท่านมาพูด เราต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องคิด เห็นคนที่มีร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์เดินแบบองอาจ เราแน่ใจว่าคนนี้จะมีความสุขหรือความทุกข์ ก็หากฎของความเป็นจริง คือนิภัตทุกข์ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย การปวดอุจจาระ ปัสสาวะ อาการป่วยไข้ไม่สบาย นึกเลยว่าคนนี้เขามีแบบเดียวกับเรามันทุกข์

    แล้วดีไม่ดีเข้าไปถามเขา เขาจะบอกอาการทุกข์ประจำเขาปรากฏคือโรคที่มีอยู่ในกาย หรือว่าความไม่สบายกาย ไม่สบายใจอย่างหนึ่งที่ประจำอยู่ เป็นอันว่าคนทั้งโลกไม่มีสุขจริงๆ มีทุกข์ นี่จิตเราต้องเห็นทุกข์จริงๆ เสียก่อน ก่อนที่จะย่องไปถึงสมุทัยนะ ยังไม่ต้องย่องไปถ้าเรายังไม่เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกยังมีทุกข์ ต้องตำหนิใจทันทีว่าใจเรานี่ยังเลวมาก ยังโกหกตัวเอง ยังมีกิเลส เป็นเครื่องบังใจ ไอ้กิเลสน่ะความเศร้าหมองเหมือนกับแว่นตา แว่นตาถ้ามันใส มองอะไรก็สะดวกเห็นถนัด ถ้ามันขุ่นมันมัวมันมีความเศร้าหมองละก็ มองอะไรเห็นไม่ถนัด กิเลสเหมือนกับแว่นตาที่ถูกฝุ่นละอองมาปะ ถ้าฝุ่นละอองมันปะมากเราก็ไม่เห็นตามความเป็นจริง นี่หาทุกข์ให้พบ

    นี้เมื่อหาทุกข์พบแล้ว ความจริงอริยสัจนี่เราเรียนกัน ๒ อย่าง ก็หาสมุทัยว่าไอ้ตัวทุกข์จริงๆ มันเกิดมาจากไหน สมุทัย ในที่นี้แปลว่า เหตุให้เกิดทุกข์นะ ไม่ใช่สมุดที่เป็นเล่มเขาทำด้วยกระดาษ ไอ้ตัวอะไรที่มันทำให้เราเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เลยว่ามันมี ๓ อย่าง ความจริงน่ะมันอย่างเดียว แต่แบ่งออกเป็น ๓ จุด ไอ้ตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์จริงๆ ที่มันหาทุกข์มาให้เราก็ได้แก่ ตัณหา คำว่าตัณหาแปลว่า ความทะยานอยาก แน่ะไอ้อยากเฉยๆ ท่านไม่ว่า บอกทะยานอยากซะด้วย แหม ทำไงทะยานทำไงนะจะว่าความต้องการมันเกิดขึ้น ความดิ้นรนมันปรากฏ ก็เรียกว่าทะยานอยากนะ นี่ตัณหาท่านแจกออกเป็น ๓ ระดับด้วยกัน ๓ จุดคือ

    ๑. กามตัณหา ของสิ่งใดที่เขายังไม่มีอยากให้มันมีขึ้น เกิดความอยากนี่ เรายังไม่มีรถยนต์ต้องการมีรถยนต์ตัวอยากมาแล้ว ถ้าไอ้ตัวอยากมีปรากฏ ถ้ามันยังมีขึ้นมาไม่ได้เพียงใด ความสบายกายสบายใจมันก็ไม่มี เพราะเราอยากจะให้มันมีนี่ ต้องหาต้องดิ้นรนต้องทำทุกอย่างเพื่อมีวัตถุสิ่งนั้น

    ๒. ภวตัณหา เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว อยากต้องการให้มันคงที่ ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลง จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม

    ๓. วิภวตัณหา ถ้าสิ่งนั้นมันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปกติก็หาทางฝืน เพราะไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น มันก็แบบเดียวกับกลิ้งครกขึ้นยอดเขา หือ หรือดันน้ำให้มันไหลขึ้นด้านเหนือ ขึ้นด้านสูง มันทำไม่ได้ ทำแล้วก็ได้ความลำบาก ทำไม่สำเร็จผล

    ตะนี้ตัณหา ๓ ประการนี้เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์แบบไหน ก็เห็นจะมองง่ายๆ อย่างพวกเรานี้เพราะอาศัยตัณหา อยากเกิด มันจึงเกิด ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียวจะเอาใครมาหิว ไอ้คนที่ไม่เกิดมันหิวหรือไม่หิว เปรตหิวนี่คนไปเกิด เปรตไม่หิวเหรอ ไอ้เกิดเป็นเปรตก็ถือว่าเกิดแล้ว ถ้ามันไม่เกิดเป็นเปรตมันก็ไม่หิว มันเกิดเหมือนกัน ไม่ใช่พูดถึงความเกิดจะเกิดเป็นคนได้อย่างเดียว ไม่ต้องถือว่าจะเกิดเป็นคนเสมอไป มันเกิดนี่ถ้าไม่มีตัวเกิดจริงๆ มันก็ไม่หิวละถามว่าเทวดาหิวไหม หิวหรือไม่หิว เทวดา หิวอะไร ยังมีความอยากอยู่อยากจะหิว คือยังมีความต้องการอยู่

    ความจริงถึงแม้อาหารเขาไม่ต้องการก็จริง แต่เทวดาเขายังมีกิเลส นี่เราจัดเข้าเทวดาประเภทที่เป็นกิเลส ไม่ใช่พระอริยเจ้านะ เทวดามี ๒ พวก พรหมก็มี ๒ พวกเหมือนกันยังมีตัณหาอยู่ เขายังมีความต้องการ กายไม่หิวแต่ว่าใจหิว ยังอยากได้อย่างโน้นยังอยากได้อย่างนี้ เป็นเทวดาชั้นนี้มีรัศมีกายผ่องใสสู้องค์นั้นไม่ได้ ทำยังไงเราถึงจะมีรัศมีกายเท่าเขาหรือว่าดีกว่าเขา เทวดานี่มีความต้องการที่รัศมีกายเป็นสำคัญ ถ้ามีบุญญาธิการมาก คือมีรัศมีกายสว่าง สว่างมาก มีบุญญาธิการน้อยก็มีรัศมีกายสว่างน้อย นี่เขาอายกันแค่รัศมีกายคือมันเป็นแสงสว่างออกมา นี่เทวดาเขามีความต้องการ ไอ้ตัณหาความต้องการมันเกิดขึ้นมันอยากได้อย่างโน้น อยากได้อย่างนี้ ถ้ามันยังไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ต้องการให้มันได้ขึ้น พอได้ขึ้นมาแล้วก็เกิดความทุกข์ด้วยการต้องระวังรักษาใช่มั้ย
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top width=185>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>ตะนี้พอได้มาแล้ว กามตัณหานี่อยากได้ พอได้มาแล้วปุ๊บ ดีใจว่าได้มา ตัวตัณหาอีกตัวมันก็โผล่ ตัวภวตัณหา เรารู้วัตถุที่เราได้มานี่มันต้องเก่า มันต้องพัง คนที่เราได้มานี่มันต้องแก่ต้องทรุดโทรม และก็ตาย สิ่งที่มีชีวิตคือ สัตว์ทั้งหลายที่เราได้มา มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องแก่ต้องตาย ตะนี้เมื่อไอ้ตัวภวตัณหามันปรากฏ วัตถุก็ดีบุคคลก็ดีที่เราได้มาตามความต้องการ เราต้องการทรวดทรงแบบนี้ ต้องการสีแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ ไอ้ความต้องการไม่ให้เปลี่ยนแปลงมันก็เกิดขึ้น ว่าต้องการให้มันทรงตัวได้แก่ ภวตัณหา อารมณ์ฝืนมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแล้วในเมื่อสิ่งนั้นมันไม่ตามใจ มันเคลื่อนไปตามสภาพ เก่าไปตามสภาพ ทรุดโทรมไปตามสภาพ </TD></TR></TBODY></TABLE>
    ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันก็เกิด เพราะเราไม่ต้องการให้มันเป็นแบบนั้นแต่มันยังเป็น มันฝืน ในเมื่อมันเริ่มเคลื่อนไปแล้ว วิภวตัณหาก็โผล่ หาทางแก้สิ หาฤาษีมาชุบเลยคราวนี้ มันก็แก้ไม่ได้ ตะนี้ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันเก่าลง เก่าลง ในที่สุดมันก็ทรุดโทรม เพราะว่าสภาพทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง และก็มีอนัตตาเป็นตัวสุดท้าย นี่เป็นกฎธรรมดา ในเมื่อบังคับไม่ได้แล้วสิ่งนั้นจะพังไป คนจะตายไป สัตว์จะตายไป เกิดทุกข์ใหญ่ นี่เราจะเห็นทุกข์ใหญ่ได้ก็มีอาการเสียใจปรากฏ เมื่อมีอาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ หรือคนที่รักคนที่ชอบใจ สัตว์ที่เรารักสัตว์ที่เราชอบใจ นี่เป็นอันว่าความทุกข์ต่างๆ เกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยตัณหา

    ไง ตะนี้เราจะตัดทุกข์ เราตัดตรงไหน ก็ตัดตรงตัณหาตัวเดียว ไม่เห็นยาก กิเลสทั้งหมดนี่เราตัดตัณหาตัวเดียวหมด ตัวที่จะช่วยเราตัดตัณหานี่คือไอ้ตัวละ แต่ถ้าต้องอดใจไม่ชื่อว่าตัดเป็นแต่เพียงระงับ อย่างคนเขามารักษาศีลอุโบสถวันหนึ่ง อย่างนี้ชื่อว่าตัดกามตัณหาหมดไปชิ้นหนึ่ง ไม่รู้ว่าชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ก็ช่างมัน ตัดทุกวันมันก็หมดไปทุกวัน อย่างที่พวกเรามาบวชอยู่นี่ถือว่าเนกขัมมบารมี เราจะคิดว่าเราละกิเลสไม่ได้เลยมันก็ไม่ได้ ถ้าเราตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสจริงๆ เราก็รักษาศีลอยู่ไม่ได้ เอาละถึงจะบวช ๒ เดือน ๓ เดือน ๙ วัน ๑๐ วันก็ตาม ถ้าบวชด้วยความรู้สึกจริง มีความเลื่อมใสจริง อดใจไว้ได้จริง เป็นอันว่าตอนนี้นะเราระงับกิเลสไว้ได้ แสดงว่ากิเลสมันเริ่มแพ้เราบ้างแล้ว มันแพ้เสียมั่งเราก็มีโอกาสจะชนะมัน หาจุดอ่อนของมัน

    ตะนี้การที่เราจะตัดตัณหาเขาทำยังไง พระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องเจริญ มรรคทุกขปฏิทา คือต้องปฏิบัติในมรรค มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มรรคมี ๘ อย่าง ถ้าไล่ทั้ง ๘ มันก็เจ๊ง มรรคนี่เขาย่อลงมาจาก ๘ เหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็หันเข้าไปหา ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ ตัวนี่เป็นการทำลายกิเลส นี่ศีลเมื่อเรามีแล้วกิเลสมันก็ยั้งตัวอยู่หน่อย เพราะอะไร ศีลมีอุปมาเหมือนกับกรงเหล็ก เข้าไปครอบกิเลสเข้าไว้ แต่ว่ากิเลสเหมือนเสือ เสือร้ายหรือว่าสิงห์ร้าย ถ้ามันติดกรงอยู่มันก็ดิ้นคึ่กคั่กๆ แต่มันกัดใครไม่ได้อย่างหมา

    มันดิ้นอยู่ถึงแม้เราจะฆ่ามันไม่ตายแต่เราขังไว้ได้ก็ชื่อว่าเราชนะจุดหนึ่งแล้ว จะขังไว้ได้นานหรือไม่นานนี่ไม่สำคัญ เรื่องเล็ก ชื่อว่าเราขังได้ก็แล้วกัน ถ้าเราเคยขังมันได้สักครั้งหนึ่ง ก็เชื่อว่าโอกาสหน้าเราสามรถจะจับมันขังได้อีก เราขังได้ ใช้เวลาน้อยก็ตามมากก็ตาม ถ้าขังบ่อยๆ กิเลสมันก็เพลียเหมือนกัน ขังแล้วไม่ให้กินข้าวกินปลา มันก็ดิ้นไปดิ้นมา มันชักหมดแรงเหมือนกัน นี่เหมือนกะพวกเราที่มาบวชนี่พวกคุณไม่ได้ฆ่ากิเลสตาย คุณรู้ คุณขังกิเลสไว้ แต่ก็ยังดีขังได้สัก ๓ เดือนก็ดีถมเถไปแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าการขังกิเลสไว้คราวหนึ่งก็ชื่อว่า เราพักไม่ให้กิเลสมันกัดกายเรา มันกัดใจเรา ใจของเราก็มีความสมบูรณ์บริบูรณ์แข็งแรงขึ้นมาบ้าง พอมีกำลังที่จะวิ่งหนีอบายภูมิได้ถึงแม้ว่าจะไม่พ้นอำนาจของกิเลสหรือพ้นอำนาจของอบายภูมิ นี่มันก็ชื่อว่าเป็นของดีไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ

    สำหรับต่อจากนี้ไปถ้าหากว่าเราจะมาพูดกันว่า สำหรับมรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น นี่ท่านขึ้นตัวปัญญาก่อนความจริงที่พระพุทธเจ้าสอนน่ะ สอนให้ใช้ตัวปัญญาก่อนนะ ไม่ใช่ขึ้นศีลก่อน คือคนต้องมีปัญญาแล้วจึงจะมีศีล แต่ว่าในมรรค ๘ ย่นมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ว่าคนที่มีศีลได้นี่ ถ้าไม่มีปัญญาเขาก็จะไม่รักษาศีล คนไม่มีปัญญานี่ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของศีล แต่ว่าปัญญามันยังเล็กเด็กอยู่เท่านั้นเอง

    ฉะนั้น การศึกษาอะไรก็ตามที่เราจะพอใจในการศึกษา ว่าเราจะบวชเข้ามาด้วยศรัทธา นี่แสดงว่าเราเป็นคนมีปัญญาแล้ว แต่ว่าปัญญาตัวนี้ยังไม่มีกำลังกล้าพอที่ทำลายกิเลสได้หมด แต่ว่าเป็นปัญญาที่สามารถจะหาทางยับยั้งกิเลสไว้ได้ นี่เป็นปัญญาตัวเล็กๆ แต่ว่าปัญญาตัวเล็กๆ นี่คุณอย่าถือว่าไม่มีประโยชน์นะ ความจริงมันเป็นประโยชน์ ไม่ว่าวัตถุสิ่งใดก็ตาม บ้านเรือนโรงต่างๆ ที่เขาสร้างมาเป็นหลังใหญ่ๆ ได้ เพราะอาศัยวัตถุเล็กๆ เป็นปัจจัย ถ้าไม่มีวัตถุเล็กเป็นเครื่องสนับสนุนเป็นอุปกรณ์บ้านหลังใหญ่มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ตัวของเราเองก็เหมือนกันที่จะเกิดขึ้นมาได้เป็นตัวใหญ่ขนาดนี้ มันก็มาจากตัวเล็กๆ ก่อน ทีแรกเดิมทีเดียวมันก็ไม่เป็นตัว ตะนี้เวลานานวันเข้าการสะสมของร่างกายมันเกิดขึ้นมันก็เป็นตัวเต็มตัว แล้วในที่สุดมันก็เติบโตขนาดนี้ นี่เป็นอันว่าของเล็กมีความสำคัญ ไม่ใช่ว่าของใหญ่มีความสำคัญ

    ตะนี้ก็มาว่ากันถึง มรรค มรรคมีองค์ ๘ เราย่นมันเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เขาบอกว่าในเมื่อมรรคท่านขึ้นตัวปัญญาก่อนคือสัมมาทิฏฐิ ตัวนี้เป็นปัญญา สัมมาทิฏฐิแปลว่าความเห็นชอบ แต่คนที่ไม่มีปัญญาจะมีความเห็นชอบไม่ได้ เวลาในกฎถือศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ ประการ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ขึ้นปัญญาก่อน เราก็ต้องตอบเขาว่าคนที่จะมีศีลได้ต้องเป็นคนมีปัญญา แต่ว่าปัญญาตัวนี้ยังมีกำลังกล้าไม่พอ ยังไม่สามารถจะทำลายตัณหาให้หมดไปได้ เป็นปัญญาตัวยับยั้งกำลังของตัณหา ยับยั้งเล็กๆ ไม่ใช่ยับยั้งใหญ่เหมือนกะคอกขังเสือ

    ความจริงตัวมรรคนี่น่ะเวลาเราปฏิบัติจริงๆ นะและเวลาปฏิบัติจริงๆ เขาไม่มีกันหรอกนะ หรือไง ปฏิบัติจริงๆ นี่เขาพิจารณากันแค่ทุกข์กะสมุทัยเท่านั้น ตัวมรรคกะนิโรธ ๒ ตัวนี่ไม่มีหรอก ถ้าเทศน์ละก็มี นิโรธ แปลว่าความดับ คือดับกิเลส ตัณหาทั้งหมด มันเป็นผล ไอ้ตัวมรรคจริงๆ น่ะมันมีตั้งแต่เริ่มต้น คือเราเจริญสมถภาวนาใช่มั้ย แล้วเวลาเราเจริญสมถภาวนานี่ เราต้องมีศีลก่อน เพราะอะไร เพราะถ้าไม่มีศีล สมาธิมันไม่เกิดมันมีอยู่แล้ว เมื่อศีลมีแล้วเวลาที่เราเจริญสมถภาวนาเราก็ต้องมีสมาธิ ถ้าสมาธิไม่มีจริงๆ มันก็เป็นสมถะไม่ได้ คือควบคุมอารมณ์ใจไม่ได้

    นี่ตัวสมาธิก็ดี ตัวศีลก็ดี จะมีขึ้นได้เพราะตัวปัญญาเป็นปัจจัย ถ้าปัญญาของเราไม่ดีเราเป็นคนไม่มีปัญญา มันก็ไม่เห็นคุณเห็นประโยชน์ ว่าการมีศีลดี มีสมาธิดี นี่เป็นอันว่าเราใช้ปัญญากันมาตั้งแต่ต้น แต่ว่าปัญญาที่องค์สมเด็จพระทศพลเรียงไว้ในด้านศีล สมาธิ ปัญญา เป็นปัญญาตัวสุดท้าย ว่าเป็นปัญญาที่มีกำลังใหญ่ ไม่ใช่ว่าเราในตอนต้นนี่เราไม่มีปัญญา ไม่ใช่ยังงั้น

    ตะนี้การตัดตัณหา ท่านบอกว่าให้เป็นคนมีศีล ไอ้ศีลนี่มันทำร่างกาย วาจาให้สงบ แต่ความจริงมันต้องสงบมาถึงใจ เรียกว่าค่อยๆ บุกมันลงไป ค่อยๆ เลาะ ไม่ใช่ตีทีเดียวตายเลยนะ ครั้งแรกมันอยากวิ่งเร็วนัก ตีขาซ้าย ขาซ้ายหัก ไอ้ขาขวายังตะเกียกตะกายได้ ตีขาขวาให้หักอีกขา มีมืออีก ๒ มือ มันยังตะกายต่อไปได้ เอามือสาวไป ตีมือซ้ายหัก มีมือขวายังไปได้อีก ตีมือขวา ตะนี้ทำไงล่ะ มันก็นอนแหงแก๋ ไปไม่ได้ แต่ปากมันยังด่าได้ หือทำไงตีปากมันซะอีก ฟันเฟินหักปากพัง เอ๊ะนัยตามันยังด่าอีก ตาด่าได้มีมั้ย นี่เขามองกันไปมองกันมาเดี๋ยวชกกันนี่ มันใช้ตาด่า เห็นมั้ย ก็ต้องตีตามันอีก ก็แบบเดียวกับเราเจริญกฎ ๓ ประการ คือศีล สมาธิ ปัญญา

    ขั้นแรกเรามีศีลก่อน เมื่อเรามีศีลแล้วเรียกว่าฝึกอดใจ แบบเล็กๆ ใช้กำลังน้อยๆ ควบคุมกำลังใจ พอระยะกฎ ๕ ประการ ที่เรียกกันว่าศีล ๕ ถ้าพระก็มีศีล ๒๒๗ เณรศีล ๑๐ พระนี่ไปล่อเอาศีล ๕ ก็ไม่ได้นะ ตกนรกบอกไม่ถูกเลยนะ ไม่เป็นไรศีล ๕ ฉันมีฉันไม่ต้องห่วง อเวจีเป็นที่ไปละไม่ต้องสบาย ลุงพุฒลงบัญชีเขียนบัญชีมันเมื่อยมือ ใช่มั้ย พระไปรักษาศีล ๕ ไม่ได้ ถ้าพระองค์ไหนยิ่งไม่มีศีล ๕ ด้วยละก็ไม่ต้องห่วงแล้ว โลกันต์นั่นแหละเป็นที่ไปเลย เดี๋ยวนี้มีมั้ยพระไม่มีศีล ๕ เดินหลีกไม่พ้นเลยกระมัง ทำไมล่ะ ก็พระไม่รักษาสัจจวาจามันก็ขาดศีล ๕ ใช่มั้ย แล้วพระไปบี้ยุงบี้มดมันก็ขาดศีล ๕ ขาดรึเปล่า ไม่ตั้งใจจะบี้

    เจตฺนาหํ ภิกฺขเว บุญญํ วทามิ เจตฺนาหํ ภิกฺขเว กรรมมํ วทามิ เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายการตั้งใจชื่อว่าเป็นตัวกรรม ถ้าเราไม่ตั้งใจเราจะไปบีบบี้มันทำไม ใช่มั้ย เว้นไว้แต่ว่าอะไรมันมาจับข้างกาย จะลูบดู คลำดู มันไปบังเอิญมันแรงไปนิดมันตายไป ไม่มีเจตนาฆ่า ตอนนี้ไม่ถือว่าขาดศีล ๕ นะ นี่เป็นอันว่าถ้าเรารักษาศีลได้ตามปกติเราก็เป็นการตัดกำลังของกิเลส ตัดมากไม่ได้ไม่เป็นไรเราตัดน้อยเข้าไว้ก่อน เหมือนกะตีแข้งตีขาไว้ก่อนใช่มั้ย ให้มันคลานยากเข้า มันขาดมันวิ่งไม่ได้ มันจะเดินโขยกก็ยังช้ากว่าวิ่ง ดีไม่ดีเราก็ตัดเสีย ๒ ขาให้เดินโขยกไม่ได้ มันคืบไปก็ยังช้ากว่าวิ่งช้ากว่าเดิน

    นี่อันดับแรกพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้ทรงศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน คือ ขึ้นชื่อว่าศีลเราจะต้องรักษาด้วยชีวิตแต่ว่าในตอนต้นๆ จริงๆ ท่านก็ไม่ได้บังคับขนาดนั้น บังคับแต่เพียงว่าหรือแนะนำไว้แต่เพียงว่า ถ้าหากเรารักษา ๕ ตัว ถ้าเป็นฆราวาส ถ้าเป็นพระน่ะไม่ได้นะ พระเณรนี่ ๑๐ ตัว ก็ ๑๐, ๒๒๗ ก็ ๒๒๗ นะ จะไปแบ่งไม่ได้เด็ดขาด นี่ถ้าเป็นฆราวาสถ้าเรารักษา ๕ ตัวไม่ได้ เอา ๑ ตัวก่อน ใช่มั้ย เอามันแค่ ๑ ก่อน ถ้า ๑ นี่เราบังคับได้แน่นอนแล้วก็ขยับไปเป็น ๒ ให้อารมณ์มันชิน มา ๒ แล้วก็ไปเป็น ๓ เป็น ๔ เป็น ๕ ค่อยๆ ไป ถ้าเราชนะศีล ๑ ตัวได้ เราไม่ละเมิดศีล ๑ ตัว ไอ้นี่แสดงว่าเราชนะกิเลสไป ๑ จุดแล้ว ไม่ใช่ว่าเราแพ้กิเลส ค่อยๆ ตีเข้าไป
    จากหนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒ (แนวมหาสติปัฏฐานสูตรโดยละเอียด) พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
    ที่มา http://www.geocities.com/4465/samadhi/maha445.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...