อิสสัตถสูตรที่ ๔
[๔๐๕] สาวัตถีนิทาน ฯ
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทาน บุคคลพึงให้ในที่ไหนหนอแล ฯ
พ. ดูกรมหาบพิตร จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้นแล ฯ
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก ฯ
พ. ดูกรมหาบพิตร ทานพึงให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง และทาน ที่ให้แล้วใน
ที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง
ดูกรมหาบพิตร ทานที่ให้แล้ว แก่ผู้มีศีลแลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่
ดูกรมหาบพิตร และ ด้วยเหตุนั้น อาตมภาพจักย้อนถามมหาบพิตรในปัญหากรรมข้อนั้นบ้าง
มหาบพิตร พอพระทัยอย่างใด พึงพยากรณ์อย่างนั้น ฯ
มหาบพิตรจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ณ ที่นี้การยุทธพึงปรากฏเฉพาะ
หน้าแด่พระองค์ สงครามพึงปะทะกัน ถ้าว่ากุมารที่เป็นกษัตริย์ผู้ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้หัดมือ ไม่ได้
รับความชำนาญ ไม่ได้ประลองการยิง เป็นคน ขลาด เป็นคนมักสั่น เป็นคนมักสะดุ้ง เป็นคน
มักวิ่งหนี พึงมาอาสาไซร้ พระองค์ พึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษนั้นหรือ และพระองค์พึงทรงต้องการบุรุษ
เช่นนั้นหรือ ฯ
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงบุรุษเช่นนั้น และ ข้าพระองค์ไม่ต้องการ
บุรุษเช่นนั้นเลย ฯ
พ. ถ้าว่า กุมารที่เป็นพราหมณ์ ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ พึงมาอาสาไซร้ ฯลฯถ้าว่ากุมาร
ที่เป็นแพศย์ ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ พึงมาอาสาไซร้ ฯลฯ ถ้าว่ากุมารที่เป็น ศูทร ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ
พึงมาอาสาไซร้ พระองค์พึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษนั้นหรือ และพระองค์พึงทรงต้องการบุรุษเช่นนั้น
หรือ ฯ
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงบุรุษนั้น และข้า พระองค์ไม่พึง
ต้องการบุรุษเช่นนั้นแล ฯ
[๔๐๘] พ. ดูกรมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ณ ที่นี้การ
ยุทธพึงปรากฏแก่พระองค์ สงครามพึงปะทะกัน ถ้าว่า กุมารที่เป็นกษัตริย์ ผู้ศึกษาดีแล้ว ได้
หัดมือแล้ว ได้รับความชำนาญแล้ว ได้ประลองการยิงมาแล้วไม่เป็นคนขลาด ไม่เป็นคนสั่น
ไม่เป็นคนสะดุ้ง ไม่เป็นคนมักวิ่งหนี พึงมา อาสาไซร้ พระองค์พึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษนั้นหรือ
และพระองค์พึงทรงมีพระประสงค์ บุรุษเช่นนั้นหรือ ฯ
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันพึงชุบเลี้ยงบุรุษนั้น และหม่อมฉันพึงต้องการบุรุษ
เช่นนั้น ฯ
พ. ถ้าว่ากุมารที่เป็นพราหมณ์ ผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ พึงมาอาสาไซร้ ฯลฯ ถ้าว่า กุมาร
ที่เป็นแพศย์ ผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ พึงมาอาสาไซร้ ฯลฯ ถ้าว่า กุมาร ที่เป็นศูทร ผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ
พึงมาอาสาไซร้ พระองค์จะพึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษ นั้นหรือ และพระองค์จะพึงทรงมีพระประสงค์
บุรุษเช่นนั้นหรือ
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันพึงชุบเลี้ยงบุรุษนั้น และหม่อมฉันพึงต้องการบุรุษ
เช่นนั้น ฯ
[๔๐๙] พ. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร แม้หากว่า กุลบุตรออกจากเรือน ตระกูลไรๆ
เป็นผู้บวชหาเรือนมิได้ และกุลบุตรนั้น เป็นผู้มีองค์ ๕ อันละได้ แล้ว
เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ ๕ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรนั้น ย่อมเป็นทานมีผลมาก
องค์ ๕ อันกุลบุตรนั้นละได้แล้วเป็นไฉน
กามฉันทะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
พยาบาทอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
ถีนมิทธะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
อุทธัจจกุกกุจจะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
วิจิกิจฉาอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
องค์ ๕ เหล่านี้อันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน กุลบุตรนั้น
เป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยศีลขันธ์ อันเป็นของพระอเสขะ
เป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยสมาธิขันธ์ อันเป็นของพระอเสขะ
เป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยปัญญาขันธ์ อันเป็นของพระอเสขะ
เป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยวิมุตติขันธ์ อันเป็นของพระอเสขะ
เป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ อันเป็นของพระอเสขะ
กุลบุตรนั้น เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้ว ผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ ๕ ดังนี้ ย่อมมีผลมาก ฯ
[๔๑๐] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ศิลปะการยิงแม่น กำลังเข้มแข็ง และความกล้าหาญมีอยู่ ในชายหนุ่ม
ผู้ใด พระราชาผู้ทรงพระประสงค์ด้วยการยุทธพึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่ม
เช่นนั้น ไม่พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้ไม่กล้าหาญ เพราะเหตุแห่งชาติ
ฉันใด ฯ
ธรรมะคือขันติ และโสรัจจะ ตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด บุคคลพึงบูชา
บุคคลนั้นผู้มีปัญญา มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะแม้มีชาติทราม
ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
พึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ ยังผู้พหูสูตทั้งหลายให้สำนักอยู่ ณ ที่นั้น
พึงสร้างบ่อน้ำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ และสะพานในที่เป็นหล่ม พึงถวาย
ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลาย
ด้วยน้ำใจอันผ่องใสเมฆมีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ (เมฆอันประกอบ
ด้วยถ่องแถวแห่งสายฟ้า) มียอดตั้งร้อยกระหึ่มอยู่ ยังแผ่นดินให้โชกชุ่ม
อยู่ย่อมยังที่ดอนและที่ลุ่มให้เต็ม แม้ฉันใด ฯ
ทายกผู้มีศรัทธา เป็นบัณฑิตได้ฟังแล้ว ย่อมจัดหาโภชนาหารมาเลี้ยง
วณิพก ด้วยข้าวน้ำให้อิ่มหนำ บันเทิงใจ เที่ยวไปในโรงทาน สั่งว่า
ท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ดังนี้ และทายกนั้นบันลือเสียง
เหมือนเสียงกระหึ่มแห่งเมฆเมื่อฝนกำลังตก ฉะนั้น ธารแห่งบุญอัน
ไพบูลย์นั้น ย่อมยังทายกผู้ให้ ให้ชุ่มชื่น ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
หน้าที่ ๑๒๑/๒๘๙
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทาน บุคคลพึงให้ในที่ไหนหนอ
ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย thepkere, 25 สิงหาคม 2013.