หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอบปัญหาธรรม ตอน อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 15 ธันวาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอบปัญหาธรรม ตอน อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน
    โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
    [​IMG]
    ผู้ถาม:- "คำว่า สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน มีความหมายแตกต่างกันอย่างไรครับ?"

    หลวงพ่อ:- "สมถะนี่เป็นจุดเริ่มต้นทำจิตให้เป็นสมาธิ ท่านมีความหมายว่าทำจิตให้สงบจากนิวรณ์ ๕ สำหรับวิปัสสนาเป็นการใช้ปัญญา พิจารณาร่างกาย เพื่อตัดกิเลส มันต่างกันตรงนี้

    การทำจิตให้เป็นสมาธิ ก็เพื่อไม่ให้จิตวุ่นวาย เมื่อจิตไม่วุ่นวายแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณา คือยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง เกิดมาแล้วมันก็ต้องแก่ เมื่อทรงชีวิตอยู่มันก็ป่วยไข้ไม่สบาย มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เมื่อมีชีวิตอยู่ต้องมีการนินทาสรรเสริญ กระทบกระทั่ง และในที่สุดเราก็ตาย นี่เป็นของธรรมดา ถ้าอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นกับเรา เราจะไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ถือว่ามันเป็นธรรมดาของการเกิด"

    ผู้ถาม:- "สมถะนี่ตัดกิเลสได้ไหมครับ…?"

    หลวงพ่อ:- "ยังตัดกิเลสไม่ได้ แต่ว่าระงับได้"

    ผู้ถาม:- "มันแตกต่างกันอย่างไรครับ…?"

    หลวงพ่อ:- "คำว่า ระงับ ก็เปรียบเหมือนกับเรามีสัตว์ร้ายอยู่ตัวหนึ่ง ถ้ามันจะกัดเรา วิธีระงับ ก็คือจับมันมัดหรือกดมันไว้ไม่ให้ทำร้าย ส่วนคำว่า ตัด หรือวิปัสสนาญาณนั้น ก็หมายถึงฆ่าสัตว์ร้ายนั้นไม่ให้มีฤทธิ์ต่อไป เข้าใจไหม…?"

    ผู้ถาม:- "ครับ ทีนี้กระผมได้ยินมาจากคุยกันกับพวกนักปฏิบัติ นักสมถะบอกว่า สมถะก็ตัดกิเลสได้ ปัญญาไม่เกี่ยว ส่วนพวกเจริญวิปัสสนาญาณนั้นบอกว่า วิปัสสนาญาณเป็นส่วนที่ตัดกิเลสได้ สมถะไม่เกี่ยว ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถะก็ได้ เลยไม่รู้ว่าความเห็นของฝ่ายไหนที่ถูก"

    หลวงพ่อ:- "ก็เป็นไปตามความเห็นของเขา อาตมาเคยคุยมาหลายราย มีอยู่รายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รถไฟ ท่านบอกว่า สมัยก่อนผมเจริญสมถะจนกระทั่งมีจิตสงบมาก แต่มาตอนหลัง เห็นว่าไม่เป็นการตัดกิเลสได้ เลยเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว

    ก็เลยบอกกับท่านว่า ถึงแม้จะเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็ต้องมีสมถะร่วมด้วย คือ อันดับแรก จะต้องมีจิตเรียบร้อยในด้านศีล และประการที่สอง เวลาที่ใชัปัญญาพิจารณาเพื่อการตัดกิเลสนี่นะ เวลานั้นอารมณ์อื่นไม่เข้ามารบกวน ไอ้ตัวที่อารมณ์ไม่เข้ามารบกวน หรือไอ้ตัวที่สงบจากอารมณ์อื่น มันเป็นสมถะหรือท่านเรียกว่าสมาธิ ซึ่งมันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ท่านจึงเข้าใจ"

    ผู้ถาม:- "ก็เป็นอันว่า ทั้งสองอย่าง จะต้องร่วมกันแยกกันไม่ได้ใช่ไหมครับ…?"

    หลวงพ่อ:- "ใช่ ถ้าจะเจริญวิปัสสนาญาณอย่างเดียว แต่ขาดสมถะก็ไปไม่รอด ท่านเปรียบไว้แบบนี้นะว่า สมถะนี่ก็เหมือนกับคนที่เพาะกำลังกายให้แข็งแรง ส่วนวิปัสสนาญาณก็เหมือนกับอาวุธที่คมกล้า ถ้าคนไม่มีแรงหยิบอาวุธ จะฆ่าข้าศึกได้ไหม…?"

    ผู้ถาม:- "ไม่ได้แน่ๆ ครับ"

    หลวงพ่อ:- "เพราะฉะนั้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา ๒ อย่างนี้จะต้องคู่กัน นี่เป็นแบบของพระพุทธเจ้านะ"

    ผู้ถาม:- "การเจริญสมถะก็ดี เจริญวิปัสสนาญาณก็ดี จะต้องปฏิบัติในเรื่องศีลไหมครับ…?"

    หลวงพ่อ:- "คือ การทำสมถะหรือสมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี ทั้งหมดนี้จะต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการร่วมกัน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ จิตก็ไม่เป็นสมาธิ ถ้าศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตจึงเกิดสมาธิ เมื่อจิตสงบจากอารมณ์ต่าง ๆ ปัญญามันจึงจะเกิด มันต้องร่วมกัน ๓ อย่าง"

    ผู้ถาม:- "หลวงพ่อครับ การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน บางคนก็ว่า พุทโธ บางคนก็ สัมมาอรหัง บางคนก็ว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ฯลฯ จะเอา อย่างไหนเป็นที่แน่นอนครับ… ?"

    หลวงพ่อ:- "แน่นอนทุกอันน่ะโยม ใช้ได้หมด ไม่ผิดหรอก ยังมีมากกว่านี้ สุดแล้วแต่เขาจะใช้เพื่อความเหมาะสม"

    ผู้ถาม:- "บางคนก็บอกว่า ภาวนาแบบนี้ถูก แบบนั้นไม่ถูก"

    หลวงพ่อ:- "การศึกษาพระกรรมฐาน ถ้าศึกษาไม่ครบ ๔๐ อย่าง พอเขาทำไม่เหมือนกับตัว ก็หาว่าเขาผิด มันก็ใช้อะไรไม่ได้เลย จะต้องศึกษา ถ้าอย่างเป็นลูกศิษย์ก็ไม่เป็นไร ทีนี้อย่างพวกครูซิ ถ้าครูศึกษาไม่ครบ ๔๐ อย่าง ก็นั่งเถียงกันอยู่นั่นแหละ ถ้าศึกษาครบ ๔๐ อย่าง ก็ไม่มีอะไรจะเถียงกัน

    คำภาวนานี่มันไม่แน่นอน เอาอะไรก็ได้ มันสำคัญที่อารมณ์ตั้งใจ จะใช้อะไรก็ได้

    อย่างพุทธานุสสติ มีคำภาวนาตั้งเยอะแยะ อิติปิโส บทต้นทั้งหมดนั่นแหละ ว่าไป ไม่ใช่ใช้คำว่าพุทโธอย่างเดียว อะไรที่ปรารภพระพุทธเจ้าใช้ได้เลย

    อย่างธัมมานุสสติ ไม่ใช่ภาวนาธัมโมอย่างเดียว อะไรที่ปรารภพระธรรมก็ใช้ได้

    และอย่างสังฆานุสสติ ก็ไม่ใช่ภาวนาว่าสังโฆอย่างเดียว

    นี่มันต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ แกภาวนาไม่เหมือนข้า ของแกสู้ข้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปไหนกันละ มันเป็นมานะ มานะตัวเลวเสียด้วย ไอ้มานะกิเลสตัวเลวนี่ มันดึง ไปไหนไม่ได้เลย

    ในอุทุมพริกสูตร คนที่เจริญพระกรรมฐาน ทำจิตเพื่อละกิเลส พระพุทธเจ้าให้ทำจิตเบื้องต้นอย่างไร? จิตเบื้องต้น ท่านวางกฎไว้ประมาณ ๖๐ ข้อ ถ้าเราพิจารณากันจริง ๆ ก็มีอยู่ ๒ จุด

    ๑.จงอย่าสนใจในจริยาของคนอื่น เขาจะดีเขาจะเลวเป็นเรื่องของเขา ดูว่าเราทำถูกไหม

    ๒.อย่าทำเพื่ออวดเขา

    เท่านี้เอง สรุปได้แล้ว ๒ อย่าง แต่ท่านเรียงไว้ประมาณ ๖๐ กว่า ถ้าเราทำอารมณ์ได้เพียง ๒ อย่างเท่านี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า มันเป็นสะเก็ดความดี ของที่ท่านสอนเท่านั้นเอง

    ทีนี้ถ้ายังนึกว่า เขาสู้เราไม่ได้ เราสู้เขาไม่ได้ ก็เลยไม่ถึงสะเก็ด อันนี้เป็นเรื่องจริง ๆ ท่านวางไว้ตามเกณฑ์ เราอย่าคิดว่าไอ้วัดนั้นสู้เราไม่ได้ วัดเราสู้วัดเขาไม่ได้ เอาอะไรไปเป็นเครื่องวัด ถ้าอารมณ์ยังมีอย่างนี้อยู่ แสดงว่าจิตเลวมาก ถ้าจิตมันเลว จะดีอย่างไร

    การปฏิบัติ อย่าชูงวงเข้าบ้าน คือ อย่าโอ้อวดเขา อย่านั่งให้เขาเห็น การทำสมาธิเพื่ออวดคน นั่งปั๊ปตรงนี้ คนเดินผ่านไปผ่านมามันจะได้เห็น นี่เป็นอุปกิเลส ไม่ได้อะไรเลย แทนที่จะได้นั่งไล่กิเลสได้ กลับนั่งดึงกิเลสเข้ามา ไอ้ตัวอวดน่ะมันเป็นกิเลส นี่อันนี้ท่านห้าม

    ถ้าหากรักษาความดีขนาดนี้ ถือว่าสะเก็ดความดี ที่ท่านสอน

    ส่วนเปลือก ท่านตรัสไว้ในยาม ๔

    ๑.ท่านเทียบกับ ศีล ๕ คือ
    -เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
    -ไม่ยุยงบุคคลอื่นให้ทำลายศีล
    -ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

    ๒.เราจะต้องเป็นผู้ไม่ตกเป็นทาสของนิวรณ์ ๕ คือ
    -ไม่หลงรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
    -ไม่มีอารมณ์ความโกรธ ความพยาบาท ในขณะปฏิบัติ
    -ไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านและรำคาญเสียงภายนอก
    -ไม่ง่วงเหงาหาวนอนในขณะปฏิบัติ
    -จะไม่สงสัยในผลการปฏิบัติ

    ๓.จิตจะต้องแผ่เมตตา คือ มีความรักไปในจักรวาลทั้งปวง
    -ถือว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี ทั้งโลก ไม่มีใครเป็นศัตรูกับเรา เขาจะประกาศเป็นศัตรูน่ะเรื่องของเขา แต่เราจะไม่เป็นศัตรูกับเขา
    -เราจะไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นคนอื่นได้ดี พลอยยินดีกับเขาด้วย ทำดีตามเขา
    -ถ้าเหตุใดมันเกิดขึ้นกับเรา ถ้าเหตุเกินวิสัยที่เราจะช่วยได้ กับเราก็ดี กับบุคคลอื่นก็ดี เราจะวางเฉย ไม่ทำให้จิตขึ้นลง

    ถ้าทำได้ครบถ้วนแบบนี้ แสดงว่า เราเข้าถึงเปลือกความดี ที่ท่านสอน

    แค่นี้ก็เป็นการทรงฌาณอย่างเต็มที่แล้ว คือว่าละนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ นี่เป็นศัตรูกับปฐมฌาณ แล้วก็ตัวท้าย ก็คือ พรหมวิหาร ๔ ตัวนี้เป็นตัวเลี้ยงทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เลยนะ มีความสำคัญมาก อารมณ์ตอนนี้ก็เป็นอารมณ์ทรงฌาณปกติ ถ้าทำได้แบบนี้นะ

    ต่อไปถ้าทำอย่างนี้แล้ว สามารถทำปุพเพนิวาสานุสสติญาณให้เกิดขึ้น คือระลึกชาติได้ ตอนนี้ละเข้าถึงกระพี้ความดี ที่ท่านสอน

    และหลังจากนั้น สามารถทำทิพพจักขุญาณ คือ จุตูปปาตญาณให้เกิดขึ้น พอเห็นหน้าคนปั๊ป ก็รู้ทันทีว่าคนนี้ก่อนเกิดมาจากไหน ได้ยินชื่อคนตายปั๊บ เรารู้ได้ทันทีว่าตายแล้วไปไหน อันนี้ เข้าถึงแก่นความดี ที่พระพุทธเจ้าต้องการ

    ถ้าทำได้ถึงขนาดนี้ จนจิตคล่องดีแล้ว ถ้าฝึกวิปัสสนาญาณ ถ้าบารมีแก่กล้า คือ มีกำลังเข้มข้น ก็จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ วัน ถ้ามีกำลังจิตปานกลาง จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ เดือน ถ้าขี้เกียจที่สุด เป็นอรหันต์ภายใน ๗ ปี"

    ผู้ถาม:- "ที่เขาว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ เล่าครับ?"

    หลวงพ่อ:- "อันนี้เป็นคำพังเพย นรกจริงๆ มี สวรรค์ในอก นรกในใจ ใช้ได้ แต่ว่ามันยังไกลเกินไปนะ พูดแบบนั้นก็พูดแบบคนไม่เคยเห็นสวรรค์ ไม่เห็นนรก ก็ว่ากันไป แต่ว่าหลักสูตรในพระพุทธศาสนาเขามีนี่คุณ พระพุทธเจ้าทรงวางหลักสูตรไว้ให้หมดนะ เราจะไปสวรรค์ไปนรกได้ เราจะต้องปฏิบัติตัวแบบไหน เราจะไปนิพพาน เราจะปฏิบัติตัวแบบไหน อันนี้ในพระพุทธศาสนามีหลักสูตรสอนไว้โดยเฉพาะเลยคุณ ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นหลักสูตรพิเศษ"

    ผู้ถาม:- "หลักสูตรที่หลวงพ่อว่า มีอะไรบ้างครับ?"

    หลวงพ่อ:- "หลักสูตรในพระพุทธศาสนามี ๔ อย่าง คือ

    ๑.สุกขวิปัสสโก
    ๒.เตวิชโช
    ๓.ฉฬภิญโญ
    ๔.ปฏิสัมภิทัปปัตโต

    ทีนี้โดยมากที่พวกคุณฟังกันมานี่ พวกนี้เขาไม่ได้ปฏิบัติ แม้ถึงขั้นสุกขวิปัสสโก คนที่เขียนตำราก็เขียนส่งเดช สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ อันนี้ตีความหมายว่า ถ้าใจเป็นสุขก็เป็นสวรรค์ ถ้าใจเป็นทุกข์ก็เป็นนรก อันนี้มันก็ได้หรอก แต่มันไม่ถูกกับความเป็นจริงนะ"

    ผู้ถาม:- "สำหรับประเภท สุกขวิปัสสโก กับ เตวิชโช แตกต่างกันอย่างไรครับ?"

    หลวงพ่อ:- "ประเภท สุกขวิปัสสโก นี่ ไม่รู้อะไรหรอกคุณ ได้แต่สมาธิเฉย ๆ มีจิตเป็นสุข จิตมีกำลังตัดกิเลสได้

    สำหรับ วิชชาสามหรือเตวิชโช สามารถรู้ได้ เพราะว่าการปฏิบัติขั้นวิชชาสาม มี ญาณ ๘ อย่าง คือ

    ๑.ทิพพจักขุญาณ สามารถเห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ได้
    ๒.จุตูปปาตญาณ เราจะรู้ว่า คนที่เกิดมานี่ ก่อนจะเกิดนั้นมาจากไหน และเวลาตายแล้วไปไหน
    ๓.เจโตปริยญาณ สามารถจะเห็นจิตของคนได้ คนไหนจิตดี คนไหนจิตเลว
    ๔.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เราสามารถจะระลึกชาติได้ โดยไม่จำกัด
    ๕.อตีตังสญาณ เราจะรู้เรื่องราวในอดีตได้
    ๖.อนาคตังสญาณ รู้เรื่องราวในอนาคตได้
    ๗.ปัจจุปปันนังสญาณ ปัจจุบันนี้ใครทำอะไรที่ไหนเรารู้ได้
    ๘.ยถากรรมมุตาญาณ คนที่เขามีความสุขความทุกข์ เขาอาศัยกรรมอะไรเป็นปัจจัย

    นี่ในด้านวิชชาสาม รู้ได้ ๘ อย่างเท่านี้

    ฉฬภิญโญ(อภิญญาหก) แสดงอิทธิฤทธิ์ได้ มีหูเป็นทิพย์ มีตาเป็นทิพย์ ฯลฯ

    สำหรับ ปฏิสัมภิทัปปัตโต มีความสามารถคลุมวิชชาสามและอภิญญาหก มีความฉลาดกว่า

    หมวดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ไม่เหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติคล้ายคลึงกัน เอาในกรรมฐาน ๔๐ มาแยกปฏิบัติเป็นหมวดหมู่ ทีนี้สำหรับการปฏิบัติ ถ้าจะถามว่า อย่างไหนเข้าถึงมรรคผลง่ายกว่ากัน ก็ต้องเป็นไปตามอัธยาศัยของคน

    สำหรับ สุกขวิปัสสโก พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเรียบ ๆ ไม่ต้องการฤทธิ์เดช ทำแบบสบาย ๆ จิตใจไม่ชอบจุกจิก

    สำหรับ เตวิชโช นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับคนที่อยากรู้อยากเห็น ถ้ามีสิ่งปิดบังลี้ลับอยู่ ทนไม่ไหว ต้องหาให้พบ ค้นให้เห็น

    สำหรับ ฉฬภิญโญ นั้น สำหรับคนที่ต้องการมีฤทธิ์เดช พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้

    สำหรับ ปฏิสัมภิทาญาณ หรือ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ท่านมีทั้งฤทธิ์ด้วย มีทั้งความเป็นทิพย์ของจิตด้วย มีความฉลาดด้วย สอนไว้เพื่อคนที่ต้องการรอบรู้ทุกอย่าง

    ฉะนั้น การที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จึงเป็นไปตามอัธยาศัยของคน"

    ผู้ถาม:- "กระผมอยากทราบว่า พระโสดาบันกับพระอรหันต์นั้น เขาใช้เครื่องวัดอย่างไรครับ?"

    หลวงพ่อ:- "เขาใช้หลักกิโลเมตรเป็นเครื่องวัด"

    ผู้ถาม:- (หัวเราะ)

    หลวงพ่อ:- "อ้าว…จริง ๆ คือว่า การปฏิบัติให้เป็นพระอริยะ คือ ตั้งแต่พระโสดาบัน มันยาว ๓ กิโลเมตร ถ้าถึงพระอรหันต์ ก็ยาว ๑๐ กิโลเมตร เอ๊ะ...แย่ไหม คุณถามเครื่องวัดนี่ แต่ว่าเครื่องวัดในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า จะเอาเชือกไปวัด หรือว่าเอาอะไรเข้าไปวัด ต้องวัดด้วยคุณธรรมที่ละ

    เครื่องวัดมีอย่างนี้ คือว่า
    พระโสดาบัน กับ พระสกิทาคามี จะต้องละความชั่ว ๓ อย่าง คือ
    สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

    -สำหรับ สักกายทิฏฐิ พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี จะมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราเกิดมาเพื่อตาย จะไม่มีความประมาทในชีวิต จะคิดทำความดีอยู่เสมอ
    -วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยใช้ปัญญาพิจารณา
    -และประการที่ ๓ มีศีล ๕ บริสุทธิ์
    นี่เขาเรียกว่า พระโสดาบัน และ พระสกิทาคามี

    สำหรับ พระอนาคามี ต้องละกิเลส ๕ ข้อ คือต่อไปอีก ๒ ข้อ ได้แก่
    -ละกามราคะ คือ ไม่ยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
    -ละปฏิฆะ คือไม่มีความโกรธ ไม่มีความพยาบาท

    สำหรับ พระอรหันต์ ต้องละกิเลส ๑๐ ข้อ คือต่อไปอีก ๕ ข้อ ได้แก่
    -ละรูปราคะ ไม่ติดอยู่ในรูปฌาณ
    -ละอรูปราคะ ไม่ติดอยู่ในอรูปฌาณ
    -ละมานะ ไม่ถือตัวถือตน
    -ละอุทธัจจะ ไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน
    -ละอวิชชา ตัดความโง่ทิ้งไปให้หมด

    รวมเป็น ๑๐ อย่าง ถ้าตัดได้ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เป็นพระอรหันต์ นี่เป็นเครื่องวัด"

    ผู้ถาม:- "อาจารย์บางคนเขาว่า นิพพานสูญ หมายถึงไม่มี แม้แต่สวรรค์ก็ไม่มี นรกก็ไม่มี"

    หลวงพ่อ:- "ไอ้นั่นของเขาว่า เราไปตามทางของพระพุทธเจ้าดีกว่า เขาจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เขาจะเป็นจานเป็นกะละมังก็ช่างเขาเถอะ ใช่ไหม ในพระไตรปิฎกก็ไม่มีคำว่า นิพพานสูญ บทพิสูจน์มีก็ไม่เรียนกันนี่

    นิพพานนี่ไม่สูญ แต่คนที่จะไปนิพพานได้ กิเลสต้องสูญ เขาไม่ได้บอกนิพพานสูญ เขาแปลไม่หมดทุกตัว คำว่าสูญเขาแปลว่าว่าง นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง หมายความว่า คนที่จิตว่างจากความชั่วทั้งหมด จึงจะเห็นนิพพานได้ ในเวลานั้นนะ แต่คนที่จะไปอยู่นิพพานได้ ต้องไม่มีความชั่วอยู่ในจิตเลย ที่เขาเรียกว่ากิเลสนั่นแหละ กิเลสคือความชั่ว มันตัวเดียวกัน"

    หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๔๘-๕๙
    พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างกำแพงถวายวัดกุฏีทอง-รับพระผงกริ่งนาคราช.557837/
     

แชร์หน้านี้

Loading...