การเข้าใจชีวิตที่แท้จริง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ธัชกร, 2 สิงหาคม 2009.

  1. ธัชกร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,040
    เราจะพบว่าเราเติบโตขึ้นมาพร้อมกับอะไรบางอย่างที่ครอบงำเหนือชีวิตของเรา เราสั่งสมประสบการณ์ของชีวิตที่เรารับรู้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า แล้วเราก็บอกกับตัวเองว่า เราเก่งขึ้น เราฉลาดขึ้น เรารู้แล้ว เรามีแบบในอุดมคติที่เราพยายามจะทำตัวเราให้เป็นแบบอันนั้น เราสลัดความเป็นตัวเราออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วเราก็แสวงหาความเป็นผู้อื่นหรือแบบอื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเหมือนกับถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน เราไม่เห็นความจริงแท้ของตัวเราในทุกขณะ

    เมื่อเรารู้ว่าเราถูกกักขังหรือถูกพันธนาการ เราก็ดิ้นรนหาความเป็นอิสระ มันก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น หรือทุกข์ไปกว่าเก่า ทั้งหมดก็คือ Concept หรือ มโนทัศน์ มโนคติที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแหวกกระแสของมโนทัศน์ หรือแหวกกรอบที่จะมาเป็นส่วนสนับสนุนในขบวนการของความคิดที่เรียกว่า Paradigm เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นอิสระภาพของจิตใจอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าให้คำตอบอะไรแก่เราที่จะออกไปจาก Paradigm หรือกรอบของสังคมนี้ได้ ทุกคนมีศักยภาพในการรู้แจ้งความจริงหรือสัจธรรมในตัวของเราทุกคน การตื่นขึ้นจากความไม่รู้ที่เรียกว่าอวิชชา ไปสู่การเห็นความจริงที่เรียกว่า สัจจะ ไม่ต้องไปรอชาติไหน ๆ เราสามารถที่จะรู้ได้ในชีวิตนี้ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเรามีความเข้าใจและก็รู้ทางที่จะเข้าถึงมัน ความสำคัญจึงอยู่ที่เมื่อมีอวิชชาคือไม่มีปัญญาเราก็เป็นปุถุชน
    ถ้าเรามีปัญญาหรือมีวิชชาเราก็จะได้สัมผัสกับพุทธะหรือได้สัมผัสกับพระพุทธองค์ การปฏิบัติ การฝึกฝน เราก็จะต้องหันเข้ามาเรียนรู้จิตใจของเราเองจนพบธรรมชาติพื้นฐาน หรือธรรมชาติที่แท้จริงของตนเองอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์ ปภสฺสร มิทํ จิตตํ ( จิตประภัสสร ) หรือที่เรียกว่าเข้าถึงพุทธภาวะ เราจะต้องมีความเข้าใจหัวใจของพุทธศาสนารวมทั้งการเข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติด้วย

    การตระหนักรู้ถึงจิตที่บริสุทธิ์ที่เรียกว่า จิตปภสฺสร มิทํ จิตตํ จิตที่ยังไม่ถูกอะไรปรุงแต่งหรือจิตพุทธะนี่ เราก็จะรู้ท่ามกลางมายาก็คือปรากฏการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง นี่คือการปฏิบัติของเรา การถ่ายทอดของครูบาอาจารย์ก็ เพื่อที่จะบอกถึงความซาบซึ้งในทุกขณะ ในอิริยาบทต่าง ๆ ไม่ว่า เดิน ยืน นั่ง นอน หรือในกิจการงานในวิถีจิตที่ไปพ้นการรับรู้อย่างแบ่งแยก เราจะพบกับความมหัศจรรย์ที่แท้จริง ในการนั่งสมาธิก็ไม่ใช่เพื่อที่จะได้อะไรแต่เพื่อจะแสดงธรรมชาติที่แท้จริงของเราออกมา ธรรมชาติที่แท้จริงก็คือตัวตนที่แท้จริงของเรา ที่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิดจากความคิด แต่เป็นตัวตนหรือสัจจะสูงสุดที่เราไม่สามารถสัมผัสได้ หรือรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า นั่นคือการปฏิบัติตามวิถีพุทธธรรมในแต่ละขณะ นั่นคือการแสดงธรรมชาติของความจริงออกมา หรือเราอาจจะเรียกว่าวิถีจิตหนึ่ง



    การปฏิบัติที่ถูกต้องก็จะนำไปสู่ทัศนคติที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง การฝึกสมาธิคือการแสดงออกของธรรมชาติที่แท้จริงให้ออกมาอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่นั่งหรือฝึกเพื่อที่จะได้บางสิ่งบางอย่าง แต่มันป็นการแสดงออกของธรรมชาติที่แท้จริงหรือสัจจะที่แท้จริงซึ่งทุกคนมีศักยภาพนั้นอยู่แล้ว จงหาธรรมชาติที่แท้จริงของเราให้พบ แล้วเราก็จะพบกับความเป็นอิสระอันล้ำลึกและการมีอยู่เป็นอยู่ในแต่ละขณะอย่างเบิกบาน อิ่มเอิบ ร่าเริงที่แผ่ขยายในพุทธจิตของเราหรือในจิตที่ประภัสสรของเราและเราก็จะดำรงอยู่กับสภาวะนี้ตลอดไป

    การปฏิบัติบางอาจารย์เขาบอกให้รักษาจิตของผู้เริ่มต้น จิตของผู้เริ่มต้นเริ่มปฏิบัติมันพร้อม คือไม่มีเงื่อนไขใด ๆ มาเป็นสิ่งกีดขวางหรือขัดขวาง แต่ผู้รู้มากแล้วละก้อ มันมีความรู้ เป็นสิ่งขัดขวาง การถ่ายทอดของผู้รู้ การถ่ายทอดของกัลยาณมิตร นั่นก็คือจิตเดิมแท้หรือจิตที่ประภัสสร จิตที่ยังไม่ถูกอะไรปรุงแต่งที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง ศีลของเราก็จะไม่ด่างพร้อย รักษาตัวของมันเองเมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเราก็จะมีประสบการณ์ลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ ปรีชาญาณก็จะครอบคุมทุกสิ่ง นั่นคือธรรมชาติที่แท้จริงของเราแสดงออกร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชิวิตประจำวันของเรา
    เราต้องเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อธรรมชาติที่แท้จริงของเราหรือสัจจะที่แท้จริงของเรา ในการปฏิบัติก็คือการแสดงธรรมชาติที่แท้จริงของเราออกมา มันเป็นการแสดงธรรมชาติที่แท้ มันจะแสดงธรรมชาติของมันอย่างเหมาะสม และเป็นธรรมชาติ หรือเป็นไปเองในทุกสถานการณ์โดยไม่มีการเตรียมตัวเพื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นการปฏิบัติหรือเป็นการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เราอาจจะเรียกว่า วิถีจิตหนึ่งเดียวหรือวิถีพุทธธรรมก็ได้

    มันมีวิถีทางเดียวคือ ในแต่ละขณะ มันเป็นการแสดงธรรมชาติที่แท้และความจริงใจของเราออกมาโดยไม่มีจุดเริ่มต้นและก็ไม่มีจุดจบ นั่นคือเราจะต้องหา “ ทางสายกลาง” ให้พบ เมื่อเราพบทางสายกลาง เราก็เดินไปบนวิถีทางสายกลางในแต่ละขณะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สนใจในองค์ประกอบที่ก่อรูปขึ้นมาเป็นตัวตนหรือเป็นมนุษย์ หรือทฤษฎีทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับความมีอยู่ เป็นอยู่ แต่พระองค์ทรงสนใจอยู่กับการเป็นอยู่ในขณะนี้ว่าเราเป็นอยู่ในขณะนี้อย่างไร เราจะรู้แจ้งความจริงได้อย่างไรในแต่ละขณะ



    คนเราก็ต้องพัฒนาบุคลิกลักษณะหรือ บุคลิกภาพในเชิงอุดมคติหรือในเชิงที่เรามีจิตสำนึกไว้ในใจหรือความมั่นหมายไว้แล้ว ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าเราจะบรรลุผลสำเร็จ ถ้าเราขาดจิตวิญญาณของการฝึกฝนหรือขาดความจริงจังเราก็จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน นี่คือวิถีทางของพุทธะที่จะสัมผัสกับสภาวะดับเย็นหรือที่เรียกว่า นิพพาน และก็ดื่มด่ำในความล้ำลึกของสภาวะพุทธะ

    ถ้าจิตของเราสงบและมั่นคงเราก็จะเป็นอิสระจากโลกอันสับสนวุ่นวาย แม้เราจะอยู่ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม เราจะต้องทำให้ต่อเนื่องในทุกขณะ หรือในทุกอิริยาบท ด้วยการคอยเฝ้าสังเกตการแสดงออกของธรรมชาติที่แท้จริง หรือวิถีหนึ่งเดียวหรือวิถีของการรับรู้ในความเป็นองค์รวม รู้ในความเป็นทั้งหมดของชีวิตเราในทุกขณะ ก็จะสร้างนิสัยขึ้นมาใหม่ เราจะทราบหรือรู้ถึงแนวทางและสภาวะจิตของเราเพิ่มขึ้น มากขึ้น เข้าใจจิตของเรา เข้าใจตัวเรามากขึ้น ก็ในชีวิตประจำวันนั่นแหละ การฝึกฝน คือการภาวนา หรือที่เรียกว่าการปฏิบัติภาวนา เรามีทุกอย่างพร้อมแล้วในคุณภาพอันบริสุทธิ์ของเราเอง

    ในธรรมชาติของความจริงทั้งสองนั่นก็คือ สังขตะ ความจริงที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง ก็คือกายกับใจของเราและความจริงที่ไม่มีจุดเริ่มต้นไม่มีจุดสิ้นสุด นั่นก็คือสัจจะที่แท้จริงของเรา(อสังขตธรรม) เมื่อเรากระทำสิ่งใดเราก็ไม่ควรทิ้งร่องรอยของความคิดเอาไว้ ร่องรอยของความคิดก็คือการยึดมั่นถือมั่นหรือการยึดถือนั่นเอง มันจะไม่เหลือร่องรอย เราก็ต้องทำด้วยใจและกายทั้งหมด ด้วยกายและใจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เถ้าถ่านก็ไม่อาจหวนคืนไปเป็นฟืนเป็นไฟอีก เพียงการปฏิบัติด้วยใจและกายทั้งหมด หรือด้วยกายและใจที่รวมลงเป็นหนึ่งในทุกขณะ ดังนั้นทุกขณะก็คือการปฏิบัติเพื่อสู่พุทธะ เมื่อกราบ ก็จะไม่มีตัวเราเป็นผู้กราบ การเข้าใจชีวิตที่แท้จริงก็จะปรากฎออก



    นี่คือสภาวะของการที่เราได้รับรู้สภาวะของความเป็นหนึ่ง หรือในความเป็นองค์รวม นั่นก็คือนิพพานนั่นเอง และนี่ก็คือสัจจะสูงสุดที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบและก็ถ่ายทอดมาให้เรา จนเราสามารถที่จะพบกับความจริงนั้นได้ เราก็ต้องทำให้ต่อเนื่องในวิถีทางของการปฏิบัติที่เรียบง่าย ทำโดยไม่ได้คาดหวัง เราก็จะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องยากหรือมันไม่ใช่เรื่องง่าย เราอย่าบอกว่าเรารู้แล้ว แค่นั้นไม่พอ เราจะต้องทำไปจนตลอดชีวิตของเรา นี่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต
    การปฏิบัติเราจะต้องมุ่งมั่นและก็เข้าใจพื้นฐานที่แท้จริงของชีวิตหรือสัจจะที่แท้จริง และก็ปฏิบัติอย่างเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน ของเรา ขณะการปฏิบัติหรือขณะฝึกฝนหรือการภาวนานี้ อย่าไปพยายามหยุดความคิด หรืออย่าไปบังคับความคิด แต่เราจะต้องปล่อยให้มันหยุดของมันเองโดยธรรมชาติของมันเห็นมัน เข้ามา แล้วมันก็ผ่านไป ถ้าเราพยายามที่จะหยุดมันแสดงว่าความคิดนั้นมันรบกวนเรา

    แท้จริงมันมีเพียงกระแสคลื่น ในดวงจิตของเราเท่านั้น กระแสนั้นสงบขึ้น จิตของเราก็จะผ่องแผ้วที่เรียกว่า จิตประภัสสร นั่นเอง ถ้าจิตไปมีความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกจนเกิดคลื่นหรือเกิดกระบวนการของความคิดขึ้นมา หรือเกิดขบวนการของขันธ์ 5 ขึ้นมานี่เราเรียกว่าจิต ที่มีขอบเขตจำกัด ก็จะนำไปสู่การปรุงแต่งไปสู่ความขัดแย้งที่เรียกว่า ทวิลักษณะ เราต้องเข้าใจความแตกต่างของจิตทั้งสองก็คือจิตที่บริสุทธิ์หรือจิตที่ประภัสสร ในตัวจิตประภัสสรนี่มันจะมีธรรมชาติรู้ ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด และจิตเล็กหรือวิญญาณในขันธ์ 5 หรือจิตสำนึก จิตสำนึกนี่มันมีตัวรู้ที่มีขอบเขตจำกัดมาจากประสาทสัมผัส แต่ทั้งสองจิตนี้มันเป็นสิ่งเดียวกัน



    ที่เขาเปรียบไว้ว่า น้ำเหมือนกับจิตที่บริสุทธิ์(จิตประภัสสร) และคลื่นก็คือขบวนการของขันธ์ 5 คลื่นก็คือน้ำ ขันธ์ 5 หรือปรากฏการณ์ก็คือสัจจะสูงสุด หรือสุญญตาหรืออมตธรรมนั่นเอง เราจะต้องเข้าใจธรรมชาติทั้งสอง ว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน มันไม่ได้แยกจากกัน ทุกสิ่งจะรวมไว้ในจิตของเรานั่นก็คือแก่นสารของจิต นี่คือความรู้สึกทางศาสนา หรือที่เรียกว่า Religious Mind จิตศาสนา นั่นเอง

    แม้จะเกิดคลื่นในจิตหรือขบวนการของอาการของจิตแท้ ของจิตประภัสสร แต่แก่นสารของจิตก็ยังบริสุทธิ์อยู่นั่นเอง เหมือนกับโทรทัศน์ ก่อนที่เราจะฉายหนังไปบนจอ จอมันจะมีสีขาวบริสุทธิ์ ซึ่งเหมือนกับจิตใจของเราที่ยังไม่ได้มีขบวนการของความคิดเข้าไปปรุงแต่ง จิตของเราจะบริสุทธิ์ ประภัสสร จอมันจะเป็นสีขาว แล้วเราก็คิดเรื่องราวต่างๆ มีบวกมีลบ มีสุขมีทุกข์ นั่นก็คือภาพต่างๆที่เคลื่อนไหวอยู่บนจอ แต่ทั้งสองนี้คือภาพมันจะมีได้มันจะต้องมีจอสีขาวด้วย ฉะนั้นเราจะต้องฝึกฝนให้เห็นจอสีขาวนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเห็นสิ่งนี้ได้ นี่เขาเรียก จิตศาสนา นี่แหละตัวศาสนาที่แท้จริง นี่แหละสภาวะของพุทธะที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้และเข้าถึง และก็ได้กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาของชาวพุทธเรา

    แม้ร่างกายของพระองค์ จะสลายเปลี่ยนแปลง แต่สภาวจิตที่พระองค์เข้าถึงก็ยังอยู่ ถ้าเราสามารถจะสัมผัสสภาวจิตที่บริสุทธิ์ของเรา เราก็จะสัมผัสกับสิ่งนี้ได้พระองค์ ตรัสว่า โยธัมมัง ปัสสติ โสมัง ปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต เห็นธรรมก็คือเห็นจิตที่บริสุทธิ์ของเราเป็นหนึ่งเดียวกับสัจจะสูงสุดหรือ อมตธรรม. นี่คือจิตศาสนา นี่เป็นแก่นสารของจิตที่บริสุทธิ์. เหมือนน้ำกับคลื่น คลื่นมันเป็นอาการของน้ำ คลื่นก็คือน้ำ มันไม่ได้แยกจากกัน
    ปรากฏการณ์ต่างๆที่เรียกว่า สังขตะ คือตัวเราและสิ่งต่างๆที่เราสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส และธรรมชาติที่แท้จริงของทุกสิ่งก็คืออมตธรรมหรือสุญญตา มันเป็นสิ่งเดียวกัน มันเป็นกิจกรรมของจิตพุทธะหรือมันเป็นกิจกรรมของสัจจะสูงสุดนั่นเอง นี่คือการขยายตัวของมันเอง ท่ามกลางประสบการณ์อันหลากหลาย ชีวิตของเราก็จะสดใหม่อยู่ทุกขณะ ถ้าเราสามารถที่จะเข้าถึงมันได้ เราก็จะมีความสุข ในทุกแง่ทุกมุม หรือในความเป็นทั้งหมดของชีวิตเราในแต่ละขณะเราก็จะพ้นไปจากความกลัวตาย ความวิตกกังวล ความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ มีแต่ความสงบ ความสันติที่ก้นบึ้งของจิตใจเท่านั้นที่รับรู้อะไรก็ไม่หวั่นไหว
    เราควรจะขอบคุณขันธ์ 5 หรือขอบคุณวัชชพืช เขาเรียกวัชชพืชว่าคลื่นของจิต หรือคลื่นของน้ำ หรืออาการของจิตนี่แหละเราควรขอบคุณ เช่นความวิตกกังวล ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความโลภ อะไรต่างๆนี่ เปรียบเสมือนวัชชพืช ก็คือคลื่นของจิตนั่นเองที่มีเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ถ้าเราสังเกตมัน มันก็จะเป็นการช่วยในการปฏิบัติให้เราเกิดความก้าวหน้า มันเป็นครูเรา มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้มัน นั่นแหละมันจะช่วยจิตของเราให้พัฒนายิ่งขึ้น แล้วเราจะพบว่า วัชพืชนี่มันก็ จะเปลี่ยนไปเป็นอาหารบำรุงจิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้น นั่นแสดงว่าการปฏิบัติของเราได้ก้าวหน้าขึ้น ได้พัฒนาขึ้น
    ทั้ง ๆ ที่มีสิ่งใดเกิดขึ้นในจิตใจเรา แล้วเราก็สรุปหรือ ลงความเห็นว่า มันไม่ดีมันแย่ ปฏิบัติมานานแล้ว ยังมีสิ่งเหล่านี้อีก. นี่มันเป็นการสรุป มันก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในจิตใจของเรา แต่ถ้าเราเห็นว่านั่นคือ วัชชพืช นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเรียนรู้ มันก็จะทำให้ใจของเราก้าวหน้าขึ้น แนวทางของการปฏิบัติภาวนาก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง และก็จะทำให้ตัวเราและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งเดียวกับสัจจะ มันก็จะแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ม้าที่เลวหรือม้าที่ไม่ดีมันจะมีค่าที่สุด ค่าของมันก็อยู่ที่ความไม่สมบูรณ์นี่แหละ แล้วเราก็จะค้นพบพื้นฐานของจิตที่กำลังแสดงออกในวิถีทางอันมั่นคง
    ม้าที่ไม่ดี เราจะต้องฝึกฝนมัน มันเป็นม้าที่น่าสงสาร เหมือนกับจิตใจที่ไม่ดีของเรานี่ เราจะเห็นคุณค่าของมัน เพราะมันเป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ มันเป็นโจทย์ให้เราเรียนรู้ ให้เราแก้ เมื่อเราเรียนรู้ และเข้าใจ นั่นแหละเราก็จะพัฒนาจิตใจของเราสูงยิ่งขึ้น สูงยิ่งขึ้น ในอิริยาบทของพุทธะนั้น หรือในอิริยาบทของวิถีธรรมนั้น กายและจิตของเรามันจะต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อมันสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ มันก็จะมีพลัง, แล้วเราก็จะสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น ไปพ้นจากความรู้สึกที่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง. ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราเข้าไปเป็นเจ้าภาพ. เมื่อมาถึงจุดนี้หรือมาถึงความเข้าใจได้อย่างนี้ ไม่ว่าเราจะทำอะไร มันก็ล้วนแต่เป็นการแสดงออกของพุทธะหรือเป็นพุทธกิจ ให้เราพยายามสังเกตหรือเรียนรู้มันอย่างต่อเนื่อง ด้วยกายและจิต ที่รวมเป็นหนึ่ง หรือในวิถีขององค์รวม

    เมื่อเราได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง เราก็ย่อมจะค้นพบความหมายที่แท้จริงของ การมีอยู่เป็นอยู่ของตัวเรา นั่นแหละคือสาระของการที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือนั่นแหละคือหนทาง นั่นแหละคือครูของเรา . เมื่อสรรพสิ่งรวมลงในจิตพุทธะหรือจิตที่บริสุทธิ์ ความสัมพันธ์หรือการให้ค่าตัดสิน เชิงทวิลักษณะ เชิงของคู่ก็จะหายไปความแตกต่างของสรรพสิ่งก็จะหายไปด้วย นี่คือการเข้าใจชีวิตที่แท้จริง



    สรรพสิ่งก็คือพุทธะ เราก็ย่อมเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงหรือตามที่มันเป็น แต่ถ้าเราไม่มีศรัทธาต่อจิตพุทธะ ทุกการกระทำก็จะไปสู่จิตสำนึก แล้วตกเป็นทาสของทวิภาวะ การกระทำด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นปกติสามัญและหยั่งรู้ในความสมบรูณ์ของชีวิตเช่นนี้ ย่อมดำรงทุกสิ่งไว้ในจิตของพุทธะ ในจิตที่บริสุทธิ์ของเรา การกระทำทุกอย่างควรเป็นการแสดงออกของความตั้งมั่นของจิตใจเรา การพัฒนาความสงบของจิตกไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหยุดการทำงานทุกสิ่ง เข้าป่า หาที่สงบ เพื่อที่จะปฏิบัติธรรม แต่ความสงบที่แท้จริงนี้ เราควรหาพบในกิจการงานต่างๆในชีวิตประจำวันของเรา แต่เราก็จะต้องใช้เวลา เหมือนกับเดินเข้าไปในหมอก กว่าจะเปียก กว่าเราจะรู้สึกว่าเราเปียกมันก็จะต้องใช้เวลา ไม่เหมือนกับเราออกไปยืนตากฝนมันจะเปียกทันทีเลย

    เราก็จะต้องมีความจริงใจและพยายามในแต่ละขณะ ความสงบของจิตหรือสภาวะที่ไปพ้นปัญหาต่างๆ มันอยู่แค่เอื้อมเท่านั้นเอง ฉะนั้นการปฏิบัติก็คือการแสดงธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเราออกมา ธรรมชาติที่แท้จริงของเราก็คือสัจจะสูงสุด อมตธรรมหรืออสังขตธรรมหรือสุญญตานั่นเอง
    เราสามารถสัมผัสได้ด้วยใจที่บริสุทธิ์ มันไม่มีการปฏิบัติอื่นใดที่ดีไปกว่าการกระทำอย่างนี้อีกแล้ว การกระทำอย่างนี้ก็คือ สังเกต ศึกษา ดูมัน หรือที่เรียกว่าสิกขา เพื่อให้เกิดความเข้าใจด้วยการปฏิบัติที่เรียบง่าย การปฏิบัติที่เรียบง่ายก็คือ การปฏิบัติที่ไม่ได้มุ่งหวัง ปล่อยให้มันเป็นไปเอง ให้มันพัฒนาของมันเป็นไปเองตามธรรมชาติและก็ทำอย่างต่อเนื่อง เราก็จะพบกับพลังบางอย่างที่มันมีความมหัศจรรย์ จนกระทั่งไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม มันล้วนแต่เป็นการแสดงธรรมชาติที่แท้จริงของเราออกมาทั้งสิ้น

    ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติเช่นนี้ หรือการกระทำอย่างนี้ ด้วยการเริ่มจากการสัมผัสกับทางสายกลาง มันก็ยากที่จะเกิดการตระหนักรู้ในธรรมชาติที่แท้จริง. ถ้าการปฏิบัตินั้นยังไปไม่พ้นระดับของจิตสำนึก ยังไปไม่พ้นการรับรู้อย่างแบ่งแยก มันก็ยากที่เราจะตระหนักรู้ถึงสัจจะที่แท้จริงหรือธรรมชาติที่แท้จริง หรือสุญญตา หรืออมตธรรม หรือธรรมชาติสากล หรือพุทธภาวะ หรือการประจักษ์แจ้งในความจริงแท้ เราก็จะพบว่าถ้าเราเข้าถึงสิ่งนั้น ทุกสิ่งของปรากฏการณ์ก็คือ พุทธะ มันกำลังแสดงธรรมชาติที่แท้จริงของมันออกมา
    ทางสายกลางที่เราดำเนินอยู่ ปฏิบัติอยู่จะเป็นฐานและแสดงออกมาทางน้ำเสียง ออกมาทางท่าทีหรือออกมาทางบุคลิกภาพในรูปแบบ หรือแนวทางที่เรียบง่าย เหมาะสมตามสถานการณ์ ตามเหตุการณ์ และถ้าเรายิ่งปฏิบัติภาวนาให้ต่อเนื่อง เราก็จะพบหรือสัมผัสกับประสบการณ์ที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์นี้จะครอบคลุมทุกสิ่งในการกระทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ตัวเรานั่นแหละคือกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ ตัวเรานั่นแหละคือกิจกรรมของความมีอยู่เป็นอยู่ในแต่ละขณะ มันเป็นสัจธรรมในตัวของมันเอง




    การปฏิบัติก็คือการตระหนักรู้ในข้อเท็จจริงอันนี้ เมื่อเรามีความยุ่งยากเพราะมันมีตัวเรา เรามีความยุ่งยาก มันมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะมันเกิดมีเรา ก่อนที่จะเกิดมีเรา เรามันไม่มี เรานี่เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลหรือเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง นั่นก็คือการทำงานของจิตที่ประภัสสรของเรานั่นเอง. แต่เพราะเราไม่รู้ เราดำเนินชีวิตด้วยอวิชชา เราจึงแยกออกมาจากสรรพสิ่ง เป็นเอกเทศ เป็นปัจเจก มันจึงเกิดมีความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา หรือเราจึงมี เกิดขึ้น และเราก็ยึดติดหรือมีอุปาทานในประสบการณ์ที่เราสัมผัสจากประสาทสัมผัส. โดยที่เราไม่รู้ว่าขันธ์ 5 อาการของจิตพุทธะหรืออาการของจิตที่บริสุทธิ์
    เมื่อเราไม่ได้ตระหนักรู้ว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง, แต่เรามีความรู้สึกว่าเราแยกออกมาจากสรรพสิ่ง เราก็จะมีความรู้สึกกลัวเป็นพื้นฐานของจิตใจ ชีวิตและความตายก็จะแยกจากกัน แต่จริงๆแล้วนี่ตัวชีวิตหรืออาการของจิตพุทธะ เมื่อเราเข้าถึงสัจจะสูงสุดความรู้สึกว่ามีตัวเราจะหายไป หรือเราอาจเรียกว่าความตาย สภาวจิตที่เราเข้าถึงสัจจะสูงสุดนี้มันเป็นสภาวะที่ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราหรือความตายนั่นเอง ชีวิตและความตายมันจึงเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อเราตระหนักรู้ในความจริงนี้ เราก็ย่อมจะพ้นไปจากความกลัวทุกสิ่ง ทุกสิ่งเกิดจากความว่าง ทุกสิ่งเกิดมาจากสุญญตา หรือสรรพสิ่งนี่คือ สุญญตา หรือความว่าง หรืออนัตตา


    ปรากฏการณ์ต่างๆที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัสที่อยู่บนฐานของสัจจะเราไม่อาจจะให้ค่าหรือลงความเห็นว่า มันมีหรือมันไม่มี นี่คือสภาวะจิตที่บริสุทธิ์ของเราที่เข้าถึงสัจจะสูงสุด หรือเข้าถึงสถานภาพของความจริงแท้ เราจะรับรู้ทุกสิ่ง ว่างจากความมีและไม่มี เราจะเห็นสิ่งต่างๆมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง นี่คือตถตาหรือจิตที่เราสามารถจะรับรู้ในความเป็นทั้งหมด หรือที่เรียกว่า องค์รวมนั่นเอง นั่นก็คือความว่าง นั่นก็คือ สุญญตา
    เมื่อเราเข้าถึงประสบการณ์อันนี้ เราก็จะพบกับความหมายที่แท้จริงของชีวิต. ย่อมเห็นความงามของชีวิต ย่อมเห็นศิลปะของการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความคิด ไม่ว่าจะเป็นการพูด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออก ไม่ว่าเราจะมองดูต้นไม้ มองดูสรรพสัตว์ เราก็จะเห็นความงามของธรรมชาติ ความงามของชีวิต ความงามของทุกสิ่งที่เรารับรู้ ล้วนเป็นเพียงการเคลื่อนไหว หรือเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของมายาภาพ แต่เราจะต้องมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า เราจะต้องมีความเชื่อมั่นอย่างมั่นคงต่อจิตที่บริสุทธิ์หรือจิตประภัสสรของเรา หรือเราอาจจะเรียกว่าจิตพุทธะของเรา

    การปฏิบัติภาวนาจึงต้องมีพื้นฐานมาจากความศรัทธาอันนี้ที่เรียกว่า “ ตถาคตโพธิศรัทธา” คือศรัทธาในการเข้าถึงสัจจะสูงสุดของพระพุทธเจ้า ศรัทธาด้วยความจริงใจ และมีความพากเพียร มันเป็นการรถ่ายทอดมาจากจิตวิญญาณของพระพุทธองค์ที่ผสมผสานกับอิริยาบทและกิจกรรมในความเป็นหนึ่งเดียวของความเข้าใจที่ถูกต้องของเรา บนพื้นฐานของจิตที่บริสุทธิ์ หรือจิตที่ประภัสสร นั่นก็คือการประจักษ์แจ้งความจริง
    เมื่อเรามีจิตใจที่บริสุทธิ์ที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับสัจธรรมหรือตามที่ มันเป็น เราก็จะเข้าถึงการประจักษ์แจ้งความจริง ด้วยการตระหนักรู้ในความหมายที่แท้จริงของแต่ละขณะ นั่นก็คือสัมมาทิฐิหรือความเข้าใจที่ถูกต้อง มันเป็นการแสดงตัวของธรรมชาติที่แท้จริงที่มีอยู่ในตัวเรา ออกมาให้เราสัมผัส.
    ที่พูดว่าเราสัมผัสนี่ จริงๆแล้วมันไม่มีเรา นี่มันเป็นภาษาของ ของจิตสำนึกโลกของจิตสำนึก มันเป็นการปฏิบัติหรือเป็นการเคลื่อนไหวของตัวมันเอง เราจะเข้าใจธรรมชาติเดิมแท้หรือจิตพุทธะว่าคืออะไร แล้วเราจะเกิดความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในธรรมชาติที่แท้จริงของเรายิ่งขึ้น เราต้องหาความมีอยู่หรือความเป็นอยู่ในความเป็นทั้งหมด หรือความมีอยู่ เป็นอยู่ที่สมบูรณ์ของเรา จากสิ่งที่มันกำลังเป็นอยู่ สมบูรณ์อยู่ในทุกขณะ

    คำสอนพื้นฐานของพระพุทธองค์ที่เรียกว่า (อนิจจัง) การเปลี่ยนแปลงหรือสรรพสิ่งไม่เที่ยง (ทุกขัง) สรรพสิ่งทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (อนัตตา) พ้นไปจากความมีและความไม่มีตัวตนที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ เ ราก็จะเห็นสิ่งนี้ เมื่อจิตของเราเข้าถึงสุญญตา หรือเข้าถึงสัจจะสูงสุด ถ้าเราไม่เห็น เราก็ไม่อาจจะยอมรับในความเป็นพุทธะในจิตที่บริสุทธิ์ของเราได้ ความสมบูรณ์ก็คือความไม่สมบูรณ์ ถ้าจิตของเราเข้าถึงสิ่งนี้แล้ว ของคู่ต่างๆก็จะไม่แตกต่างกัน หรือเราอาจจะพูดว่า ความไม่สมบูรณ์ก็คือความสมบูรณ์ ถูกก็คือผิด นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจ จุดประสงค์การปฏิบัติภาวนานี่ก็คือการเข้าถึงความเป็นอิสรภาพหรือเสรีภาพของจิตที่มีอุปาทานหรือจิตของเราเคยยึดถือสิ่งต่างๆ ยึดถือบัญญัติ ยึดถือสมมติ ยึดถือประสบการณ์ของชีวิต อันนี้เราชอบ อันนี้เราไม่ชอบ เมื่อเราสามารถเข้าถึงความเป็นอิสระของจิตหยั่งรู้การมีอยู่ เป็นอยู่ ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็เป็นเอกภาพเดียวกันในแต่ละขณะได้ มันเป็นการแสดงออกถึงคุณภาพในตัวของมันเอง



    ในกิจกรรม ก็จะมีความสงบ แท้จริงแล้วมันก็คือสิ่งเดียวกัน ที่ต่างกันเพียงการให้ความมายเท่านั้นเอง ในกิจกรรม,มันจะมีความผสมกลมกลืน นี่คือคุณภาพของการมีอยู่เป็นอยู่ การปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็คือการเข้าใจความเร้นลับของความเป็นอิสระ ในขณะเดียวกันเราก็มีสัมพันธ์กับสรรพสิ่งในความเป็นองค์รวม หรือเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือสัจจะทั้งสองทำงานร่วมกันเป็นสัจจะหนึ่งเดียวคือ ( สังขตะกับอสังขตะ) ปรากฏการณ์กับความว่างทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เพียงแต่เราหยุดขบวนการของความคิดที่ไร้สาระ

    สัจจะสูงสุดคืออมตธรรมหรือความว่างก็จะกลายเป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงก็คือปรากฏการณ์ ทั้งสองทำงานร่วมกันในวิถีของความเป็นหนึ่งที่เรียกว่า วิถีของพุทธธรรม นี่คือสิ่งที่เราจะต้อง ฝึกฝน หรือภาวนาในทุกอิริยาบทของเรา เพื่อจะเข้าถึงความเป็นธรรมชาติหรือความเป็นเองของสัจจะ ความเป็นเองของธรรมชาติก็คือความเป็นอิสระจากการยึดถือสรรพสิ่งที่เรามีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส
    ในขณะเดียวกัน เราก็มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งอย่างล้ำลึกเป็นองค์รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ออกมาจากความว่าง(สุญญตา) นี่คือการแสดงออกของ ปรีชาญาณที่เกิดจากจิตที่เข้าถึงสัจจะสูงสุดก็คือธรรมชาติแท้จริง แสดงออกร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร ก็คือการแสดงออกของธรรมชาติที่แท้จริง นั่นคือกิจกรรมที่แท้จริง มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่อย่างมหัศจรรย์ นั่นคือธรรมชาติที่แท้ ถ้าเราเข้าถึงสิ่งนี้ได้ เราจะพบกับ ความสุขแท้ที่จริงของชีวิต

    บทความโดยท่านโพธินันทะ
     

แชร์หน้านี้