เรื่องเด่น กิเลสหยาบซึ่งกั้นเราไม่ให้เขาถึงสมาธิระดับสูง นั่นก็คือนิวรณ์ ๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย ศิษย์วัดท่าขนุน, 24 ตุลาคม 2018.

  1. ศิษย์วัดท่าขนุน

    ศิษย์วัดท่าขนุน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2017
    โพสต์:
    2,510
    กระทู้เรื่องเด่น:
    30
    ค่าพลัง:
    +2,945
    .jpg

    ในการปฏิบัติธรรมวันนี้ จะกล่าวถึงกิเลสหยาบซึ่งกั้นเราไม่ให้เขาถึงสมาธิระดับสูง นั่นก็คือนิวรณ์ ๕

    พวกเราจะสังเกตได้ว่า เราตั้งใจภาวนาเมื่อไร กำลังใจของเราก็มักจะหนีไปที่อื่น ไม่ได้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ได้อยู่กับคำภาวนาเฉพาะหน้า กว่าหลายท่านจะรู้ตัวก็ไปฟุ้งซ่านกับเรื่องอื่นเสียใหญ่โตไปแล้ว ก็เพราะว่าเรายังสู้กำลังของนิวรณ์ ๕ ไม่ได้

    นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นประกอบไปด้วย กามฉันทะ คือ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เผลอเมื่อไรเราก็จะโดนดึงกลับไปหาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มักจะมีลีลาในการหลอก ในการล่อ ลวงให้เราหลงตามไปได้ง่าย โดยเฉพาะความยึดติดที่เรียกว่า “ติดใจ”

    อย่างเช่นว่าเห็นรูปสวยแล้วติดใจ ได้ยินเสียงเพราะแล้วติดใจ ได้กลิ่นหอมแล้วติดใจ ได้รสอร่อยแล้วติดใจ ถูกต้องสัมผัสระหว่างเพศแล้วติดใจ ในเมื่อติดใจ ถึงเวลาสภาพจิตใจก็จะวิ่งไปหาสิ่งนั้น เพราะว่าผูกพันยึดติดกันอยู่ เราต้องมีกำลังเพียงพอ จึงสามารถฉุดรั้งไม่ให้สภาพจิตของเราไหลไปหาสิ่งที่เคยชิน ไหลไปหาสิ่งที่ยึดติด ซึ่งก็คือต้องสร้างสมาธิภาวนาให้เกิดให้ได้ ถ้าสมาธิภาวนาไม่ทรงตัว กำลังของเราจะไม่มีวันเพียงพอที่จะสู้กิเลสเหล่านี้ได้เลย

    นิวรณ์ข้อที่ ๒ ก็คือ ความพยาบาท ได้แก่ การโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นผู้อื่น ปุถุชนทั่วไปโกรธได้เกลียดได้..ไม่เป็นไร แต่อย่าไปผูกอาฆาต การที่เราไปผูกใจอาฆาต ทำให้เป็นการต่อความยาวสาวความยืดไม่รู้จักแล้วจักเลิก เมื่อจะภาวนาทีไร สภาพจิตก็ไปนึกถึงคนที่เราเกลียด คนที่เราโกรธ แล้วส่วนใหญ่ก็อยากจะให้เกิดความย่อยยับต่าง ๆ แก่เขา ซึ่งจัดเป็นนิวรณ์ใหญ่ ขวางกั้นเราจากความดี

    นิวรณ์ตัวต่อไป คือ ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจปฏิบัติ ถ้ากำลังใจของท่านทรงฌานไม่ได้ นิวรณ์ตัวนี้จะแทรกเข้ามาทุกครั้ง แต่ถ้าท่านสามารถทรงฌานได้คล่องตัว นิวรณ์ตัวนี้จะหายไปเลย ไม่มารบกวนอีก นึกจะภาวนาเมื่อไรกำลังใจของเราก็วิ่งเข้าสู่ระดับฌาน เป็นการก้าวข้ามนิวรณ์นี้ไป

    นิวรณ์ตัวต่อไป ก็คือ อุทธัจจะกุกกุจจะ อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ คือ ความเดือดร้อนรำคาญใจ เมื่อจิตฟุ้งซ่านไม่รวมตัว ก็ทำให้เราหงุดหงิด เดือดร้อนรำคาญ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเข้ามาในจิตในใจของเราเป็นปกติ เพื่อฉุดรั้งไม่ให้เราหนีห่าง ไม่ให้เราหลุดพ้น

    นิวรณ์ตัวสุดท้าย คือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยว่าการปฏิบัตินี้จะมีผลอย่างไร ? สงสัยว่าปฏิบัติความดีแล้วจะดีจริงหรือไม่ ? สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้นมากีดขวางเราอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ต้องการให้เราหลุดพ้น

    ถ้าสภาพจิตของเราก้าวพ้นไปเมื่อไร นิวรณ์ทั้งหลายเท่ากับต้องตายไปเลยทีเดียว ต่อให้ยังมีอยู่ครบ ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายใด ๆ แก่เราได้

    ดังนั้น..ในการภาวนาทุกครั้ง นิวรณ์เหล่านี้มารบกวน เพราะไม่ต้องการให้กำลังใจของเราทรงตัว การรบกวนก็จะชักพาให้เราฟุ้งซ่านไปในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ความโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนนั้น คนนี้ ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจปฏิบัติ เอาแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง หรือว่าหงุดหงิดกลัดกลุ้ม เดือดร้อนรำคาญใจ และท้ายที่สุดก็ชักนำให้ลังเลสงสัย ว่าปฏิบัติแล้วได้ผลจริงหรือ ?

    สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสหยาบ เห็นได้ชัด และขัดขวางเราทุกครั้งที่ปฏิบัติ เราจึงจำเป็นที่จะต้องเอาสติและสมาธิทั้งหมด จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา ให้เอาความรู้สึกทั้งหมดแนบแน่นชิดติดกับลมหายใจ ไหลตามลมเข้าไป ไหลตามลมออกมา อย่าเผลอปล่อยเป็นอันขาด ถ้าเผลอสติปล่อยจากลมหายใจ ปล่อยจากคำภาวนา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะแทรกเข้ามาทันที

    แรก ๆ จะต้องใช้ความพยายามมากกว่าที่จะก้าวพ้นไปได้ แต่พอพ้นไปแล้ว เกิดความคล่องตัว เกิดความชินในระดับอารมณ์ที่พ้นจากนิวรณ์ ถึงเวลาตั้งใจภาวนา ระดับสมาธิก็จะกระโดดเข้าไปสู่ระดับที่พ้นจากนิวรณ์ไปได้ทันที

    ถ้าเป็นเช่นนั้นสภาพจิตของเราก็จะผ่องใส สงบ มั่นคง มีกำลังเพียงพอที่จะใช้ในการตัดกิเลสระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับหยาบ ๆ อย่างพระโสดาบันขึ้นไป ก็คือ การที่เราต้องเคารพในพระพุทธเจ้าจริง ๆ เคารพพระธรรมจริง ๆ เคารพพระสงฆ์จริง ๆ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้าสมาธิของเราไม่ทรงตัว ก็จะมีการพลั้งเผลอผิดพลาดได้

    ข้อต่อไป ก็คือ ต้องรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ถ้าสมาธิไม่ทรงตัว จะไม่มีกำลังฝืนใจตัวเองไม่ให้ละเมิดศีลได้ และท้ายที่สุดเมื่อสมาธิทรงตัว จิตใจสงบ ผ่องใส เยือกเย็น ก็จะเกิดปัญญาที่จะมองเห็นว่า สภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ของวัตถุธาตุต่าง ๆ ก็ดี มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอนเลย

    ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ การปรารถนาไม่สมหวัง การกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ และท้ายที่สุดร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี ร่างกายของสัตว์อื่นก็ดี วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็ดี ล้วนแล้วแต่เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเหลือให้ยึดถือเป็นตัวตนเราเขาได้

    เมื่อเห็นอย่างนี้อย่างชัดเจนจิตก็จะเบื่อหน่าย หมดความปรารถนาที่จะมีร่างกายเช่นนี้ หมดความปรารถนาต้องการร่างกายของผู้อื่น เราก็สามารถที่จะก้าวข้ามกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้

    ดังนั้นในการภาวนาทุกครั้ง เราต้องตรวจวัดอารมณ์ของเราให้เห็นว่ามีนิวรณ์ ๕ อยู่หรือไม่ ? ถ้าไม่มีก็ภาวนาให้กำลังใจทรงตัว แล้วคลายออกมาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ในอัตภาพร่างกายนี้ ในอัตภาพของร่างกายผู้อื่น ของสัตว์อื่น ของวัตถุธาตุอื่น ๆ จนกระทั่งจิตของเราหมดความต้องการในร่างกาย ทั้งของตนเองและของผู้อื่น แล้วเอากำลังใจเกาะพระนิพพานแทน

    ลำดับต่อไปนี้ก็ให้ทุกคนตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๕

    ที่มา วัดท่าขนุน
     

แชร์หน้านี้

Loading...