กฎแห่งกรรม (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 17 พฤษภาคม 2010.

  1. nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612


    กฎแห่งกรรม
    โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์
    (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)



    ปัจจุบัน คนเริ่มสงสัยในเรื่องกฎแห่งกรรม และบางคนก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้ ถึงกับมีคนเขียนเป็นคำกลอนว่า คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป

    ในเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กล่าวถึงอันตรายที่เกิดแก่สัตว์โลก ๕ อย่างคือ

    ๑. กิเสสันตราย อันตรายอันเกิดจากกิเลส
    ๒. กัมมันตราย อันตรายอันเกิดจากความชั่วที่ทำในปัจจุบัน
    ๓. วิปากันตราย อันตรายอันเกิดจากวิบาก คือ ผลของกรรมที่ทำในอดีต
    ๔. ทิษฐันตราย อันตรายอันเกิดจากทิฐิที่ผิด
    ๕. อริยูปวันตราย อันตรายที่เกิดจากการจ้วงจาบพระอริยเจ้า

    พระพุทธศาสนาสอนว่า บุคคลจะได้ดีหรือชั่ว ได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรม หรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น หากเราไม่ดำเนินตาทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แม้จะสวดมนต์หรือวิงวอนขอร้อง ก็ไม่อาจจะช่วยให้เราพบความดีและความสุขได้ ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยความภักดีและวิงวอน มนุษย์เราก็คงไม่ต้องทำอะไร

    ความเชื่อในเรื่องกรรม


    ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทธา ๔ อย่างคือ

    ๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคณ และพระมหากรุณาธิคุณ

    ๒. กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริง

    ๓. วิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมให้ผลเสมอ

    ๔. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ

    จะเห็นได้ว่าความเชื่อหรือศรัทธา ๔ อย่าง เป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับกรรม กฎแห่งกรรมจึงเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนจึงควรเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ชาวพุทธที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรมหาใช่ชาวพุทธที่แท้จริงไม่ เขาเป็นเพียงชาวพุทธแต่เพียงในนาม ศาสนาพุทธมีประโยชน์แก่เขาเพียงใช้กรอกแบบฟอร์ม เพื่อไม่ให้ถูกว่าเป็นคนไม่มีศาสนาเท่านั้นเอง

    คนที่เชื่อในเรื่องกรรม ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อ คนที่เชื่อเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทนรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ความขมขื่น และเคราะห์ร้ายที่เกิดแก่ตนได้ เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่น และจะเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ

    คนที่ประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนใหญ่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติและความสุขสบายให้แก่ตัว โดยไม่คำนึงว่าทรัพย์สมบัติหรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่

    สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะ และเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เช่น เราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรอโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราก็ตาม กรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เช่นเราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้ หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม

    มนุษย์เรามีภาวะความเป็นไปต่างๆ กัน เช่น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม สุขหรือทุกข์ ก็เนื่องจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน หรือเหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปฉะนั้น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตรที่คอยให้ความอุปการะ และส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความเจริญ แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเราให้ประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อม


    ความหมายและชนิดของกรรม


    คน ส่วนมากเข้าใจว่ากรรมคือการกระทำ ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่เป็นความเข้าใจที่ยังไม่รัดกุมและถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการกระทำบางอย่างที่ไม่นับว่าเป็นกรรม กรรมแท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ ผู้ทำมีเจตนา และการกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ที่ว่าผู้ทำมีเจตนา มีหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ไว้ใน นิพเพธิกปริยายสูตร ฉักกนิมาต อังคุตตรนิกายว่า

    เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม

    เจตนาก็ได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งไว้เป็น ๓ อย่างคือ

    ๑. บุรพเจตนา เจตนาก่อนทำ
    ๒. มุญจนเจตนา เจตนาในเวลาทำ
    ๓. อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว

    การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือใจไม่ได้สั่งให้ทำ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เช่นคนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา เอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้าก็ไม่เป็นกรรม ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริตซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ ทั้งนี้ก็โดยหลักเกณฑ์ที่ว่า ถ้าผู้ทำไม่มีเจตนา กระทำแล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม

    ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ ๒ ที่ว่า การกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ก็เพื่อแยกการกระทำของพระอรหันต์ออกจากการกระทำของปุถุชน เนื่องจากพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่มีความยึดถือในตัวตน การกระทำเรียกว่า อัพยากฤต ไม่นับว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว บุญและบาปก็ไม่มี การกระทำของพระอรหันต์จึงไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า กิริยา ส่วนปุถุชนยังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ จะทำอะไรก็ยังยึดถือว่าตนเป็นผู้กระทำ การกระทำของปุถุชนจึงเป็นกรรม ย่อมจะก่อให้เกิดวิบากหรือผลเสมอ กรรมดีก็ก่อให้เกิดบุญ ส่วนกรรมชั่วก็ก่อให้เกิดบาป

    คนบางคนเข้าใจว่ากรรมหมายถึง สิ่งไม่ดีคู่กับเวร หรือบาป เช่นที่เรียกว่า เวรกรรม หรือ บาปกรรม ตรงกันข้ามกับฝ่ายข้างดีซึ่งเรียกว่าบุญ ทั้งนี้เพราะเราได้ใช้คำว่ากรรมในความหมายที่ไม่ดี เช่นเมื่อเห็นใครต้องประสบเคราะห์ร้ายและถูกลงโทษ เราก็พูดว่ามันเป็นเวรกรรมของเขา หรือเขาต้องรับบาปกรรมที่เขาทำไว้ แต่ความจริงคำว่ากรรมเป็นคำกลาง ๆ หมายถึงการกระทำตามที่กล่าวมาแล้ว จะมุ่งไปในทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ ถ้าเป็นกรรมดี เราก็เรียกว่า กุศลกรรม ถ้าเป็นกรรมชั่ว เราก็เรียกว่า อกุศลกรรม

    กรรมอาจจะจำแนกออกได้เป็นหลายประเภท หากแบ่งตามทางที่ทำก็แบ่งเป็น ๓ ทาง ได้แก่

    ๑. กายกรรม กรรมที่ทำทางกาย
    ๒. วจีกรรม กรรมแสดงออกทางวาจา
    ๓. มโนกรรม กรรมทางใจ

    ในกรรมบถ ๑๐ แบ่งกรรม ๓ ทางนั้นเป็นฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล แต่ละฝ่ายมีรายละเอียดของกรรมหรือการกระทำดังนี้

    กายกรรมหรือกรรมทางกาย แบ่งเป็นฝ่ายละ ๓ คือ

    ๑. ฝ่ายอกุศล ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และผิดประเวณี
    ๒. ฝ่ายกุศล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการผิดประเวณี

    วจีกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ ๔ คือ

    ๑. ฝ่ายอกุศล ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
    ๒. ฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

    มโนกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ ๓ คือ

    ๑. ฝ่ายอกุศล ได้แก่ เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม
    ๒. ฝ่ายกุศล ได้แก่ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ไม่ปองร้าย และเห็นชอบตามคลองธรรม

    ตามที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าแม้แต่การนึกคิดก็จัดว่าเป็นกรรมแล้ว เช่นเราคิดจะลักทรัพย์หรือทำร้ายคนอื่น แม้จะยังไม่ลงมือทำก็ถือเป็นกรรมชั่วแล้ว ซึ่งจะต้องมีผลตอบแทนแล้ว ผิด กับการลงโทษตามกฎหมายอาญา ซึ่งจะลงโทษได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำ ได้เตรียมการหรือลงมือกระทำแล้วเท่านั้น ลำพังความคิดที่จะกระทำความผิดยังหามีโทษไม่ ตามที่กฎหมายอาญาไม่เอาโทษการคิดที่จะกระทำความผิด ก็เพราะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ความนึกคิดของบุคคล และเห็นว่ายังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่หลักของกรรม ถือความคิดชั่วเป็นความผิด ก็เนื่องจากว่าแม้ว่าคนอื่นยังไม่เสียหาย ผู้คิดเองก็เสียหาย ฉะนั้นจึงต้องมีวิบากติดตามมา จะเห็นได้ว่า การสนองผลของกรรมมีขอบเขตกว้างขวางกว่าการลงโทษของกฎหมายบ้านเมืองมาก


    กรรม ๑๒ ประเภท


    ใน หนังสือวิสุทธิมรรค ซึ่งแต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชาวอินเดีย ได้แบ่งกรรมไว้ ๑๒ ประเภท ตามกาลเวลา ตามหน้าที่ และตามความหนักเบา

    กรรมให้ผลตามเวลา

    ๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้

    ๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า

    ๓. อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป

    ๔. อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล คือให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาสจะให้ผลต่อไป

    กรรมให้ผลตามหน้าที่

    ๕. ชนกกรรม กรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว

    ๖. อุปถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือชนกกรรมแต่งดี ส่งให้ดียิ่งขึ้น กรรมเดิมแต่งให้ชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น

    ๗. ปุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยเบียนชนกกรรม เช่นเดิมแต่งมาดี เบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่ว เบียนให้ดี

    ๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเดิมชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายไปเลย หรือเดิมชนกกรรมแต่งไว้เลวมาก กลับทีเดียวเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐีไปเลย

    กรรมให้ผลตามความหนักเบา

    ๙. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาน กรรมฝ่ายชั่ว เช่นทำอนันตริยกรรม มีฆ่าบิดามารดาเป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือกั้นได้

    ๑๐. พหุลกรรม กรรมที่ทำจนชิน

    ๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือที่เอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรม ย่อมส่งผลให้ไปสู่ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน

    ๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์ อาจจะทำด้วยความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว


    เหตุที่คนคิดว่าทำดีไม่ได้ดี


    มี คนบางคนที่ทำกรรมชั่ว แต่กลับปรากฏว่าเป็นคนร่ำรวย มีอำนาจวาสนา มีคนเคารพยกย่อง ส่วนคนบางคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันขันแข็ง กลับยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก หรือคนบางคนไม่ค่อยทำงานอะไร คอยประจบสอพลอและรับใช้เจ้านาย กลับได้ดี ได้เลื่อนเงินเดือนและตำแหน่ง ส่วนคนบางคนตั้งใจทำงานแต่ไม่ประจบเจ้านาย ไม่ค่อยรับใช้คุณหญิงคุณนายของเจ้านาย กลับไม่ได้ดี จึงทำให้คนคิดไปว่ากฎแห่งกรรมจะไม่จริง คำสั่งสอนที่ว่า

    กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

    คงจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว การที่บางคนเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี หรือทำชั่วไม่ได้ชั่ว เนื่องจากไม่เข้าใจ ๒ ประการ

    ประการแรก ไม่เข้าใจในเรื่องการให้ผลของกรรม
    ประการสอง ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว



    การให้ผลของกรรม


    การ ให้ผลของกรรมมีสองชั้น คือ การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง และการให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอีกอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นการให้ผลโดยไม่คำนึงถึงว่าถูกหลังความชอบธรรมหรือไม่ เช่นนาย ก. โกงเงินหลวง หรือขโมยทรัพย์มา นาย ก. ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้านาย ก. ใช้เงินซื้อบ้าน นาย ก. ก็จะได้อยู่บ้านนั้น นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่ กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีก คือ ถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น

    กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อๆ ไป ที่เรียกว่า อปราปรเวทนียกรรม

    การปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่พอวางเมล็ดลงไปในดิน พืชหรือต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว พืชบางอย่างก็ให้ผลช้าเป็นปีๆ เช่นข้าว เพียง ๔ - ๕ เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียน กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลาถึง ๕ ปี

    การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น อุปัตถัมภกกรรม คอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น อุปฆาตกรรม ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา อาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก หรือต้องเที่ยวหลบหนีเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินจะอยู่

    คนที่ไม่เชื่อเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นผู้มีสายตามืดมัว มองไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้นศีลธรรม บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาตินี้ชาติเดียว ก็สิ้นสุดลง คนพวกนี้เมื่อทำความชั่วและความชั่วยังไม่ให้ผลก็คิดว่าตนเป็นคนฉลาด ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องกรรมว่าเป็นคนโง่ งมงาย คนพวกนี้เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย สมตามพุทธภาษิตที่ว่า

    มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล

    การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็นการให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุ

    การให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที คือเมื่อทำกรรมดี ก็จะได้รับความสุขความปีติ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น จะทำให้ได้ดียากมาก

    คนทำดี จะให้ได้ดีทางวัตถุ ต้องประกอบด้วยหลัก ๔ ประการคือ

    ๑. คติสมบัติ ทำดีให้ถูกสถานที่
    ๒. อุปธิสมบัติ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล
    ๓. กาลสมบัติ ทำดีให้ถูกเวลา
    ๔. ปโยคสมบัติ ต้องทำดีให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ

    การ ที่คนทำกรรมดีและหวังผลดีในทางด้านวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะเพราะไม่เข้าตามหลัก ๔ ประการข้างต้น คือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เจ้านายของเราเป็นคนคอรัปชั่น การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา การทำดีกับบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหิน หรือพื้นดินแห้งแล้ง

    ฉะนั้น การทำความดีเราควรจะหวังผลในทางจิตใจมากกว่าวัตถุ บางคนอาจจะ ทำความดีจริงแต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือ ทำดีเพียงเล็กน้อยแล้วก็หวังผลแห่งความดีนั้น เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี คนพวกนี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผล

    ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว ในทางโลกและทางธรรม มีความหมายแตกต่างกัน

    ในทางโลก มักจะมองเห็น การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายความว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี

    ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดีหมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเรามีมากขึ้น ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว หมายถึงการทำให้จิตใจต่ำลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น คำว่าได้ดีจึงความถึงความดี และคำว่าได้ชั่ว จึงหมายถึงความชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วดีขึ้น

    บุคคลที่กระทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญตักบาตร ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปีติ และความสุขในกรรมดีที่ตนทำ ในเมื่อกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริงๆ คือทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ด้วยความโลภหรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทน

    ที่มา ::
     
  2. พระ บารมี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มกราคม 2010
    โพสต์:
    85
    ค่าพลัง:
    +1,476
    อนุโมทนาสาธุ
    <O:p</O:p
    <O:p------------------------------------------------------------------------- </O:p
    http://palungjit.org/forums/[.105/FONT]ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างศาลา-หอฉันท์-โรงทาน-โรงครัว-ณ-วัดเขาชี-จ-พิษณุโลก-239513.html
    <O:p</O:p
    <O:p</O:p
    http://watkhaochee.com/forum/index.php?action=forum
     

แชร์หน้านี้