เรื่องเด่น นักวิชาการ ชี้ภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรง น้ำโขงแห้งราวทะเลทราย

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 19 กรกฎาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    2e0b881e0b8b2e0b8a3-e0b88ae0b8b5e0b989e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-jpg.jpg

    ภัยแล้งลามหลายจังหวัด ที่ จ.พะเยา หนักสุดรอบหลายสิบปีหลังฝนไม่ตกนานกว่า 2 เดือน ส่งผลให้น้ำในกว๊าน พะเยาเหลือไม่ถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ข้าวแห้งตายกว่า 1,000ไร่ ส่วนชาวนาใน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ทุกข์ระทมต้องบรรทุกน้ำไปใส่นาข้าวไม่ให้ยืนต้นตาย ที่ จ.หนองคาย แม่น้ำโขงวิกฤติหนัก น้ำแห้งเหลือไม่ถึงเมตรต่ำกว่าท่อประปาจนต้องต่อท่อยาวลงไปดึงน้ำดิบเข้าโรงสูบน้ำ พ่อเมืองขอนแก่นยันเขื่อน อุบลรัตน์เหลือน้ำก้นอ่างแค่ใช้กินใช้อาบ แต่ไม่พอเพาะปลูก ด้าน รมว.เกษตรฯ ประชุมทุกหน่วยถกหาแนวทางแก้ปัญหาฝนทิ้งช่วง

    https://www.youtube.com/watch?v=kdID7kRUpfc



    ภัยแล้งขยายวงกว้างหลายจังหวัด หลังฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน โดยสถานการณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ จ.พะเยา ชาวนาใน อ.ดอกคำใต้ ประสบปัญหาไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่เพิ่งหว่านดำไปได้ไม่นาน ทำให้ข้าวเริ่มเหี่ยวแห้งตาย กินพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ สาเหตุมาจากฝนไม่ตกลงมานานกว่า 2 เดือนแล้วจนเกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่น้ำในกว๊านพะเยาลดลงต่อเนื่อง โดยนายปราโมกข์ ปิงเมือง นายช่างชลประทานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานพะเยา กล่าวว่า ปีนี้ฝนทิ้งช่วงเกิดภัยแล้งกระทบทั่วจังหวัด โดยเฉพาะกว๊านพะเยากักเก็บน้ำได้ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันน้ำแห้งเหลือแค่ 9.45 ล้านลูกบาศก์เมตร ชลประทานพะเยาได้ปิดประตูระบายน้ำเพื่อรักษาน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภค

    เช่นเดียวกับชาวนาหมู่ 5 ต.สารจิตร อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ได้รับความเดือดร้อนจากความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกมานาน ทำให้ดินแตกระแหงต้นข้าวอายุ 1 เดือนได้รับความเสียหายจนเหี่ยวแห้ง ขณะที่นาข้าวในพื้นที่หมู่ 9 ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก ขาดน้ำ ชาวนาต้องลงทุนบรรทุกน้ำไปใส่นาป้องกันต้นข้าวแห้งตาย นายประทีบ คงมา อายุ 63 ปี เผยว่า ปลูกข้าวหอมมะลิ 12 ไร่เริ่มหว่านไปวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 17,000 บาท ตอนนี้ข้าวขาดน้ำทำท่าจะแห้งตาย ต้องสูบน้ำจากหนองจระเข้ใส่แท็งก์น้ำแล้วใช้รถไถบรรทุกเอาไปใส่นาข้าว แม้ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ต้นข้าวแห้งตาย

    982e0b882e0b887-e0b981e0b8abe0b989e0b887-e0b8a3e0b8a1e0b8a7-e0b980e0b881e0b8a9e0b895e0b8a3e0b8af.jpg

    ส่วนที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย น้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเช้าวันนี้ระดับน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน วัดได้ 2.10 เมตร ทำให้เกาะแก่งโผล่กลางแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่อเรือขนสินค้าไปฝั่งลาว พม่า และจีน เรือเล็กต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนเรือขนาดใหญ่ของจีนต้องลดน้ำบรรทุกสินค้าลงเหลือลำละ 150-200 ตัน นายสุรนาท ศิริโชค ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กล่าวว่า สาเหตุที่แม่น้ำโขงลดลงเกิดจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนลดการระบายน้ำเขื่อนจิ่งหง มณฑลยูนนาน เดิมเคยระบาย 1,050-1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือแค่ 500-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประจวบกับฝนทิ้งช่วง ทำให้ลำน้ำสาขาสายหลักอย่างแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก แม่น้ำคำ และแม่น้ำกก เหือดแห้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค.จีนระบายน้ำเพิ่มเป็น 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดว่ามวลน้ำจะไหลมาถึงเชียงแสนวันที่ 19 ก.ค. แต่ระดับน้ำคงไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา

    ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงในพื้นที่ จ.หนองคาย อยู่ในขั้นวิกฤติ ที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดได้ 84 ซม. ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งถึง 11.36 เมตร ลดลงเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้โขดหินโผล่ขึ้นจนมองเห็นได้จากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ขณะที่ระดับน้ำลดต่ำกว่าท่อดึงน้ำเข้าโรงสูบน้ำแรงต่ำของการประปาส่วน ภูมิภาค สาขาหนองคาย บริเวณชุมชนมีชัย จนไม่สามารถสูบน้ำผลิตน้ำประปาแจกจ่ายได้ ชาวบ้านเดือดร้อนกันทั่วหน้า เจ้าหน้าที่ต้องต่อท่อเข้าไปในน้ำโขงให้ยาวขึ้นกว่าเดิมจนสามารถผันน้ำเข้าโรงสูบน้ำได้ตามปกติ

    ที่แก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ อ.เชียงคาน จ.เลย ขณะนี้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดจนเห็นดอนทรายและเกาะแก่งกลางแม่น้ำ บางพื้นที่น้ำแห้งจนสามารถเดินข้ามไปยังฝั่ง สปป.ลาว ได้ ขณะที่ชาวบ้านพลิกวิกฤติช่วงน้ำแห้งนำแหมาหาปลาในแม่น้ำโขงได้จำนวนมาก ส่วนผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวลำน้ำโขงโอดครวญไม่สามารถนำเรือพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวล่องแก่งได้ เนื่องจากเสี่ยงอันตราย หลังจากแม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 10 ปี

    2e0b882e0b887-e0b981e0b8abe0b989e0b887-e0b8a3e0b8a1e0b8a7-e0b980e0b881e0b8a9e0b895e0b8a3e0b8af-1.jpg

    ด้านเกษตรกรผู้ปลูกต้นหอมหรือหอมแบ่ง ต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี แหล่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสานเดือดร้อนจากปัญหาฝนตกชุกช่วงต้นปี ทำให้ต้นหอมเน่าตาย จากนั้นเกิดฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 สัปดาห์ ทำให้ลำห้วยและบ่อน้ำแห้ง ทำให้ผลผลิตต้นหอมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาต้นหอมสูงขึ้นจากเดิมเคยขาย กก.ละ 30-50 บาท ปีนี้ราคาสูงขึ้น กก.ละ 90-120 บาท ด้านนายยุทธการ ชานนตรี รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านสวนหม่อน หมู่ 6 ต.เชียงแหว เดือดร้อนทั้งน้ำทำนาและใช้ในครัวเรือน เพราะน้ำประปาแห้งใช้ไม่ได้มา 1 เดือนแล้ว แถมเครื่องสูบน้ำถูกโจรขโมยไป 3 เครื่อง เหลือไว้เครื่องเดียวที่ใช้งานไม่ได้

    ส่วนภัยแล้งในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ลำน้ำจักราชลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณกองอำนวยการแข่งเรือพิมายน้ำแห้งจนเห็นพื้นดิน ขณะที่ลำน้ำมูลบริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ (เขื่อนพิมาย) แห้งขอดไม่มีน้ำส่งไปตามคลองส่งน้ำชลประทาน ทำให้ชาวนาเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากต้นข้าวเหี่ยวแห้งใกล้จะยืนต้นตาย นายจรูญ กระจ่างโพธิ์ อายุ 71 ปี ชาวนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย กล่าวว่า เช่าที่นาปลูกข้าวหอมมะลิอยู่ท้ายเขื่อนพิมาย รวม 21 ไร่ ตอนนี้ยืนต้นแห้งตายแล้ว 16 ไร่

    ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยถึงภัยแล้งและสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ว่าปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 572 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำระบายออก 0.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่เขื่อนต้องเก็บกักน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศเช่นกัน ที่ผ่านมาจังหวัดขอนแก่นได้รับความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้มีน้ำกินนำใช้ โดยเขื่อนอุบลรัตน์ยังมีน้ำที่เป็นน้ำก้นอ่าง แต่เป็นน้ำที่ใช้กินใช้อาบ แต่ไม่พอให้นำไปใช้เพื่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามรับแจ้งจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนว่าช่วงวันที่ 23-25 ก.ค.จะมีฝนตกบริเวณ จ.ขอนแก่น ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะมีน้ำไหลเข้าอ่าง เก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และอ่างขนาดกลางอีก 14 แห่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนและเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

    วันเดียวกัน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประชุมรับทราบปัญหาเกษตรกรและการทำงานของข้าราชการในกระทรวง โดยนายเฉลิมชัยกล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือภัยพิบัติฝนทิ้งช่วง โดยให้ไปทำแผนรับมือวิกฤติทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมจะมีการชดเชยหรือปลูกพืชทดแทนอะไรได้บ้าง ต้องมีคำตอบให้เกษตรกร ต้องเร่งสำรวจความเสียหายจากภัยแล้ง ถึงแม้ว่ายังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ แต่เป็นการใส่ใจเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดี การจ่ายเงินชดเชย หรือกฎระเบียบอะไรที่ทำให้เกิดความล่าช้า ถ้าสามารถแก้ไขได้ให้แก้ไข โดยจะทำงานเป็นทีมร่วมกับ รมช.เกษตรฯอีก 3 คนแบบครอบครัวเดียวกัน

    ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำว่าขณะนี้ฝนทิ้งช่วงและตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 18% จากเดิมคาดว่าจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรับมือเพื่อบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ให้ภัยแล้งยาวนานไปถึง เม.ย.63 นโยบายรัฐบาลและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำต้องมุ่งเน้นเรื่องน้ำเพื่อบริโภคเป็นสิ่งแรก ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานขณะนี้เพาะปลูกไปแล้ว 70% ของพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะ 12 ลุ่มน้ำใต้เขื่อนเจ้าพระยาเพาะปลูกไปแล้ว 1 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ยังไม่ปลูกประมาณ 30% จึงต้องเอาข้อเท็จจริงมาหารือกันเพื่อรับมือภัยแล้งที่เกิดขึ้นและต้องมองยาวไปถึงแล้งหน้า โดยเฉพาะภาคอีสานน่าห่วง เพราะเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานเสียส่วนใหญ่ แต่ฝนยังไม่ตกจากปกติช่วงนี้ภาคอีสานมีฝนตกมาแล้ว แต่ปีนี้ยังไร้วี่แวว


    ขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1618111
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 20 กรกฎาคม 2019
  2. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    0b8b2e0b881e0b8b2e0b8a3-e0b88ae0b8b5e0b989e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4.jpg

    นักวิชาการ ชี้ภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรง น้ำโขงแห้งราวทะเลทราย

    เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าแม่น้ำโขงวิบัติ ภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
    แม่น้ำโขงที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ปกติแล้ว ยามนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา ลำน้ำโขงจะมีน้ำเต็ม กกไคร่จะเขียวขจีและค่อยๆ จมอยู่ใต้น้ำให้เป็นที่วางไข่ของปลา และมีผลและใบให้ปลากินเป็นอาหาร เช่นเดียวกับแก่งหินที่เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์น้ำเช่น กุ้ง แต่ไม่กี่วันมานี้ เมื่อเขื่อนไซยะบุรีสร้างแสร็จและเตรียมทดสอบผลิตไฟฟ้า น้ำโขงเริ่มลดลง และหลายที่แห้งผาก ที่บ้านม่วง ท้องน้ำแตกระแหงกว้างไกล และร้อนระอุราวกับทะเลทราย สัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น กุ้ง และลูกปลาที่คาดว่าพ่อแม่ของมันเพิ่งวางไข่และผสมพันธุ์ ไม่มีโอกาสที่จะสืบทอดเผ่าพันธุ์ ตามซอกหินที่เคยมีน้ำและหลบซ่อนตัวกลายเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้น เมื่อบวกกับความร้อนระอุที่สะสมในแก่งหิน มันก็สุกจนดูเหมือนมันถูกปิ้งย่างบนเตา

    ขณะที่ต้นไคร่เหลือแต่ซากต้นและกิ่งก้านเหยียดขึ้นฟ้าให้แดดแผดเผา ปลาขนาดใหญ่อาจโชคดีที่เอาตัวรอดได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่รอดจากผู้คนที่แห่แหนกันมาจับเพราะจับได้ง่ายเนื่องจากน้ำโขงลดระดับมาก นั่นเท่ากับว่าเราสูญเสียทั้งระบบนิเวศน์ ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ และพ่อแม่พันธุ์ ในเวลาเดียวกัน

    สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มันคือการฆาตกรรมสรรพชีวิต แต่นี่เป็นเพียงปฐมบทของเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นลำแม่น้ำโขงสายหลักแห่งแรก และมันยังไม่จบเท่านี้ เพราะเดือนตุลาคมที่จะถึง เขื่อนแห่งนี้จะผลิตกระแสไฟเต็มกำลัง อยากให้รู้กันด้วยว่าเขื่อนแห่งนี้สร้างโดยทุนไทย ได้เงินกู้จากสถาบันการเงินของไทย 6 แห่ง และไฟฟ้าร้อยละ 95 ที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้จะส่งมาขายประเทศไทย

    8b2e0b881e0b8b2e0b8a3-e0b88ae0b8b5e0b989e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-1.jpg

    8b2e0b881e0b8b2e0b8a3-e0b88ae0b8b5e0b989e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-2.jpg

    [​IMG] [​IMG]

    8b2e0b881e0b8b2e0b8a3-e0b88ae0b8b5e0b989e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-3.jpg

    8b2e0b881e0b8b2e0b8a3-e0b88ae0b8b5e0b989e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-4.jpg

    ขอบคุณภาพแม่น้ำโขง อ.สังคม จ.หนองคาย Bell Supattra In






    ขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1588413
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 20 กรกฎาคม 2019
  3. Pirates Of Arabia

    Pirates Of Arabia เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 ตุลาคม 2014
    โพสต์:
    1,837
    ค่าพลัง:
    +21,489
    ป่าต้นน้ำสำคัญที่สุด ยากให้ช่วยกันรักษาและฟื้นฟู
     

แชร์หน้านี้

Loading...