แก้วที่มีคุณค่า ในมหาสมุทรแห่งพุทธธรรม

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย alfed, 11 ธันวาคม 2017.

  1. alfed

    alfed สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    15
    ค่าพลัง:
    +135
    ocean-final.jpg
    “บางครั้งเราอาจจะถูกทอดทิ้ง
    ถูกใครต่อใครซ้ำเติม ดูถูกเหยียดหยาม
    เพราะความผิดพลาดในการดำเนินชีวิต
    ทำให้เกิดรู้สึกว่า ตนเองไร้ค่า
    แต่รู้ไหม... ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตก็ตาม
    ยังไงซะ! เราก็ยังมีคุณค่าในความเป็นคน”
    ขอเพียงอย่าประเมินคุณค่า หรือตีราคาตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง คนอื่นจะดูถูกเหยียดหยามอย่างไรก็ช่าง เพราะเราไม่สามารถห้ามความคิดใครได้ แต่ทว่าเราจะต้องไม่ดูถูกดูแคลนตัวเอง ตราบใดที่ยังมิได้แสดงศักยภาพออกมาเต็มที่ เพราะฉะนั้นต้องให้โอกาสตัวเอง ลุกขึ้นพิสูจน์คุณค่าของตนอีกครั้ง
    อย่าลืมว่า... คนจะดีมีคุณค่าหรือเลวทรามต่ำช้า ไม่เกี่ยวกับชาติตระกูล ไม่สำคัญว่าจะเคยเป็นใคร เคยผิดพลาดล้มเหลวมาแค่ไหน แต่ที่สำคัญคือ หากล้มแล้วต้องกล้าพอที่จะลุกขึ้นใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเองและผู้อื่น
    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า “คุณค่า” หมายถึง “สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง” แต่ถ้าแยกศัพท์ออกมาเป็นคำก็จะเห็นความหมายชัดขึ้น
    “คุณ” หมายถึง ลักษณะประโยชน์ใช้สอยภายใน
    “ค่า” หมายถึง ประโยชน์ใช้สอยภายนอก
    ตัวอย่างเช่น น้ำ คุณของน้ำคือความเย็น ค่าของน้ำคือใช้ดับความกระหาย ใช้ชำระร่างกาย ใช้ล้างคราบสกปรกได้สารพัด
    วัตถุสิ่งของทุกชนิดย่อมมีทั้งคุณและค่าอยู่ในตัวเอง ดังเช่นที่กวีผูกเป็นกลอนภาษิตเอาไว้
    “คุณค่าของไฟอยู่ที่ความร้อน
    คุณค่าของค้อนอยู่ที่น้ำหนัก
    คุณค่าของผักอยู่ที่วิตามิน
    คุณค่าของดินอยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์”
    ชีวิตก็เช่นเดียวกัน การได้สิทธิ์เกิดมาเป็นมนุษย์ อย่างน้อยที่สุด ก็มีคุณค่าในความเป็นคน ลองคิดดู แม้แต่พระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังต้องเกิดมาเป็นมนุษย์
    ดังนั้น การได้เกิดเป็นมนุษย์ จึงมีคุณค่ามหาศาล เพราะกว่าที่จะได้อัตภาพนี้มานั้นยากแสนยาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน พาลปัณฑิตสูตร พระไตรปิฎก เล่ม 14 มีความส่วนหนึ่งที่สรุปให้เข้าใจง่ายๆว่า
    ...บุรุษโยนแอก(ห่วงยาง)ที่มีรูเดียวลงไปในมหาสมุทร มันลอยเท้งเต้งอยู่กลางมหาสมุทร อีกทั้งลมทะเลทั้งสี่ทิศก็พัดไปมา ในเวลา 100 ปี จะมีเต่าตาบอดตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ เป็นไปได้ไหมว่า เต่าตาบอดตัวนั้นจะเอาคอสวมเข้าไปในห่วงยางนั้นได้พอดี
    แน่นอนว่า ช่วงเวลาที่บรรจบลงตัวกันพอดีเป๊ะ!แบบนี้ มันยาก... ยากมากที่เต่าตาบอดตัวนั้น จะเอาคอสวมเข้าไปในห่วงยางได้ ลักษณะเช่นนี้ว่ายากแล้ว ทว่าพระพุทธองค์ตรัสว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยังยากแสนยากยิ่งกว่า…
    หากพูดด้วยตรรกะในเชิงวิทยาศาสตร์ ลองหลับตานึกภาพตอนที่ยังเป็นเซลล์สเปิร์มอยู่ในอสุจิของพ่อ เราเป็นสเปิร์มตัวแรกที่ว่ายน้ำนำหน้าใครๆ วิ่งเข้าไปเจาะไข่แม่ เราเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นผู้ชนะในจำนวนพี่น้องเซลล์สเปิร์มกว่า 200-300 ล้านตัว!! นั่นก็หมายความว่า เราเกิดมาพร้อมกับความสำเร็จหรือชัยชนะตั้งแต่วินาทีแรกแล้ว
    ดังนั้น ก่อนที่จะลุกขึ้นสู้ เปลี่ยนแปลง และปฏิวัติวงจรชีวิตแบบเดิมๆ แล้วมุ่งไปข้างหน้าเพื่อพิสูจน์คุณค่า หรือเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง อันดับแรกเราต้องเชื่อก่อนว่า ตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมผู้อื่น มีสิทธิ์ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ได้รับสิ่งที่มุ่งหวัง มีความสุขได้เช่นเดียวกับผู้อื่น มีคุณค่าคู่ควรได้รับการดูแลปกป้องให้เกียรติอย่างดี พร้อมทั้งได้รับการยอมรับจากผู้อื่น เรียกง่ายๆ ว่า “เราต้องเห็นคุณค่าของตัวเองก่อน”
    ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือยับยู่ยี่ ตัวเราก็มีค่าที่สุดเสมอ ดังตัวอย่างในนิทานชวนอ่านเรื่องต่อไปนี้
    ในเช้าวันที่อากาศแจ่มใส ณ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศ อาจารย์คนหนึ่งเริ่มบทสนทนาในชั้นเรียน ด้วยการควักธนบัตรใบละ 1,000 บาท ออกมาให้นักศึกษาดู แล้วถามว่า

    “มีใครอยากได้บ้างไหม?” นักศึกษาทุกคนยกมือขึ้นเกือบพร้อมกัน
    แต่นอกจากจะไม่ให้แล้ว อาจารย์ยังขยำธนบัตรใบนั้นเสียยับยู่ยี่ แล้วถามอีกครั้งว่า
    “มีใครยังอยากได้ธนบัตรใบนี้อยู่อีกหรือไม่?” ปรากฏว่านักศึกษาทุกคนก็ยังยกมือขึ้นเหมือนเดิม
    อาจารย์จึงถามต่อไปอีกว่า “ถ้าสมมติว่า ธนบัตรใบนี้ถูกทิ้งไว้บนพื้น แล้วมีคนมาเหยียบย่ำมันสกปรก ยังจะมีใครอยากได้อีกหรือไม่?”
    นักศึกษาทุกคนก็ตอบเหมือนกันว่า “ยังอยากได้!!!”
    อาจารย์จึงสรุปว่า “นั่นคือสิ่งมีคุณค่า ที่พวกเธอได้เรียนรู้ในวันนี้ ไม่ว่าเธอจะทำอะไรกับธนบัตรใบนี้ มันก็ยังคงมีราคา 1,000 บาทอยู่เสมอ”
    จับคติเอาประโยชน์จากนิทานเรื่องนี้ “ไม่ว่าเราจะโดนใครต่อใครดูถูก เหยียบย่ำ ซ้ำเติม จากการกระทำที่ผิดพลาดล้มเหลวในชีวิตอย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีคุณค่าอยู่ในตัวเองเสมอ”
    จำให้ได้ว่า เราเคยเป็นใคร ประสบความสำเร็จมามากมายขนาดไหน อย่ายอมให้เหตุการณ์เล็กๆน้อยๆ มันมีผลหรือมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา
    ในชีวิตจริงของเราทุกคน เราเคยชนะมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เริ่มตั้งแต่ตอนเป็นเด็กตัวเล็กๆ เราหัดตั้งไข่ พอล้มปุ๊บก็ลุกขึ้นใหม่ เคยหัดพลิกตัว หัดเดิน หัดว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เราล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่เป็นร้อยเป็นพันครั้ง แล้วในที่สุดเราก็ชนะ เพราะทำมันได้ พวกเราทุกคนถือว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
    เราไม่ได้เป็นเหมือนผู้ใหญ่บางคนที่ชอบอ้างนู่นนี่นั่น สารพัดข้ออ้าง เพื่อที่จะบอกกับตัวเองว่า “ฉันทำไม่ได้ ยอมแพ้แล้ว ล้มเลิกดีกว่า”
    การที่ใครสักคนปาลูกบอลใส่เรา แล้วเรารับไม่ได้ นั่นไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะถ้าเราไม่ยอมแพ้ ก็แค่เอ่ยปากบอกว่า “โอเค...ฉันพลาดไป ไหนลองปามาใหม่อีกครั้ง” รับรองได้ว่า ถ้าไม่ยอมแพ้ และใช้เวลากับมันสักหน่อย ไม่นานเราก็ต้องรับลูกบอลได้แน่
    ความพร้อมต้องอาศัยเวลา เวลาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขัดเกลาความไม่ดี ความไร้คุณค่า ความอัปลักษณ์ในพฤติกรรมอันน่ารังเกียจในตัวของแต่ละคนออกไป
    ในมหาสมุทรมีเศษแก้วแตก ขวดแตก สิ่งไร้ค่าที่ถูกโยนทิ้งมาจากเรือ แต่นานวันเข้าสิ่งไร้ค่าเหล่านี้ กลับกลายเป็นของมีค่าขึ้นมาได้ พร้อมกับชื่อใหม่ที่นักสะสมเรียกว่า “แก้วทะเล”
    แก้วงามจากท้องทะเล เป็นสิ่งมีค่าของนักสะสม ทั้งที่เดิมทีมันก็เป็นแค่เศษขวดเศษแก้วเก่าๆ เป็นเศษขยะที่คนมองข้าม แต่เมื่อถูกทรายและน้ำทะเลขัดถูกัดเซาะ จนเหลี่ยมคมหายไป ก็กลายเป็นแก้วใสมันวาว ที่ไม่มีพิษมีภัยกับใคร
    แต่กว่าจะมาเป็นแก้วชิ้นงามได้นั้น เศษแก้วเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นจากการเป็นของไร้ค่าไม่น่าเก็บ เป็นขยะที่ต้องจมอยู่ในน้ำหลายปี แน่นอน..มันต้องอาศัยเวลาขัดเกลาอยู่นาน กว่าจะกลายเป็นแก้วทะเลที่หมดจดงดงาม มีคุณค่าน่าสะสม
    ตัวเราเองก็เช่นกัน ในฐานะชาวพุทธ ก่อนที่เราจะกลายเป็นแก้วแวววาวทรงคุณค่า ก็ต้องมีการปรับปรุงยกระดับขัดเกลาตัวเอง ด้วย “ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา” เพื่อให้เกิดคุณค่า เพื่อความเจริญงอกงาม สุขสงบสำเร็จ ร่มเย็น อิ่มเอมใจ ปราศจากความทุกข์อย่างยั่งยืน เหมือนที่นักปราชญ์กล่าวไว้
    “ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน คุณของคนอยู่ที่การฝึกฝนนำตนให้พ้นจากทุกข์”
    “เศษแก้วในทะเล ขัดเกลานานเข้า ยังกลายเป็นแก้วทะเลมีค่าน่าสะสม
    เศษคนในทะเลชีวิต ขัดเกลามากเข้า ย่อมกลายเป็นแก้วทรงคุณค่า ในมหาสมุทรแห่งพุทธธรรม”

    จำไว้ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตก็ตาม อย่างน้อยที่สุด เราก็ยังมีคุณค่าในความเป็นคน”


    แหล่งทีมา นิตยสารธรรมลีลา
     

แชร์หน้านี้

Loading...