ข้อคิดจากรอบตัว...การให้เกียรติกัน ; พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 7 พฤษภาคม 2006.

  1. rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    ธรรมชาติของคนเราต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนยากจนดีมีจน สูงต่ำดำขาวอย่างไร ก็มักจะหาความภาคภูมิใจจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งในชีวิตของตนเองจนได้ เช่น ฐานะ ชาติตระกูล การศึกษา หน้าที่การงาน ความสามารถ รูปร่างหน้าตา เป็นต้น แม้คนหน้าตาธรรมดาก็อาจมีความภูมิใจว่า ตนมีความงามในส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ฟันสวย ตาสวย ริมฝีปากสวย ผมสวย ฯลฯ ความภาคภูมิใจนี้ก่อให้เกิดความมั่นใจในคุณค่าของการดำรงอยู่แห่งชีวิต ดังนั้นจึงไม่มีใครปรารถนาที่จะคบหากับบุคคลที่ชอบใช้กิริยา วาจา มาบั่นทอนความภูมิใจ ทำลายเกียรติยศของตน ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะเป็นใครก็ตาม อาตมภาพเคยรู้จักสามีภรรยาคู่หนึ่ง เป็นชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทย ปกติภรรยาเป็นคนที่เคารพและให้เกียรติสามีมาก ถึงแม้ตัวเองจะเป็นคนเก่ง ทำมาค้าขายจนร่ำรวย แท้จริงแล้วใครเป็นหลักในครอบครัว ใครเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างฐานะ อยู่ด้วยกันมาร่วมสี่สิบปี ไม่เคยมีปากเสียงกันเลย แต่มีอยู่คราวหนึ่ง ภรรยาปรารภเรื่องญาติที่เมืองจีนติดต่อมา สามีหัวเราะบอกว่า "จะมีอะไร ก็คงอยากได้เงิน ยากจนอย่างนั้น ให้ไปสักพันสองพัน ก็ขี้คร้านจะดีใจ"
    ภรรยาโกรธมาก คาดไม่ถึงว่าสามีจะพูดดูแคลนญาติของตนเช่นนั้น จึงพูดประชดประชันสามีเป็นครั้งแรกว่า ตัวเองร่ำรวยนักหรือไง จึงพูดเช่นนั้น แล้วก็เลยต่อว่าอะไรอีกยืดยาว
    คำพูดที่อวดเบ่งทำลายเกียรติผู้อื่นเพียงไม่กี่คำ สามารถทำให้ภรรยาคู่ทุกข์ยากมากว่า 40 ปี เสียความรู้สึกที่ดี เสียศรัทธาต่อสามีได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับคนที่รู้สึกว่า ตัวเป็นคนทำบุญคุณกับใครไม่ขึ้น คือช่วยเขาแล้ว ทำดีกับเขาแล้ว เขาไม่สำนึกบุญคุณของเราอย่างที่หวังไว้ แล้วก็มานั่งน้อยอกน้อยใจ หมดกำลังใจที่จะทำความดี หรือช่วยเหลือใครๆ อีก ทำให้ต้องเสียเพื่อน เสียมิตร เสียโอกาสดีๆ ในชีวิตไปอีกมากมาย
    ซึ่งที่จริงแล้ว ถ้าสุขุมสักหน่อย ไตร่ตรองสักนิดก็จะมองเห็นสาเหตุ มองเห็นตนเองได้โดยไม่ยากนัก นั่นคือที่รู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนทำบุญทำคุณกับใครไม่ขึ้น ส่วนใหญ่มักจะพลาดเพราะการมองเห็นแต่เกียรติของตนเอง แล้งมองไม่เห็นเกีรยติของผู้อื่นนั่นเอง พอได้ช่วยเหลือใครไป ก็รู้สึกว่าตัวเป็นคนช่วย เป็นคนให้ ทำให้ไม่มีความระมัดระวังกิริยาวาจา เผลอแสดงท่าทางหยิ่งๆ แล้วก็ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ดูถูกดูแคลนที่ตนได้ช่วยเหลือ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นลบต่อผู้ฟัง เป็นการทำลายสายสัมพันธ์อย่างที่คนพูดเองก็คาดไม่ถึงทีเดียว เพราะคนเรานั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว ก็ไม่มีใครอยากบากหน้าไปขอความช่วยเหลือคนอื่น การเอ่ยปากขอความช่วยเหลือใดๆ จากใคร คนที่ขอก็ไม่ค่อยสบายใจ เกิดความรู้สึกว่าตัวด้อยกว่าอยู่แล้ว พอเจอคนช่วยที่แสดงท่าทางและเอ่ยวาจาข่มเข้าอีก เขาก็จะยิ่งไม่สบายใจ ความรู้สึกสำนึกในบุญคุณก็ลดลง ตรงกันข้าม ผู้ที่ช่วยเหลือคนอื่นพร้อมกับให้กำลังใจเสริมความเชื่อมั่นของเขา คนๆ นั้นจะได้รับความยกย่อง ความเคารพจากใจจริง
    จะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ต้องทำด้วยความมีสติและด้วยความรู้สึกของ "ผู้ให้" จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
    พระเจ้านโปเลียนมหาราช ผู้สร้างตัวจากสามัญชนมาเป็นจอมจักรพรรดิที่ยิ่งที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส กอบกู้ประเทศฝรั่งเศสให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น อาณาเขตของประเทศฝรั่งเศสได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนได้ชื่อว่าเป็นผูเขียนแผนที่ประเทศยุโรปใหม่ เคล็ดลับประการหนึ่งที่นำพระเจ้านโปเลียนไปสู่ความสำเร็จก็คือ การให้เกียรติคน เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้านโปเลียนไม่เคยลืมเลยที่จะกล่าวคำขอบคุณทุกคนที่ทำอะไรให้ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม ทำให้รวมใจผู้คนได้ ผู้คนจงรักภักดี พร้อมจะทุ่มเททำงานให้
    ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาจะประสบความสำเร็จในชีวิตจะเว้นจากการให้เกียรติคนไปไม่ได้เลย
    ในวงการธุรกิจก็เช่นกัน บริษัทหลายแห่งที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ให้เกียรติลูกน้องเท่าที่ควร คิดแต่ว่าตัวเป็นนาย เป็นเจ้าของบริษัท บางครั้งไปอารมณ์เสียจากที่อื่นมา แล้วกลับมาลงที่ลูกน้องบ้าง ทำกับเขาอย่างไม่มีเหตุผลบ้างในหลายๆ ครั้ง ในที่สุดก็เสียลูกน้องมือดีๆ ไป กลายเป็นการบั่นทอนความก้าวหน้าของกิจการตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้เพราะเขาลืมไปว่า เงินนั้นซื้อใจคนไม่ได้
    ใครที่มีปัญหาด้านมนุษย์สัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน พี่น้อง ครอบครัว สามี ภรรยา ลองสำรวจตัวดูทีเถิดว่า เราบกพร่อง ลืมให้ความสำคัญต่อการให้เกียรติกันไปหรือเปล่า...

    จากหนังสือ "ข้อคิดจากรอบตัว"
    พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ MD., Ph.D. (Tokyo University)
     

แชร์หน้านี้