มีผู้พูดถึงศีล ดังนั้น จึงขอนำหลักของศีลมาลงให้เห็นความหมายโดดๆเลย แต่อันที่จริงหลักพุทธธรรมท่านจัดเป็นหมวดหรือเป็นกลุ่ม ด้วยว่า ใครฝึกอย่างหนึ่งอีกอย่างก็พลอยได้รับการฝึกไปด้วย เช่นหลักของอริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านจัดเป็นชุดสำหรับใช้งาน ที่เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นชุดสำหรับพระภิกษุ แล้วผ่อนลงให้เหมาะสำหรับคฤหัสถ์ ที่เรียกบุญกิริยา ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น
ความรู้เรื่องศีล
ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 1 มีนาคม 2015.
หน้า 1 ของ 2
-
-
สีลมัย: บุญที่เกิดจากการรักษาศีล
ความหมายของศีล
ศีล (สีลํ) แปลได้หลายนัย เช่น แปลว่า ปกติ ธรรมชาติ นิสัย ความเคยชิน เยือกเย็น ยอด เกษม สุข ในที่นี้ เน้นแปลว่า ปกติ การทำให้เป็นปกติ ธรรมชาติ ความประพฤติดี ความตั้งใจงดเว้น ความสำรวมระวัง ความไม่ล่วงละเมิด หมายถึงบัญญัติอันชอบธรรม คือการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ความประพฤติชอบ ความประพฤติดีทั้งทางกาย และวาจา ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกาย และวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม การรักษาปกติตามระเบียบวินัย ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว ข้อปฏิบัติในการฝึกหัด กาย วาจาให้ดียิ่งขึ้น ความสุจริตทางกาย วาจา และอาชีพ ข้อปฏิบัติในการควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน หรือการควบคุมพฤติกรรมส่วนตัวของคนเรา
แท้ที่จริงแล้ว การรักษาศีล ก็คือ การตั้งใจรักษาปกติของคนเรานั่นเอง ตัวอย่าง สิ่งเป็นปกติ และไม่ปกติ เช่น การฆ่ากัน กับ การไม่ฆ่า การขโมย กับ การไม่ขโมย การประพฤติผิดในคู่ครองผู้อื่น กับ ความยินดีในคู่ครองของตน การพูดเท็จ กับ การพูดจริง การดื่มสุรา กับ การไม่ดื่มสุรา จะเห็นได้ว่า การฆ่า เป็นต้น เป็นสิ่งไม่ปกติ ส่วนที่เป็นปกติของคน คือ การไม่ฆ่า การไม่ขโมย การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน การพูดจริง การไม่ดื่มสุรา (สิ่งเสพติดทุกชนิด) ฉะนั้น การรักษาศีลจึงชื่อว่าการรักษาปกติของคนเรานั่นเอง
เมื่อกล่าวโดยสาระหรือความมุ่งหมายในเชิงปฏิบัติ ศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ให้มีสุจริตทางาย วาจา และอาชีวะ การประกอบสัมมาชีพ มีการดำรงตนอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่เกื้อกูลท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตนมีส่วนช่วยสร้างสรรค์รักษาให้เอื้ออำนวยแก่การมีชีวิตที่ดีงามร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิต และการเจริญปัญญา
โดยนัยนี้ ศีลจึงกินความกว้างถึงการสร้างสภาพแวดล้อมทั้งทางวัตถุและทางสังคมที่ปิดกั้นโอกาสในการทำชั่ว และส่งเสริมโอกาสในการทำความดี เฉพาะอย่างยิ่งการจัดระเบียบชีวิต และระบบสังคม โดยรวมหลักเกณฑ์กฎข้อบังคับ บทบัญญัติต่างๆ เพื่อควบคุมความประพฤติของบุคคลให้มีสภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่จัดระเบียบไว้เป็นอย่างดี ไม่สับสนวุ่นวายด้วยอาการหวาดระแวงเวรภัย และการไร้ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ เริ่มตั้งแต่การไม่เบียดเบียนทำร้ายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของกันและกัน เป็นต้น ตามหลักศีล ๕ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์พื้นฐานในสังคม ตลอดจนข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกหัดขัดเกลาพฤติกรรมของบุคคล เพื่อสร้างเสริมสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการอยู่ร่วมกันในสังคมให้สอดคล้อง และเอื้อโอกาสแก่การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงภาวะสูงสุดที่เป็นจุดหมายร่วมกันของบุคคลหรือสังคมนั้นๆ
ดังนั้น ศีลจึงจัดเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่สำคัญในการฝึกฝนอบรมตนให้เกิดสมาธิ – ปัญญา โดยเรียกว่า สิกขาบท บทที่ต้องศึกษา ซึ่งหมายถึงข้อปฏิบัติฝึกอบรมตนเพื่อเป็นฐานให้เกิดสมาธิ และปัญญา -
ประเภทของศีลในพระพุทธศาสนา
ศีล มีหลายขั้น หลายระดับ และจัดแบ่งได้หลายประเภท ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตของบุคคลในสังคมนั้นๆ ในการที่จะประพฤติเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการ แต่เมื่อจัดตามประเภทแห่งบุคคลที่รักษาหรือผู้มีศีล ท่านจัดไว้ ๕ ประเภท ดังนี้
๑) ศีล ๕ หรือ เบญจศีล เป็นศีลขั้นพื้นฐานของศีลทั้งปวง กล่าวคือ ศีลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นศีลของอุบาสกอุบาสกา ของสาเณร ของพระภิกษุ ตลอดจนศีลของพระภิกษุณี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งศีล ๕ ข้อนี้ ซึ่งกำหนดเป็นศีลสำหรับผู้ครองเรือนทั่วไปควรรักษา มีข้อเรียกหลายอย่างเช่นเรียกว่า นิจศีล ศีลที่ควรรักษาเป็นนิตย์ บ้าง ปกติศีล ศีลที่ควรรักษาให้เป็นปกติ บ้าง และเรียกว่า มนุสสธรรม หรือ มนุษยธรรม ธรรมของมนุษย์หรือคุณธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ บ้าง
๒) ศีล ๘ (อัฏฐศีล) หรืออุโบสถศีล เป็นศีลที่มีพื้นฐานมาจากศีล ๕ เน้นความไม่เสพกาม การไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาล การฝึกหัดลดละการหาความสุขจากสิ่งบันเทิงหรือเครื่องปรนเปรอความสุขทางประสาทสัมผัส และการงดใช้เครื่องนั่งนอนฟูกฟูหรูหรา ซึ่งเป็นการฝึกฝนตนเองให้รู้จัก ที่จะมีชีวิตที่เป็นอิสระได้มากขึ้น สามารถอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหรอขึ้นต่อวัตถุภายนอกมากเกินไป ศีล ๘ นี้ เป็นเครื่องเสริมและเอื้อโอกาสยิ่งขึ้นไปทั้งด้านเวลาและแรงงานในการที่จะพัฒนาชีวิตทางด้านจิตใจ และปัญญา หรือเป็นเครื่องส่งเสริม และเอื้อโอกาสในการบำเพ็ญสมาธิและปัญญา จัดเป็นศีลสำหรับฝึกตนให้พัฒนายิ่งขึ้นไปสำหรับคฤหัสถ์ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาโดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ซึ่งจะตั้งใจสมาทานรักษาเป็นบางโอกาส ในวันอุโบสถหรือวันธรรมสวนะ (วันพระ คือ วันขึ้น หรือวันแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๕ ค่ำในเดือนขาด) หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น อุบาสิกา ผู้นุ่งขาวห่มขาว ซึ่งเรียกว่า แม่ชี ที่รักษาศีล ๘ นี้ประจำ ถ้าสมาทนรักษาประจำ เรียกว่า อัฏฐศีล ศีล ๘ ถ้าสมาทานรักษาในวันธรรมสวนะ เรียกว่า อุโบสถศีล หรือการเข้าจำศีลอุโบสถ
เบญจศีล และอุโบสถศีลนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า คิหิศีล หรือ คหัฏฐศีล ศีลของคฤหัสถ์ หมายถึงศีลสำหรับบุคคลผู้เป็นคฤหัสถ์หรือฆราวาสที่อยู่ครองเรือนควรรักษาทั้งประจำและบางโอกาส
๓) ศีล ๑๐ (ทสศีล) หรือ สิกขาบท ๑๐ เป็นศีลที่มีพื้นฐานมาจากศีล ๕ และศีล ๘ โดยเพิ่มการไม่รับทองและเงินเข้าไปเป็นข้อที่ ๑๐ กำหนดเป็นศีลสำหรับเด็ก และเยาวชนที่บวชเป็นสามเณรพึ่งรักษาเป็นประจำ คำว่า สามเณร แปลว่า เหล่ากอของสมณะ หมายถึงเด็ก และเยาวชน ผู้ศึกษาอบรมตามหลักไตรสิกขาเพื่อเตรียมเป็นพระภิกษุ เมื่อมีอายุครบอุปสมบทตามพระวินัยกำหนด รวมถึง สามเณรี คือ เด็กหญิงผู้บวชเตรียมความพร้อมเป็นพระภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล
ศีล ๑๐ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนุปสัมปันนศีล ศีลของผู้เป็นอนุปสัมบัน คือ ผู้ยังมิได้รับการอุปสมบท (คือยังเป็นสามเณร สามเณรี) ควรรักษา
๔) ศีล ๒๒๗ หรือ สิกขาบท ๒๒๗ เรียกว่า ภิกขุศีล ศีลของพระภิกษุ จัดเป็นพระวินัยพุทธบัญญัติในส่วนที่เป็นกฎเกณฑ์ข้อห้ามสำหรับบุรุษผู้อปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่มีพื้นฐานมาจากศีล ๕
๕) ศีล ๓๑๑ หรือ สิกขาบท ๓๑๑ เรียกว่า ภิกขุนีศีล ศีลของพระภิกษุณี เป็นพระวินัยพุทธบัญญัติในส่วนที่เป็นข้อห้ามสำหรับสตรีผู้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา -
ตัวอย่าง เข้ากับกระทู้นี้
-
มนุษย์ย่อมมีกรรมต้องเสวย เป็นธรรมดาของโลก ทุกอย่างมิใช่เหตุบังเอิญล้วนมีเหตุและผลในตัวของมัน ที่สำคัญเราไม่รู้ที่มาที่ไปของเหตุเรามารับรู้รับฟังผลของมันเท่านั้น ในการกระทำของคนเรานั้นย่อมมีเหตุผลส่วนตัวของเค้าทั้งนั้น. ยกตัวอย่างเช่นยุงมากัดเราหรือคนที่เรารักเราก็ตบมันคือฆ่ามัน แต่ถ้ามันกัดวัว หรือควายไม่เห็นเราไปฆ่ามันเลยจริงใหมครับ เพราะวัวควายนั้นไม่ใช่ของเราจริงใหมครับ นี่แหละครับถึงบอกว่าม้นมีเหตุและผลในตัวของมันแล้วแต่เหตุและผลของใครก็ของคนนั้น แต่ถ้าผู้มีศีลจะเห็นเป็นธรรมชาติ อาหารของยุงคือเลือดมันไม่รู้หรอกว่าเลือดคนหรือเลือดสัตว์มันแค่ต้องการเลือดเพื่อเป็นอาหารมันเท่านั้นมันไม่มีเจตนาจำเพาะเจาะจงมากินแต่เลือดเราเท่านั้นเลือดอย่างอื่นไม่กินจริงใหมคร้บเมื่อเรารู้ความจริงก็แค่ไล่มันไปก็พอใช่ไหมครับ คนฆ่าคนนั้นก็เพราะคนไม่มีศีลและปล่อยให้อารมณ์คือโลภ โกรธ หลงเข้าครอบงำจึงไม่มีความหวาดกลัวต่ออบายภูมิทั้งหลายจึงกล้าที่จะทำโดยไม่สนใจต่อผลที่จะได้รับ. เฮอเวรกรรมๆ. สาธุ
-
หลักการฝึกคนของพุทธศาสนา มีความเชื่อมโยงกัน
ศีล ควบคุมกาย วาจา คือกำจัดกิเลสอย่างหยาบ ส่วนสมาธิ ปัญญา กำจัดกิเลสอย่างกลาง อย่างละเอียด ซึ่งอยู่ภายในจิตใจ -
รู้จักศีล ๕
๑) ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการทำลายชีวิตให้ตกล่วงไป
๒) อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔) มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
๕) สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีล ๕ หรือ เบญจศีล ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ปญฺจ สีลานิ นี้ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกส่วนมากเรียก สิกขาบท ๕ คือองค์แห่งศีลอย่างหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อห้ามเพื่อการฝึกฝนตน หรือบทฝึกฝนอบรมตนของพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ๕ ข้อ
ศีล ๕ หรือ เบญจศีล นี้เป็นมาตรฐานอย่างต่ำสำหรับการจัดระเบียบชีวิต และสังคมของมนุษย์ให้อยู่ในสภาพที่เอื้อโอกาสขั้นพื้นฐานในการที่จะสร้าง สรรค์สิ่งที่ดีงาม หรือทำการพัฒนาตนให้สูงขึ้นไป จัดเป็นศีลขั้นพื้นฐานของศีลทั้งปวง
ลักษณะข้อห้ามในศีล ๕
ศีลข้อที่ ๑: เว้นจากการทำลายสิ่งมีชีวิตให้ตกล่วงไป หมายถึงการห้ามฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตลมหายใจอยู่ทุกเพศทุกชนิด โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๕ ข้อ คือ
๑) ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒) ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓) วธกจิตตัง มีจิตคิดจะฆ่า
๔) อุปักกโม ทำความพยายามฆ่า
๕) เตนะ มรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
การฆ่าสิ่งมีชีวิตที่พร้อมด้วยองค์ ๕ ข้อนี้ ศีลจึงขาด ถ้าไม่ครบองค์ประกอบ ทั้ง ๕ ข้อ แม้องค์ใดองค์หนึ่ง เช่น ไม่มีจิตคิดจะฆ่า เป็นต้น เช่นนี้ ศีลไม่ขาด
ศีลข้อที่ ๒: เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย หมายถึง การห้ามลักทรัพย์ทุกชนิดที่เจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาดหรือห้ามถือเอา สิ่งของที่ไม่มีผู้ให้ด้วยวิธีโจรกรรม คือ การกระทำอย่างโจรทุกอย่าง ได้แก่ การลัก ฉก ชิง วิ่งราว และ/หรือปล้นชิงทรัพย์ เป็นต้น โดยมีหลักวินิจฉัย ในความขาดแห่งศีลข้อนี้ ที่เรียกว่า องค์ ๕ ข้อ คือ
๑) ปรปริคคหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒) ปรปริคคหิตสัญญิตา รู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน
๓) เถยยจิตตัง มีจิตคิดจะลัก
๔) อุปกกโม ทำความพยายามลัก
๕) เตนะ หรณัง นำของมาได้ด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อที่ ๓: เว้นจากการประพฤติผิดในกาม หมายถึง การห้ามประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ห้ามประพฤติผิดทางเพศ ห้ามประพฤติผิดประเวณีในบุตรหลานของผู้อื่น ห้ามประพฤติเป็นชู้ในคู่ครอง คือ สามีภรรยาของผู้อื่น รวมถึงการห้ามสำส่วนทางเพศ มีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ
๑) อคมนียวัตถุ วัตถุที่ไม่ควรล่วงละเมิด
๒) ตัสมิง เสวนจิตตัง มีจิตคิดจะเสพ
๓) เสวนัปปโยโค ทำความพยายามเสพ
๔) มคเคนะ มัคคัปปฏิปัตติ กระทำการให้มรรคต่อมรรคจรดกัน
ศีลข้อที่ ๔: เว้นจากการพูดเท็จ หมายถึงการสำรวมระวังในการใช้คำพูดที่เว้นจากการพูดเท็จ พูดโกหกหลอกกลวงผู้อื่นให้เสียประโยชน์ (เช่นเป็นพยานเท็จ) ซึ่งเป็นการแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบีอนความจริงให้คนอื่นหลงเชื่อ โดยแสดงออกได้ทั้งทางวาจา คือ พูดโกหกชัดๆ พูดปดตรงๆและทางกาย คือ ทำเท็จทางกาย เช่น การเขียนจดหมายลวง การทำรายงานเท็จ การสร้างหลักฐานปลอม การโฆษณาชวนเชื่อเกินความจริง หรือเมื่อมีใครถามข้อความที่ควรรับ ก็สั่นศีรษะปฏิเสธ โดยมีหลักวินัยฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ
๑) อตถัง เรื่องไม่จริง
๒) วิสังวาหนจิตตัง จิตคิดจะพูดให้ผิด
๓) ตัชโช วายาโม พยายามพูดออกไปตามที่จิตคิดนั้น
๔) ปรัสสะ ตัตถะ วิชานนัง ผู้ฟังพูดออกไปตามที่จิตคิดนั้น
ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๔ นี้ ศีลไม่ขาด เช่น ทราบเรื่องที่เป็นเท็จมาโดยคนคิดว่าเป็นเรื่องจริง จึงพูดไปโดยไม่มีเจตนาจะหลอกลวงหรือพูดเท็จออกไป หรือผู้ฟังนั้นไม่เข้าใจ เพราะไม่รู้ภาษากัน เช่นนี้ ศีลไม่ขาด
ศีลข้อ ๕: เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อ้นเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หมายถึง การงดเว้นไม่ดื่มน้ำเมา ที่เรียกตามศัพท์บาลีว่า มัชชะ แปลว่า น้ำที่ยังผู้ดื่มให้มึนเมา ซึ่งจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ สุราและเมรัย โดยสุรา ได้แก่ น้ำเมาที่เรียกว่าเหล้า เมรัย ได้แก่ น้ำเมาประเภทเบียร์ เป็นต้น กล่าวง่ายๆ ศีลข้อนี้ ห้ามดื่มเหล่าและเบียร์ รวมถึงการห้ามเสพยาหรือสารเสพติดให้โทษทุกชนิดโดยอนุโลม ซึ่งมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ
๑) มทนียัง สิ่งเป็นเหตุให้มึนเมา
๒) ปาตุกัมมยตาจิตตัง จิตคิดจะดื่มหรือเสพ
๓) ตัชโช วายาโม พยายามดื่มหรือเสพตามที่จิตคิดนั้น
๔) ปิตัปปเสวนัง ดื่มน้ำเมาหรือเสพสารเสพติดนั้นเข้าไป -
จุดมุ่งหมายของการรักษาศีล ๕
ในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้ชี้จุดสำคัญที่คนเราจะต้องสร้างพื้นฐานไว้ให้มั่นคงเป็นพิเศษ ๕ จุด ซึ่งเป็นการปิดช่องทางที่จะทำให้ตนเองเสียหาย ๕ ทางด้วยกัน โดยวิธีสร้างพื้นฐานให้มั่นคงที่ว่านี้ ก็คือ การรักษาศีล ๕ นั่นเอง กล่าวคือ
ศีลข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหายเพราะความเป็นคนโหดร้าย ไร้ความเมตตาปรานี
ศีลข้อที่ ๒ เว้นจากการถิอเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจรขโมย เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหาย เพราะการหาเลี้ยงชีพในทางทุจริต มีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย
ศีลข้อที่ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เพื่อป้องกันช่องทางที่ตนจะเส่ียหาย เพราะความเป็นคนใจอ่อนไหวง่าย เจ้าชู้ สำส่อนทางเพศ
ศีลข้อที่ ๔ เว้นจากการกล่าวคำเท็จ เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหาย เพราะการใช้คำพูดโกหกหลอกลวง หรือเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อน
ศีลข้อที่ ๕ เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความเป็นคนชอบดื่มชอบเสพลิ้มลองรสสุราจนมึนเมาประมาทขาดสติไม่สามารถยับยั้งชั่งใจในการทำชั่วได้
อีกนัยหนึ่ง ชีวิตของคนเรามักจะพังวิบัติล่มจมประสบความพินาศไป เพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ คือ
(๑) ความโหดร้ายในจิตสันตดาน
(๒) ความละโมบอยากได้ทรัพย์ของคนอื่นในทางที่ผิด
(๓) ความร่านรนในทางกามารมณ์กับเพศตรงข้าม
(๔) ความไม่มีสัจจะประจำใจ
(๕) ความประมาทขาดสติสัมปชัญญะ
วิธีแก้ ก็คือ การหันเข้ามาปรับพื้นฐานจิตสันดานของตนโดยวิธีรักษาเบญจศีล เพราะการรักษาเบญจศีล หรือศีล ๕ นอกจากจะมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันรักษาตนไม่ให้เสียหายดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลทำให้ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ตลอดถึงสังคมโลกดำรงอยู่อย่าง่ปกติสุข และเป็นพื้นฐานให้บำเพ็ญหลักไตรสิกขาขั้นสูงคือสมาธิ และปัญญาได้บริบูรณ์ ซึ่งเมื่อบำเพ็ญให้บริบูณ์แล้ว ย่อมบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด
ดังนั้น ศีล ๕ จึงเป็นพื้นฐานแห่งความประพฤติของคนเรา จัดเป็นกุศลธรรมสำคัญที่คนเราควรประพฤติ หากจะเปรียบศีล ๕ กับส่วนประกอบของบ้าน ก็เปรียบได้กับเสาของบ้านนั่นเอง นอกจากนี้ ศีล ๕ ยังจัดเป็นมนุษยธรรมที่จำเป็นในสังคมมนุษย์อีกด้วย เพราะคนเราต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แต่ละคนจึงต้องปฏิบัติตนอยู่ในหลักการที่ช่วยตน และคนอื่นดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข คือ ไม่เบียดเบียนกันไม่ว่าเรื่องใดๆ ดังนั้น ศีล ๕ หรือเบญจศีลนี้จึงเป็นหลักการที่ประเสริฐที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข -
การจะรักษาเบญจศีลได้ดีต้องมีเบญจธรรมประจำใจ
เบญจศีลนี้ จะบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้หรือคนเราจะสามารถปฏิบัติรักษาได้ ก็ด้วยมีหลักธรรมบางประการคอยสนับสนุน คอยประคับประคอง หรือคอยกระตุ้นใจของคนเราให้งดเว้นเวรภัยนั้นๆ ผู้มีหลักธรรมข้อนั้นๆ ประจำใจแล้วจะสามารถรักษาเบญจศีลอยู่ได้ตลอดเวลา หลักธรรมดังกล่าวนี้ เรียกว่า กัลยาณธรรม ๕ หรือ เบญจกัลยาณธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นความประเพฤติดีงาม ๕ ประการ หมายถึงกุศลธรรมที่มีลักษณะเป็นความประพฤติดีงาม เป็นข้อปฏิบัติที่อุกฤษฎ์ คือ สูงยิ่งกว่าศีล เป็นเครื่องอุดหนุนเบญจศีลให้ผ่องใส คือ บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ ไม่มีลักษณะเป็นการฝืนทำ ฝืนรักษา หรือฝืนปฏิบัติ เบญจกัลยาณธรรม นั้น เมื่อเรียกคู่กันกับ เบญจศีล จึงเรียกง่ายๆว่า เบญจธรรม ประกอบด้วยองค์ธรรม ๕ ประการ คือ -
๑) เมตตากรุณา ความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่นและคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๑ ที่ผู้มีศีลจะพึงแสดงเป็นพิเศษในการเผื่อแผ่ให้ความสุขและช่วยปลดเปลื้อง ทุกข์ของผู้อื่นสัตว์อื่น คุณธรรมข้อนี้แหละ ที่จะทำให้คนเราเลิกอาฆาตพยาบาทจองเวรและล้างผลาญกันได้ เป็นเหตุให้เบียดเบียนกันไม่ลง การรบราฆ่าฟันทำร้ายล้างชีวิตกัน หรือการทำทารุณกรรมกันต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น
๒) สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ หมายถึงความขยันหมั่นเพียร ประกอบการงานหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต เป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๒ ที่ผู้มีศีลจะพึงปฏิบัติในการประกอบอาชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็น มนุษย์โดยไม่ลักขโมย ปล้นจี้เขากิน คุณธรรมข้อนี้เป็นเหตุให้คนเราละเว้นมิจฉาชีพ การหาเลี้ยงชีพในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ โดยมาคำนึงถึงคุณภาพศักดิ์ศรีความเป็นคนของตน ซึ่งจะสามารถขจัดความบีบคั้นทางใจอันเกิดจากความยากจนข้นแค้นทางเศรษกิจลง ได้
๓) กามสังวร ความสำรวมในกาม เป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๓ ที่ผู้มีศีลจะพึงปฏิบัติเคร่งครัดใน สทารสันโดษ คือ ความยินดีทางกามารณ์เฉพาะกับภรรยาของตนสำหรับชาย และใน ปติวัตร คือ ความประพฤติจงรักซื่อสัตย์เฉพาะต่อสามีของตนสำหรับหญิง คุณธรรมข้อนี้ เป็นเหตุให้มนุษย์ไม่หมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ จนถึงทำลายน้ำใจผู้อื่น ส่งเสริมให้เป็นคนซื้อสัตย์ไม่ประพฤตินอกใจคู่ครองของตน
๔) สัจจะ ความซื่อสัตย์ คือกิริยาที่ประพฤติตนเป็นคนซื่อตรง ดำรงสัจจะเป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๔ ที่ผู้มีศีล จะพึงปฏิบัติโดยอาการ ๔ อย่าง คือ (๑) มีความเที่ยงธรรม ซื่อตรงในหน้าที่การงาน (๒) มีความซื่อตรงต่อมิตร (๓) มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาของตน และ (๔) มีความกตัญญูในท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน คุณธรรมข้อนี้เป็นเครื่องสนับสนุนให้คนเรามีความเที่ยงธรรม ซื่อตรง มีความจริงใจต่อผู้อื่น และมีความซื่อสัตว์ต่อเจ้านายของตน ตลอดทั้งมีความซื่อสัตว์กตัญญูกตเวทีต่อบุพการรีและผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูอาจารย์ อันเป็นเหตุให้คนเรามีพฤติกรรมเป็นคนตรงไปตรงมา รักความยติธรรม ไม่เป็นคนโกหกชอบพูดปดมดเท็จ หลอกลวง หรือทำลายประโยชน์ของบุคคลอื่นๆ ที่ตนเกี่ยวข้อง
๕) สติสัมปชัญญะ ความระลึกได้ และความรู้ตัว หรือความมีสติรอบคอบ คือ มีสติกำกับจิตควบคุมพฤติกรรมของตน ไม่เลินเล่อเผลอตัวทำชั่วทำผิดในทุกสถานการณ์ พฤติกรรมที่เด่นชัดของผู้มีสติสัมปชัญญะ เช่น พิจารณาด้วยปัญญาแล้วบริโภคอาหาร รู้จักประมาณ รู้จักคุณและโทษของอาหารที่จะบริโภค ไม่พลั้งเผลอในการทำงาน มีความรอบคอบ ระวังหน้าระวังหลังในการทำกิจการต่างๆ เป็นต้น คุณธรรมข้อนี้ เป็นเหตุให้คนเราพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งเสพติดให้โทษด้วยความรอบคอบ สามารถเห็นโทษร้ายที่จะพึงมีพึงเกิดแก่ตัวเอง แก่การงาน และแก่ทรัพย์สินจากสิ่งเสพติดมึนเมาเหล่านั้น อันเป็นเหตุให้คนเรางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และการเสพสารเสพติดให้โทษได้ จึงเป็นคุณธรรมเกื้อกูลเบญจสีลข้อที่ ๔ ที่ผู้มีศีลจะพึงปฏิบัติโดยอาการ ๔ อย่าง คือ (๑) รู้จักประมาณในอาหารที่จะพึงบริโภค (๒) ความไม่เลินเล่อในการงาน (๓) ความมีสัมปชัญญะในการประพฤติตัว และ (๔) ความไม่ประมาทในกุศลธรรม คือ หมั่นบำเพ็ญคุณความดีอยู่เสมอ
คนที่ละเมิดเบญจศีลอยู่เสมอๆ ก็เพราะขาดกัลยาณธรรมที่เกื้อกุลทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าหากมีกัลยาณธรรมทั้ง ๕ นี้ประจำใจอยู่แล้ว การละเมิดศีลจะน้อยลง หรืออาจจะไม่มีการละเมิดเลยก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่ามีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่เสมอนั่นเอง -
สรุป: ศีล มีลักษณะเป็นการงดเว้น เป็นการสำรวมระวัง การมีระเบียบวินัย และการมีกิริยามารยาทงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นถึงศีลในระดับการไม่เบียดเบียนหรือการอยู่ร่วมกันด้วยดีโดยสงบสุขของคน ในสังคม (ศีล ๕) กล่าวคือ การไม่ประทุษร้ายทำลายชีวิตร่างกายกันและกัน การไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของกันและกัน การไม่ละเมิดของรักของหวงโดยไม่ลบหลู่เกียรติศักดิ์ศรีทำลายตระกูลวงศ์ของ กันและกัน การไม่ลิดรอนผลประโยชน์กันด้วยวิธีประทุษร้ายทำลายกันทางวาจา และการไม่ซ้ำเติมตนเองให้เดือดร้อนระทมตรมทุกข์ด้วยสิ่งเสพติดให้ โทษ ซึ่งทำให้สภาพร่างกายเสื่อมโทรมเป็นเหตุให้ขาดสติสัมปชัญญะที่คอยเหนี่ยว รั้งไม่ให้ประพฤติชั่วก่อความผิดพลาดเสียหายและคุ้มครองตนไว้ในคุณความดี
อนึ่ง พึงทราบความแตกต่างกันระหว่างศีล กับ ธรรม ดังนี้ ศีล อยู่ที่ตัวของเรา ที่สามารถมองเห็นได้ คือ ตัวของเราที่แสดงพฤติกรรมออกมาภายนอกทางกาย และทางวาจา ถ้าแสดงพฤติกรรมทางกาย ก็เป็นกายกรรม ถ้าเป็นด้านวาจาคือคำพูด ก็เป็นวจีกรรม แม้ว่าพฤติกรรมทั้งหมดนั้น จะออกมาจากใจ คือ เจตนา กล่าวง่ายๆ ก็คือ ศีลมีลัพษณะเป็นข้อห้าม จัดเป็นข้อที่ ๑ แห่งโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้า หรือประมวลหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ คือ ข้อคำสอนที่ว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง ส่วนคำว่า ธรรม ในที่นี้ มุ่งเฉพาะกัลยาณธรรม ๕ ประการดังกล่าวมา ซึ่งมีลักษณะเป็นคุณความดีที่ควรอบรมให้เกิดมีขึ้นในใจ จัดลงในโอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ข้อที่ ๒ คือ การทำความดีให้ถึงพร้อม และข้อที่ ๓ คือ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว โดยอนุโลม
ความจริง เมื่อกล่าวในขั้นที่ละเอียดแล้ว ศีลนั้น เป็นส่วนหนึ่งของธรรม หรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการศึกษาเรื่องหลักเบญจศีล - เบญจธรรมนี้ จึงควรกำหนดว่า ศีล กับ ธรรม มีความแตกต่างกันดังกล่าว
เมื่อกล่าวโดยสรุป เบญจกัลยาณธรรม ก็คือข้อปฏิบัติพิเศษที่ยิ่งขึ้นไปกว่าเบญจศีล และเป็นสิ่งคู่กัน กับ เบญจศีล โดยเหตุที่ผู้เว้นจากข้อห้ามหรือศีลทั้ง ๕ ข้อ ได้ชื่อว่าผู้มีศีล แต่ผู้มีศีลจะชื่อว่า มีกัลยาณธรรมก็หามิได้ คือ บางคนก็มีแต่ศีล ไม่มีกัลยาณธรรม บางคนมีทั้งศีล มีทั้งกัลยาณธรรม ตัวอย่าง เช่น ชายผู้หนึ่งเป็นคนมีศีล เดินทางข้ามทะเลโดยทางเรือ พบเรือล่มมีคนกำลังว่ายน้ำอยู่ ซึ่งตนสามารถที่จะช่วยคนที่กำลังว่ายน้ำอยู่นั้นได้ แต่แล้วเขาก็ไม่ช่วย ปล่อยให้คนจมน้ำตายไปต่อหน้าต่อตา ในกรณีนี้ ถึงแม้ศีลของเขาไม่ขาดก็จริง แต่เขาชื่อว่า เป็นผู้ที่ปราศจากคุณธรรม คือ เมตตากรุณา ยังไม่จัดว่ามีกัลยาณธรรม แต่มีเพียงศีล ไม่มีกัลยาณธรรม ในทางตรงข้าม ถ้าเขา ซึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในศีลพบเห็นคนกำลังจมน้ำ ซึ่งตนสามารถช่วยได้ แล้วมีเมตตากรุณา ช่วยให้คนรอดพ้นจากการจมน้ำตาย เช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีทั้งศีล และกัลยาณธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น คนที่มีเบญจศีล และกัลยาณธรรมคู่กัน ท่านจึงนับว่าเป็นสาธุชนคนดีในพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกับพระบาลีพุทธพจน์ที่แสดงคุณลักษณะของกัลยาณชน (คนดี) ว่า สีลวา โหติ กลฺยาณธมฺโม แปลว่า เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม คือจะชื่อว่าคนดีต้องมีทั้งเบญจศีล และเบญจธรรมควบคู่กัน -
คุณค่าของเบญจศีล
เบญจศีล เป็นหลักสำหรับควบคุมความประพฤติเบื้องต้นของมนุษย์ เป็นหลักเบื้องต้นสำหรับให้มนุษย์ตั้งอยู่ในคุณธรรม เพื่อให้ประพฤติความดียิ่งๆขึ้น เหมือนคนเราจะเขียนหนังสือได้ดี และตรงสวยงาม เริ่มแรกจำต้องอาศัยเส้นบรรทัดเป็นหลัก เขียนไปตามเส้นนั้นก่อน ตัวอักษรที่ปรากฎจะตรงดีและเรียบร้อย หาไม่ก็จะคดเคี้ยวขาดความสวยงาม ต่อเมื่อชำนาญดีแล้ว ก็สามารถเขียนให้ตรงโดยไม่อาศัยเส้นบรรทัดได้บ้าง แม้การประพฤติธรรม ประพฤติความดี ก็ฉันนั้น เริ่มแรกจำต้องอาศัยอะไรสักอย่างเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นพื้นฐาน เบญจศีลสามารถเป็นหลักเช่นนั้นได้ หาไม่แล้วใจอาจไม่มั่นคง และคอยแต่จะเอนเอียงเข้าหาทุจริตได้ ต่อเมื่อประพฤติเบญจศีลจนเป็นปกติวิสัยแล้ว ก็อาจประพฤติธรรมความดีอื่นๆ ได้ดี และยั่งยืน ไม่ผัสแปร
เบญจศีล เป็นข้อกำหนดความประพฤติอย่างต่ำที่สุดในหมู่มนุษย์ เป็นข้อกำหนดเท่าที่ำเป็นพอที่จะให้สังคมมนุษย์อยู่กันได้โดยปกติสุข มีชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัยตามสมควร สังคมที่ปราศจากเบญจศีล จะมากไปด้วยทุกข์และเวรภัย มากไปด้วยการก่อคดีอาญา การสังหารผลาญชีวิต การเอารัดเอาเปรียบกัน การปล้นกัน การแย่งที่กันทำกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาท การประพฤติผิดทางเพศ การข่มขืน การหลอกลวง การเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก การติดสุราสิ่งเสพติดมึนเมา การเป็นทาสของอบายมุขต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาสังคมสืบเนื่องมาอีก คือ อุบัติเหตุต่างๆ อันเนื่องมาจากของมึนเมา สิ่งเสพติดเหล่านั้น ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินจะหมดไป จะอยู่หรือไปที่ใด จะเต็มไปด้วยความหวาดระแวงวิตกกังวล เพราะไม่แน่ใจความปลอดภัย มีความหวดาระแวงตลอดเวลา ท้ายที่สุดก็จะอยู่กันอย่างไม่อบอุ่น คืออยู่อย่าง่มีสุขภาพจิตเสีย เมื่อเป็นดังนี้ ก็ยากที่จะพัฒนาคุณภาพจิต และสมรรถนะของจิตใจให้ดีขึ้นได้ และสังคมนั้นๆ ก็จะกลายเป็นสังคมที่มีสิ่งแวดล้อม ไม่เกื้อกุลสำหรัการสร้างสรรค์ความดีงามให้สูงขึ้นไป สติปัญญาก็ดี วัตถุปัจจัยต่างๆที่พอจะหาได้ในสังคมก็ดี กำลังผู้คนที่ปรารถนาดีต่อสังคมก็ดี จะถูกใช้จ่ายให้หมดไปเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนมาก โอกาสที่จะช่วยสร้างสังคมให้ก้าวหน้าน้อยลง สังคมก็มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวมานี้ เราสามารถแก้ได้ด้วยการพัฒนาบุคคลให้ประพฤติอยู่ในหลักเบญจศีลโดยทั่วกันเท่านั้น มิใช่ทางอื่นเลย
เบญจศีล เป็นบทบัญญัติทางสังคมที่มนุษย์ยุคก่อน ได้วางไว้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับปกครองหมู่คณะ เพื่อให้หมู่คณะ ดำรงชีวิตและเป็นอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ ต่อมา ได้กำหนดกันว่าเบญจศีลนี้เป็นเครื่องมือสำหรับวัดความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้นั้น มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์หรือไม่ โดยเรียกว่าเป็น มนุษยธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องกำหนดความประพฤติของมนุษย์ หรือธรรมสำหรับวัดความเป็นมนุษย์ของคนเรา ทั้งนี้ เพราะศีลแต่ละข้อนั้น ท่านวางจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในแต่ละทาง กล่าวคือ
เบญจศีลข้อที่ ๑ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีเมตตาธรรมต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน สามารถมีชีวิตอยู่ด้วยความปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงกันและกัน สามารถประพฤติธรรม ประกอบกิจการงาน และช่วยเหลือเกื้อกุลกันได้ตลอดไป โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้
เบญจศีลข้อที่ ๒ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์ประกอบอาชีพโดยซื่อสัตย์สุจริต รักและเคารพเกียรติของตนเอง มีความเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น มีความมั่นใจในทรัพย์สินอันเป็นสมบัติของตนเอง ไม่ต้องวิตกกังวล โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้
เบญจศีลข้อที่ ๓ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน ไว้วางใจกันได้ตลอดที่ตลอดเวลา ให้มีความเคารพในสิทธิความเป็นสามีเป็นภรรยาของกันและกัน สามารถประพฤติธรรม ประกอบกิจการงาน และช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ตลอดเวลา โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้
เบญจศีลข้อที่ ๔ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีความซื่อสัตย์ จริงใจและไว้วางใจกันได้ สร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ป้องกันผลประโยชน์ของกันและกันไว้ สามารถใช้วาจาประสานประโยชน์ของกันและกัน ไม่ทำลายกันด้วยคำพูด โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้
เบญจศีลข้อที่ ๕ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อสนับสนุนการรักษาศีล ๔ ข้อ ข้างต้นให้เกิดมีขึ้นและรักษาไว้ด้วยดี และเพื่อให้มนุษย์มีสติมั่นคง สามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้ ป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะวิวาทและทำร้ายกัน ป้องกันสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตมิให้เสื่อม ป้องกันอาชญากรรม มิจฉาชีพ หรือการทำทุจริตต่างๆ และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้ -
วิรัติ: เครื่องบ่งชี้ว่ามีศีล
การรักษาศีล นั้นกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เจตนางดเว้นจาก การประพฤติกายทุจริต และวจีทุจริต หรือการตั้งใจไม่ทำความชั่วไม่ทำความผิดทั้งกา และวาจานั่นเอง เป็นเรื่องที่เกิดจากมโนกรรม คือ เจตนาที่มีความตั้งใจงดเว้น ตั้งใจเว้น ตั้งใจไม่ทำชั่วอันเป็นข้อห้ามแต่ละข้อ ดังนั้น การรักษาศีลที่เป็นกุศลกรรมอย่างแท้จริงจึงต้องมีเจตนาความตั้งใจกำกับไว้ เสมอ ไม่ใช่เพราะมีเหตุอื่นมาบังคับตนไม่ให้ทำความชั่วความผิดนั้น หากแต่ที่ไม่ทำนั้น ก็เพราะตนเองได้ตั้งใจไว้ว่าจะงดเว้น
เจตนาดังกล่าวนี้ เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดในจิตและมีอิทธิพลส่งผลสนับสนุนการรักษาศีลของคนเรา ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยมิให้ขาด มิให้ทะลุด่างพร้อย ซึ่งมีศัพท์บัญญัติเรียกในภาษาบาลีว่า วิรติ (วิระติ) หรือเรียกในภาษาไทยว่า วิรัติ (วิ-รัด) แปลว่า ความงดเว้น หมายถึงเจตนาความตั้งใจในการที่จะงดเว้นจากข้อห้ามนั้นๆ หรือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากพฤติกรรมที่ทุจริตหรือความประพฤติชั่วทางกาย และวาจา มี ๓ ลักษณะ คือ
๑) สัมปัตตวิรัติ ความงดเว้นสิ่งที่ประจวบเฉพาะหน้า
๒) สมาทานวิรัติ ความงดเว้นด้วยการสมาทาน
๓) สมุจเฉทวิรัติ ความงดเว้นด้วยตัดขาด
แต่ละลักษณะมีอธิบายเสริมความ ดังนี้
๑) สัมปัตตวิรัติ ความงดเว้นสิ่งที่ประจวบเฉพาะหน้า หมายถึงการงดเว้นไม่ทำ ไม่ล่วงละเมิดโดยมีมิได้ตั้งใจไว้ก่อน การงดเว้นเมื่อประสบอารมณ์ที่จะทำให้ล่วงละเมิดศีล ซึ่งซึ่งหน้า หรือการงดเว้นไม่ทำได้ทั้งที่ประจวบโอกาสหรือมีโอกาสทำ คือ ไม่ได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน ไม่ได้สมาทานศีลหรือสิกขาบทไว้เลย แต่เมื่อประสบเหตุที่จะทำชั่ว นึกคิดพิจารณาขึ้นได้ในขณะนั้นว่าตนมีชาติตระกูล วัย หรือคุณวุฒิอย่างนี้ๆ ไม่สมควรกระทำกรรมชั่วเช่นนั้นแล้วงดเว้นเสียได้ ไม่ทำผิด คือ ไม่ล่วงละเมิดศีล หรือกล่าวเป็นรูปธรรมให้เห็นชัดเจน เช่น คนเราเมื่อเดินไปพบสัตว์ที่เป็นอาหาร ซึ่งตนสามารถจะฆ่าได้ง่ายๆ แต่ไม่ฆ่า หรือพบทรัพย์สินของผู้อื่นตกอยู่ในที่ที่ตนอาจหยิบฉวยเอาได้ แต่ก็ไม่หยิบเอา หรือมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดสองต่อสอง กับ คู่ครองสามีภรรยาของผู้อื่น ที่หล่อสวย ยั่วยวนชวนให้เกิดอารมณ์เพศ แต่ก็ยับยั้งชั่งใจได้ ไม่ทำตามอารมณ์ปรารถนาทางเพศนั้น เป็นต้น เช่นนี้ แม้ว่าตนจะไม่ได้ปฏิญาณสมาทานไว้ก่อน ว่าจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ก็งดเว้นได้ด้วยมีสติสัมปชัญญะและหิริโอตตัปปะ ความสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนและความละอายใจเกิดความเกรงกลัวต่อผลของบาป ทุจริตนั้นๆ เช่นนี้ เรียกว่า มีสัมปัตตวิรัติ จัดเป็นวิรัติที่เกิดขึ้นได้แก่สาธุชนคนดีทั่วไป
๒) สมาทานวิรัติ ความงดเว้นด้วยการสมาทาน หมายถึงการงดเว้นโดยการตั้งใจ และปฏิญาณไว้ก่อน คือตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้เข้าพิธีรับศีลสมาทานสิกขาบทไว้แล้วก็งดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น เช่น ไม่พูดเท็จ พูดโกหก เพราะได้รับศีลข้อมุสาวาทาเวรมณีไว้ก่อนแล้ว เป็นต้น จัดเป็นวิรัติของภิกษุ-สามเณร-สามเณรี และอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งสมาทานรักษาศีลอยู่เสมอ โดยในคำสมาทานศีลนั้นจะมีคำว่า เวรมณี ที่แปลว่า เจตนางดเว้น ปรากฏอยู่ทุกสิกขาบท ดังเช่นคำสมาทานสิกขาบทข้อที่ ๑ ว่า ปาณาติปาตา เวรมณีสิกขาปทํ สมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งคำว่า เวรมณี ในคำสมาทานศีลนี้ ก็คือวิรัติที่เรียกว่า สมาทานวิรัติ นี้นั่นเอง
๓) สมุจเฉทวิรัติ ความงดเว้นด้วยตัดได้ขาด หรือ เสตุฆาตวิรัติ การงดเว้นดุจชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว หมายถึงความงดเว้นได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือ เป็นผู้มีจิตใจสูงเกินกว่าจะคิดทำความชั่วนั้นๆ หรือมีสภาพจิตที่งดเว้นโดยอัตโนมัติ โดยงดเว้นได้อย่างหมดสิ้น เพราะเห็นโทษอย่างประจักษ์ชัด ได้แก่ การงดเว้นความชั่วทั้งปวงของพระอริยบุคคลทั้งหลาย อันประกอบด้วยอริยมรรค ซึ่ง่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่สามารถขจัดกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่ว นั้นๆ ได้หมดสิ้นเด็ดขาดแล้ว โดยไม่เกิดมีแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นอีกต่อไป
ในกรณีคนที่ชอบเสพสุราเป็นอาจิณ แต่ต่อมาถูกแพทย์สั่งให้งดเสพเพราะจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ถึงอาจเสียชีวิต จึงงดเว้นไม่เสพสุราอีกต่อไปด้วยความจำเป็น ลักษณะอย่างนี้ไม่จัดเป็นจัดเป็นสมุจเฉทวิรัติ เพราะจิตใจของเขายังมีความปรารถนาอยากจะเสพอยู่ แต่ผู้ที่เว้นถึงขั้นสมุจเฉทวิรัตินั้น จะไม่มีความรู้สึกปรารถนาอยากเสพเช่นนั้นเหลืออยู่เลย เพราะละเลิกได้เด็ดขาดแล้ว
ดังนั้น ในการรักษาเบญจศีล วิรัติ ๒ ลักษณะแรกยังไม่อาจวางใจได้แน่นอน อาจกำเริบเสิบสานขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ ส่วนวิรัติข้อที่ ๓ นับเป็นอันวางใจได้แน่นอน ไม่มีวันที่จะกำเริบขึ้นได้ จัดเป็นวิรัติของพระอริยบุคคลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา -
ความหมาย และขอบ่เขตของศีล ๕ และศีลจำพวกเดียวกันนั้น ที่จำกันไว้ มักว่าตามที่อธิบายสืบๆ กันมาในขั้นหลัง ในที่นี้ จึงขอนำพุทธพจน์มาแสดงให้พิจารณา
"คหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายสำหรับน้อมเข้ามาเทียบตัว....
๑) อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเองอยากมีชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ถ้าใครจะปลงชีวิตเรา ผู้อยากอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะปลงชีวิตคนอื่น ผู้อยากอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน
สิ่งใดตัวเราเองไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ ถึงคนอื่นเขาก็ไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ เหมือนกัน สิ่งใด ตัวเราเองก็ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไฉนจะพึงเอาไปผูกใส่คนอื่นเล่า
อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วยตนเองด้วย ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามด้านอย่างนี้
๒) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ถ้าใครจะถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วย อาการขโมย ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะถือเอาของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน
๓) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะประพฤติผิดในภรรยาของ เรา ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าใครจะประพฤติผิดในภรรยาของคนอื่น ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน
๔) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าใครจะทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน...
๕) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วย คำส่อเสียด ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าใครจะยุยงคนอื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน...
๖) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะพูดจากะเราด้วยคำหยาบ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะพูดจากะคนอื่นด้วยคำหยาบ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน.
๗) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะพูดจากะเราด้วยคำเพ้อเจ้อ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะพูดจากะคนอื่นด้วยคำเพ้อเจ้อ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน,
สิ่งใด ตัวเราเองก็ไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ ถึงคนอื่นเขาก็ไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ เหมือนกัน สิ่งใดตัวเราเองก็ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไฉนจะพึงเอาไปผูกใส่ให้คนอื่นเล่า
อริยสาวกนัน พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วยตนเองด้วย ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วยตนเองด้วย ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามด้านอย่างนี้" (สํ.ม.๑๙/๑๔๕-๑๔๖๕/๔๔๒-๖)
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจว่าอย่างไร เธอทั้งหลาย เคยได้เห็น หรือได้ยินบ้างไหมว่า บุรุษนี้ละปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว พระราชาทั้งหลายจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะการงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นเหตุ อย่างนี้ เธอทั้งหลาย เคยเห็น หรือเคยได้ยินบ้างไหม?
“ไม่เคยเลยพระเจ้าข้า”
“ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยิน...มีแต่เขาจะประกาศการกระทำชั่วว่า คนผู้นี้ฆ่าหญิง หรือ ชายตาย พระ ราชาทั้งหลายจึงจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ อย่างนี้ เธอทั้งหลายเคยเห็น หรือเคยได้ยินบ้างไหม?
“เคยเห็น เคยได้ยิน และจักได้ยินต่อไปด้วย พระเจ้าข้า”
“ภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจว่าอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็น หรือได้ยินบ้างไหมว่า (บุรุษผู้นี้ ละอทินนาทาน เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทานแล้ว....จากกาเมสุมิจฉาจารแล้ว....จากมุสาวาท แล้ว...จากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานแล้ว) พระราชาทั้งหลาย จับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะการเว้นจากอทินนาทาน....จากกาเมสุมิจฉาจาร....จากมุสาวาท...จากสุรา เมรยมัชชปมาทัฏฐานเป็นเหตุ”
“ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า”
“ถูก แล้ว ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน...มีแต่เขาจะประกาศการกระทำชั่วว่า คนผู้นี้ลักทรัพย์เขามาจากบ้าน หรือจากป่า...คนผู้นี้ประพฤติละเมิดในสตรี หรือในบุตรีของผู้อื่น....คนผู้นี้ทำลายประโยชน์ของชาวบ้าน หรือลูกชาวบ้าน ด้วยการกล่าวเท็จ....คนผู้นี้ร่ำสุราเมรัยฯ แล้วฆ่าหญิง หรือ ชายตาย ....คน ผู้นี้ร่ำสุราเมรัย ฯ แล้วลักทรัพย์เขาจากบ้านหรือจากป่า... .คนผู้นี้ร่ำสุราเมรัยฯ แล้วประพฤติละเมิดในสตรี หรือบุตรีของผู้อื่น... .คนผู้นี้ร่ำสุราเมรัยฯ แล้วทำลายประโยชน์ของชาวบ้าน หรือลูกชาวบ้าน ด้วยการกล่าวเท็จ พระราชาทั้งหลาย จึงจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะอทินนาทาน....กาเมสุมิจฉาจาร...มุสาวาท...สุราเมรัยฯ เป็นเหตุ อย่างนี้เธอทั้งหลาย เคยเห็น หรือเคยได้ยินบ้างไหม?"
“เคยเห็น เคยได้ยิน และจักได้ยินต่อไปด้วย พระเจ้าข้า"
อาชญากรรมที่ร้ายแรงแทบทั้งหมด เป็นเรื่องของการละเมิดศีล ๕ ในสังคมที่มากด้วยการสังหารผลาญชีวิต การปองร้าย การทำร้ายกัน การลักขโมย ปล้นแย่งชิง การทำความผิดทางเพศ มีคดีฆาตกรรม โจรกรรมการ ข่มขืน หลอกลวง การเสพของมึนเมา และสิ่งเสพติด ตลอดจนการก่อปัญหา และอุบัติเหตุต่างๆ เนื่องมาจากของมึนเมา และสิ่งเสพติดเหล่านั้น ระบาดแพร่พลายทั่วไป ชีวิต และทรัพย์สินไม่ปลอดภัย จะอยู่ไหนหรือไปที่ไหน ก็ไม่มีความมั่นใจ เต็มไปด้วยความห่วงใย วิตกกังวล จิตใจหวาดผวาบ่อย ๆ ผู้คนพบเห็นกัน แทนที่จะอบอุ่นใจ ก็หวาดระแวงกันอยู่กันไม่เป็นปกติสุข สุขภาพจิตของประชาชน ย่อมเสื่อมโทรม ยากที่จะพัฒนาคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต
ในเวลาเดียวกัน สังคมเช่นนั้น ก็ไม่เป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และการพัฒนาใดๆ เพราะมัววุ่นวายระส่ำระสาย ยุ่งแต่กับการแก้ปัญหา และมีแต่กิจกรรมที่บ่อนทำลายสังคมให้เสื่อมโทรมลงไป
โดยนัยนี้ การขาดศีล ๕ จะเนื่องมาจากเหตุใดก็ตาม จึงเป็นมาตรฐานวัดความเสื่อมโทรมของสังคม ส่วนสภาพพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตที่ตรงข้ามจากนี้นั่นแหละ คือ การมีศีล ๕
ดังนั้น ศีล ๕ จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่ำที่สุดของความประพฤติ มนุษย์ สำหรับรักษาสภาพแวดล้อมทางสังคม ให้อยู่ในภาวะเกื้อกูล เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และการพัฒนาที่สูงขึ้นไป
พระอรรถกถาจารย์ ได้ประมวลหลักเกณฑ์บางอย่างไว้ สำหรับกำหนดว่า การกระทำแค่ไหนเพียงใด จึงจะชื่อว่าเป็นการละเมิดศีลแต่ละข้อๆ เป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้รักษาศีล โดยจัดวางเป็นองค์ประกอบของการละเมิด เรียกว่าสัมภาระ หรือเรียกง่ายๆว่า “องค์" (ก่อนหน้า)
สำหรับศีลข้อ 1 คือ เว้นปาณาติบาตนั้น แม้ว่า การฆ่าสัตว์จะมุ่งเอาสัตว์ที่เรียกว่า มนุษย์เป็น หลัก ดังพุทธพจน์ ที่ยกมาแสดงแล้ว แต่สัตว์จำพวกที่เรียกว่า ดิรัจฉาน ก็รักชีวิต รักสุขเกลียดทุกข์ เป็นเพื่อนร่วมโลก เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ไม่ควรเบียดเบียนเช่นเดียวกัน ศีลข้อ นี้ ท่านจึงให้แผ่คลุมไปถึงสัตว์จำพวกดิรัจฉานด้วย แต่ยอมรับ ว่า การฆ่าสัตว์จำพวกดิรัจฉาน มีโทษน้อยกว่าการฆ่าสัตว์จำพวกมนุษย์ -
การศึกษาพุทธธรรม เบื้องต้นควรศึกษาจากคัมภีร์พระศาสนาให้ถูกต้องเสียก่อน เมื่อเข้าใจถูกถ้วน เราก็จดจำแต่สิ่งถูกต้องไว้ในใจ แต่ถ้าเอาแต่จำๆกันมาจากคนนั้นพูดที คนนี้พูดคำ ก็เละเป็นโจ๊ก
ขอถาม คุณที่ใช้ชื่อว่า YKW ว่า คุณเคยฆ่ามนุษย์จนถึงแก่ชีวิตมั้ย ? -
ขณะคำตอบจากผู้ใช้ชื่อ Ykw
ลงอุโบสถศีลต่อ
หลักอุโบสถศีล
ความหมายและประเภทของอุโบสถ
.คำว่า อุโบสถ (อ่านว่า อุ โบ สด เขียนตามคำบาลีว่า อุโปสถะ) เป็นศัพท์บัญญัติทางพระพุทธศาสนา แยกกล่าวเป็น ๒ ประเภท คือ
๑) อุโบสถสำหรับภิกษุสงฆ์ คือการสวดปาติโมกข์ของพระภิกษุสงฆ์ทุกครึ่งเดือน คือ ทุกวันจันทร์เพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับแรม ๑๕ หรือแรม ๑๔ ค่ำ เมื่อเดือนขาด (๒๙ วันในเดือนคี่) โดยเรียกการประชุมสวดปาติโมกข์นี้ว่า การทำอุโบสถ (อุโบสถกรรม หรือเรียกว่า สังฆอุโบสถ) เพื่อเป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์บริบูรณ์ทางพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของพระภิกษุสงฆ์ด้วยเป็นพระพุทธบัญญัติ คือ คือ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์ถือปฏิบัติ และจัดเป็น อธิศีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติชั้นสูง ได้แก่ ปาติโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่อนุญาต โดยจัดเป็นศีลที่ยิ่งกว่า สูงกว่า ดีเลิศประเสริฐกว่าศีลทั่วไป เพราะนอกจากพระพุทธเจ้าแล้วไม่มีใครสามารถบัญญัติได้
๒) อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ แปลว่า การอยู่จำ การเข้าจำ หมายถึงการรักษาศีล ๘ และบำเพ็ญบุญกุศลข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่สมควร มีการฟังธรรมเทศนา เป็นต้น ของคฤหัสถ์ อันมีลักษณะเป็นการอยู่จำ คือ หยุดประกอบภารกิจการงานของฆราวาส ผู้ครองเรือน เช่น หยุดการทำนาทำไร่ เป็นต้น ไว้ชั่วคราว เพื่อตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำความดีพิเศษตามหลักพระพุทธศาสนาในการที่กำหนด คือ วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ (หรือแรม ๑๕ ค่ำ)
อุโบสถ ที่จะกล่าวรายละเอียดในที่นี้ คือ อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเรื่องของกุศลกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ คือ อุบาสกอุบาสิกา เรียกเต็มว่า อัฏฐังคิกอุโบสถ อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หรือ ศีล ๘ ข้อ (อัฏศีล) คือศีลที่กำหนดรักษาเป็นพิเศษเฉพาะคราวของคฤหัสถ์ เพื่อฝึกควบคุมกาย และวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นอุบายขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบางและเป็นทางแห่งความสงบระงับอันเป็นความสุขอย่างสูง ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น ซึ่งเรียกการรักษาศีล ๘ ของพวกคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถศีล ซึ่งจัดเป็นบุญสิกขา ประการที่ ๒ ในบุญสิกขา ๓ ที่พุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ คืออุบาสกอุบาสิกาพึงศรัทธานิยมหาโอกาสประพฤติปฏิบัติให้ได้สักครั้งสองครั้งในช่วงชีวิตของตน -
-
(อุโบสถศีลต่อ)
ความเป็นมาของอุโบสถศีล
อุโบสถศีลนั้น ได้มีการปฏิบัติกันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงว่าเป็นเรื่องที่คนในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าของเราเสด็จอุบัติตรัสรู้ได้ประพฤติกันมาก่อนแล้ว เพราะถือกันว่าเป็นเรื่องหยุดพักประชุมปรึกษาหารือกันหรือประชุมทำความดี ดังมีหลักฐานเรื่องเล่าถึงความเป็นมาที่ปรากฏในคัมภีร์อุโปสถขันธกะ แห่งพระวินัยปิฎก มหาวรรค ปฐมภาค (พระไตรปิฎกเล่าที่ ๔) ความว่า
สมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฎ เขตกรุงราชคฤห์ พวกปริพาชก คือ พวกนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาลัทธิหนึ่ง ประชุมกล่าวธรรมกันทุกวัน วันขึ้น-แรม ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ มีคนจำนวนมากไปฟังธรรมของพวกเขา แล้วเลื่อมใสขอบวชเป็นสาวกของปริพาชกเหล่านั้น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธ ได้ทราบเรื่องนั้น จึงดำริว่า แม้พระภิกษุสงฆ์ก็สมควรจะประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นแล้วเสด็จกลับ พระพุทธองค์จึงเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมกันในวัน ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ ” ต่อมา พระภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันตามพุทธดำรัส แต่นั่งอยู่เฉยๆ ชาวบ้านมาเพื่อจะฟังธรรมก็ไม่พูดด้วย พระภิกษุเหล่านั้น จึงถูกติเตียนข่อนขอดว่าเหมือนพวกสุกรใบ้ ความทราบถึงพระพุทธองค์ จึงตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ พระภิกษุสงฆ์ จึงปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสตรัสอนุญาตนับแต่นั้นมา
ในอดีตกาล ครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ (ผู้บำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ก็ได้เคยตั้งจิตอธิษฐานรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัดถึงขั้นเสียชีวิต และได้รับผลแหงการรักษาอุโบสถนี้มาแล้ว ดังที่พระองค์ตรัสเป็นเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาคัคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต (คัมภีร์อรรถกถาชาดก ที่ขยายความคัมภีร์ชาดก พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๗) ซึ่งในที่นี้ นำมากล่าวโดยสรุปความว่า
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตะวัน ตรัสเรียกพวกคนที่รักษาอุโบสถมาแล้วตรัสว่า “พวกเธอทั้งหลาย ทำความดีแล้ว ที่รักษาอุโบสถ พวกเธอผู้รักษาอุโบสถ ควรให้ทาน รักษาศีล ไม่ควรทำความโกรธ ควรเจริญเมตตาภาวนา ควรอยู่จำอุโบสถให้ครบเวลา เพราะว่าบัณฑิตในปางก่อนอาศัยอุโบสถเพียงกึ่งเดือน ยังได้ยศใหญ่มาแล้ว” พวกอุบาสกอุบาสิกา ที่รักษาอุโบสถฟังเช่นนั้นแล้ว จึงพากันกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนั้นโดยพิสดาร ให้ฟังเป็นทิฏฐานุคติ (แบบอย่างแหงการประพฤติดีที่เห็นชัดเจน) พระพุทธองค์จึงนำนิทานชาดกมาเล่าว่า
ในอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีทรัพย์มาก มีบริวารจิตใจสะอาด ชอบทำบุญ บริจาคทานเป็นประจำ ส่วนภรรยา บุตรธิดา และบริวารชน แม้กระทั่งคนเลี้ยงโคของเศรษฐีนั้น ก็ล้วนเป็นผู้จำอุโบสถศีล เดือนละ ๖ วัน ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในครอบครัวคนยากจน มีอาชีพรับจ้าง อยู่อัตคัดขัดสน วันหนึ่ง ได้เข้าไปยังบ้านของเศรษฐีนั้น เพื่อขอทำงาน เศรษฐีนั้น บอกเงื่อนไขว่า “ทุกคนในบ้านนี้ ล้วนแต่เป็นผู้รักษาศีลอุโบสถ ถ้าเธอสามารถรักษาอุโบสถศีลได้ ก็ทำงานได้” ด้วยความมุ่งแต่จะทำงาน ชายโพธิสัตว์ จึงยอมรักษาศีลอุโบสถ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่า ศีล นั้น คืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร เมื่อทำงานในแต่ละวัน ก็ตั้งใจทำงานแบบถวายชีวิต เป็นคนว่าง่าย ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก ตื่นก่อนนอนทีหลังเจ้านายเสมอ
ต่อมาวันหนึ่ง มีมหรสพในเมือง เศรษฐีเรียกสาวใช้นางหนึ่งมาสั่งว่า “วันนี้ เป็นวันอุโบสถ เธอจงหุงอาหารให้คนงานแต่เช้าตรู่ พวกเขารับประทานอาหารแล้วจะได้รักษาอุโบสถกัน” ฝ่ายชายโพธิสัตว์ตื่นนอนแล้ว ได้ออกไปทำงานแต่เช้ามืด ไม่มีใครบอกว่าวันนั้น เป็นวันอุโบสถ คนทั้งหมดรับประทานอาหารเช้าแล้ว ต่างรักษาอุโบสถกัน แม้เศรษฐี พร้อมภรรยาและบุตรธิดาก็ได้อธิษฐานอุโบสถ ต่างไปยังที่อยู่ของตน แล้วนั่งนึกถึงศีลของตนอยู่
ชายโพธิสัตว์นั้นทำงานตลอดวัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จึงได้กลับมาที่พัก แม่ครัวนำอาหารไปให้ เขารู้สึกแปลกใจ จึงถามว่า “ในวันอื่นๆ เวลานี้มีเสียงดัง วันนี้ คนเหล่านั้นไปไหนกันหมด” ครั้นรู้ว่าทุกคนสมาทานอุโบสถศีล ต่างอยู่ในที่ของตน จึงคิดว่า “เราคนเดียวไม่มีศีลอยู่ในท่ามกลางของพวกคนผู้มีศีล อยู่ได้อย่างไร เราะอธิษฐานอุโบสถศีลในตอนนี้ จะได้หรือไม่หนอ” เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงเข้าไปถามเศรษฐี ได้รับคำตอบว่า “เมื่อรักษาอุโบสถศีลตอนนี้ จะได้อุโบสถศีลครึ่งเดียว เพราะไม่ได้อธิษฐานแต่เช้า” ชายโพธิสัตว์บอกว่า “ครึ่งเดียวก็ได้ครับ” จึงสมาทานอุโบสถศีล กับ เศรษฐี อธิษฐานอุโบสถแล้วเข้าไปยังที่อยู่ของตน นอนนึกถึงศีล ในปัจฉิมยาม หิวอาหารจนเป็นลม เพราะยังไม่ได้กินอาหารอะไรเลยตลอดทั้งวัน เศรษฐีนำเอาสิ่งต่างๆมาให้ ก็ไม่ยอมกิน ยอมตาย แต่ไม่ยอมเสียศีล
ในขณะที่ใกล้จะตาย พระเจ้าพาราณสีเสด็จประพาสพระนครมาถึงที่นั้น ชายโพธิสัตว์ได้เห็นพระสิริแห่งพระเจ้าแผ่นดิน จึงปรารถนาราชสมบัติ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของอัครมเหสีแห่งพระเจ้าพาราณสีนั้น เพราะผลแห่งอุโบสถกรรมครึ่งหนึ่ง ครั้นประสูติแล้วได้รับการตั้งชื่อว่า “อุทัยกุมาร” ครั้นเจริญวัยต่อมา ได้เสด็จครองสิริราชสมบัติในกรุงพาราณสีสมดังปรารถนา
จากข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ดังกล่าวโดยสรุปนี้ชี้ชัดว่า อุโบสถศีลนั้น มีการปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว และเป็นชื่อขอวันที่นักบวชเจ้าลัทธินั้นๆกำหนดไว้เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมตามลัทธิของตนด้วยการงอาหาร กาลต่อมา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จอุบัติแล้ว จึงบัญญัติอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ พร้อมทั้งสรณคมน์ ดังนั้น จึงกำหนดอุโบสถตามกาลได้ ๒ ประเภท คือ
๑) อุโบสถนอกพุทธกาล ได้แก่ การเข้าจำศีลด้วยการงดอาหารตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว ในวันที่กำหนดเป็นวันอุโบสถ
๒) อุโบสถสมัยพุทธกาล ได้แก่ อุโบสถที่เป็นพุทธบัญญัติ อันประกอบด้วยสรณคมน์ และองค์ศีล ๘ มีปาณาติปาตา เวรมณี (เจตนางดเว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง) เป็นต้น คือต้องตั้งอยู่ในสรณคมน์ก่อนแล้วจึงรักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีล
อุโบสถศีล การอยู่จำรักษาองค์ ๘ หรือเรียกกันว่า การรักษาศีล ๘ นั้น จัดเป็นอุโบสถสมัยพุทธกาล คือ ได้แบบอย่างมาจากการที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมกล่าวธรรมกันในวันอุโบสถ พวกอุบาสกอุบาสิกาที่นำปัจจัยไปบำรุงพระภิกษุสงฆ์ในวัดและได้ฟังธรรมเทศนาเป็นประจำ จึงกำหนดทำความดีพิเศษด้วยการสมาทานรักษาศีล ๘ เป็นอุโบสถของคฤหัสถ์นับแต่ครั้งพุทธกาลนั้นมา -
ขณะรอคำตอบจาก YKW ลองอุโบสถศีลต่อ
อุโบสถศีลเป็นวงศ์ปฏิบัติของโบราณบัณฑิต
อุโบสถศีลนี้ เป็นวงศ์ปฏิบัติของโบราณบัณฑิต คือ เป็นหลักความประพฤติที่นักปราชญ์ในสมัยก่อนๆ เช่น ดาบสโพธิสัตว์ เป็นต้น รักษาสืบเนื่องกันมาจนเป็นวงศ์ประเพณีปฏิบัติที่แพร่หาย ท่านเหล่านั้น ได้เข้าจำอุโบสถเพื่อข่มกิเลสมีราคะ เป็นต้น แม้สัตว์ทั้งหลาย ในยุคสมัยก่อนๆ ก็สมาทานรักษาอุโบสถนี้เช่นกัน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเป็นเรื่องเล่าไว้ปรากฏในปัญจุโปสถิกชาดก ปกิณณกนิบาตร แห่งคัมภีร์ชาดกขุททกนิกาย (พระไตรปิฎกเล่มที่๒๗) ซึ่งทรงแสดงเหตุที่สัตว์ทั้งสี่และพระโพธิสัตว์ รักษาศีลอุโบสถไว้ โดยพระอรรถกถาจารย์ได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ในคัมภีร์อรรถกถาชาดก มีใจความโดยสรุปว่า
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์ท่ามกลางบริษัท ๔ ในธรรมสภาพ ทอดพระเนตรดูบริษัท ๔ นั้น ด้วยจิตใจอ่อนโยน ทราบว่า วันนี้เทศนาจะเกิดขึ้นเพราะอาศัยถ้อยคำของพวกอุบาสก-อุบาสิกา จึงตรัสเรียกพวกเขามาถามว่า “ท่านทั้งหลายกำลังรักษาอุโบสถกันหรือ” เมื่อพวกอุบาสก-อุบาสิกา ตอบว่า “พระพุทธเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “พวกท่านทำดีแล้ว ชื่อว่าอุโบสถนี้เป็นแห่งโบราณบัณฑิต เพราะว่าโบราณบัณฑิตทั้งหลายได้อยู่จำอุโบสถเพื่อข่มกิเลสมีราคะ เป็นต้น” เมื่อพวกอุบาสก-อุบาสิกาเหล่านั้น วิงวอนให้ตรัสเล่าเรื่องนั้น จึงนำนิทานชาดกมาเล่าดังนี้
ในอดีตกาล มีสถานที่เป็นป่าน่ารื่นรมย์ยิ่งแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ระหว่างแคว้นทั้งสามมีแคว้นมคธ เป็นต้น พระโพธิสัตว์ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล (มีฐานะมั่งคั่ง) ในแคว้นมคธ เจริญวัยแล้วได้สละชีวิตครองเรือนออกไปอยู่ที่ป่านั้น โดยสร้างอาศรม บวชเป็นดาบส (ฤๅษี) และในที่ไม่ห่างจากอาศรมของดาบสโพธิสัตว์นั้น มีนกพิราบสองตัวผัวเมียอยู่ที่ป่าไผ่แห่งหนึ่ง งูตัวหนึ่ง อยู่ที่จอมปลวก สุนัขจิ้งจอกอยู่ที่พุ่มไม้ หมีอยู่ที่พุ่มไม้อีกแห่งหนึ่ง สัตว์ทั้งสี่นั้นเข้าไปหาดาบสโพธิสัตว์แล้วฟังธรรมตามเวลาอันสมควร พร้อมทั้งสมาทานรักษาอุโบสถศีล อยู่มาวันหนึ่ง ดาบสโพธิสัตว์ ได้ถามสัตว์ทั้งสี่ถึงเหตุผลที่รักษาอุโบสถศีลนั้นทีละตัวๆ ซึ่งสัตว์แต่ละตัวก็ตอบไปตามเหตุผลของตน โดยสรุปได้ว่า รักษาอุโบสถศีล ก็เพื่อข่ม คือ ระงับกิเลสมีราคะ ความกำหนัดรักใคร่ เป็นต้น ดังข้อความถาม ตอบกันต่อไปนี้
ดาบสโพธิสัตว์ถามนกพิราบว่า “เจ้านกพิราบ เดี๋ยวนี้ดูเจ้านิ่งเฉย ไม่อยากกินอาหาร ยอมทนหิวกระหาย เพราะเหตุไรเล่า เจ้าจึงมารักษาอุโบสถศีล”
นกพิราบกล่าวตอบว่า “ท่านดาบส ก่อนนี้ ตัวข้านั้นครองรักสุขภิรมย์อยู่กับนางนกพิราบในป่า แต่แล้ววันหนึ่ง ได้มีเหยี่ยวมาเฉี่ยวโฉบเอานางนกพิราบเมียรักของข้าไป ทำให้ข้าซึ่งไม่อยากจะพลัดพรากจากนางนกพิราบ ได้รับความระทมทุกข์ใจอย่างสุดแสบ ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล เพราะมุ่งหมายว่า ความรักอย่าได้หวนกลับมาหาเราอีกเลย”
ดาบสโพธิสัตว์ถามงูว่า “เจ้างูผู้ไปคดเคี้ยว เลื้อยไปด้วยอก มีลิ้นสองแฉก เจ้ามีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษร้ายแรง แต่เพราะเหตุอะไรเล่า เจ้าจึงสู้อุตส่าห์อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถศีล”
งูกล่าวตอบว่า “ท่านดาบส มีโคของผู้นำชุมชนตัวหนึ่งกำลังเปลี่ยว หนอกกระเพื่อม รูปทรงสง่า ท่าทางแข็งแรง มันได้เหยียบตัวข้า ทำให้ข้าโกรธ จึงได้กัดมัน มันได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จึงถึงความตายในทันที จากนั้น ผู้คนก็พากันออกมาจากบ้าน ร้องไห้ค่ำครวญเข้าไปหามัน ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล เพราะตั้งใจวา ความโกรธอย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”
ดาบสโพธิสัตว์ถามสุนัขจิ้งจอกว่า “เจ้าสุนัขจิ้งจอก เนื้อของคนที่ตายในป่าช้าก็มีอยู่เป็นอันมาก อาหารชนิดนี้เป็นที่พึงพอใจของเจ้า เพราะเหตุอะไรเล่า เจ้าจึงสู้อุตส่าห์อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถศีล”
สุนัขจิ้งจอกตอบว่า “ตัวข้าชอบกินซากศพ ติดใจรสเนื้อช้าง จึงได้เข้าไปยังท้องช้างตัวใหญ่ ลมร้อน และแสงแดดอันแรงกล้าได้แผดเผาทวารหนักของช้างนั้นจนแห่งไป ท่านดาบสที่เคารพ ข้าทนอยู่ในท้องช้าง มีตัวซูบผอมเหลือง ไม่มีทีท่าจะออกมาได้ แต่แล้วก็มีฝนห่าใหญ่ตกลงมาอย่างแรง ชุทวารหนักของข้างนั้นจนเปียกชุ่ม ข้าจึงออกมาได้ รู้สึกปลอดโปร่งเหมือนกับดวงจันทร์หลุดพ้นจากปากราหูก็มิปาน ดังนั้น ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล ด้วยตั้งใจวา ความโลภอย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”
ดาบสโพธิสัตว์ถามหมีว่า “เจ้าหนี ก่อนหน้านี้ เจ้าตะปบกินตัวปลวกที่จอมปลวก เพราะเหตุไรเล่า เจ้าจึงสู้อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถศีล”
หมีตอบว่า “ตัวข้าดูหมิ่นถิ่นที่เคยอยู่ของตัวเอง ได้ไปยังหมู่บ้านชายแดน แคว้นมลรัฐ เพราะอยากมากเกินไป ณ ที่นั้น ผู้คนได้พากันออกจากบ้านมารุมทำร้ายข้าด้วยคันธนู ทำให้ข้ามีหัวแตก เลือดอาบร่าง ข้าจึงกลับมาสู่ถิ่นที่เคยอยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล ด้วยตั้งใจวา ความอยากมากเกินไป อย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”
สัตว์ทั้งสี่ตัวได้พากันถามดาบสโพธิสัตว์บ้างว่า “ท่านดาบสที่เคารพ ข้อความที่ท่านถาม พวกเราทั้งหมดก็ได้ตอบตามประสบการณ์ที่ได้รู้เห็นมา เอาละพวกเราจะขอถามท่านบ้าง เพราะเหตุไรเล่า ท่านจึงรักษาอุโบสถศีล”
ดาบสโพธิสัตว์ได้ตอบว่า “มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ไม่แปดเปื้อนกิเลสนั่งอยู่ในอาศรมของเราครู่หนึ่ง ท่านบอกให้เราทราบถึงที่ไป ที่มา นาม โคตร และข้อวัตรปฏิบัติทุกอย่าง ถึงอย่างนั้น เราก็มิได้กราบไหว้เท้าของท่าน ทั้งมิได้ถามถึงนามและโคตรของท่านเลย หลังจากที่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นจากไปแล้ว เราเกิดความสลดใจ คิดว่าพระสมณะนี้มีร่างกายหนัก แต่เหาะไปเหมือนปุยนุ่นที่ถูกลมพัด เราไม่ไหว้ท่าน ไม่ถามท่านด้วยความเย่อหยิ่ง เพราะชาติกำเนิด การถือชาติชั้นวรรณะไม่มีสาระประโยชน์ใดเลย การประพฤติศีลเท่านั้นเป็นคุณยิ่งใหญ่ในโลกนี้ เจ้ามานะ ความถือตัวของเรานี้ เมื่อถือหนักขึ้น มีแต่จะนำเราไปสู่นรก ถ้าเรายังข่มมานะนี้ไม่ได้ เราจะไม่ไปหาผลไม้ต่างๆมาฉัน จึงเข้าสู่บรรณศาลาที่มุงบังด้วยใบไม้ สมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มมานะนั้นให้ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงรักษาอุโบสถศีล เพราะตั้งใจวา มานะความถือตัว อย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”
จากเรื่องเล่าในปัญจุโปสถิกชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า ความทุกข์และภัยอันตรายที่เกิดมีขึ้นแก่มนุษย์หรือแม้กระทั่งสัตว์เป็นส่วนตัวหรือสังคมส่วนรวมก็ตาม มักเกิดขึ้น เพราะความขาดศีลธรรม การไม่สมาทานรักษาศีล การแก้ไขความทุกข์และภัยอันตรายนั้น จึงควรแก้ด้วยหลักศีลธรรม ไม่ควรแก้ด้วยอำนาจกิเลส เพราะจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้มากกว้างขวางออกไปเป็นทวีคูณ
อันที่จริง การรักษาอุโบสถศีลโดยเนื้อแท้ก็คือ การสมาทานรักษาศีล ๘ อย่างเคร่งครัด เป็นเอกัชฌสมาทาน คือการสมาทานรักษาไม่ให้ขาดแม้ข้อใดข้อหนึ่ง มีความมั่นคงอยู่ด้วยความผูกใจตลอดกาลอุโบสถที่กำหนดสมาทานนั้น ซึ่งจะทำให้ผู้รักษาได้รับความสงบแห่งจิตใจอันจะทำให้เกิดปัญญามองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและระสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหมาย -
ยังรอคำตอบจาก YKW แต่รอไม่ไหว เลยลงอุโบสถศีลต่อ
ประเภทแห่งอุโบสถศีลตามวันที่กำหนดรักษา
เมื่อแบ่งตามวันที่กำหนดรักษา อุโบสถศีลมี ๓ ประเภท คือ
๑) ปกติอุโบสถ อุโบสถตามปกติ หมายถึงอุโบสถที่รักษาตามปกติชั่ววันหนึ่ง กับ คืนหนึ่งอย่างทุกวันนี้ ซึ่งนิยมรักษาเฉพาะในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ คือ แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ ในเดือนคี่
๒) ปฏิชาครอุโบสถ อุโบสถของผู้ตื่นอยู่ คือผู้ที่มีความกระตือรือร้นรีบเร่งบำเพ็ญบุญกุศล ไม่หลับใหลด้วยความประมาท ได้แก่ อุโบสถศีลที่กำหนดรักษาครั้งหนึ่งๆ ถึง ๓ วัน หรือครั้งละ ๓ วัน คือ รักษาในวันอุโบสถตามปกติ พร้อมทั้งวันหน้า และวันหลังของรักษานั้น ซึ่งเรียกว่า วันรับ และ วันส่งด้วย เช่น อุโบสถที่รักษาในวัน ๘ ค่ำ มีวัน ๗ ค่ำ เป็นวันรับ วัน ๙ ค่ำ เป็นวันส่ง ดังนี้ เป็นต้น
๓. ปาฏิหาริยอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตลอดปาฏิหาริยปักษ์ คือ อุโบสถศีลที่กำหนดระยะเวลารักษาเป็นพิเศษ โดยตั้งใจรักษาให้ตรงตามกำหนดเป็นประจำในแต่ละปี หมายความว่า ในแต่ละปี มีช่วงเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะที่จะรักษาอุโบสถเป็นกรณีพิเศษ กำหนดอย่างสามัญ ได้แก่ อุโบสถที่รักษาเป็นประจำตลอดเวลา ๓ เดือน ในพรรษา กำหนอย่างพิเศษ ได้แก่ อุโบสถที่รักษามาตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ถ้าไม่สามารถรักษาตลอด ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน จะรักษาเพียง ๑ เดือน ระหว่างวันปวารณาต้น คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ และวันปวารณาหลัง คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็จัดเป็น อุโบสถศีลที่รักษาตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ถ้าไม่สามารถรักษาเช่นนี้ แม้ อุโบสถศีลที่รักษาไว้ครึ่งเดือนนับแต่วันปวารณาต้น ก็จัดเป็นอุโบสถศีลที่รักษาตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ได้เช่นกัน
หน้า 1 ของ 2