กรรมบางอย่างให้ผลทันตาเห็นเพราะเหตุใด
ความสงสัยของคนจำนวนมากเกี่ยวกับการให้ผลแห่งกรรมทำไมจึงให้ผลต่างกัน บางคนทำเลวไว้มาก แต่กลับยังได้ดีมีสุข แต่บางคนทำความดีอย่างสม่ำเสมอแต่กลับดุเหมือนว่า ผลแห่งความดีไม่ได้ตอบแทนชีวิตเขาอย่างที่ควรจะเป็น จนมีคำตัดพ้อว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วไ้ด้ดี มีถมไป"
แท้จริงแล้วเรื่องการให้ผลของกรรมนั้นมีความสลับซับซ้อนอยู่มาก เป็นหนึ่งในเรื่องที่พระพุทธเจ้าแนะนำว่าไม่ควรคิดให้เสียเวลา ว่าทำไม แต่ควรมุ่งปฏิบัติกรรมดีในเวลาปัจจุบันเสียมากกว่า
อ่ยางไรก็ตามเรื่องการให้ผลของกรรมนั้นพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ปิดกั้นเหตุและที่มา ทรงอธิบายไว้เป็นหลักการให้ผลของกรรม 12 ประการ กรรมที่สร้างขึ้นโดยเจตนาแรง และสร้างต่อผู้ที่มีเนื้อนาบุญสูง มีผลให้เห็นก่อน
โดยกรรมหนักที่สุดนั้นแบ่งได้เป็น
1. การมีความเห็นผิด
การมีความเห็นผิดนั้นยังแบ่งออกได้เป็นข้อย่อย 3 ประการได้แก่
“นัตถิกทิฏฐิ” คือ การมีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่จะได้รับความดีความชั่วที่จะได้มีความสุขหรือความทุกข์ ฯลฯ ในภพข้างหน้านั้น ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องไปจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาปของตนเองที่ตนทำไว้ในชีวิตปัจจุบัน
“อเหตุกทิฏฐิ” คือ การมีความเห็นว่าความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในชีวิตปัจจุบันนี้ ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาป ของตนเองในภพก่อน
“กริยทิฏฐิ” คือ มีความเห็นว่าการกระทำของสัตว์ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าจะทำดีก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุญถึงแม้กระทำชั่วก็ไม่ชื่อว่าเป็นบาป แต่เชื่อว่าการกระทำไม่ว่าดีหรือไม่ดีก็แค่เป็นไปตามธรรมดา
การเห็นผิดที่ว่าการไม่มีอยู่ของบุญและบาป การที่เห็นผิดไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อในกฎของธรรมชาติ ไม่เชื่อในเรื่องการทำดี ไม่เชื่อว่าทำชั่วแล้วจะต้องได้รับผลกรรมชั่วนั้น
การไม่เชื่อในสิ่งที่ถูกต้องย่อมนำมาสู่การคิดผิด การกระทำก็จะนำไปสู่ความผิดบาปได้มากเช่น เมื่อไม่เชื่อบาปบุญก็เลยไม่ทำบุญ ไม่เชื่อว่าผลบาปมีจริงก็เลยสามารถทำบาปได้แบบไม่กลัวว่าบาปจะให้ผลเพราะไม่ว่าทำอะไรก็ต้องสูญไปเนื่องจากการทำบาปนั้นทำง่ายอันนำไปสู่บาปที่หนักที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงแบ่งไปได้อีกว่าบาปที่ทำแล้ว ส่งผลให้ไม่ได้ผุดได้เกิด เจอแต่ความทุกข์ทั้งภพนี้และภพหน้าคือ
การทำสังฆเภทกรรม
หมายถึงการยุให้พระสงฆ์แตกหมู่แตกคณะกันเหมือนกับเป็นการขัดขวางไม่ให้พระสั่งสอนผู้เป็นปุถุชนไปสู่แสงสว่างของชีวิต การยุยงไม่ให้คนทำความดีหรือจะเรียกว่าเป็นมารศาสนาอย่างหนึ่ง ก็ถือเป็นเป็นบาปกรรมที่หนักที่สุดอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
การทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ( โลหิตุปบาทกรรม)
การที่พระพุทธองค์บัญญัติบาปกรรมนี้ไว้ว่าหนักหนามากก็เพราะผู้ที่มีเมตตาสูงสุดเป็นผู้รู้ผู้มีคุณแก่ชาวโลกเป็นผู้มีคุณงามความดีมากมายมหาศาลอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หากใครยังมีใจบาปหยาบช้าไปทำร้ายให้บาดเจ็บได้ ก็ย่อมทำลายทำบาปได้กับผู้อื่นแบบไม่ยกเว้น
ฆ่าพระอรหันต์ (อรหันตฆาตกรรม)
คำว่าพระนั้นแปลว่า “ผู้ที่เห็นภัยจากวัฎสงสาร” ท่านจึงออกบวชเป็นพระ ยิ่งเป็นระดับที่สามารถหมดกิเลสเป็นผู้ไม่มีเวรแก่ผู้อื่น เป็นผู้ที่ไม่มีพิษภัยใดๆ กับคนอื่นแม้แต่น้อย หากใครที่ยังไปแกล้งไปจงใจฆ่าท่านได้ก็คือว่าเป็นบาปกรรมที่หนักหนาสาหัสเลยทีเดียว
ฆ่ามารดา บิดาของตนเอง ( มาตุฆาต หรือ ปิตุฆาต)
บิดามารดานั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีบุญคุณสูงสุดของตนเอง เป็นผู้ที่ให้เราเกิดมาเป็นผู้ที่ทำให้เรามีชีวิตขึ้นมาบนโลกนี้ท่านทั้งสองจึงถือเป็นผู้ที่มีบุญคุณสูงที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีได้ หากผู้ใดที่ได้ทำการสังหารบิดามารดาที่เป็นผู้มีบุญคุณสูงสุดอย่างนี้ได้ทำการ “อกตัญญู”ต่อผู้มีคุณที่สุดในชีวิตของตนเช่นนี้จึงเรียกได้ว่า สร้างอนันตริยกรรมที่หนักหนาสาหัสเอาไว้และไม่มีทางแก้ไขอะไรได้เลย
การกระทำบาปในลักษณะดังกล่าวไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะไม่ถือว่าเป็นการอโหสิกรรม แม้จะพยายามพากเพียรไปขอยกโทษเพียงใดก็ไม่เป็นผล เพราะเป็นบาปกรรมที่ต้องได้รับการชดใช้แม้ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม รวมถึงในชาติปัจจุบันก็ไม่อาจจะหลีกหนีบาปกรรมนั้นได้
ในทางตรงกันข้ามการสร้างบุญใหญ่มากๆ ก็มีผลให้ความสุขได้ทันตาแบบไม่ต้องรอเช่นกัน เพียงแต่ว่าการทำบุญสร้างบารมีนั้นมีปัจจัยที่ซับซ้อนพอๆ กันกับการทำบาปกรรมชั่ว เวลาที่ทำบุญแล้วคนเรามักหวังในผลบุญที่ทำทันทีซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น
อย่างไรก็ตามการ "หยุดกรรมชั่ว" หรือศีลเป็นสิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าแนะให้ปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องให้ทำบุญ เพราะต้องละชั่วก่อนจึงทำความดีได้ผลนั่นเอง
แค่หยุดชั่วมันก็ดี
***********
สนพ.เสบียงบุญ
กรรมบางอย่างให้ผลทันตาเห็นเพราะเหตุใด
ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 12 มีนาคม 2017.