กลยุทธ์รักษาจิต : พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 29 กรกฎาคม 2013.

  1. nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612


    [สมเด็จพระสัพพัญญูปฐมบรมเทศนา ประดิษฐาน ณ ถ้ำอมตธรรม วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา]


    ก ล ยุ ท ธ์ รั ก ษ า จิ ต
    พระครูเกษมธรรมทัต (พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี)
    สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

    นะมัตถุ รัตตะนะตะยัสสะ
    ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
    ขอความผาสุกความเจริญในธรรม
    จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

    โอกาสต่อไปนี้จะได้ปรารถธรรม
    ตามหลักธรรมสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติกรรมฐาน
    ซึ่งเมื่อผู้ปฏิบัติได้ทำเพียร เจริญสติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายวัน
    ก็ย่อมจะมีผลปรากฏจิตใจย่อมจะสงบระงับขึ้น

    ถ้ารู้จักปรับผ่อนมาตามลำดับ สติมั่นคงขึ้น
    ทำให้จิตใจไม่ส่งออกนอก จิตใจก็จะรู้อยู่กับตนเอง

    ความคิด ตรึกนึกที่จะไหลออกไปสู่อดีตหรืออนาคตก็จะลดลงไป
    จะรู้สึกว่าจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น
    จิตใจก็จะมีความเบาสบาย ความสงบระงับคลี่คลายขึ้นกว่าเดิม
    ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติ

    เมื่อฝึกสติมากยิ่งขึ้น จิตใจก็มีความเบาสบาย
    เบิกบาน กายเบา ใจเบาขึ้น
    แต่บางท่านก็ยังมีจิตใจที่ไหลออกไปข้างนอกมาก
    รู้อยู่น้อยกว่า ก็ต้องอาศัยวลากล่อมเกลาไปอีก
    เพราะว่ายังเป็นผู้ใหม่จริงๆ

    การจะเริ่มต้นฝึกหัดอบรมจิตใจ
    ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องใช้เวลาขัดเกลากล่อมเกลาจิตใจ

    ตลอดชีวิตที่ผ่านมาผ่านไป
    เคยปล่อยให้ใจไหลไปในอารมณ์ที่วุ่นวาย
    จิตใจวุ่นวายสับสนวกวนมามาก
    เรียกว่าปล่อยจิตเตลิดเพลิดไปในอารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนา
    ปล่อยจิตใจให้ไหลไปในอารมณ์ที่ไม่พอใจจิตยุ่งเหยิงวุ่นวายมามาก

    การที่จะมาสะสางชำระซักฟอกจิตใจมันจึงต้องยาก
    เพราะเวลาที่เรามาฝึกฝนอบรมจิตมันน้อย
    เมื่อเทียบกับการปล่อยใจที่ผ่านมา มันต่างกันมาก

    เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมรับ
    คือ ต้องพากเพียรพยายามฝึกฝนอบรมต่อไป
    สักวันหนึ่งก็จะค่อยดีขึ้น ถ้าเราไม่ละความเพียรเสียกลางคัน

    อย่าคิดว่าเราเป็นคนไม่มีวาสนา
    เราไม่มีวันที่จะทำให้จิตใจสงบระงับได้
    เนื่องจากเรายังเป็นผู้ใหม่
    ก็เหมือนกับคนอื่นที่ใหม่ๆ ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้น

    คนที่เขาจะทำจิตใจได้ เขาก็ต้องผ่านการฝึกมา
    หรือบางทีเขาก็หัดฝึกฝนอบรมมามาเป็นระยะๆ ปลูกฝังมาตามลำดับ
    เขาก็มากำกับดูแลรักษาจิตใจให้ดีได้ง่ายขึ้น

    แม้ว่าใจเราจะยังไม่โปร่งเบา สติไม่ต่อเนื่อง
    เราก็เพียรไป เพียรทำไปเรื่อยๆ ตั้งสติไว้บ่อยๆ เนื่องๆ
    เพียรไปทั้งที่ว่ามันไม่สงบ
    ก็เพียรพยายามเดินจงกรม
    นั่งสมาธิปฏิบัติสลับกันไป จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

    อย่าไปใจร้อนทะยานอยาก จะให้มันได้ดังใจ
    ถ้าเรายากจะให้ได้ดังใจ มันก็จะกลับจะวุ่นวายอีก

    เมื่อจิตมันไม่สมปรารถนามันก็มีความโกรธ
    มีความหงุดหงิดรำคาญวุ่นวายเข้าไปอีก
    เรารู้จักทำใจเฉยๆ ปล่อยวาง ได้แต่ไหนก็เอาแต่นั้น
    พอใจว่าได้ฝึกหัดมีสติอยู่ทุกๆ วัน นั่นแหละ
    วันหนึ่งมันก็ได้ผลเอง

    การได้เจริญสติได้ฝึกหัด ในที่สุดก็จะมีจิตใจที่ตั้งมั่น
    จิตใจเมื่อมีสติสมัปชัญญะดีขึ้น ก็จะรวมตัวไม่ออกไปข้างนอกมาก
    จะรวมรู้เข้ามาสู่ภายใน รู้ในกายในใจตัวเอง

    พวกนักปฏิบัติก็ลองลองสังเกตสภาพจิตใจ
    พอจิตรู้สึกเบาสบายขึ้น ผ่องใสขึ้น
    ระงับแม้ว่ามันก็ยังมีวุ่นๆ อยู่บางครั้งบางขณะ
    ก็ถือว่าเป็นธรมดาก็ดูไป

    ใจมันจะร้อนก็รู้ ใจมันจะเย็นก็รู้ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ คิดนึกก็รู้
    มันเป็นธรรมทั้งหมด ความคิดนึกเป็นธรรม
    เป็นธรรมชาติที่จะต้องตามดู ตามรู้ความนึกคิด ความตรึกอยู่เสมอๆ
    แล้วจิตใจเขาก็ประกาศตัวของเขาเองว่า เขาไม่เที่ยง

    จิตนี่มันประกาศตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่เที่ยง
    เราก็จะคอยไปบังคับให้มันเที่ยงอยู่ ให้มันได้ดังใจ ให้มันคงที่
    เขาก็ประกาศตัวเขาเองว่า เขาไม่เที่ยงนะ เขาไม่ใช่ตัวตนนะ
    สภาวธรรมทั้งหลายมันประกาศตัวมันเองอยู่ตลอด
    ประกาศว่าไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ ไม่เที่ยง

    เราก็จะไปบังคับให้มันเที่ยงให้ได้ จะให้มันได้อย่างใจให้ได้
    มันก็เลยสวนทางกับความเป็นจริง ไม่เห็นความจริง

    ความจริงเขากำลังเปิดเผยอยู่ ไม่ดู ไม่ยอมรับ
    แล้วจะไปเอาอะไร จะไปทำเพื่ออะไร

    ทำก็เพื่อให้เห็นความจริงของธรรมชาติ ของจิต ของกาย
    ว่ามันเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง คือ เปลี่ยนแปลง
    เป็นธรรมชาติที่เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
    เป็นธรรมชาติที่บังคับไม่ได้ เป็นธรรมชาติที่บังคับไม่ได้
    ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เขาก็ประกาศความเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นก็จงดู รู้ และยอมรับกับความเป็นจริงของธรรมชาตินี้



    บางคนพอสงบระงับไป กลับไปไม่เห็นอะไรเสียอีก
    จิตมันเรียบ มันเงียบ มันนิ่ง มันสงบ กายก็เบา กายก็สงบ
    เลยไม่พบสภาวะ กลายเป็นอยู่กับความว่าง ความไม่มีอะไร
    ก็ตกไปสู่บัญญัติ ได้แต่นิ่งสงบแต่ไม่พบสภาวะ ก็จะละกิเลสไม่ได้

    กิเลสต้องละได้ด้วยการมีปัญญา
    ถ้าจะเกิดปัญญา สติก็ต้องจับสภาวะ รู้สภาวะอยู่ตลอด
    ถ้าไปทิ้งสภาวะ ไม่เห็นสภาวะ
    ไปเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีอะไร มันก็ตกไปสู่สมมติ

    ความจริงในความไม่มีอะไรๆ มันก็มีอะไรอยู่
    ก็คือมีจิต มีตัวผู้รู้
    มีความรู้สึกที่กำลังตรึกนึก กำลังเอะใจ กำลังสงสัย
    นั่นแหละเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนา
    ต้องกำหนดรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ปรมัตถ์ที่ปรากฏ

    เราไม่ดูให้รู้ ดูเข้ามา จึงไม่เห็นสัจธรรมความเป็นจริง
    ปล่อยให้จิตคอยวิ่งออกไปหาสิ่งสิ่งต่างๆ
    แต่จิตไม่รู้ตัวของตัวเอง

    เพราะฉะนั้นการกำหนดรู้ดูกำหนดรู้
    การหาเจอจิตให้เจอนั้นต้องทวนกลับเข้ามา
    กระแสของจิตต้องทวนกลับ ไม่ส่งออก
    แต่ทวนย้อนกลับมารู้ ดูที่ผู้รู้ ดูที่ใจ ดูที่ความรับรู้ของจิต

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมีสติ กำลังไประลึกรู้ดูอะไรๆ
    เช่น กำลังไปรับรู้ดูกายที่ไหวๆ ขณะเดียวกันก็รู้ผู้รู้ไหว
    พบว่ามีไหวกับมีผู้รู้ไหว

    ในขณะที่กำหนดดูความปวดอยู่
    ดูความปวดอยู่ก็กลับรู้ผู้รู้ปวด
    คือรู้ปวดด้วย รู้ผู้รู้ปวดด้วย
    ผู้รู้ปวดไม่ใช่ความปวด ผู้รู้ปวดเป็นจิต เป็นจิตที่มีสติ
    รวมเรียกว่า “ผู้รู้ ผู้ดู”

    ผู้กำลังดูปวดไม่ใช่ปวด
    เห็นปวดส่วนปวด เห็นผู้รู้ส่วนผู้รู้
    ต้องหัดสังเกตทวนกลับมาที่จิตใจ

    บางขณะก็ดู “อาการในจิต”
    การดูจิตก็มีหลายอย่างให้ดู
    คือ ดูอาการหรือความรู้สึก ความตรึกนึก แล้วก็การรับรู้

    ในด้านของการรับรู้เรียกว่า “ดูผู้รู้”
    มันก็อยู่ด้วยกัน แล้วแต่เราจะมองด้านไหน
    มองในด้านความรู้สึก หรือมองในด้านการรับรู้

    จิตมันมีแง่ให้มอง มีเหลี่ยมให้มอง

    การดูที่การรับรู้มันจะดูยาก
    ที่ว่าดูผู้รู้ นั่นแหละ เรียกว่า “ดูลักษณะของการรับรู้”
    เพราะฉะนั้นดูที่อาการ ดูที่ความรู้สึกอันนั้น
    เรียกว่าไปดูในด้านของคุณสมบัติปฏิกิริยา ความรู้สึกในจิต

    อีกด้านหนึ่งคือ “ความนึกคิด”
    เวลาที่จิตมันนึกคิด จิตมันไม่มีสติ มันไม่มีผู้รู้
    ก็คิดไปๆๆๆ คิดไปเรื่องนั้น คิดไปเรื่องนี้ คิดไปเรื่องโน้น
    นั่นแหละลักษณะของจิต

    เราจึงต้องมีสติเข้าไประลึก
    สังเกตความคิดที่มันผุดขึ้นมา

    ถ้าสติรู้ทันต่อความคิดอยู่บ่อยๆ เองๆ
    จนกระทั่งว่าพอคิด...รู้ คิด....รู้ทันที
    พอคิดรู้ทันทีเรื่องจะไม่ยาว เรื่องก็สั้นเข้ามา สั้นเข้ามา สั้นเข้ามา
    จนกระทั่งคิดปุ๊บรู้ทันที คิดปุ๊บรู้ทันที
    เรียกว่า “รู้ต้นจิตที่กำลังจะคิด” (ต้นจิตของความคิด)
    จิตก็ไม่มีโอกาสจะผลิตบัญญัติ

    พอมันคิดอะไรไม่ได้ก็ไม่ปรุงไม่ออก
    ก็ไม่มีบัญญัติที่จะไปเป็นเรื่องเป็นราว
    เป็นความหมายเป็นชื่อภาษา ตัดไปหมด

    เหมือนกับไปทำลายรังของมัน
    ไปถึงรังของมันหรือถึงโรงงานผลิต
    โรงงานผลิตที่จะเป็นบัญญัติ
    ที่จะไปเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

    โรงงานของมันก็คือ “ความปรุงแต่ง” นี่แหละ
    ความตรึกนึกปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ปรุงแต่ง
    ที่สุดมันก็เป็นบัญญัติขึ้นมา เป็นเรื่องเป็นราว เป็นความหมาย

    ในที่สุดก็เกิดกิเลส ชอบใจ ไม่ชอบใจ
    พอมีสติไปรู้ถึงโรงงานผลิต
    ก็คือ ความตรึกนึก ความคิดนึก ความรู้สึก

    พอมันจะตรึกนึก เอ้า! รู้
    พอจะตรึกนึก รู้ทันมันก็จะผลิตไม่ได้

    นี่เรียกว่า “ทำลายรัง” ทำลายโรงงานผลิต บัญญัติไม่ปรากฏได้เลย
    เพราะรู้ทัน รู้ทันความตรึกนึก นึก...รู้ นึก...รู้ นึก....รู้ทันที

    เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็จะรวมตัวเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ
    ผู้ปฏิบัติก็จะมีความรู้สึกว่า จิตมันเลื่อนระดับ
    มีความดื่มด่ำลงไปอีกระดับหนึ่ง
    เรียกว่า สมาธิเกิดขึ้นมาโดยไม่ต้องไปตั้งใจทำสมาธิ
    ไม่ต้องไปเพ่งอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งให้มีสมาธิเสียก่อน

    สติยังรู้ทันต่อความคิดทันต่อจิต
    ทันต่อความปรุงแต่งแล้วก็ปล่อยวางทัน
    ที่สุดก็รวมเป็นสมาธิ

    เวลามีสมาธิ จิตมีความรู้สึกดื่มด่ำลงไป
    ก็รู้อาการนั้นลงไปอีก
    สติก็ตามรู้อาการของจิตที่มีสมาธิมั่นคง
    ดื่มด่ำหนักแน่นลงไป ก็รู้ลงไปอีก
    แล้วก็อาจจะไหวตัวขึ้นมา
    เปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

    จิตจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่ว่าอะไร
    มันจะลงไปอีกก็ไม่ว่าอะไร
    มันเปลี่ยนแปลง ก็รู้ว่ามันเปลี่ยนแปลง
    เพราะว่าจิตที่เปลี่ยนแปลงก็จะบอก
    “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ให้

    ยิ่งเปลี่ยนแปลงๆ ไปอย่างนั้นอย่างนี้ตลอดเวลา
    ก็จะได้เห็นความไม่เที่ยง เห็นอนัตตา
    ว่าจิตก็ไม่ใช่ตัวตน สติที่ระลึกก็ไม่ใช่ตัวตน ผู้รู้ก็ไม่ใช่ตัวตน



    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต้องเข้ามาดู รู้ถึงจิตใจ
    ฝึกหัดอบรมมาตามลำดับ รู้จิตรู้ใจที่กำลังเป็นไปอยู่ทุกขณะ
    ลด ละ ปล่อยวาง ว่างอยู่เสมอ

    การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก
    คนที่ทำก็ดูเป็นของง่ายๆ
    คนที่ทำไม่ได้ก็ดูยากแสนยาก

    เหมือนเส้นผมบังภูเขา ต้องพลิกให้เป็น พลิกนิดเดียว
    ถ้าพลิกเป็นก็เป็นของไม่ได้อยู่ไกล ไม่ได้อยู่ที่ไหน
    มันก็อยู่ที่ใจที่ผู้รู้ ที่ดูอยู่นั่นแหละ
    มองข้ามไปข้ามมาจึงหาไม่เจอ
    เพราะฉะนั้นพลิกดูให้เป็น

    นี่คือการที่เราจะต้องฝึกมาตามลำดับ
    ยิ่งทำไปก็ยิ่งให้มีความเป็นปกติมากขึ้น
    ไร้จากการบังคับยิ่งขึ้น ปฏิบัติโดยไม่ต้องบังคับอะไร

    ที่สุดคือหยุดจิตใจไว้นิ่งๆ ไม่วิ่งตามอารมณ์
    หยุดใจให้ไร้อยาก หยุดจิตไว้นิ่งๆ รู้ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง
    หยุดจิตก็จะรู้จิต

    หยุดจิต หมายถึง ไม่ต้องจงใจแล่นไปรับอารมณ์

    จริงอยู่ในเบื้องต้นที่เราฝึกฝนปฏิบัติมา
    มีการจงใจที่จะนำจิตไปรับอารมณ์ไปรับตรงนั้น ไปรับตรงนี้
    บางทีก็บังคับให้ไปอยู่ตรงนั้น บังคับให้อยู่ตรงนี้
    ยังมีความจงใจ มีการจัดแจง มีการบังคับจิตอยู่

    ใหม่ๆ ก็ทำไปอย่างนั้นแหละ
    ฝึกใหม่ๆ ก็ทำกันอย่างนั้น
    แต่เมื่อฝึกมากขึ้น มากขึ้น ก็กลับตาลปัตร

    คือกลับมาดูเฉยๆ ไม่ไป ไม่วิ่งไป ไม่แล่นไป
    ไม่ฝักใฝ่ไขว่คว้าค้นหาอารมณ์ หยุดดูเฉยๆ
    เรียกว่า หยุดจิตใจไว้นิ่งๆ แล้วจิตก็รู้จิตของมันเอง

    เมื่อจิตไม่ฝักใฝ่ไปในอารมณ์ ก็จะหยุด
    หยุดด้วย การรู้ทัน จิตรู้จิต
    คอยสังเกตดูว่ามันจะมีการบังคับไป ก็วางอยู่เฉยๆ
    ทำเหมือนผู้ไม่ได้ปฏิบัติอะไร
    มาหยุดอยู่ แต่มันก็รู้ของมันเอง

    สติจะทำหน้าที่ เรียกว่า ทำเหมือนไม่ได้ทำ
    ปฏิบัติเหมือนไม่ได้ปฏิบัติ
    อยู่เฉยๆแท้ แต่มันก็ทำของมัน

    คือสติสัมปชัญญะทำหน้าที่คอยรู้เอง ถึงไม่ดูมันก็รู้อยู่
    มันก็จะเกิดความพอดี เกิดความเป็นกลาง
    ทุกอย่างก็จะเบา แล้วก็จะดูรู้อย่างละเอียดขึ้น

    อะไรจะมาสัมผัสถึงจิตมันก็รู้
    หยุดจิตใจไว้นิ่งๆ ไม่วิ่งไปตามอารมณ์
    ก็ไม่ได้หมายถึงไปบังคับจิตไว้
    ก็ยังปล่อยฟรีๆ อยู่อย่างนั้นแหละ
    ไม่ได้บังคับจิตให้หยุด
    แต่มันหยุดได้ด้วยการรู้ทันจิต
    แล้วก็ไม่ทะเยอทะยานออกไป มันก็อยู่ของมัน

    แต่มันก็อยู่ในลักษณะที่แกว่งได้ขยับได้ แกว่งก็แกว่งไม่มาก
    พอมันแกว่งก็รู้ ไหวก็รู้ จิตจะไหวอย่างไรก็รู้ รู้ทันก็ไม่หลุดไปไหน

    เหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกา
    ถึงมันจะแกว่งก็ไม่หลุดไปไหน เพราะมันมีห่วงคล้องอยู่

    อันนี้ก็เหมือนกัน มีสติคอยรู้อยู่
    ก็ไม่หลุดไปไหน แต่มันก็แกว่งได้
    หรือเรานั่งอยู่นิ่งๆ เราก็ไม่ได้บังคับให้มันนิ่ง มันก็ขยับได้บ้าง

    เปรียบเหมือนกับคน คนที่นั่งอยู่ก็รู้ตัวอยู่
    ตัวจะขยับก็รู้ แต่ก็ไม่ลุกไปไหน
    ขยับมือ ขยับขา แล้วก็ไม่ลุกไปไหน
    เพราะรู้อยู่ แต่มันขยับเขยื้อนได้



    จิตก็เหมือนกัน เรามีสติคอยดูคอยรู้อยู่
    แต่ก็ไม่ได้วิ่งไปไหน
    แต่มันก็ขยับตัวของมันอยู่ ก็จะไม่เกิดความกดดัน

    จิตเหมือนเด็ก ธรรมดาเด็กก็ซนเล่นโน่น ปีนนี่
    เราเป็นคนเลี้ยงเด็ก ถ้าเราไปจับเขาตรึงเข้าไว้เฉยๆ
    เขาก็จะขัดเคือง จะร้องตามนิสัยของเด็กที่ต้องวิ่งต้องเล่น

    คนเลี้ยงเด็กต้องรู้นิสัยของเด็ก
    ปล่อยให้เขาวิ่งเล่น ไม่บังคับไว้
    แต่ว่าสายตาต้องชำเลืองดูอยู่นะ

    ผู้เป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นพี่เลี้ยงต้องคอยดูเด็ก
    ไม่ใช่ปล่อยเขาวิ่งตามเองตามราว คือดูแลเขาอยู่
    แต่ให้เขาอยู่ในกรอบ อยู่ในบริเวณบ้านบริเวณรั้วเหล่านี้
    แต่ดูเขาอยู่ ถ้าเกิดเขาจะพลัดออกไปจริงๆ
    ก็ต้องไปแตะกันหน่อย ไปรั้งไว้หน่อย

    แต่ถ้าอยู่ในกรอบก็ปล่อยให้เขาวิ่งไป
    เด็กเขาก็สบายของเขา

    จิตใจนี่เหมือนกับเด็ก
    ถ้าเราไปบังคับตรึงไว้มันก็อึดอัดขัดเคืองต้องให้มันขยับตัวได้
    จะไปตรงไหนก็ปล่อยมันตรงนั้น แต่ให้อยู่ในกรอบ
    จิตจะรู้ตรงไหน ดูตรงไหนอย่างไรก็ให้อยู่ในตัวนี้

    นอกจากจะออกนอกตัว แล้วรู้ทัน
    รู้ทันก็กลับเข้ามาดูแลอยู่ ดูจิตดูใจอยู่
    ในที่สุดมันหยุดของมัน

    เด็กวิ่งไปวิ่งมาเดี๋ยวก็หมดเรื่องจะเล่น
    ก็นั่งสงบ แล้วก็นอนสงบอยู่ตรงนั้น
    เวลาเด็กร้องไห้ เราไปบังคับเขาก็ยิ่งร้องใหญ่

    เด็กบางคนขู่อาจจะเงียบ
    บางคนเอาอะไรไปปะเหลาะให้ก็เงียบ
    บางคนปะเหลาะก็ไม่เงียบ ก็ไม่เงียบ
    ก็ต้องปล่อยไป แต่ดูแลอยู่
    เหมือนจิตนี้ข่มก็ไม่อยู่ ปลอบโยนก็ไม่อยู่ก็ต้องปล่อย

    สำหรับคนที่จิตใจฟุ้ง ถ้าเราข่มอาจจะอยู่บางครั้ง
    บางครั้งปะเหลาะก็อยู่ บางครั้งไม่เอาสักเรื่อง
    ข่มก็แล้ว ปลอบก็แล้ว ก็ยังจะฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น
    ก็เลยต้องปล่อย จะฟุ้งก็ฟุ้งไปเลย

    เหมือนเด็กอยากจะยากจะร้องก็ร้องไป
    แต่ว่าพ่อแม่ชำเลียงดูอยู่นะ
    เขาร้องไปสักพักเห็นใครไม่สนใจเขาก็เงียบไป
    จิตก็เหมือนกัน อยากจะฟุ้งก็ฟุ้งไป
    หนักเข้าก็หยุดของมันเองได้ ที่มันไม่หยุด

    เพราะบางทีเราไปบีบมันไว้ จะฟุ้งก็บีบไว้ จะฟุ้งก็บีบไว้
    การที่เราไปบีบกลับยิ่งทำให้ฟุ้ง

    เหมือนถุงน้ำ ถ้าวางอยู่เฉยๆ ก็อยู่อย่างนั้น
    ถ้าเราไปบีบมันก็ปลิ้นไปปลิ้นมา
    จิตนี้ไปบีบไปบังคับมัน ก็เลยแกว่ง มันก็เลยฟุ้งไปฟุ้งมา

    เราก็ต้องดูจิต บางครั้งก็ข่มอยู่ บางครั้งก็ข่มไม่อยู่
    บางครั้งปลอบอยู่ บางครั้งปลอบไม่อยู่
    ก็ต้องปล่อย ฟุ้งมากแต่ก็คอยดู คอยรู้ไปอย่างปล่อยวาง



    การปฏิบัติธรรมจึงต้องมีกลยุทธ์ต่างๆ พลิกแพลง
    บางเวลาบางขณะใช้แบบเดียวอย่างเดียวไม่ได้

    การต่อสู้กับศัตรู เราก็ต้องมีกลยุทธ์ มีวิธี มีอาวุธหลายอย่างมาใช้
    ถ้าเราใช้ดื้อๆ ไปอย่างเดียว กิเลสมันรู้ทาง
    มันก็ตลบมาเล่นงานอย่างใดจนได้

    กิเลสมันมาเป็นศัตรูไม่ได้ มันก็หลอกว่าเป็นพวก
    เราไม่รู้ตัวมันก็หลอกจนได้

    ถ้ารู้ทันว่านี่คือศัตรู ความโลภ ความโกรธ ความฟุ้งซ่าน ความขัดเคืองใจ
    รู้ว่าเป็นกิเลสเป็นศัตรู ก็แก้ได้ ผ่านพ้นได้

    สิ่งหล่านี้มันไม่มาตรงๆ มันมาทำเป็นมิตร
    ให้เราหลงใหลพอใจในความสงบ พอใจในนิมิต
    พอใจในความว่าง พอใจในสิ่งที่ดีนั่นแหละ

    มันหลอกให้พอใจ ให้หลงใหล ให้เพลิดเพลิน เลยกลายเป็นถลำตัว
    เป็นเหยื่อของศัตรู เหยื่อของกิลส โดนหลอกเอาจนได้
    ต้องระวัง ดูใจของตนเองว่ามีอะไรมาหลอกไหม

    หลงใหลเลิดเพลินอยู่ในความสงบไหม
    สงบแล้วพอใจ ติดใจนี่ถูกหลอก
    อย่าลืมว่าความพอใจ ติดใจนี่ก็เป็นกิเลส
    อย่าเข้าใจว่าเป็นมิตร การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้า

    พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละ ให้รู้ ให้ละทุกอย่าง
    อย่าไปหลงเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ อารมณ์แห่งความสงบ
    อารมณ์ของปีติ อารมณ์ของความสุข
    มันยั่วยวนชวนให้หลงใหลติดใจยิ่งเคยพบ
    ไม่เคยเจอต่อความสุขสงบ พอมาเจอแล้วมันก็ติดใจ

    เหมือนได้นอน ได้นั่งห้องแอร์ เย็นสบาย
    ไม่อยากออก ติดอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ก้าวหน้า
    เพราะฉะนั้นต้องละความพอใจ ติดใจ หลงใหลพลิดเพลิน

    บางทีมันก็มาหลอกในทางอื่น
    จนบางครั้งหลอกว่าเราเป็นผู้วิเศษก็ได้
    หลอกให้เราคิดว่าเราเป็นผู้สิ้นกิเลสก็มี
    ทำไปทำมาบางทีถูกหลอกว่าเป็นผู้วิเศษ
    เราเป็นผู้มีฤทธิ์ เป็นผู้ทรงคุณ มีญาณวิเศษ
    บางทีหลอกว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วก็มี

    เพราะฉะนั้นต้องอย่าเชื่อกิเลสง่ายๆ อย่าเชื่อใจตนเอง
    ต้องวิเคราะห์พิจาณาทำใจให้เป็นกลาง
    แล้วทุกในอย่างเราก็จะตัดสินได้ออก
    อย่าน้อมใจเชื่ออะไรในจิตตัวเอง
    ยิ่งบางคนเกิดนิมิตอะไรขึ้นมา
    เห็นภาพนิมิตจะถูกหลอกไปเรื่อยๆ

    บางทีก็ถูกหลอกด้วยญาณ รู้สึกว่าเรามีปัญญาดี
    พอมันเกิดธรรมอะไรขึ้นมาคิดพิจารณาทะลุปรุโปร่ง
    คิดแล้วคิดอีก แล่นไปเรื่อย ถูกหลอกน่ะ
    มันเอาความรู้ เอาญาณมาหลอก

    พอมีความรู้ความเข้าใจ ก็เตลิดไปกับความรู้นั้น
    เลยลืมปัจจุบันหมด ลืมปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบัน
    มัวไปคิดในธรรมะ วิจัยในธรรมเสียมากมาย
    แล้วก็หลงว่าเราปัญญาดีรู้แจ้ง เรามีญาณ
    มีความเข้าใจได้หมด มันหลอกเอาไปจนได้

    เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องรู้ทันใจ
    พอจิตจะเริ่มปรุงในเรื่องธรรมะก็ตาม
    กำลังวิจัยวิจารณ์อะไรก็ให้รู้ว่าไปบัญญัติแล้ว
    เป็นอดีตอนาคต เป็นสมมติแล้ว รู้ทัน รู้ตัว รู้ใจ
    กลับมาสู่สภาวะที่เป็นปัจจุบัน

    ฉะนั้นการปฏิบัตินี้จึงต้องรอบคอบถี่ถ้วน
    จำเป็นที่จะต้องเชี่ยวชาญในการตามดูรู้จิตใจ
    หากปฏิบัติไม่เข้าถึงจิตใจ ดูจิตูใจไม่เป็น
    มันก็ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่นั่นแหละ กิเลสหลอกไปจนได้

    ถ้าตามดูอะไรไม่ออก ก็ให้ดูเข้ามาที่ใจ รู้มาที่ใจ รู้มาที่ผู้รู้ไว้
    ก็จะเป็นจิตที่อยู่เหนืออทุกสิ่งทุกอย่าง
    จิตจะเป็นอิสระตัวเอง ไม่เป็นทาสของกิเลส ไม่เป็นทาสของอารมณ์
    จะมีอะไรเข้ามาในจิตใจก็ตาม

    อาวุธที่ดีที่สุดที่จะคุ้มกันจิตเราได้ก็คือ
    การมีสติรู้เท่าทันต่อจิตใจ

    สติเป็นธรรมที่พึงปรารถนาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ
    จะอยู่ตรงไหนจะทำอะไรก็ต้องมีสติไว้ ฝึกไว้ รู้ไว้

    จะเห็นว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องรู้อยู่ในตัว
    ในกายในจิตของตนเองให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ว่าทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน
    ชีวิตนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ใช่เขา
    สักแต่ว่าเป็นธาตุ เป็นธรรมชาติ

    ส่วนหนึ่งก็เป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งก็เป็นนามธรรม

    คือว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “รูป” มีสิ่งที่เรียกว่าว่า “นาม”
    มีสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    รูปก็ไม่ใช่ตัวตน เวทนาก็ไม่ตัวตน สัญญาก็ไม่ใช่ตัวตน
    สังขารก็ไม่ใช่ตัวตน วิญญาณก็ไม่ใช่ตัวตน

    รูปังอนิจจัง...รูปไม่เที่ยง, รูปังอนัตตา...รูปไม่ใช่ตัวตน,
    เวทนาอนิจจา...เวทนาไม่เที่ยง, เวทนาอนัตตา...เวทนาไม่ใช่ตัวตน,
    สัญญาอนิจจา...สัญญาไม่เที่ยง, สัญญาอนัตตา...สัญญาไม่ใช่ตัวตน
    สังขาราอนิจจา สังขาราอนัตตา...สังขารไม่เที่ยง สังขารไม่ใช่ตัวตน,
    วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณังอนัตตา...วิญญาณไม่เที่ยง วิญญาณไม่ใช่ตัวตน

    ฉะนั้น ต้องดูเข้ามาที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    วิญญาณทางตาคือการเห็น
    วิญญาณทางหูคือการได้ยินเสียง
    วิญญาณทางจมูกคือการรู้กลิ่น
    วิญญาณทางลิ้นคือการรู้รส
    วิญญาณทางการกายคือโผฏฐัพพารมณ์
    เข้าไปรู้สึกเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง

    วิญญาณทางใจ ก็คือ การนึกคิด การรู้สึกต่ออารมณ์
    ตลอดทั้งผู้รู้ ผู้ดู เป็นมโนวิญญาณ

    อย่าหลงว่ามันเป็นตัวเรา
    ให้เห็นว่าไม่ใช่เรา ได้ยินว่าไม่ใช่เรา
    คิดนึกไม่ใช่เรา ผู้รู้ไม่ใช่เรา สักแต่ว่าเป็นวิญญาณ

    คือ สักแต่ว่าเป็นธาตุรู้ที่เกิดดับ
    รูปก็ไม่ใช่ตัวเราของเราอะไร
    หากกำหนดเป็นก้อนเป็นกลุ่ม มันก็ยึดเป็นตัวตน
    กำหนดกระจายลงไป
    ไปที่ความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
    สี เสียง กลิ่น รส ให้เห็นแต่ละอย่าง

    จึงเห็นปรากฏว่ารูปมีลักษณะแห่งความเสื่อมสลาย
    กระทบแล้วก็สลาย เหมื่อนคลื่นที่กระทบฝั่ง
    พอกระทบเข้าก็แตกสลายไป
    สิ่งต่างๆ เป็นรูปพอมากระทบแล้วก็แตกสลายไป

    ทางกายถ้ารู้ที่รูปต่างๆ
    เห็นความเสื่อมสลายจึงรู้สึกมันพริ้วๆ อูยู่ทั่วกาย
    เสียงกระทบหูก็ดับไปดังก็ดับ สีกระทบตา กระทบก็ดับ
    กลิ่นกระทบจมูกก็ดับ รสกระทบลิ้นมันก็ดับ คือมันแตกสลาย

    รูปมันก็มีลักษณะอย่างนั้น
    แต่มันก็เกิดใหม่ ทยอยกันเกิดทยอยกันดับ เป็นไปอยู่อย่างนี้

    พอเห็นอย่างนี้ เห็นมากๆ
    มันก็จะได้คลาย ลด ละ เลิก ความเข้าใจผิด
    ที่เคยยึดถือเป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์



    เพราะฉะนั้น ต้องฝึกฝนกันไปอย่างนี้
    เมื่อเรารู้เข้าไปสู่วงในได้ ไปรู้จิตรู้ใจ รู้ความรู้สึกได้
    ก็ถือว่าเราเข้าไปถึงขึ้นปรมัตถธรรมแล้ว
    ไม่จำเป็นต้องเอาไปเอาสมมติบัญญัติแล้ว
    คัดทิ้งสมมติบัญญัติออกไป

    แต่ถ้ายังรู้วงในไม่ได้ ก็ต้องเอาบัญญัติมาเป็นสื่อ
    สื่อนำเข้ามา ไปเพ่งลมหายใจเข้า เพ่งลมหายใจออก
    เข้ารู้ออกรู้ ยาว สั้นรู้ เพื่อให้จิตมันอยู่
    แล้วก็รวมรู้เข้ามาในความรู้สึกข้างใน ในกายในจิต

    หรือคอยรู้อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
    อิริยาบถย่อย คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ก้ม เงย เหลียวซ้าย แลขวา
    ให้รับรู้ รับทราบ ให้จิตมันเกาะอยู่
    รู้อยู่กับการขยับเขยื้อนเคลื่อนกาย ยืน เดิน นั่ง นอน

    เมื่อจิตใจทรงตัวอยู่ รู้ตัวอยู่
    แล้วก็รวมเข้าไปรู้ถึงข้างในที่เป็นความรู้สึกในกายในจิต
    มันก็จะเข้ามาเหมือนกัน

    จะเข้ามาด้วยการมีลมหายใจเป็นสื่อให้เข้ามา
    หรือจะเข้ามาจากอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
    อิริยาบถย่อย คู่หยียด เคลื่อนไหว
    สื่อเข้ามา มารู้ถึงความรู้สึกข้างใน ในกายในจิต ก็ได้เหมือนกัน

    บางคนก็ใช้อาการ ๓๒ เป็นสื่อเข้ามาพิจารณา
    ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หัวใจ ตับ ปอด ไส้
    อุจจาระ ปัสสาวะ เลือดเหงื่อ เสลด น้ำลาย น้ำตา เหล่านี้ เป็นต้น
    กลับไปกลับมา จิตใจสงบ สลดสังเวช

    จิตรวมเป็นสมาธิ
    แล้วรวมรู้เข้ามาสู่ความรู้สึกภายในกายภายในจิต
    แล้วก็ปล่อยสมมติออกไป

    นี่การปฏิบัติต้องเข้ามาวงใน มารู้ข้างใน
    รู้ในความรู้สึกในกายในจิต

    จะรู้เข้ามาโดยวิธีการอย่างไรก็ตาม
    ที่สุดแล้วก็เหมือนกัน แต่สื่อที่จะรู้เข้ามามีต่างกันออกไป
    แล้วแต่จริตนิสัย แล้วแต่ความถนัด

    แม้แต่การพิจารณาในความเป็นธาตุ
    บางคนถนัดแยกกายออกไป
    พยายามนึกกายส่วนนี้ธาตุดิน กายส่วนนี้ธาตุน้ำ
    อันนี้ธาตุไฟ นี้ธาตุลม เป็นกองหนึ่ง
    ดินก็ไปกองหนึ่งไฟก็ไปกองหนึ่ง น้ำก็กองหนึ่ง ลมก็กองหนึ่ง

    แยกไปแยกมาจิตใจก็สงบ
    แล้วจึงรวมรู้เข้ามา ดูจิต ดูใจ ดูความรู้สึก
    ดูความเป็นไปในกายในจิต

    จิตมีสมาธิก็ดูความรู้สึกที่มีสมาธิ
    มีปีติ มีความสุข ก็ดูมาที่ปีติ ที่ความสุขกันไปตลอด
    ทั้งเป็นผู้รู้ ดูผู้รู้จนเห็นความหมดไปสิ้นไป ดับไป
    มันก็เข้ามาสู่วิปัสสนาได้

    นี่โดยอาศัย ธาตุทั้งสี่เป็นสื่อ
    อาศัยลมหายใจเป็นสื่อ
    อาศัยอิริยาบถเป็นสื่อ
    อาศัยพิจารณาซากศพชนิดต่างๆ เป็นสื่อเข้ามา

    พอเข้ามาแล้วมันก็ไม่เอาแล้วสมมติ
    ไม่ต้องไปนึกคิดอะไรในสมมติบัญญัติ
    มีคำบริกรรมที่เคยใช้ก็ปลดออกไป
    เพราะอันนั้นเป็นเพียงสื่อ
    เป็นเรื่องกำกับให้จิตอยู่กับกรรมฐานที่ทำอยู่

    พอมันเข้ามารู้ข้างใน รู้จิตรู้ใจ รู้ความรู้สึก
    สื่อเหล่านั้นก็ปล่อยออกไป หลุดออกไป ไม่มีคำบริกรรมใดๆ


    เหมือนคนที่ ฝึกรู้เข้าสู่วงใน ดูในกายในจิตเป็นแล้ว
    ทำปุ๊ปมันก็เข้าไปได้เลย ชำนาญแล้วก็เข้าไปเลย
    รู้ช่องทางที่จะจับความรู้สึก
    ไม่ใช่ว่าเราทำทีไรก็ต้องไปเริ่มต้นไต่ลมหายใจ ไต่อิริยาบถเข้ามา

    เมื่อเราเข้าใจ ฝึกหัดจนขำนาญก็เข้ามาเลย
    ปฏิบัติก็รู้สภาวะไปเลย ระลึกรู้รูป นาม รู้ปรมัตถ์ รู้จิตรู้ใจ รู้ทั่วไป

    เพียงแต่คอยปรับผ่อนปล่อยวาง
    รักษาความเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ไว้เท่านั้นแหละ

    ถ้ามันออกไปอีก ก็รวมรู้ รู้เข้ามาในจิต
    แม้มันจะคิดออกไปข้างนอก พอรู้ที่ความคิด มันก็เข้ามาข้างใน
    ไม่ต้องดึงมามันก็เข้ามาอยู่แล้ว
    พอรู้ที่ความคิด มันก็กลับเข้ามาสู่ข้างในอยู่แล้ว

    เพราะความคิดมันอยู่ในตัวนี้
    แต่อารมณ์ของความคิดมันเป็นเรื่องราวภายนอก
    พอสติปล่อยจากเรื่องราวมารู้ที่คิด
    รู้ที่คิดมันก็กลับมารู้ข้างใน
    เมื่อรู้ความคิดแล้วมีอะไรเกิดต่อก็รู้กันต่อไป
    คิดอีกก็รู้อีก มีความรู้สึกอะไรปรากฏแทรกซ้อนสลับเข้ามาก็รู้กันไป

    การปฏิบัติเมื่อชำนาญการรู้ภายในแล้ว
    ก็จะไม่เลือกอารมณ์แล้ว ไม่มีรูปแบบ
    ไม่มีกฏเกณฑ์ว่าจะต้องรู้ตรงนั้น มาตรงนี้
    มันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ทิ้งรูปแบบทั้งหมด

    กำหนดรู้เท่าทัน อะไรจะปรากฏ รู้อันนั้น รู้อันนี้ แล้วแต่มันจะรู้
    บาทีก็รู้ความไหวที่กาย บางทีก็รู้ที่ใจ บางทีก็ได้ยินเสียง
    บางทก็รู้ความรู้สึกจิต รู้ความคิด รู้ความไหว รู้ใจที่รู้สึก รู้ความตรึกนึก
    รู้เป็นขณะๆๆ รุดหน้าเรื่อยๆไป

    เหมือนดูแต่ของใหม่ หมดแล้วก็แล้วไป ดูใหม่
    ดูเฉพาะที่มันปรากฏชั่วขณะที่เป็นปัจจุบัน ปัจจุบัน นิดเดียว นิดเดียว

    เพราะฉะนั้นอย่าไปห่วง บางคนก็ห่วง ห่วงว่าไม่มีปัญญา
    กลับไปวิจัยวิจารณ์ไปอีก เลยกลายเป็นนึกคิดเอา
    ให้มีสติรู้ปัจจุบันๆๆให้มันสั้นที่สุด
    ชั่วขณะนิดเดียวนิดเดียวให้ได้ก่อน ปัญญาก็แจ้งขึ้นมาเอง

    ขอให้สติอยู่กับปัจจุบันไว้
    รู้ทันรูปนามในปัจจุบันในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
    แล้วก็จะเห็นเกิดดับมากมาย
    เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เป็นวิปัสสนา
    มันรู้โดยฉับพลันไม่ได้เกิดจากการคิดนึก
    เป็นปัญญาอัตโนมัติ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

    การปฏิบัติ จึงต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง
    เป็นกลางพอดีๆ ไม่เพ่งแต่ไม่เผลอ
    เวลาเราฝึกใหม่ๆ คอยจะตกไปข้างตึงบ้าง ข้างหย่อนบ้างเกินไป
    เพ่งเกินไป พอผ่อนลงมาก็หย่อน มันไม่พอดี
    พอดีได้หน่อยมันก็หลุดไปอีก ก็ต้องคอยปรับ

    เมื่อชำนิชำนาญก็จะประคองจิตได้ระยะยาวขึ้น
    ความเป็นกลาง ความพอดี
    การอยู่กับปัจจุบันก็จะอยู่อย่างต่อเนื่องได้มากขึ้น
    ก็จะเป็นปัจจัยต่อการรู้แจ้งได้มากขึ้น
    ฉะนั้นก็พยายามฝึกฝนอบรมกันไป

    ตามที่ได้แสดงมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา
    ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
    ขอความสุขความเจริญในธรรม จงมีแก่ทุกท่านเทอญ

    ที่ีมา แสดงกระทู้ - กลยุทธ์รักษาจิต : พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี • ลานธรรมจักร
     

แชร์หน้านี้