ถาม-ตอบ (ปฏิจจสมุปบาท)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย คือคนไทย, 22 มกราคม 2017.

  1. คือคนไทย

    คือคนไทย Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มีนาคม 2015
    โพสต์:
    13
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +78
    ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงครับ การเห็นปฏิจจสมุปบาทเกิดดับอยู่เนืองๆ อย่างนี้เรียกว่าเห็นอย่างไรครับ แล้วทำอย่างไรต่อครับ ผมกลัวว่าจะทำไม่ถูกในการพิจารณาครับ การทำสมาธิของกระผมยังไม่คืบหน้าเท่าไรครับ ช่วงระหว่างจิตเพลินกับสภาวะต่างๆ พอมีเสียงอะไรมากระทบหูจิตมักหวั่นไหว หมายถึงว่ามีสะดุ้งอยู่เป็นบางครั้ง จะต้องเพ่งใช้สติให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือบางครั้งพอสมาธิไปอีกก็ได้ยินเสียงคล้ายๆ ลมทะลุเข้าหูซ้าย ออกหูขวา หรือเห็นลมกระทบเพดานจมูก บางครั้งก็เห็นความเกิดดับของลมที่กลางอก ลิ้นปี่ แต่ก็ทรงอารมณ์อยู่ได้ไม่นาน กำลังสมาธิอาจยังไม่พอแก่การงานหรือไม่ครับ ที่กระผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ มาถูกทางมรรค ผล นิพพานหรือไม่ ประการใด หลวงพ่อเมตตาธรรมอธิบายให้จิตดวงนี้มีความรู้แก่กล้า สามารถไปถึงฝั่งอรหัตตผล นิพพานด้วยครับ ขอบพระคุณ

    ตอบ : โดยเป้าหมาย โดยความหวัง ที่เราเป็นชาวพุทธ เป้าหมายของเราถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็ถึงพระนิพพาน ทุกคนมีเป้าหมายอย่างนั้น โดยผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติที่เข้ามาคลุกคลี มีครู มีอาจารย์ ได้ฟังเทศน์ ได้คลุกคลีกับพระกรรมฐาน จะมีเป้าหมายว่า เราอยากจะปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ แต่โดยทางศรัทธาทางโลก พอพูดถึงนรก สวรรค์เขายังแทบไม่อยากจะเชื่อ ยิ่งพูดถึงมรรค ผล นิพพานเขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ บางลัทธิฝ่ายที่ปฏิบัติเขาบอกกึ่งพุทธกาลพระอรหันต์ไม่มีหรอก พวกนามรูป พวกอภิธรรมเขาบอกมรรค ผล นิพพานจะมีอะไร พระอรหันต์ไม่มีหรอก กึ่งพุทธกาลแล้วสูงสุดก็แค่อนาคามี สูงสุดนะ ถ้าต่ำสุดไม่มีเลย เขาไม่เชื่อกันอยู่แล้ว ถ้าไม่เชื่อแล้วเราจะมาประพฤติปฏิบัติกัน ประพฤติปฏิบัติทำไมล่ะ?

    แต่เดิม แต่เดิมความเชื่อถือของสังคมเขามีศาสนาไว้เป็นวัฒนธรรมเท่านั้น มีศาสนาไว้เป็นประเพณีเท่านั้น เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติทุกข์ยากมาก ทุกข์ยากเพราะอะไร? เพราะประเพณีเขาว่าพระก็ต้องอยู่ในวัด พระก็แค่ทำพิธีกรรมให้กับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมีที่พึ่งเท่านั้นแหละ นี่เขามีความเชื่อขนาดนั้น เวลาบอกว่าเคารพ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นชาวพุทธมีรัตนตรัยเป็นศาสนาพุทธ แต่เวลาเชื่อเชื่อผี เชื่อสาง เชื่อการทรงเจ้าเข้าผี

    นี่เพราะอย่างนั้นมันเป็นที่พึ่งได้ มันจับต้องได้ แต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มันเป็นนามธรรมเกินไป พระก็อยู่วัดอยู่วา พระก็ไม่น่าเคารพเลื่อมใส มันจะมีมรรค มีผลที่ไหน เขาไม่เชื่อกันหรอก แล้วหลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติในสังคมอย่างนั้น ถ้าออกประพฤติปฏิบัติในสังคมแบบนั้นมันก็มี พระไตรปิฎกก็มี ครูบาอาจารย์ที่มีการศึกษาก็มี แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันไม่มีใครปฏิบัติได้ตามความเป็นจริงทั้งนั้นแหละ ไม่มี พอไม่มีท่านก็ทำของท่านมา

    พอทำของท่านมา นี่ที่ว่าลำบากๆ ครูบาอาจารย์เรานะเวลาธุดงค์ไปที่ไหน เขาเห็นพระห่มผ้าสีคล้ำๆ เขาก็วิ่งหนีตกใจว่าเขาไม่เคยเห็น นี่ผีบุญๆ เขากลัว ไม่เคยเห็นห่มผ้าสีนั้น แต่ในปัจจุบันนี้เราห่มผ้าสีกรักกันเต็มประเทศไทยเลย ใครๆ ก็อยากห่มผ้าสีกรัก จนเขามีความดำริกันว่าจะห่มสีพระราชทาน สีพระราชนิยม ว่าไปนู่น

    สีผ้ามันก็คือสีผ้า ผ้านี่ย้อมสี ย้อมสีเข้ม สีอ่อนมันก็อยู่ที่สี มันจะศักดิ์สิทธิ์วิเศษมาจากไหน มันจะศักดิ์สิทธิ์วิเศษมันอยู่ที่ข้อวัตรปฏิบัติ มันอยู่ที่ธรรมวินัยของผู้ปฏิบัติ มันอยู่ที่มรรค ที่ผล อยู่ที่ความเป็นจริงอันนั้นต่างหากมันถึงจะมีคุณธรรมจริง มันจะไปอยู่ที่สีที่สรรเอามาถกเถียงกันเรื่องนี้มันมีประโยชน์อะไร แต่คนถ้าไม่มีที่พึ่ง เขาไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเขา เห็นพระห่มผ้าสีเหลืองๆ พอมาเห็นห่มผ้าสีดำๆ เขาก็ตกใจ

    นี้สมัยหลวงปู่มั่นนะ คือเขาไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา เขาก็ยังบอกว่ามรรค ผลจะมีหรือเปล่า นี้ความไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธาของเขา แต่ในปัจจุบันนี้สิ เวลาปฏิบัติไปๆ กึ่งพุทธกาลแล้วมรรค ผลไม่มี พระอรหันต์ไม่มี ไม่มีหรอก ไม่มีแล้วสอนปฏิบัติทำไม นี่ไม่มีแล้วสอนทำไม อภิธรรมสอนทำไม นี่ไงพอสอนอภิธรรม นี่การเห็นปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทที่ไหน? ปฏิจจสมุปบาท

    ถาม : เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นการเกิดดับอยู่เนืองๆ อย่างนี้เรียกว่าเห็นอะไรครับ

    ตอบ : ก็เห็นสัญญาไง เห็นจินตนาการไง เห็นสร้างภาพไง สร้างภาพเพราะอะไร? สร้างภาพเพราะในสมัยที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติใช่ไหม คนจะเชื่อมั่นในพุทธศาสนานี่ไม่เชื่อ พอไม่เชื่อเพราะความซื่อของเขา ความซื่อของสังคม ความซื่อของสังคมไทย ความซื่อของชาวชนบท ความซื่อของสังคมชาวพุทธ เขาไม่เชื่อมรรค ผลเพราะอะไร? เขาไม่เชื่อถือเพราะว่าการประพฤติปฏิบัติมันไม่สมจริงสมจัง

    นี่คนที่เขาคลุกคลีอยู่กับศาสนาเขาไม่เชื่อของเขาเพราะว่าเขาดูด้วยประสบการณ์ของเขา เขาไม่เชื่อว่ามรรค ผลมีจริง แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านใช้ชีวิตของท่านทั้งชีวิตหนึ่ง หมดไปอายุขัยหนึ่ง แล้วก็อายุขัยของหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ รุ่นที่ ๒ มารุ่นหนึ่ง หลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นรุ่นที่ ๓ ไอ้พวกเรารุ่นสุดท้าย ๓-๔ ชั่วอายุคนเพื่อทำให้สังคมเขามั่นคงศรัทธาขึ้นมา เพราะอะไร? เพราะว่าท่านเทศนาว่าการของท่าน เพราะท่านเอาความจริงในหัวใจของท่านมาเทศนาว่าการ เอาความจริงของท่านมาตีแผ่ พอตีแผ่ขึ้นมา คนที่มีเหตุมีผล นี่ฟังเหตุฟังผลแล้วมันยอมรับเหตุผลนั้น เขาเชื่อเรื่องมรรค เรื่องผลขึ้นมา พอเชื่อเรื่องมรรค เรื่องผลขึ้นมา การปฏิบัติมันก็เข้มแข็งขึ้นมา

    นี่พอเข้มแข็งขึ้นมา ฝ่ายปฏิบัติ เห็นไหม เขาปฏิบัติด้วยพุทโธ หลวงปู่มั่นท่านสอนพุทโธ พุทโธคือคำบริกรรม คำบริกรรมการทำความสงบ ๔ วิธีการ นี่ท่านทำจริงๆ ของท่าน ท่านทำจริงทำจังของท่าน แล้วท่านได้ผลของท่าน ถ้าไม่ได้ผลของท่าน ท่านจะเอาสิ่งใดมาเทศนาว่าการ เวลาเทศนาว่าการ เวลาเทศน์ตามปริยัติก็เทศน์ตามพระไตรปิฎก เทศน์ตามตำรา เทศน์ตามตำราก็ว่าไปตามตำรา ไอ้คนที่ฟังแล้วก็ฟังเป็นพิธี ฟังเทศน์เอาบุญ นั่งสัปหงกโงกง่วง เวลาฟังเทศน์กันนั่งสัปหงกหัวนี่จรดพื้นเลย พอพระเทศน์จบสาธุ ได้บุญๆ อู๋ย บุญเต็มหัวใจเลย

    แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่เทศน์อย่างนั้น ท่านเทศน์จี้เข้าไปในหัวใจ นั่งตัวแข็งเลยนะ จิตสงบนิ่งคอยฟังคุณธรรมอันนั้นเข้ามาชำระใจ ธรรมกระแทกเข้ามาในหัวใจ ถ้าหัวใจยิ่งกระแทกเท่าไรมันก็ยิ่งจะไปปลดเปลื้องในใจของผู้ที่ฟัง นี่การฟังธรรมอย่างนั้นฟังจากที่ในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นจริงของท่าน ท่านทำจริงทำจังของท่าน ท่านมีเหตุมีผลของท่าน ท่านถึงเอาความจริงอันนั้นมาอธิบายให้พวกเราฟัง แล้วถ้าใครมีอำนาจวาสนา ใครมีอำนาจวาสนาก็พยายามทำตาม ทำให้ได้ ทำตามแล้วทำให้ได้ แล้วมันมีคนทำได้ มีหลวงปู่ตื้อ มีหลวงปู่ชอบ มีหลวงปู่ฝั้น ทำได้เพราะอะไร? ทำได้เพราะทำเสร็จท่านทำแล้วท่านส่งการบ้านอาจารย์ของท่าน

    ท่านเทศนา เช่นหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มั่นท่านพูดกับพระที่เป็นลูกศิษย์บอกว่าหลวงปู่ขาว ท่านขาวได้คุยกับเราแล้วนะ คือได้คุยกันแล้ว จบแล้ว นี่ใครได้คุยแล้ว แล้วเวลาท่านพูดกับพระสมัยที่ว่าท่านชราภาพแล้วนะ

    หมู่คณะจำไว้นะ ท่านมหา หลวงตามหาบัวท่านดีทั้งข้างนอกและดีทั้งข้างใน

    ดีข้างนอกคือว่าข้อวัตรปฏิบัติ ดีข้างนอกคือกฎกติกาที่ท่านเป็นผู้นำ นี่ดีข้างนอก ข้างนอกหมายถึงว่าจริตนิสัยข้างนอก ท่านดีทั้งข้างนอกและดีทั้งข้างใน ข้างในคือมีคุณธรรม ข้างในคือปฏิบัติแล้วมีคุณธรรม นี่ไงที่ท่านมีคุณธรรม มีความจริงของท่าน แล้วท่านสั่งสอนของท่าน มีความจริงของท่าน แล้วท่านทำจริงของท่าน มันถึงได้ผลของท่านมา นี่พอทำขึ้นมาแล้ว พอปฏิบัติมาก็มีฝ่ายปฏิบัติอีกฝ่ายหนึ่งพยายามจะหาวิธีการปฏิบัติมา ก็กำหนดนามรูป กำหนดไปเอามาจากพม่า เอาจากพม่าเป็นสาวกภาษิต แล้วเวลาบอกว่ากรรมฐาน พุทโธนี่

    พระพุทธเจ้าไม่ได้ทำพุทโธ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทำพุทโธ พระพุทธเจ้าทำอานาปานสติ แต่พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นี่ทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เป็นพุทธภาษิต เป็นภาษิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอยู่ในพระไตรปิฎก วิธีการทำกรรมฐาน ๔๐ ห้อง แต่สาวกภาษิต นามรูป ยุบหนอ พองหนอมันอยู่ที่ไหนในพระไตรปิฎก มันไม่มี

    แล้วเวลาศึกษา ไปศึกษา เห็นไหม นี่ด้วยความซื่อของสังคม ด้วยความซื่อของชาวพุทธ เขาเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติของพระสมัยก่อนที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านจะปฏิบัติได้จริง นี่มันประพฤติปฏิบัติมันไม่สมควร เหตุผลมันไม่สมควรให้เชื่อ เขาเลยไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อเพราะว่ามันไม่มีเหตุมีผลที่จะให้เขาเชื่อได้ แต่พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านตามความเป็นจริงท่านมีเหตุมีผลอธิบายจนเขาเชื่อได้ เขาเชื่อของเขาว่ามีไง แต่เวลาในปัจจุบันนี้เวลาปฏิบัติมาอภิธรรมบอกว่ากึ่งพุทธกาลแล้วไม่มีพระอรหันต์

    ปัญญาชนนะ ศึกษามานี่ศึกษาด้วยอภิธรรม อภิธรรมคืออภิมหา อภิคือยิ่งใหญ่ ธรรมะที่ยิ่งใหญ่ ธรรมะที่ยิ่งใหญ่ ศึกษามายิ่งใหญ่มหาศาลเลย แล้วบอกว่ากึ่งพุทธกาลไม่มีพระอรหันต์ แล้วปฏิบัติไปทำไม ก็เลยการปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิเวลาเขาปฏิบัติกันเหมือนเด็กเล่นขายของ นี่เล่นปฏิบัติธรรม เวลามีครู มีอาจารย์ของเราท่านให้ประพฤติปฏิบัติจริง ทำจริงๆ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำของท่านจริงๆ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านจริงๆ ขึ้นมา ท่านทำจริงของท่าน ไม่ใช่เล่นปฏิบัติธรรม

    ไอ้นี่ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ เพราะอะไร? ทำเล่นๆ เพราะตัวเองไม่มีจริตนิสัย ตัวเองไม่มีคุณธรรมพอ พอไม่มีคุณธรรมพอก็ทำเป็นพิธีกรรม พอเป็นพิธี พอเป็นพิธีก็ทำเล่น เหมือนเด็กๆ เลย เหมือนนักเรียนอนุบาล นักเรียนอนุบาล ไปถึงโรงเรียนมีอะไรล่ะ? มันก็เล่นเครื่อง เล่นสิ่งที่ฝึกหัดสมอง ไอ้พวกตุ๊กตา ไอ้พวกสีสันเอามาเรียงเล่นกัน มาจับเต้น นั่นล่ะเขาฝึกเชาวน์เด็กๆ เขาฝึกเชาวน์เด็กๆ ให้เด็กๆ มันรู้จักเรียง รู้จักเก็บอักษร รู้จักดูแล นี่มันเล่นปฏิบัติธรรม

    นี่ก็เหมือนกัน เล่นปฏิบัติธรรม เล่นไม่จริง เพราะตัวเองเล่นปฏิบัติธรรม ผลมันคืออะไร? เด็กอนุบาลไปโรงเรียนของเขา ที่เขาไปเล่นกัน โรงเรียนอนุบาลคือเอาเด็กไปเล่นนะไม่ได้เอาไปเรียน โดยหลักคือเอาไปเล่น เอาไปนอน เอาไปเล่น เล่นเพื่อฝึกหัดสมอง แล้วพอโตขึ้นมาค่อยมาฝึก มาเรียนทีหลัง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เล่นปฏิบัติธรรม ย่องกันไปก็ย่องกันมา มันทำเล่นๆ มันเล่นปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่ธรรมความจริง

    พอเล่นปฏิบัติธรรม พอเล่นปฏิบัติธรรมแล้วก็กิเลสมันสวมรอย เพราะอะไร? เพราะอภิมหาธรรม อภิธรรมคือธรรมที่ยิ่งใหญ่ ธรรมยิ่งใหญ่ก็เรียนไง จิตกี่ดวงๆ ตกภวังค์นี่จิตกี่ดวง มันก็เหมือนนะ มันเหมือนกับเรานี่ชุมชนๆ หนึ่งอยากจะตั้งสหกรณ์ จะตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อชุมชนนั้น เพื่ออาชีพ เพื่อความมั่นคงของชีวิต ก็ศึกษา ศึกษาการเก็บออม นี่พอศึกษาการเก็บออมก็ศึกษา ศึกษาถึงเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เขาว่าเงินเฟ้อเท่าไร ปริวรรตเงินตราไปนู่นเลย

    สหกรณ์เขาก็เพื่อความซื่อสัตย์ใช่ไหม เราร่วมทุน ร่วมทุนแล้วเราใช้ประโยชน์จากสหกรณ์นั้น มีผลกำไรก็มาแบ่งปันกัน แค่นั้นมันก็ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าไปเรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องอะไรไปใหญ่โต อภิธรรม ศึกษาไปทั่วเลย ปฏิจจสมุปบาท เห็นการเกิดดับ เห็นภวังค์จิต จิตมีกี่ดวง ความรู้สึก แล้วทำอย่างไรต่อ จินตนาการทั้งนั้น เล่นปฏิบัติธรรม ทำเล่นๆ เวลาทำทำเล่นๆ นะ นี่สหกรณ์เขาแค่ร่วมทุน แค่ทำเพื่อสังคม ถ้าเราทำได้จริงนะ ชุมชนนั้นมั่นคงขึ้นมา ชุมชนนั้นเข้มแข็ง ชุมชนนั้นมีความสุข ชุมชนนั้นทำได้จริง

    นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธเราทำของเราเอาให้มันจริงจังขึ้นมา ถ้าปฏิบัติจริงมันจะเป็นอย่างนี้ นี่พอหมู่บ้านนี้เขาตั้งสหกรณ์ขึ้นมา เขาร่วมทุนกัน เขาขวนขวาย เขาทำของเขา เพื่อประโยชน์ของเขา ไอ้ของเรานักเศรษฐศาสตร์ เรารู้เรื่องการออม เรารู้เรื่องเงินตรา เรารู้ทุกอย่างเลย มีแต่ตัวเลข มีแต่บัญชี เล่นปฏิบัติธรรม พอเล่นปฏิบัติธรรมมันได้สิ่งใดมา ถ้ามันได้สิ่งใดมา นี่พอปฏิบัติไป เพราะนักเศรษฐศาสตร์มันรู้ความเสื่อมค่าของเงิน เงินนี่ ปริวรรตเงินตรามันรู้ของมันหมดแหละ

    ทีนี้พอรู้หมด ปฏิจจสมุปบาท เห็นการเกิดดับ แล้วเห็นการเกิดดับอยู่เนืองๆ นั่นมันคืออะไร? มันคือทฤษฎีไง มันคือตำรา แต่จิตนี้มหัศจรรย์ จิตนี้มันก็คิดของมันไป แล้วมันก็ไม่มีผลหรอก ไม่มีผลเพราะอะไร? เล่นปฏิบัติธรรม ทำเล่นๆ เล่นอยู่อย่างนั้นแหละ ย่องกันไปก็ย่องกันมา แล้วก็ว่าง แล้วก็มีความสุข ความสุข อ้าว คนนะ คนรู้จักทำบัญชี คนรู้จักเก็บออมมันก็ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เงินมันก็มีเงินใช้จ่ายตลอดเดือน สบายอยู่แล้ว

    นี่ก็เหมือนกัน เล่นปฏิบัติธรรมก็ได้แค่นี้ แต่ในการปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์เรา การปฏิบัติความจริงนะ ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบนี่ฐีติจิต จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ จิตนี่เป็นนักท่องเที่ยว มันท่องเที่ยวมาในวัฏฏะ ตั้งแต่พรหม ตั้งแต่สวรรค์ลงมา แล้วตั้งแต่มนุษย์ ตั้งแต่นรกอเวจี จิตมันเวียนว่ายตายเกิด มันไม่ใช้จ่ายต้นเดือน ปลายเดือน เงินเดือนออกต้นเดือนใช้จ่ายครบเดือน ใช้จ่ายครบเดือนก็อยู่แค่นี้แหละ

    นี่ปฏิบัติเล่น แต่ถ้าปฏิบัติจริงนะจิตนี้มาจากไหน? จิตนี้มาจากไหน? เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันมาจากไหน? แล้วมันมาเกิดเป็นมนุษย์ เราสนใจประพฤติปฏิบัติ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ใครเป็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วพิจารณาไปถ้าจิตมันสงบแล้วมันไปเห็นผู้เกิด ผู้แก่ ผู้เจ็บ ผู้ตาย นี่ถ้าประพฤติปฏิบัติไปตามความจริงแล้วมันไม่มีอายุขัย มันไม่ชราภาพ มันไม่ตาย มันไม่ตายแล้วมันมีไหม? มันทำลายแล้วมันไม่เกิด มันไม่เกิดด้วย มันไม่แก่ด้วย มันไม่เจ็บด้วย มันไม่ตายด้วย แล้วทำอย่างไร?

    ถ้าทำอย่างไร นี่ไงเขาบอกถ้าทำจริงไง นี่เขาถามว่า

    ถาม : เขาทำอย่างนี้มันเข้าถึงมรรค ผล นิพพานไหม?

    ตอบ : มรรค ผล นิพพานเพราะคำแรกนี่ไง การเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นการเกิดดับอยู่เนืองๆ อย่างนี้เรียกว่าเห็นอะไรครับ ถ้าคนปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเห็นปฏิจจสมุปบาทไหม? ปฏิจจสมุปบาท นี่ปฏิจจสมุปบาทนะ อิทัปปัจจยตา เขาพูดว่าอิทัปปัจจยตานะ ธรรมที่สูงส่งมาก อภิธรรม ธรรมที่สูงส่ง อิทัปปัจจยตา

    อิทัปปัจจยตา เพราะเหตุนี้มีถึงมีเหตุนี้ เพราะเหตุนี้มีถึงมีเหตุนี้ เห็นไหม อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เพราะมันมีภพมันถึงมีสังขาร เพราะมันมีภพมันถึงมีวิญญาณ เพระมันมีภพมันถึงมีทุกข์ เพราะมันมีภพ เพราะเหตุนี้มันถึงมีเหตุนี้ ถ้าเหตุนี้มีมันจะเห็นได้อย่างไรล่ะ? นี่ถ้าพูดถึงนะอภิธรรมก็เรียนกันไป ปฏิจจสมุปบาทคือเป็นอย่างนั้น ก็สร้างอารมณ์ คิดอารมณ์กันไป แล้วสร้างอารมณ์ คิดอารมณ์ไปแล้วมันได้อะไรล่ะ? แต่ถ้าปฏิบัติแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มาพอสมควรแล้ว ไม่มีทางไปแล้วก็กลับมาเจริญอานาปานสติจิตมันสงบเข้ามา

    นี่จิตมันสงบเข้ามา ไปเทศนาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ไม่ทำสมาธิ แต่ปฏิบัติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปี ทำความสงบของใจเข้ามา ก็เวลาเทศน์ขึ้นมาก็เทศน์ธัมมจักฯ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติ พอจิตสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ พอจิตสงบเข้าไปแล้วไม่เกิดมรรคมันไปเกิดกำลังของจิต จิตมันจะไปรู้ตามข้อมูลของมัน นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณคือระลึกอดีตชาติได้ แต่ถ้าดึงกลับมาอีก พอจิตลงไปอีก จุตูปปาตญาณมันไปของมัน

    อาสวักขยญาณนี่คือมรรค อาสวักขยญาณคือมรรค มรรค ๘ ถ้ามันรู้เห็นจริงมันไปชำระล้าง นี่ปฏิจจสมุปบาทไปชำระล้างอวิชชา ถ้าชำระล้างอวิชชาด้วยมรรคญาณเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แต่ด้วยอำนาจวาสนา ขิปปาภิญญา ผู้ปฏิบัติแล้วมันรู้ได้ด้วยความลึกซึ้ง แต่ในการปฏิบัติในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ พอจิตมันสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นสติปัฏฐาน ๔ มันใช่ปฏิจจสมุปบาทไหม?

    ถ้าเห็นธรรม ถ้าเห็นธรรมเราตีความเห็นนั้นเป็นปฏิจจสมุปบาท เราตีความเห็น เห็นธรรมารมณ์ เห็นอารมณ์ความรู้สึกเป็นปฏิจจสมุปบาท เราตีความว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท แต่มันไม่ใช่เป็นตัวปฏิจจสมุปบาท เพราะตัวปฏิจจสมุปบาทมันจะลึกซึ้งกว่านี้อีกมหาศาลเลย เพราะ เพราะตัวปฏิจจสมุปบาทมันต้องไปผ่านอสุภะ ผ่านกามราคะ มันต้องผ่านอนาคามีมรรคเข้าไปมันถึงจะไปเห็นปฏิจจสมุปบาทตามความเป็นจริง นี่พูดถึงตามความเป็นจริงนะ เพราะอะไร? เพราะเขาเขียนมาถาม ถามว่าไอ้นี่มันคืออะไร?

    ทีนี้พอบอกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท ไอ้ที่เขาเห็น ที่เขารู้กันนี่ อภิธรรมๆ เล่นปฏิบัติธรรม เพราะมันไม่ใช่จริง มันไม่ใช่ความจริง มันไม่ใช่เห็นจริง มันไม่ใช่รู้จริง มันรู้จากจินตนาการ มันรู้จากสัญญา มันรู้จากการเทียบเคียง มันไม่ใช่ตัวจริง ถ้าเป็นตัวจริงนะมันต้องผ่าน ผ่านกายเข้าไปเป็นโสดาบัน ละกายเข้าไปแล้ว ละกายอย่างหยาบเข้าไปเป็นโสดาบัน ละกายอย่างกลางเป็นสกิทาคามี ละกายอย่างละเอียด เห็นไหม ละกายอย่างละเอียดคือกามราคะ ถ้าละกามราคะไปแล้ว เพราะเข้าไปอรหัตตมรรคมันจะเข้าไปเจอภพ เจอชาติ ไปเจอกายของจิต

    จิตที่มันเป็นตัวกาย จิตที่มันละเอียด ตัวนั้นแหละตัวปฏิจจสมุปบาท ตัวปฏิจจสมุปบาทมันมีอยู่จริง มันเป็นตัวจริงด้วย ต้องเห็นจริงด้วยมันถึงจะชำระได้จริง แต่มันไม่ใช่เป็นอย่างนี้ แต่นี่บอกว่าการเห็นปฏิจจสมุปบาท การเกิดดับอยู่เนืองๆ ถ้าพูดว่าการเห็นอยู่เนืองๆ มันเหมือนกับเรา เราคิดโดยจินตนาการ นี่ที่ว่าเขาดูจิตๆ ความคิดไม่ใช่จิต แล้วถ้าทำความสงบของใจเข้ามา เวลาจิตสงบเข้ามาแล้ว ถ้าเห็นอาการของจิตนั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง

    ฉะนั้น สิ่งที่ว่าการเห็นปฏิจจสมุปบาทอยู่เนืองๆ นั่นคืออะไร? คือเห็นอย่างนี้เห็นโดยจินตนาการ เห็นโดยจินตนาการเพราะอะไร? เพราะจิตยังไม่สงบไง นี่เป็นข้อที่ ๑ พอข้อที่ ๒ เห็นไหม

    ถาม : การทำสมาธิของกระผมก็ยังไม่คืบหน้าเท่าไร ช่วงระหว่างที่จิตเพลินกับสภาวะต่างๆ พอมีเสียงอะไรมากระทบหูจิตมันจะหวั่นไหว หมายถึงว่ามีความสะดุ้งเป็นบางครั้ง จะต้องเพ่งใช้สติให้มากขึ้นกว่าเดิม

    ตอบ : นี่เขาว่าจะต้องเพ่งไง จะต้องเพ่งเพราะว่าเขาเพ่งของเขา เขาดูของเขา เพราะทำสมาธิไง ถ้าทำสมาธิเพราะอะไร? เพราะพวกอภิธรรมเขาไม่ยอมทำสมาธิ เพราะเขาปลูกฝังกันไว้ว่าถ้าทำสมาธินี้เป็นสมถะ สมถะไม่ใช่วิปัสสนา สมถะไม่ใช่ปัญญา ในพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญาของหลวงปู่มั่นมันมีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่จะฆ่ากิเลสได้ต้องเป็นภาวนามยปัญญา ไม่ใช่สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาฆ่ากิเลสไม่ได้

    ฉะนั้น เขาบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็เลยพยายามจะใช้คำว่าปัญญานี้เป็นเรือธง เป็นธงตั้งว่าต้องใช้ปัญญา เราก็ใช้ปัญญากันไป ปัญญาจนเพ่งกัน พยายามกัน เพ่งให้มันเป็นอย่างที่เราปรารถนา เวลาสมาธิก็คิดสร้างรูปขึ้นมาให้เป็นสมาธิ เวลาใช้ปัญญา ปัญญาก็เป็นสัญญา เป็นก็อปปี้ เป็นสิ่งที่ก็อปปี้กันมา ที่ว่ามีการศึกษา ที่ว่าอภิธรรมนี่รู้มาก พยายามรู้ให้มาก รู้อย่างนี้ที่หลวงปู่มั่นท่านพูดกับหลวงตาไว้ เพราะหลวงตาท่านเรียนถึงมหานะ ท่านบอกว่าการเรียนนี่ เห็นไหม พูดถึงการเรียน เรียนมาเพื่อเป็นทางวิชาการ เป็นปริยัติ โลกจะเจริญได้ด้วยการศึกษา การศึกษาทำให้คนฉลาด การศึกษาทำให้คนไม่โดนหลอกลวง การศึกษา

    ถูกต้อง การศึกษาทางโลก แต่กิเลสมันพลิกมาเอาการศึกษานั้นมาเป็นสมบัติ แล้วมันยึดว่ามันรู้จริงไง แต่ความจริงมันรู้โดยทฤษฎี มันยังไม่รู้จริง เวลาที่หลวงตาท่านปฏิบัติ ท่านศึกษาจนจบมหา จะปฏิบัติไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า

    มหา การที่ศึกษามานี่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐนะ เราต้องเทิดใส่ศีรษะคือเทิดทูนบูชาไว้ก่อน เพราะเป็นการจำ เป็นทฤษฎีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเทิดใส่ศีรษะไว้ก่อน แล้วใส่ลิ้นชักไว้ ลั่นกุญแจไว้อย่าให้มันออกมา แล้วเราปฏิบัติของเราไปนะ ปฏิบัติของเราไป ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นจริงอันนั้นกับทฤษฎีมันจะมาตกเป็นอันเดียวกันเลย

    แต่ขณะที่ว่าไม่มีครูบาอาจารย์ เราปฏิบัติไปเราก็จะเอาวิชาการที่เราศึกษามาเทียบเคียง การเทียบเคียงมันก็มาเทียบเคียง เห็นไหม มันทำให้เราไขว้เขว มันเทียบเคียงแล้วมันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น ธรรมดาเราปฏิบัติเราก็ยากอยู่แล้ว แต่เราจะเอาสิ่งที่เราศึกษามาเป็นโทษกับการปฏิบัติเราอีก ครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริงของท่าน ท่านบอกเอาการศึกษาวางไว้ก่อน แล้วเราปฏิบัติตามความเป็นจริง ความเป็นจริงทำความสงบของใจเข้ามาเพื่อไปสู่ความจริง

    นี่ปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เล่นปฏิบัติธรรม นี่ปฏิบัติธรรมจริงๆ ไม่ได้เล่นปฏิบัติ ไอ้นั่นเขาปฏิบัติกันเล่นๆ เล่นๆ เพราะอะไร? เล่นๆ เพราะคนที่รู้จริงไม่มี คนที่รู้จริงไม่มี ถึงกำหนดให้ความเป็นจริงบังคับใจให้เข้าสู่ความจริงอันนี้ ไม่มีใครทำได้ ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะบังคับใจอย่างนี้ให้เข้าสู่ความจริงได้อย่างไร แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านจนท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านจบสิ้นกระบวนการของท่านแล้ว ท่านถึงบอกว่าก่อนที่ท่านจะได้มา เพราะผิดท่านก็เคยผิดมาก่อน ถูกท่านถึงพยายามทำใจของท่านให้ลงสู่สมาธิให้ได้ ถ้าใจลงสู่สมาธิแล้ว เห็นไหม มันไม่มีสมุทัย คือมันไม่มีตัณหาความทะยานอยากเข้ามาเจือปน ไม่เจือปนก็ใช้ปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้น นี่เขาเรียกว่าภาวนามยปัญญา

    นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ฉะนั้น เราต้องใช้ปัญญากันไปเลย เราห้ามกำหนดพุทโธ ห้ามทำสมถะ ถ้าทำสมถะมันก็เกิดนิมิต นิมิตจะทำให้คนเสียหาย แนวทางปฏิบัติ จริตของคน เวลาคนทำความสงบของใจ จิตมันรู้ มันเห็นนิมิตต่างๆ มันก็เห็นของมันได้ คนที่จิตเขาไม่เห็นนิมิตมันก็ไม่เห็น มันก็ไปตรงเข้าสู่อริยสัจ จริตนิสัยมันแตกต่างหลากหลาย เราจะไปโทษวิธีการไม่ได้ เราจะไปโทษสูตรแนวทางปฏิบัติแนวทางใดแนวทางหนึ่งไม่ได้ แต่เราต้องโทษจริตนิสัย โทษกิเลสของคน ว่ากิเลสนี่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะไปรู้เห็นอย่างนี้

    ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่เป็นเขาจะแก้ตามจริต แก้ตามอาการ ใจของคนเป็นอย่างไร ใจคนปฏิบัติแล้วมีอุปสรรคอย่างไร เขาต้องแก้ตามนั้น เขาไม่โทษวิธีการทำว่าผิด แต่นี่พอโทษวิธีการว่าผิด แล้วบอกว่าไม่ให้ทำเพราะมันเป็นสมถะ พอเป็นสมถะปั๊บ ก็เลยการทำสมาธิน้อยลง พอการทำสมาธิน้อยลง หรือไม่กล้าทำ บางคนไม่กล้าทำเลย เพราะบอกว่าอันนั้นจะไปติดนิมิต มันจะไปเห็นสมถะ มันจะทำให้หลง ทำให้ไม่เป็นไป ก็เลยเล่นปฏิบัติธรรมวนอยู่ในขอบกระด้งนั่นน่ะ หมุนไปเวียนมา เวียนมาหมุนไป ปฏิบัติไป ปฏิบัติไปปฏิบัติมาก็ปฏิบัติบอกว่ากึ่งพุทธกาลไม่มีมรรค ผล ไม่มีมรรค ผลแล้วปฏิบัติทำไม? ปฏิบัติเพื่อบารมี สร้างสมไว้ปฏิบัติเอาชาติหน้าๆ หน้าๆ นู่น เขาว่ากันอย่างนั้นนะ

    เวลาเราถามเขา เขาบอกว่าปฏิบัติเพื่อจะสร้างสมบารมี แต่มรรค ผลมันไม่มีหรอก หมดแล้ว ไม่มี แต่ไม่มีแล้วทำไมครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติได้ล่ะ? แล้วเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีกึ่งพุทธกาลหรือไม่กึ่งพุทธกาล ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดสร้างเหตุสมดุล ต้องมีความสมดุล จิตต้องเป็นธรรมทั้งนั้น ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เพียงแต่ว่าต่อไปจิตใจของคนจะต่ำทราม จิตใจของคนจะดื้อด้าน

    จิตใจของคนมันดื้อด้านโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน แล้วมันก็อ้างกึ่งพุทธกาล อ้างเล่ห์ไปเรื่อยเพื่อจะไม่ปฏิบัติ จิตใจดื้อด้าน แล้วก็อ้างธรรมะให้มาเป็นผลลบ อ้างธรรมะมาอ้างอิงให้มาการันตีทิฐิมานะของตัวว่ามันหมดกาล หมดเวลา ปฏิบัติไม่ได้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องปฏิบัติได้ตลอดเวลา ทำได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีศาสนาพุทธ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้เอง นี่ไงผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมันเป็นไปได้

    ฉะนั้น ถ้าจะเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นการเกิดดับวางไว้ก่อน ถ้าจะทำความสงบของใจกำหนดพุทโธ กำหนดอานาปานสติ แล้วถ้าจะตรวจดูความคิดของตัวก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิคือตั้งสติไล่ตามความคิดนั้นไป ความคิดที่เกิดดับเราบอกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท อันนี้ยกผลประโยชน์ให้กับผู้เขียน เพราะผู้เขียนตั้งชื่อมาเอง เพราะเราศึกษามา เราศึกษามา เราอ่านหนังสือมา แล้วเราเข้าใจว่าสิ่งที่เห็น การเกิดดับเป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าปฏิจจสมุปบาท อวิชชา ปัจจัยา สังขารา เขาว่าเป็นการเกิดดับ พอเราเห็นการเกิดดับเหมือนกับเรามีความคิด เรามีความทุกข์ ความทุกข์มันดับไป

    เราเห็นการเกิดดับ การเกิดดับอย่างนี้มันเป็นอารมณ์เกิดดับ มันยังไม่ถึงปฏิจจสมุปบาท แต่ในอภิธรรมเขาพูดกันอย่างนั้น ผู้ที่ไปเรียนมา ใครจะเรียนมามาก มาน้อย เห็นไหม ก็ตีความ ตีความธรรมะ ฉะนั้น เราจะไม่ทะเลาะกันเรื่องการตีความ เพียงแต่ว่าพอถามมาอย่างนี้เราเห็นถึงคนที่ปฏิบัติตั้งใจว่านี่หลวงพ่อช่วยเมตตา การปฏิบัติมันจะตรงสู่มรรค ผลหรือไม่ ถ้ามันไม่ตรงสู่มรรค ผลมันทำมันจะมีโอกาสหรือไม่

    ฉะนั้น เราถึงพูดว่าการเห็นอย่างนี้เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นความเห็นอย่างนี้ ให้จิตมันสงบให้ได้ก่อน แล้วถ้าสงบได้เดี๋ยวเห็นจริง รู้จริงมันถึงจะเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคขึ้นมานะบุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค อันนั้นเราจะรู้เห็น รู้แจ้งกันไป

    ฉะนั้น

    ถาม : การทำสมาธิของกระผมไม่คืบหน้าเท่าไรครับ ช่วงระหว่างที่จิตมันเพลิน สภาวะต่างๆ มีเสียงอะไรมากระทบหูมักหวั่นไหว แล้วจะต้องเพ่งใช้สติให้มากขึ้นกว่าเดิม

    ตอบ : เราไม่ต้องไปเพ่ง ถ้าไปเพ่ง ไปต่างๆ ถ้าเพ่งเกินไปมันก็ทำให้เครียด ถ้าเราปล่อยวางเกินไปมันก็จะเหลวไหล เราตั้งสติไว้ ระลึกสติไว้ คือการระลึกรู้ ระลึกอะไรล่ะ? ระลึกลมหายใจ มีสติพร้อมกับปัญญาความคิด ความคิดนี่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มีสติพร้อมกับพุทโธ ไม่ต้องไปเพ่ง ไปเกร็ง ไปเพ่ง ไปเกร็งเดี๋ยวก็เครียด เวลาปฏิบัติ เริ่มต้นมันจะล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ มันจะมีการสะดุ้ง มีการต่างๆ อันนี้เป็นความจริงนะ เป็นความจริงหมายความว่าพอจิตที่ไม่เคยทำสิ่งใดเลย มันจะทำอะไรมันจะมีปัญหาตลอดไปทั้งนั้นแหละ เราทำตรงนี้ให้ได้ ถ้าทำตรงนี้ได้จิตมันสงบแล้ว เดี๋ยวจะเห็นว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทหรือไม่เป็น

    พอจิตสงบแล้วพอไปรู้นะ พอรู้คืออะไร? พอรู้แล้วมันจะกระเทือนหัวใจ นี่เราเป็นแผล เราเป็นบาดแผล เวลาเรารักษาแผลเรา เราเป็นคนรักษาแผล เราเป็นคนทำบาดแผล เราจะรู้ของเรา ไอ้นี่ไม่เห็นแผล ก็ว่ากันไปตามเรื่องนะ ทีนี้มีข้อต่อเนื่องไป

    ถาม : หรือบางครั้งพอสมาธิไปอีกก็ได้ยินเสียงคล้ายๆ ลมทะลุเข้าหูซ้ายออกหูขวา มีลมกระทบเพดาน บางครั้งก็เห็นความเกิดดับกลางอก กลางลิ้นปี่ แต่ทรงอารมณ์นั้นอยู่ได้ไม่นาน กำลังสมาธิไม่พอใช่ไหม

    ตอบ : กำลังสมาธิ ถ้าสมาธิมันดีนะมันมีความสุข ความสุขคือไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความสงสัย ไม่มีอะไร มีแต่ความสุข มีความสงบ นี่สมาธิดี พอสมาธิดีแล้วจะใช้พิจารณาอะไรมันก็ไปได้ ถ้าสมาธิมันไม่ดีมันหงุดหงิด มันทำแล้วมันก็ไม่สมหวัง ทำแล้วก็ไม่พอใจ แล้วจะไปพิจารณาอะไรล่ะ?

    ฉะนั้น เวลาจะไม่พิจารณาเขาถึงบอกว่า เวลาเป็นสมาธิแล้วมันก็ยังเกิดมีการกระทบ บางครั้งก็เกิดความเกิดดับ ความเกิดดับมันฝังใจอยู่ นี้การเกิดดับ การเกิดดับมันดับ พระอาทิตย์ก็พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เปิดไฟ ปิดไฟ มันก็มีการเกิดดับทุกๆ เรื่อง มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา การเกิดดับถ้ามาใช้ยับยั้งความคิดได้มันก็เป็นประโยชน์ คือการเกิดดับเอามาเป็นประโยชน์กับเรา เอามาเป็นประโยชน์กับการเห็นโทษ

    การเกิดดับมันเห็นว่าเป็นอนิจจัง การเกิดดับเราเห็นว่าสิ่งนี้มันไม่เที่ยง สิ่งใดเราควบคุมไม่ได้ เราจะไม่ไปยึดมัน ถ้ายึดแล้วเพราะมันเกิดแล้วเราก็ไปยึดมัน พอมันดับก็เสียใจ ถ้าเราเอามาใช้เป็นประโยชน์ให้ฝึกสอนใจได้ แต่ถ้าเห็นเป็นการเกิดดับเป็นพิธีการ การเกิดดับเป็นมรรค เป็นผล การเกิดดับต้องให้เห็นอย่างนั้น เราก็ไปคาดหมายหวังเห็นการเกิดดับ พอไม่เห็นเป็นทุกข์อีก เห็นการเกิดดับเขาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ถ้าไม่เห็น ไม่เห็นก็ทำให้จิตมันสงบ ไม่ใช่ไปเอาเกิดดับเป็นสิ่งเป้าหมาย แล้วต้องทำให้เห็นอย่างนั้น ไม่ใช่ นี่ใจของคนมันเป็นไปได้หลากหลาย ร้อยแปดพันเก้าที่มันเป็นไปได้

    ฉะนั้น พอเวลาถ้ามันทรงอารมณ์อยู่ไม่ได้ กำลังสมาธิไม่พอ โดยพื้นฐานเลย กำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อานาปานสติ เราทำที่นี่ การภาวนาคือภาวนาให้จิตสงบ ให้มีความสุข ให้ไม่ฟุ้งซ่าน ให้ได้สัมผัสธรรม พอได้สัมผัส สัมผัสว่าได้รับรู้ความเป็นจริง จิตใจคนที่สัมผัสแล้วรู้ความเป็นจริง อย่างเช่น เช่นคนกลัวผี คนกลัวผีไปอยู่ไหนก็กลัวผี ทุกข์มากคนกลัวผี แต่พอมันใช้ปัญญาพิจารณาจนว่าผีนี่เป็นนามธรรม ถ้าเราไม่มีเวรมีกรรมผีมันไม่ยุ่งกับเรานะ ตอนพอมันกล้าหาญขึ้นมามันก็จบ

    นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันยังฟุ้งซ่าน จิตมันยังภาวนาแล้วมันมีความทุกข์ ชีวิตไม่มีความสุขมันก็ทุกข์ของมัน พอเรากำหนดลมหายใจ พอเรามากำหนดพุทโธ เรากำหนดของเรา พอจิตมันได้สัมผัส มันได้สงบ เห็นไหม นี่เหมือนคนกลัวผีแล้วหายกลัวผี มันจะไม่กลัวอีกเลย มันจะเข้าใจหมดเลย จิตก็เหมือนกัน พอปฏิบัติไป พอเป็นสมาธิแล้วมันจะเข้าใจได้เลย ไอ้ที่ศึกษามาๆ เป็นทฤษฎีทั้งนั้นแหละ พอทำได้จริง อืม เข้าใจ พอเข้าใจแล้วเราจะทำอย่างนี้อีกยากขึ้น เพราะกิเลสมันก็ยังต่อต้าน มันร้อยแปดพันเก้า แล้วเราก็พยายามทำของเราให้มันสงบเข้ามา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป

    ถาม : ที่กระผมกล่าวมาทั้งหมดนี้มาถูกทางมรรค ผล นิพพานหรือไม่ประการใด หลวงพ่อช่วยเมตตาด้วย

    ตอบ : นี่ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้มาถูกทางมรรค ผล นิพพานหรือไม่ มรรค ผล นิพพาน เห็นไหม มรรค ผล นิพพานถ้าเราทำ นี่ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ ถ้าทางมรรค ผล มีความปกติของใจหรือไม่ มีกำลังของใจหรือไม่ มีปัญญาหรือไม่ ถ้ามีศีล สมาธิ ปัญญา มีมรรค ๘ มันก็นี่คือทาง นี่มาถูกทางมรรค ถ้ามรรค มรรคของใคร? ถ้ามรรคของกิเลส กิเลสมันก็ว่าฉันมีมรรค เหมือนเรานี่เรามีเงินมีทอง เราอวดเขาไปมันมีประโยชน์อะไร เงินทองของเรา เรามีของเราก็เป็นของเรา เราจะใช้จ่าย ไมใช้จ่ายมันเป็นของเรา เราดูแลของเรา ถ้ามรรค ผลมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้มันจะเป็นตามความเป็นจริง นี่พูดถึงว่าถ้าทำจริงๆ นะ

    ฉะนั้น ที่พูดซะยาว ยาวมาก ยาวเพราะอะไร? เพราะเห็นว่าเขาติดกันอย่างนี้ คือปฏิบัติกันเล่นๆ ทำกันเล่นๆ แล้วปรารถนามรรค ผล แต่พระกรรมฐานทำกันจริงๆ พอทำกันจริงๆ เขาก็เสี้ยม พุทโธ พุทโธนี่เป็นสมถะ พุทโธปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล นี่โดยส่วนใหญ่ถ้ามีครูบาอาจารย์เป็นหลัก ผู้ที่เข้ามาฟังธรรมๆ เพราะเขาจับทางได้ เขามีหนทาง เขาจะปฏิบัติของเขาไป แต่ผู้ที่ไม่มีจุดยืน ผู้ที่โลเล เพราะเขาบอกว่า เห็นไหม อย่าไปเชื่อพระกรรมฐาน ให้เชื่อพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เพราะอภิธรรมเขาบอกว่าพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ตั้งแต่พระกัสสปะทำสังคายนาพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ให้เชื่อพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์นี้ อย่าไปเชื่อพระสาวกต่างๆ ให้เชื่อพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์

    พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์คือพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ที่ทำสังคายนาไง ทำสังคายนาพระไตรปิฎกมานี่ เราให้เชื่อตรงนี้ แล้วเชื่อตรงนี้แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ? ก็ทำกันเล่นๆ เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันพาเชื่อ กิเลสมันก็ลูบๆ คลำๆ แต่พระกรรมฐานเรามีครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติจริง ซึ่งท่านดำรงชีพอยู่ นี่อย่างเช่นหลวงตาท่านดำรงชีพอยู่ แล้วท่านลงปฏัก ท่านสั่งท่านสอน นี่มีชีวิตได้สัมผัสเลย ได้ปฏิบัติเลย แล้วถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงมันก็เป็นความจริงขึ้นมา แต่พวกทำเล่นๆ เขาบอกว่าไม่ได้ มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะมันทำตนให้ลำบากเปล่า มันต้องเดินจงกรม ต้องนั่งสมาธิจนก้นนี่ด้านเลยล่ะ เดินจงกรมจนทุกข์ยากมากเลย อย่างของเราดีกว่า เล่นปฏิบัติธรรม เรามาทำเล่นๆ เราทำกันเพื่อความสบายใจ

    สังเวช สังเวชที่สมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติ ด้วยความซื่อ ด้วยความซื่อของสังคมไทย สังคมไทยจึงไม่เชื่อมรรค ผล นิพพาน แต่ในปัจจุบันนี้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำตามความเป็นจริง แล้วมีครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติตามมา แล้วมีพวกปัญญาชนเขาอยากมีแนวทางปฏิบัติ เขาก็ไปศึกษามาจากพม่า ไปศึกษามาแล้วบอกมรรค ผล นิพพาน กึ่งพุทธกาลไม่มีมรรค ผล นิพพาน แล้วถามว่าปฏิบัติทำไม ปฏิบัติไปเพื่อไปเอามรรค ผล นิพพานข้างหน้า

    อันนี้ที่เขาไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อเพราะความซื่อของเขา แต่นี้ปัญญาชนไปศึกษามาความรู้ท่วมหัว ศึกษามาจนมรรค ผล นิพพานไม่มี ศึกษาจนไม่เชื่อมรรค ผล นิพพาน ศึกษาจนการปฏิบัติ มันเล่นปฏิบัติ แล้วถ้าทำจริงก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะตัดสินกันด้วยกิเลส ตัดสินว่าการปฏิบัติ การเดินจงกรม การเหงื่อไหลไคลย้อยเป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าการนั่งนิ่งๆ นั่งในห้องแอร์ อย่างนี้มัชฌิมาปฏิปทาเพราะไม่ทำตนให้ลำบากเปล่า

    นี่มันก็เลยปฏิบัติเล่นๆ เพราะกลัวทุกข์ไง กลัวทำอะไรก็จะเป็นทุกข์ไปหมดเลย ก็จะทำแต่ความสะดวกสบายของตัว ก็เลยมาเล่นปฏิบัติธรรม คิดแนวทางมาทำเล่นๆ มาย่องกัน ย่องกันไปก็ย่องกันมา เดินแถวกันไปก็แถวกันมา ปฏิบัติเล่นๆ เหมือนเด็กนักเรียนอนุบาลมันไปเล่นของเล่นเพื่อฝึกสมองของมัน เพื่อเชาวน์ปัญญา เพื่อเชาวน์ปัญญา ไอ้นี่ก็ปฏิบัติเล่นๆ ปฏิบัติเพื่อเชาวน์ปัญญา แต่เวลาขนานนามว่าอภิมหาธรรม อภิธรรม แต่ปฏิบัติปฏิบัติเล่นๆ ทำเล่นๆ มันก็เป็นอย่างนี้นะ นี่พูดถึงว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้หรือเปล่า นี่พูดถึงว่าแนวทางปฏิบัติ จบ

    ข้อ ๑๕๗๙. เนาะ ขอบคุณมาอีกไง ขอบคุณ ขอบคุณกับเข้าใจแล้ว ไอ้นี่ก็ขอบคุณเรื่องว่าปล่อยจิตไง เวลาถ้าแนวทางปฏิบัติมันเยอะมาก ถ้าว่าปล่อยจิตจะปล่อยอย่างไร? ปล่อยจิตพร้อมกับธรรมหรือเปล่า คืออยากปล่อย ปล่อยคือตทังคปหาน แต่ตทังคปหานปล่อยพร้อมกับมรรค มรรคคือว่าดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันพิจารณาของมันไปแล้วมันปล่อย ถ้ามันปล่อยตามความเป็นจริงเขาเรียกว่าปล่อย มันปล่อยด้วยธรรม ปล่อยด้วยสัจจะ ปล่อยด้วยอริยมรรค ปล่อยด้วยมรรคโค ไม่ใช่ปล่อยธรรมแบบกิเลสไง บอกว่าปล่อยจิตอย่างไร ถ้าบอกปล่อยอย่างนี้ปั๊บมันก็ดิ่งพสุธาลงมาจากเครื่องบิน แล้วร่มไม่กาง ตุบ นี่ปล่อยอย่างนี้ แหลกหมดเลย แต่ถ้าปล่อยด้วยมรรค ด้วยผลมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่พูดถึงว่าเขาขอบพระคุณมา

    อ้าว ทางนี้จบ ทางนู้นขึ้น อ้าว ทีละคนเลย (ลองพูดมีเสียงไหม?)

    ถาม : ขอเรียนถามเรื่องการปฏิบัติค่ะ แต่เมื่อกี้นี้เหมือนจะได้คำตอบแต่ไม่มั่นใจนะคะ คือว่าตอนที่ปฏิบัติก็ตั้งใจว่านั่งสมาธิสักชั่วโมงครึ่ง ทีนี้นั่งๆ ไปเกือบชั่วโมงปวดมาก ก็เลยอธิษฐานว่าอย่างไรฉันจะต้องนั่งให้ได้ แล้วก็จะนั่งจนกว่าจะหายปวดแม้ว่าจะเกินชั่วโมงครึ่งค่ะ แต่ด้วยความที่มันปวดมากมันก็ฟุ้ง มันจะดี มันถูกไหมหนอที่เราตั้งใจว่าเราจะนั่งจนหายปวด มันเป็นการทรมานตัวเองหรือเปล่าค่ะ แต่สุดท้ายหายปวดจริงๆ ค่ะ ก็เลยออกจากสมาธิค่ะ

    ตอบ : ตอนหายปวด นี่หญ้าปากคอกเป็นแบบนี้หมด หญ้าปากคอกเพราะเวลาปฏิบัติไป ยังจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน นี่พูดภาษาเรานะ ไม่ได้พูดให้ตกใจ ให้กลัว เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะว่าดูสิประสบการณ์ทำงานยังต้องมีประสบการณ์ขนาดนั้น แล้วจิตนี้เป็นนามธรรม นี่เวลาส้มหล่นนะ เวลาคนนั่งสมาธิ นั่งสมาธินี่โอ๋ย เกือบเป็นเกือบตายไม่เคยสงบสักที วันนั้นส้มหล่นนะ นั่งพุทโธ พุทโธโดยปล่อยวางอารมณ์ไม่เอาอะไรอีกแล้วนะ มันลงวูบลงสมาธิไปเลย เห็นไหม ส้มหล่น ถ้าส้มหล่นเขาบอกฟลุคนั่นแหละ นานๆ ทีหนึ่ง แต่เวลาปฏิบัติถ้าเข้าสมาธิต้องเป็นแบบนั้นเลย เป็นแบบส้มหล่น แต่ไม่ใช่ส้มหล่น เป็นแบบเราจัดการเข้าไป

    เราพุทโธ พุทโธ เราพุทโธเข้าไป เราดูแลจิตของเราไป พุทโธ พุทโธมันจะแส่ส่าย พุทโธมันจะแฉลบ พุทโธมันจะแว็บ จิตใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น พอจิตใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ ล้มลุกคลุกคลาน ฉะนั้น เวลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านถึงมีอุบายสอนพวกเราด้วย ด้วยข้อวัตรไง ด้วยข้อวัตรนะ พระมาอยู่วัดนะ นี่ให้คอยดูแลอาจารย์นะ คอยรับบาตรอาจารย์ คอยตักน้ำฉัน ตักน้ำใช้ถวายครูบาอาจารย์ ตรงนั้นคืออะไร? คือตั้งสติ

    ทุกคนพอจิตมันไปอยู่ที่นั่นใช่ไหม จิตมันมีที่พัก จิตมันไม่แฉลบ แต่ถ้าไม่มีเรื่องข้อวัตร คิดดูว่าเขาจะรักษาจิตเขาอย่างไร? วันๆ จิตเขาจะแส่ส่ายไป มันจะไปขนาดไหน แต่พอมีข้อวัตรปั๊บเขาจะเอาจิตของเขาไปไว้ที่ข้อวัตรนั้น เวลานั้น เวลานั้น เห็นไหม นี่ไปรับบาตรอาจารย์ จะไปต้มน้ำ จะไปสรงน้ำท่าน ถึงเวลาจะไปสรงน้ำท่าน นี่มีข้อวัตร นี่อุบายนะ พอมีข้อวัตร ทำสิ่งใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็จะมาพุทโธแล้ว

    นี่มันมีอุบายไง มันมีอุบายว่ารักษาจิตอย่างไร ที่หญ้าปากคอกจะรักษามันอย่างไร? เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติใหม่ๆ นะพุทโธทั้งวันเลย คนเรานี่โดยปกติถ้าทำงานที่ละเอียดเราตั้งสติไป แต่พอทำงานที่พอมัน อย่างเช่นเดินจงกรม อย่างเช่นเราเดินไปเดินมาเรากำหนดพุทโธได้ พุทโธทั้งวันเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธสู้กับมัน สู้กับมัน จนมันเริ่มเบาลงๆ ถ้ามันไม่เบาลงนะต้องอดนอน ต้องผ่อนอาหาร ต้องทำอะไรจนมันเบาลง พอเบาลงนี่พุทโธได้ พอจิตมันสงบมันก็อย่างที่ว่า ที่ว่าชั่วโมงครึ่งแล้วมันหาย เวลามันหายแล้วเป็นอย่างนั้น เวลาถ้าจิตมันจะลงมันจะลงอย่างนั้น

    ถ้าลงอย่างนั้น เห็นไหม นี่เราปฏิบัติจนชำนาญ วิตก วิจาร คือพุทโธ พุทโธนี่ระลึก วิตกขึ้น วิจารก็พุทโธ พุทโธ นี่วิตก วิจาร ถ้าวิตก วิจารถ้ามันอยู่กับมัน คงที่ของมันอยู่อย่างนี้มันจะเกิดปีติ ถ้าพุทโธไปเรื่อยๆ นะจะเกิดปีติ ตัวพอง ขนลุก นี่วิตก วิจาร ปีติ พอปีติแล้ว พอปีติแล้วเดี๋ยวมันก็จะเกิดความสุข ปล่อยวางก็สุข พอสุข พอสุขแล้วเดี๋ยวมันก็คลาย พอคลายขึ้นมาเราก็ทำขึ้นมาอีก พอมีความสุข ทำบ่อยครั้งเข้า พอมันสุข มันสุขจนมันอิ่มเต็ม สุขจนแบบว่ามันคงที่ ตั้งมั่น พอตั้งมั่นขึ้นมา พอตั้งมั่นแล้วเราจะทำงานต่อไป

    นี่คือข้อเท็จจริงของจิตนะ แต่เวลาคนไปทำจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างนี้ได้หรือหลวงพ่อ มันจะเป็นอย่างนี้หรือ? แล้วมันเป็นอย่างนี้มันจะทำอย่างนี้หรือ? มันไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง จิตก็เลยล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ ทำจนกว่ามันจะเป็น พอเป็นขึ้นมาแล้วมันรู้เอง แต่ถ้าไม่เป็นมันจะถามกันอยู่อย่างนี้

    ฉะนั้น โดยที่เราให้โยมถาม ตอนนี้เราจะไม่ให้คนนู้นถามแล้ว พอถามมันก็จะพูดอย่างนี้อีกแหละ คือว่าปัญหาคือปัญหาเดียวกันทั้งหมด คือทำอย่างไรให้มันสงบ ทุกคนจะถามปัญหานี้ปัญหาหลัก คือจะทำอย่างไร ทุกคนจะทำอย่างไร? แต่เวลาเราตอบมันก็อยู่ที่ผู้ถาม เวลาผู้ถามมันเจอเหตุการณ์อย่างนี้ บางคนเจอเหตุการณ์อย่างนี้ บางคนเจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่ก็อธิบายไป

    ฉะนั้น เวลาเราตอบอันนี้ก่อน ไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าเขาถามมา เขาถามมานี่เราอ่านถึงพื้นเพของเขา คือเขาต้องศึกษาทางนี้มา เขาถึงถามเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องการเกิดดับ เรื่องการเพ่ง เรื่องอะไร คือว่าเขาได้ศึกษาทางนี้มา แล้วทีนี้เราถึงบอกว่าไอ้นั่นคือการทำเล่น เราจะเอาการทำจริงให้เห็นว่าการทำเล่นเป็นแบบใด การทำจริงเป็นแบบใด การทำจริงมันจะได้ผลของมันจริงๆ ฉะนั้น พอเราตอบตรงนี้ปั๊บมันก็โดยหลัก

    ฉะนั้น โยมถึงบอกว่าไม่ต้องถามมั้ง เพราะหลวงพ่อก็ตอบแล้วแต่ไม่แน่ใจ แน่ใจไหม? ไม่แน่ใจเอาไมค์ไป แน่ใจไหม? จะแน่ใจไหมมาเอาไมค์ มา เดี๋ยวจะหาว่าลำเอียง เห็นไหม ไม่ต้องถามก็ได้ อ้าว อ่านเลย ไอ้นั่นถามเลย

    ถาม : เวลานั่งสมาธิค่ะ ในขณะที่เกิดความปวดที่ขา ปวดมากก็พยายามส่งความรู้สึกปวดมาที่จิตเรา ตอนส่งมาที่จิตแล้วเราก็หมุนกลับไปใหม่ เอาจิตส่งกลับไปที่ขาอีกที่ปวด วนไปเรื่อยๆ จนเริ่มสังเกตเห็นว่าขณะที่เราส่งความรู้สึกปวดจากขามาที่จิต เอ๊ะ มันปวดนะ แต่พอช่วงที่เราส่งความรู้สึกจากจิตไปที่ขา ไอ้ความปวด เอ๊ะ ทำไมมันหายไป หายไปแว็บหนึ่ง แล้วก็ดึงกลับมาปวดอีก ปล่อยลงไปหายใหม่ก็อย่างนี้ ก็เริ่มรู้สึกเห็นความเกิดดับของการปวด ทำไปเรื่อยๆ จนสักพักหนึ่งเราเริ่มเห็นแล้วว่าความปวดเหมือนมันลอยขึ้นมาค่ะหลวงพ่อ มันเป็นอีกตัวหนึ่ง แล้วก็กาย ขามันก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง จิตมันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เลยไม่แน่ใจว่าอันนี้มันใช่การแยกกาย เวทนา จิต ธรรมหรือเปล่า

    ตอบ : ใช่ แต่มันเป็นการแยกโดยสมาธิไง การแยกโดยสมาธิ นี่ส้มหล่น คำว่าส้มหล่นหมายถึงว่าปฏิบัติโดยที่ว่าไม่มีทฤษฎีนำหน้าเลย แต่ขึ้นมาโดยปัจจุบัน จะบอกว่าไม่มีทฤษฎีเลย มีอันแรกที่ว่าพิจารณาเวทนา เวทนาก็เหมือนกับเกิดดับๆ เหมือนกัน คำว่าเกิดดับ มันเป็นศัพท์ในทางสังคมปฏิบัติว่าเกิดดับๆ

    ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่คือทฤษฎี นี่คือข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในสังคม แต่ที่ว่าเป็นความจริง ความจริงอันนี้มันเป็นอุบายของเขาโดยตรงไง เช่นที่ว่าความจริงหมายความว่า ถ้าจิตส่งไปที่เวทนา เห็นไหม ถ้าจิตส่งไปที่เวทนา กำลังของจิตส่งไปที่เวทนามันไม่ปวด แต่ถ้าเอาเวทนากลับมาที่จิตนี่ปวดมาก นี่ข้อเท็จจริงเลย เพราะอะไร? ถ้าเราเวทนามันกลับมาที่จิต เวทนามีกำลังมากกว่า เวทนามันทับถมจิต จิตมันก็ปวด มันก็ปวดเป็นธรรมดา แต่เวลาจิตมันมีกำลัง จิตนี่มันเป็นจิต ถ้าเอาจิตส่งมาที่เวทนา เพราะเวทนา เวทนาความจริงๆ นะเดี๋ยวอีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้าเราส่งจิตไปที่เวทนามันไม่ปวด เพราะจิตนี้มันเป็นเอกเทศใช่ไหม เราส่งไปที่เวทนา

    ก็เหมือนเรานี่เราไปอยู่ที่เป้าหมายนั้น แต่ถ้าเป้าหมายนั้นวิ่งเข้ามาหาเรา เป้าหมายนั้นเข้ามาชนเรา แต่เราส่งไปที่เป้าหมายนั้น มันจะสับเปลี่ยน พอมันสับเปลี่ยนอย่างนี้ปั๊บ นี่มันเป็นอุบายปัจจุบันที่เกิดขึ้นนะ บางคนทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ได้หรอก ไม่ได้เพราะอะไรรู้ไหม? เวลาส่งไปที่เวทนานี่ดี สบาย พอเวทนาส่งมาที่จิตเกือบตาย แล้วไปไม่รอดหรอกหงายท้องเลย ถ้าเวทนามันส่งเข้ามามันปวดไง แต่ถ้าเราส่งไปที่เวทนามันเบา เห็นไหม นี้พอเบาใช่ไหม พอรอบสองถ้ามันส่งกลับมาเวทนามันจะใหญ่ขึ้น มันจะทำให้จิตนี้เจ็บมาก แต่นี่มันยังดีว่าเวทนากลับมามันยังรับได้ แล้วพอมันส่งกลับไปเวทนาก็เบาลง แล้วเวทนาส่งกลับมาที่จิตมันก็เบาลงๆ จนมันลอยขึ้น

    นี่มันแยกไหม? นี่แยกโดยสมาธิไง คือมันใช้ปัญญา แต่ปัญญามันยังไม่เต็มที่ นี่มันจะแยก ถ้าแยกอย่างนี้ เราจะบอกว่าเป็นหนเดียว แล้วจะไม่ได้อีก เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะต่อไปมันจะหนักกว่านี้ไง พอต่อไปพอกิเลสมันรู้เท่าแล้วนะมันจะไม่เป็นอย่างนี้อีก พอต่อไปก็ต้องใช้อุบายใหม่ แต่ถ้ามันทำอย่างนี้อีกแล้วได้อีกนะทำเลย เพราะมันเป็นช่องทางของใครของมันไง อย่างเช่นบ้านของโยมแต่ละคนมาที่นี่ บ้านของคนอยู่คนละตำแหน่ง ออกจากบ้านมาถนนก็คนละสาย

    นี่ก็เหมือนกัน วิธีการของเราไง ตรงกับจริตของเราไง ถ้ามันทำได้อย่างนี้ถูกต้องมันทำได้จริง แต่นี่ที่เราบอกว่ามันได้หนเดียวหมายความว่าถ้ามันได้อย่างนี้แล้วมันวางใจ มันนอนใจ จะทำอย่างนี้ตลอดไป จะทำอย่างนี้ตลอดไป แล้วต่อไปพอนานเข้าๆ ก็จะมาบ่นว่า หลวงพ่อมันไม่ได้ ไหนหลวงพ่อว่ามันใช่แล้วทำไมไม่ได้ล่ะ? ไอ้ที่ใช่คือที่มันผ่านมาแล้วไง ไอ้ที่ใช่คือที่มันผ่านมาแล้ว เพราะมันผ่านมาแล้วคือจิตมันลอยขึ้นมาเลย นั่นล่ะมันใช่ แต่ต่อไปถ้ามันไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร? ไม่ใช่เพราะเราทำไม่ได้ แต่ถ้าเราทำได้ก็คือใช่

    ถ้าเราทำได้ก็คือใช่ เหตุและผลคือธรรม เหตุและผลมันสมดุลมันก็เป็นธรรม แต่เหตุกับผลมันไม่สมดุลมันไม่มีผลไง คือลงไปแต่เหตุแล้วมันทุกข์ไง นั่นคือไม่ใช่ แต่ถ้าเหตุและผลมันสมดุลมันเป็นธรรม ใช่ แต่นี่มันสมดุลอย่างนี้ใช่ เพราะอะไร? เพราะมัน แสดงว่าโยมสองคนมานี่มีวาสนานะ ไอ้คนนี้ภาวนาไปชั่วโมงครึ่งแล้วสงบได้ อันนู้น อันนู้นทำได้ เพราะน้อยคนมากที่จะทำได้นะ

    นี่ไงปฏิบัติจริง ปฏิบัติจริงๆ มันทุกข์ มันยาก แต่ถ้าทำเล่นๆ นะ นี่สองคนนี้ทำ แล้วพวกเราฟังเขาเนาะ จะทำตาม จะเอาให้ได้ แล้วมึงจะทุกข์ เพราะมันเป็นของเขาไง อ้าว เงินในกระเป๋าของโยมสองคน ไอ้ไม่มีสตางค์เลยจะมีสตางค์แบบเขา นึกให้มันมีมันไม่มีหรอก แต่ถ้ามันจะมีมันต้องทำขึ้นมาแล้วจะมีเงินในกระเป๋าเราขึ้นมา เออ แสดงว่าใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าทำปฏิบัติใหม่มันจะใช้ได้อย่างนี้ แต่ครั้งต่อๆ ไปกิเลสมันรู้ทัน พอกิเลสมันรู้ทันแล้วมันจะยากขึ้น แล้วโยมจะเห็นเอง นี่เวลาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาท่านจะเห็นแนวทางอย่างนั้น

    ฉะนั้น เวลาการปฏิบัตินะครูบาอาจารย์ท่านจะพูดอย่างนี้ นี่เวลาถามปัญหาให้ถามปัญหากับครูบาอาจารย์ แต่ตัวเองเวลานักปฏิบัติด้วยกันอย่าคุยกันมาก เพราะคุยกันมากมันส่งพลังงานออกมาก พอส่งพลังงานออกมากจะปฏิบัติมันต้องสงวนพลังงานมันทุกข์ การปฏิบัติคือสงวนพลังงานนะ สงวนพลังงานไว้เพื่อให้พลังงานมันมั่นคงนะ แต่เราไปส่งออกมากๆ แล้วเราจะไปสงวนมัน มันตรงข้ามจริงไหม? เวลาปฏิบัติก็จะสงวนพลังงานไว้ให้มันมั่นคง แต่เวลาเจอหน้ากันก็โม้ใหญ่เลยเนาะ โอ้โฮ มันปล่อยใหญ่เลย

    นี่มันจะทุกข์ตรงนั้นแหละเขาถึงให้วิเวก ให้หลบหลีกต่อกัน อย่าคุยกันมาก การคุยกันก็เหมือนที่พูดเมื่อกี้นี้ว่าทำไมครูบาอาจารย์ท่านมีข้อวัตรไว้ ก็ให้จิตมันพักไว้ ให้จิตมีหลักไว้ เวลาปฏิบัติภาวนามันง่าย ไอ้พวกเรานักภาวนาเหมือนกัน เราพยามจะสงวนพลังงานของเราให้มากที่สุด แล้วเราเอาเวลาเราเข้าอยู่ทางจงกรม นั่งสมาธิเพื่อให้จิตเราสงบ ถ้าไปคุยกันๆ นั่นล่ะมันส่งออก พลังงานมันส่งออก นี่พูดถึงเหตุผล ฉะนั้น ถ้าอย่างนี้จบแล้วเนาะ

    ถาม : คือถ้าอนาคตค่ะหลวงพ่อ ถ้ากิเลสรู้ทันเราจะเจอที่หนักกว่านี้ หลวงพ่อมีอุบายอะไรที่จะให้

    ตอบ : อุบายนะถ้ามันรู้ทันกว่านี้เราก็ตั้งสติกว่านี้ มีสติ มหาสติ นี่เดี๋ยวกลับไปปฏิบัติเลย ตอนนี้มันยังไม่รู้ทันหรอก มันจะรู้ทันข้างหน้า ถ้าตอนนี้ยังไม่รู้ทันเราปฏิบัติไปก่อน ไอ้ที่เราพูดนี่เราพูดถึงสเต็ปของมันไง แต่อย่าตกใจ หมายความว่าอย่างเช่นอาหาร เรากินอาหารวันนี้อร่อย กินทุกวันๆๆ มันจะอร่อยไหม? แต่ถ้ามันยังอร่อยอยู่ กินเถอะไม่เป็นไร แต่ถ้าวันไหนกินแล้วมันจืด กินหูฉลามทุกวันเลย หูฉลามทุกวันเลย หูฉลามมันแพงขนาดไหนมันก็ไม่อร่อยถ้ากินทุกวัน กินทุกวัน กินทุกมื้อ กินทุกมื้อเลยหูฉลามมันจะอร่อยไหม?

    นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้ามันยังอร่อยไง อร่อยหมายความว่ามันปล่อยวางมีมรรค มีผลไง อร่อยหมายความว่ามันกินแล้วมันถูกใจ มันพอใจ มันปล่อยวางได้ แต่ถ้าไม่อร่อยมันไม่พอใจ มันไม่อร่อยมันไม่พอใจ มันต่อต้าน ถ้ามันต่อต้าน หูฉลามมันอร่อยขนาดไหน กูกินน้ำพริกอร่อยกว่า น้ำพริกกูอร่อยกว่านะมึง น้ำพริกนี่เก็บเอาสวนครัว เอาตามรั้ว ตำๆๆ ดีกว่าหูฉลามอีก เพราะมันแซ่บ นี่ก็เหมือนกัน เราภาวนาอย่างไรก็ได้ขอให้มันลง ภาวนาอย่างไรก็ได้ขอให้มันดี ภาวนาแล้วภาวนาที่มันได้ผลเอาตรงนั้น เอาปัจจุบันธรรม มันต้องหมุนกันอยู่อย่างนี้ ไม่ซ้ำอยู่ที่เดิมไง แต่ถ้าซ้ำแล้วดีทำไป แต่ถ้าต่อไปแล้ว ซ้ำๆๆ กิเลสมันหัวเราะเยาะ

    หลวงตาท่านพูดคำนี้นะ เวลาท่านพูดกับนักปฏิบัติ กิเลสมันสงสาร มันบอกว่านักปฏิบัติเซ่อขนาดนี้วะ ใช้แต่ของเดิมๆ ใครๆ ก็รู้เท่าหมดแล้วมันยังใช้อยู่นี่ มันต้องมีอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนไง ไอ้เราก็จะใช้แต่ของเดิม ใช้ของเดิมมันก็เหมือนกับเราเข้าไปจำนนกับมัน เดินเข้าไปสู่จำนนกับกิเลสมันรออยู่แล้ว มาๆๆ เคาะป๊อกหลับ พุทโธเข้ามาๆ เคาะป๊อก จนหลวงตาท่านบอกเซ่อขนาดนั้นนะ นักปฏิบัติทำไมมันเซ่อขนาดนั้น โง่ยิ่งกว่าหมาตาย

    หมามันตายมันไม่มีชีวิต ไอ้นักปฏิบัติโง่กว่านั้นอีก หมาตายมันกระดิกไม่ได้ไง โง่อย่างกับหมาตาย นักปฏิบัติโง่อย่างนั้นหรือ แต่ในมุมกลับเขาบอกว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเหมือนย้ายต้นไม้ปลูกไม่ได้ ไอ้นั่นเขาพูดถึงคนจับจด เราไม่จับจด เราทำของเรา เราไม่ใช่ย้ายต้นไม้หรอก มันเป็นอุบาย อุบายไม่ให้กิเลสมันแบบว่าเหมือนสัญญา เหมือนสร้างภาพ คนสร้างภาพมันก็สร้างอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าเราเปลี่ยนข้อมูล มันสร้างไม่ได้แล้ว ถ้าเราเปลี่ยนความคิดมันสร้างภาพไม่ได้แล้ว นี่อุบาย

    ฉะนั้น อันนี้อย่างที่ว่าเวลาเราพูดนี่เราพูดดักหน้า เพราะกลัวเดี๋ยวไม่มีคนถาม ไม่มีคนบอกมันไปเจอแล้วจะงง ก็พูดไว้ก่อน พอพูดไว้ก่อนโยมก็ตกใจกันหมดเลย โอ้โฮ ปฏิบัติข้างหน้าจะไปเจออย่างนั้นหรือ แหม หลวงพ่อไม่พูดถึงทางสวรรค์เลยนะ พูดแต่ทุกข์ๆ ทั้งนั้นเลย ทางสวรรค์ใครเจอก็สาธุ แต่เวลามันทุกข์นี่มันทุกข์จริงๆ นี่เราพูดไว้ก่อนเท่านั้นเอง เอาเนาะ เอวัง
     
  2. พระประดับ

    พระประดับ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    104
    ค่าพลัง:
    +35
    ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ กับปฏิบัติเพื่อความสะอาดของจิตใจ ไม่เหมือนกันนะ จิตใจสะอาดสำคัญและมีสาระมากกว่าสิ่งใดๆทั้งสิ้น
     
  3. พระประดับ

    พระประดับ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    104
    ค่าพลัง:
    +35
    เอาจิตใจเป็นมาตรวัดตนเองได้ บุคคลนั้นดำเนินมรรคปฏิปทาเป็นไปเพื่อความสงบแล้ว
     
  4. วรณ์นิ

    วรณ์นิ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2016
    โพสต์:
    6,083
    ค่าพลัง:
    +3,024
    อืม...ถ้าเป็นจริงตามที่ท่าน กล่าวมา...ก็ อนุโมทนาด้วยครับ..
     
  5. เราโตมาคนละแบบ

    เราโตมาคนละแบบ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2017
    โพสต์:
    729
    ค่าพลัง:
    +197
    :pอาจารย์ วรนิ ผมก็เรียกคนอื่น อาจารย์หมดละ หมายถึง เขาต่อสู้กับผมมานานจนผมรำลึกได้ว่า เขาทำให้ผม โลภ-โกรธ-หลง ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะทะเลาะกับเขานี่แหละ อย่าเข้าใจอาจารย์นิวรณ์เขาผิดไปจากที่ผมโพสต์นี่เลย..เมื่อก่อน ด่ากัน 7 วันไม่ซ้ำ
    :mad: อย่าไปอิจฉา อาจารย์ นิวรณ์เขาผิดๆเลย ใจเย็นๆ ..
    :pนี่แล้วไปเอาคำเทศน์ของ หลวงพ่อสงบ..มาแสดงนี่ ท่านก็เทศนาตามที่ท่านฝึกมาดิ ..สมาธิก็ฝึกจากสัญญาไหม- เริ่มต้นต้องจำไหมว่า -ทำจิตให้สงบยังไง- ตำราว่าไว้ ยังไง..อะไรมั่งที่ฝึกแล้วไม่ใช้สัญญา สมมุติ มาฝึก ไปถามดิ อย่าเอาแต่อิจฉาเขาเลยนะแล้วก็ใช้สมองตนเ้องคิดมั่งอย่าไปพึ่งแต่คนอื่น เป็นอิสระทางจิตมั่งยึดติดซะแกะไม่ออกเลยรึ ..เราก็มีดีนี่ อิอิ
     
  6. วรณ์นิ

    วรณ์นิ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2016
    โพสต์:
    6,083
    ค่าพลัง:
    +3,024
    นี่คุณ...ติงต๊อง กินยาลืมเขย่าขวดมารึไง..ไม่ได้ว่า ตานิวรณ์สักหน่อย...

    นิวรณ์น่ะ เพื่อนรักผม..กัดกันได้..ด้วยใจรัก...

    ว่า พวก อวดเก่งโน่นนนนนนนนนนน แน่ะ...
     
  7. เราโตมาคนละแบบ

    เราโตมาคนละแบบ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2017
    โพสต์:
    729
    ค่าพลัง:
    +197
    อิอิ..งั้นไม่ใช่ผมก็แล้วไป หากใช่ผมละก็ จะฟ้อง อจ.นิวรณ์ผมมาเล่นง
    านให้เข็ด-ผมศิษย์เอก อาจารย์ นิวรณืนะครับ
     
  8. okใช่เลย

    okใช่เลย Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มกราคม 2015
    โพสต์:
    20
    ค่าพลัง:
    +44
    หลวงพ่อสงบ ชัดเจน ของจริง ตรงไปตรงมา ลูกศิษย์หลวงตามหาบัวอีกท่านที่เป็นเสาหลัก ในยุคปัจจุบัน
     

แชร์หน้านี้

Loading...