เรื่องเด่น การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม สมัยหลังกรุงเก่า

ในห้อง 'บันเทิงและศิลปวัฒนธรรม' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 28 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b899e0b89fe0b8b9e0b881e0b8b2e0b8a3e0b89be0b88fe0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4e0b898e0b8a3e0b8a3.jpg
    คัมภีร์ใบลาน กฎพระสงฆ์ว่าด้วยศีลสิกขาบท ๒๒๗ แสดงที่หอสมุดแห่งชาติ
    ผู้เขียน ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

    สยามเป็นหนึ่งในดินแดนเพียงไม่กี่แห่งที่พระพุทธศาสนาสามารถประดิษฐานไว้ได้อย่างมั่นคง ในช่วงปลายสมัยของกรุงศรีอยุธยา ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนายังเป็นที่ยอมรับอย่างมากแต่เมื่อเกิดสงครามครั้งเสียกรุง พระพุทธศาสนาก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนัก

    ลังกาทวีปเป็นบทเรียนสำหรับชาวพุทธมาก่อนเพราะเคยได้รับผลกระทบจากสงครามและการถูกรุกรานจนต้องสืบต่อสมณวงศ์จากต่างแดน ครั้งหนึ่งจากการสู้รบกับพวกทมิฬฮินดูและอีกครั้งจากการรุกรานของชาวโปรตุเกสและฮอลันดา ซึ่งครั้งหลังนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

    ในครั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและสามารถช่วยสืบต่อสมณวงศ์ในลังกาได้ อย่างไรก็ตามเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าอุทุมพรพร้อมเจ้านาย ขุนนางและชาวสยามจำนวนมากได้ถูกกวาดต้อนไปอังวะ พระภิกษุที่เหลืออยู่ต้องหลบหนีสงครามและยากที่จะดำรงสมณเพศ วัดวาอารามมักถูกทิ้งร้าง คัมภีร์พระพุทธศาสนาต่างๆ ก็ถูกทำลายหรือสูญหายไป

    ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ต้องอาศัยบันทึกและความทรงจำเท่าที่พอมี ข้อเท็จจริงหลังจากนั้นก็ค่อนข้างสับสนจนยากที่คนนอกวงการประวัติศาสตร์ (อย่างเช่นผู้เขียน) จักมั่นใจในบทเรียนแห่งอดีตสมัยนั้น

    เราพอทราบว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้ชาติสำเร็จ การฟื้นฟูราชอาณาจักรกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ยากอย่างยิ่ง ยุคสงครามยังไม่สิ้น เศรษฐกิจทรุดโทรมถึงขีดสุด การฟื้นฟูทั้งทางด้านการปกครอง การเศรษฐกิจ การศาสนาและศิลปวัฒนธรรมล้วนยากลำบาก

    พระองค์ทรงแบกรับภาระหนักในด้านการศาสนา ดินแดนของชาวพุทธที่อยู่โดยรอบล้วนมีปัญหาความรุนแรงจากสงคราม การฟื้นฟูทั้งหลายของสยามประเทศจึงต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลที่สมัยนั้นขาดแคลนเป็นอย่างยิ่ง

    ทางด้านปริยัติ พระองค์ทรงแสวงหาต้นฉบับพระไตรปิฎกและคัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งเป็นคู่มือการปฏิบัติแล้วนำมาคัดลอกเพื่อให้พระภิกษุได้ศึกษาและใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ มีการคัดเลือกพระภิกษุเพื่อช่วยเผยแผ่พระศาสนาต่อไปทั่วราชอาณาจักร ไม่นานปัญหานี้ก็ทุเลาลง

    ทว่าปัญหาการปกครองสงฆ์และการฟื้นฟูการปฏิบัติดูจะเป็นปัญหาใหญ่ตลอดรัชกาล

    สมณวงศ์สมัยกรุงธนบุรีมีส่วนที่มาจากกรุงเก่าส่วนหนึ่งและต้องอาศัยพระภิกษุตามหัวเมืองต่างๆ พระภิกษุที่อาวุโสถือว่ามีจำนวนน้อย แต่ไม่ถึงกับเสี่ยงต่อการขาดตอนเหมือนอย่างที่เคยเกิดกับลังกาทวีป

    กรุงธนบุรีมิได้เพียงขาดแคลนพระภิกษุและพระอุปัชฌาย์ หากยังขาดความมั่นใจในวัตรปฏิบัติและความรู้ด้านการปฏิบัติอีกด้วย พระสงฆ์จำนวนมากผ่านช่วงระยะที่บ้านเมืองระส่ำระสาย และไม่มีขื่อไม่มีแป พระภิกษุทางเหนือบ้างเคยร่วมการต่อสู้กับเจ้าพระฝางซึ่งจำนวนหนึ่งถูกคัดให้รับใช้ราชการ พระภิกษุทางใต้และกรุงเก่าก็มักหนีสงคราม แล้วจึงได้กลับมาอยู่ปะปนกัน

    คณะสงฆ์ในสมัยกรุงธนบุรีมีประวัติไปในทางไม่กลมกลืนกันนัก ในช่วงประมาณ 15 ปีก็มีการเปลี่ยนแปลงประมุขสงฆ์ถึง 3 ครั้ง ความไม่กลมกลืนกันส่วนหนึ่งมาจากการขาดพระเถระอาวุโสที่มีบารมีมาก่อน อีกส่วนหนึ่งมาจากความเคยชินกับการปกครองแบบเก่าที่มีหลายคณะแยกจากกัน พระภิกษุต้องมาอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันแม้ว่าจักได้มีความพยายามดำเนินตามแบบอย่างของกรุงศรีอยุธยาแล้ว

    ในสมัยก่อนกรุงแตก วิปัสสนาวงศ์ในกรุงศรีอยุธยามีสำนักกรรมฐานหลายแห่ง ที่เป็นหลักนั้นได้แก่สำนักวัดป่าแก้วซึ่งเป็นหลักของฝ่ายคามวาสีและสำนักวัดประดู่โรงธรรมซึ่งเป็นหลักของฝ่ายอรัญวาสี

    ทั้งสองสำนักนี้ต่างมีต้นสายมาจากฝ่ายอรัญวาสีแห่งลัทธิลังกาวงศ์ แต่เข้าสู่สยามคนละสมัยและมาจากคนละเขตพื้นที่

    การสืบทอดการปฏิบัติจากสองสำนักนี้จึงมีความสำคัญ ทว่าวิปัสสนาจารย์ที่ได้รับการยอมรับนั้นคงขาดแคลนอย่างยิ่ง การอาศัยคัมภีร์วิสุทธิมรรคตรวจสอบและชี้แนะการปฏิบัติก็คงเป็นแนวทางหนึ่ง

    b899e0b89fe0b8b9e0b881e0b8b2e0b8a3e0b89be0b88fe0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4e0b898e0b8a3e0b8a3-1.jpg
    ภาพไมโครฟิล์มตอนท้ายของพระสมุดกฎฯ

    ในช่วงครึ่งหลังของกรุงธนบุรี การปฏิบัติธรรมได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทำนุบำรุงพระศาสนามากอีกทั้งยังทรงเลื่อมใสการปฏิบัติด้วยพระองค์เองอีกด้วย

    การปฏิบัติธรรมของพระองค์มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าและเป็นแบบสมถวิปัสสนา (กล่าวคือเจริญสมาธิหรือฌานก่อนและค่อยเจริญปัญญา) เราอาจประเมินได้ว่าทรงอาศัยอานาปานสติและสืบสายการปฏิบัติจากสำนักวัดประดู่โรงธรรมซึ่งเป็นสำนักเดียวกันกับที่พระเจ้าอุทุมพรทรงปฏิบัติ

    [​IMG] [​IMG]

    ในช่วงต้นถึงกลางรัชกาล พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจมากมาย ทรงต้องมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการสร้างความมั่นคงให้แก่ราชอาณาจักร พระองค์ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำสงครามขยายอาณาจักรเพื่อป้องกันมิให้บ้านเมืองต้องตกกลับไปเป็นของพม่าอีก

    ภายหลังสิ้นสุดศึกครั้งใหญ่ที่ทรงต้องนำทัพรบกับกองทัพพม่าที่มีกำลังพลมากกว่าและนำโดยแม่ทัพใหญ่อย่างอะแซหวุ่นกี้ พระองค์ทรงอุทิศเวลาส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ มีการเปิดการอบรมกรรมฐานขึ้นที่วัดอินทารามเมื่อปี พ.ศ.2319 และมักทรงเสด็จไปปฏิบัติที่วัดระฆังและวัดหงส์

    ความมุมานะของพระองค์ได้รับการกล่าวกันไปในทางลบว่าทรงเคร่งเครียดกับเหตุการณ์หลังเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้ จึงทรงหันไปมุ่งทางจิตตภาวนาจนพระสติวิปลาส กระนั้นก็ตามต้องถือว่าการปฏิบัติธรรมในยุคนั้นสามารถกลับมามีความรุ่งเรืองได้อีกและไม่ขาดตอนไป

    เมื่อกลางปีนี้ คุณพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญแห่งกรมศิลปากรได้นำเสนอรายละเอียดพระสมุดกฎที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตราถวายราชาคณะ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ช่วยให้ความกระจ่างเพิ่มขึ้น

    พระองค์ทรงตรากฎดังกล่าวไว้เมื่อ 19 พฤษภาคม 2318 หลายเดือนก่อนศึกอะแซหวุ่นกี้ โดยมีเนื้อหาว่าขณะนั้นพระองค์ทรงเบื่อหน่ายในโลกียสุขแล้วแต่ยังทรงจำเป็นต้องทำสงคราม ดังนั้นถ้าพระองค์ทรงผ่านนิพพิทาญาณซึ่งจิตเห็นความน่าเบื่อหน่าย ก็จักทรงพระสติสัมปชัญญะและมีความก้าวหน้าในกรรมฐานไปมากแล้ว

    ในสมุดกฎนี้ ทรงกล่าวถึงการทำสงครามว่าเป็นบาปและทำให้หลงได้ จึงทรงขอให้พระสงฆ์ที่มีดวงตาเห็นธรรม (หรือถึงโคตรภูญาณ) ได้ถวายพระพรตักเตือนพระองค์ โคตรภูญาณนี้เป็นลำดับญาณที่ใกล้บรรลุโสดาปัตติผล

    พระสมุดกฎทรงถวายราชาคณะให้ถวายพระพรเตือน

    ….สร้างพระรัตนตรัยไว้สองแผ่นดินนี้ไม่หน้าที่จตรธานไป ปรการหนึ่ง แม้นหาผู้ใดแก้ไขพระราชสารศุภอักษรไม่ถึงมาท มิตรแสนสนิททีเดียวกจกลับกลายเป็นศัตรู เหตุทว่าต้านต่อสู้ข้าศึกไม่ได้ในอรินรจข่มเหงเอามาใช้ อนึ่งกเสียแรงปล้ำปลุกถาปนาธนะบุรียกหน้าที่ จฉิบหายยับเยินสิ้น เหมือนไม่รักใคร่พระสาศนาเหตุทว่าการศึกยังคิด….ปรการหนึ่งเห็นการสงครามได้แล้วให้เอาพระเมตตาว่าสมณาโยคาวจรไปมาจะได้อาศัย ไม่ถมบ่อน้ำ เป็นภัยเสียลี้พลครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ก็แม้นมาดเสียแผ่นดินอีก เกือกกรรมทั้งหนาหนาเข้าแล้ว ที่ไหนผู้ใดจะได้ปัญญาคืน เหมือนยินดีด้วยเหมือนหนอนเน่าที่จมอยู่ในภูต…ทั้งงนี้ต้องที่ผู้เปนเจ้าโคตรภูญาณ โปรดเวไนยสัตวถ้าถ้วนคำรพแล้วเห็นโยมหลงอยู่ พระองค์ใดไม่อนุเคราะห กหมี่ใช่โคตรภู ว่ากล่าวไว้ทั้งงนี้เหตทว่าการบาปมักหลง จงตักเตือนให้ถึงขนาด.

    กฎไว้ ณวันจันทร์แรม ๑๕ ค่ำเดือน ๖ จุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแม สัพศก

    เมื่อกล่าวถึงการสืบสายวิปัสสนาวงศ์ สำนักหลักสมัยกรุงธนบุรีนับว่ามาจากสำนักวัดประดู่โรงธรรม โดยมีพระสังฆราช (ดี) ประจำที่วัดอินทาราม และสมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) เป็นวิปัสสนาจารย์ที่วัดระฆัง ทั้งสองท่านเคยเป็นพระภิกษุวัดประดู่ ส่วนสมเด็จพระโพธิญาณ (ชื่น) ซึ่งเดิมอยู่เมืองแกลงก็เป็นพระปฏิบัติและเชี่ยวชาญพระอภิธรรม ท่านประจำที่วัดหงส์แต่สันนิษฐานได้ยากว่าท่านศึกษาจากสายสำนักวัดประดู่หรือสายคณะป่าแก้ว

    เมื่อผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน สำนักกรรมฐานของพระอาจารย์ทองอยู่ได้สิ้นสุดลง พระสงฆ์ที่วัดระฆังส่วนหนึ่งคงยังสืบทอดการปฏิบัติโดยต่อมาได้ย้ายไปประจำที่วัดแจ้ง

    อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลานั้นมีพระภิกษุอาวุโสรูปหนึ่งซึ่งเดิมมาจากวัดประดู่ได้ออกจากวัดระฆังแล้วกลับมาฟื้นฟูวัดประดู่ที่ร้างไป วัดนี้ได้กลายเป็นสำนักปฏิบัติที่สำคัญจนถึงหลวงพ่อกลั่น ธัมมโชติ วัดพระญาติการามและหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก เป็นอาทิ

    ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงนิมนต์พระภิกษุอาวุโสคือสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) มาจากกรุงเก่าและจัดตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นที่วัดพลับ ธนบุรี จนเป็นสำนักหลักและเป็นต้นสายของสำนักปฏิบัติหลายแห่ง โดยในช่วงนั้นก็ได้เกิดสำนักปฏิบัติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่วัดสมอราย ทั้งสองสำนักนี้สืบทอดมาจากคณะป่าแก้ว

    เราจึงอาจกล่าวได้ว่าภายหลังยุคกรุงเก่า การปฏิบัติธรรมสามารถสืบสายการปฏิบัติแนวสมถวิปัสสนามาจนถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงอุปถัมภ์ให้สืบทอดต่อมาจนถึงคนรุ่นหลัง

    ไม่สูญหายไปมากเหมือนในดินแดนพุทธอื่นๆ

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/article/news_1290498
     

แชร์หน้านี้

Loading...