ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ตอนที่ 76

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 26 ธันวาคม 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมมาสน์

    โดย ไต้ ตามทาง



    เค.อาร์. นอร์แมน (K.R. Norman) นายกสมาคมปาลีปกรณ์คนปัจจุบัน เห็นด้วยที่ว่า คำว่าปาลิมิใช่ชื่อของภาษา หากแต่เป็นตัว "พระไตรปิฎก" ของพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาท (ของฝ่ายอื่นไม่เรียกว่าปาลิ) ดังนี้

    "การที่คนทั่วไปในปัจจุบันใช้คำว่า "ปาลิ" ในความหมายที่เป็นชื่อภาษาของพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท แทนที่จะแปลว่า "พระไตรปิฎก" ตามความหมายเดิมนั้น ดูจะเนื่องจากความเข้าใจผิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้วก็ได้ ในพจนานุกรมภาษาบาลีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1875 ชิลเดอร์สกล่าวว่า คำแปลในภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในความหมายใหม่นั้น อาศัยแบบอย่างจากภาษาสิงหล ซึ่งใช้คำนี้ในความหมายเดียวกัน การใช้คำนี้ในลักษณะดังกล่าวอาจจะสืบสาวไปถึงชาวยุโรปก่อนชิลเดอร์สซึ่งอาศัยงานเขียนของสิงหลเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม บูร์นูฟ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งได้ทำการสำรวจงานค้นคว้ายุคแรกๆ ทางด้านบาลีศึกษา ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขา พิมพ์เมื่อ ค.ศ.1826 ว่า บุคคลแรกที่เขาพบว่าใช้คำว่า ปาลิ ในความหมายเป็นชื่อของภาษานั้นได้แก่ เดอ ซิมอง ลาลูแบร์ ซึ่งมาเยือนเมืองไทยใน ค.ศ.1687-1688 และพิมพ์หนังสือพรรณนากรุงสยามใน ค.ศ.1693

    ในพงศาวดารพม่าปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังกล่าวถึงปาลิในเนื้อความแวดล้อมซึ่งน่าจะหมายถึงชื่อภาษา และดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้เพียงแต่กล่าวย้ำข้อความที่พบในงานก่อนหน้านั้น ดังนั้น บางทีพม่าอาจใช้คำนี้ในความหมายดังกล่าวก่อนหน้านั้นเสียอีก ไม่น่าเป็นไปได้ที่ความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับคำ "ปาลิภาสา" ว่าหมายถึง "ภาษาบาลี" แทนที่จะเป็น "ภาษาของพระไตรปิฎก" เกิดขึ้นใน 3 ประเทศนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่สถานะความรู้ที่เรามีอยู่ตอนนี้ก็ไม่เอื้ออำนวยให้เราบอกได้ว่า ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศใดก่อน

    บาลีเป็นภาษาหนึ่งอย่างแน่นอน (ตอนที่ 76)

    ชาวพุทธสายเถรวาทมีความเชื่ออย่างนี้ทั้งนั้น มีหลักฐาน คือ คัมภีร์ทางศาสนามากมายอ้างประเพณีการสืบทอดพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาอยู่ที่แคว้นมคธ ทรงใช้ภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร สั่งสอนประชาชน "มาคธิกโวหาร" นี้เอง พระพุทธโฆสาจารย์พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษมีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 10 อธิบายว่าเป็น "สกานิรุตติ" คือภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัส เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว คำสอนของพระองค์ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชได้อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 3 และส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนายังต่างประเทศ พระมหินทเถระนำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานที่ลังกา ครั้นล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 5 ในรัชสมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย พระพุทธวจนะได้รับการจารลงเป็นลายลักษณ์อักษร

    ฝ่ายที่เชื่ออย่างนี้ เมื่อมีผู้แย้งว่า ภาษาบาลีมิได้ปรากฏในครั้งพุทธกาล เพิ่งมาปรากฏเรียกกันที่ประเทศลังกาหลังพุทธกาลเป็นเวลานาน พระพุทธเจ้าเองพระอรรถกถาจารย์ก็ว่าตรัสภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร ดังอ้างมาแต่ต้น ไม่เห็นเกี่ยวกับภาษาบาลีแต่อย่างใด ก็จะอ้างตำนานสืบศาสนาอีกเช่นกันว่า ภาษามาคธีนั้น มีไวพจน์เรียกกันอยู่ 2 คำ คือ (1) มูลภาสา ภาษาดั้งเดิม (2) ตันติภาสา ภาษาแบบแผน และภาษาบาลีก็มีไวพจน์เรียก 2 คำนั้นเช่นกัน จึงสรุปได้ว่า ภาษามาคธีก็คือภาษาบาลี ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลภาสา หรือ ตันติภาสา นั่นเอง

    นักปราชญ์ตะวันตกก็มีหลายท่านที่ยอมรับมตินี้ อาทิ เจมส์ อัลวิส, จอร์จ เกียร์สัน, วินเตอร์ นิทช์ อัลวิสถึงกับยืนยันว่า "มาคธีเป็นชื่อดั้งเดิมและถูกต้องของภาษาบาลีโดยไม่ต้องสงสัย" เกียร์สันกล่าวว่า "บาลีเป็นภาษาหนังสือของภาษามคธ" วินเตอร์ นิทช์ กล่าวว่า "บาลีกับมคธเป็นภาษาเดียวกัน"

    เสถียร-โพธินันทะ นักการศาสนาของไทยยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่า "ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ภาษามคธหรือบาลีที่พุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทใช้จารึกพระไตรปิฎกนั้น เป็นภาษาที่พระพุทธองค์ตรัสอย่างแน่นอนไม่มีข้อกังขาใดๆ"

    เหตุใดภาษามาคธีจึงกลายชื่อมาเป็นภาษาบาลี ฉลาด บุญลอย ผู้แต่งประวัติวรรณคดีบาลีตอนที่ 1 ให้ทัศนะหลังจากประมวลหลักฐานมาสันนิษฐานแล้ว ดังนี้

    (1) เนื่องด้วยหลักภาษาและถ้อยคำสำนวนของวัฒนธรรมบาลี ซึ่งกล่าวกันในทางตำนานว่า เป็นภาษามาคธีหรือภาษาของชาวมคธสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่นั้น มีส่วนแตกต่างจากภาษามาคธีที่ใช้พูดกันในปัจจุบัน เพราะระยะที่ผ่านมานานถึง 2,500 ปีเศษ ทำให้ภาษามาคธีที่ใช้ในวัฒนธรรมบาลีกลายเป็นภาษาโบราณไป ด้วยเหตุนี้แหละการจะถือว่าบาลีใช้ภาษามาคธีก็ไม่ถนัดนักจึงเรียกเสียใหม่ว่า ภาษาบาลี เพื่อตัดปัญหายุ่งยากในการที่จะนำไปเปรียบเทียบกับภาษามาคธีสมัยใหม่

    (2) เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เมื่อทรงเลือกใช้ภาษา "สุทธมาคธี" เป็นภาษาหลักในการประกาศศาสนาของพระองค์ให้เข้าถึงชนทุกชั้นวรรณะ ก็ได้ทรงปรับปรุงแก้ไขภาษาสุทธมาคธี ซึ่งชั้นเดิมเป็นภาษาปรากฤตให้ดีขึ้น...เมื่อภาษามาคธีเป็นภาษาที่ดีและไพเราะขึ้นโดยอานุภาพพระพุทธเจ้าแล้วภาษามาคธีก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บาลี" ซึ่งแปลว่า "เป็นแบบแผน"

    มีข้อน่าคิดอยู่อย่างหนึ่งคือ นักไวยากรณ์ฝ่ายบาลี แบ่งภาษามาคธีเป็น 2 คือ สุทธิกมาคธี (มาคธีบริสุทธิ์) กับเทสิยา (มาคธีท้องถิ่น) นักไวยากรณ์ฝ่ายสันสกฤตเพิ่มอรรธมาคธี (กึ่งมาคธี) อีกชื่อหนึ่ง แต่ปราชญ์ตะวันตกกล่าวถึง มาคธีเก่า (old Magadhi) ด้วย มาคธีเก่า หรือมาคธีดั้งเดิมนี้แหละที่พระอรรถกถาจารย์เรียกว่า มูลภาสา (ภาษาดั้งเดิม) หรือภาษาบาลีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ประกาศศาสนา

    จากร่องรอยของคำว่า "มูลภาสา" นี้เอง ทำให้น่าคิดว่า บาลีจะต้องเป็นภาษาดั้งเดิมของเผ่าอารยันที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ภูมิภาคส่วนกลางของทวีปเอเชีย จนกระทั่งอพยพโยกย้ายเข้าไปยังแถบลุ่มแม่น้ำสินธุและขยายอาณาเขตเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร หรือถิ่นที่เรียกว่ามัธยมประเทศ จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ถ้าหากเชื่อว่าบาลีเป็นมูลภาสา (ภาษาดั้งเดิม) ของเผ่าอารยัน บาลีก็ต้องเป็นแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ถิ่นโน้นบ้าง ถิ่นนี้บ้าง และถิ่นที่อ้างนั้นบางแห่งก็ห่างไกลกันลิบลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะคิดว่าภาษาบาลี มาจากภาษาอารยันถิ่นต่างๆ น่าจะเป็นว่าภาษาถิ่นต่างๆ มาจากภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่หรือมูลภาสามากกว่า อีกประการหนึ่ง ถ้ายอมรับว่า บาลีเป็นภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าอารยัน และเป็นภาษาแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ก็แสดงว่า ภาษาบาลีเก่ากว่าภาษาสันสกฤต และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาไวทิกะ (ภาษาพระเวท) เพราะในวรรณคดีบาลีชั้นต้นกล่าวถึงเพียงภาษาพระเวท หรือภาษาฉันทสะเท่านั้น ไม่กล่าวถึงภาษาสันสกฤต ทั้งคำบาลีที่เรียกภาษาสันสกฤตว่า "สกฺกฏภาสา" ก็เพิ่งจะมาปรากฏหลังพุทธปรินิพพาน เมื่ออาจารย์ปาณินิได้แต่งไวยากรณ์แล้ว ชื่อว่า "สันสกฤต" (แปลว่า ทำใหม่ ปรับปรุงใหม่) ก็ฟ้องอยู่แล้วว่า ภาษานี้เกิดภายหลังปรากฤต หรือภาษาเดิมอื่นๆ

    เมื่อเทียบกันดู ภาษาบาลีใกล้ชิดกับภาษาพระเวทมากกว่าภาษาสันสกฤต เช่น เยหิ เตหิ เยภิ เตหิ เหมือน เยหิสฺ เตหิสฺ เยภิสฺ เตภิสฺส ในภาษาาพระเวท ไม่เป็น ไย : ไต : อย่างภาษาสันสกฤต และภาษาบาลีมี ตฺวาน ปัจจัย เช่นเดียวกับภาษาพระเวท ซึ่งภาษาสันสกฤตไม่มีดังนี้เป็นต้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...