เรื่องเด่น การฝึกสมาธิเจริญปัญญา พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ฉลาดน้อย, 6 กันยายน 2013.

  1. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    การฝึกสมาธิเจริญปัญญา

    พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

    วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

    การฝึกสมาธิเจริญปัญญา

    พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อศีลมั่นคงดีแล้ว นักปฏิบัติไม่ควรประมาท จงน้อมจิตเพื่อการฝึกอบรมที่สูงขึ้นไป คือการภาวนานั่นเอง หลวงพ่อให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการฝึกสมาธิภาวนาว่า

    “เป็นการฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่น และมีความสงบ เพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอามรณ์ต่ำ ๆ เหมือนน้ำชอบไหลสู่ที่ลุ่มเสมอ

    พวกเกษตรกรเขารู้จักกั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่าง ๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น กั้นฝาย ทำทำนบ ทำชลประทาน เหล่านี้ ก็ล้วนแต่กั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ทั้งนั้น

    พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่างและใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี่เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงสู่ที่ลุ่มเสียหมด จิตใจที่มีการกั้น การฝึกที่ดี ก็ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน

    ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดี ย่อมสำเร็จประโยชน์ ดังนี้เป็นต้น”

    การฝึกจิตเป็นหัวใจของชีวิตนักบวช หลวงพ่อให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากในฐานะเป็นงานหลักของชีวิตประจำวันทีเดียว ดังที่ท่านชี้แนะพระเณรที่วัดหนองป่าพงว่า

    “คนที่จะมีกำลังนี่เดินจงกรมก็ไม่ได้ขาด นั่งสมาธินี่ไม่ได้ขาด สังวรสำรวมไม่ได้ขาด เราสังเกตพระเณรที่นี้ก็ได้ องค์ใดถ้าเห็นว่าฉันเสร็จแล้วหมดธุระแล้ว เข้าไปในกุฏิของท่าน

    ตากจีวรไว้ เดินจงกรม เดินไปตามกุฏิเท่านั้น เราจะเห็นทางเดินเป็นแถว เราเห็นบ่อยครั้ง การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ท่านองค์นี้ไม่เบื่อไม่หน่าย นี่ท่านมีกำลัง ท่านเป็นผู้มีกำลังมาก ทุก ๆ องค์ ถ้าเอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ผมว่ามันสบาย”

    ปริยัติปฏิบัติ

    หลวงพ่อมักแนะนำพระภิกษุสามเณร ผู้ที่มุ่งเข้ามาประพฤติปฏิบัติที่วัดหนองป่าพงว่า

    “ไม่ต้องอ่านหนังสือ ให้อ่านใจตัวเองดีกว่า” แต่ไม่ใช่ว่าท่านประมาทในเรื่องปริยัติธรรม เพียงแต่เป็นห่วงว่าลูกศิษย์จะหลงเข้าใจผิดว่า ตนรู้ธรรมะดีแล้ว ทั้ง ๆ ที่จิตยังเข้าไม่ถึง

    “ปริยัตินี้เหมือนตำรายาที่ชี้บอกให้หารากไม้ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ ออกแสวงหาต้นยา ให้รู้จักว่า ต้นนี้เป็นอย่างนั้น ต้นนั้นเป็นอย่างนี้ มันไม่เกิดประโยชน์อะไร”

    มิหนำซ้ำ ความรู้ที่เป็นสัญญาความทรงจำอาจจะมีโทษต่อผู้ภาวนา

    “นักปริยัติชอบสงสัย เช่น เวลานั่งสมาธิ ถ้าจิตสงบปั๊บ เอ! มันเป็นปฐมฌานละกระมัง ชอบคิดอย่างนี้ พอนึกอย่างนี้จิตถอนเลย ถอนหมดเลย เดี๋ยวก็นึกว่าเป็นทุติยฌานแล้วกระมัง

    อย่าเอามาคิด พวกนี้มันไม่มีป้ายบอก มันคนละอย่าง ไม่มีป้ายบอกว่า นี่ทางเข้าวัดหนองป่าพง มิได้อ่านอย่างนั้น มันไม่บอก มีแต่พวกเกจิอาจารย์มาเขียนไว้ว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มาเขียนไว้ทางนอก

    ถ้าจิตเราเข้าไปสงบถึงขั้นนั้นแล้ว ไม่รู้จักหรอก รู้อยู่แต่ว่ามันไม่เหมือนปริยัติที่เราเรียน ถ้าผู้เรียนปริยัติแล้วชอบกำเข้าไปด้วย ชอบนั่งคอยสังเกตว่าเอ เป็นอย่างไร มันเป็นปฐมฌานแล้วหรือยัง

    นี่มันถอนออกหมดแล้ว ไม่ได้ความ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยาก พอตัณหาเกิดมันจะมีอะไร มันก็ถอนออกพร้อมกัน นี่แหละเราทั้งหลายต้องทิ้งความคิดความสงสัยให้หมด ให้เอาจิตกับกายวาจาล้วน ๆ เข้าปฏิบัติ

    ดูอาการของจิต อย่าแบกคัมภีร์เข้าไปด้วย ไม่มีคัมภีร์ในนั้น ขืนแบกเข้าไปมันเสียหมด เพราะในคัมภีร์ไม่มีสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ผู้ที่เรียนมากๆ รู้มาก ๆ จึงไม่ค่อยสำเร็จ เพราะมาติดตรงนี้”

    หลวงพ่อเคยสอนพระที่แตกฉานในทางปริยัติรูปหนึ่งว่า

    “เอาปริยัติของคุณใส่หีบใส่ห่อเก็บไว้เสีย อย่าเอามาพูด เวลามีอะไรขึ้นมา มันไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนกับเราเขียนหนังสือว่า ความโลภ

    เวลามันเกิดขึ้นในใจมันไม่เหมือนกับตัวหนังสือ เวลาโกรธก็เหมือนกัน เขียนใส่กระดานดำเป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นตัวอักษร เวลามันอยู่ในใจ มันอ่านอะไรไม่ทันหรอก

    มันเป็นขึ้นมาที่นี่เลย สำคัญนัก สำคัญมาก จริงอยู่ปริยัติเขียนไว้ถูก แต่ต้อง โอปนยิโก ให้เป็นคนน้อม ถ้าไม่น้อมก็ไม่รู้จักความจริง”

    อุปกรณ์เสริมส่งสมาธิภาวนา

    “เราจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ที่เรียกว่าเมตตาธรรม ให้เป็นผู้มีเมตตา เป็นคุณธรรม เช่นว่า เรากำจัดตัวโลภะ หรือความเห็นแก่ตัวออก

    ทางพระท่านว่า ทานคือการให้ คนเราถ้าเห็นแก่ตัวแล้วไม่ค่อยสบาย แต่คนชอบจะเห็นแก่ตัวหลาย แต่เจ้าของไม่รู้สึก ไม่รู้สึกตัว

    จะรู้ได้ในเวลาไหน ? รู้ได้ในเวลาเราหิวอาหาร ถ้าเราได้แอปเปิ้ลมา แล้วเราจะแบ่งคนอื่น จะแบ่งให้เพื่อน คิดแล้วคิดอีก อยากจะให้เพื่อนก็อยากจะให้

    แต่ว่าอยากจะเอาลูกเล็ก ๆ ให้จะเอาลูกใหญ่ให้ก็ แหม! เสียดายเหลือเกิน คิดยากนักหนา เอาไป เอาไป เอาลูกนี้ไป เราก็ให้ลูกเล็ก ให้แอปเปิ้ลลูกน้อย ๆ ไป แต่เอาลูกใหญ่ไว้

    นี่ความเห็นแก่ตัวชนิดนี้อันหนึ่ง แต่คนไม่ค่อยจะเห็น เคยมีไหม? เคยเป็นไหม ? การให้ทานนี้ เป็นการทรมานจิตนะ มันอยากให้เขาลูกเล็ก ๆ อุตส่าห์บังคับเอาลูกใหญ่ให้เพื่อน พอให้แล้ว เออ! สบายนะ

    นี่การทรมานจิตอย่างนี้ ต้องบังคับจิตใจให้มันรู้จักให้ ให้มันรู้จักละ ไม่ให้มันเห็นแก่ตัว เมื่อเราให้คนอื่นเสียแล้ว มันก็สบายหรอก

    ถ้าเรายังไม่ให้นี่ จะให้ลูกไหนหนอ มันลำบากมากเหลือเกิน กล้าตัดสินว่าให้ลูกใหญ่นี่หนา เสียใจนิดหน่อยนะ แต่พอตกลงใจให้เขาแล้วมันก็แล้วไป นี้เรียกว่าทรมานจิตในทางที่ถูก มันเป็นอย่างนี้

    ถ้าเราทำให้ได้อย่างนี้เรียกว่าเราชนะตัวเอง ถ้าเราทำไม่ได้อย่างนี้เรียกว่าเราแพ้ตัวเอง เห็นแก่ตัวเรื่อยไป ก่อนนี้เรามีความเห็นแก่ตัว อันนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งเหมือนกัน ต้องขจัดออก

    ทางพระเรียกว่าการให้ทาน การให้ความสุขแก่คนอื่น อันนี้เป็นเหตุช่วยให้ชำระความสกปรกในใจของเราได้ และต้องให้เป็นคนจิตใจอย่างนี้ ให้พิจารณาอย่างนั้น อันนี้ประการหนึ่ง ที่ควรทำไว้ในใจของเรา

    บางคนอาจจะเห็นว่าอย่างนี้ ก็เบียดเบียนตัวเอง นี้ไม่ใช่เบียดเบียนตัว แต่เป็นการเบียดเบียนกิเลสตัณหาต่างหากล่ะ ถ้าในตัวมันมีกิเลสขึ้นมา ให้กิเลสมันหายไป

    กิเลสนี้เหมือนแมว ให้กินตามใจมันก็ยิ่งมาเรื่อยๆ แต่มีวันหนึ่งมันข่วนนะ ถ้าเราไม่ให้อาหารมัน ไม่ต้องให้อาหารมัน มันจะมาร้องแง๊ว ๆ อยู่ เราไม่ให้อาหารมัน สัก ๑ - ๒ วันเท่านั้นก็ไม่เห็นมันมาแล้ว

    เหมือนกันแหละ กิเลสไม่มากวนเรา เราก็จะได้สงบใจต่อไป ทำให้กิเลสกลัวเรา อย่าทำให้เรากลัวกิเลส ให้กิเลสกลัวเรา นี่พูดให้เห็นธรรมในปัจจุบันในใจของเราอย่างนี้

    ธรรมะของพระพุทธเจ้าของเราอยู่ที่ไหน อยู่ที่ความรู้ความเห็นในใจของเรา อย่างนี้รู้ได้ทุกคน เห็นได้ทุกคน ไม่ใช่อยู่ในตำรา ไม่ต้องมาเรียนให้มันมาก

    พิจารณาเดี๋ยวนี้ก็เห็น เห็นได้ทุกคน เพราะมันอยู่ในใจทุกคน เรามีกิเลสทุกคนใช่ไหม ถ้ามันได้เห็นอย่างนี้ก็รู้จัก แต่ก่อนนี้เราต้องเลี้ยงกิเลสไว้

    ให้รู้จักกิเลส อย่าให้มันมากวนเรา อันนี้เป็นอันหนึ่งที่ยังไม่บังเกิด ให้ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ทำให้มากขึ้น

    ทีนี้ข้อปฏิบัติต่อไปคือ การรักษาศีล ศีลนี้จะดูแลธรรมะให้เจริญขึ้น เหมือนพ่อแม่กับลูก การรักษาศีลคือ การเว้นการเบียดเบียนและทำการเกื้อกูลช่วยเหลือ อย่างน้อยให้มี ๕ ข้อ คือ

    ๑. ให้เมตตาสัตว์และมนุษย์ทั้งหมด ไม่ให้ทำร้ายเบียดเบียนตลอดถึงการฆ่า

    ๒. ให้มีความสุจริต อย่าไปข้ามสิทธิ์ของกันและกัน พูดง่าย ๆ คือ ไม่ให้ขโมยของกันนั่นเอง

    ๓. ให้รู้จักประมาณในการบริโภค อยู่ในฆราวาสวิสัยก็ต้องมีครอบครัว มีพ่อบ้าน แม่บ้าน แต่ถ้ารู้จักประมาณก็ปฏิบัติธรรมะได้ ให้รู้จักพ่อบ้านของเรา รู้จักแม่บ้านของเราเท่านั้น

    ให้รู้จักประมาณ อย่าทำให้เกินประมาณ ให้มีขอบเขต แต่โดยมากคนจะไม่มีขอบเขตเสียด้วยนะ บางทีพ่อบ้านคนเดียวก็ไม่พอ มีสองคนบ้าง บางทีแม่บ้านคนเดียวไม่พอ ต้องมีสองมีสามด้วย อย่างนี้ก็มี

    อาตมาว่าคนเดียวก็กินไม่หมดแล้ว จะไปมีสองคนสามคนนี่ มันเรื่องสกปรกทั้งนั้นนี่ อย่างนี้ต้องพยายามชำระ พยายามฝึกใจให้มันรู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี้มันบริสุทธิ์ดี

    ที่ไม่รู้จักประมาณนี้ มันไม่มีขอบเขต ถึงได้อาหารเอร็ดอร่อยอย่างนี้ อย่าไปนึกถึงความเอร็ดอร่อยมันมาก ให้รู้จักท้องเรา ให้รู้จักประมาณ ถ้าเรากินมากก็ลำบากเหมือนกัน

    ให้รู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี่ดีที่สุด ให้มีแม่บ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีพ่อบ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีสองมีสามเกินขอบเขตแล้ววุ่นวาย

    ๔. ความซื่อสัตย์ นี้ก็เป็นเครื่องกำจัดกิเลสเราเหมือนกัน เป็นคนตรงมีสัจจะ เป็นคนซื่อสัตย์

    ๕. เป็นคนที่ไม่ดื่มสุราน้ำเมา อย่างนี้ก็ให้รู้จักประมาณ ให้เลิกเสียก็ดี คนเราเมามัวในครอบในครัวก็มากแล้ว เมาลูก เมาหลาน เมาทรัพย์สมบัติหลายอย่าง มันก็พอแล้ว

    ยิ่งเอาเหล้ามากินเข้าไปอีก มันก็มืดเท่านั้นแหละ อันนี้บริษัททั้งหลายไม่รู้ ดูตัวเราเอง ถ้าหากว่ามักมาก ใครมีมากก็พยายามค่อย ๆ ปัดเป่ามันออกไป ปัดเป่ามันออกไปให้หมด

    ทีนี้ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว มีความรักกัน ซื่อสัตย์ ก็จะมีความสุข ความเดือดร้อนไม่มี เมื่อความเดือดร้อนไม่มีแล้ว เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่างนี้ก็มีความสุข

    นี้คืออยู่ในเมืองสวรรค์แล้ว สบาย กินก็สบาย นอนก็สบาย มีความสุข สุขเกิดจากศีล เมื่อมีการกระทำอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้อันนี้เกิดขึ้นมา ละความชั่วเช่นนี้

    เป็นกฏอันหนึ่งเพื่อความดีนี้เกิดขึ้นมา นี่ถ้าเรามีศีล อย่างนี้ ความชั่วหนีไป ความสุขเกิดขึ้นมา นี่ละเกิดเพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

    ทีนี้ยังไม่จบแค่นี้นา คนเราถ้ามีความสุขแล้วชอบเผลอเหมือนกัน ชอบเผลอไม่อยากไปที่ไหน ชอบติดสุขอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่อยากไปที่ไหนหรอก ชอบสุขมันเป็นสวรรค์

    ถ้าพูดตามบุคคลาธิษฐาน เป็นเมืองสวรรค์ ผู้ชายก็เป็นเทวบุตร ผู้หญิงก็เป็นเทวดา สบาย ไม่รู้เนื้อรู้ตา อันนี้ให้ทำความพิจารณาอีกทีหนึ่งอย่างหลงมัน

    ให้พิจารณาโทษของความสุขอีก ว่าความสุขนี่มันไม่แน่นอนเหมือนกัน มีความสุขแล้วไม่ช้าไม่นานเท่าไร ความสุขนั้นก็จะเลิกจากเรา นี้เป็นของไม่แน่เหมือนกัน

    เมื่อความสุขเลิกจากเรา ความทุกข์เกิดขึ้นมา เราก็ร้องไห้อีกแหละ นางเทวดาร้องไห้แล้วซิ เทวบุตร ยังร้องไห้เป็นทุกข์ แล้วท่านให้เราพิจารณาโทษของมัน

    ให้เห็นโทษของมันว่า โทษของความสุขมีอยู่ แต่ในเวลาที่มีความสุขนี่ไม่รู้จัก มีความสุขนี้มันปิด ทำให้เราไม่เห็นทุกข์หรอก

    ภาวนาแบบไหนดี

    หลวงพ่อไม่ได้จำกัดวิธีการเจริญภาวนา ผูกขาดลงไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่ท่านเน้นว่า

    “แนวทางการทำสมาธิใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง ไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง”

    “การภาวนาก็คือ การทำความคิดความเห็นให้ถูกต้อง ทำเพื่อปล่อยวาง วิธีการทุกอย่าง ก็เหมือนเครื่องมือจับปลานั่นแหละ มันต่างกันแต่รูปแบบ ต่างกันแต่วิธีเท่านั้น ในที่สุดก็เพื่อเอาผลอันเดียวกันนั่นเอง

    ทีนี้ เราจึงไม่จำกัดรูปแบบการปฏิบัติ แต่ก็มักจะสอนให้ภาวนา พุทโธ หรือ อานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ทำไปพอสมควรแล้ว จึงค่อยทำความรู้ความเห็นของเราให้ถูกต้องเรื่อยไป”

    ท่านให้เหตุผลในการสอน อานาปาสติเป็นหลักว่า

    “เป็นสิ่งที่ง่ายและสบายแก่นักปฏิบัติ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ไม่ต้องสร้างหรือปรุงขึ้นมา”

    “อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจ ข้อนี้เป็นศีล การกำหนดลมหายใจได้และติดต่อไปจนจิตสงบ ข้อนี้เรียกว่า สมาธิ การพิจารณากำหนดลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยาก มิใช่ตัวตน แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่า ปัญญา

    การทำ อานาปานสติภาวนา จึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน และเมื่อทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบ ก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นทางสายเอก ประเสริฐกว่าทางทั้งหมด

    เพราะจะเป็นการเดินทางเข้าถึงพระนิพพาน เมื่อเราทำตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างถูกต้องที่สุด”

    นั่งสมาธิอย่างไร

    สำหรับอิริยาบถนั่งสมาธินั้น หลวงพ่อไม่พิถีพิถันมากนัก แต่ให้คำแนะนำสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า นั่งตัวตรง ดำรงสติมั่น เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ไม่นั่งหลังงอหรือหลังโกง ไม่เคร่งจนเกินไป ไม่เอียงไม่เอนไปทางซ้ายทางขวา ทำตัวให้สบาย ๆ นั่งเหมือนพระพุทธรูป

    “เอาสติที่มันมีอยู่นี้ ตามลมเข้า ตามลมออก ตามลมเข้าไป ต้นลม กลางลม ปลายลม ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ที่ลมเท่านั้น เมื่อเราฝึกเช่นนี้พอสมควรแล้ว สติก็มีอยู่ เข้าก็มีสติ ออกก็มีสติ กลางลมก็มีสติ ต้นลมก็มีสติ

    จิตใจหรือความรู้สึกของเรา มันไม่มีเวลาหลีกไปเก็บเอาอารมณ์อื่น เพราะมันรู้อยู่ที่ตรงนี้ ทั้งลมเข้าลมออก ถ้าหากว่าจิตใจหรือความรู้สึกของเรา มันแส่ส่ายไปหาอารมณ์อื่น ก็แสดงว่า สติมันเผลอไปแล้ว ให้ตั้งสติขึ้นใหม่

    ให้รู้จักว่ามันผ่านตรงนี้ ๆ ดูไปเรื่อย ๆ บางทีมันหนีไปที่ไหนตั้งนานแล้ว ก็ยังไม่รู้ อ้าว ! เผลอสติอีกแล้วก็ยกขึ้นมาใหม่ ถ้าเราทำอย่างนี้ จะรู้จักต้นลม กลางลม ปลายลม ได้พอสมควร

    ตอนแรก ๆ จะลำบากหน่อย ระยะต่อไปถ้าเรามีความชำนาญ รู้จักพอสมควรแล้ว เรางดก็ได้ ไม่ต้องกำหนดตามไปก็ได้ ไม่ต้องตามลมออกลมเข้า มันจะยาวจะสั้นเราก็รู้จัก เอาความรู้สึกมาอยู่ที่ปลายจมูกอย่างเดียว ให้หยุดอยู่ตรงนั้น ลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก การกำหนดลมเราไม่ต้องไปบังคับมัน

    เมื่อเราจะนั่งสมาธิก็ลองดูอย่างนี้ก่อน คล้าย ๆ กับการฝึกหัดเหยียบจักรเย็บผ้า เราจะต้องมีมือมีเท้าที่สัมพันธ์กัน เราหัดเย็บผ้าครั้งแรกจะต้องทำอย่างไรบ้าง เอาเท้าถีบจักรเปล่า ๆ เสียก่อน ไม่ต้องใส่ผ้าให้เท้ามันคล่องตัวเสียก่อน เมื่อมันคล่องตัวดีแล้วเราจึงเอาผ้าเข้าไปเย็บ

    ลมหายใจนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เราไม่ต้องกำหนดมัน ยาวหรือสั้นก็ตามให้มันสบาย ๆ ก็พอ เมื่อมันสบายเราก็รู้จักว่า เออ! ความสบายมันถึงขนาดนี้ ลมนี้มันจะยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป แรงเกินไป อย่าได้ไปบังคับมัน ปล่อยมันให้ได้สัดส่วนพอดี ๆ กำหนดลมเข้าลมออกเท่านั้นก็พอ ไม่ต้องไปพิจารณาอย่างอื่น ทำอันนี้ให้รู้จักลมก็พอแล้ว

    เมื่อทำอย่างนี้ ความคิดบางส่วนจะเกิดขึ้นมา แหม ! ทำอย่างนี้มันจะรู้อะไรหนอ ทำต่อไป อย่าได้สงสัยเลย ไม่ต้องพูด ไม่ต้องคิด ไม่ใช่หน้าที่การงานของเรา หน้าที่การงานของเราคือ รู้ลมเข้ารู้ลมออกเท่านั้น

    ไม่ต้องการให้ไปเห็นเทวดาองค์นั้น ไปเห็นพระพรหมองค์นี้ ไม่ต้องการเช่นนั้น ให้รู้จักอารมณ์ คือลมเข้าลมออกเท่านั้น ไม่ให้ลืมก็พอแล้ว ให้เข้าใจ ให้ตัดมันเสีย เมื่อเห็นอารมณ์มันผ่านมา ผ่านไป แล้วก็ปล่อยมันไป

    อารมณ์ต่าง ๆ นี้ มันไม่แน่นอนหรอก พอจะนั่งมันก็คิดถึงบ้าน แล้วมันก็ปรุงแต่งอย่างนั้น อย่างนี้ พอคิดถึงบ้านปุ๊บ เอ๊ย! อันนี้มันไม่แน่นอน คิดถึงบ้านก็ไม่แน่นอน เบื่อบ้านก็ไม่แน่นอน ไม่เชื่อมันทั้งนั้น มันโกหก

    เราจะต้องยืนยันอย่างนี้ก่อน บางทีมันเกลียดคนนั้นเกลียดคนนี้ ก็ไม่แน่ บางทีรักคนนั้นรักคนนี้ ก็ไม่แน่ เอ้า ! เอามันอยู่ตรงนั้น มันจะไปตรงไหนล่ะ

    มันเกลียดคนนั้น มันก็ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น ๆ มันรักคนนี้ก็ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนี้ ๆ จนจิตใจไม่สบายเป็นทุกข์ บางทีเกลียดเอามาก ๆ นึกถึงทีไร น้ำตามันไหลออกมาเลย เห็นไหม จะเห็นว่ามันเป็นของแน่นอนได้อย่างไร

    อารมณ์ทั้งหลาย ให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าอารมณ์เท่านั้น มันไม่แน่นอนสักอย่างเลย เราตัดอันนี้ออกเพราะจะทำให้เราหลง อันนี้มันดี เออ ! ดีก็ไม่แน่ อันนี้มันไม่ดีนี่ ไม่ดีก็ไม่แน่ ดีมันก็ไม่ควรยึด ไม่ดีก็ไม่ให้มันยึด

    ถ้าเรารู้เท่าทันมันอย่างนี้ อารมณ์มันก็เป็นโมฆะ ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ อารมณ์ที่มันเกิดขึ้น มีดีมีชั่วนั้นมันไม่มีราคา มันจะค่อย ๆ จืดจางไปเรื่อย ๆ ถ้าเราตามดูอยู่ก็จะเห็นของไม่แน่จริงเท่านี้แหละ

    เรื่องการปฏิบัติเบื้องแรกของเรา การกระทำของเราต้องทำอย่างนี้ อยู่ที่นั่น ให้มีสติ ต่อนั้นไป เราจะเห็นลม เห็นสติ แล้วก็เห็นจิตพร้อมกัน อยู่ในที่อันเดียวกันนั้น มีสติต้องมีลมด้วยมีจิตด้วย มีความพร้อมอยู่เป็นสามัคคีอยู่ทั้งนั้น

    คำว่า เห็น ไม่ใช่ตาเห็นนะ ความรู้สึกมันเห็น ตาในมันเห็น ไม่ใช่ตานอก ความรู้สึกลมอยู่ที่นี่ สติอยู่ที่นี่ ความรู้อยู่ที่นี่ จิตก็อยู่ที่นี่ มันรวมกันอยู่เป็นสามัคคีอันเดียวกันนั้น

    เมื่อเราเห็นสามัคคี ทั้งสติ ทั้งลม ทั้งจิตของเราอยู่ในที่เดียวกัน จิตเราก็พรากจาก กามฉันทะ คือความใคร่ในกามพยาบาท คือความคิดเบียดเบียน

    ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย หมดไม่มี เห็นแต่ลม

    มีแต่สติกับจิตอยู่ในจุดเดียวกัน จิตปราศจากนิวรณ์ ปราศจากธรรมทั้งห้านี้ ก็ให้เข้าใจได้ว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว เราก็รู้จักว่าลมของเรามันหยาบ รู้จักว่าลมของเราละเอียด เราก็ต้องรู้ในที่นั้นเอง

    ต่อนั้นไป เราก็ต้องกำหนดลมของเราให้ละเอียดเข้า ให้น้อยเข้า ๆ ให้ละเอียดเข้าไป ๆ จนถึงกับมันไม่มีหยาบ ความละเอียดของลมเป็นเช่นนี้ จนเรานั่งพิจารณาอยู่ มันละเอียดคล้ายกับว่าไม่มีลม หรือมีความรู้สึกว่าลมไม่มี

    นี้ไม่ต้องตกใจ ลมมันมีอยู่ แต่เป็นของละเอียดมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรต่อไป

    เราจะต้องมีสติกำหนดว่า ไม่มีลมเป็นอารมณ์ต่อไป พอถึงระยะนี้ บางคนอาจจะตกใจ กลัวลมหายใจจะไม่มี กลัวจะเป็นอันตราย ต้องคิดแก้อย่างนี้ว่า อันตรายไม่มี อันนั้นไม่มีอันตราย ไม่เป็นอันตราย

    ขอแต่ว่าให้เรามีสติ รู้สึกอยู่ รู้อยู่เท่านั้นก็พอ เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ เรียกว่าจิตละเอียดมาก ๆ จิตถึงขนาดนี้ไม่ต้องควบคุม ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปควบคุมจิต เอาความรู้สึกให้มีสติสัมปชัญญะ อยู่อย่างเอียวเท่านั้น

    ให้รู้เสียว่า จิตขณะนี้มันเป็นอัตโนมัติแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปฝึกให้มันหยาบ ให้มันละเอียด ขอแต่ว่าให้เรามีสติสัมปชัญญะอยู่ให้มันแน่นอนเท่านั้นก็พอ อย่างนี้เรียกว่า จิตเข้าถึงความสงบเต็มที่แล้ว

    เป็นบางครั้งจิตจะเข้าและถอยออกเป็นพัก ๆ บางทีเมื่อถอนออกมาก็สงบหน่อยหนึ่งแล้วก็ถอยมามีความรู้สึก เกิดอะไรขึ้นมาต่าง ๆ นี่ เรียกว่า จิตถอยออกมาแล้ว ถอนออกมาจากสมาธิแล้ว

    เมื่อจิตถอนออกมาตรงนี้แล้ว จะรู้เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดความอิ่มเอิบในธรรม อธิบายธรรมเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเห็นอะไรในที่นี้หลายอย่าง

    จิตในขณะนี้จะเป็นวิปัสสนาแล้ว จะต้องตั้งสติให้ดี ตั้งจิตให้มั่น ตั้งสัมปชัญญะ จิตใจในขณะนี้ เมื่อเกิดปัญญาแล้วก็เป็นวิปัสสา ซึ่งต่อเนื่องกับสมถะ ตรงนี้นี่ท่านเรียกว่า ขณะของจิต ท่านเรียกว่า วสี

    ต้องชำนาญใน วสี เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ เราจะรู้จักว่าอาการของจิตเป็นอย่างไร อาการถอนจิตเป็นอย่างไร ให้ฉลาดในการเข้า ให้ฉลาดในการออก จะต้องตั้งสติให้มาก ตั้งสัมปชัญญะให้มาก

    ในตรงนี้ จิตตรงนี้เป็นจิตที่หมดความวุ่นวาย ถึงแม้จะเป็นอาการเดินไปก็ไม่วุ่นวาย ถอยกลับมาก็ไม่วุ่นวาย จิตเช่นนี้เป็นอาการอยู่ในความสงบทั้งนั้น

    เมื่อพอสมควรกับเวลาที่เราจะออกจากสมาธิแล้ว เราควรนึกว่าก่อนจะเข้าสมาธิจิตเรามาสงบได้อย่างไร เราตั้งไว้อย่างไรจิตเราถึงสงบอย่างนี้

    วันหลังเมื่อเราจะทำสมาธิ เราก็ต้องนึกอย่างนี้ว่าเบื้องต้นเราทำอย่างไร เมื่อเข้าไปแล้วจะถอนออกมา เรากำหนดอย่างไรก็ต้องรู้จัก จึงค่อย ๆ ออกจากสมาธิ คือหยุดนั่งสมาธิ

    แต่เราต้องเข้าใจว่า เรายังไม่ออกจากสมาธิ จะมีความรู้กำหนดและมีสติอยู่ต่อไป การยืน การเดิน การนั่ง การนอน จะต้องมีสติอยู่ทุกเมื่อ”
     
  2. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    ทำอย่างไรจึงแยบคาย

    นักภาวนาที่ดีต้องรู้จักค้นหาอุบายอันแยบคาย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกจิต หลวงพ่อสอนให้ลูกศิษย์ของท่านรู้จักสอนตัวเอง ตักเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า

    “อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว เมื่อถึงคราวสรรเสริญมันหน่อยให้พอดี อย่าให้หลง เหมือนกับสอนเด็กนั่นแหละ บางทีก็เฆี่ยนมันบ้าง เอาไม้เรียวเล็ก ๆ เฆี่ยนมัน ไม่เฆี่ยนไม่ได้ อันนี้บางทีก็ให้โทษมันบ้าง แต่อย่าให้โทษมันเรื่อยๆ ”

    ระยะเวลาของการนั่ง จะเร็วจะนาน กี่ชั่วโมงกี่นาที ท่านสอนไม่ให้ไปยึดหมาย เพราะอำนาจของอุปาทาน แต่ให้ทำให้สบาย ๆ วางจิตใจให้ถูกต้อง

    “การนั่งสมาธินี่นะ สิ่งที่ไม่น่าผิดก็ผิดได้ เช่นเวลานั่งเราตั้งใจว่า เอาละ มึงละ กูจะเอาให้มันแน่ ๆ ดูสักที เปล่า ไม่ได้เรื่องเลยวันนั้น แต่คนเราชอบทำอย่างนั้น

    อันนี้อาตมาก็เคย สังเกตได้ด้วยวิธีมันเห็นเองของมัน เช่น บางคืนพอเริ่มนั่งก็นึกว่า เอาละอย่างน้อยวันนี้ตีหนึ่งจึงจะลุก บาปแล้วคิดอย่างนี้ เพราะว่าไม่นานหรอก มันรุมเอาเกือบตาย

    แต่เวลานั่งดีๆ ไม่ต้องกะเกณฑ์ ไม่มีจุดที่หมาย มันจะทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม สามทุ่ม ก็ช่างมัน นั่งไปเรื่อย ๆ วางเฉยไว้ อย่าบังคับ อย่าไปหมายมัน อย่าไปบังคับหัวใจ ว่าจะเอาให้มันแน่ ๆ มันก็ยิ่งไม่แน่ ให้เราวางใจให้สบาย ๆ หายใจก็ให้พอดี อย่าเอาสั้น เอายาว อย่าไปแต่งมัน กายก็ให้มันสบาย ทำเรื่อยไป

    มันจะถามเราว่า จะเอากี่ทุ่ม จะเอานานเท่าไร มันมาถามเรื่อยหรอก เราต้องตวาดมันว่า เฮ้ย! อย่ามายุ่ง ต้องปรามมันไว้เสมอ เพราะพวกนี้มีแต่กิเลสมากวนทั้งนั้น อย่าเอาใจใส่มัน

    เราต้องพูดว่า กูอยากพักเร็วพักช้าไม่ผิดหัวกบาลใครหรอก กูอยากนั่งอยู่ตลอดคืนมันจะผิดใคร จะมากวนกูทำไม ต้องตัดมันไว้อย่างนี้ เราก็นั่งเรื่อยไปตามเรื่องของเรา วางใจสบายก็เลยสงบเป็นเหตุให้เข้าใจว่า

    อ้อ! อำนาจอุปาทานความยึดหมายนี้สำคัญมากจริง ๆ เมื่อเรานั่งไปนานต่อนาน เลยเที่ยงคืนค่อนคืนไป ก็เลยนั่งสบาย มันก็ถูกวิธี จึงรู้ว่า อ้อ! ความยึดมั่นถือมั่นเป็นกิเลสจริง ๆ เพราะวางจิตไม่ถูก”

    เดินจงกรมให้เกิดปัญญา

    อีกวิธีหนึ่งที่นักภาวนาใช้ในการประกอบความเพียรทางจิต คือการเดินจงกรม การเดินจงกรมนั้น คือการฝึกสมาธิในอิริยาบถเดินนั่นเอง เป็นอิริยาบถที่เหมาะเมื่อนั่งสมาธิพอสมควรแล้ว แต่ต้องการภาวนาต่อ

    ส่วนมากนักปฏิบัติมักจะสลับการนั่งสมาธิกับการเดินจงกรม อนึ่ง การเดินเป็นอุบายแก้ความง่วงเหงาหาวนอนที่ดี และเหมาะในเวลาฉันอาหารเสร็จใหม่ ๆ หรือยามดึกดื่น

    พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของการเดินจงกรมว่ามี ๕ อย่าง คือ

    ๑. อดทนต่อการเดินทางไกล

    ๒. อดทนต่อความเพียร

    ๓. มีอาพาธน้อย

    ๔. อาหารที่ฉัน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรสแล้วย่อมย่อยไปด้วยดี

    ๕. สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่นาน

    ด้วยอิริยาบถแห่งการเดินอย่างเป็นธรรมชาติ การเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีสติควบคุมใกล้ชิด และรู้เท่าทันอารมณ์อย่างต่อเนื่องจะทำให้สมาธิมั่นคงเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ความรู้สึกนึกคิด ที่ปรุงแต่งออกไปจะเกิดเป็นอุบายทางปัญญาได้อย่างแยบคาย

    วิธีเดินจงกรม หลวงพ่อให้กำหนดเส้นทางเดินจากระยะต้นไม้ ๒ ต้น หรือเครื่องหมายอะไรสักอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ห่างกันราว ๗ - ๘ วา (๒๐ - ๓๐ ก้าว) แล้วตั้งใจเดินกลับไปกลับมา โดยมีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถแห่งการเดินนั้น

    สำหรับการทำความรู้สึกในขณะเดินจงกรม หลวงพ่ออธิบายไว้ดังนี้

    “ก้าวเท้าขวาออกก่อน ให้พอดี ๆ ให้นึกพุทโธ พุทโธ ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้สึกในอารมณ์นั้นไปเรื่อย ๆ ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่านหรือเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย

    เมื่อสบายพอสมควรแล้วก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อย ๆ ต้นทางออกก็ให้รู้จัก รู้จักหมด ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทำความรู้สึกให้ติดต่อกันเรื่อย ๆ

    ขณะที่เราเดินจงกรม บางทีความหวาดความสะดุ้งมันเกิดขึ้นมา เราก็ทวนมันอีก มันเป็นของไม่แน่ ความกล้าหาญ เกิดขึ้นมา อันนี้ มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ไม่แน่ทั้งหมดนั่นแหละ

    ไม่รู้จะจับอะไร นี่ทำปัญญาให้เกิดเลยทีเดียว ทำปัญญาให้เกิด ไม่ใช่รู้ตามสัญญา (ความจำ) รู้จิตของเราทีที่มันคิดมันนึกอยู่นี้ มันคิดนึกทั้งหมด เกิดขึ้นมาในใจของเรานี้แหละ

    จะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิด รับรู้มันไว้ อย่าไปหมายมั่นมัน เออ! ทุกข์มันก็เท่านั้นแหละ สุขมันก็เท่านั้นแหละ มันเป็นของหลอกลวงทั้งนั้นแหละ เรายืนตัวอยู่เช่นนี้เลย ยืนตัวอยู่เสมอเช่นนี้ ไม่วิ่งไปกับมัน ไม่วิ่งไปกับสุข ไม่วิ่งไปกับทุกข์ รู้อยู่ รู้แล้วก็วาง อันนี้ ปัญญาจะเกิด ทวนจิตเข้าไปเรื่อย ๆ ”

    “เหนื่อยพอสมควรแล้วก็หยุด ก็ออกจากทางจงกรม ระวังให้มีสติให้ติดต่อ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ให้มีสติอย่างสม่ำเสมอไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไปบิณฑบาต ไปรับบาตร ไปขบฉัน อะไรสารพัดอย่าง ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา

    การยืน เดิน นั่ง นอน การนอนก็นอนตะแคงข้างขวา เอาเท้าเหลื่อมกันอย่างนี้ กำหนดอารมณ์ พุทโธ พุทโธ จนกว่าจะหลับ อันนี้เรียกว่า การนอนมีสติ”

    “เวลาฝนตกไม่มีทางเดินจงกรม เราจะเดินบนกุฏิของเราก็ได้ คือเดินขาเดียว ตั้งขาซ้ายไว้ เอาขาขวาขยับมาข้างหน้า ขยับมาข้างหลังอย่างนี้ ท่านว่าเป็นการเดินจงกรมเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่ว่าให้เรามีสติอย่างต่อเนื่อง อย่าให้ขาดวรรคขาดตอน ให้ติดตามรู้ทุกขณะที่ปฏิบัติ”

    นิวรณ์ อุปสรรคเครื่องกางกั้น กีดขวางความสงบของจิตใจในเบื้องต้น พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า นิวรณ์ มีอยู่ ๕ ประการด้วยกันได้แก่

    กามฉันทะ ความพอใจใคร่ในกาม ต้องการกามคุณเป็นเครื่องตอบสนอง

    พยาบาท ความคิดร้าย มุ่งร้าย ความขัดแย้งเคืองใจ

    ถีนมิทธะ ความสลดหดหู่และเซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอน

    อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความร้อนใจวิตกกังวล

    วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ คือ ธรรมเครื่องแก้องค์นิวรณ์ ที่หลวงพ่อย้ำเตือนมากเป็นพิเศษ

    “เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่า อันนี้มันไม่แน่

    จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ ไม่แน่ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับลงไป ไม่แน่ทั้งนั้นแหละ มันแน่ที่ตรงไหนล่ะ ถ้าเห็นว่ามันไม่แน่ ทุกสิ่งทุกอย่าง ราคามันก็น้อยลง

    อารมณ์ทั้งหลายมันเป็นของที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้ว เราจะเอาไปทำไม”

    หลวงพ่อมีเมตตา ให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังใฝ่หาความสงบว่า

    “เราพยายามทำจิตเราให้สงบดีกว่าไม่ทำ ถึงมันไม่สงบแต่มานั่งทำท่าสมาธิอย่างนี้ก็ดีแล้ว วันนี้พูดความจริงให้ฟัง เปรียบว่าเราหิวข้าว มีแต่ข้าว ไม่มีอาหารก็น้อยใจ

    อาตมาว่ามันดีที่มีข้าวอยู่ มีข้าวเปล่า ๆ ดีกว่าไม่มีกิน ใช่ไหม มีข้าวเปล่า ๆ ก็กินไปเถอะ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เรารู้จักการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ นิดหน่อยก็ยังดีอยู่”

    ท่านให้ผู้ภาวนาตั้งท่าทีทัศนะต่อนิวรณ์ที่กำลังรุมเร้ารบกวนจิตใจอยู่ว่า เป็นครูบาอาจารย์ หรือเครื่องทดสอบสติปัญญาของตน มากกว่าที่จะมองเห็นนิวรณ์เป็นตัวศัตรูที่น่าเกลียด

    อันอาจทำให้เกิดความตึงเครียดเป็น วิภวตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้ความไม่อยากให้นิวรณ์นั้นอยู่ในใจของตนทุกข์เพิ่มทวี

    กามฉันทะ ความใคร่ในกาม

    การบรรเทาความใคร่ในกามให้เบาบางลง ต้องใช้หลายวิธีด้วยกัน เพื่อควบคุมการศึกคะนองของจิต สิ่งที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอ คือ การกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ความเป็นผู้มีอินทรีย์สังวร การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค นอกเหนือจากนี้คือการใช้อสุภกรรมฐานเป็นอุบายเครื่องแก้

    “กามราคะจะบรรเทาลงได้ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองถึงความน่าเกลียดโสโครก การหลงติดอยู่ในรูปกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองให้เห็นสิ่งตรงข้าม

    จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพ และเห็นการเปลี่ยนแปลงเปื่อยเน่า หรือพิจารณาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่น ๆ จำอันนี้ไว้ แล้วพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามเกิดขึ้น ก็ช่วยให้เอาชนะกามราคะได้

    ถ้าเห็นรูปนี้ ชอบรูปนี้เพราะอะไร ก็เอารูปนี้มาพิจารณาดูว่า เกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตะโจคือหนัง พระพุทธเจ้าให้เอาพวกนี้มาพิจารณาย้ำเข้าไป

    แยกออก แจกออก เผามันออก ลอกมันออก ทำอยู่อย่างนี้ เอาอยู่อย่างนี้จนมันไม่ไปไหน มองพวกเดียวกัน เช่นพระเณรเวลาเดินบิณฑบาต เห็นพระ เห็นคน ต้องกำหนดให้เป็นร่างผีตายซาก ผีเดินไปก่อนเรา เดินไปข้างหน้า

    เดินไปเปะ ๆ ปะ ๆ กำหนดมันเข้า ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น เจริญอยู่อย่างนั้น เห็นผู้หญิงรุ่น ๆ นึกชอบขึ้นมา ก็กำหนดให้เป็นผีเปรต เป็นของเน่าของเหม็นไปหมด ทุกคน ไม่ให้เข้าใกล้ ให้ในใจของเราเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไรมันก็ไม่อยู่หรอก เพราะมันเป็นของเปื่อยเน่าให้เราเห็นแน่นอน

    พิจารณาให้มันแน่ ให้เป็นอยู่ในใจ อย่างนี้แล้วไปทางไหนก็ไม่เสีย ให้ทำจริง ๆ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพ ด้วยเหมือนกัน เลยมีแต่ของอย่างนี้ทั้งนั้น

    พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก อาตมาว่ามันสนุกจริง ๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้าไปมัวอ่านตำราอยู่มันยาก ต้องทำเอาจริง ๆ ทำให้มีกรรมฐานในใจเรา”

    พยาบาท

    เคยมีพระลูกศิษย์ผู้มีโทสจริตรูปหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

    “เมื่อผมโกรธ ควรจะทำอย่างไรครับ”

    “ท่านต้องแผ่เมตตา” หลวงพ่อแนะนำ “ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก้ด้วยการแผ่เมตตา ถ้าใครทำไม่ดีหรือโกรธก็อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์

    จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้”

    “บางครั้งท่านอาจจะเห็นพระภิกษุรูปอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านจะรำคาญใจ ทำให้เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ นี่ไม่ใช่ธรรมะของเรา ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่าเขาไม่เคร่งครัดเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐานที่เอาจริงเอาจังเช่นฉัน

    เขาไม่ใช่พระที่ดี นี้เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างยิ่ง ของตัวท่านเอง อย่าเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา จงละทิฐิของท่านเสีย และเฝ้าดูตัวท่านเอง นี้แหละคือธรรมะของเรา

    ท่านไม่สามารถบังคับให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติ ตามที่ท่านต้องการหรือเป็นเช่นท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้

    การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตน แล้วท่านจะเข้าใจได้”

    บางครั้งนิวรณ์ตัวนี้เกิดขึ้นในลักษณะความไม่พอใจ หรือขัดเคืองกับการปฏิบัติของตัวเอง หลวงพ่ออธิบายว่า

    “ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหา ไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยาก คือ วิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันยิ่งชวนกันมา

    เราไม่อยาก มันทำไมจึงมา? ไม่อยากให้มันเป็นทำไมมันเป็น? นั่นแหละเราอยากให้มันเป็นเพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ”

    ถีนมิทธะ ความหดหู่ง่วงเหงา

    พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบการถูกนิวรณ์ คือ ความง่วงเหงาหาวนอนครอบงำจิตว่า เสมือนการถูกกักขังไว้ในเรือนจำ มืดมิดอึดอัด ไม่เป็นอิสระ นิวรณ์ตัวนี้ทำให้นักปฏิบัติจำนวนไม่น้อย ต้องหนักอกหนักใจ

    แต่อุบายในการแก้ไขความง่วงมีอยู่มากมายหลายวิธี อย่างเช่น อุบายที่หลวงพ่อแนะนำแก่พระรูปหนึ่ง

    “มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้าท่านนั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้าท่านยังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินให้มากหรือเดินถอยหลัง

    ความกลัวว่าจะเดินไปชนเอาอะไรเข้า จะทำให้หายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่จงยืนนิ่ง ๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมุติว่าขณะนั้นสว่างเป็นกลางวัน หรือนั่งบนหน้าผาสูงหรือบ่อลึก ท่านจะไม่กล้าหลับ

    ถ้าทำอย่างไร ๆ ก็ไม่หายง่วง ก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่ จนกระทั่งท่านหลับไป เมื่อท่านรู้สึกตัวตื่นจงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาแล้วพลิกไปพลิกมา เริ่มต้นมีสติ ระลึกรู้ทันทีที่ท่านตื่น”

    “ถ้าง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารน้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีก ๕ คำจะอิ่ม หยุดแล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูต่ออีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว กะฉันอาหารให้อิ่มพอดี เมื่อท่านฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ท่านจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ต้องปรับตัวของท่านเอง”

    อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ


    อุบายของหลวงพ่อในการแก้ไขความฟุ้งซ่านนั้นง่ายจริง ๆ

    โยม :ความฟุ้งซ่าน เวลามันเกิดขึ้นมา เราจะแก้ไขด้วยอุบายอย่างไร

    หลวงพ่อ : มันไม่ยากหรอก มันเป็นของไม่แน่หรอก ไม่ต้องไปแก้มัน คราวที่ฟุ้งซ่านมีไหม ที่มันไม่ฟุ้งซ่านมีไหม

    โยม :มีครับ

    หลวงพ่อ : นั่น ! จะไปทำอะไรมันล่ะ มันก็ไม่แน่อยู่แล้ว

    โยม :ทีนี้เวลามันแวบไปแวบมาล่ะครับ

    หลวงพ่อ : เอ๊า ! ก็ดูมันแวบไปแวบมาเท่านั้นแหละ จะทำยังไงกับมัน มันดีแล้วนั่นแหละ โยมจะไม่ให้มันเป็นอะไร อย่างไร มันจะเกิดปัญญาหรือนั่น

    โยม :มันแวบไป เราก็ตามดูมัน

    หลวงพ่อ : มันแวบไปมันก็อยู่นั่นแหละ

    เราไม่ตามมันไป เรารู้สึกมันอยู่ มันจะตรงไปไหนล่ะ มันก็อยู่ในกรงอันเดียวกัน ไม่ตรงไปไหนหรอก

    นี้แหละ เราไม่อยากจะให้มันเป็นอะไรนี่ พระอาจารย์มั่นเรียกว่า สมาธิหัวตอ ถ้ามันแวบไปแวบมา ก็ว่ามันแวบไปแวบมา ถ้ามันนิ่งเฉย ๆ ก็ว่านิ่งเฉย ๆ จะเอาอะไรล่ะ ให้รู้เท่าทันมันทั้งสองอย่าง

    วันนี้มันมีความสงบก็คิดว่า มันมาให้ปัญญาเกิด แต่บางคนเห็นว่าสงบนี่ดีนะ ชอบ ดีใจ วันนี้ฉันทำสมาธิมันสงบดีเหลือเกิน แน่ะ ! อย่างนี้เมื่อวันที่สองมาไม่ได้เรื่องเลย วุ่นวายทั้งนั้นแหละ แน่ะ วันนี้ไม่ดีเหลือเกิน

    เรื่องดีไม่ดีมันมีราคาเท่ากัน เรื่องดีมันก็ไม่เที่ยง เรื่องไม่ดีมันก็ไม่เที่ยง จะไปหมายมั่นมันทำไม ? มันฟุ้งซ่านก็ดูมันฟุ้งซ่านไปซิ มันสงบก็ดูมันสงบซิ อย่างนี้ให้ปัญญามันเกิด

    มันเป็นเรื่องของมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของจิตมันเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปยุ่งกับมันมากซิ ลักษณะอันนั้น อย่างเราเห็นลิงตัวหนึ่งนะ มันไม่นิ่งใช่ไหม โยมก็ไม่สบายใจ เพราะลิงมันไม่นิ่ง

    มันจะนิ่งเมื่อไร โยมจะให้มันนิ่ง โยมถึงจะสบายใจ มันจะได้เรื่องของลิงนะ ลิงมันเป็นเช่นนี้ ลิงที่กรุงเทพ ฯ มันก็เหมือนลิงตัวนี้แหละ ลิงที่อุบลราชธานีก็เหมือนลิงที่กรุงเทพ ฯ นั่นแหละ

    ลิงมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ เอาอย่างนี้แหละ จะได้หมดปัญหาของมันไป อันนี้ลิงก็ไม่นิ่ง เราก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ อย่างนั้นก็ตายเท่านั้นแหละ เราเป็นลิงยิ่งกว่าลิงเสียแล้วกระมัง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 กันยายน 2013
  3. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

    ความลังเลสงสัย เป็นนิวรณ์ที่มักเป็นอุปสรรคสำคัญของนักปฏิบัติ ที่มีการศึกษาในระดับสูง เพราะการศึกษาทางโลกทำให้คนคิดมากขึ้น รู้จักเปรียบเทียบ วิเคราะห์วิจัย ใช้เหตุผล ซึ่งมีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน

    แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ผู้รู้มากมักสงสัยมาก นักปฏิบัติพวกนี้ ตกเป็นเหยื่อของนิวรณ์ดังนี้ จึงกลายเป็นนักภาวนาจับจด ไม่เอาจริงเอาจัง เพราะไม่แน่ใจว่าถูกรหรือผิด แคลงใจว่าวิธีการหรือเทคนิคของตนไม่ถูกจริง สงสัยในอาจารย์ สงสัยในความสามารถของตน

    วิจิกิจฉาก็เหมือนไวรัสที่ทำให้การปฏิบัติหยุดชะงัก เมื่อลูกศิษย์ขี้สงสัยชอบมาถามปัญหากับหลวงพ่ออย่างไม่รู้จักอิ่ม ท่านมักไม่ตอบคำถาม แต่จะบอกว่า

    "ถ้าผมตอบปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกปัญหาของท่าน ท่านก็จะไม่มีทางรู้เท่าทันถึงการเกิดดับของความสงสัยในใจท่าน เป็นสิ่งจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้ที่จะสำรวจตัวท่านเอง สอบถามตัวท่านเอง" และหลวงพ่อเตือนสติว่า

    "ปัญหาไม่ได้จบด้วยคำพูดของคนอื่น แต่มันจบด้วยการกระทำของตัวเราเอง"

    "ถ้าเราสงสัยสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันก็ไม่เป็นอันอยู่อันกินหรอก เดี๋ยวก็วิ่งไปตามไอ้โน่นบ้าง ไอ้นี่บ้าง ให้เรารู้จักว่าคน ๆ นี้คือคนโกหก เราจับมันไว้ เรื่องอารมณ์มันเป็นอยู่อย่างนี้ เป็นของไม่แน่นอน อย่าวิ่งไปกับมันเลย

    รู้มันเฉย ๆ อยู่นั่นแหละ ถ้ารู้เช่นนี้ มันจะมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นมาอีก เราก็รับรู้สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี้ มันถึงจะสบายใจ ถ้าเราไปวิ่งตามสิ่งที่เราสงสัย มันก็ไม่สบายใจ และมันจะเกิดมากกว่านี้ขึ้นไป ท่านจึงว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น"

    นักปฏิบัติบางคนภาวนาไปแล้วก็สงสัยว่า ตนเองได้ทำไปถึงขั้นไหนแล้ว และบรรลุอะไร หรืออยู่ในระหว่างไหน ในขณะทำสมาธิ เรื่องนี้หลวงพ่อชี้แจงว่า

    "มันไม่มีป้ายบอกเหมือนทางจะเข้าวัดป่าพงนี้หรอก" แล้วท่านก็อธิบายต่อว่า

    "อย่างผลไม้ผลหนึ่งนะ โยมเอามาถวายอาตมา รสผลไม้มันหวานอาตมาก็รู้จัก มันหอม ก็รู้จัก รู้จักทุกอย่าง แต่ว่ามันขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่รู้จักชื่อของผลไม้ว่าชื่ออะไร อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ของจำเป็นอะไรหรอก

    ถ้าเรารู้จักว่าชื่อนั้น ๆ มันก็ไม่เพิ่มความหวานขึ้นมาอีก มันก็อยู่แค่นั้นแหละ อันนั้นก็ให้เห็นว่า ถึงเหตุที่ควรจะรู้ก็ให้รู้ แต่ว่าไม่รู้ชื่อของมันก็ไม่เป็นไร รสของมันเรารู้มันแล้ว

    เช่นว่า เรากำขามันไว้ทั้งสองขา แล้วมันจะไปตรงไหนก็ให้มันไปเถอะ อย่างนั้น จะเป็นชื่อของแอปเปิ้ลหรือะไรก็ช่าง รสมันเรารู้แล้ว เรื่องชื่อของมัน ก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่ ถ้ามีใครมาบอกก็รับไว้ แต่ถ้าไม่มีใครมาบอกก็ไม่เดือดร้อน"

    อีกโอกาสหนึ่ง หลวงพ่อปลอบใจลูกศิษย์ชาวต่างประเทศซึ่งมักเป็นพวกช่างสงสัยดังนี้

    "ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความสงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น ที่สำคัญคือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตน

    นั่นคือ อย่าติดข้องอยู่กับมัน ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จงเฝ้าดูความเกิดดับของความสงสัย ของความฉงนสนเท่ห์ ดูว่าใครคือผู้สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร

    แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะก้าวพ้นความสงสัยออกมาได้ และจิตของท่านก็จะสงบ

    ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร จงปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านยังยึดมั่นอยู่ สลัดทิ้งความสงสัยของท่าน และเพียงเฝ้าดู นี้คือที่สิ้นสุดของความสงสัย"

    แก้ความคิดเห็น

    สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ เป็นเงื่อนไขอันสำคัญยิ่งในการเจริญสัมมาสมาธิ ฉะนั้นหลวงพ่อต้องคอยแก้ไขความเห็นผิดของลูกศิษย์ลูกหาอยู่เสมอ พร้อมทั้งให้เหตุผลและกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง

    บุญวาสนาน้อย

    คนทั่วไปมักเห็นงานภาวนาเป็นเรื่องเหลือวิสัยของปุถุชน และเห็นว่าผู้ที่จะมาจับงานนี้ได้ ต้องสร้างสมอบรมบารมีมานาน แต่ทุก ๆ คำสอนของหลวงพ่อแย้งกับความคิดเห็นเช่นว่านี้

    โดยชี้ให้เห็นชัดลงไปว่า งานภาวนาเป็นเรื่องจำเป็นของคนทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะพระสงฆ์ผู้ออกจากเรือนแล้ว และการภาวนานั่นแหละคือการสร้างบุญสร้างวาสนา

    "การทำสมาธินี้ บางคนไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็เลิก ก็หยุด หาว่าตนไม่มีบุญวาสนา แต่ว่าไปทำชั่วได้ บารมีชั่วทำได้ บารมีดี ๆ ทำไม่ค่อยได้ เลิกเลย มันเป็นกันเสียอย่างนี้แหละ พวกเราไปเข้าข้างแต่อย่างนั้นล่ะ"

    ใจร้อน


    สมัยนี้เป็นสมัยกดปุ่ม คนส่วนมากถือว่า ทำอะไรลงไป ยิ่งเร็ว ยิ่งง่าย ยิ่งดี แต่หลวงพ่อแย้งกระแสโลกนี้ว่า

    "การภาวนาเข้าหาความสงบระงับนั้น ไม่เหมือนสวิตช์ไฟฟ้า กดปุ๊บจะให้แสงมันจ้าขึ้นมาเลย ประโยคแห่งการกระทำความเพียรนั้น จะให้ขาดวรรคตอนไม่ได้ ธรรมทั้งหลายเกิดมาเพราะเหตุ เมื่อเหตุดับแล้วผลจึงดับ"

    "ต้องค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะเอาวันสองวันให้ได้ ให้เห็น เมื่อวานซืนมีนักศึกษามาปรึกษา จะไปหัดภาวนากรรมฐาน นั่งสมาธิมันไม่สบาย มันไม่สงบ มาหาหลวงพ่อ จะให้หลวงพ่อชาร์จแบตเตอรี่ให้

    นี่อันนี้ต้องพากันพยายามทำไปเรื่อย ๆ คนอื่นบอกมันไม่รู้จัก จะต้องไปพบด้วยตนเอง ไม่ต้องเอาให้มากหรอก เอาน้อย ๆ แต่เอาทุกวัน แล้วก็เดินจงกรมทุกวัน

    มันจะมากจะน้อยก็ทำทุกวัน แล้วก็เป็นคนพูดน้อย แล้วก็ดูจิตของตัวเองตลอดเวลา เมื่อดูจิตของตัวเอง อะไรมันจะเกิดขึ้นมา มันจะสุขหรือมันจะทุกข์อะไรเหล่านี้ ก็บอกปฏิเสธมันเสียว่า เป็นของไม่แน่นอน เป็นของหลอกลวงทั้งนั้น"

    "บางคนก็ไม่เคยทำ เมื่อมาทำวัน ๒ วัน ๓ วัน ก็ไม่สงบ ก็เลยนึกว่า เราทำไม่ได้ เราต้องคิดว่าเมื่อเราเกิดมาเคยถูกสอนหรือยัง เราเคยทำความสงบหรือเปล่า เราปล่อยมานานแล้ว ไม่เคยฝึกหัดมัน

    มาฝึกชั่วระยะเวลาหนึ่ง อยากให้มันสงบ อย่างนั้นเหตุมันไม่พอ ผลมันก็ไม่มี เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องอันตัวเราท่านทั้งหลายจะหลุดพ้น ต้องอดทน การอดทนเป็นแม่บทของการประพฤติปฏิบัติ"

    "พระพุทธเจ้าสอนอย่าให้มันช้า อย่าให้มันเร็ว ทำจิตใจให้พอดี การประพฤติปฏิบัตินี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ถ้ามันเดือดร้อน เราก็ต้องพิจารณา เช่นว่าเราจะปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งมา

    ต้นไม้ที่จะปลูกนั้นก็มีอยู่ ก็ขุดหลุม ก็ปลูก เอาต้นไม้มาวางลงหลุมนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเราจะพูนดิน จะให้ปุ๋ย จะให้น้ำ จะรักษาแมลงต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของเรา

    คนจะทำสวนต้องทำอย่างนี้ ทีนี้เรื่องต้นไม้มันจะโตเร็วโตช้าของมันนั้นน่ะ มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเราไม่รู้จักหน้าที่การงานของตัวแล้ว มันก็ไปทำงานทำหน้าที่ของต้นไม้ มันก็ทุกข์ของเรา

    หน้าที่ของเราก็ให้ปุ๋ยมันไป ให้น้ำมันไป รักษาแมลงไม้ไป เท่านี้ ส่วนต้นไม้จะโตเร็วโตช้าเป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเรารู้จักหน้าที่การงานของเราเช่นนี้ ภาวนาก็สบาย ถ้าเราคิดเช่นนี้ การปฏิบัติของเราก็สบาย ง่าย สะดวก ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย"

    "นั่งมันสงบก็ดูความสงบไป ที่มันไม่สงบก็ดูความไม่สงบไป ที่มันสงบนั้นก็เป็นเรื่องของจิต มันเป็นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่นมันสงบแล้วมันก็สงบไป ถ้าไม่สงบก็ไม่สงบไป

    เราจะไปทุกข์ เพราะมันไม่สงบไม่ได้ เราจะไปดีใจเพราะจิตสงบมันก็ไม่ถูก เราจะไปเสียใจเพราะจิตไม่สงบ ก็ไม่ถูกเหมือนกัน เราจะไปทุกข์กับต้นไม้ได้หรือ ไปทุกข์กับแดดได้หรือ ไปทุกข์กับฝนได้หรือ ไปทุกข์กับอย่างอื่นได้หรือ มันเป็นเรื่องของมันอยู่อย่างนั้น

    ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว การภาวนาของพระโยคาวจรนั้นก็สบายแล้ว เดินทางเรื่อย ๆ ไป ปฏิบัติไป ทำธุระหน้าที่ของเราไป เวลาพอสมควรเราก็ทำของเราไป ส่วนจะได้จะถึงหรือมันสงบนั้น ก็เป็นวาสนาบารมีของเรา

    เหมือนกับชาวสวนปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเราใส่ปุ๋ยก็ใส่มันไป รดน้ำ ก็รดมันไป รักษาแมลงก็รักษามันไป เรื่องต้นไม้จะโตเร็วโตช้าไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของต้นไม้

    ละปล่อยทั้งสองอย่างนี้ รู้จักหน้าที่ของเรา รู้จักหน้าที่ของต้นไม้ มันถึงเป็นชาวสวนที่มีความสดชื่นดีฉันใด ผู้มีปัญญา ผู้ที่ภาวนาในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พอจิตคิดเช่นนี้ ความพอดี มันก็ตั้งขึ้นมาเอง"

    ตั้งใจมาก เป้าหมายสูง

    หลวงพ่อเตือนอยู่เสมอว่า เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะได้ เราปฏิบัติเพื่อละ คือถ้าปฏิบัติเพื่ออยากได้นั่นอยากได้นี่ ความอยากนั้นย่อมพานักปฏิบัติไปสู่ภพสู่ชาติอยู่เรื่อยไป ไม่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้น

    "การกำหนดตั้งใจทำสมาธินี้ บางครั้ง บางคนตั้งใจเกินไป บางคนถึงกับอธิษฐานเลย จุดธูปปักลงไป กราบลงไป ถ้าธูปดอกนี้ไม่หมดข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่นั่งเป็นอันขาด

    มันจะล้ม มันจะตาย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จะตายอยู่ที่นี่แหละ พออธิษฐาน ตั้งใจปุ๊บก็นั่ง พญามารมันก็เข้ามารุมเลย นั่งแพล้บเดียวเท่านั้น เลยลืมตามดูสักหน่อย โอ้โฮ ! ยังเหลือเยอะ กัดฟันเข้าไปอีก

    มันร้อนมันรนมันวุ่นมันวาย ไม่รู้ว่าอะไรอีก เต็มที่แล้ว ถึงนึกว่ามันจะหมด ลืมตาดูอีก โอ้โฮ ! ยังไม่ถึงครึ่งเลย สองทอดสามทอดก็ไม่หมด เลยเลิกเสียเถิด เกิดไม่ทำ นั่งคิดอาภัพอับจน แหมตัวเองมันโง่เหลือเกิน มันอาภัพ มันอย่างโน้นอย่างนี้

    นั่งเป็นทุกข์ว่าตัวเองเป็นคนไม่จริง เป็นคนอัปรีย์ คนจัญไร คนอะไรต่ออะไรวุ่นวาย ก็เลยเกิดนิวรณ์ นี้ก็เรียกว่าความพยาบาทเกิด ไม่พยาบาทคนอื่นก็พยาบาทตัวเอง

    อันนี้ก็เพราะอะไร เพราะความอยาก ความเป็นจริงนั่นนะ ไม่ต้องทำถึงขนาดนั้นหรอก ความตั้งใจน่ะ คือ ตั้งใจในการปล่อยวาง ไม่ต้องตั้งใจในการผูกมัดอย่างนั้น"

    อยากรู้อยากเห็น

    หลวงพ่อสอนให้ลูกศิษย์ภาวนาเพื่อทำจิตให้สงบ แล้วพิจารณาไตรลักษณ์เพื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ เช่นเดียวกับที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเฉพาะแต่เรื่องทุกข์ และความสิ้นไปแห่งทุกข์ ท่านไม่แนะนำให้รู้เห็นมากไปกว่าเรื่องเหล่านี้

    ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์มากราบเรียนถามว่า ทำไมเวลานั่งสมาธิ ตัวเขาไม่เคยเห็นแสงเห็นสี อะไรอย่างที่ได้ยินคนอื่นพูดกัน หลวงพ่อเลยย้อนถามว่า

    "เห็นแสงหรือ ? เห็นทำไม ? เราอยากจะเห็นแสงเพื่ออะไร ? ถ้าอยากเห็นแสงก็ดูนั่นซิ ไฟฟ้านั่นมันสว่างแล้ว นั่นแหละแสง" แล้วท่านก็อบรมต่อไปว่า

    "คนนั่งภาวนา ส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ อยากจะเห็นสีเห็นแสง อยากเห็นเทวดา เห็นสวรรค์นรกอะไรอย่างนั้น เราอย่าไปติดตรงนั้น บางคนนั่งภาวนาไปได้หน่อยเดียว สงสัยเสียแล้ว เราได้ฌานสองฌานสามฌานสี่แล้วกระมัง ชอบคิดกันอย่างนี้ อย่าเลยอย่าไปทำอย่างนั้น"

    เปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น

    งานสมาธิภาวนานั้น หลวงพ่อเน้นให้ปฏิบัติอย่างมีสติต่อเนื่อง ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง และนอน ไม่จำกัดการเจริญสมาธิเฉพาะในเวลานั่งหลับตาแต่ถ่ายเดียว

    "การภาวนากรรมฐานนี้ไม่ใช่การยืน ไม่ใช่การเดิน ไม่ใช่การนั่ง ไม่ใช่การนอนนะ แต่ต้องให้การยืน การเดิน การนั่ง การนอนเป็นข้อปฏิบัติ เพราะเราจะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้

    เราจะยืนก็ดี ยืน เดิน นั่ง นอน นี้อาศัยอะไร ? อาศัยปัญญาให้เกิดขึ้น ให้มีความถูกต้อง อาการที่มันจะถูกต้อง คือความเห็นที่ถูกต้องนั้นน่ะเรียกว่าปัญญา

    มันจะเกิดเมื่อไรก็ได้ เมื่อเรานอนก็ได้ นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ อิริยาบถทั้งสี่ประการนี้ เราอาจจะคิดชั่วก็ได้ อาจจะคิดดีก็ได้ อาจจะคิดถูกก็ได้ อาจจะคิดผิดก็ได้

    ในอิริยาบถทั้งสี่นี้ สาวกทั้งหลายประพฤติปฏิบัติสำเร็จมรรคผลอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ทั้งนั้น เช่นนั้นการภาวนานี้อาศัยการยืน การเดิน การนั่ง การนอน เป็นหลักที่เอาไปรวมกันตรงไหน ?

    ไปรวมตรงความเห็นให้มันถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิความเห็นชอบเกิดขึ้นมา สัมมาสังกัปโปความดำริมันก็ถูกต้อง การเลี้ยงชีพก็ถูกต้อง ฯลฯ

    ฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนคำพูดเสียดีกว่า เปลี่ยนเป็นว่าเราไม่ได้ออกจากสมาธิ เราเปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น สมาธิคือความตั้งใจ เมื่อเราออกจากสมาธิมาแล้ว ก็ให้มีความมั่นใจในสติอันนั้น ในสัมปชัญญะอันนั้น ในอารมณ์อันนั้น ในการกระทำเช่นนั้นตลอดเวลา

    เมื่อหากว่าเราเลิกจากการทำสมาธิแล้ว ถ้าหากเราเข้าใจว่า เลิกจากการงานแล้ว อย่างนี้ไม่ถูก ให้เรามี วิริยารัมภะ ปรารภความเพียรของเราอยู่เสมอ

    ให้จิตมีปรารภในการงานของเรา ในการกระทำของเรา ในสติสัมปชัญญะของเราอยู่เสมอ การทำสมาธินั้นจึงจะเจริญ"

    ดีกว่าหมานิดหน่อย

    การยกหูชูหางเป็นอาการตื่นเต้นแบบโลกแบบสงสารที่เขาเป็นกัน เกิดจากการได้พบได้เห็น สิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ในขณะภาวนา และไปหลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น หลวงพ่อเรียกว่าหลงอารมณ์

    ท่านสอนให้นักภาวนากำหนดรู้ และวางอารมณ์นั้นลงเสีย

    "การปฏิบัติของเรานี้อย่าให้มันยกหูชูหาง อย่าให้ยึดถือเป็นอะไร ๆ ขึ้นมา ให้เป็นไปด้วยความสงบระงับ ไม่ต้องทะเยอทะยานอยากได้อยากเป็นอะไรทั้งนั้น

    บางคนพอปฏิบัติไป เห็นอะไรบ้างแล้วก็ถือเป็นจริงเป็นจังว่าตัวได้ ตัวเป็นอะไรขึ้นมาจริง ๆ อย่างนั้นมันไม่ถก เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่วัดของหลวงพ่อเภา วันหนึ่งมีแม่ชีรูปหนึ่งมาหาท่าน มาบอกท่านว่า ดิฉันได้เป็นพระโสดาบันแล้วนะหลวงพ่อ

    ท่านได้ยินแม่ชีว่าอย่างนั้น ท่านจึงตอบไปว่า เออ ดีกว่าหมานิดหน่อยว่ะ พอท่านว่าอย่างนั้นพระโสดาบันก็หน้างอกลับไป นี่มันเป็นกันเสียอย่างนี้ มันผิดทางทั้งนั้นแหละ เราปฏิบัติอย่าให้หูหางมันเกิดขึ้นเลย เป็นอะไรแล้วก็ให้มันแล้วกันไป

    เป็นพระโสดาบันแล้วก็ให้มันแล้วไป เป็นพระอรหันต์แล้วก็ให้มันแล้วไป อยู่ง่าย ๆ ทำประโยชน์ไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ไหนก็อยู่ไปได้เป็นปกติ ไม่ต้องไปโอ้อวดถือว่าเราได้ เราเป็นอะไร ๆ ทั้งนั้น

    แต่สมัยนี้ถ้าคนเป็นพระอรหันต์แล้วอยู่ไม่ค่อยเป็นสุข คิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ ก็พูดให้ใคร ๆ ฟังไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ไหนก็ไม่ได้ ในครั้งพุทธกาล ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านอยู่ไม่ยากหรอก ไม่เหมือนกับคนทุกวันนี้"

    อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์


    บางคนปฏิบัติธรรมด้วยตัณหา อยากเป็นผู้วิเศษ อยากได้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ และในวงกรรมฐานมีหลายรูปที่ได้ผ่านประสบการณ์อันแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์

    แต่หลวงพ่อกลับไม่ยอมพูดเรื่องเหล่านี้เลย ทั้ง ๆ ที่ท่านได้ผ่านของประเภทนี้มามาก เพราะท่านมุ่งที่จะอบรมลูกศิษย์ให้เกิดปัญญา ไม่ต้องการให้เพลิดเพลิน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเลย

    แต่ก็มีบางครั้งเวลานั่งสนทนาธรรมกับพระเณรอย่างเป็นกันเอง ท่านอาจจะเล่าเรื่องแปลกให้ฟัง เพื่อความบันเทิงในธรรม แต่ท่านเตือนด้วยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่แน่นอน โลกียฌานมีแล้วอาจเสื่อมได้ อาจทำให้หลงได้ มีโทษมากกว่าคุณลงท้ายแล้วท่านมักจะพูดว่า

    "เล่าให้ฟังเฉย ๆ หรอก อย่าเอาเลย อย่าไปสนใจมัน"

    ครั้งหนึ่งตอนที่หลวงพ่อจาริกไปประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านได้สนทนาธรรมกับพระมหาเถระชาวศรีลังการูปหนึ่ง และวาระหนึ่งเมื่อได้ปรารภกันเรื่องนี้ พระมหาเถระรูปนั้นก็ถามว่า ที่เมืองไทยมีใครสนใจเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือเปล่า หลวงพ่อตอบว่า

    "ผู้ที่อยากได้ปาฏิหาริย์ อยากมีฤทธิ์อย่างนั้นก็มี แต่ผมเห็นว่าการปฏิบัติอย่างนั้นไม่ตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง พวกทั้งหลายเหล่านี้ ปฏิบัติเอาความโลภ ปฏิบัติเอาความโกรธ ปฏิบัติไปตามความหลง"

    นิมิต - สะเก็ดของความสงบ

    เมื่อจิตของผู้ภาวนาเข้าสู่ภาวะอันสงบ อาจจะเกิดมีมโนภาพต่าง ๆ ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เรียกกันว่า นิมิต

    หลวงพ่อเป็นผู้ผ่านประสบการณ์ด้านนิมิตมามาก และท่านมีเมตตาให้อุบายสอนศิษย์ให้รู้เท่าทันนิมิตที่กำลังเกิดขึ้นในระหว่างการฝึกสมาธิภาวนา

    "เมื่อลงนั่งสมาธิถ้าเกิดนิมิตต่าง ๆ เช่น เห็นนางฟ้าเป็นต้น เมื่อเห็นอย่างนั้น ให้เราดูเราเสียก่อนว่า จิตมันเป็นอย่างไร อย่าทิ้งหลักนี้ จิตต้องสงบมันจึงเป็นอย่างนั้น นิมิตที่มันเกิดขึ้น อย่าอยากให้มันเกิด อย่าไม่อยากให้มันเกิด

    มันมาก็พิจารณามัน แล้วอย่าหลงมัน ให้นึกว่ามันไม่ใช่ของเรา นี้ก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นถึงมันจะเป็นอยู่ก็อย่าเอาใจใส่มัน

    เมื่อมันยังไม่หายให้ตั้งจิตใหม่ กำหนดลมหายใจมาก ๆ สูดลมเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ อย่างน้อย ๓ ครั้งก็ตัดได้ ตั้งกำหนดใหม่เรื่อยไป สิ่งเหล่านี้อย่าว่าเป็นของเรา

    สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงนิมิต คือของหลอกลวงมันให้เราชอบ มันให้เรารัก มันให้เรากลัว นิมิตเป็นของหลอกลวง ใจเรามันไม่แน่นอน ถ้าเห็นแล้วอย่าไปหมายมั่น ไม่ใช่ของเรา อย่าวิ่งตามนิมิต เห็นนิมิตให้ดูนี่เลย อย่าทิ้งหลักเดิมของมัน

    ถ้าทิ้งตรงนี้ไปวิ่งตามมัน ลืมตัวเองเป็นบ้าไปได้ ไม่กลับมาพูดกับตัวเอง เพราะหนีจากคอกมันแล้ว ให้เชื่อตัวเองแน่นอน เห็นอะไรมาก็ดูจิตตัวเอง ถ้านิมิตเกิดขึ้นมา มันต้องสงบมันจึงเป็น ถ้าเป็นมาให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มิใช่ของเรา

    นิมิตนี้ให้ประโยชน์แก่คนมีปัญญา เพียรทำไปจนเราไม่มีความตื่นเต้นในนิมิต มันอยากเกิดก็เกิด ไม่กลัวมัน เชื่อใจได้อย่างนี้ไม่เป็นไร ทีแรกเราตื่นของน่าดูมันก็อยากดู

    ความดีใจเกิดขึ้นมา อย่างนี้ก็หลง ไม่อยากให้มันมีมันก็มี ไม่รู้จะทำอย่างไร ปฏิบัตินี่ นี่ก็เป็นทุกข์ มันอยากดีใจก็ช่างมัน ให้เรารู้ความดีใจนั่นเองว่า ความดีใจนี้ก็ผิด ไม่แน่นอนเช่นกัน แก้มันอย่างนี้ อย่าไปแก้ว่า ไม่อยากให้มันดีใจ มันทำไมจึงดีใจ"

    นอกจากไปหลงรัก หลวงชอบกับมันแล้ว นักภาวนาอาจจะเกิดอาการสะดุ้งกลัวต่อนิมิต หลวงพ่อให้กำลังใจว่าไม่อันตราย

    "ให้เตรียมใจไว้ว่า ไม่มีอะไรทำอันตรายเราได้ ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นในขณะภาวนา ถ้าเราตกใจ เราก็หยุด ตั้งสติไว้ว่าไม่มีอันตราย แล้วก็ปล่อยวางมันเสีย อย่าไปตามมัน ถ้าเราจะยกเอามาพิจารณาก็ได้ ดูเหตุผลของมัน

    ถ้าเราผ่านสิ่งเหล่านี้บ่อย ๆ ครั้งแล้ว เราก็จะไม่ตื่นเต้นอะไร จะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ไม่มีอะไร"

    โยมคนหนึ่งกราบเรียนท่านว่า ขณะนั่งสมาธิเห็นร่างกายของตัวเองปรากฏเป็นโครงกระดูกสีขาวลอยอยู่ข้างหน้า ดังนี้ ท่านจึงไขความกระจ่างว่า

    "อันนั้นเขาเรียกว่า อุคคหนิมิต ขยายรูป ขยายแสง ขยายให้ใหญ่ก็ได้ ขยายให้เล็กก็ได้ ขยายให้สั้นก็ได้ ขยายให้ยาวก็ได้ เรื่องเราขยาย ความเป็นจริงนั้นก็จิตที่มันสงบแล้ว ก็พอแล้ว เป็นฐานของวิปัสสนาแล้ว ไม่ต้องขยายอะไรมันมากมาย

    พอที่ว่ามันมีฐานะจะให้ปัญญาเกิดก็พอแล้ว เมื่อปัญญาเกิด อะไรปุ๊บมันเกิดขึ้นมา มันแก้ปัญหาของมันได้แล้ว มันมีปัญหามันก็ต้องมีเฉลย อารมณ์อะไรที่มันเกิดขึ้นมาปุ๊บเป็นต้น มันเป็นปัญหามา เมื่อเห็นปัญหาก็เห็นเฉลยพร้อม มันก็หมดปัญหาแล้ว

    อันนี้ความรู้มันสำคัญ อะไรที่ปัญหามันเกิด แต่เฉลยไม่เกิดก็แย่เหมือนกันนะ ยังไม่ทันมัน ฉะนั้น ไม่ต้องคิดอะไรมาก เมื่อมีปัญหาขึ้นมาปุ๊บเฉลยก็พร้อม เป็นปัจจุบันอย่างนี้

    นี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด อะไรที่เราไม่ได้นึก ไม่ได้คิด แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นมาปุ๊บ มันมีตัวเฉลยพร้อม ไม่ต้องไปคว้าเอาตรงนั้น ไม่ต้องไปคว้าเอาตรงนี้ เอาตรงนั้นก็พอแล้ว

    ให้เราคุมสติเราให้ดีว่า มันใหญ่เกิดขนาดไหม มันเล็กเกินขนาดไหม เมื่อกำหนดเข้าไปถึงที่สุดแล้ว ก็กำหนดเข้าไปข้างใน อย่าวิ่งไปข้างนอก ถ้าวิ่งไปตามข้างนอกมันจะขยายตัวไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็เป็นหมู เดี๋ยวก็เป็นหมา เดี๋ยวก็เป็นม้า เดี๋ยวก็เป็นช้าง

    เดี๋ยวเป็นโน่น เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาไล่กันเท่านั้นแหละ ให้มันรู้ว่าเป็นนิมิต สะเก็ดของความสงบ มันเกิดขึ้นจากที่สงบนั้น มันเป็นอย่างนั้น อาจจะเกิดนิมิต อย่างนี้มันต้องสงบแล้วมันจึงจะเกิดอย่างนั้น

    เมื่อเกิดแล้วก็ดูมัน เมื่อเราอยากให้มันหายก็อย่าวิ่งตามมัน เรารู้แล้วว่ามันเกิดเป็นนิมิตอย่างนั้น ก็กำหนดกลับเข้ามาในจิต มันก็หายได้"
     
  4. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    สัมมาสมาธิในไตรสิกขา

    หลวงพ่อได้อธิบายสรุปอานิสงส์ของสมาธิในส่วนที่ช่วยค้ำศีล และปัญญา ให้สมบูรณ์ครบองค์แห่งไตรสิกขาว่า

    "เมื่อจิตสงบแล้ว มันจะเป็นการสังวรสำรวมเข้าด้วยปัญญา ด้วยกำลังสมาธิ มันจะเป็นกำลังช่วยศีลให้บริสุทธิ์ขึ้นมาก เมื่อสมาธิเกิดเต็มที่แล้ว มันจะช่วยให้เกิดปัญญามาก

    จนกว่ามรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นก้อนเดียวกันแล้วทำงานสม่ำเสมอ อันนี้เป็นกำลังทำให้เกิด วิปัสสนา คือ ปัญญา

    เมื่อรวบยอดเข้ามา มันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คือการสังวรสำรวมที่มีอยู่ในกิจการของตนนั้นก็เรียกว่า ศีล ศีลสังวร ความตั้งใจมั่นอยู่ในความสังวรสำรวมในข้อวัตรของเรานั้น ก็เรียกว่ามันเป็นสมาธิ

    ความรอบรู้ทั้งหลายในกิจการที่เรามีอยู่นั้นก็เรียกว่าปัญญา พูดง่าย ๆ ก็คือ จะมีศีล จะมีสมาธิ จะมีปัญญา ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อมันกล้าขึ้นมา มันก็คือ มรรค นี่แหละ คือหนทาง ทางอื่นไม่มี"

    สมาธิคืออะไร


    แม้ในกรณีที่หลวงพ่อกล่าวถึงเรื่องละเอียดอ่อนที่เป็นนามธรรม ท่านก็ยังใช้ภาษาง่าย ๆ และตรงไปตรงมา ในการสอนเรื่องสมาธิท่านมักพูดถึงอาการของความสงบระงับที่ปรากฏแก่จิตตามความเป็นจริง มากกว่าหลักการที่บัญญัติไว้ในตำรา

    "ถ้ามันชัดแจ้งในความสงบ เมื่อมีอารมณ์มาผ่าน มีนิมิตขึ้นมาผ่าน ก็ไม่ได้สงสัยว่าเคลิ้มไปหรือเปล่าหนอ เมื่อกี้นี้ หลงไปหรือเปล่าหนอ เมื่อกี้นี้ ลืมไปหรือเปล่าหนอ เมื่อกี้นี้ หลับไปหรือเปล่าหนอ

    เมื่อกี้นี้ จิตขณะนี้ไม่ได้สงสัย หลับก็ไม่ใช่ตื่นก็ไม่ใช่ นี่มันคลุมเครือ เรียกว่ามันมั่วสุมอยู่กับอารมณ์ ไม่แจ่มใส เหมือนกันกับพระจันทร์เข้าก้อนเมฆ มองเห็นอยู่แล้ว แต่มันไม่แจ้ง มัว ๆ

    ไม่เหมือนกับพระจันทร์ออกจากก้อนเมฆนั้น แจ่มใสสะอาด จิตเราสงบ มีสติสัมปชัญญะรอบคอบสมบูรณ์แล้ว จึงไม่สงสัยในอาการทั้งหลายที่เกิดขึ้น จะหมดจากนิวรณ์จริง ๆ รู้ว่าอันใดเกิดขึ้นมา เป็นอันใดหมดทุกอย่าง

    รู้แจ้งเรื่องตามเป็นจริง ไม่ได้สงสัยอันนั้นเป็นดวงจิตใสสะอาด สมาธิถึงขีดแล้ว เป็นเช่นนั้น"

    "ระยะหลัง ๆ มาก็เป็นไปในรูปอย่างนี้ทำนองนี้ เป็นเรื่องธรรมดาของมัน ถ้าจิตแจ่มแจ้งผ่องใสแล้ว ไม่ต้องไปถามว่าง่วงหรือไม่ง่วง ใช่หรือไม่ ทั้งหลายเหล่านี้มันก็ไม่มีอะไร ถ้ามันชัดเจนก็เหมือนเรานั่งธรรมดาอย่างนี้เอง

    นั่งเห็นธรรมดา หลับตาก็เหมือนลืมตา เห็นในขณะหลับตาก็เหมือนลืมตามาเห็น ทุกอย่างสารพัดไม่มีความสงสัย เพียงแต่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิตของเราว่า เอ๊ะ สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นของมันไปได้ มันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันก็เป็นของมันได้

    อันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์มันเองไปเรื่อย ๆ ทั้งมีปีติ ทั้งมีความสุข มีความอิ่มใจ มีความสงบ เป็นเช่นนั้น ต่อนั้นไปจิตมันจะละเอียดไปยิ่งกว่านั้น มันก็จะทิ้งอารมณ์ของมันไปได้ วิตกยกเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มี และวิจารณ์มันก็จะหมด

    จะเหลือแต่ความอิ่มใจ อิ่มไม่รู้ว่าอิ่มอะไร แต่มันอิ่ม เกิดความสุขกับอารมณ์เดียวนี้ มันทิ้งไป วิตกวิจารมันทิ้งไป ทิ้งไปไหน ไม่ใช่เรื่องทิ้ง จิตเราหดตัวเข้ามา คือมันสงบ

    เรื่องวิตกวิจารมันเป็นของหยาบไปแล้ว มันเข้ามาอยู่ในที่นี้ไม่ได้ ก็เรียกว่าทิ้งวิตกทิ้งวิจาร ทีนี้ จะไม่มีความวิตก ความยกขึ้นวิจาร ความพิจารณาไม่มี มีแต่ความอิ่ม มีความสุขและอารมณ์เดียว เสวยอยู่อย่างนั้น"

    "ที่เขาเรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เราไม่ได้ว่าอย่างนั้น เราพูดถึงแต่ความสงบ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ต่อไปนี้ก็ทิ้งวิตก วิจาร เกิดขึ้นมาแล้วก็ทิ้งไป เหลือแต่ปีติกับสุข เอกัคคตา

    ต่อไปก็มีแต่โน้นถึงปลายมัน เหลือแต่สุข เอกัคคตา กับ อุเบกขา เฉยอย่างนี้ อันนี้มันสงบแล้วมันจึงเป็น นี้เรียกว่า กำลังของจิต อาการของจิตที่ได้รับความสงบแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้มันไม่ง่วง ความง่วงเหงาหาวนอนมันเข้าไม่ได้

    นิวรณ์ทั้ง ๕ มันหนีหมด วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล อิจฉาพยาบาท ฟุ้งซ่านรำคาญ นี่ ! เหล่านี้ไม่มีแล้ว นี่มันค่อยเคลื่อนไปเป็นระยะอย่างนั้น นี้อาศัยการกระทำให้มาก เจริญให้มาก"

    สำคัญที่สติ

    สติเป็นธรรมอันเอก ที่จะคอยประคององค์สมาธิให้เดินไปในแนวสัมมาปฏิปทา ข้อนี้หลวงพ่อท่านเน้นไว้หนักหนา

    "สิ่งที่รักษาสมาธิไว้ได้คือ สตินี้เป็นธรรม เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมอันอื่น ๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สตินี้คือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย

    ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประมาท ในระหว่างขาดสตินั้น พูดไม่มีความหมาย การกระทำไม่มีความหมาย ธรรมคือสตินี้ คือ ความระลึกได้ในลักษณะใดก็ตาม สติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ ทุกสิ่งสารพัด

    ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติ ธรรมทั้งหลายนั้นไม่สมบูรณ์ อันนี้คือการควบคุมการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ไม่ใช่แต่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น

    แม้เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว สติยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอ มีความรู้อยู่เสมอ เป็นของที่มีอยู่เสมอ ทำอะไรก็ระมัดระวัง เมื่อระมัดระวังทางจิตใจ ความอายก็เกิดขึ้นมา การพูด การกระทำอันใดที่ไม่ถูกต้อง เราก็อายขึ้น อายขึ้น

    เมื่อความอายมีกำลังกล้าขึ้นมา ความสังวรก็มากขึ้นด้วย เมื่อความสังวรมากขึ้น ความประมาทก็ไม่มี"

    นี่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นั่งสมาธิอยู่ตรงนั้น เราจะไปไหนก็ตาม อันนี้มันอยู่ในจิตของตัวเอง มันไม่ได้หนีไปไหน นี่ท่านว่าเจริญสติ ทำให้มาก เจริญให้มาก

    อันนี้เป็นธรรมะคุ้มครองรักษากิจการที่เราทำอยู่หรือทำมาแล้ว หรือกำลังจะกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นธรรมะที่มีคุณประโยชน์มาก ให้เรารู้ตัวทุกเมื่อ ความเห็นผิดชอบมันก็มีอยู่ทุกเมื่อ

    เมื่อความเห็นผิดชอบมีอยู่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ ความละอายก็เกิดขึ้น จะไม่ทำสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่า ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว"

    แม้ในการเจริญปัญญา สติในแง่ของการระลึกรู้อยู่ในความไม่แน่ก็เป็นปัจจัยอันสำคัญอย่างหนึ่ง

    "ก็ให้รู้ว่า อันนี้มันไม่แน่นอนอย่างนี้เรื่อยไปเถอะ แล้วปัญญามันจะเกิดหรอก แต่อย่าไปคิดออกหน้ามันนะ ให้ดูไปเถอะให้มันรู้ ถ้าหากเรารู้มันจะมารายงานเราหรอก

    มันก็คล้าย ๆ คนเข้าไปในบ้านที่มีหน้าต่างอยู่ ๖ ช่อง แล้วก็มีคน ๆ เดียวเข้าไปอยู่ในนั้น เราไปดูหน้าต่าง ก็มีคนโผล่ออกไป ทางโน้นก็มีคนโผล่ออกไป มันก็ไอ้คน ๆ เดียวกันน่ะแหละ ไม่ใช่คน ๖ คน

    คน ๆ เดียวมันไปโผล่ทั่วถึงกันหมดทั้ง ๖ ช่อง คน ๆ เดียวก็เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา จะตัดความสงสัยทั้งหลายออกไปได้"

    มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ

    แมวเฝ้ารูหนูก็มีสมาธิ นักย่องเบาก็มีสมาธิ แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิของสัตว์เดียรัจฉาน ไม่ใช่บ่อเกิดของปัญญา พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า มิจฉาสมาธิ หลวงพ่ออธิบายว่า

    "สมาธิทั้งหลายเหล่านี้ แบ่งเป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็นสมาธิในทางที่ผิด เป็นสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง คือสมาธิในทางที่ถูกต้อง นี่ก็ให้สังเกตให้ดี

    มิจฉาสมาธิคือความที่จิตแน่วแน่เข้าสู่สมาธิ เงียบหมด ไม่รู้อะไรเลย ปราศจากความรู้ นั่งอยู่ ๒ ชั่วโมงได้ กระทั่งทั้งวันก็ได้ แต่จิตไม่รู้ว่ามันไปถึงไหน มันเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่อง

    นี้สมาธิอันนี้เป็นมิจฉาสมาธิ มันก็เหมือนมีดที่เราลับให้คมดีแล้ว แต่เก็บไว้เฉย ๆ ไม่เอาไปใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนั้นเป็นความสงบที่หลง คือ ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว

    เห็นว่าถึงที่สุดแล้วก็ไม่ค้นคว้าอะไรอีกต่อไป จึงเป็นอันตราย เป็นข้าศึก ในขั้นนั้นเป็นอันตราย ห้ามปัญญาไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้ เพราะขาดความรู้สึกรับผิดชอบ

    ส่วนสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหน ก็มีความรู้อยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์ รู้ตลอดกาล นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

    เป็นสมาธิที่ไม่ให้หลงไปในทางอื่นได้ นี้ก็ให้นักปฏิบัติเข้าใจไว้ให้ดี จะทิ้งความรู้นั้นไม่ได้ จะต้องรู้ตั้งแต่ต้นจนปลายทีเดียว ถึงจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตให้มาก"

    และอีกโอกาสหนึ่งหลวงพ่อพูดถึงสมาธิสองอย่างอีกนัยหนึ่ง

    "ความสงบนี้มีสองประการคือ ความสงบอย่างหยาบอย่างหนึ่ง และความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง อย่างหยาบนั่นคือ เกิดจากสมาธิ ที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุข แล้วถือเอาความสุขเป็นความสงบ

    อีกอย่างหนึ่งคือความสงบที่เกิดจากปัญญา นี้ไม่ได้ถือเอาความสุขเป็นความสงบ แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้นจึงไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความสงบ

    เพราะว่าความสุขความทุกข์นี้เป็นภพ เป็นชาติ เป็นอุปาทาน จะไม่พ้นจากวัฏสงสาร เพราะติดสุขติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข

    ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้น จึงไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุขความทุกข์ แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา ทำจิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมาย ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง"

    ระดับของสมาธิ

    ในวงกรรมฐาน ท่านมักกล่าวว่าความสงบมี ๓ ระดับ

    ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วขณะ เป็นความสงบขั้นต้นในการภาวนา พอสำหรับใช้ในการเล่าเรียน ทำการทำงานให้ได้ผลดี ทำให้จิตใจสงบสบายเพราะได้พักชั่วคราว

    อุปจารสมาธิ คือ สมาธิเฉียดฌาน จวนจะแน่วแน่ระงับนิวรณ์ทั้งห้าได้แล้ว แต่จะเหมือนไก่ในเล้า ไม่นิ่งเลยทีเดียว

    อัปปนาสมาธิ คือ ขั้นที่จิตตั้งมั่นอย่างสนิทแน่วแน่ เมื่อจิตอิ่มตัวอย่างเต็มที่แล้ว ก็ถอนออกจาก อัปปนา กลับมาสู่ขั้น อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นที่จิตจะทำงานทางปัญญาได้ดีที่สุด

    "สมมุติว่ามีครอบแก้วอันหนึ่งแล้วจิตของเราไปอยู่ในนั้น ไม่ออกจากวงอันนั้น แต่ว่ามันยังมีอารมณ์อยู่ ยังมีขอบเขต คือว่าอารมณ์ยังเข้าได้บ้างแต่มีขอบเขต ไม่วิ่งไปตามอารมณ์ มีหลักอยู่บ้างอยู่ในวงจำกัด อันนี้ คือ อุปจารสมาธิ

    จิตต้องอาศัย อุปจารสมาธิ คือ กำหนดเข้าไปสู่ความสงบแล้วพอสมควร ถอนออกมารู้อาการภายนอก ดูอาการภายนอกให้เกิดปัญญา

    อันนี้ดูยากหน่อย เพราะมันคล้าย ๆ จะเป็นสังขารความปรุงแต่ง เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมา เราอาจเห็นว่าอันนี้มันไม่สงบ ความเป็นจริงความรู้สึกนึกคิดในเวลานั้น

    มันรู้สึกอยู่ในความสงบ พิจารณาอยู่ในความสงบแล้วก็ไม่รำคาญ บางทีก็ยกสังขารขึ้นมาพิจารณา ที่ยกขึ้นมาพิจารณานั้น ไม่ใช่ว่าคิดเอาหรือเดาเอา มันเป็นเรื่องของจิตที่เป็นขึ้นมาเองของมัน อันนี้เรียกว่า ความรู้อยู่ในความสงบ

    ความสงบอยู่ในความรู้ ถ้าเป็นสังขารความปรุงแต่ง จิตมันก็ไม่สงบ มันก็รำคาญ แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง มันเป็นความรู้สึกของจิตที่เกิดขึ้นจากความสงบ เรียกว่า การพิจารณา

    นี้ปัญญาเกิดตรงนี้" หลวงพ่อกล่าวถึงเรื่องสมาธิจากประสบการณ์ของท่าน

    สมาธิทุกขั้นมีความสำคัญ มีหน้าที่อยู่ในตัวของมัน จะทิ้งอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายของหลวงพ่อ ระหว่างการสนทนากับอุบาสกคนหนึ่ง

    อุบาสก : ถ้าทำสมาธินี้เอาแต่ ขณิกสมาธิ ก็พอ ไม่จำเป็นต้องไปยิ่งกว่านี้ใช่ไหมครับ

    หลวงพ่อ : ก็ไม่เป็นไรอย่างนั้น คือ หมายความว่ามันต้องเดินไปถึงกรุงเทพฯ ก่อน ว่ากรุงเทพฯ มันเป็นอย่างนี้ อย่าไปถึงแต่โคราชซิ ถึงแม้ว่าจะไปอยู่โคราชก็ให้มันถึงกรุงเทพฯ

    มันก็จะเห็นว่า อ้อ ! เมืองโคราชเจริญแค่นั้น คือไปให้ถึงเมืองกรุงเทพฯ ก่อนและเราก็ผ่านอุบลราชธานีด้วย ผ่านโคราชด้วย ผ่านกรุงเทพฯ ด้วย คือ เรียกว่า สมาธิน่ะ

    ขณิกสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะถึงที่ก็ให้มันถึงที่ มันจึงจะรู้จักโคตรของสมาธิว่ามันเป็นอย่างไร อัปปนาสมาธิ นี่มันมากกว่า อุปจารสมาธิ ไปแค่โคราชเท่านั้น

    อุบาสก : อัปปนาสมาธิ นี่มากกว่า อุปจารสมาธิ

    หลวงพ่อ : อุปจาระมันไปแค่โคราชเท่านั้น แต่มันเทียวไปเทียวมา อุปจารสมาธิ ขณิกสมาธิ นี้เข้าไปวิ่ง อุปจารสมาธิ มันไม่เข้าไป มันเดินไปเดินมา ขณะจิตของเรามันคิดไปคิดมาอยู่ แต่คิดอยู่ในความสงบ

    บางทีคิดไปคิดมาก็เข้าไปหยุดอยู่แต่ขณะหนึ่ง เมื่อเข้าไปถึง อัปปนาสมาธิ น่ะ มันทิ้ง ขณิกสมาธิอุปจารสมาธิ ทิ้งไปหมด เข้าไปอยู่โน่น ตรงนี้มันพ้นจากสิ่งทั้งหลาย แต่ว่ามันก็เป็นผลของ ขณิกสมาธิด้วยนะ

    และก็เป็นผลของอุปจารสมาธิด้วย มันต้องผ่านนี่ ถ้าไม่ผ่านไม่ได้ถึงโน่น

    อุบาสก : แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันถึงไหนแล้ว ขณิกะ อุปจาระ หรือ อัปปนา

    หลวงพ่อ : มันจะเป็น อัปปนาสมาธิ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้มันรู้แจ้งในใจของเราว่า มันสงบได้ก็แล้วกัน ให้มันรู้ชัดเจนว่าใจเราหยุดได้จริง เชื่อมั่นว่าจิตใจของเราเป็นจิตใจอันผ่องใสหรือไม่ ต้องรับรองด้วยตนเอง

    เท่านี้ก็ไม่ต้องไปสงสัยแล้วว่า มันจะเป็นอัปปนา หรือ ขณิกะ หรืออะไร อย่าไปคิดมันเลยเสียประโยชน์เปล่า ๆ มาเอาใจของเรา เอาความจริงของเราดีกว่า เมื่อไรมันยังไม่เป็นเราก็ยังต้องทำ เมื่อไรมันยังไม่เห็นเราก็ต้องฝึกอยู่นั่นแหละ"

    สมถะ (หรือสมาธิ) คือความตั้งมั่นแห่งจิต และวิปัสสนา (หรือปัญญา) คือความรู้แจ้ง สองคำนี้ใช้กันแพร่หลายในวงกรรมฐาน จนเกิดความเห็นแบ่งแยกเป็นสองฝักสองฝ่าย

    เรื่องบทบาทความสำคัญและความสัมพันธ์กัน ระหว่างสมถะและวิปัสสนา บางสำนักเน้นเรื่องสมถะ บางสำนักสอนแต่วิปัสสนาล้วน

    สำหรับหลวงพ่อท่านมิได้แบ่งแยกสมถะและวิปัสสนาออกจากกัน หรือให้ความสำคัญระหว่างสองสิ่งมากน้อยต่างกัน แต่ทว่าคำสอนของท่านโยงใยให้เห็นว่า ธรรมสองข้อนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และมีองค์คุณเกี่ยวเนี่องกันเช่นไร

    "สมาธิ (สมถะ) และปัญญา (วิปัสสนา) นี้ต้องควบคู่กันไป เบื้องแรกจิตจะเข้าถึงความระงับโดยอาศัยวิธีทำสมาธิภาวนา จิตจะสงบอยู่ได้โดยเฉพาะ ขณะที่ท่านนั่งหลับตาเท่านั้น นี่คือ สมถะ

    และอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐานช่วยให้เกิดปัญญาหรือวิปัสสนาได้ในที่สุด แล้วจิตก็จะสงบ ไม่ว่า ท่านจะนั่งหลับตาอยู่หรือเดินอยู่ในเมืองที่วุ่นวาย เปรียบเหมือนกับว่า

    ครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นเด็ก บัดนี้ท่านเป็นผู้ใหญ่ แล้วเด็กกับผู้ใหญ่นี้เป็นบุคคลเดียวกันหรือเปล่า ท่านอาจจะพูดได้ว่าเป็นคนคนเดียวกัน หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ท่านก็จะพูดได้ว่าเป็นคนละคนกัน

    สมถะกับวิปัสสนาก็อาจจะ พูดกันไว้ว่าแยกออกจากกัน ในทำนองเดียวกัน หรือเปรียบเทียบอาหารกับอุจจาระ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน และถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนละสิ่งกัน"

    คำว่า สงบจิต และ สงบกิเลส เป็นนิยามที่หลวงพ่อเลือกเฟ้นมาใช้แทนคำว่าสมถะและวิปัสสนาได้อย่างสมเหตุสมผล เพราะสามารถชี้นำ เข้าถึงหัวใจแห่งการปฏิบัติกรรมฐานได้เป็นอย่างดี

    "ถ้าพูดถึงสมถะก็คือที่เรียกว่า มันสงบจิต เมื่อเราทำสมาธิเราเข้าไปสงบจิต เรื่องสงบจิตนี้อายุมันน้อย อายุมันสั้น ตรงนี้มันไม่สบายมันถูกอารมณ์มาก

    เราก็เข้าไปที่ใดที่หนึ่งที่มันสงบ แล้วก็เข้าไปสงบจิตอยู่ตรงนั้น แต่ว่ากิเลสมันยังอยู่นะ ไม่ใช่เรื่องสงบกิเลส ตรงนี้มันแบ่งออกเสีย เรื่องสงบจิตมันเป็นอย่างหนึ่ง เรื่องสงบกิเลสนั้นมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    เรื่องจิตมันสงบนั้น มันไม่ได้ยินอารมณ์อะไรมาพลุกพล่าน จิตมันก็สงบไปได้ง่าย แต่หากว่า มีอะไรมาคุกคามแล้วจิตมันสงบไม่ได้ อันนี้คือมันยังอยู่ มันปล่อยไม่ได้ มันวางไม่ได้ ตรงนี้ เรื่องที่เขาสมมุติว่าเรื่องสมถะหรือวิปัสสนา

    ถ้าเราพูดส่วนแยกออกมันก็แยกออก ถ้าพูดส่วนรวมมันก็แยกของมันไม่ได้ มันติดกันอยู่อย่างนั้น มีญาติโยมหรือสหธรรมิกเคยมาเรียนถามว่า ทุกวันนี้ฝึกให้เขาทำวิปัสสนาหรือสมถะ

    ผมไม่รู้ มันฝึกไปพร้อม ๆ กัน ถ้าตอบตามความเป็นจริง ในเรื่องของจิต จะต้องตอบอย่างนี้ คือฝึกไปพร้อม ๆ กัน เพราะมันเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน เมื่อมีความสงบถ้า ไม่มีปัญญา มันก็อยู่ไม่ได้นาน"

    หลวงพ่อให้คำจำกัดความสรุปอย่างสั้น ๆ แต่ชัดแจ้งในตัวว่า

    "ปัญญา คือ อาการไหวตัวของสมาธิ เช่นเดียวกับคำว่า น้ำไหลนิ่ง คือ สมถะและวิปัสสนา ของผู้มีสัมมาปฏิบัติต้องประสานสอดคล้องไหลรินดุจกระแสน้ำ จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้

    เหมือนน้ำนิ่งมันไหล ถ้าเปรียบเข้ามาในธรรมะก็คือมีสมาธิ ความสงบที่ประกอบด้วยปัญญา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ไปนั่งตรงไหนมันก็นิ่งและมันก็ไหลอยู่ มันเป็นน้ำนิ่ง

    ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา มันจะบอกมันเลย มันอยู่ตรงนี้ ธรรมะเป็นอย่างนี้"
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 กันยายน 2013
  5. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    สงบแล้วเพียรต่อ

    จิตที่อิ่มอยู่ในความสงบอย่างพอควร จิตที่ปราศจากนิวรณ์รุมเร้า ท่านเรียกว่าเป็นจิตที่อยู่ในสภาพ ควรแก่การงาน หลวงพ่อมักแนะนำให้ผู้ภาวนากำหนดเอาเรื่อง กายคตาสติ มาเป็นอารมณ์กรรมฐาน

    ก็คือยกอาการ ๓๒ ของร่างกายมาพิจารณา หรือเอาเฉพาะ ๕ ประการแรก ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง หรือ อาการอย่างใดอาการหนึ่ง ก็ได้แล้วแต่ถนัด

    "ไม่ต้องไปเพ่งภูเขา ดินฟ้าอากาศ ไม่ต้องไปเพ่งคนเป็นสุนัข ไม่ต้องไปเพ่งสุนัขให้เป็นคน ไม่ต้องไปเพ่งอะไรต่ออะไรวุ่นวาย มันไม่ใช่อย่างนั้น เราเพ่งแต่สิ่งที่มันเกิดปัญญาเลย

    เราต้องดูศีรษะไปหาปลายเท้า จากปลายเท้าขึ้นมาหาศีรษะ นี่มันคืออะไร ความจริงมันแค่ไหน ทำไมคนมันจึงไปยึดมันนักหนา มันเป็นห่วงเป็นใยอะไร เพราะอะไร มีอะไรอยู่ในนี้บ้าง

    เรามาค้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้รู้เท่าตามความจริงว่า เออ ! มันก็เท่านี้เอง เมื่อเห็นเช่นนี้รู้เช่นนี้มันก็ถอนอุปาทานออกมาเท่านั้นแหละ ที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า แหม ! อันนี้เรารักมันที่สุด อันนี้เราเกลียดมันที่สุด มันก็ถอนออกมา"

    แม้ลูกศิษย์ได้ภาวนาจนจิตถึงความสงบระงับเพียงใดก็ตาม หลวงพ่อก็ยังให้ถือสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมภายในความสงบนั้น เป็นธรรมอันเอก ในการฝึกจิตให้คุ้นต่อไป

    นักปฏิบัติหลายรูปหลายคนมักมาถามท่านว่า เมื่อจิตสงบแล้ว ควรจะทำอย่างไรต่อ

    "รักษาของเก่านั้นไว้ แล้วก็ทำสติให้ดีขึ้น สติให้มากกว่าอย่างอื่น ไม่ผิด การทำเพียรทำไปอย่างนี้ แต่ว่าที่มันพอสมควรแล้ว สติของเรามันก็ยังไม่เต็มส่วนของมัน เราก็พยายามเพิ่มให้มีสติมากยิ่งกว่านั้น ให้มันรู้เท่าทันมันทุกอย่าง

    เมื่อสติเราแจ่มแจ้งขึ้นเมื่อใดนะ ความรู้เรามันจะเกิดขึ้นมา เพราะเรามีสติอยู่ อะไรผ่านมาเราก็รู้ อันนี้แหละถ้าเรามีสติอยู่จะให้เกิดปัญญา จะให้เรารู้ตามเห็นตามเห็นกระจ่างออกไปได้

    ถ้าเราไม่มีสติเราก็ไม่รู้ มันไปถึงไหนอะไรกัน คือทำสตินั่นแหละให้มากขึ้นเท่าที่เราจะทำได้ สตินี้เองจะเป็นคุณค่าอันไพศาล ที่จะประคับประคองความรู้สึกของเรา ให้เข้าแนวทางอันสงบได้

    สตินี้ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง จะช่วยประคับประคองตักเตือนเรา อย่างพวกเรานี้ก็เรียกว่า คล้าย ๆ พระพุทธเจ้า เพราะว่าเมื่อเรามีสติอยู่นะ มันจะตื่น มันจะรู้ มันจะเห็น มันจะได้สังวร

    การสังวรการสำรวมมันก็จะเกิดขึ้นเพราะเรามีสติอยู่ อะไรที่ยังมีกิเลสที่มันอยู่ลึกลับ เป็นต้น ที่เรายังไม่เห็นอยู่นั่น ก็เพราะสติเรายังไม่พร้อม มันก็ไม่เห็น มันหลบไปได้ ถ้าเรามีสติอยู่กระจ่างขึ้นมาเมื่อใด จิตใจหรือปัญญาของเรามันจะผ่องใสขึ้น

    ฉะนั้นท่านจึงอย่าให้ไปมั่นหมายมัน ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นเขาในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ก็กระทำความเพียรของเรานี้ต่อไป ผมว่าเราก็ทำไปอย่างนี้ ถ้าไม่มีเรื่องอะไร เราก็ไม่ต้องพิจารณามัน อยู่เป็นปกติ

    เหมือนอย่างเราเดินไป เรากวาดบ้าน เราก็กวาดของเราเรื่อย ๆ ไป ถ้าไม่มีใครมาเรียกเรา เราก็ไม่มองดู ถ้ามีใครมาเรียก อาจารย์ หือแน่ รู้แล้วมีธุระ นอกนั้น เราก็กวาดบ้านของเราไป

    มีเรื่องก็พิจารณามัน ไม่มีเรื่องก็ไม่พิจารณา พิจารณาแต่ความเป็นอยู่ของเรานี้ ให้รู้ไว้ มีสติอยู่อย่างนี้เท่านั้น ถ้าไม่มีเรื่องก็อยู่สบายของเราตามเคย แต่ไม่ใช่ปล่อยนะ

    เราระวังของเราอยู่ ไม่ใช่ปล่อยทิ้ง อะไรผ่านมาเรารู้จัก ไม่ใช่ว่าไม่รู้จัก ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่า ไม่ต้องค้นคิดอะไรมันมาก แต่เมื่อมันมาสัมผัสทางอายตนะอันใดแล้ว มันสัมผัสแล้วมันก็เป็นเรื่องภายในของมัน ก็ตามดูมันไป

    ถ้าดูไป ๆ มันก็แค่นั้นแหละ ก็กลับมาอยู่ที่เก่าของเรา อย่าหนีมันไป เดี๋ยวมันจะพาเราไปสวรรค์ ไปนรกนะ ระวัง"

    คิดกับพิจารณา

    ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่นักปฏิบัติมักสงสัยบ่อย ๆ ก็คือการพิจารณาคืออะไรกันแน่ คอยสงสัยว่า มันต่างกับความนึกคิดอย่างไร หลวงพ่อได้อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดแจ้งในคำตอบที่ท่านให้กับนักปฏิบัติจากอเมริกาที่มากราบนมัสการและสนทนาธรรมที่วัดหนองป่าพง

    "ความคิดอย่างหนึ่ง ความพิจารณาอย่างหนึ่ง คือ ความคิดนั้นจิตมันไม่ส่ายหรอก มันก็คิดของมันไปเรื่อย ๆ หยาบ ๆ ทีนี้เมื่อจิตสงบปุ๊บมันจะมีความรู้สึก เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมาคล้าย ๆ ความคิด แต่มันไม่ใช่ความคิด

    อันนี้มันเกิดมาจากความสงบที่กลั่นกรองออกมาแล้ว มันจะเป็นปัญญาอ่อน ๆ ถ้าเรารู้ไม่ทันมัน มันก็เป็นสังขาร ถ้าเรารู้ทันมัน มันก็เป็นปัญญา เป็นปัญญาอย่างง เมื่ออะไรมันรู้เกิดขึ้นมามันก็เห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เป็นปัญญา

    ถ้าเราปรุงแต่ง คิดยังงั้นคิดยังงี้ นี่มันเป็นสังขารแล้ว ไอ้ความรู้อันนั้นมันเกิดมาจากอวิชชาแล้วมันจึงเป็นอย่างนั้น ถ้าเกิดมาจากวิชชาแล้วก็ต้องรู้จักปล่อย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปล่อยมันไปเรื่อย ๆ นี่มีปัญญาแล้ว ควรให้มีตรงนี้ อันนี้แหละจะเป็นวิปัสสนาต่อไป ตรงนี้เริ่มแล้ว"

    ถาม "แล้วตอนนั่งจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นปัญญาจริงหรือว่าเป็นอวิชชา?"

    หลวงพ่อ "เป็นปัญญาที่แท้จริงคือมันไม่ไปยึดหมายในอารมณ์อันนั้น เห็นแล้วก็ไม่รำคาญ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรแล้ว เมื่อกิเลสเกิดขึ้นมา ความรู้มากระทบ มันก็หายไป ๆ

    ถ้าเป็นอวิชชากระทบมาจับเลย คือเรื่องการภาวนานี้มันมีสองอย่าง ท่านตรัสไว้ว่า มัน เจโตวิมุตติ อันหนึ่ง ปัญญาวิมุตติ อันหนึ่งนะ ปัญญาวิมุตติ นั้นเรียกว่า มันเร็วมาก

    อย่างคนสองคนนี้จะเดินไปดูลวดลายซักอย่างหนึ่ง อย่างโยมก็ไปดูพร้อมกันนี่น่ะ ดูห้านาทีพร้อมกันนี่ เข้าใจเอามาทำเลย รู้ ทีนี้อีกคนหนึ่งจะต้องมานั่งคิดตรงนั้นมันทำยังงั้น ก็กลับไปดูอีก ตรงนั้นมันทำยังงั้นแน่ะ

    เจโตวิมุตติ ต้องมาทำจิตให้มันมาก ๆ เสียหน่อยหนึ่ง ทำสมาธิให้มากเสียหน่อยหนึ่ง โยมนี่ ไม่ต้องทำอะไรแล้วนี่ ไปมองดูเข้าใจแล้วก็มาทำ ไม่สงสัย กลับมาเขียนเลยทำเลย นี่ ปัญญาวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ และเจโตวิมุตติ

    นี้ก็ไปถึงที่สุดเหมือนกัน แต่ว่ามีอาการต่างกัน มีอาการต่างกันอย่างไร ปัญญาวิมุตตินี้มีสติสัมปชัญญะรอบอยู่เสมอเลย เมื่อเห็นอะไรพ้นขึ้นมา รู้ รู้ มันปล่อย มันวางง่าย

    คนที่เจโตวิมุตตินี่เห็นขึ้นมาแล้วไม่ได้ ต้องไปนั่งพิจารณา นี่ก็ไปได้เหมือนกัน ให้รู้จักจริตของเรา บางคนที่อาจะไม่รู้จักว่ามันเป็นสมาธิด้วย เราเดินไปดูไป สมาธิคือความตั้งใจมั่น มันมีอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว

    ถ้าคนมีปัญญาไม่ต้องยาก ทำสมาธินี่พอเป็นรากฐานเฉย ๆ คล้าย ๆ ว่า เขาเรียนกัน มศ.๓ น่ะ ม.๖ นะ ได้ ม.๖ ปุ๊บแล้วก็แยกไป จะไปเข้าตรงไหน ใครชอบอะไร ใครชอบเกษตรก็ไปเกษตร ใครชอบอะไรก็ไป มันแยกตรงนี้อย่างนี้ สมาธิก็เหมือนกันอย่างนี้ มันไปอย่างนี้ก็ไปถึงที่สุดของมัน"

    อีกโอกาสหนึ่งหลวงพ่ออธิบายเรื่องวิปัสสนาไว้ว่า

    "อาการที่พิจารณาออกจากความสงบเหล่านี้แหละเรียกว่าปัญญา เป็นวิปัสสนา ไม่ได้แต่งมันหรอก วิปัสสนานี้ถ้ามีปัญญามันเป็นของมันเอง ไม่ต้องไปตั้งชื่อมัน ถ้ามันรู้แจ้งน้อยก็เรียกว่า วิปัสสนาน้อย ถ้ามันรู้อีกขนาดหนึ่งก็เรียกว่า วิปัสสนากลาง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงก็เรียกว่า วิปัสสนาถึงที่สุด

    เรื่องวิปัสสนานี้อาตมาเรียกปัญญา การจะไปทำวิปัสสนา จะทำเอาเดี๋ยวนั้น ๆ ทำได้ยาก มันต้องเดินมาจากความสงบ เรื่องมันเป็นเองทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเราจะไปบังคับ ใช้จิตที่สงบนั้นพิจารณาอารมณ์ รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง ธรรมารมณ์บ้าง ที่เกิดขึ้นให้มาพิจารณา

    ชอบหรือไม่ชอบต่าง ๆ นานา ให้เป็นผู้รับทราบไว้ อย่าเข้าไปหมายในอารมณ์นั้น ถ้าดีให้รู้ว่าดี ถ้าไม่ดีก็ให้รู้ว่าไม่ดี อันนี้เป็นของสมมุติบัญญัติ ถ้าจะดีจะชั่วก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

    อ่านคาถานี้ไว้ด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ปัญญาจะเกิดเอง อารมณ์นั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทิ้งใส่ ๓ ขุมนี้ นี่เป็นแก่นของวิปัสสนา ทิ้งใส่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดีชั่วร้ายอะไรก็ทิ้งมันใส่นี่

    ไม่นานเราก็จะเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดปัญญาอ่อน ๆ ขึ้นมา นั่นแหละเรื่องภาวนา ให้พยายามทำเรื่อย ๆ ให้รู้ความจริง เพื่อละ เพื่อถอน เพื่อความสงบ

    เมื่อหูได้ยินเสียงดูจิตของเรา มันผันผวนไปตามไหม มันรำคาญไหม เท่านี้เราก็รู้ ได้ยินอยู่แต่ไม่รำคาญ เอากันใกล้ ๆ มิได้เอาไกล เราจะหนีจากเสียงนั้น สิ่งที่วางแล้วนั้นก็ยังได้ยินอยู่ ได้ยินอยู่แต่ก็วางอยู่ เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกวางอยู่แล้ว

    มิใช่จะไปบังคับให้มันแยก มันแยกเองโดยอัตโนมัติ เพราะการละการวาง จะอยากให้มันไปตามเสียงนั้น มันก็ไม่ไป เมื่อเรารู้ถึงรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลายเหล่านี้ตามเป็นจริงแล้ว เห็นชัดอยู่ในดวงจิตของเราว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมดทั้งนั้น

    เมื่อได้ยินครั้งใดก็เป็นสามัญลักษณะอยู่ในใจ เวลาอารมณ์ทั้งหลายมากระทบได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินนั้น ไม่ใช่จิตของเราจะไม่มีการงาน สติกับจิตพัวพันคุ้มครองกันอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา

    ถ้าทำจิตให้ถึงอันนี้แล้ว ถึงจะเดินไปทางไหน มันก็ค้นคว้าอยู่นี่ เป็นธรรมวิจัยหลักของโพชฌงค์ เท่านั้นเอง มันหมุนเวียนพูดกับตัวเอง แก้ ปลดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีอะไรจะมาใกล้มันได้ มันมีงานทำของมันเอง นี่เรื่องอัตโนมัติของจิตที่เป็นอยู่ ไม่ได้แต่งมัน"

    รู้แจ้งเห็นจริง

    หลายประเด็นที่ได้หยิบยกมากล่าว นับตั้งแต่เรื่องนั่งสมาธิ เดินจงกรม นิวรณ์ และอื่น ๆ ธรรมะทุกหมวดทุกหัวข้อ สรุปลงได้ที่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ควรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ดังคำที่หลวงพ่อชอบใช้มากที่สุด มันไม่แน่

    "เรื่องปฏิบัตินี้ให้มองดูให้ลึก ลักษณะจิตเรามันเป็นอย่างไร ให้อยู่กับความรู้อันนี้เท่านั้น ทำไปอันนี้ มันได้ฐานแล้ว มันมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั้งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน

    เมื่อเราเห็นอะไรเกิดขึ้นมาก็ให้มันไป เราอย่าไปติดอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน เรื่องชอบใจไม่ชอบใจ เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องสงสัยไม่สงสัย นั่นก็เรียกว่ามันวิจารณ์ มันพิจารณา ตรวจตราดูผลงานของมัน

    อย่าไปชี้อันนั้นเป็นอันนี้ อย่าเลย ให้รู้เรื่อง เห็นสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิตนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นความรู้สึกเท่านั้นเอง เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่ก็ดับไปเป็นไปเท่านั้น ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราไม่มีเขา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอันใดอันหนึ่งในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้

    เมื่อเห็นรูปนามมันเป็นเช่นนี้ ตามเรื่องของมันแล้ว ปัญญาเห็นเช่นนี้มันก็เห็นรอยเก่า มันเห็นความไม่เที่ยงของจิต เห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย เห็นความไม่เที่ยงของความสุข ความทุกข์ ความรักความโกรธ มันไม่เที่ยงทั้งนั้น

    จิตมันก็วูบแล้วก็เบื่อ เบื่อกายเบื่อจิตอันนี้ เบื่อสิ่งที่มันเกิด มันดับ ที่มันไม่แน่อย่างนี้เท่านั้นแหละ จะไปนั่งอยู่ที่ไหนมันก็เห็น เมื่อจิตมันเบื่อก็หาทางออกเท่านั้น มันหาทางออกจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ ไม่อยากอยู่อย่างนั้น

    มันเห็นโทษในโลกนี้ เห็นโทษในชีวิตที่เกิดมาแล้ว เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ เราไปนั่งอยู่ที่ไหนก็เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่มีที่จับต้องมันแล้ว จะไปนั่งอยู่โคนต้นไม้ก็ได้ ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า จะไปนั่งอยู่เขา ก็ได้ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า

    เห็นต้นไม้ทุกต้นมันจะเป็นต้นเดียวกัน เห็นสัตว์ทุกชนิดมันเป็นสัตว์อย่างเดียวกัน ไม่มีอะไรแปลกไปกว่านี้ มันเกิดแล้วมันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป ดับไป เหมือนกันทั้งนั้น

    ฉะนั้นเราก็มองเห็นโลกนี้ชัดขึ้น เห็นรูปนามอันนี้ได้ชัดขึ้น มันชัดขึ้นต่ออนิจจัง ชัดขึ้นต่อทุกขัง ชัดขึ้นต่ออนัตตา ถ้ามนุษย์ทั้งหลายเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า มันเที่ยงมันจริงอย่างนั้น มันก็เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที มันเกิดอย่างนี้

    ถ้าเราเห็นรูปนามมันเป็นของมันอย่างนั้น มันก็ไม่เกิดทุกข์เพราะไม่ไปยึดมั่นถือมั่น นั่งอยู่ที่ไหนก็มีปัญญา แม้เห็นต้นไม้ก็เกิดปัญญาพิจารณา เห็นหญ้าทั้งหลายก็มีปัญญา เห็นแมลงต่าง ๆ ก็มีปัญญา รวมแล้วมันเข้าจุดเดียวกัน

    เป็นธรรมะ เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น นี้คือความจริง นี้คือสัจธรรม มันเป็นของเที่ยง มันเที่ยงอยู่ตรงไหน มันก็เที่ยงอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่แปรเป็นอย่างอื่น เท่านั้นแหละ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ถ้าเราเห็นเช่นนี้แล้ว มันก็จบทางที่จะต้องไป"

    "ที่สำคัญคือตัวรู้

    รู้ดีมันก็รู้ รู้ชั่วมันก็รู้ รู้สงบมันก็รู้ รู้ไม่สงบมันก็รู้

    อันนี้คือตัวรู้ พระพุทธเจ้าให้ตามรู้ ตามดูจิตของเรา"

    "เปรียบเหมือนกับเราเลี้ยงควาย

    จิตของเราก็เหมือนควาย อารมณ์คือต้นข้าว ผู้รู้เหมือนเจ้าของ เวลาเราไปเลี้ยงควายทำอย่างไร ปล่อยมันไป แต่เราพยายามดูมันอยู่ ถ้ามันเดินไป ใกล้ต้นข้าว เราก็ตวาดมัน ควายได้ยินก็จะถอยออก แต่เราอย่าเผลอนะ ถ้ามันดื้อไม่ฟังเสียงก็เอาไม้ฆ้อน

    ฟาดมันจริง ๆ มันจะไปไหนเสีย"

    ที่มา www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_cha/lp-cha_46-05.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 กันยายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...