ศาสนธรรม “ทิฐิขวางนิพพาน” ความคิดเห็นผิดที่ทำให้ไม่นิพพาน

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย ชาไม่รู้, 23 เมษายน 2009.

  1. ชาไม่รู้

    ชาไม่รู้ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    485
    ค่าพลัง:
    +878
    ศาสนธรรม “ทิฐิขวางนิพพาน”




    สำหรับท่านที่ได้สร้างบุญบารมีด้วยความปรารถนาเป็น “อรหันตสาวก” ของพระพุทธเจ้าสมณโคดม เมื่อเวียนว่ายตายเกิดมากมายจนชำระกรรมทั้งกรรมดีและชั่วจนเบาบางแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วง “ลุ้นนิพพาน” หากได้นิพพานก็จบ หากไม่ได้นิพพาน ก็ต้องไปรอคิวเวียนว่ายตายเกิดอีกรอบ ต้องเจริญตามรอยกรรมรอยเกวียนเก่าอีกรอบ หากโชคดีเข้าสู่ช่วง “ลุ้นนิพพาน” อีกครั้ง อย่างนี้ จนกว่าจะบรรลุนิพพาน สำหรับท่านที่ปัญญาน้อย สามารถนิพพานได้ด้วย “ศรัทธา” เมื่อเขาผู้มีปัญญาน้อย เพียงเข้าใจว่านิพพานแปลว่า “สูญ” และศรัทธาในคำสอนของพระพุธเจ้ามากๆ เมื่อยามละสังขาร ขันธ์ห้ากำลังดับลง ก็เพ่งพิจารณาแต่ความ “ดับสูญ” นั้น โดยไม่สนว่าจะเป็นอะไร เพราะปรารถนานิพพานเป็นกำลังด้วยศรัทธา ก็สามารถถึงซึ่งนิพพานได้ด้วยอาการอย่างนี้ แต่หากขณะกำลังละสังขารนั้น ขณะเพ่งพิจารณาความ “ดับสูญ” อยู่นั้น เกิดความพลั้งเผลอออกจากอาการการพิจารณาความ “ดับสูญ” ไปสู่ความ “มี” อะไรสักอย่างหนึ่งอย่างใดแม้แต่อย่างเดียว จิตก็จะจุติแล้วปฏิสนธิใหม่ตามอาการอย่างนั้นทันที อย่างนี้ไม่นิพพาน เช่น เกิดไประลึกได้ว่าเคยถอดกายทิพย์ไปชมแดนนิพพาน ก็ระลึกนึกถึงแดนนิพพานเข้า จิตก็จุติยังแดนนิพพานแล้วปฏิสนธิเกิดเป็นชีวิตใหม่, ชาติภพใหม่ ไม่ได้นิพพาน เพราะเหตุอย่างนี้




    สำหรับท่านที่บรรลุอรหันต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะเข้าถึงนิพพาน ไม่ใช่ด้วยการตรัสรู้เอง แต่เพราะศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่านิพพานมีอยู่จริง เข้าถึงได้ ล่วงพ้นทุกข์ ล่วงพ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้ แม้ไม่ได้ตรัสรู้เห็นเองก็เชื่อด้วยศรัทธา เช่น บางท่านปฏิบัติแล้วเห็น “รูปกาย” ของพระพุทธเจ้า ก็เชื่อว่านิพพานต้องมีแน่ แล้วจิตก็ละคลายความยึดมั่นถือมั่น อวิชชาก็สิ้นไป กลายเป็นความรู้แจ้งว่านิพพานมีอยู่จริง ปกติ ในสังโยชน์สิบซึ่งขวางกั้นนิพพานอยู่นั้น จะมีสังโยชน์อยู่ครึ่งหนึ่ง คือ ห้าตัวที่จะละเมื่อเข้าสู่อรหันตมรรคเท่านั้น เมื่อเข้าถึงอรหันตมรรคแล้ว พระอรหันตโพธิสัตว์มักเลือกตัดสังโยชน์หนึ่งในห้านั้นคือ “อวิชชาสังโยชน์” เมื่อตัดสังโยชน์ตัวนี้ได้ก็รู้แจ้งว่านิพพานมีอยู่จริง และมักเหลือสังโยชน์อีกสี่ตัวไว้ บ้างเหลือสามตัว, สองตัว, หนึ่งตัวบ้าง เพื่อใช้เป็นเครื่องสืบชาติต่อภพ เวียนว่ายตายเกิดช่วยเหลือสรรพสัตว์ต่อไป นี่คือ อาการบรรลุธรรมแบบ “อรหันตโพธิสัตว์” ซึ่งต่างจากพระอรหันตสาวกที่บรรลุธรรมแบบเจโตวิมุติ ที่ต้องละสังโยชน์หมดครบทุกตัวจึงรู้แจ้งได้ว่านิพพานมีจริง นั่นคือจะละอวิชชาสังโยชน์เป็นตัวสุดท้าย ดังนั้น พระอรหันตโพธิสัตว์เหล่านี้ จึงมักมีทิฐิอันเกิดจากสังโยชน์ตัวที่เหลืออยู่นั่นเอง ทำให้การเผยแพร่ธรรมะผิดพลาดไปเล็กน้อยอย่างไม่เจตนา




    ในปรมัตถธรรมนั้นประกอบด้วย จิต ๑, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘ และนิพพาน ๑ เหตุที่ต้องมีนิพพานเพียง ๑ เดียวนั้น เพื่อไม่ให้ออกนอกทางนิพพานไปอย่างอื่นใดอีก บางท่านใกล้จะได้นิพพานแล้ว ยังมีกิเลสกลัวว่านิพพานแล้วจะอยู่อย่างไร ก็ปรากฏภาพนิมิตบ้าง ภาพจริงบ้าง เป็นแดนนิพพาน จิตก็โล่งอกว่ามีที่อาศัยแล้ว เมื่อจิตได้ยึดแดนนิพพานเป็นที่อาศัยก็มีความรู้แจ้งว่านิพพานมีอยู่จริง และละความปรารถนาอื่น ปรารถนานิพพานอย่างเดียว แต่ด้วยจิตยังยึดในดินแดน ยึดว่านิพพานมีดินแดน เมื่อละสังขารลงก็จุติไปตามนิมิตดินแดนนั้นและไม่ได้นิพพาน บางท่านพยายามทำให้นิพานไม่ได้มีแต่นิพพาน พยายามปรุงแต่งให้นิพพาน ๑ เดียวนั้น มีรูปแบบมากขึ้น เพราะความยึดติดใน “รูปราคะสังโยชน์” เช่น นิพพานแล้วมีรูปกายทิพย์เป็นพระวิสุทธิเทพ อย่างนี้ก็มีแล้ว เกิดขึ้นแล้ว




    ปัจจุบัน มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก มีทิฐิที่ขวางการนิพพาน ด้วยอาการต่างๆ ทำให้ไม่เพ่งพิจารณาเพียงแต่ “ความดับสูญ” มีจิตถอยออกไปสู่สภาพความมีตัวตนในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าความมีตัวตนนั้นจะเป็น “รูป หรือ อรูป” ก็ตาม เหล่านี้ เป็นสังโยชน์ที่ร้อยรัดและขวางนิพพานได้ทั้งหมด บทความฉบับนี้ ขอรวบรวม “ทิฐิที่ขางนิพพาน” เท่าที่พอจะรวบรวมได้ ของท่านผู้ปฏิบัติธรรมสำนักต่างๆ ในปัจจุบันมาให้ศึกษากัน ดังนี้




    ๑) ทิฐิว่านิพพานแล้วมีดินแดน

    ทิฐินี้เกิดจากอำนาจแห่ง “รูปราคะสังโยชน์” คือ ความเห็นผิดเพราะเกิดจากการเห็นแดนนิพพาน อันเป็นอาการที่เกิดขณะถอดกายทิพย์ไปชมแดนนิพพาน ซึ่งแดนนิพพานนี้ไม่ใช่สาระของผู้ที่นิพพานแล้ว กล่าวคือ เมื่อนิพพานแล้วไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นในที่อยู่อาศัยอีก จะอยู่อย่างไรก็ไม่เวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่เหงา ก็ไม่ทุกข์ ก็ไม่หนาวไม่ร้อน ไม่อะไรอีกแล้ว แล้วจะต้องมีดินแดนให้อาศัยอยู่ไปทำไม เมื่อไปเห็นแดนนิพพานเข้า ก็ยึดติดอยู่ที่ “แดนนิพพาน” ซึ่งจิตยังมีอัตตา ยึดมั่นในดินแดนนี้ว่าเป็น “นิพพาน” เมื่อเกิดทิฐิผิดอย่างนี้ ก็สร้างลัทธินิกายใหม่ๆ เช่น นิกายทัวร์นิพพาน, ดูนรกสวรรค์นิพพาน ฯลฯ เพราะความหลงยึดใน “รูปราคะ” อันเป็นสังโยชน์ตัวท้ายๆ เมื่อเห็น “รูป” อันเกิดจากสัญญาขันธ์ปรุงแต่งเป็นแดนนิพพานก็ยึดแดนนั้นว่านิพพาน ยึดแล้วก็ไม่ได้นิพพาน การที่นิพพานจะมีดินแดนหรือไม่มีก็ช่างเถิด ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นอยากได้ในดินแดนเสียอย่าง เราจะร้อนใจอยากให้นิพพานมีดินแดนไปทำไม ในเมื่อนิพพานแล้วก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว ไม่ต้องกิน อยู่อย่างไรก็ได้อยู่แล้ว ยังยึดมั่นถือมั่นกลัวไม่มีดินแดนไปทำไม ที่จิตยังปรารถนารู้ว่านิพพานมีดินแดนนี้ ก็ด้วยอำนาจแห่งรูปราคะสังโยชน์ ประกอบกับความฟุ้งซ่านคิดไป กลัวไปว่านิพพานแล้วจะมีที่อยู่ไหมนั่นเอง




    ๒) ทิฐิว่านิพพานแล้วมีธรรมกาย

    ทิฐินี้เกิดจากอำนาจแห่ง “รูปราคะสังโยชน์” คือ ความเห็นผิดเพราะเกิดจากการเห็นธรรมกาย อันเป็นอาการที่เกิดขณะบรรลุอรหันต์ ซึ่งเป็นกายทิพย์ของผู้บรรลุอรหันต์แต่ยังไม่ดับขันธ์ทั้งห้า ทำให้ขณะกำลังดับขันธปรินิพพาน แทนที่ขันธ์ทั้งห้า และสังโยชน์ทั้งสิบ จะดับสูญ นิพพานไปหมด ก็ไม่นิพพานไปหมด จะติดค้างอยู่ที่ “ธรรมกาย” ซึ่งจิตยังมีอัตตา ยึดมั่นในธรรมกายนี้ว่าเป็น “นิพพาน” เมื่อเกิดทิฐิผิดอย่างนี้ ก็สร้างลัทธินิกายใหม่ๆ เช่น นิกายธรรมกาย ฯลฯ เพราะความหลงยึดใน “รูปราคะ” อันเป็นสังโยชน์ตัวท้ายๆ ก่อนจะได้ถึงนิพพาน อัน “ธรรมกาย” นี้ เป็นกายธรรมของผู้บรรลุอรหันตผล แต่เมื่อละสังขารดับขันธปรินิพพานแล้วย่อมไม่เหลืออะไรอีก นิพพานอย่างเดียว นิพพานหมด ถ้าไม่หมด ยังเหลือ ก็ยังไม่นิพพาน สำหรับท่านที่มีทิฐิติดในรูปธรรมกาย เมื่อจะดับขันธ์ทั้งห้า จิตจะยึดเอาธรรมกายไว้เป็นอัตตา ทำให้ไม่นิพพานหมด ยังเหลือรูปราคะสังโยชน์อยู่ ไม่สามารถนิพพานได้แท้จริง และจุติเป็น “อรหันตโพธิสัตว์” ในชั้นดุสิตต่อไป เช่น หลวงพ่อสด ซึ่งลูกศิษย์สายธรรมกาย ก็เชื่อว่าท่าน “บรรลุอรหันต์” แล้ว และก็เชื่อกันว่าท่านอยู่ “ชั้นดุสิต” ซึ่งก็เป็นจริง สามารถถอดกายทิพย์ไปถามท่านได้




    ๓) ทิฐิว่านิพพานแล้วเป็นวิสุทธิเทพ

    ทิฐินี้เกิดจากอำนาจแห่ง “รูปราคะสังโยชน์” คือ ความเห็นผิดเพราะเกิดจากการเห็นรูป อันเกิดขึ้นจาก “สัญญาขันธ์” ปรุงแต่งให้เห็นท่านที่นิพพานแล้วเป็นรูปอย่างนั้นอย่างนี้ อันที่จริง ท่านที่นิพพานแล้วก็มีอยู่จริง แต่ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่ท่าน เป็นสัญญาขันธ์ของเราที่ปรุงแต่งให้รู้ว่าเราพบท่านเท่านั้น อุปมาเหมือน ลมพัดใบไม้ไหว ใบไม้ที่ไหวย่อมไม่ใช่ลม แต่เราเห็นใบไม้ไหวจึงรู้ได้ว่ามีลม นิพพานก็เห็นไม่ได้ เพราะนิพพานไม่ใช่รูป ไม่มีรูปหรืออรูปให้เห็น เหมือนกับเราที่ไม่เห็นลมอย่างนั้น แต่เราก็รู้ได้ว่านิพพานมีจริง โดยดูจากใบไม้ที่ไหว หรือเพราะเราได้เห็นรูปอันเกิดจากสัญญาขันธ์ของเราปรุงแต่งขึ้นเมื่อได้พบท่านที่นิพพานแล้วนั่นเอง เมื่อเห็นรูปอย่างนั้น แล้วยึดติดในรูปอย่างนั้น เพราะยังไม่ละ “รูปราคะสังโยชน์” ทำให้ค้นหาความหมายไปว่านิพพานแล้วเป็น “พระวิสุทธิเทพ” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป เหมือนเข้าใจว่าใบไม้ไหวคือลมอย่างนั้น ในไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระวิสุทธิเทพไว้ว่าหมายถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวก ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสขณะทรงครองขันธ์อยู่ ดังนั้น พระวิสุทธิเทพในที่นี้จึงหมายถึง “ผู้มีจิตบริสุทธิ์บรรลุอรหันต์แล้วแต่ยังครองขันธ์อยู่ ยังไม่นิพพาน” สำหรับท่านที่นิพพานแล้ว ก็มีแต่นิพพานเท่านั้น นิพพาน ๑ เดียว ไม่เป็นอย่างอื่น จะมาเป็น “พระวิสุทธิเทพ” อีกเป็นไปไม่ได้ เพราะนิพพานแล้วไม่เกิดแล้ว ความเป็นคน, สัตว์, เทวดา หรือเทพก็หมดสิ้นไป ท่านที่ยึดติดรูปราคะสังโยชน์ ความเป็นวิสุทธิเทพนี้ เมื่อตายลง ย่อมจะไม่ได้นิพพาน




    ๔) ทิฐิว่านิพพานแล้วเป็นพลังแสง

    ทิฐินี้เกิดจากอำนาจแห่ง “อรูปราคะสังโยชน์” คือ ความเห็นผิดเพราะเกิดจากการเห็นแสงสว่าง, พลังงานแสง ไม่มีรูป ไม่มีตัวตน มีแต่พลังไร้รูปแต่ยังมี “พลังแสง” อยู่ ทำให้ขณะกำลังดับขันธปรินิพพาน แทนที่ขันธ์ทั้งห้า และสังโยชน์ทั้งสิบ จะดับสูญ นิพพานไปหมด ก็ไม่นิพพานไปหมด จะติดค้างอยู่ที่ “พลังงานแสง” ซึ่งจิตยังมีอัตตา ยึดมั่นในพลังงานแสงนี้ว่าเป็น “นิพพาน” เมื่อเกิดทิฐิผิดอย่างนี้ ก็สร้างลัทธินิกายใหม่ๆ เช่น นิกายแสงแห่งธรรม, นิกายรังสีธรรม, นิกายออร่า ฯลฯ เพราะความหลงยึดในอรูปราคะ อันเป็นสังโยชน์ตัวท้ายๆ ก่อนจะได้ถึงนิพพาน อัน “พลังแสงธรรม” นี้ เป็นพลังธรรมที่เกิดจากภาวะ “อรูป” ในกลุ่มผู้บำเพ็ญ “อรูปฌาน” เมื่อละสังขารขณะกำลังดับขันธปรินิพพาน หากจิตหลงในทิฐินี้ ก็จะคิดว่าภาวะ “แสงธรรม” นี้คือ “นิพพาน” ก็จะจุติใหม่ ทำให้ไม่มีขันธ์ห้า มีแต่แสงธรรม เป็นภาวะ “อรูป” มีจิตอยู่ และเมื่อหมดวาระบุญ ก็ต้องจุติลงมาเกิดใหม่ ปัจจุบัน ได้สำรวจพบท่านผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง ท่านระลึกชาติได้ว่าท่านได้ทำสมาธิจนเกิดไฟสลายขันธ์หมด ไม่เหลือ และปรากฏเป็นพระธาตุลงมา แต่ถึงแม้ท่านจะสลายขันธ์ห้าอย่างนั้น ความยึดติดใน “อรูป” หรือ “แสง” นั้น ก็ส่งผลให้ไปเกิดเป็น “แสงธรรม” อย่างนั้น ไม่มีรูปมีแต่อรูป ไม่ได้นิพพานและต้องมาเกิดใหม่ในที่สุด




    ๕) ทิฐิว่าจิตคือเรา

    ทิฐินี้เกิดจากอำนาจแห่ง “อรูปราคะสังโยชน์” คือ ความเห็นผิดเพราะเกิดจากการที่ยังเหลือ “อัตตา” คือ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นในความมีตัวมีตนของตนอยู่ ยังไม่ปลงให้ได้หมดว่าไม่จำเป็นต้องมีตัวมีตนอีกแล้ว ถ้าหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ไม่ต้องกินต้องทำงาน ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตาย แล้วยังจะกังวลว่าจะมีตัวหรือไม่มีตัวไปทำไม เพราะเหตุว่ายังมีความยึดติดในตัวตนของตนนี้ จึงแสวงหาว่าตัวของเราคืออะไรกันแน่ และไปค้นพบเอาว่าจิตเป็นตัว จิตเป็นตัวตนของตน ความเป็นตัวตนของตนก็เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในจิตนั่นเอง คิดว่าเมื่อขันธ์ทั้งห้าดับลงไปแล้ว ก็ไปกับจิตของเรา ทำให้จิตดวงนั้นเกือบนิพพานแต่ไม่นิพพาน เพราะความยึดจิต ติดความมีตัว ไม่มีตัว ไม่มีอะไรเลยไม่ได้ ไม่ชิน เมื่อเกิดทิฐิผิดอย่างนี้ ก็สร้างลัทธินิกายใหม่ๆ เช่น นิกายเพ่งจิต ฯลฯ เพราะความหลงยึดในอรูปราคะ อันเป็นสังโยชน์ตัวท้ายๆ ก่อนจะได้ถึงนิพพาน




    ๖) ทิฐิว่านิพพานถึงได้ด้วยบุญหรือการถอดกายทิพย์ไป

    ทิฐินี้เกิดจากอำนาจแห่ง “อวิชชาสังโยชน์” คือ ความเห็นผิดเพราะเกิดจากการที่ยังเหลือ “อัตตา” คือ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นในบุญหรือกายทิพย์อยู่ ยังไม่ปลงให้ได้หมดว่าไม่จำเป็นต้องมีบุญอีกแล้ว ถ้าหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ไม่ต้องกินต้องทำงาน ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตาย แล้วยังจะกังวลว่าจะมีบุญหรือไม่ไปทำไม เพราะเหตุว่ายังมีความยึดติดในบุญอย่างนี้ จึงไม่ฝึกละความอยาก การยึด ไม่ฝึกจิตเพ่งพิจารณาความดับสูญไปว่าเป็นธรรมดา ให้เคยชิน หลงทำบุญมากมายเพื่อซื้อหรือแลกมาซึ่งนิพพาน แม้การทำบุญก็เป็นการทำบุญหวังผล ไม่ได้ทำเพื่อฝึกละความตระหนี่ถี่เหนียว ทำบุญโดยไม่หวังผลไม่เป็น บ้างเกิดความหลงทะนงตน เกิดมิจฉาทิฐิหลงผิดเป็นมารไปก็มี เมื่อเกิดทิฐิผิดอย่างนี้ ก็สร้างลัทธินิกายใหม่ๆ เช่น นิกายสร้างบุญเพื่อแลกนิพพาน, สร้างวัดเพื่อจองที่ดินในแดนนิพพาน ฯลฯ เพราะความหลงยึดในอวิชชาสังโยชน์ อันเป็นสังโยชน์ตัวท้ายๆ ก่อนจะได้บรรลุอรหันตผล บ้างหลงตั้งแต่ยังไม่บรรลุโสดาบันอย่างนี้ก็มี เพราะจิตยังไม่ละความถือตัว ไม่เกรงกลัวภัยกรรม ไม่เบื่อหน่ายการเวียนว่ายตายเกิด แต่อยากเกิดในที่ที่ดีที่สุดตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เลยเกิดความอยากอยู่นิพพาน เมื่อหลงผิดอย่างนี้แล้วจึงหาวิธีลัดง่าย คือ เป็นคนมีเงิน ก็ใช้เงินทำบุญหวังซื้อนิพพานเสียเลย ความอยากอยู่นิพพานนั้นไม่ใช่จิตแบบพระโสดาบันเลย พระโสดาบันไม่อยากอะไรมากเท่ากับอยากหยุดเกิด เพียงแต่ยังละความอยากทางโลกอื่นๆ ยังไม่ได้ก็เท่านั้น



    *หมายเหตุท้ายบทความ ทิฐิเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นบางส่วนเท่านั้น
     
  2. Mcafee.x

    Mcafee.x เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    92
    ค่าพลัง:
    +118
  3. เมธี อยู่สุข

    เมธี อยู่สุข Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 มกราคม 2009
    โพสต์:
    32
    ค่าพลัง:
    +45
    เมื่อเข้าถึงก็จะรู้แต่ถ้าไม่ถึงก็ไม่รู้
     

แชร์หน้านี้

Loading...