ความคิดของคนที่ไม่เข้าถึงสภาวะธรรม

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มารสะท้าน, 8 มีนาคม 2005.

  1. มารสะท้าน

    มารสะท้าน Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    103
    ค่าพลัง:
    +97
    ความคิดของคนที่ไม่เข้าถึงสภาวะธรรม



    นิสัยของมนุษย์ที่ชอบคิด จึงทำให้เกิดความสงสัยในสิ่งต่างๆ ที่ตนพบทั้งในชีวิตประจำวันและในการศึกษาเล่าเรียน ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนก็อดสงสัยในสิ่งที่เรานับถือไม่ได้ คือพระพุทธเจ้า คำสอนของท่าน และสงสัยในการปฏิบัติของพระสงฆ์ บางคนสงสัยและหาคำตอบ บางคนสงสัยเฉยๆ บางคนหาแง่โจมตี แต่บางคนก็หาทางส่งเสริมให้ดีขึ้น ความสงสัยนี้เป็นลักษณะประจำชนิดหนึ่งของปุถุชน ทางพระท่านเรียกว่า พวกกถังกถี คือผู้ชอบตั้งปัญหาว่า ทำไม? อย่างไร? แต่ผู้ที่เป็นอริยบุคคลแล้ว ท่านหมดความสงสัยเพราะรู้แจ้งแล้ว ไม่มีความแคลงใจในพระรัตนตรัย จึงได้นามว่า อกถังกถี แปลว่าผู้ไม่มีปัญหาว่า ทำไม? อย่างไร?

    ด้วยเหตุฉะนี้แหละกถังกถีในอภิธรรมปิฎกจึงมีขึ้นในวงการนักศึกษาคำสอนทางพระพุทธศาสนา เมื่อสงสัยก็มีการถกเถียงตอบโต้กัน การถกเถียงดังกล่าวมิใช่มีเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น ในอดีตก็มีการขัดแย้งกันมาแล้ว ส่วนใหญ่ประเด็นที่ขัดแย้งกันคือ พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์หรือไม่? เป็นของมีมาแต่เดิมหรือมีขึ้นในยุคหลัง? เป็นหลักธรรมที่จำเป็นต่อการศึกษาปฏิบัติหรือเป็นส่วนเกินความจำเป็น? จากปัญหาเหล่านี้ได้มีการเขียนและพูดอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยสรุปแล้วอาจแบ่งกลุ่มได้ดังนี้

    ๑. ฝ่ายปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก

    ๒. ฝ่ายยอมรับพระอภิธรรมปิฎก

    ๓. ฝ่ายประนีประนอม

    เราลองมาศึกษาดูเหตุผลของแต่ละกลุ่มดู บางทีจะทำให้เห็นปัญหาขัดแย้งที่มีอยู่ได้ชัดขึ้น อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจดีระหว่างเพื่อนศาสนนิกด้วยกัน ดีกว่าจะเถียงกันโดยเสียประโยชน์แบบคนตาบอดคลำช้างไป

    ฝ่ายปฏิเสธพระอภิธรรมไม่ใช่พุทธพจน์ ให้เหตุผลดังนี้

    ๑. ภาษาที่ใช้ในพระอภิธรรมปิฎกเป็นสำนวนบาลีรุ่นหลังกว่าสำนวนในพระสูตรและพระวินัยอย่างที่เรียกว่า ไวยากรณ์ ในนวังคสัตถุศาสน์ คือรูปประโยคแบบแต่งเอา ไม่ใช่ภาษาพูดหรือสนทนา

    ๒. เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ทรงตรัสถึงมหาประเทศ ๔ มีแต่ให้สอบสวนดูให้ถูกต้องกันกับพระสูตร, พระวินัย เท่านั้น มิได้กล่าวถึงพระอภิธรรม

    ๓. ข้ออ้างว่า พระพุทธองค์ขึ้นไปบนดาวดึงส์ เทศนาโปรดพระพุทธมารดา เป็นเพียงถ้อยคำของพระอรรถกถาจารย์ เรื่องนี้ในพระสูตร, พระวินัยไม่ปรากฏ

    ๔. ศัพท์ว่า อภิธมฺเม อภิวินเย ดังที่ปรากฏในพระสูตร, พระวินัยบางแห่งนั้น มิได้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎก เช่น ในกินติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ก็คำว่า อภิธมฺเม อรรถกถาแก้ว่า หมายถึงธรรมอันประเสริฐล้นค่าคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗

    ๕. พระองค์เมื่อตรัสรู้ถึงสัตถุศาสน์ มักตรัสว่า ธมฺโม จ วินโย จ ซึ่งแปลว่าพระธรรมและพระวินัย ไม่พบว่ามีพระอภิธรรม

    ๖. นิกายพุทธศาสนาหลายนิกายเช่น สรวาสติวาทิน ก็ถือว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นสาวกภาษิต

    ๗. ในคัมภีร์พระอภิธรรมเอง ก็ปรากฏว่ามีคำ ยญฺจ โข ภควตา ชานตา ปสสฺสตา ฯลฯ แปลว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้อยู่เห็นอยู่ ฯลฯ และ วุตฺตญฺเจตํ ภควตา แปลว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแล้วมิใช่หรือ? สำนวนเช่นนี้ แสดงว่าเป็นของพระสังคีติกาจารย์

    ๘. พระอภิธรรมเป็นธรรมที่เกินความจำเป็น เป็นธรรมฝ่ายเรืองปัญญามิจำเป็นสำหรับการปฏิบัติ ฯลฯ

    ฝ่ายค้านได้ให้เหตุผลมาหลายข้อแล้ว ลองมาดูเหตุผลของฝ่ายสนับสนุนกันบ้าง ท่านกล่าวว่า

    ๑. เรื่องที่พระพุทธองค์เสด็จดาวดึงส์และเทศนาโปรดพระพุทธมารดา มีปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในอรรถกถาปรมัตถทีปนี ธัมมปทัฏฐกถา เป็นต้น ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องนี้ว่าเป็นจริง ก็ต้องไม่เชื่อเรื่องอื่นทั้งหมดซิ

    ๒. ข้อความในคัมภีร์พระวินัยและพระสูตรมีปรากฏคำว่าอภิธรรม ชัด เช่น ในอังคุตตรนิกายเล่ม ๓ หน้า ๔๔๓ มีความตอนหนึ่งว่า "ก็โดยสมัยนั้นแล พระภิกษุเถระทั้งหลาย กลับจากบิณฑบาตภายหลังแห่งภัตต์แล้ว ประชุมกันสนทนาพระอภิธรรมกันอยู่"

    ในวินัยปิฎกมหาวิภังค์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ภิกษุใดศึกษาอภิธรรม ภิกษุเหล่านั้นรวมเป็นคณะ (พระทัพพมัลลบุตร) ก็จัดเสนาสนะไว้ ด้วยคิดว่าท่านเหล่านั้นจักมีธรรมสากัจฉาอภิธรรมกัน

    ในภิกษุณีวิภังค์ หน้า ๒๕๕ ความว่า"ภิกษุณีผู้ถามปัญหาแก่ภิกษุ ขอโอกาสอันใด ต้องถามอันนั้น ถ้าขอโอกาสถามพระสูตรแล้วกลับไปถามพระวินัยก็ดี ไปถามพระอภิธรรมดีก็ เป็นอาบัติปาจิตตีย์"

    ในอปาทาน อุบาลีเถรวัตถุ หน้า ๖๑ มีว่า พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมรวามเป็นพระพุทธพจนะ มีองค์ ๙ ทั้งสิ้นนี้ เป็นธรรมสภาของพระองค์" นอกจากนี้ในเถรีอปาทาน มหาโคสิงคสาลสูตรเป็นต้น ก็ปรากฎคำว่าอภิธรรม อีกมาก ฉะนั้นคำที่ว่าไม่มีอภิธรรมในพระสูตรและพระวินัย จึงเป็นอันตกไป

    ๓. คำว่าธมฺโม จ วินโย จ ซึ่งแปลว่า ธรรมและวินัย คำว่าธรรม มิได้หมายแต่เฉพาะพระสุตตันตปิฏกอย่างเดียว แต่หมายเอาอภิธรรมปิฎกด้วย

    ๔. ถ้าปฏิเสธพระอภิธรรมว่ามิใช่พุทธพจน์ เพราะเหตุมีคำว่า วุตตมเหตํ ภควตา ฯลฯ ดังนี้แล้ว พระสูตรและพระวินัยก็ควรปฏิเสธด้วยซิ เพราะพระสูตรและพระวินัย พระสาวกก็สดับมาจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงนิพนธ์ขีดเขียนไว้ที่ไหน พระสูตรเองก็มีคำว่า "ข้าพเจ้าสดับมา ดังนี้" (เอวมเมสุตํ) ในวินัยก็มีคำว่า "โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค" (เตน โข ปน สมเย ภควตา) เป็นต้นเหล่านี้ ล้วนแสดงว่าเป็นวาจาของพระเถระผู้ทำสังคายนา ถ่ายทอดจากพระศาสดาอีกต่อ ถ้าจะเอาหลักแน่ชัด ก็ลำบากเช่นกัน

    ๕. ยอมรับเพียงแต่คัมภีร์กถาวัตถุเท่านั้น ที่เป็นวาทะของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ แต่ท่านก็อาศัยพุทธมติ

    ๖. พระอภิธรรมมิใช่ธรรมที่เกินจำเป็น แต่เป็นธรรมที่สูงดีเลิศเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ จะเห็นได้จากผู้ที่ศึกษาอภิธรรมอย่างแตกฉาน ย่อมจะปฏิบัติสมาธิได้รวดเร็วก้าวหน้ามาก

    ที่กล่าวมานี้เป็นทัศนะที่ยืนยันว่าพระอภิธรรมเป็นพุทธพจน์เช่นเดียวกันปิฎกอื่นๆ

    มาถึงพวกประนีประนอมบ้าง พวกนี้เห็นว่า มัวเถียงกันว่าเป็นพุทธพจน์หรือไม่ก็เสียประโยชน์เปล่า จึงประมวลเรื่องเกี่ยวกับพระอภิธรรมไว้เลยว่าพระอภิธรรมปิฎกนั้นแบ่งเป็น ๔ สมัย คือ

    สมัย ๑. รวมอยู่ในพระสูตร คือมิได้แยกตัวเป็นเอกเทศ เช่น ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มีการจำแนกถึงจิตในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีถึง ๑๖ อย่างเช่นสราคจิต วีตราคจิต สโทสจิต สโทสจิต วีตโทสจิต วีตโมหจิต หรืออย่างสังคีติสูตร ที่ว่ารูปสังคหะเป็น ๓ ประการ เป็นไฉน? คือ สนิททัสสนสัปปฏิฆรูป ได้แก่รูปที่เห็นได้กระทบได้ อนิทัสน สัปปฏิฆรูป รูปที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ อนิทัสสนาปปฏิฆรูปได้แก่รูปที่เห็นไม่ได้ กระทบไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น มีเค้าอภิธรรมชัดๆ

    สมัยที่ ๒ พระอภิธรรมเป็นนิเทศของพระสูตร คือมีคำว่าอภิธมเม และ อภิวินเย และขยายพุทธพจน์ออกไปเป็นข้อไขอรรถด้วยพระองค์เองบ้าง พระสาวกไขอรรถแห่งพุทธวจนะ ในรูปปุจฉาวิสัชชนากันบ้าง เพื่อความช่ำชองในอรรถธรรมสมัยนี้เกิดนิเทศพระสูตรเยอะอย่างเช่น จูฬนิเทศ มหานิเทศ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นนิเทศของพระสูตร เป็นสมัยอภิธรรมยุคที่ ๒

    สมัยที่ ๓ เป็นการแยกตัวออกจากพระสูตรอย่างชัดแจ้ง เป็นปิฎกหนึ่งต่างหากคือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ พระสาวกได้รวบรวมข้ออภิปรายธรรมนิเทศต่างจัดขึ้นเป็นปิฎกที่ ๓ เรียกว่าอภิธรรมปิฎก

    สมัยที่ ๔ เป็นสมัยที่รวบรวมสารัตถะของพระอภิธรรมไว้ย่อๆ สะดวกแก่การจดจำเป็นร้องกรองบ้างร้อยแก้วบ้าง อย่างอภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์ วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษ อภิธัมมาวตารของพระพุทธทัตตะ และอภิธรรมโกศะของพระวสุพันธุ ต่อมามีนักปราชญ์เห็นว่าย่อความเกินไปจึงแต่งคัมภีร์ขยายอีก เช่น อภิธัมมัตถวิภาวินี ขยาย อภิธัมมัตถสังคหะ

    เมื่อแสดงพัฒนาการของพระอภิธรรมปิฎกสมัยต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วฝ่ายประนีประนอม ยังให้ทัศนะว่า "ปัญหาธรรมในพระสูตรบางแห่งย่นย่อ ยากแก่การเข้าใจ ก็ได้ความอธิบายละเอียดในอภิธรรม และธรรมในอภิธรรมที่ละเอียดพิสดารจนยากที่จะรวบรัดความได้เราก็ได้ความสรุปอย่างย่อจากพระสูตร...พระอภิธรรม ต้องศึกษาด้วยการถ่ายทอดทำความเข้าใจเป็นพิเศษจากอาจารย์ ผู้จำทรงพระอภิธรรมได้ จะไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จะทวีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น"

    จากทัศนะทั้ง ๓ กลุ่มดังประมวลมานี้ พอจะเห็นเค้าแล้วกระมังว่า มีการขัดแย้งกันอย่างไร มิไยที่จะต้องกล่าวถึงยุคปัจจุบัน ที่ยังเถียงกันอยู่อย่างไม่ค้นคว้าหาความจริงจากหลักฐานที่มี เลยพาลเอาโทสะเข้าพูดกัน ธรรมสากัจฉา แทนจะเกิดอุดมมงคล กลายเป็นอัปปมงคลก็มี น่าอนาถอยู่ ถ้าเราเข้าใจความเป็นมาของพระอภิธรรมดีแล้ว ตั้งใจศึกษาแบบนิสรณปริยัติหรือภัณฑาคาริกปริยัติ คือศึกษาธรรมเพื่อทำตัวเองให้พ้นจากทุกข์ที่มีอยู่ในจิตใจ ทำตัวให้มีความสุขจากการปฏิบัติธรรม แล้วทรงจำไว้สั่งสอนอนุชนรุ่นหลังต่อไป อย่างนี้เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ แม้จะเป็นพวกกถังกถี ก็ยังเป็นสัมมากถังกถี คือสงสัยดี สงสัยชอบ แต่ถ้าศึกษาแบบอลคัททูมาปริยัติ คือศึกษา เพื่อถกเถียงและเอาความรู้ข่มขู่ผู้อื่นอย่างเดียวละก็ เห็นท่าจะโดนงูแว้งกัดเอาแน่ๆ
     
  2. wanted

    wanted Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2004
    โพสต์:
    34
    ค่าพลัง:
    +50
    ในขณะที่จิตกำลังเข้าสู่สภาวะธรรมนั้นย่มเกิดความสงสัยแล้วว่าเราถึงขั้นใหนแล้วโดยปกติแล้วจิตของคนเราปกติแล้วก็จะคิดว่าต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ซึ่งความเป็นจริงแล้วมันเป็นธรรมดาซึ่งเคยมีอยู่และจะมีต่อไปให้เป็นส่นที่คิดก็แล้วกันเพราะถ้าจะทำให้หมดไปคงทำไม่ได้แต่เราเอาเวลานี้มาศึกษาดีกว่าที่ถกเถียงกันให้เหมือนกับนิพพานที่บอกว่านิพานไม่มีที่สิ้นสุด นิพพานไม่มีวันดับ นิพพานไม่มีที่ตั้ง
     
  3. ดาวหางสีเงิน

    ดาวหางสีเงิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มกราคม 2005
    โพสต์:
    726
    ค่าพลัง:
    +795
    เห็นด้วยกับคุณทางสายไหมครับ^^
     
  4. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,310
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,002
    เรื่องธรรมะนี่ต้องศึกษาเเละปฏิบัติเองครับถึงจะรู้ได้ สงสัยเเต่ไม่ปฏิบัติเลย คําตอบจะไม่กระจ่างเเจ้งอย่างเเน่นอน
     

แชร์หน้านี้

Loading...