"กรรม กับ จิต"

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ตีโฉบฉวย, 13 กันยายน 2011.

  1. ตีโฉบฉวย Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กุมภาพันธ์ 2011
    โพสต์:
    43
    ค่าพลัง:
    +42
    อนาลโยวาท กัณฑ์ที่ ๘

    หลวงปู่ขาว อนาลโย

    คัดลอกจากหนังสือ อนาลโยวาท
    พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย และ ประวัติความอาพาธ
    คณะศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล
    ในการพระราชทานเพลิงศพ
    วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗
    ณ วัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอหนองบัวลำพู อุดรธานี​



    กรรมกับจิต

    อย่าให้มีความประมาท จงพากันสร้างคุณงามความดี มีการให้ทาน มีการรักษาศีลของฆราวาส พวกฆราวาสก็ดี ให้ถือศีลห้า ศีลแปด วันเจ็ดค่ำ แปดค่ำ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ เดือนหนึ่งมีสี่หน อย่าให้ขาด ให้มีความตั้งใจ เรื่องเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล ภาวนา อันนี้เป็นทรัพย์ภายในของเรา การรักษาศีลเป็นสมบัติภายในของเรา ควรใช้ปัญญาพิจารณาค้นคว้าร่างกาย ให้มันเห็นว่า ความจริงของมันตกอยู่ในไตรลักษณ์ ตกอยู่ในทุกขัง ตกอยู่ในอนิจจัง ตกอยู่ในอนัตตา มีความเกิดอยู่ในเบื้องต้น มีความแปรไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด อย่างนี้แหละ อย่าให้เรานอนใจ ให้สร้างแต่คุณงามความดี อย่าไปสร้างบาปอกุศล อย่าไปก่อกรรมกรอเวรใส่ตน ผู้อื่นไม่ได้สร้างให้เรา คุณงามความดีเราสร้างของเราเอง ตนสร้างใส่ตนเอง ผู้อื่นบ่ได้ทำดอก เมื่อเราเป็นบาป ก็เราเป็นผู้สร้างบาปใส่เราเอง ความดีก็แม่น เราใส่เราเอง จึงได้เรียกกุศลกรรม อกุศลกรรม สัตว์ทั้งหลายจะ หรือจะร้ายก็ดี จะเป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์ หรือยากจนค่นแค้นก็ดี เป็นเพราะกรรมดอก พระพุทธเจ้าว่านั่นแหละ สัตว์ทั้งหลายเป็นแต่กรรม สัตว์มีกรรมของตน เป็นเพราะกรรมดอก กรรมเป็นผู้จำแนกแจกสัตว์ให้ได้ดีได้ชั่วต่าง ๆ กัน ครั้นเป็นผู้ทำกรรมดี มันก็ได้ความสุข ไปชาติหน้าชาติใหม่ก็จะได้ความสุข ผู้ทำความชั่ว มันก็มีความทุกข์ มีอบายเป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ไป กรรมเป็นผู้จำแนกไป ให้เกิดเป็นมนุษย์ ให้เกิดเป็นคนยากจน คนค่นแค้น มันเป็นเพราะกรรมของเขา ที่จะไปเกิดเป็นผู้มั่งคั่วสมบูรณ์มีความสุขเอง อย่างนี้ไม่มี นั่นแหละบาปมันเป็นผู้แจกให้ไป ไปเกิดในแดนคนยากคนจน เหมือนกันนั่นแหละกับเข้าไปหาเจ้านาย เราต้องระวังปานหยัง เข้าไปเราต้องทำอย่างใด จะทำท่าทางอย่างใด จะพูดอย่างไร ผู้เข้ามาหาคนยากคนจน มันไม่ต้องสนใจอะไร ไม่ต้องมีท่ามีทาง มันไปเกิดอยู่นั่นแหละ เราจะไปเกิดในที่ดีมันยากแล้ว บุญมันบ่ถึงเขา เราต้องทำเอา เกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด ก็เป็นเพราะ ปุพฺเพจกตปุญฺญตา บุญหนหลังมาติดตามตนให้เกิดเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ ครั้นเป็นผู้สมบูรณ์แล้วก็ อตฺตสมฺมาปณิธิ ให้ตั้งตนอยู่ในที่ชอบ อย่าไปตั้งอยู่ในที่ชั่ว รักษาศีล ให้ทาน หัดทำสมาธิอย่าให้ขาด ศีลห้าให้รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลแปดให้รักษา ให้พากันภาวนาอยู่ สมาธิมันไม่มีที่อื่น ให้นั่งภาวนา พุทโธ ๆ ไม่ต้องร้องให้มันแรงดอก ให้มันอยู่ในใจซื่อ ๆ ดอก การภาวนาก็เป็นอริยทรัพย์ภายใน มันจะติดตามไปทุกภพทุกชาติ ติดไปสวรรค์ ลงมามนุษย์ มาตกอยู่ในที่มั่งคั่งสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ยากไม่จน ทรัพย์อันนี้ติดตามไป บ่มีสูญหายดอก ตามไปจนสิ้นภพสิ้นชาติ หรือจนเหนื่อยหน่ายต่อความชั่ว เบื่อหน่ายไม่มีความยินดี ไม่อยากเกิดอีก ภาวนาไป ๆ ก็จะไปสู่พระนิพพานตามเสด็จพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ก็สบายเท่านั้นแหละ คนเรามันมักอยากมาเกิดอยู่เสมอ

    ให้พากันตั้งใจ วันหนึ่ง ๆ เราจะนั่งภาวนา นั่งภาวนาก็ให้นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติ อย่าปล่อยใจ ให้ตั้งสติอยู่กับใจ ให้เอาพุทโธเป็นอารมณ์ ทีแรกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ , พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว จึงเอาแต่พุทโธอันเดียว ทำงานอะไรอยู่ก็ได้ พระพุทธเจ้าบอก ทำได้ทุกอิริยาบถ ได้ทั้งสี่อิริยาบถ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนไม่เป็นท่าดอก เอนลงไปเดี๋ยวก็เอาสักงีบเถอะ เดินนั่นแหละดี นั่งกับยืนก็ได้ ได้หมดทั้งสี่อิริยาบถ พากันทำเอา ความมีอัตภาพนี่มันเป็นทรัพย์ภายนอก เงินทองแก้วแหวน บ้านช่องเรือนชานต่าง ๆ ที่หามาได้ก็เป็นทรัพย์ภายนอก ติดตามเราไปไม่ได้ดอก เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้ กายอันนี้เมื่อตายแล้วก็นอนทับถมแผ่นดินอยู่ ไม่มีผู้ใดเก็บ กระดูกก็กระจายไป กระดูกหัวก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกแขนก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกขาก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกสันหลังก็ไปอยู่ที่อื่น กระจายไปเท่านั้นแหละ

    เรากเรามันกลัวตัณหาหลาย มันเชื่อตัณหาหลาย คนหนึ่ง ๆ มันมีสองศาสนา ศาสนาหนึ่ง มันตัณหาสั่งสอน ศาสนาหนึ่ง เป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า เรามันยึดถือตัณหานี่ ชอบกันนัก หมอนี่มันก็บังคับเอา เราก็ยึดถือหมอนี่ มันสอนให้เราเอา ให้ตีเอา ลักเอา ฉกชิงวิ่งราวเอา มันสอนอย่างนี้ ตัณหาน่ะ พระพุทธเจ้าว่าให้ทำมาหากินโดยชอบธรรม ให้เป็นศีลเป็นธรรม อย่าเบียดเบียนกัน มันไม่อยากฟัง มันเกลียด ตัณหานี่ มันกลัวพระยามัจจุราช พระยามารก็ผู้ช่วยมัน มันไม่อยากให้เราไปฟังอื่น ให้ฟังมัน มันผูกใจเราไว้ ครั้นจะไปดำเนินตามทางของพระพุทธเจ้า มันไม่พอใจ พอจะรับศีล รับทำไม มันว่า อย่าไปรับมัน อย่าไปทำมัน นี่มันก็ถูกใจมันเท่านั้นแหละ มันสอนนะ มันชอบอย่างนั้น ส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้า ครั้นอุตส่าห์ทำไป ปฏิบัติดีแล้ว เราก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ทำความเพียรภาวนาหนัก ๆ เข้า ก็ได้บรรลุพระนิพพาน กำจัดทุกข์ อันนี้ไม่อยากไป ไม่อยากฟัง ไม่เอา ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นต้องระวังตัณหา กิเลสที่มันชักจูงใจเราไม่ให้ทำความดี อย่าไปเชื่อมัน พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อยู่ในศีลในธรรม พระพุทธเจ้าว่า ให้เป็นผู้หมั่นขยันในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แม่นในหน้าที่ของตน เป็นความบริสุทธิ์ ผู้ขยันหมั่นเพียรนั่นแหละจะเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ มิใช่ว่าจะรักษาศีลภาวนาแล้วเฮ็ดหยังบ่ได้ มันบ่แม่น นั่นมันความเห็นผิดไป พระพุทธเจ้าว่าให้ขยันหมั่นเพียร อะไรที่ชอบธรรมก็ทำได้ กลางคืนจนแจ้งก็ทำไป กลางวันก็ทำได้หมดตลอดวัน ทำไร่ ทำสวน ทำนา ให้ทำสุจริต ไม่เบียดเบียนใครเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าให้หยุด ไม่ให้เบียดเบียนกัน ทำใจให้สะอาด วาจาให้สะอาด กายให้สะอาด อย่าให้สกปรก ทำใจให้สะอาด คือให้หมั่นภาวนา ให้เอาพุทโธนั่นแหละเป็นอารมณ์ของใจ ให้ตั้งสติทำไป ๆ ใจมันจะสงบสะอาดและผุดผ่อง มนสาเจ ปสนฺเนน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ สุขมเนวติ ครั้นผู้ชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วสดใสแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็ตาม ทำการงานอยู่ก็ตาม ความสุขนั้นย่อมติดตามเขาไป มนสาเจ ปทุฏฺเฐน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ ทุกฺขมเนวติ จกฺกํ วหโตปทํ ครั้นบุคคลมีใจขุ่นมัววุ่นวาย มีใจเศร้าหมอง ใจมืด ใจดำอำมหิตแล้ว แม้จะพูดอยู่ ความทุกข์ย่อมครอบงำมันอยู่อย่างนั้น แม้จะทำอยู่ ความทุกข์ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านเปรียบว่า เหมือนล้อที่ตามรอยเท้าโคไป ความทุกขฺตามบุคคลไปอยู่อย่างนั้น คนไม่รักษาใจ คนทำแต่ความชั่ว ก็มีแต่ความทุกข์นำไปอยู่อย่างนั้น

    พากันทำภาวนาไป วันหนึ่ง ๆ อย่าให้ขาด อย่าให้มันเสียเวลาไป ภาวนาไป ชั่วโมงหรือยี่สิบ สามสิบนาที อย่าให้มันขาด อาศัยอบรมจิตใจของตน ทำมันไป ขัดเกลาใจของตน ใจมันมีโลภะ โทสะ โมหะเข้าครอบคลุม ใจจึงเศร้าหมอง ธรรมชาติจิตเดิมแท้นั้น เป็นธรรมชาติผ่องใส ปภสฺสรมิตํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปฺกิเลเสหิ อุปฺกกิลิฏฺฐํ ธรรมชาติจิตเดิมเป็นของเลื่อมประภัสสร เป็นของใสสะอาด แต่มันอาศัยอาคันตุกะกิเลสเข้าครอบงำย่ำยี ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัวไป เพราะฉะนั้นให้พากันทำ อย่าประมาท อย่าให้มันเสียชาติ อย่าให้มันโศกเศร้าเป็นทุกข์ มนุสฺสปฏิลาโภ ความได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ ให้พากันทำ อย่าให้มันเสียไป วันคืนเดือนปีล่วงไป ๆ อย่าให้มันล่วงไปเปล่า ประโยชน์ภายนอกก็ทำ ประโยชน์ของตนนั่นแหละมันสำคัญ พระพุทธเจ้าว่าให้ทำประโยชน์ของตนเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำประโยชน์อื่น

    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_kao/lp-kao-13.htm
     

แชร์หน้านี้