เหตุต้นผลกรรมและการเวียนว่ายในภูมิวิถี 6

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย toya, 5 กุมภาพันธ์ 2007.

  1. toya

    toya เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2006
    โพสต์:
    186
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,010
    กรรมคืออะไร [FONT=&quot]?
    [/FONT]
    สัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จการกระทำ โดยอาศัยธรรมชาติใด ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้สำเร็จการกระทำนั้น ชื่อว่า กรรม หรือหมายถึงการกระทำ ที่ประกอบด้วยความตั้งใจหรือจงใจที่จะทำ กรรม เป็นคำกลางๆที่ใช้ประกอบกับคำอื่น และแสดงความหมายไปตามคำนั้น เช่น กุศลกรรม แปลว่า กรรมดี อกุศลกรรม แปลว่า กรรมชั่ว เป็นต้น
    ในฉักกนิบาตอังคุตร พระบาลีแสดงว่า
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่บุคคลมีความตั้งใจ เป็นเครื่องกระตุ้นแล้ว
    กระทำการงานนั้นสำเร็จลง ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยใจบ้าง ด้วยเหตุนี้
    ตถาคต จึงกล่าวว่า เจตนานี้เป็นตัวกรรม
    ทางแห่งการทำกรรม จำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมชาติที่เป็นมูลเหตุมี 2 อย่าง คือ
    1.กรรมฝ่ายไม่ดีคือกรรมชั่ว เรียก
    อกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมบถ
    2.กรรมฝ่ายดี เรียก
    กุศลกรรม หรือ กุศลกรรมบถ
    คำว่า อกุศลกรรมบถ แยกศัพท์ได้ คือ อ = ไม่ กุศล = ดี, ฉลาด กรรม = การกระทำ บถ = ทาง รวมเรียกว่า ทางแห่งการทำความไม่ดี หรือ ไม่ฉลาด มี 10 อย่าง ซึ่งฝ่ายดีที่เรียก กุศลกรรมบถ ก็มี 10 อย่าง เช่นเดียวกัน ในที่นี้จะกล่าวเพียงการกระทำฝ่ายที่ชั่วที่เรียกว่า อกุศล ซึ่งเหตุต้นที่ก่อให้เกิดผลของกรรมที่เรียกกันติดปากโดยทั่วไปว่า กรรมเวร หรือเวรกรรม ตามความรู้สึกโดยทั่ว ๆ ไป เมื่อกล่าวคำว่า กรรม เพียงคำเดียว คนทั้งหลายจะหมายถึงผลแห่งการกระทำที่ออกมาไม่ดี ขอได้โปรดศึกษา ดังต่อไปนี้
    อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งการทำที่ไม่ฉลาด หรือทำชั่ว อันเป็นการกระทำกรรมที่เป็นหนทางไปสู่อบายภูมิมี 10 อย่าง ได้แก่
    1.การทำชั่วทางกายมี 3 อย่าง ได้แก่
    1.1 การฆ่าสัตว์
    1.2 การลักทรัพย์
    1.3 การผิดประเวณี
    2.การทำชั่วทางคำพูด มี 4 อย่าง ได้แก่
    2.1 การพูดปด
    2.2 การพูดส่อเสียด
    2.3 การพูดคำหยาบ
    2.4 การพูดเพ้อเจ้อ
    3.การทำชั่วทางความคิด มี 3 อย่าง ได้แก่
    3.1 เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
    3.2 คิดปองร้ายผู้อื่น
    3.3 มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)
    ลักษณะการทำกรรมทั้ง 10 ทาง มีราบละเอียดดังนี้
    1.การฆ่าสัตว์ คือทำให้สัตว์นั้นตายก่อนจะถึงอายุขัยของตน
    การกระทำที่ทำให้การฆ่าสำเร็จลง ต้องประกอบด้วยองค์ 5 คือ
    1.สัตว์มีชีวิตอยู่
    2.รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
    3.มีจิตคิดจะฆ่า
    4.ทำความเพียรเพื่อให้ตาย
    5.สัตว์ตายลงเพราะความเพียรนั้น
    ความเพียรพยายามในการฆ่า อันเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งให้เข้าถึงอกุศลกรรมบถนั้น มีความเพียรพยายามอยู่ 6 ประการคือ
    1.พยายามกระทำด้วยตนเอง
    2.ใช้ให้ผู้อื่นกระทำ
    3.ด้วยการปล่อยอาวุธ มีการขว้างปา เป็นต้น
    4.พยายามโดยการสร้างเครื่องประหารไว้อย่างถาวร มีการทำหรือหาซื้ออาวุธปืน มีด หรือขุดหลุมพรางดักไว้
    5.พยายามโดยใช้วิชาอาคม ไสยศาสตร์
    6.พยายามใช้อิทธิฤทธิ์ ที่เป็นกัมมัชชอิทธิฤทธิ์ของตนประหาร เช่นท้าวเวสสุวรรณระหว่างที่ยังมิได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล เคยฆ่าพวกยักษ์ที่เป็นบริวารด้วยการถลึงตาเป็นต้น
    2.การลักทรัพย์ คือ การยึดเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้อนุญาต
    การกระทำที่ได้ชื่อว่าลักทรัพย์นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ 5 คือ
    1.วัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
    2.รู้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
    3.มีจิตคิดจะลักทรัพย์
    4.การทำความเพียรเพื่อจะลักทรัพย์นั้น
    5.สิ่งของนั้นได้มาด้วยความเพียรครั้งนั้น
    ความเพียรพยายามในการลักทรัพย์มีอยู่ 6 ประการ คือ
    1.ลักทรัพย์ด้วยตนเอง
    2.ใช้ให้คนอื่นลักทรัพย์ด้วยวาจา หรือเขียนหนังสือ
    3.ทิ้งสิ่งของไว้หรือโยนให้คนอื่นพวกเดียวกัน หรือทิ้งของที่ต้องเสียภาษีออกไปให้พ้นเขต
    4.สั่งสมัครพรรคพวกไว้ ได้โอกาสให้พยายามลักทรัพย์นั้นมา
    5.ใช้เวทมนต์คาถาให้เจ้าทรัพย์หลงใหล หยิบยื่นทรัพย์นั้นให้ หรือใช้คาถาสะกดให้เจ้าทรัพย์หลับแล้วเข้าลักทรัพย์
    6.ใช้อิทธิฤทธิ์ต่างๆ
    3.การผิดประเวณี คือ การประพฤติลามกในการเสพเมถุน
    การผิดประเวณีนี้ ย่อมสำเร็จได้ด้วยการกระทำด้วยกายฝ่ายเดียว มิใช่การกระทำด้วยวาจาหรือใจก็ได้
    การประพฤติผิดในกามนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ 4 คือ
    1.มีวัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง
    2.มีจิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น
    3.มีความพยายามจะเสพเมถุน
    4.มีความพอใจในการประกอบมรรคซึ่งกันและกัน
    ส่วนความเพียรพยายามนั้น ได้แก่การกระทำด้วยตนเองอย่างเดียว
    4.การพูดปด คือ การพูดที่ไม่ตรงกับความจริง
    องค์ประกอบของการพูดปด มี 4 ประการ คือ
    1.สิ่งของหรือเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริง
    2.มีจิตคิดจะมุสา
    3.ทำความเพียรเพื่อจะมุสา
    4.ผู้อื่นเชื่อตามที่มุสานั้น
    ความเพียรพยายามที่ชื่อว่าพูดปดมี 4 ประการ คือ
    1.พยายามมุสาวาทด้วยตนเอง
    2.ใช้ให้ผู้อื่นมุสา
    3.เขียนเรื่องราวที่ไม่จริงส่งไปให้คนอื่น เช่นส่งจดหมาย บัตรสนเท่ห์ หรือประกาศทางวิทยุ
    4.เขียนเรื่องที่ไม่จริงประกาศไว้ พิมพ์เป็นหนังสือจารึกลงในแผ่นศิลา หรืออัดเสียงไว้เป็นต้น
    5.การพูดส่อเสียด คือ การพูดที่ทำให้เกิดแตกแยก
    องค์ประกอบของการพูดที่ทำให้เกิดการแตกแยก มี 4 ประการ คือ
    1.มีผู้ที่จะถูกทำให้แตกแยก
    2.มีเจตนามุ่งให้แตกแยกกัน
    3.ทำความเพียรให้แตกจากกัน
    4.ผู้ฟังรู้เนื้อความนั้น
    ความเพียรพยายามในการกระทำให้เกิดการแตกแยก มี 2 ประการ คือ
    1.การส่อเสียดโดยทางกาย มีการแสดงกิริยาท่าทางให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ความหมายของตน
    2.การส่อเสียดโดยทางวาจา คือ พูดยุแหย่ให้บุคคล 2 ฝ่ายแตกแยกกัน
    6.การพูดคำหยาบ คือ คำพูดที่หยาบ ได้แก่การด่าทอ บริภาษ หรือกล่าววาจาสาปแช่ง
    วาจาที่เป็นอย่างหยาบ ที่เรียกว่าผรุสวาจานี้ กล่าวโดยองค์ธรรมแล้ว ได้แก่เจตนาที่อยู่ในโทสมูลจิต ที่เป็นเหตุแห่งการด่า การแช่งต่าง ๆ
    องค์ประกอบของการพูดคำหยาบ มี 3 ประการคือ
    1.มีความโกรธ
    2.มีผู้ถูกด่า
    3.มีการกล่าววาจาด่าแช่ง
    ความพยายามในการแสดงคำหยาบ มี 2 ประการ คือ
    1.พยายามแสดงกิริยาหยาบคายต่าง ๆ ทางกาย ทำให้ผู้เห็นรู้สึกโกรธ อาย ไม่พอใจหรือเขียนหนังสือด่า เป็นต้น
    2.พยายามกล่าวคำหยาบทางวาจา ซึ่งเป็นผรุสวาจาคำหยาบโดยตรง
    7.การพูดเพ้อเจ้อ คือ การกล่าววาจาที่ทำลายประโยชน์และความสุข
    การเล่าเรื่องภาพยนตร์ โขน ละคร หรือพูดจาตลกคะนอง ตลอดจนนักเขียนนวนิยาย จินตกวี เหล่านี้ จัดเป็นลักษณะเพ้อเจ้อทั้งสิ้น เพราะผู้ฟังก็ตาม ผู้อ่านก็ตาม มิได้รับประโยชน์ที่ก่อให้เกิดปัญญา และแก้ทุกข์ในชีวิตได้แต่อย่างใด เพียงแต่ให้จิตใจเพลินไปชั่วครั้งชั่วคราวที่ฟัง หรืออ่านอยู่เท่านั้น
    องค์ประกอบของการพูดเพ้อเจ้อ มี 2 ประการ คือ
    1.เจตนากล่าววาจาที่ไม่เป็นประโยชน์
    2.กล่าววาจาที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น
    สฬายตนะสังยุตพระบาลีว่า
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เมื่อได้มีการพบกันระหว่าง 2 องค์แล้ว การงานที่ควรประพฤตินั้นมี 2 ประการคือ กล่าวถ้อยคำที่เกี่ยวกับธรรมะ หรือมิฉะนั้นก็จงนิ่งเฉยเสีย
    8. ความเพ่งเล็งอยากได้ในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
    นิยาม : ธรรมชาติใด ย่อมคิดถึงทรัพย์สมบัติของผู้อื่นอยู่เฉพาะหน้า ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อภิชฒาความเพ่งเล็งอยากได้

    องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ลักษณะความโลภมี 2 อย่าง 1. ความอยากได้โดยชอบธรรม (สุจริต ซื้อ แลกเปลี่ยน ขอ)
    2. ความอยากได้โดยไม่ชอบธรรม (ทุจริต ขโมย ฉ้อโกง ปล้นจี้) นี้เป็นตัวอย่างของการเพ่งเล็งอยากได้
    องค์ประกอบของการเพ่งเล็งอยากได้ มี 2 ประการคือ
    1.ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
    2.มีจิตคิดให้เป็นของตน
    9. พยาบาท คือ อาการที่มุ่งร้ายต่อผู้อื่น
    นิยาม : ประโยชน์และความสุขอันใดย่อมเสียไปด้วยโทสะอันใด ฉะนั้นโทสะอันนั้นชื่อว่า พยาบาท
    พยาบาทที่เป็นมโนทุจริตนั้น ต้องเป็นโทสะชนิดหยาบมาก มีอาการมุ่งร้ายต่อผู้อื่น อันมีความปรารถนาที่จะทำลาย
    ประโยชน์และความสุขของผู้อื่นให้เสียไป เช่นเมื่อโกรธแค้นผู้อื่น ก็อาฆาตคิดในใจ หาวิธีการทำให้ผู้นั้นพินาศฉิบหาย หรือนึกแช่งให้ผู้นั้น ได้รับอันตรายเสียหายต่างๆ โทสะชนิดหยาบนี้จึงจัดเป็นมโนทุจริต
    องค์ประกอบแห่งมโนทุจริต มี 2ประการคือ
    1. ผู้อื่น
    2. คิดให้ความเสียหายเกิดขึ้น 10. มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเป็นที่วิปริต หมายถึงความเห็นที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริง
    นิยาม : ธรรมชาติใด ย่อมมีความเป็นวิปริตไปจากความเป็นจริง ธรรมชาตินั้นชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ
    ทิฏฐิ คือ ความเป็นคำกลางๆเพื่อประกอบกับคำอื่น เช่น
    1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาอันเป็นชอบหรือความเห็นถูก
    2. มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง
    แยกศัพท์ออกได้เป็น สอง ศัพท์ คือ มิจฉา แปลว่า วิปริต และทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น เมื่อรวมกันแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ แปลว่าความเห็นที่วิปริต หมายถึง ความเห็นที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริงหรือ
    ธรรมชาติใดย่อมมีความเห็นที่วิปริตผิดไปจากความเป็นจริง ธรรมชาตินั้น ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐินี้พระพุทธองค์ได้แสดงไว้อย่างกว้างขวาง เช่น
    สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดยึดมั่นในขันธ์ 5 ว่าเป็นเรา เป็นต้น มิจฉาทิฏฐิ 62 ประการแสดงไว้ใน พรหมชาลสูตร และ นิตยมิจฉาทิฏฐิ แสดงไว้ในสามัญผลสูตร
    สำหรับมิจฉาทิฏฐิในที่นี้มุ่งหมายเอา นิตยมิจฉาทิฏฐิ 3 ประการ อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหยาบ ที่ให้สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถได้ ส่วนมิจฉาทิฏฐิอย่างอื่น เป็นเพียงทิฏฐิสามัญเท่านั้น
    นิตยมิจฉาทิฏฐิ 3 ประการ คือ
    1. นัตถิกทิฏฐิ คือมีความเห็นว่า ทำไรก็ตาม ผลที่พึงได้รับนั้นย่อมไม่มี ความเห็นผิดชนิดนี้ จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายตายไปแล้วก็สูญไป ไม่มีการเกิดอีกในสามัญผลสูตร แสดงความเห็นผิดที่เป็นนัตถิกทิฏฐินี้ว่า ได้มาจากความเห็นผิด 10 อย่างคือ (พระพุทธองค์ตรัสดังนี้)
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย มีอยู่ สมณพราหมณ์ บางพวกมีวาทะอย่างนี้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
    1. การทำบุญไม่มีผล
    2. การบูชาต่างไม่มีผล
    3. การต้อนรับเชื้อเชิญ หรือการเคารพนับถือไม่มีผล
    4. ผลหรือวิบากของการทำดีทำชั่วไม่มีผล
    5. ชาตินี้ไม่มี
    6. ชาติหน้าไม่มี

    7. บุญคุณของมารดาไม่มี
    8. บุญคุณของบิดาไม่มี
    9. สัตว์โลกที่ผุดเกิดและเติบโตทันที โดยไม่มีพ่อแม่ได้แก่สัตว์นรก, เปรต, เทวดา, พรหมนั้นไม่มี
    10. สมณพราหมณ์ที่รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง และสอนให้ผู้อื่นที่ถึงพร้อมด้วยสามัคคี ปฏิบัติตามโดยชอบไม่มี
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันหวังได้ว่า จะต้องเบื่อหน่ายในกุศลธรรมสาม คือ กายสุจริต วจีสุจริจ และมโนสุจริต และจะยึดถือปฏิบัติอยู่แต่ในอกุศลธรรมสาม คือ การทุจริต วจีทุจริต และ มโนทุจริต ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นไม่เห็นโทษไม่เห็นความต่ำทราม ไม่เห็นความเศร้าหมอง ของอกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่เห็นอานิสงส์ในการออกจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่เห็นคุณค่าแห่งความบริสุทธิ์ของกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ปรโลกมีอยู่แท้ๆเขากลับมีความเห็นว่า ปรโลกไม่มี ฉะนั้นความเห็นของเขา จึงจัดเป็นมิฉาทิฏฐิ ก็ปรโลกมีอยู่แท้ๆเขากลับคิดเห็นว่าปรโลกไม่มีฉะนั้นความคิดของเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิสังกัปปะ ก็ปรโลกมีอยู่แท้ๆเขากลับพูดว่าปรโลกไม่มี ฉะนั้นคำพูดของเขาจึงจัดเป็นมิจฉาวาจา
    อนึ่ง พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมรู้ยู่แก่ใจว่า ปรโลกมีอยู่ ฉะนั้นผู้ที่ถือว่าปรโลกไม่มีจึงได้ชื่อว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ทั้งหลายอีกด้วย ในเมื่อตัวเองเชื่อถือเช่นนั้น และสอนให้คนอื่นเชื่อตาม ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประกาศอสัทธรรม และด้วยอสัทธรรมที่ตัวเองประกาศออกไปเช่นนั้นย่อมจะเป็นเหตุให้ยกตนข่มคนอื่นอีกด้วย ย่อมละศีลได้ง่าย และประพฤติอยู่แต่ในทางทุศีล
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมก่อให้เกิดอกุศลธรรมไม่น้อยทีเดียว
    อนึ่ง ในเรื่องปรโลกนี้ ท่านคฤหบดีทั้งหลาย สำหรับคนที่ฉลาด เขาย่อมคิดอย่างนี้ว่าถ้าหากปรโลกไม่มีคนที่ทำบาปไว้ ก็นับว่าปลอดภัยไป แต่ถ้าหากปรโลกมีจริงคนที่ทำบาปตายไปแล้ว ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือแม้จะไม่พูดถึงเรื่องปรโลก แต่คนที่มีความเห็นผิด และเป็นผู้เป็นผู้ทุศีลก็ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนในโลกนี้เอง เพราะฉะนั้น คนที่มีความเห็นผิดจึงต้องประสบผลร้ายถึง 2 ทางคือ ถูกติเตียนในโลกนี้ และเมื่อตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรกอีกด้วย
    2. อเหตุกทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ (จะชั่วดีมีสุข ทุกข์มีโชคอับโชค เกิดเพราะความบังเอิญ) หมายถึงความเห็นที่ว่าสัตว์ทั้งหลาย ที่ได้รับความลำบาก หรือความสบายก็ตามไม่ได้อาศัยเหตุใดๆให้เกิดขึ้นเลย แต่เป็นไปเองทั้งนั้น ในสามัญผลสูตรแสดงไว้ดังนี้
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย มีอยู่ สมณพราหมณ์บางพวกมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เหตุปัจจัยแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มี สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ก็บริสุทธิ์ได้เอง กำลัง ความเพียร เรี่ยวแรง ความบากบั่น เพื่อความเศร้าหมอง หรือเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เหล่านี้ไม่มีประโยชน์ เพราะสัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วก็ดีที่กำลังจะเกิดก็ดีสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวงก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่มีอำนาจไม่มีกำลังไม่มีความเพียรในอันที่จะช่วยตัวเองให้เศร้าหมอง หรือบริสุทธิ์ แต่ทั้งหมดย่อมแปรเปลี่ยนไปตามโชคดีโชคร้าย และตามสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองไปเกิดอยู่ เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างไรในฐานะต่างๆก็เพราะโชคดี โชคร้าย และสภาพของสิ่งแวดล้อม
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังได้ว่า จะต้องเบื่อหน่ายในกุศลธรรมสามคือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต และจะยึดถือปฏิบัติอยู่แต่ในอกุศลธรรมสาม เพราะอาศัยมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมก่อให้เกิดอกุศลธรรมไม่น้อยทีเดียว ฯลฯ ในสามัญผลสูตรอรรถกถา แสดงไว้ว่า
    ผู้ที่เห็นว่า ความสุข-ความทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่เกี่ยวเนื่องมาจากเหตุก็เท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธทั้งเหตุและผลพร้อมกันไปด้วย
    3. อกิริยทิฏฐิ คือความเห็นว่า การกระทำไม่สำคัญ หมายถึงความเห็นที่ว่าการกระทำต่างๆของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่เป็นบาป หรือเป็นบุญแต่ประการใด แสดงไว้ในสามัญผลสูตรดังนี้
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย มีอยู่สมณพราหมณ์บางพวกมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่าทำเองก็ดีให้คนอื่นทำก็ดีตัดเองก็ให้คนอื่นตัดก็ดี เผาเองก็ดี ให้คนอื่นเผาก็ดี ทำให้เศร้าโศกเองก็ดี สั่งให้คนอื่นเศร้าโศกก็ดี ทำให้ลำบากเองก็ดี สั่งให้คนอื่นทำให้ลำบากก็ดีทำให้ดิ้นรนเองก็ดีสั่งให้คนอื่นทำให้ดิ้นรนก็ดี ฆ่าสัตว์เองก็ดี สั่งให้คนอื่นฆ่าก็ดี ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ก็ดีตัดช่องย่องเบาก็ดี ขึ้นปล้นก็ดี แอบซุ่มอยู่ข้างทางก็ดี ประพฤติผิดในภรรยาคนอื่นก็ดีพูดเท็จก็ดี ผู้ที่กระทำดังกล่าวมานี้ ไม่เชื่อว่ากระทำบาป แม้หากว่าคนใดพึงฆ่าสัตว์ทั้งหลายบนพื้นปฐพีนี้ด้วยจักรอันคมกริบ จนกระทั่งทั่วแผ่นดินนี้เป็นสานแห่งเนื้อ บาปเพราะเหตุที่ฆ่าสัตว์ถึงปานนี้ไม่มี การมาของบาปไม่มี หรือแม้หากว่า จะพึงไปสู่ฝั่งทางทิศใต้ของแม่น้ำคงคา ฆ่าเองก็ดีหรือให้คนอื่นฆ่าก็ดี ตัดเองก็ดีให้คนอื่นตัดก็ดีเผาเองก็ดีให้คนอื่นเผาก็ดี บาปเพราะเหตุที่ทำเช่นนี้ไม่มีการมาของบาปไม่มีหรือแม้หากว่าจะพึงไปสู่ฝั่งทางทิศเหนือของแม่น้ำคงคา ให้ทางเองก็ดีสั่งให้คนอื่นทางก็ดี บูชาเองก็ดีสอนให้คนอื่นบูชาก็ดีบุญเพราะเหตุที่ทำเช่นนี้ไม่มี การมาของบุญย่อมไม่มีเพราะการให้ทานการข่มใจการสำรวมการพูดคำสัจ
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะอย่างนี้มีความเห็นอย่างนี้สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันหวังได้ว่า จะต้องเบื่อหน่ายในกุศลธรรม ไม่นิยมยินดีในการที่จะทำให้ กาย วาจา ใจ อยู่ในความสุจริต จะยึดถือและปฏิบัติอยู่แต่ในทาง กาย ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ข้อนั้นเพราะเหตุใดก็เพราะเขาไม่เห็นทาไม่เห็นความต่ำทรามไม่เห็นความเศร้าหมอง ของอกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่เห็นอานิสงส์ในการออกจากอกุศลธรรม ไม่เห็นคุณค่าแห่งความบริสุทธิ์ ก็กรรมมีอยู่แท้ๆ เขากลับมีความเห็นว่ากรรมไม่มี ฉะนั้น ความเห็นของเขาจึงตัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความคิดที่ว่ากรรมไม่มี จัดเป็นมิจฉาสังกัปปะ คำพูดที่ว่ากรรมไม่มี ก็จัดเป็นมิจฉาวาจา
    อนึ่ง! พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่ากรรมมีอยู่ ผู้ที่กล่าวว่ากรรมไม่มี จึงได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ทั้งหลายไมเมื่อตัวเองเชื่อถือเช่นนั้นแล้วสอนให้คนอื่นเชื่อตาม ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประกาศอสัทธรรมและด้วยอสัทธรรมที่ตัวเองประกาศออกไปเช่นนั้น ย่อมจะเป็นเหตุให้ยกตนข่มคนอื่นอีกด้วย ย่อมละศีลได้ง่ายและประพฤติอยู่แต่ในทางทุศีล
    ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมก่อให้เกิดอกุศลธรรมไม่น้อยทีเดียว
    ในสามัญผลสุตรอรรถกถาแสดงไว้ว่า เมื่อปฏิเสธการกระทำบาป-การกระทำบุญที่เป็นตัวเหตุแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธผลของการกระทำบาป-บุญนั้นด้วย
    ความเห็นว่าเที่ยง คือ ความเห็นว่าอัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่นเห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นที่ทรุดโทรมไปส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัส เป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งตรงข้ามกับอุจเฉททิฏฐิ



    คัดลอกมาจาก :

    http://thai.mindcyber.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=96

    [FONT=&quot] <!--[if !supportLineBreakNewLine]-->
    <!--[endif]-->[/FONT]
     

แชร์หน้านี้

Loading...