การปฏิบัติจริงปฏิบัติให้บริสุทธิ์ : พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 16 กุมภาพันธ์ 2012.

  1. nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ธรรมโอวาท
    ของ
    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
    พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
    วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
    เทศนาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗



    กายกมฺมํ วจีกมฺมํ มโนกมฺมํ
    ณ บัดนี้จะได้แสดงในธรรมะซึ่งเป็นเรื่องสนับสนุนบุญกุศลทั้งหลาย
    อันเปรียบเหมือนเราปลูกต้นไม้ ถ้าไม่รักษาก็ไม่เจริญ
    ๑. ลำต้นเอน เฉา
    ๒. ออกผลไม่สมบูรณ์

    ฉันใด...พุทธบริษัทซึ่งต่างพากันสร้างกุศลทุกอย่าง
    ถ้าไม่หมั่นดูแลในกิจการของตน กุศลก็จะไม่เจริญงอกงาม
    ฉะนั้น...ให้เราปรารถนาบุญอันบริสุทธิ์
    บุญ...เป็นของบริสุทธิ์ แต่ผู้ทำอาจบริสุทธิ์ก็มี ไม่บริสุทธิ์ก็มี

    เรื่องมากเป็นเหตุให้บุญของเราไม่ค่อยบริสุทธิ์
    เหมือนต้นไม้มากนักก็ย่อมดูไม่ทั่วถึง
    บางต้นก็เจริญดี บางต้นก็ตาย
    ความดีของพุทธบริษัทก็เช่นเดียวกัน
    เราจะต้องมีเครื่องสนับสนุนให้สมบูรณ์

    บางคนเกิดมามีทรัพย์บริสุทธิ์สะอาด บางคนก็ไม่สะอาด
    เหตุนั้นเราจะทำบุญกุศลก็ต้องให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์
    ถ้าเรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก
    เราก็จะได้อิฏฐารมณ์เป็นกุศลอันหนึ่ง
    (อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา เป็นอารมณ์ที่ดีปานกลาง
    เป็นที่น่าปรารถนาของคนทั่วไป คือ โลกธรรม ๘ นั่นเอง
    ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตรงกันข้ามกับ อนิฏฐารมณ์
    คือ เสียลาภ เสียยศ เสียสรรเสริญ เสียสุข - เพิ่มเติมโดยผู้ตั้งกระทู้)

    บางคนได้สิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ ไม่สมปรารถนา
    เมื่อเป็นเช่นนี้จะโทษใครเล่า ? ต้องลงโทษว่า "กรรมเก่า" ให้ผลเรื่องต่างๆ ก็สงบ
    "ผลกรรม" เป็นของตัวเราเป็นผู้ทำขึ้น จึงทำให้เราเกิดมาในโลก
    เมื่อเราต้องการความบริสุทธิ์ เราต้องทำความบริสุทธิ์ให้พร้อมในกาย วาจา ใจ
    ทาน ศีล ภาวนา ก็ทำให้บริสุทธิ์
    เมตตากายกรรม ช่วยเหลือบุญกุศลให้เป็นของสะอาด

    เราจะบริจาคของเป็นทานก็ต้องแผ่เมตตาจิตเสียก่อน
    ทำวัตถุต่างๆ ให้เป็นวัตถุสมบัติเสียก่อนด้วยเมตตาจิตอันรอบคอบ

    ๑. "วัตถุ" ต่างๆ เปรียบเหมือนผัก

    ๒. "เจตนาสมบัติ" ถ้าขาดความตั้งใจก็เรียกว่า มันหงิกงอไม่งาม
    ความไม่งามย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของปราชญ์บัณฑิต
    ดวงใจของเราจงรักษาไว้ อย่าให้ล้มหายละลายหายสูญ

    ๓. "คุณสมบัติ" เท่ากับเราสร้างความดีให้เกิดในตัีวของเรา
    คือ รักษาศีล ๕, ๘, ๑๐ และ ๒๒๗ เหล่านี้เป็นต้น
    ให้เป็นปหานกิจ-ภาวนากิจ ทั้งกิริยา วาจา ใจ
    (ปหานกิจ คือ กิจที่พึงละ, ภาวนากิจ คือ กิจที่พึงอบรมให้เกิดมี - เพิ่มเติมโดยผู้ตั้งกระทู้)
    ต้นไม้นั้นต้องหมั่นตัดยอดจึงจะงาม เช่น ผักบุ้ง เราหมั่นเด็ดมันก็แตกใหม่อีก
    การตัดยอด ได้แก่ การตัดสัญญา อารมณ์ อดีต อนาคต ออกจากใจ

    "การทำจริง" คือ การทำโดยไม่หยุด ไม่หย่อน ไม่เลิก ไม่ถอน
    ถึงผลจะแตกช้า แต่ก็มาก เพราะมันแบ่งส่วนก็ย่อมแลเห็นช้า
    เหมือนต้นประดู่ที่แตกยอดออกมาคลุมต้นของมันเอง
    เราไปอาศัยก็ไ้ด้รับความร่มเย็น ปกคลุมถึงลูกหลานๆ ก็เย็น
    ลูกหลานก็จะกลายเป็นคนมีนิสัยอย่างพ่อแม่
    ต้นกล้วยนั้นก็ดี แต่มียอดเดียวแต่ไปดีตอนผล
    อย่างนี้ก็เหมือนคนที่มีสุขเร็ว มีเร็วดีเร็ว แต่อันตรายมาก
    อย่างช้านั้นดีประโยชน์สุขุม
    ๒ ประการนี้บางคนก็ปฏิบัติได้ผลช้า แต่คนช้าก็อย่าไปแข่งคนเร็ว
    คนเร็วก็อย่าไปแข่งคนช้า อย่าไปเหนี่ยวเขา

    ความดีที่ทำอยู่นี้ให้ผล ๒ อย่าง
    ความชั่วถ้ามีมากนักก็ค่อยๆ หมดไปทีละนิดละหน่อย
    เหมือนเราขัดกระจกกระดานต้องนานหน่อย
    ขัดกระดานจนเป็นเงามองเห็นหน้าได้นั่นแหล่ะจะเก่งมาก
    ขัดกระจกเป็นเงาได้นั้นไม่ค่อยเก่งเพราะธรรมชาติมันก็เป็นเงาอยู่แล้ว

    เราคนเดียวนี้บางทีนั่งพักเดียวก็สบาย
    บางทีนั่งอยู่ตั้งนานก็ไม่สบาย เหตุนั้นต้องบากบั่นพยายาม
    ต้องสร้างความจริง มุ่งจุดไหน ต้องทำจุดนั้นให้เรื่อยไป
    เหมือนรถไฟที่วิ่งไปตามรางฉะนั้น

    ทาน ศีล ภาวนา เปรียบด้วยคนแต่งตัวด้วยเครื่องเงิน, ทอง, เพชร
    บางคนก็แต่งแต่วันพระ พอวันธรรมดาล่อนจ้อนไม่มีอะไรเหลือเลย
    จะแต่งอะไรก็ควรให้แต่งได้สักอย่าง จะเป็นเงิน หรือทอง หรือเพชรก็ได้
    ยิ่งสามารถแต่งได้ทุกอย่างยิ่งดี

    เราเป็นลูกพระพุทธเจ้าจะมาแต่งเครื่องทองเหลือง น่าขายหน้า
    เราเป็นลูกคนมีสกุลต้องแต่งตัวให้เหมาะสมจึงจะเป็นการควร
    ถ้าคนที่วันพระก็ไม่เอา วันธรรมดาก็ไม่เอา
    ก็เหมือนเอา "โซ่" มาแต่งตัวเป็น "นักโทษ" นั่นเอง



    คัดลอกเนื้อหาจาก
    หนังสือแนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน
    พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร. จัดพิมพ์เผยแพร่โดยชมรมกัลยาณธรรม
    ปี พ.ศ. ๒๕๕๒.

    ลี ธมฺมธโร. แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๑.
    กรุงเทพฯ : ขุมทองอุตสาหกรรมและการพิมพ์, ๒๕๕๒. หน้า ๒๖๔-๒๖๕

    ที่มาแสดงกระทู้ - การปฏิบัติจริงปฏิบัติให้บริสุทธิ์ : พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร • ลานธรรมจักร
     

แชร์หน้านี้